×
บทความที่ตอบความคลุมเครือบางประเด็น ซึ่งเป็นข้อสงสัยของบางกลุ่มที่โจมตีและทําลายภาพพจน์อันดีงามของอิสลาม เกี่ยวกับสิทธิในการหย่าระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง คัดมาจากหนังสือ สถานะของสตรีภายใต้ร่มเงาอิสลาม โดย อับดุรเราะห์มาน อัชชีหะ

 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิทธิในการหย่าของผู้ชายและผู้หญิง

﴿شبهة حول جعل الطلاق بيد الرجل دون المرأة﴾

] ไทย – Thai – تايلاندي [

อับดุรเราะห์มาน บิน อับดุลกะรีม อัช-ชีหะฮฺ

แปลโดย : อิบรอฮีม มุฮัมมัด

ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

ที่มา : หนังสือฐานะของสตรีใต้ร่มเงาอิสลาม

2010 - 1431

﴿شبهة حول جعل الطلاق بيد الرجل دون المرأة﴾

« باللغة التايلاندية »

عبدالرحمن بن عبدالكريم الشيحة

ترجمة: إبراهيم محمد

مراجعة: صافي عثمان

المصدر: كتاب المرأة في ظل الإسلام

2010 - 1431

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิทธิในการหย่าของผู้ชายและผู้หญิง

การหย่าในสมัยก่อนอิสลามนั้นไม่มีการควบคุมใดๆ ผู้ชายสามารถหย่าผู้หญิงเมื่อใดก็ได้ที่เขาต้องการ และเขาสามารถรับเธอเป็นภรรยาอีกครั้งเมื่อไหร่ที่เขาต้องการได้ แล้วอิสลามก็มากับการควบคุมการหย่าเพื่อคุ้มครองผู้หญิงจากการถูกขดขี่ โดนรังแก และถูกเอาเปรียบเนื่องจากการหย่านี้ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ขออัลลอฮฺโปรดปรานเธอ) ได้กล่าวว่า ผู้ชายจะหย่าภรรยาของเขาเมื่อใดก็ได้ที่เขาต้องการหย่า และนางจะเป็นภรรยาของเขาอีกเมื่อเขาปรารถนาจะรับนางเป็นภรรยา ในช่วงระยะเวลาที่เขาสามารถคืนดีกับนางได้ แม้เขาจะหย่านางไปแล้ว 100 ครั้ง หรือมากกว่านั้นแล้วก็ตาม จนกระทั่งเขาจะกล่าวแก่ภรรยาของเขาว่า “ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ฉันจะหย่าเธอ ดังนั้น เธอจงหลีกห่างจากฉันเสีย ฉันจะไม่เข้าหาเธอโดยเด็ดขาด” เธอก็กล่าวถามว่า “ทําไมต้องเป็นเช่นนั้นด้วย ?” เขาตอบว่า “ฉันหย่าเธอแล้ว เมื่อไหร่ซึ่งวาระการหย่าร้างเกือบจบลงฉันก็จะย้อนกลับคืนดีกับเธออีกครั้ง” ผู้หญิงคนดังกล่าวจึงไปขอเข้าพบท่านหญิงอาอิชะฮฺและเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟัง ท่านหญิงอาอิชะฮฺอยู่นิ่งเฉยจนกระทั่งท่านศาสนทูตเข้ามา ท่านหญิงได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ท่านฟัง ท่านจึงหยุดนิ่งสักพักหนึ่งจนกระทั่งมีโองการกุรอ่านลงมา

(الطَّلاَقُ مَرَّتَانِ فَإِمْسَاكٌ بِمَعْرُوفٍ أَوْ تَسْرِيحٌ بِإِحْسَانٍ) (البقرة : 229 )

ความว่า “การหย่านั้นมีสองครั้ง แล้วให้มีการยับยั้งไว้โดยชอบธรรม หรือไม่ก็ปล่อยไปพร้อมด้วยการทำความดี” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 229)

ท่านหญิงอาอิชะฮฺกล่าวต่ออีกว่า : บรรดาสาวกของท่านศาสนทูตต่างเริ่มทบทวนการหย่าร้างกันใหม่ ทั้งที่เคยหย่าร้างมาหรือไม่เคยมาก่อน[1] และอิสลามไม่สนับสนุนการหย่า ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺกล่าวว่า “ไม่มีการงานใดที่อัลลอฮฺทรงอนุมัติแล้วพระองค์ทรงกริ้วมันมากที่สุดนอกจากการหย่า” และที่อิสลามได้ทำให้มันเป็นที่อนุมัตินั้นก็เพื่อเป็นทางออกในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น

ท่านศาสนทูต (ขอความสันติและความสงบสุขแด่ท่าน[2]) กล่าวว่า “ท่านจงอย่าได้หย่าภรรยาเนื่องด้วยความสงสัย แท้จริงแล้วอัลลอฮฺไม่ชอบผู้ชายและผู้หญิงที่ชอบลิ้มลอง (หมายถึงแต่งงานไปเรื่อยๆ เพียงเพราะกามารมณ์)

และกฎหมายอิสลามได้พยายามทำให้เป็นบรรทัดฐานการแก้ปัญหาในการแก้ไปความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยาโดยไม่ทำให้เกิดการหย่า อัลลอฮฺ ซุบฮานาฮูวาตะอาลา ตรัสว่า:

(وَإِنِ امْرَأَةٌ خَافَتْ مِن بَعْلِهَا نُشُوزاً أَوْ إِعْرَاضاً فَلاَ جُنَاْحَ عَلَيْهِمَا أَن يُصْلِحَا بَيْنَهُمَا صُلْحاً وَالصُّلْحُ خَيْرٌ) (النساء : 128 )

ความว่า “และหากหญิงใด เกรงว่าจะมีการเย็นชาเมินเฉยหรือมีการผินหลังให้จากสามีของนางแล้วละก็ ย่อมไม่มีบาปใดๆ แก่ทั้งสองที่จะตกลงประนีประนอมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง และการประนีประนอมนั้นเป็นสิ่งดีกว่า”[3]

 ทำไมสิทธิการหย่าจึงเป็นของผู้ชาย ..?

เป็นภาวะปกติที่มีการพูดว่า การหย่าอยู่ในมือของผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง นั่นก็เพราะผู้ชายต้องใช้ทรัพย์สินของเขาในการแต่งงานและที่อยู่อาศัย ตราบใดที่ผู้ชายคือผู้ที่จ่ายค่าสินสอด และเขาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดการแต่งงาน เขาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเพื่อที่อยู่อาศัย และเขาเป็นผู้จัดหาค่าใช้จ่ายในครอบครัว จึงเป็นสิทธิที่ต้องให้อยู่ในมือของเขาที่จะตัดสินจุดสิ้นสุดของชีวิตการแต่งงานของเขา เมื่อเขาพร้อมที่จะรับกับความสูญเสียด้านทรัพย์สินเงินทองและจิตใจที่เกิดจากการหย่านั้น เพราะเขาเองก็รู้ว่าเขาจะต้องสูญเสียจากการหย่าอยู่แล้ว เขาต้องสูญเสียด้านทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นค่าสินสอดที่เขาได้จ่ายไปแล้วจะไม่ได้รับกลับคืน เขาต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายที่เขาได้จ่ายไปในการจัดการแต่งงานนี้ทั้งหมด เขาอาจได้รับการปฏิเสธจากภรรยาในการจ่ายคืนค่าใช้จ่ายต่างๆ หลังจากหย่าก็เป็นได้ และเขาจำเป็นต้องตกลงเรื่องการแต่งงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการออกค่าใช้จ่ายต่างๆ และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานใหม่นี้ทั้งหมดอีกด้วย

เป็นที่สามารถอ้างได้ด้วยว่า โดยปกติ ผู้ชายจะระงับความโกรธไว้ได้ และสามารถควบคุมพฤติกรรมของเขาเมื่อเกิดการทะเลาะและขัดแย้งกันระหว่างเขากับภรรยาของเขาได้ ซึ่งโดยปกติผู้ชายจะใช้การหย่าเป็นทางแก้ขั้นสุดท้ายเนื่องจากไม่มีความหวังที่จะสามารถอยู่อย่างฉันท์สามีภรรยากันได้อีกแล้วเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน ข้อบัญญัติของอิสลามเองก็ไม่ได้ห้ามผู้หญิงในการถือสิทธิจัดการหย่า ซึ่งผู้หญิงก็มีสิทธิที่จะครองสิทธิในการหย่าได้เช่นกัน ทั้งนี้ เมื่อนางกําหนดเงื่อนไขนี้ในพีธีเเต่งงานและได้รับการยินยอมจากผู้เป็นสามี

และเนื่องจากข้อบัญญัติของอิสลามเป็นข้อบัญญัติที่สอดคล้องกับกมลสันดาน คือ มีความครบถ้วนตามความต้องการของความเป็นมนุษย์ และรวมถึงสิ่งที่อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์รู้สึกได้ อย่างที่อิสลามได้ให้แก่ผู้ชายซึ่งสิทธิที่จะตัดขาดกับภรรยาของเขาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น ในทำนองเดียวกัน อิสลามก็ได้ให้สิทธิแก่สตรี ซึ่งสิทธินี้เมื่อเธอไม่ประสงค์ที่จะอยู่ร่วมกับสามีของเธอด้วยเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อเธอต้องประสบความเลวร้ายในการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้วยวาจา การกระทำ หรือข้อตำหนิของเขาด้านกายภาพ เช่น เป็นคนไร้สมรรถภาพทางเพศ หรือไม่สามารถสร้างความสุขให้กับเธอได้ หรือเขาเป็นโรคร้ายหลังการแต่งงาน เช่น โรคเรื้อน วัณโรค หรือโรคอื่นๆ ที่คล้ายกันนี้ซึ่งเป็นโรคที่น่ารังเกียจ อิสลามได้ให้สิทธิแก่สตรีที่ได้รับผลกระทบนี้สามารถเรียกร้องเพื่อยกเลิกการแต่งงานได้ เพียงแต่มีวิธีการที่แตกต่างซึ่งเรียกว่า “การซื้อหย่า” คือ เป็นการจ่ายคืนสิ่งที่ภรรยาได้รับจากสามี ไม่ว่าจะเป็นค่าสินสอด และค่าใช้จ่ายที่สามีได้จ่ายไปในการแต่งงานนี้ด้วย และนี่คือการสิ้นสุดที่ยุติธรรม เพราะเธอเป็นผู้ที่ต้องการยกเลิกการแต่งงานนั้นเอง และหากสามีปฏิเสธที่จะตกลงเรื่อง “ซื้อหย่า” แล้ว นางสามารถร้องเรียนแก่ผู้พิพากษาเพื่อให้ตัดสินในสิทธินี้ได้

[1] สุนัน อัตติรมีซีย์ 3/497 หมายเลข 1192

[2] อัล-มุอฺญะมุลเอาสัฏ เล่มที่ 8 หน้าที่ 24 หมายเลข 7848

[3] อัน-นิสาอ์ 128