ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคระหว่างชายหญิงด้านการจัดการพิธีเเต่งงาน
หมวดหมู่
แหล่งอ้างอิง
Full Description
- ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคระหว่างชายหญิงด้านการจัดการพิธีเเต่งงาน
- ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคระหว่างชายหญิงด้านการจัดการพิธีเเต่งงาน
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคระหว่างชายหญิงด้านการจัดการพิธีเเต่งงาน
﴿شبهة حول عدم مساواة المرأة بالرجل في مباشرة عقد النكاح﴾
อับดุรเราะห์มาน บิน อับดุลกะรีม อัช-ชีหะฮฺ
แปลโดย : อิบรอฮีม มุฮัมมัด
ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน
عبدالرحمن بن عبدالكريم الشيحة
ترجمة: إبراهيم محمد
مراجعة: صافي عثمان
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคระหว่างชายหญิงด้านการจัดการพิธีเเต่งงาน
สำหรับชายที่มีความพร้อมในการเลือกคู่ครองแล้ว การจะหาสตรีซึ่งเหมาะสมสำหรับเขาเป็นภารกิจที่ยากพอสมควร และเช่นกันนี้ก็เป็นการยากกว่าสำหรับสตรีที่จะเลือกคู่ครองที่เหมาะสมกับเธอ เพราะเมื่อผู้ชายแต่งงานกับหญิงที่ไม่เหมาะสมสำหรับเขา เขาก็ยังมีโอกาสเลือกหญิงคนใหม่เพื่อแต่งงานอีกครั้งได้โดยไม่ยากนัก ต่างจากผู้หญิงตามที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ สตรีมักจะเป็นฝ่ายที่อ่อนแอกว่าในสังคมมนุษย์ อิสลามจึงได้ปกป้องคุ้มครองเธอจากความเลวร้ายต่างๆ และได้สั่งเสียให้ระมัดระวังในการเลือกคู่ครองที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการสมรสที่ล้มเหลว เพราะสิ่งนี้จะกลายเป็นความเดือดร้อนที่สาหัสมาก อิสลามจึงได้วางเงื่อนไขในการแต่งงานว่าจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ปกครองหรือตัวแทนผู้ปกครองอยู่ด้วยเท่านั้น และการแต่งงานจะเป็นโมฆะหากไม่มีบุคคลเหล่านั้น เพราะท่านศาสนทูตกล่าวว่า “ไม่มีการแต่งงานนอกจากมีวะลี(ผู้ปกครองฝ่ายหญิง)และพยานสองคนที่ยุติธรรม และการแต่งงานใดๆ ที่นอกเหนือ จากนี้ล้วนแต่ใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าหากเกิดความขัดแย้งกัน(ในเรื่องวะลี) ให้ผู้นำเป็นวะลีสำหรับผู้ไม่มีวะลี” [1]
ข้อบัญญัติเเห่งอิสลามได้กำหนดว่าการแต่งงานจะถูกต้องหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับวะลี ในทำนองเดียวกันการแต่งงานจะถูกต้องได้ก็ต่อเมื่อผู้หญิงยินยอมที่จะเเต่งงานเเละอนุญาตให้วะลีจัดพิธีแต่งงานให้เธอ แต่ถ้าปรากฏว่าฝ่ายหญิงไม่ยินยอมในการแต่งงานเเล้ว เธอมีสิทธิที่จะฟ้องร้องไปยังศาลได้ เพื่อขอยกเลิกการแต่งงานนั้นได้ เพราะมีหลักฐานจากท่านนบีซึ่งผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อค็อนสาอ์ บินติ ญุซาม กล่าวว่า “พ่อของเธอได้แต่งเธอในขณะที่เธอเป็นหม้าย เธอไม่เห็นชอบกับการแต่งงานนั้น แล้วเธอก็ไปหาศาสนาทูต แล้วเธอก็เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ท่านฟัง ท่านจึงได้ยกเลิกการแต่งงานของเธอ” [2]
และอิสลามยังได้วางเงื่อนไขสำหรับวะลีเพื่อความถูกต้องของการแต่งงานอีกด้วย คือ วะลีย่อมเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์ของผู้ที่อยู่ใต้ปกครองของเขา และใครก็ตามที่กล่าวว่าสิ่งนี้เป็นการละเมิดความเป็นอิสระของสตรีในการเลือกคู่ครองที่เธอพอใจแล้วละก็ เราขอกล่าวว่า อิสลามได้ให้สิทธิแก่สตรีที่บรรลุวัยตามข้อกำหนดของศาสนาและมีสติปัญญา ไม่ว่าเธอจะเป็นหญิงสาวหรือหญิงหม้าย ในการที่จะตอบรับหรือไม่รับชายซึ่งเสนอจะเป็นคู่ครองของเธอ และอิสลามไม่อนุญาตให้วะลีของเธอบังคับเธอ ไม่ว่าจะด้วยการกระทำหรือบังคับจิตใจเพื่อให้ตอบรับคนที่เธอไม่พอใจ เพราะท่านศาสนทูตกล่าวว่า “หญิงหม้ายจะไม่ถูกแต่งงาน จนกว่านางจะกล่าววาจา (ออกความเห็น) และหญิงสาวจะไม่ถูกแต่งงาน จนกว่าจะขออนุญาตจากเธอก่อน” เหล่าสาวกถามว่า “โอ้ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ การอนุญาตจากเธอเป็นอย่างไร” ท่านตอบว่า “คือการที่เธอนิ่งเงียบ” [3]
ในขณะที่ข้อบทบัญญัติได้เรียกร้องและส่งเสริมสนับสนุนในการแต่งงานนั้น ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อความสุขสำราญแค่ชั่วครู่และระยะเวลาสั้นๆ หากแต่มีความมุ่งหมายในการสร้างสัมพันธภาพที่ยืนยาวและยั่งยืน เมื่อผู้หญิงอยู่อีกมุมหนึ่งในสัมพันธภาพนี้จึงเป็นข้อบัญญัติจะต้องได้รับการยอมรับและพอใจจากเธอด้วย
แต่เนื่องด้วยสาเหตุที่สตรีอ่อนไหวง่ายต่ออิทธพลของสิ่งรอบข้าง ง่ายต่อการที่เธอจะถูกชักจูง ซึ่งปกติแล้วเหตุการณ์ดังกล่าว เธอจะเป็นฝ่ายเสียทีซะมากกว่า ข้อบัญญัติจึงให้สิทธิแก่วะลีของเธอที่จะปฏิเสธบุคคลที่เสนอเป็นคู่ครองของเธอได้หากชายคนนั้นไม่คู่ควรกับเธอ เพราะปกติผู้ชายจะรู้เรื่องผู้ชายด้วยกันมากกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว และเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ชายด้วยกันอีกด้วย ถ้าหากมีผู้ชายที่คู่ควรกับเธอมาสู่ขอและเธอรับการสู่ขอนั้น แต่วะลีของเธอปฏิเสธอย่างไม่มีเหตุผลนอกจากการเอาชนะเธอเท่านั้น การเป็นวะลีของเขาต้องยกเลิกไป และให้หาญาติ – ที่ดี - ที่ใกล้ชิดที่สุดเป็นวะลีแทน หากญาติที่ใกล้ชิดไม่มี ก็ให้กอฎี(ผู้พิพากษา)เป็นคนจัดการแต่งงานให้เธอแทน
อิสลามได้ห้ามผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายที่ไม่คู่ควรและไม่เหมาะสมกับเธอและกับครอบครัวเธอด้วย เพราะผู้หญิงและครอบครัวจะอับอายกับสามีของเธอที่ไม่คู่ควร จนเป็นเหตุให้เธอและครอบครัวของเธอมีปมด้อยเพราะฉะนั้นการแต่งงานของผู้หญิงกับผู้ชายที่วะลีของเธอไม่เห็นด้วยและญาติใกล้ชิดของเธอไม่พึงพอใจจะเป็นผลทำให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวถูกตัดขาด ซึ่งอัลลอฮฺได้สั่งให้เชื่อมสัมพันธ์ไว้ และในทางตรงกันข้าม สำหรับชายที่คู่ควร อย่างที่ท่านศาสนทูตกล่าวว่า “หากมีชายที่พวกเจ้าพอใจในกริยามารยาทและศาสนามาสู่ขอกับพวกเจ้า ก็จงจัดการแต่งงานให้เขาเถิด หากเจ้าปฎิเสธก็จะเกิดการความวุ่นวาย(ฟิตนะฮฺ)บนแผ่นดินและความชั่วร้ายจะตามมา” [4]
เพราะสามีที่มีศาสนาและมีมารยาทนั้นหากเขารักภรรยาของเขา เขาจะให้เกียรติภรรยาของเขา หากเขาไม่รัก เขาก็จะไม่เยียดหยามและไม่ดูถูกเธอ และเขามีความเกรงกลัวอัลลอฮฺในเรื่องนี้