×
คุฏบะฮฺวันศุกร์ ณ มัสยิดวิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี ว่าด้วยความหมายและความสำคัญของตักวา หนึ่งในจำนวนชุดคุฏบะฮฺญุมอัต ณ มัสยิดวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดย อัสมัน แตอาลี อาจารย์ประจำภาควิชาอิสลามศึกษา วอศ. มอ.ปัตตานี

    ตักวาสำคัญไฉน

    ﴿أهمية التقوى﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    อัสมัน แตอาลี

    ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

    2009 - 1430

    ﴿أهمية التقوى﴾

    « باللغة التايلاندية »

    عزمن عبدالرشيد تي علي

    مراجعة: صافي عثمان

    2009 - 1430

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    ตักวาสำคัญไฉน

    พี่น้องผู้ร่วมละหมาดญุมอัตที่เคารพทั้งหลาย

    แม้ว่าเดือนเราะมะฎอนจะจากเราไปกว่า 10 กว่าวันแล้ว แต่กลิ่นอายของเราะมะฎอนก็ยังอบอวลอยู่ในความรู้สึกของพวกเราทุกคน บรรยากาศของการประกอบความดีในเดือนเราะมะฎอนคงหามิได้อีกแล้วในเดือนอื่นๆ และนี่คือความประเสริฐของเดือนเราะมะฎอนที่พวกเราทุกคนต่างขวนขวายกันตลอดทั้งเดือนไม่ว่าจะเป็นการถือศีลอดในตอนกลางวัน การละหมาดตะรอวีหฺในตอนกลางคืนเพื่อการอิอฺติกาฟ 10 คืนสุดท้ายของเดือน และอิบาดะฮฺอื่นๆ เพื่อได้มาซึ่งผลบุญอันมากมายมหาศาลที่มีเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น

    ดังหะดีษของท่านอิบนุมัสอูด ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «لو يعلم العباد ما في رمضان لتمنت أمتي أن تكون السنة كلها رمضان» [رواه أبو يعلى وفيه جرير بن أيوب وهو ضعيف]

    ความว่า ถ้าหากบ่าวของอัลอฮฺทุกคนรู้ซึ้งในสิ่งที่มีอยู่ในเดือนเราะมะฎอนด้วยแล้ว แน่นอนประชาชาติของฉันต่างก็อยากให้เราะมะฎอนมีอยู่ตลอดทั้งปี (รายงานโดย อบู ยะอฺลา ในสายสืบมีญะรีร บิน อัยยูบ ซึ่งมีฐานะ เฎาะอีฟ)

    พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่าน

    นอกจากผลบุญอันมากมายมหาศาลแล้ว เราะมะฎอนยังทำให้เราได้ปรับปรุงแก้ไขตนเอง ปฏิรูปตัวเองให้เป็นคนที่มีความอดทนมากขึ้น มีจิตใจที่อ่อนโยนยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำให้เราเป็นคนที่ตักวาต่อเอกองค์อัลลอฮฺ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนอีกด้วย ดังที่พระองค์ได้ตรัสในตอนท้ายอายะฮฺที่ 183 ซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺว่า

    «لعلكم تتقون»

    ความว่า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ตักวาต่อพระองค์

    พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่าน

    ความตักวาสำคัญไฉน ? ทำไมเราจึงต้องมีความตักวา/ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ? พี่น้องครับ แท้จริงอัลลอฮฺทรงได้สั่งเสียแก่บ่าวของพระองค์ให้มีความตักวาต่อพระองค์ ดังที่พระองค์ตรัสว่า

    «وَلَقَدْ وَصَّيْنَا الَّذِينَ أُوتُواْ الْكِتَابَ مِن قَبْلِكُمْ وَإِيَّاكُمْ أَنِ اتَّقُواْ اللهَ» (النساء : 131(

    ความว่า และแท้จริงเราได้สั่งเสียไว้แก่บรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ก่อนพวกเจ้าและแก่พวกเจ้าเองด้วยว่าจงตักวาต่ออัลลอฮฺเถิด

    พี่น้องผู้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺทุกท่าน

    ความตักวาก็คือการที่เราสร้างเกราะป้องกันตัวจากบทลงโทษของอัลลอฮฺ ด้วยการปฏิบัติตามในสิ่งที่พระองค์ทรงรับสั่งและละเว้น/หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามไว้ ท่านอาลี เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้ให้ความหมายของความตักวาว่า

    (الخوف من الجليل ، والعمل بالتنزيل ، والقناعة بالقليل ، والاستعداد ليوم الرحيل)

    ความว่า การตักวาก็คือ การยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ การปฏิบัติตามสิ่งที่พระองค์ทรงประทานลงมา(อัลกุรอาน) การรู้จักความพอดี(ไม่มีความโลภ) และการเตรียมความพร้อม(เสบียง)สำหรับวันแห่งการเดินทาง(วันอาคิเราะฮฺ)

    พี่น้องผู้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺทุกท่าน

    สำหรับลักษณะของผู้ที่ตักวานั้น อัลลอฮฺได้ตรัสในอัลกุรอานไว้ดังนี้

    1. ในซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 177 พระองค์ตรัสว่า

    «مَنْ آمَنَ بِاللهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ وَالْمَلآئِكَةِ وَالْكِتَابِ وَالنَّبِيِّينَ وَآتَى الْمَالَ عَلَى حُبِّهِ ذَوِي الْقُرْبَى وَالْيَتَامَى وَالْمَسَاكِينَ وَابْنَ السَّبِيلِ وَالسَّآئِلِينَ وَفِي الرِّقَابِ وَأَقَامَ الصَّلاةَ وَآتَى الزَّكَاةَ وَالْمُوفُونَ بِعَهْدِهِمْ إِذَا عَاهَدُواْ وَالصَّابِرِينَ فِي الْبَأْسَاء والضَّرَّاء وَحِينَ الْبَأْسِ أُولَـئِكَ الَّذِينَ صَدَقُوا وَأُولَـئِكَ هُمُ الْمُتَّقُونَ» (البقرة : 177 )

    ความว่า คือผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ และศรัทธาต่อมะลาอิกะฮฺ ต่อคัมภีร์ ต่อบรรดานบีทั้งหลาย และคือผู้ที่บริจาคทรัพย์ทั้งๆ ที่มีความรักและหวงแหนในทรัพย์นั้น ให้แก่บรรดาญาติสนิท เด็กกำพร้า ผู้ยากจน ผู้ที่อยู่ในการเดินทางเมื่อเขาขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากที่มาขอความช่วยเหลือ และบริจาคเพื่อการไถ่ทาส และเขา(ผู้ที่ตักวานั้น)คือผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด จ่ายซะกาต และรักษาสัญญาของพวกเขาอย่างครบถ้วน เมื่อเขาได้สัญญาไว้ และเขายังเป็นผู้ที่อดทนในความทุกข์ยาก และเมื่อได้รับความเดือดร้อน และขณะต่อสู้ในสมรภูมิ พวกเขาเหล่านี้แหละคือผู้ที่พูดจริง และพวกเขาเหล่านี้แหละคือผู้ที่ตักวา

    2. ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน อายะฮฺ 135 พระองค์ตรัสว่า

    «وَالَّذِينَ إِذَا فَعَلُواْ فَاحِشَةً أَوْ ظَلَمُواْ أَنْفُسَهُمْ ذَكَرُواْ اللهَ فَاسْتَغْفَرُواْ لِذُنُوبِهِمْ وَمَن يَغْفِرُ الذُّنُوبَ إِلاَّ اللهُ وَلَمْ يُصِرُّواْ عَلَى مَا فَعَلُواْ وَهُمْ يَعْلَمُونَ» (آل عمران : 135 )

    ความว่า และ(ผู้ที่ตักวานั้นคือ)บรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขากระทำสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ชั่วใดๆ หรืออยุติธรรมแก่ตัวเองแล้ว พวกเขาก็รำลึกถึงอัลลอฮฺ แล้วขออภัยโทษต่อความผิดของพวกเขา และจะมีใครอีกเล่าที่จะอภัยโทษในความผิดทั้งหลาย นอกจากอัลลอฮฺ และ(หลังจากนั้น)พวกเขาก็มิได้ดื้อรั้นในการกระทำความชั่วอย่างที่เขาเคยกระทำมาโดยที่พวกเขารู้กันอยู่

    พี่น้องผู้ตักวาต่ออัลลอฮฺทุกท่าน

    สำหรับผู้ที่ได้ชือว่าเป็นผู้ที่ตักวาแล้วนั้น เขาจะได้รับประโยชน์และคุนค่าจากความตักวาอย่างมากมายมหาศาล ทั้งในโลกนี้และโลกอาคิเราะฮฺ สำหรับในโลกนี้ อาทิเช่น

    1. อัลลอฮฺจะทรงยกฐานะของผู้ที่ตักวาเป็นผู้ที่มีเกียรติที่สุด พระองค์ตรัสว่า

    «إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ اللهِ أَتْقَاكُمْ» (الحجرات : 13 )

    ความว่า แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่ตักวายิ่งในหมู่พวกเจ้า(อัลหุญุร็อต 13)

    2. พระองค์จะทรงคุ้มครองและทรงอยู่เคียงข้างผู้ที่ตักวาเสมอ ดังที่พระองค์ตรัสว่า

    « وَاتَّقُواْ اللهَ وَاعْلَمُواْ أَنَّ اللهَ مَعَ الْمُتَّقِينَ» (البقرة : 194 )

    ความว่า จงตักวาต่ออัลลอฮฺเถิดและจงรู้ไว้ด้วยว่า อัลลอฮฺนั้นทรงอยู่กับบรรดาผู้ตักวาทั้งหลาย (อัลบะเกาะเราะฮฺ 194)

    3. พระองค์จะทรงประทานแสงสว่างแห่งทางนำ เพื่อที่จะแยกแยะระหว่างอัลฮัก (ความถูกต้อง) กับอัลบาฏิล(ความหลงผิด)

    «يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللهَ وَآمِنُوا بِرَسُولِهِ يُؤْتِكُمْ كِفْلَيْنِ مِن رَّحْمَتِهِ وَيَجْعَل لَّكُمْ نُوراً تَمْشُونَ بِهِ وَيَغْفِرْ لَكُمْ وَاللهُ غَفُورٌ رَّحِيمٌ» (الحديد : 28 )

    ความว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงตักวาต่ออัลลอฮฺ และจงศรัทธาต่อรอซูลของพระองค์เถิด (เพราะ)พระองค์จะทรงประทานความเมตตาให้แก่พวกเจ้าสองเท่า และจะทรงให้แสงสว่างแก่พวกเจ้าเพื่อพวกเจ้าจะได้ใช้ในการดำเนินชีวิต และจะทรงอภัยโทษแก่พวกเจ้า และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ (อัลหะดีด /28)

    และพระองค์ตรัสอีกว่า

    «يِا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ إَن تَتَّقُواْ اللهَ يَجْعَل لَّكُمْ فُرْقَاناً» (الأنفال : 29 )

    ความว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย หากพวกเจ้าตักวาต่ออัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงให้มีแก่พวกเจ้าซึ่งสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ (สามารถรู้จักสิ่งใดคือความถูกต้องและสิ่งใดคือความเท็จ)(อัลอันฟาล / 29)

    4. พระองค์จะทรงให้ทางออกและริสกีย์อันมากมาย อัลลอฮฺตรัสว่า

    «وَمَن يَتَّقِ اللهَ يَجْعَل لَّهُ مَخْرَجاً وَيَرْزُقْهُ مِنْ حَيْثُ لَا يَحْتَسِبُ» (الطلاق : 2-3 )

    ความว่า และผู้ใดก็ตามที่ตักวาต่ออัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงชี้ทางออกให้แก่เขา และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากสิ่งที่เขาไม่เคยคาดคิดมาก่อน (อัตเฏาะลาก 2-3)

    5. พระองค์จะทรงทำให้การงานของผู้ที่ตักวานั้นราบรื่นและสะดวกง่ายดาย ดังที่พระองค์ตรัสว่า

    « وَمَن يَتَّقِ اللهَ يَجْعَل لَّهُ مِنْ أَمْرِهِ يُسْراً» (الطلاق : 4 )

    ความว่า และผู้ใดก็ตามที่ตักวาต่ออัลลอฮฺ พระองค์จะทรงทำให้กิจการของเขาสะดวกและง่ายดาย

    6. พระองค์จะทรงทำให้เขามีจิตใจที่สงบสุข ไม่หวาดกลัว และไม่โศกเศร้าเสียใจ พระองค์ตรัสว่า

    «فَمَنِ اتَّقَى وَأَصْلَحَ فَلاَ خَوْفٌ عَلَيْهِمْ وَلاَ هُمْ يَحْزَنُونَ» (الأعراف : 35 )

    ความว่า ดังนั้น ผู้ใดที่ตักวาและได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว พวกเขาก็จะไม่มีความหวาดกลัวและไม่เสียใจใดๆอีก(อัลอะอฺรอฟ/35)

    7. พระองค์จะทรงเพิ่มพูนความบะเราะกะฮฺ ความอุดมสมบูรณ์ในการประกอบอาชีพของเขา พระองค์ตรัสว่า

    «وَلَوْ أَنَّ أَهْلَ الْقُرَى آمَنُواْ وَاتَّقَواْ لَفَتَحْنَا عَلَيْهِم بَرَكَاتٍ مِّنَ السَّمَاءِ وَالأَرْضِ » (الأعراف : 96 )

    ความว่า และหากว่าชาวเมืองนั้นศรัทธาและตักวาแล้วไซร้ แน่นอนเราก็จะเปิดให้แก่พวกเขาซึ่งบรรดาความเพิ่มพูนจากฟากฟ้าและพื้นแผ่นดิน(หมายถึงให้ฝนตกลงมาตามฤดูกาลและให้แผ่นดินงอกเงยซึ่งพืชผลอันเป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา)

    พี่น้องผู้ตักวาต่ออัลลอฮฺทุกท่าน

    สำหรับผลตอบแทนของผู้ที่ตักวาในโลกอาคิเราะฮฺ อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    «لَكِنِ الَّذِينَ اتَّقَوْا رَبَّهُمْ لَهُمْ غُرَفٌ مِّن فَوْقِهَا غُرَفٌ مَّبْنِيَّةٌ تَجْرِي مِن تَحْتِهَا الْأَنْهَارُ وَعْدَ اللهِ لَا يُخْلِفُ اللهُ الْمِيعَادَ» (الزمر : 20 )

    ความว่า แต่บรรดาผู้ที่ตักวาต่อพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขานั้น สำหรับพวกเขาจะมีคฤหาสน์สง่าโอ่โถงเหนือขึ้นไปอีกก็มีคฤหาสน์สง่าโอ่โถงสร้างไว้ ณ เบื้องล่างของมันก็มีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน มันคือสัญญาของอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺนั้นจะไม่ทรงบิดพริ้วสัญญาอย่างแน่นอน (อัซซุมัรฺ/20)

    «إِنَّ الْمُتَّقِينَ فِي جَنَّاتٍ وَنَهَرٍ، فِي مَقْعَدِ صِدْقٍ عِندَ مَلِيكٍ مُّقْتَدِرٍ» (القمر : 54-55 )

    ความว่า แท้จริงบรรดาผู้ที่ตักวานั้น จะพำนักอยู่ในสวนสวรรค์อันหลากหลาย และมีแม่น้ำหลายสาย ในสถานที่อันทรงเกียรติ ณ ที่พระเจ้าผู้ทรงอานุภาพ (อัลเกาะมัร/54-55)

    «إِنَّ الْمُتَّقِينَ فِي ظِلَالٍ وَعُيُونٍ، وَفَوَاكِهَ مِمَّا يَشْتَهُونَ، كُلُوا وَاشْرَبُوا هَنِيئاً بِمَا كُنتُمْ تَعْمَلُونَ» (المرسلات : 41-43 )

    ความว่า แท้จริงบรรดาผู้ที่ตักวาจะอยู่ท่ามกลางร่มเงาและน้ำพุ และมีผลไม้ตามที่พวกเขาต้องการ ดังนั้นพวกเจ้าจงกิน จงดื่ม อย่างสบายใจตามที่พวกเจ้าได้กระทำไว้(อัลมุรสะลาต/41-43)

    «تِلْكَ الْجَنَّةُ الَّتِي نُورِثُ مِنْ عِبَادِنَا مَن كَانَ تَقِيّاً» (مريم : 63 )

    ความว่า นั่นคือสวนสวรรค์ซึ่งเราให้เป็นมรดกแก่ปวงบ่าวของเรา ผู้ที่มีความตักวา(มัรยัม/63)

    พี่น้องผู้ตักวาต่ออัลลอฮฺทุกท่าน

    จากอายะฮฺที่ได้ยกมาข้างต้น เราก็สามารถที่จะประเมินตัวเองได้ว่าเรามีลักษณะของผู้ที่ตักวาตามที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้หรือไม่ และจะเห็นได้ว่าการเป็นผู้ที่ตักวาต่ออัลลอฮฺนั้นมิใช่สิ่งที่จะได้มาโดยง่ายดาย มันจะต้องผ่านการทดสอบมากมาย เพื่อที่จะได้ไปถึงระดับผู้ที่ตักวา อันเป็นระดับที่สูงที่สุดของผู้ที่ศรัทธา อีกทั้งความสำคัญและคุณค่าของการตักวาก็มีมากมาย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการที่จะต้องเป็นผู้ที่ตักวา มิเช่นนั้นแล้วเราก็จะกลายเป็นผู้ที่ขาดทุนทั้งดุนยาและอาคิเราะฮฺ

    พี่น้องผู้ตักวาต่ออัลลอฮฺทุกท่าน

    การที่เราจะสามารถยกระดับตัวเองให้ไปถึงระดับผู้ตักวานั้น ก็จะมีวิธีที่เราสามารถใช้ความพยายามและอุตสาหะได้ โดยเฉพาะการถือศีลอดและการละหมาดในตอนกลางคืนจะช่วยให้เรารู้สึกใกล้ชิดกับอัลลออฮฺ และยำเกรงต่อพระองค์อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นที่ลับหรือที่แจ้ง จะอยู่ตามลำพังหรือในที่สาธารณะ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวต่อมุอาซ อิบนุ ญะบัลว่า

    «اتق الله حيثما كنت»

    ความว่า ท่านจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม

    ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระองค์จะทรงอยู่กับเราตลอดเวลา ดังที่พระองค์ตรัสว่า

    «إِنَّ اللهَ كَانَ عَلَيْكُمْ رَقِيْباً»

    ความว่า แท้จริงอัลลอฮฺทรงสอดส่องดูพวกเจ้าอยู่เสมอ (อันนิสาอ์/1)

    พี่น้องผู้ตักวาต่ออัลลอฮฺทุกท่าน

    นอกจากการถือศีลอดและกิยามุลลัยล์แล้ว เราก็ต้องหมั่นขอดุอาต่อพระองค์ด้วยเช่นกัน เพื่อให้พระองค์ประทานความตักว่าให้แก่ตัวเรา ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้สอนให้เราดุอาว่า

    «اللهم آتِ نَفْسِيْ تَقْوَاهَا ، وَزَكِّهَا أَنْتَ خَيْرُ مَنْ زَكَّاهَا ، أَنْتَ وَلِيُّهَا وَمَوْلَاهَا»

    ความว่า โอ้อัลลอฮฺ ข้าแต่พระองค์ ได้โปรดประทานความตักวาให้แก่ตัวข้าและได้โปรดทำให้ตัวข้ามีบริสุทธิ์ปราศจากจากมลทินทั้งหลายด้วยเถิด เพราะว่าพระองค์เท่านั้นที่สามารถประทานความบริสุทธิ์นั้นให้แก่ข้าได้ พระองค์เท่านั้นคือผู้เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองในตัวของข้า

    พี่น้องผู้ตักวาต่ออัลลอฮฺทุกท่าน

    คำสั่งเสียหรือคำตักเตือนที่ดีที่สุดก็คือการสั่งเสียในเรื่องการตักวาต่ออัลลอฮฺ ซึ่งบรรพชนรุ่นก่อนและรุ่นหลังต่างก็ตักเตือนซึ่งกันและกัน ดังเช่นท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร อิบนุ อับดุลอะซีซ ได้เขียนจดหมายให้แก่ชายผู้หนึ่งว่า

    «أوصيك بتقوى الله عزوجل .....جعلنا الله واياك من المتقين»

    ความว่า ฉันขอสั่งเสียต่อท่านในเรื่องการตักว่าต่ออัลลอฮฺ และขออัลลอฮฺได้โปรดทำให้เราและท่านเป็นผู้ที่ตักวาต่อพระองค์ด้วยเถิด

    بارك الله لي ولكم في القرآن العظيم ونفعني وإياكم من الآيات والذكر الكيم وتقبل مني ومنكم تلاوته إنه هو السميع العليم واستغفر الله لي ولكم ولسائر المسلمين من كل ذنب فاستغفروه انه هو الغفور الرحيم