ค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ
หมวดหมู่
Full Description
ค่ำคืน ลัยละตุลก็อดรฺ
﴿ليلة القدر﴾
] ไทย – Thai – تايلاندي [
อุษมาน อิดรีส
ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน
2009 - 1430
﴿ليلة القدر﴾
« باللغة التايلاندية »
عثمان إدريس
مراجعة: صافي عثمان
2009 - 1430
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
ค่ำคืน ลัยละตุลก็อดรฺ
1. ความหมายของอัลก็อดรฺ
อัลก็อดรฺในด้านภาษาสื่อถึงความหมายต่างๆ ดังนี้
- หมายถึง จำนวน หรือความมากมาย (الكمية والمبلغ)
- หมายถึง ระดับและเกียรติ (الدرجة)
- หมายถึง คุณค่าและราคา (القيمة)
- หมายถึง ความประเสริฐ (الشرف)
- หมายถึง สถานะ (المقام)
- หมายถึง ความสามารถและพละกำลัง (อำนาจ) (الطاقة والقوة)
- หมายถึง ความยิ่งใหญ่ (العظمة)
- หมายถึง การจำแนกและชี้ขาด (الحكم والفصل)
ความหมายต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสภาพของค่ำคืนอัลก็อดรฺ ดังรายละเอียดข้างหน้าต่อไป
2. สาเหตุที่ได้ชื่อว่าค่ำคืนอัลก็อดรฺ
อุละมาอ์มีทัศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับสาเหตุที่เรียกค่ำคืนอันยิ่งใหญ่ดังกล่าวว่า ค่ำคืนอัล-
ก็อดรฺ ดังนี้
1. เพราะในคืนนั้นอัลลอฮฺได้ทรงกำหนด (ตักดีร) ปัจจัยยังชีพต่างๆ อายุขัย และสิ่งที่จะเกิดขึ้น
อิบนุอับบาสกล่าวว่า “จะถูกบันทึกในอุมมุลกิตาบในค่ำคืนอัลก็อดรฺ สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบปีทั้งความดีและความเลว ริซกี (ปัจจัยยังชีพ) และอายุขัย แม้กระทั่งบรรดาผู้ที่ทำหัจญ์ จะถูกกล่าวว่า “คนนั้น ละคนนี้ไปทำหัจญ์”
อัลหะสัน, มุญาฮิด และเกาะตาดะฮฺกล่าวว่า “จะมีการลงบันทึกในค่ำคืนอัลก็อดรฺในเดือนเราะมะฎอนทุกๆ อายุขัย การงาน การสร้าง (การกำเนิด) และริซกี และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในรอบปี”[i]
2. ผันมาจากคำว่า “ความยิ่งใหญ่แห่งอำนาจและสถานะ” (عظم القدر والشأن) ดังคำกล่าวที่ว่า (فلان له قدر) “คนผู้นั้นมีอำนาจ”[ii]
3. เพราะผู้ที่ดำรงการอิบาดะฮฺในค่ำคืนอัลก็อดรฺจะได้รับผลบุญและการตอบแทนที่เท่าทวีคูณ ซึ่งเขาไม่เคยได้รับมาก่อน และเขาจะเป็นคนที่มีเกียรติเพิ่มขึ้น ณ อัลลอฮฺ[iii]
4. เป็นค่ำคืนแห่งการจำแนกและชี้ขาด[iv]
อิหม่ามอันนะวะวีย์กล่าวว่า “เหตุที่ถูกเรียกว่าค่ำคืน “อัลก็อดรฺ” เพราะเป็นค่ำคืนแห่งการกำหนดและชี้ขาด นี่คือสิ่งที่ถูกต้องและเป็นที่รู้กัน”[v]
3. ความประเสริฐของค่ำคืนอัลก็อดรฺ
3.1 เป็นค่ำคืนแห่งการอิบาดะฮฺที่ประเสริฐกว่าค่ำคืนใดๆ
อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
﴿لَيْلَةُ ٱلْقَدْرِ خَيْرٌ مّنْ أَلْفِ شَهْرٍ﴾
"(การประกอบอิบาดะฮฺในค่ำคืน) อัลก็อดรฺจะประเสริฐกว่า (การประกอบอิบาดะฮฺในค่ำคืนอื่นจากค่ำคืนอัลก็อดรฺ) หนึ่งพันเดือน"[vi]
มุญาฮิดกล่าวว่า
“การอิบาดะฮฺ การถือศิยาม และการละหมาดในค่ำคืนอัลก็อดรฺจะมีความประเสริฐกว่า (การประกอบอิบาดะฮฺในค่ำคืนอื่นจากค่ำคืนอัลก็อดรฺ) หนึ่งพันเดือน”[vii]
ดร. อับดุลเราะหฺมาน หะบันนะกะฮฺกล่าวว่า “1000 เดือนเท่ากับ 83 ปี กับอีกเศษหนึ่งส่วนสามของปี ซึ่งมีมนุษย์เพียงไม่กี่คนที่มีอายุยืนจนถึงขนาดนี้ได้”[viii]
3.2 เป็นค่ำคืนที่บรรดามะลาอิกะฮฺมากมายและรูหฺลงมายังโลก
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿تَنَزَّلُ ٱلْمَلَـٰئِكَةُ وَٱلرُّوحُ فِيهَا بِإِذْنِ رَبّهِم مّن كُلّ أَمْرٍ﴾
"บรรดามลาอิกะฮฺและอัลรูหฺ (ญิบรีล) จะลงมาในคืนอัลก็อดรฺนั้น ด้วยคำสั่งขององค์อภิบาลของพวกเขา เนื่องจากกิจการทุกสิ่ง" (อัลก็อดรฺ, อายะฮฺที่ 4)
อิบนุกะษีรกล่าวว่า "มะลาอิกะฮฺจะลงมาอย่างมากมายในคืนนี้ เนื่องเพราะความประเสริฐที่มากมายในคืนนั้น และบรรดามะลาอิกะฮฺจะลงมาพร้อมกับการลงมาของประเสริฐ (บะเราะกะฮฺ) และความเมตตา (เราะหฺมะฮฺ) เช่นเดียวกับที่พวกเขาจะพากันลงมาขณะที่มีการอ่านอัลกุรอานและจะห้อมล้อม หะละเกาะฮฺซิกิรต่างๆ พวกเขาจะเอาปีกของพวกเขาปกคลุมผู้แสวงหาความรู้ด้วยความสัจจริง เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่เขา"[ix]
3.3 เป็นค่ำคืนแห่งความศานติจนถึงรุ่งอรุณ
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿سَلَـٰمٌ هِىَ حَتَّىٰ مَطْلَعِ ٱلْفَجْرِ﴾
"คืนที่มีความศานติจนกระทั่งรุ่งอรุณ" (อัลก็อดรฺ, อายะฮฺที่ 5)
มุญาฮิดกล่าวอธิบายความหมายของ (คืนที่มีความศานติ) ว่า "จะปลอดภัย เป็นคืนที่ชัยฏอนมารร้ายไม่สามารถทำสิ่งที่ชั่วร้ายหรือทำความเดือดร้อน (แก่ผู้ใด)"[x]
อบูอัลมุซ็อฟฟัรอัสสัมอานีย์กล่าวว่า "คำว่า (เป็นคืนที่มีความศานติ) มีสองความหมาย
1. หมายถึงการให้สลามของมะลาอิกะฮฺแก่ผู้ที่กำลังกล่าวรำลึก (ซิกิร) ถึงอัลลอฮฺ ในคืนดังกล่าว
2. หมายถึง ปลอดภัย หมายความว่า โรคร้าย และไสยศาสตร์ ไม่สามารถจะกระทำได้ในคืนนี้ และการกระทำของมารร้ายและหมอผีจะไม่ส่งผลแม้แต่สิ่งเดียว"[xi]
อิบนุลเญาซีย์กล่าวว่า "ในความหมายของสะลาม (ศานติ) มีสองทัศนะ
1. โรคร้ายจะไม่เกิดขึ้น และชัยฏอนมารร้ายจะไม่ถูกส่งลงมา
2. หมายถึง ความประเสริฐและความบะเราะกะฮฺ"[xii]
3.4 เป็นค่ำคืนที่ผู้ประกอบอิบาดะฮฺด้วยเปี่ยมศรัทธาและหวังในความโปรดปรานจากอัลลอฮฺจะได้รับการอภัยโทษในบาปต่างๆที่ผ่านมา
อบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«وَمَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِه»
"และผู้ใดที่ดำรงไว้ (อิบาดะฮฺ) ในค่ำคืนอัลก็อดรฺด้วยเปี่ยมศรัทธาต่ออัลลอฮฺและหวังในความโปรดปรานและผลตอบแทนจากพระองค์ เขาจะได้รับการอภัยโทษจากบาปที่ผ่านมา"[xiii]
อิบนุบัตฏอลกล่าวว่า "ความหมายของคำว่า (เปี่ยมศรัทธาต่ออัลลอฮฺและหวังในความโปรดปรานและผลตอบแทนจากพระองค์) คือ เชื่อมั่นในฟัรฎูของเราะมะฎอน เชื่อมั่นในผลบุญและการตอบแทนของการทำอิบาดะฮฺในค่ำคืนอัลก็อดรฺ และการถือศีลอดของเขา และคาดหวังความโปรดปรานและผลบุญจากอัลลอฮฺ โดยปราศจาการเสแสร้ง โอ้อวด"[xiv]
3.5 เป็นค่ำคืนที่อัลลอฮฺทรงกำหนดปัจจัยยังชีพ อายุขัย และกฎสภาวะประจำปี
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿إِنَّا أَنزَلْنَـٰهُ فِى لَيْلَةٍ مُّبَـٰرَكَةٍ إِنَّا كُنَّا مُنذِرِينَ فِيهَا يُفْرَقُ كُلُّ أَمْرٍ حَكِيمٍ﴾
"แท้จริง เราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ แท้จริงเราเป็นผู้ตักเตือน ในคืนนั้นทุกๆ กิจการที่สำคัญถูกจำแนกไว้แล้ว" (อัดดุคอน, อายะฮฺที่ 3-4)
อิบนุอับบาสกล่าวว่า "ในคืนนี้จะมีการจำแนกกิจการของโลกจากปีหนึ่งไปสู่อีกปีหนึ่ง"[xv]
อัลกุรฏุบีย์ได้อ้างคำกล่าวของอิบนุอับบาสและท่านอื่นๆว่า "อัลลอฮฺจะทรงชี้ขาดกิจการของโลกในวันข้างหน้าในคืนอัลก็อดรฺ ทั้งเรื่องการมีชีวิตอยู่ หรือการเสียชีวิต หรือปัจจัยยังชีพ"[xvi]
4. ไม่มีการเจาะจงค่ำคืนอัลก็อดรฺ
อบูสะอีด เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إنّي رأيت ليلة القدر ثم أُنسيتها ـ أو نسيتها ـ فالتمسوها في العشر الأواخر في الوتر، ...»
"แท้จริงฉันได้เก็นค่ำคืนอัลก็อดรฺ แต่แล้วฉันก็ถูกทำให้ลืมมัน หรือฉันได้ลืมมันไปแล้ว ดังนั้นพวกเจ้าจงแสวงหามันในสิบวันสุดท้าย (ของเดือนเราะมะฎอน) ในคืนที่เป็นคี่..."[xvii]
อัลอัยนีย์กล่าวอธิบายคำว่า (ฉันได้ลืมมัน) ว่า "ความหมายก็คือ ฉันลืมความรู้ในการเจาะจงคืนของมันในรอบปี"[xviii]
5. สาเหตุที่ไม่มีการเจาะจงค่ำคืนอัลก็อดรฺ
5.1 เศาะหาบะฮฺสองคนโต้เถียงและด่าว่ากัน
อุบาดะฮฺ บิน อัสศอมิตเล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ออกมาหาพวกเราเพื่อแจ้งข่าวเกี่ยวกับค่ำคืนอัลก็อดรฺ แล้วท่านไปพบกับมุสลิมสองคนกำลังโต้เถียงและด่าว่ากัน ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า
«خرجت لأخبركم بليلة القدر، فتلاحى فلان وفلان فَرُفِعَتْ، وعسى أن يكون خيراً لكم، فالتمسوها في التاسعة والسابعة والخامسة»
"ฉันออกมาเพื่อแจ้งข่าวแก่พวกเจ้าเกี่ยวกับค่ำคืนอัลก็อดรฺ แต่แล้วก็มีคนนั้นและคนนั้นกำลังโต้เถียงและด่าว่ากัน ดังนั้นมันจึงถูกยกกลับไป (ทำให้ท่านลืมไป) และหวังว่ามันจะเป็นการดีสำหรับพวกเจ้า (ที่ไม่มีการเจาะจงค่ำคืนอัลก็อดรฺ) ดังนั้น พวกเจ้าจงแสวงหามันในค่ำคืนที่ 29 หรือ 27 หรือ 25"[xix]
5.2 ครอบครัวของนบีได้ปลุกท่านให้ตื่นจากนอน
อบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลออุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«أُرِيتُ ليلة القدر، ثم أيقظني بعض أهلي فنسيتها، فالتمسوها في العشر الغوابر»
"แท้จริงฉันได้ทำให้มองเห็น (ในความฝัน) ค่ำคืนอัลก็อดรฺ แต่แล้วคนในครอบครัวของฉันบางคนก็ได้ปลุกฉันให้ตื่น ดังนั้นฉันจึงลืมมัน ดังนั้นพวกเจ้าจงแสวงหามันในค่ำคืนสิบวันที่ยังเหลืออยู่"[xx]
อิบนุหะญัรกล่าวว่า "ทั้งสองสาเหตุนี้ อาจเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อครั้งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อยู่ในสภาพตื่น แล้วท่านไปพบกับเหตุการณ์การทะเลาะกันจนทำให้ท่านหลงลืมไป และอีกครั้งหนึ่งเมื่อครั้งที่ท่านนอนหลับซึ่งท่านฝันเห็นค่ำคืนอัลก็อดรฺ แต่แล้วคนในครอบครัวท่านก็ปลุกท่านให้ตื่นขึ้นมาจนทำให้ท่านลืมมันไป"[xxi]
6. ทัศนะอุละมาอ์เกี่ยวกับการเจาะจงค่ำคืนอัลก็อดรฺ
เนื่องจากค่ำคืนอัลก็อดรฺเป็นค่ำคืนที่ถูกซ่อนไว้เป็นความลับโดยอัลลอฮฺ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะไม่มีหลักฐานที่กล่าวระบุอย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้นเมื่อไร ดังนั้นนักวิชาการจึงมีทัศนะที่แตกต่างกันมากมาย จนกระทั่งอิบนุหะญัรได้นับถึง 46 ทัศนะ[xxii] และต่อไปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทัศนะต่างๆเหล่านั้น ซึ่งผู้เขียนขอคัดเอาเฉพาะทัศนะที่เห็นว่ามีน้ำหนักที่สุดตามที่มีรายงานจากหะดีษ คือ
1. เกิดขึ้นได้ในทุกๆ คืนตลอดทั้งปี (เป็นทัศนะของอิบนุมัสอูด อิบนุอับบาส อิกริมะฮฺ ฯลฯ และเป็นทัศนะหนึ่งของมัซฮับหะนะฟีย์)[xxiii] ข้ออ้างของอิบนุมัสอูดคือหะดีษที่ระบุว่า "เพื่อไม่ให้ประชาชนไว้วางใจ (และไม่ชอบทำอิบาดะฮฺในคืนอื่นๆ)"[xxiv]
2. เกิดขึ้นเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้ในทุกๆ คืนของเดือนเราะมะฎอน (เป็นทัศนะของอบูฮุร็อยเราะฮฺ[xxv] อิบนุอับบาส[xxvi] อบูซัร[xxvii] อัลหะสัน อัลบัศรีย์[xxviii] และเป็นทัศนะของอิหม่ามอบูหะนีฟะฮฺ, อิบนุลมุนซิร และอุละมาอ์มัซฮับชาฟิอีย์บางท่าน และอัสสุบกีย์กล่าวว่า นี่เป็นทัศนะที่ถูกต้อง[xxix])
3. เกิดขึ้นในค่ำคืนแรกของสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน (ค่ำคืนที่ 21) (เป็นทัศนะของอิหม่ามอัชชาฟิอีย์, และบรรดาอุละมาอ์มัซฮับชาฟิอีย์กลุ่มหนึ่งได้ยืนยันว่าเป็นคืนนี้)[xxx]
4. เกิดขึ้นในค่ำคืนที่ 23 ของเดือนเราะมะฎอน (เป็นอีกทัศนะหนึ่งของอิบนุอับบาส และจะพรมน้ำบนตัวของสมาชิกในครอบครัวของท่านเพื่อปลุกให้ลุกขึ้นมาทำอิบาดะฮฺ[xxxi] บิลาล[xxxii] อาอิชะฮฺและนางจะปลุกครอบครัวของนางให้ตื่นขึ้นมาทำอิบาดะฮฺ[xxxiii] อนีส อัลญุฮะนีย์[xxxiv] และสะอีด บินอัลมุสัยยิบ[xxxv])
5. เกิดขึ้นในค่ำคืนที่ 29 ของเดือนเราะมะฎอน (เป็นทัศนะที่มีรายงานจากอบูฮุร็อยเราะฮฺและท่านอื่นๆ) [xxxvi]
6. เกิดขึ้นในค่ำคืนที่ 27 ของเดือนเราะมะฎอน (เป็นทัศนะของเศาะหาบะฮฺกลุ่มหนึ่ง เช่นอุบัยย์ บิน กะอับ[xxxvii] อนัส บิน มาลิก[xxxviii] และเป็นทัศนะที่ซิร บิน หะบีช เลือกไว้[xxxix])
อุบัยย์ บิน กะอับได้กล่าวยืนยันเกี่ยวกับค่ำคืนอัลก็อดรฺว่า “ขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ แท้จริงฉันรู้จักมัน และฉันมั่นใจว่ามันเป็นคืนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สั่งให้พวกเราลุกขึ้นทำการอิบาดะฮฺ มันคือค่ำคืนที่ 27”[xl]
ข้อสรุป
หวังว่าทัศนะที่ถูกต้องที่สุดคือทัศนะที่ระบุว่าค่ำคืนอัลก็อดรฺจะอยู่ในระหว่างค่ำคืนของสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน ดังคำกล่าวของท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า
«إني أُريت ليلة القدر ثم أنسيتها، فالتمسوها في العشر الأواخر»
"แท้จริงฉันได้ทำให้มองเห็น (ในความฝัน) ค่ำคืนอัลก็อดรฺ แต่แล้วฉันก็ถูกทำให้ลืมมัน ดังนั้นพวกเจ้าจงแสวงหามันในค่ำคืนสิบวันสุดท้าย”[xli]
และมีรายงานจากบรรดาเศาะหาบะฮฺว่าพวกเขาได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ค่ำคืนอัลก็อดรฺอยู่ในค่ำคืนสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน ดังที่มีรายงานจากอิบนุอับบาส ท่านกล่าวว่า “อุมัร บิน อัลค็อฏฏอบได้เชิญบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และได้สอบถามพวกเขาเกี่ยวกับค่ำคืนอัลก็อดรฺ พวกเขาต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ว่ามันอยู่ในค่ำคืนสิบวันสุดท้าย (ของเดือนเราะมะฎอน)...”[xlii]
และส่งเสริมให้แสวงหาค่ำคืนอัลก็อดรฺในคืนที่เป็นคี่ของคืนทั้งสิบ เช่นคืนที่ 21, 23, 25, 27 และ 29 ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สั่งกำชับไว้ว่า
«فالتمسوها في العشر الأواخر في الوتر»
“ดังนั้นพวกเจ้าจงแสวงหามันในค่ำคืนสิบวันสุดท้าย ในคืนที่เป็นคี่”[xliii]
และคำสั่งของท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในหะดีษอาอิชะฮฺที่ว่า
«تحروا ليلة القدر في الوتر من العشر الأواخر من رمضان»
“พวกเจ้าจงสืบหาค่ำคืนอัลก็อดรฺในค่ำคืนที่เป็นคี่จากค่ำคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน”[xliv]
«التمسوها في العشر الأواخر من رمضان ليلة القدر في تاسعة تبقى، في سابعة تبقى، في خامسة تبقى»
“พวกเจ้าจงแสวงหามันในค่ำคืนสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน ค่ำคืนอัลก็อดรฺจะอยู่ในคืนที่ 21 คืนที่ 23 คืนที่ 25”[xlv]
«هي في العشر الأواخر، في تسع يمضين أو في سبع يبقين»
“มันอยู่ในค่ำคืนของสิบวันสุดท้าย, ในค่ำคืนที่ 29 และในค่ำคืนที่ 23”[xlvi]
อับดุลลอฮฺ บิน อุนัยส์ อัลญุฮะนีย์เล่าว่า “ฉันได้กล่าวแก่ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า “โอ้ท่านรสูลุลลอฮฺ แท้จริงฉันเป็นคนที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแถวชนบท และฉันได้ดำรงละหมาดที่นั่น - มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ - ดังนั้นท่านจงสั่งแก่ฉันด้วยคืนใดคืนหนึ่งเพื่อที่ฉันจะได้เดินทางออกจากหมู่บ้านลงมา (อิอฺติกาฟและประกอบอิบาดะฮฺ) ยังมัสยิดแห่งนี้?”
ดังนั้นท่านจึงสั่งว่า
«انْزِلْ لَيْلَةَ ثَلاَثٍ وَعِشْرِيْنَ»
“เจ้าจงลงมา (อิอฺติกาฟและประกอบอิบาดะฮฺ) ในค่ำคืนที่ยี่สิบสาม (ของเดือนเราะมะฎอน)”
ฉัน (นักรายงานหะดีษ) จึงถามบุตรชายของอับดุลลอฮฺว่า “บิดาของท่านทำเช่นไรละ?” เขาตอบว่า “ท่านจะเข้ามัสยิดเมื่อมีการละหมาดอัศริ แล้วท่านก็จะไม่ออกจากมัสยิดเพื่อความจำเป็นใดๆ อีกเลย จนกว่าจะเสร็จจากการละหมาดศุบหฺ หลังจากที่ท่านละหมาดศุบหฺเรียบร้อยแล้ว ท่านก็จะไปหาพาหนะของท่านที่หน้าประตูมัสยิดแล้วท่านก็จะขึ้นนั่งแล้วก็เดินทางกลับไปยังหมู่บ้าน”[xlvii]
อิบนุ หะญัร อัล-อัสเกาะลานีย์ กล่าวว่า “ที่น่าคาดหวังที่สุดคือค่ำคืนที่เป็นคี่จากสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน และค่ำคืนที่เป็นคี่ที่น่าคาดหวังที่สุดตามทัศนะของมัซฮับชาฟิอีย์คือค่ำที่ 21 หรือ 23 ตามที่มีระบุในหะดีษของอบูสะอีดและอับดุลลอฮฺ บิน อุนัยส์ ส่วนค่ำคืนที่น่าคาดหวังที่สุดตามทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่คือ ค่ำคืนที่ 27"[xlviii]
7. ค่ำคืนอัลก็อดรฺมีการสับเปลี่ยนและหมุนเวียนกันหรือไม่
อุละมาอ์มีทัศนะที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับค่ำคืนอัลก็อดรฺว่า มันจะอยู่ในค่ำคืนที่แน่นอนและไม่ย้ายไปยังคืนอื่นๆ ตลอดทุกๆ ปี หรือว่ามันจะมีการสลับเปลี่ยนและหมุนเวียนกันไปจากคืนหนึ่งในปีหนึ่งไปสู่อีกคืนหนึ่งในปีต่อๆ ไป
ทัศนะที่หนึ่ง มันจะเคลื่อนย้ายไปตลอดทุกๆ ปี โดยที่ปีหนึ่งจะอยู่ในคืนหนึ่งและปีต่อไปก็จะอยู่ในอีกคืนหนึ่ง นี่เป็นทัศนะของอิหม่ามมาลิก, สุฟยาน อัสเษารีย์, อะหมัด บิน หันบัล, อิสหาก บิน รอฮูยะฮฺ และ อบูเษารฺ
อัลอิรอกีย์กล่าวว่า “อุละมาอ์กลุ่มหนึ่งมีทัศนะว่า มันจะมีการเคลื่อนย้าย โดยในปีหนึ่งจะอยู่นคืนหนึ่งและในอีกปีหนึ่งก็จะอยู่ในอีกคืนหนึ่ง นี่เป็นทัศนะของมาลิก, สุฟยาน, อะหมัด บิน หันบัล, อิสหาก บิน รอฮูยะฮฺ, อบูเษารฺ และอื่นๆ[xlix] และเป็นทัศนะของมัซฮับหะนะฟีย์[l] และทัศนะหนึ่งของมัซฮับชาฟิอีย์[li]
อิหม่ามอันนะวะวีย์กล่าวว่า “อัลมุซะนีย์ และสหายของท่านอบูบักรฺ อิบนุคุซัยมะฮฺ กล่าวว่า “มันจะโยกย้ายและสลับเปลี่ยนกันในค่ำคืนของสิบวันสุดท้าย ซึ่งจะโยกย้ายในบางปีไปอยู่ในค่ำคืนหนึ่ง ละในอีกบางปีจะย้ายไปอยู่ในอีกปีหนึ่ง เพื่อเป็นการรวมระหว่างหะดีษต่างๆ และนี่คือทัศนะที่เด่นชัดและเป็นทัศนะที่ถูกเลือก”[lii]
มีรายงานจากอบูเกาะลาบะฮฺ ท่านกล่าวว่า
لَيْلَةُ الْقَدْرِ تَنْتَقِلُ فِي الْعَشْرِ الأَوَاخِرِ فِي وِتْرٍ
“ค่ำคืนอัลก็อดรฺจะเคลื่อนย้ายใน (ค่ำคืนของ) สิบวันสุดท้ายในคืนที่เป็นคี่”[liii]
ทัศนะที่สอง มันจะอยู่ในคืนใดคืนหนึ่งตลอดโดยไม่ย้ายไปยังคืนอื่น นี่เป็นทัศนะของอิบนุหัซมิน และอุละมาอ์มัซฮับชาฟิอีย์บางท่าน
อิบนุหัซมิน กล่าวว่า ค่ำคืนอัลก็อดรฺจะอยู่ในเดือนเราะมะฎอน โดยเฉพาะในค่ำคืนของสิบวันสุดท้าย โดยเฉพาะในคืนใดคืนหนึ่งที่แน่นอน โดยไม่มีการโยกย้ายไปยังคืนอื่นเป็นอันขาด เพียงแต่ว่าไม่มีผู้ใดทราบว่า ค่ำคืนดังกล่าวจะอยู่ในคืนใดกันแน่ในบรรดาค่ำคืนสิบวันสุดท้าย และมันจะอยู่ในค่ำคืนที่เป็นคี่อย่างแน่นอน”[liv]
หวังว่าทัศนะที่หนึ่งน่าจะเป็นทัศนะที่ถูกต้องกว่า เนื่องเพราะมีหลักฐานมากมายที่บ่งบอกถึงการโยกย้ายและอยู่ไม่คงที่ของค่ำคืนอัลก็อดรฺ
อบูสะอีด อัลคุดรีย์ เล่าว่า
«مُطِرْنَا لَيْلَةَ إِحْدَى وَعِشْرِينَ فَوَكَفَ الْمَسْجِدُ فِي مُصَلَّى رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَنَظَرْتُ إِلَيْهِ وَقَدْ انْصَرَفَ مِنْ صَلَاةِ الصُّبْحِ وَوَجْهُهُ مُبْتَلٌّ طِينًا وَمَاءً»
“ฝนได้ตกลงมายังพวกเราในค่ำคืนที่ 21 ของเดือนเราะมะฎอน ทำให้มัสยิดจึงมีน้ำหยด (รั่ว) ลงมายังสถานที่ละหมาดของท่านนบี ศ็อลลัลลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังนั้นเราจึงมองไปยังท่านนบี ซึ่งเป็นเวลาที่ท่านเสร็จจากการละหมาดศุบหฺแล้ว และ (เราพบว่า) หน้าของท่านเปียกชุ่มด้วยดินโคลนและน้ำ”[lv]
และหะดีษของอับดุลลอฮฺ บิน อุนัยส์ ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«أُرِيتُ لَيْلَةَ الْقَدْرِ ثُمَّ أُنْسِيتُهَا وَأَرَانِي صُبْحَهَا أَسْجُدُ فِي مَاءٍ وَطِينٍ»
“ฉันได้ถูกทำให้มองเห็นค่ำคืนอัลก็อดรฺ แต่แล้วฉันก็ถูกทำให้ลืมมัน ฉันได้ถูกทำให้มองเห็น (ในความฝันว่า) ฉันกำลังสุญูดอยู่ในน้ำและโคลน”
อับดุลลอฮฺกล่าวว่า “แล้วฝนได้ตกลงมายังพวกเราในค่ำคืนของวันที่ 23 ดังนั้นท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้ละหมาดพร้อมกับพวกเรา แล้วท่านก็เลิก และแท้จริงร่องรอยของน้ำและดินโคลนติดอยู่ที่หน้าผากและจมูกของท่าน”[lvi]
อิบนุหะญัรกล่าวว่า ““ทัศนะที่ถูกต้องที่สุดคือ ค่ำคืนอัลก็อดรฺจะอยู่ในค่ำคืนที่เป็นคี่จากสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน และมันจะโยกย้ายตลอด ดังที่ได้เข้าใจจากหะดีษต่างๆ ในบทนี้”[lvii]
8. ทำไมค่ำคืนอัลก็อดรฺจึงถูกปกปิด
การที่อัลลอฮฺไม่ประสงค์ให้ไม่การระบุอย่างชัดเจนว่าค่ำคืนอัลก็อดรฺอยู่ในค่ำคืนไหนนั้น คงจะเป็นวิทยปัญญาหรือเหตุผลเพื่อมิให้มวลมนุษย์เพิกเฉยและละเลยจากการประกอบอิบาดะฮฺในค่ำคืนอื่นๆ ของเดือนเราะมะฎอนอันเป็นค่ำคืนที่เปี่ยมล้นไปด้วยความประเสริฐ
อุบาดะฮฺ บิน อัสศอมิต เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«خَرَجْتُ لِأُخْبِرَكُمْ بِلَيْلَةِ الْقَدْرِ فَتَلاَحَى فُلاَنٌ وَفُلَانٌ فَرُفِعَتْ وَعَسَى أَنْ يَكُونَ خَيْرًا لَكُمْ»
"ฉันออกมาเพื่อแจ้งข่าวแก่พวกเจ้าเกี่ยวกับค่ำคืนอัลก็อดรฺ แต่แล้วก็มีคนนั้นและคนนั้นกำลังโต้เถียงและด่าว่ากัน ดังนั้นมันจึงถูกยกกลับไป (ทำให้ท่านลืมไป) และหวังว่า (การที่ไม่มีการเจาะจงค่ำคืนอัลก็อดรฺ) จะเป็นการดีสำหรับพวกเจ้า "[lviii]
อัลบัยฮะกีย์กล่าวว่า “แท้จริงในตอนแรกท่านรสูลุลลอฮฺทราบว่าค่ำคืนอัลก็อดรฺนั้นอยู่ในค่ำคืนไหน เพียงแต่ว่าท่านไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการเผยแพร่หรือแจ้งข่าว (ให้ประชาชาติของท่านได้รับทราบว่ามันอยู่ในค่ำคืนไหน) เพื่อไม่ให้พวกเขาละเลยจากการปฏิบัติอิบาดะฮฺ ดังนั้นพวกเขาก็จะยึดปฏิบัติเฉพาะในค่ำคืนอัลก็อดรฺเท่านั้น และละทิ้งการปฏิบัติอิบาดะฮฺในค่ำคืนอื่นๆ...”[lix]
อิบนุหะญัรกล่าวว่า “คำว่า (หวังว่า การที่ไม่มีการเจาะจงค่ำคืนอัลก็อดรฺจะเป็นการดีสำหรับพวกเจ้า) เป็นความดีในด้านที่ว่าการปกปิดของค่ำคืนอัลก็อดรฺทำให้จำเป็นต้องทำการอิบาดะฮฺในทุกค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอน หรือสิบวันสุดท้าย ซึ่งย่อมตรงข้ามกับการที่ค่ำคืนอัลก็อดรฺคงอยู่ในสภาพที่ประจักษ์ชัดแน่นอนว่าอยู่ในคืนใด (เพราะจะทำให้มีการเน้นทำอิบาดะฮฺเฉพาะในคืนนั้นคืนเดียวเท่านั้น)”[lx]
ท่านกล่าวอีกว่า “บรรดาอุละมาอ์กล่าวว่า “เหตุผลในการปกปิดค่ำคืนอัลก็อดรฺ ก็เพื่อให้มีความพยามยามในการแสวงหามัน ซึ่งถ้ามีการเจาะจงค่ำคืนที่แน่นอนย่อมจะทำให้มีการละเลยในการทำอิบาดะฮฺ (ในยามค่ำคืน) เหตุผลข้างต้นจะสอดคล้องอย่างยิ่งกับทัศนะที่ว่า มันจะอยู่ใน (ค่ำคืนใดคืนหนึ่ง) ของตลอดปี หรืออยู่ในทุกๆ ค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอน หรืออยู่ในทุกๆ ค่ำคืนของสิบวัยสุดท้าย โดยเฉพาะในค่ำคืนที่เป็นคี่ เพียงแต่ว่าทัศนะที่หนึ่ง และสองเป็นทรรศนะที่เหมาะสมกว่าตามลำดับ”[lxi]
9. สัญญาณของค่ำคืนอัลก็อดรฺ
ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถที่จะเจาะจงตายตัวว่าค่ำคืนอัลก็อดรฺนั้นอยู่ในค่ำคืนในบรรดาค่ำคืนที่เป็นคี่ของค่ำคืนสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน ถึงกระนั้น ก็พอมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการมาเยือนของค่ำอัลก็อดรฺอยู่บ้างตามที่มีระบุในหะดีษ ต่อไปนี้
ซิรฺ บิน ฮุบัยรฺ เล่าว่า มีคนถามอุบัยย์ บิน กะอับว่า “แท้จริง อิบนุ มัสอูดกล่าวว่า “ผู้ใดทำการอิบาดะฮฺยามค่ำคืน (กิยามุลลัยล์) เป็นเวลาครบหนึ่งปี เขาต้องพบกับค่ำคืนอัลก็อดรฺอย่างแน่นอน”
อุบัยย์จึงตอบว่า “ฉันขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ซึ่งไม่มีพระเจ้าองค์ใดที่ควรแก่การเคารพภักดีนอกจากพระองค์ แท้จริง ค่ำคืนอัลก็อดรฺจะอยู่ในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น… และฉันขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่าแท้จริงฉันรู้ดีว่ามันอยู่ในคืนไหน มันอยู่ในคืนที่ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สั่งให้พวกเราลุกขึ้นทำการอิบาดะฮฺ มันคือคืนที่ 27 และสัญญาณของมันคือดวงอาทิตย์จะขึ้นในตอนเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้นในสภาพที่มีแสงขาวนวล ไม่มีแสงจ้าออกจากดวงอาทิตย์”[lxii]
อิบนุอับบาส เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวถึง (สัญญาณของ) ค่ำคืนอัลก็อดรฺว่า
«ليلة القدر ليلة سمحة طلقة لا حارة ولا باردة تصبح الشمس صبيحتها ضعيفة حمراء»
“ค่ำคืนอัลก็อดรฺเป็นค่ำคืนที่อ่อนละมุน อากาศเย็นสบาย ไม่ร้อน และไม่หนาว ดวงอาทิตย์ในเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้นแสงของมันจะเป็นสีแดงอ่อน”[lxiii]
อบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวเกี่ยวกับสัญญาณของค่ำคืนอัลก็อดรฺว่า
«إنها ليلة سابعة أو تاسعة وعشرين، إن الملائكة تلك الليلة في الأرض أكثر من عدد الحصى»
“มันเป็นค่ำคืนที่ 27 หรือ 29 แท้จริงในค่ำคืนนั้น บรรดามะลาอิกะฮฺจะอยู่บนพื้นดินมากกว่าจำนวนของเม็ดทราย”[lxiv]
อัลกอฎีย์อิยาฎกล่าวขยายความหะดีษของอุบัยย์ว่า “ในการอธิบายความหมายของคำพูดอุบัยย์ว่า สามารถตีความได้สองแนวทาง คือ
แนวทางแรกคือ คุณลักษณะนี้เป็นสัญญาณเฉพาะของเช้าวันรุ่งขึ้นที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แจ้งไว้ว่ามันคือค่ำคืนของอัลก็อดรฺ และยึดเอาคุณลักษณะดังกล่าวเป็นหลักฐานเพื่อบ่งบอกว่าเป็นค่ำคืนของอัลก็อดรฺสำหรับพวกเขาในเวลานั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณลักษณะดังกล่าวเป็นคุณลักษณะเฉพาะของเช้าวันรุ่งขึ้นของค่ำคืนอัลก็อดรฺ เฉกเช่นที่ท่านได้แจ้งให้พวกเขาทราบว่าท่านได้ก้มลงสุญูดในน้ำและโคลน ในเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น
แนวทางที่สองคือ มันเป็นคุณลักษณะหรือสัญญาณเฉพาะของค่ำคืนอัลก็อดรฺ...”[lxv] หมายความว่าทุกๆ เช้าวันรุ่งขึ้นของค่ำคืนอัลก็อดรฺจะมีสัญญาณเหล่านี้เกิดขึ้นตลอด เพื่อบ่งบอกว่าค่ำคืนที่ผ่านมาคือค่ำคืนอัลก็อดรฺ
10. อิบาดะฮฺที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติในค่ำคืนอัลก็อดรฺ
อิหม่ามอันนะวะวีย์กล่าวว่า "ค่ำคืนอัลก็อดรฺเป็นค่ำคืนที่ประเสริฐที่สุดในรอบปี ผู้ใดประกอบอิบาดะฮฺกิยามุลลัยล์ (เช่น อ่านอัลกุรอาน ซิกิร ขอภัยโทษ ละหมาดตะฮัจญุด และทบทวนตนเอง เป็นต้น) ในค่ำคืนอัลก็อดรฺ แม้ว่าเขาจะไม่ได้รับเตาฟีกในการมองเห็นสัญญาณของค่ำคืนอัลก็อดรฺก็ตาม แน่นอนว่าเขาจะได้รับผลตอบแทนด้วยผลตอบแทนดังกล่าว"[lxvi] ด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮฺผู้เปี่ยมด้วยความกรุณา
ดังนั้นจึงส่งเสริมให้ปฏิบัติอิบาดะฮฺในรูปแบบต่างๆ ในค่ำคืนอันเปี่ยมด้วยความประเสริฐนี้ อาทิ
10.1 จริงจังในการประกอบอิบาดะฮฺและปลุกครอบครัว
อาอิชะฮฺเล่าว่า
«كان النبي e إذا دخل العشر شدّ مئزره، وأحيا ليله، وأيقظ أهله»
“เมื่อเข้าสิบวัน (สุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน) ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะกระชับผ้านุ่งให้แน่นหนา และจะอดนอนในยามค่ำคืน (เพื่อทำอิบาดะฮฺ) และจะปลุกครอบครัวของท่านให้ตื่น (ขึ้นมาทำอิบาดะฮฺพร้อมๆกับท่าน)”[lxvii]
10.2 ละหมาดตะรอวีหฺและกิยามุลลัยล์
อบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«ومن قام ليلة القدر إيماناً واحتساباً غفر له ما تقدّم من ذنبه»
"และผู้ใดที่ดำรงไว้ (อิบาดะฮฺ) ในค่ำคืนอัลก็อดรฺด้วยเปี่ยมศรัทธาต่ออัลลอฮฺและหวังในความโปรดปรานและผลตอบแทนจากพระองค์ เขาจะได้รับการอภัยโทษจากบาปที่ผ่านมา"[lxviii]
ท่านอัน-นุอฺมาน บิน บะชีร์ กล่าวว่า "เราได้ประกอบกิยามุลลัยล์พร้อมกับท่าน รสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในค่ำคืนที่ 23 ของเดือนเราะมะฎอนจนกระทั่งหนึ่งส่วนสามของคืน ต่อมาในคืนที่ 25 จนกระทั่งครึ่งคืน และในคืนที่ 27 จนกระทั่งเวลาที่เราคิดว่าเราไม่ทันที่จะรับประทานอาหารสะหูร เนื่องจากสายเกินไป”[lxix]
10.3 ขอดุอาอ์ตามที่ท่านนบีได้แนะนำไว้ให้และดุอาอ์อื่นๆ
อาอิชะฮฺได้ถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสลัม ว่า “โอ้ท่าน รสูลุลลอฮฺ หากว่าฉันทราบว่าคืนใดเป็นค่ำคืนอัลก็อดรฺ ฉันควรอ่านดุอาอ์อะไรบ้าง?”
ท่านรสูลตอบว่า “เธอก็จงอ่าน (ดุอาอ์)
«اللهم إِنَّكَ عَفُوٌّ تُحِبُّ الْعَفْوَ فَاعْفُ عَنِّي»
“โอ้องค์อภิบาลของฉัน แท้จริงพระองค์เป็นผู้ที่ทรงให้อภัย พระองค์ชอบที่จะให้อภัย (บาปต่างๆ ของบ่าวของพระองค์) ดังนั้นขอพระองค์โปรดประทานอภัยใน (บาปต่างๆ) ของข้าด้วยเถิด”[lxx]
อิบนุ กะษีรกล่าวว่า “และส่งเสริมให้มีการขอดุอาอ์ให้มากๆ ในทุกๆ เวลา และในเดือนเราะมะฎอนให้มากกว่านั้น และในสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน และในคืนคี่ของคืนสิบวันสุดท้าย และดุอาอ์ที่ส่งเสริมให้อ่านให้มาก (ในค่ำคืนดังกล่าว) คือ
«اللهم إِنَّكَ عَفُوٌّ تُحِبُّ الْعَفْوَ فَاعْفُ عَنِّي»[lxxi]
10.4 ปลีกตัวทำอิอฺติกาฟ
อาอิชะฮฺภรรยาเล่าว่า “ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะทำอิอฺติกาฟในสิบวันสุดท้ายจากเราะมะฎอน และท่านกล่าวว่า
«التمسوها في العشر الأواخر؛ يعني ليلة القدر»
“พวกเจ้าจงแสวงหามัน – หมายถึงค่ำคืนอัลก็อดรฺ – ในค่ำคืนสิบวันสุดท้าย (ของเดือนเราะมะฎอน)”[lxxii]
จากหะดีษดังกล่าว จึงกระจ่างชัดว่าในบรรดาอะมัลหลักของท่านรสูลและบรรดาเศาะฮาบะฮฺทั้งหญิงและชายเพื่อให้ได้มาซึ่งความประเสริฐของค่ำคืนอัลก็อดรฺ คือ "การอิอฺติกาฟ”
10.5 อ่านอัลกุรอาน
อบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า “ญิบรีลได้นำเสนอ (อ่าน) อัลกุรอานให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฟังทุกๆ ปี ปีละหนึ่งครั้ง และในปีที่ท่านเสียชีวิตญิบรีลได้อ่านอัลกุรอานให้ท่านฟังสองครั้ง...”[lxxiii]
[i] ตัฟสีรอัลบะเฆาะวีย์, เล่ม 7 หน้า 227-228, ชัรหฺอันนะวะวีย์ อะลาเศาะฮีหฺมุสลิม, เล่ม 8 หน้า 213, ฟะฎออิลุลเอากอต ของอัลบัยฮะกีย์ หน้า 213
[ii] ตัฟสีรอัลบะเฆาะวีย์, เล่ม 8 หน้า 485
[iii] ตัฟสีรอัลบะเฆาะวีย์, เล่ม 8 หน้า 485
[iv] ตัฟสีรอัตเฏาะบะรีย์, เล่ม 24 หน้า 652
[v] อัลมัจญ์มูอฺ, เล่ม 6 หน้า 447
[vi] อัลก็อดรฺ, อายะฮฺที่ 3
[vii] ตัฟสีรอัตเฏาะบะรีย์, เล่ม 24 หน้า 533, และดูคำพูดที่มีความหมายเดียวกันนี้ของอัมรู บิน ก็อยสฺ อัลมัลลาอีย์ และเกาตะดะฮฺในอ้างอิงข้างต้น
[viii] อัสศิยามวะเราะมะฎอนฟี อัสสุนนะฮฺวะอัลอุรอาน, หน้า 183
[ix] ตัฟสีรอัลกุรอานุลอะซีม, เล่ม 4 หน้า 568
[x] ตัฟสีรอิบนุอบีหาติม, เล่ม 10 หน้า 343, ตัฟสีรอัลกุรอานุลอะซีม, เล่ม 4 หน้า 568
[xi] ตัฟสีรอัลกุรอานของอัสสัมอานีย์, เล่ม 6 หน้า 262, อะหฺกามุลกุรอาน ของ อิบนุลอะเราะบีย์, เล่ม 4 หน้า 194
[xii] ซาดุลมะสีร, เล่ม 8 หน้า 287
[xiii] เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 35, เศาะฮีหฺมุสลิม, เลขที่ 759
[xiv] ชัรหฺเศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์ ของอิบนุบัตฏอล, เล่ม 1 หน้า 59
[xv] ญามิอุลบะยาน, เล่ม 22 หน้า 10, อัสสุนนะฮฺ ของอับดุลลอฮฺ บิน อะหมัด, เล่ม 2 หน้า 407
[xvi] อัลญามิอฺ ลิ อะหฺกาม อัลกุรอาน, เล่ม 16 หน้า 126
[xvii] เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 2016
[xviii] อุมดะตุลกอรี, เล่ม 11 หน้า 133
[xix] เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 2023, เศาะฮีหฺมุสลิม, เลขที่ 1167
[xx] เศาะฮีหฺมุสลิม เลขที่ 1166
[xxi] ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 4 หน้า 315
[xxii] ดูในฟัตหุลบารีย์, เล่ม 4 หน้า 309 - 313
[xxiii] ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 4 หน้า 309
[xxiv] เศาะฮีหฺมุสลิม, เลขที่ 762
[xxv] มุศ็อนนัฟอับดิรร็อซซาก, เล่ม 4 หน้า 255
[xxvi] มุศ็อนนัฟอับดิรร็อซซาก, เล่ม 4 หน้า 255
[xxvii] มุศ็อนนัฟอับดิรร็อซซาก, เล่ม 4 หน้า 255
[xxviii] มุศ็อนนัฟอิบนิอบีชัยบะฮฺ, เล่ม 2 หน้า 490
[xxix] ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 4 หน้า 310
[xxx] ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 4 หน้า 310
[xxxi] มุศ็อนนัฟอิบนิอบีชัยบะฮฺ, เล่ม 2 หน้า 488, 490
[xxxii] มุศ็อนนัฟอิบนิอบีชัยบะฮฺ, เล่ม 2 หน้า 489
[xxxiii] มุศ็อนนัฟอิบนิอบีชัยบะฮฺ, เล่ม 2 หน้า 490, มุศ็อนนัฟอับดิรร็อซซาก, เล่ม 4 หน้า 251
[xxxiv] มุศ็อนนัฟอับดิรร็อซซาก, เล่ม 4 หน้า 250-251
[xxxv] มุศ็อนนัฟอับดุรร็อซซาก, เล่ม 4 หน้า 249
[xxxvi] เศาะฮีหฺอิบนิคุซัยมะฮฺ, เลขที่ 2194
[xxxvii] มุศ็อนนัฟอิบนิอบีชัยบะฮฺ, เล่ม 2 หน้า 489, มุศ็อนนัฟอับดิรร็อซซาก, เล่ม 4 หน้า 252-253
[xxxviii] มุศ็อนนัฟอิบนิอบีชัยบะฮฺ, เล่ม 2 หน้า 490
[xxxix] มุศ็อนนัฟอับดิรร็อซซาก, เล่ม 4 หน้า 253
[xl] เศาะฮีหฺมุสลิม, เลขที่ 762
[xli] เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 2016, เศาะฮีหฺมุสลิม, เลขที่ 1167
[xlii] มุศ็อนนัฟอับดิรร็อซซาก, เล่ม 4 หน้า 246, มุคตะศ็อรกิยามุลลัยล์ ของอัลมัรวะซีย์, หน้า 123-124
[xliii] เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 2016, เศาะฮีหฺมุสลิม, เลขที่ 1167
[xliv] เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 2017
[xlv] เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 2021
[xlvi] เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 2022
[xlvii] สุนันอบีดาวูด, เลขที่ 1380
[xlviii] ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 4 หน้า 413
[xlix] กิตาบชัรหฺอัสศ็อดรฺ, หน้า 41
[l] อิอานะฮฺ อัตฏอลิบีน, เล่ม 2 หน้า 256
[li] ฟะตาวาอิหม่ามอันนะวะวีย์, หน้า 55, ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 4 หน้า 313
[lii] อัลมัจญ์มูอฺ, เล่ม 6 หน้า 459
[liii] มุศ็อนนัฟอับดิรร็อซซาก, เล่ม 4 หน้า 252, มุศ็อนนัฟอิบนิอบีชัยบะฮฺ, เล่ม 3 หน้า 76
[liv] อัลมุหัลลา, เล่ม 6 หน้า 446, หาชิยะฮฺอัลบุญัยริมีย์, เล่ม 2 หน้า 93, หาชิยะฮฺ อัชชัรวานีย์, เล่ม 2 หน้า 478
[lv] เศาะฮีหฺมุสลิม, เลขที่ 1167
[lvi] เศาะฮีหฺมุสลิม, เลขที่ 1168
[lvii] ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 4 หน้า 413
[lviii] เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 2023, เศาะฮีหฺมุสลิม, เลขที่ 1167
[lix] ฟะฎออิลอัลเอากอต, หน้า 244
[lx] ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 4 หน้า 314
[lxi] ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 4 หน้า 313
[lxii] เศาะฮีหฺมุสลิม, เลขที่ 761
[lxiii] มุสนัดอบีดาวูดอัตเฎาะยาลิสีย์, เล่ม 1 หน้า 349 (เศาะฮีหฺอัลญามิอฺ, เลขที่ 5475)
[lxiv] มุสนัดอบีดาวุดอัตเฏาะยาลิสีย์, เล่ม 1 หน้า 232, มุสนัดอะหมัด, เลขที่ 10356, เศาะฮีหฺอิบนิคุซัยมะฮฺ, เลขที่ 2194 (อัลสัลสะละฮฺ อัสเศาะหีหะฮฺ, เล่ม 5 หน้า 340)
[lxv] อิกมาลอัลมุอฺลิม, เล่ม 3 หน้า 116
[lxvi] อัลมัจญ์มูอฺ, เล่ม 63 หน้า
[lxvii] เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 2024, เศาะฮีหฺมุสลิม, เลขที่ 1174
[lxviii] เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 35, เศาะฮีหฺมุสลิม, เลขที่ 759
[lxix] เศาะฮีหฺอิบนุ คุซัยมะฮฺ, เล่ม 4 หน้า 220
[lxx] สุนันอัตติรมิซีย์, เลขที่ 3513, สุนันอิบนุมาญะฮฺ, เลขที่ 3850
[lxxi] ตัฟสีรอัลกุรอาน อัลอะซีม, เล่ม 8 หน้า 472
[lxxii] มุสนัดอะหมัด, เลขที่ 23555, 32621, 25210, 25349
[lxxiii] เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 2044, 4998