×
ข้อมูลบทความที่อธิบายประเภทต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้การถือศีลอดของมุสลิมเสียและใช้ไม่ได้ อาิทิ การมีเพศสัมพันธ์ การหลั่งอสุจิ การอาเจียนโดยเจตนา การกรอกเลือด การกินดื่มโดยเจตนา เป็นต้น พร้อมคำอธิบายอย่างคร่าวๆ ประกอบด้วยหลักฐาน

    สิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเสียเป็นโมฆะ

    ﴿مفطرات الصوم﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    เชค มุหัมมัด บิน ศอลิหฺ อัล-อุษัยมีน

    แปลโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ผู้ตรวจทาน : ทีมงานภาษาไทย อิสลามเฮ้าส์

    ﴿مفطرات الصوم﴾

    « باللغة التايلاندية »

    محمد بن صالح بن عثيمين

    ترجمة: صافي عثمان

    مراجعة: فريق اللغة التايلاندية بموقع دار الإسلام

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    สิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเสียเป็นโมฆะ

    มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแห่งอัลลอฮฺผู้ทรงรู้เห็นทุกสิ่งที่เปิดเผยและเร้นลับ ผู้ทรงรอบรู้ความลับของบ่าว การเปิดเผยและการคาดเดาของเขา ผู้ทรงสิทธิเฉพาะในการสร้างจักรวาลและตกแต่งความวิจิตรของมัน ผู้ทรงบริหารทุกๆ สิ่งในความเคลื่อนไหวและการหยุดนิ่งของมัน ทรงประณีตในทุกๆ สิ่งที่ทรงสร้าง ผู้ทรงทำให้มีหูได้ฟังและทรงให้มีม่านตา และทรงนับคำนวนจำนวนของใบไม้ทั้งหมดบนต้น บนกิ่งและก้านของมัน ทรงแผ่และวางแผ่นดินไว้ ทรงทำให้ฟ้ากว้างและยกมันให้สูง ทรงให้ดวงดาวโคจรและเผยมันให้เห็น ท่ามกลางรัตติกาลและความมืดมิดของมัน ทรงหลั่งน้ำฝนให้ความชุ่มชื่นโปรยปราย และทรงให้เมล็ดพันธุ์ได้หลุดรอดออกจากความแห้งแล้ง

    ﴿هَـذَا خَلْقُ اللَّهِ فَأَرُونِى مَاذَا خَلَقَ الَّذِينَ مِن دُونِهِ ﴾ (لقمان: 11)

    ความว่า "นี่คือการสร้างสรรค์ของอัลลอฮฺ ดังนั้นจงให้ข้าเห็นสิว่า ผู้อื่นนอกจากพระองค์นั้นสร้างอะไรบ้าง?" (ลุกมาน : 11)

    ข้าขอสรรเสริญพระองค์ต่อความกรุณาและบุญคุณความดีของพระองค์ ข้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่คู่ควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีใดๆ ร่วมกับพระองค์ในการเป็นพระเจ้าและอำนาจของพระองค์ และข้าขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์ ผู้ได้รับการสนับสนุนด้วยหลักฐานของพระองค์ ขอพระองค์ประทานพรแก่ท่าน และแก่สหายของท่าน อบู บักรฺ ในทุกๆ กิจการของเขา และแก่อุมัร ผู้สร้างความหวาดหวั่นแก่
    กิสรอว่าจะสูญเสียราชวังของเขา และแก่อุษมาน ผู้ตื่นในยามกลางคืนพร้อมๆ กับอัลกุรอานของเขา และแก่อะลี ผู้กระชากประตูแห่งเมืองค็อยบัรฺและผู้ทลายกำแพงของมัน และแก่บรรดาวงศ์วานของท่านนบี บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่าน ผู้เพียรพยายามทุกๆ คนในการเชื่อฟังเคารพภักดีต่อพระผู้อภิบาลของเขา ทั้งในความเคลื่อนไหวและการหยุดนิ่งของพวกเขา และขอพระองค์ทรงประทานความสันติให้แก่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นด้วยเถิด

    พี่น้องทั้งหลายของฉัน อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﴿فَالئانَ بَـاشِرُوهُنَّ وَابْتَغُواْ مَا كَتَبَ اللهُ لَكُمْ وَكُلُواْ وَاشْرَبُواْ حَتَّى يَتَبَيَّنَ لَكُمُ الْخَيْطُ الأَبْيَضُ مِنَ الْخَيْطِ الأَسْوَدِ مِنَ الْفَجْرِ ثُمَّ أَتِمُّواْ الصِّيَامَ إِلَى الَّليْلِ﴾ (البقرة: 187)

    ความว่า "ดังนั้น บัดนี้ พวกเจ้าจงแนบเนื้อพวกนาง และจงขวนขวายสิ่งที่
    อัลลอฮฺได้กำหนดแก่พวกเจ้า จงกินและจงดื่ม จนกระทั่งเส้นสีขาวได้ปรากฏชัดแก่พวกเจ้าจากเส้นสีดำอันหมายถึงว่าได้เวลารุ่งอรุณแล้ว จากนั้น ก็จงให้การถือศีลอดสมบูรณ์ไปจนถึงเวลากลางคืน" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 187)

    ในอายะฮฺนี้พระองค์อัลลอฮฺได้กล่าวถึงปฐมเหตุแห่งสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดนั้นโมฆะ และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ได้ชี้แจงเหตุอื่นๆ อย่างครบสมบูรณ์ในสุนนะฮฺของท่าน

    สิ่งที่ทำให้การถือศีลอดนั้นเป็นโมฆะนั้นมีเจ็ดประเภท

    ประเภทที่หนึ่ง การมีเพศสัมพันธ์

    นั่นคือการสอดใส่อวัยวะเพศชายในอวัยวะเพศหญิง ประการนี้เป็นสิ่งที่ใหญ่หลวงที่สุดในจำนวนเหตุที่ทำให้การถือศีลอดนั้นเสีย และเป็นสิ่งที่มีบาปมหันต์ที่สุดสำหรับผู้ที่กำลังถือศีลอด ดังนั้นผู้ถือศีลอดคนใดที่มีเพศสัมพันธ์การถือศีลอดของเขาก็จะเสียไป ไม่ว่าจะเป็นการถือศีลอดที่เป็นฟัรฎูหรือที่เป็นสุนัตก็ตาม ถ้าหากว่าเขามีเพศสัมพันธ์ในช่วงกลางวันของเราะมะฎอนซึ่งเป็นการถือศีลอดวาญิบ เขาจำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้และจ่ายกัฟฟาเราะฮฺที่ใหญ่ที่สุด นั่นคือ ต้องปล่อยทาสหนึ่งคน ถ้าไม่มีทาสเขาต้องถือศีลอดสองเดือนติดต่อกันโดยไม่ขาดช่วงแม้แต่วันเดียวยกเว้นมีเหตุจำเป็นจริงๆ ตามหลักศาสนา เช่นอยู่ในวันอีดทั้งสอง วันตัชรีก หรือความจำเป็นรูปธรรมอื่นๆ เช่น ป่วย การเดินทางที่ไม่มีเจตนาเพื่องดถือศีลอด ถ้าในช่วงสองเดือนนี้เขาได้ละเว้นไม่ถือศีลอดโดยไม่มีเหตุจำเป็นแม้เพียงวันเดียวก็ตาม เขาจะต้องเริ่มนับการถือศีลอดใหม่เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องไม่ขาดตอน ถ้าถือศีลอดสองเดือนติดต่อกันไม่ได้ เขาต้องจ่ายอาหารให้แก่คนยากจนหกสิบคน ให้จ่ายสำหรับแต่ละคนจำนวนสองกิโลกรัมกับอีกสิบกรัมจากแป้งอย่างดี[1] ในเศาะฮีหฺมุสลิมมีรายงานว่า ชายคนหนึ่งได้มีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของเขาในเดือนเราะมะฎอน แล้วเขาก็ได้ไปขอคำวินิจฉัยจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านตอบว่า "เจ้ามีทาสไหม?" เขาตอบว่า ไม่มี ท่านถามต่อว่า "เจ้าถือศีลอดสองเดือนติดต่อกันได้ไหม ?" เขาตอบว่า ไม่ ท่านกล่าวอีกว่า "ดังนั้นจงจ่ายอาหารแก่คนยากจนจำนวนหกสิบคน" รายงานนี้มีอยู่อย่างละเอียดในตำราเศาะฮีหฺทั้งสอง

    ประเภทที่สอง การหลั่งน้ำอสุจิด้วยเจตนา เช่นด้วยการจูบ จับสัมผัส การสำเร็จความใคร่ เป็นต้น

    เพราะว่ามันเกิดขึ้นด้วยอารมณ์ใคร่ ซึ่งการถือศีลอดจะใช้ไม่ได้นอกจากต้องงดจากสิ่งนี้ ดังที่มีปรากฏในหะดีษกุดสีย์ว่า "เขาได้ละทิ้งอาหาร เครื่องดื่ม และอารมณ์ใคร่ของเขา เพราะข้า" บันทึกโดยอัลบุคอรีย์. การจูบและสัมผัสโดยไม่หลั่งนั้นไม่ทำการถือศีลอดเสีย เนื่องจากมีหะดีษในตำราหะดีษเศาะฮีหฺทั้งสองจากอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้จูบในขณะที่ถือศีลอด และได้คลุกคลีกับภรรยาในขณะที่ถือศีลอด แต่ท่านเป็นผู้ที่สามารถระงับอารมณ์ของท่านได้ดีที่สุด" ในเศาะฮีหฺมุสลิมมีรายงานว่า อุมัร บิน สะละมะฮฺ ได้ถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า ผู้ถือศีลอดจูบได้ไหม ? ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า "จงถามนางผู้นี้ – ท่านหมายถึง อุมมุ สะละมะฮฺ – " นางก็ได้บอกกับเขาว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้เคยทำเช่นนั้น แล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็กล่าวว่า "ทว่าพึงทราบเถิด ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ แท้จริงฉันเป็นผู้ที่ยำเกรงและหวาดหวั่นต่ออัลลอฮฺมากที่สุดในหมู่พวกเจ้า" แต่ว่า ถ้าหากผู้ถือศีลอดกลัวว่าตัวเขาจะหลั่งอสุจิด้วยการจูบของเขาหรือด้วยเหตุอื่นๆ หรืออาจจะนำพาไปถึงขั้นการมีเพศสัมพันธ์ในที่สุดเนื่องจากไม่สามารถระงับอารมณ์ได้ ดังนั้นการจูบและการเล้าโลมนั้นก็หะรอมสำหรับเขาเพื่อเป็นการป้องกันสิ่งไม่พึงประสงค์ และป้องกันไม่ให้การถือศีลอดเสีย ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงได้สั่งให้ผู้ที่อาบน้ำละหมาดสูดน้ำเข้าจมูกให้ลึก เว้นแต่ขณะนั้นเขาเป็นผู้ที่ถือศีลอดอยู่ ก็ไม่ต้องสูดน้ำเข้าจมูกให้ลึก เพราะกลัวว่าน้ำจะเข้าไปยังโพรงด้านใน

    ส่วนการหลั่งอสุจิเนื่องด้วยการฝันหรือคิดเฉยๆ โดยไม่ได้ลงมือกระทำใดๆ นั้น ไม่ทำให้การถือศีลอดเสียไป เพราะการฝันไม่ได้เกิดจากเจตนาของผู้ถือศีลอด ส่วนการคิดจินตนาการนั้นถูกอนุโลม ดังคำพูดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ว่า "แท้จริง อัลลอฮฺอนุโลมแก่ประชาชาติของฉัน ในสิ่งที่ใจพวกเขาครุ่นคิด ตราบใดที่ไม่ลงมือทำหรือพูดออกมา" เป็นหะดีษมุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม

    ประเภทที่สาม การกินและดื่ม

    นั่นคือการให้อาหารและเครื่องดื่มเข้าไปถึงช่องทางเดินอาหารไม่ว่าทางปากหรือจมูก ไม่ว่าอาหารและเครื่องดื่มนั้นจะเป็นอะไรก็ตามแต่ เนื่องด้วยพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

    ﴿وَكُلُواْ وَاشْرَبُواْ حَتَّى يَتَبَيَّنَ لَكُمُ الْخَيْطُ الأَبْيَضُ مِنَ الْخَيْطِ الأَسْوَدِ مِنَ الْفَجْرِ ثُمَّ أَتِمُّواْ الصِّيَامَ إِلَى الَّليْلِ﴾ (البقرة: 187)

    ความว่า "และจงกินและจงดื่ม จนกระทั่งเส้นสีขาวได้ปรากฏชัดแก่พวกเจ้าจากเส้นสีดำอันหมายถึงว่าได้เวลารุ่งอรุณแล้ว จากนั้น ก็จงให้การถือศีลอดสมบูรณ์ไปจนถึงเวลากลางคืน" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 187)

    ส่วนการสูดทางจมูกนั้นเหมือนการกินและดื่ม เนื่องจากหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งรายงานจากละกีฏ บิน เศาะบุเราะฮฺ ว่า "จงให้ลึกในการสูดน้ำเข้าจมูก เว้นแต่ท่านเป็นผู้ที่ถือศีลอดอยู่" บันทึกโดยนักรายงานทั้งห้า และอัต-ติรมิซีย์กล่าวว่าเศาะฮีหฺ. ส่วนการดมกลิ่นนั้นไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย เพราะกลิ่นไม่ใช่ของแข็งที่เข้าไปยังช่องทางเดินอาหาร

    ประเภทที่สี่ สิ่งที่รวมอยู่ในความหมายเดียวกันกับการกินและดื่ม มีสองประการคือ

    หนึ่ง การให้เลือด เช่น ผู้ถือศีลอดเลือดออกมากแล้วก็มีการให้เลือดกับเขา ดังนั้นการถือศีลอดของเขาก็เสีย ใช้ไม่ได้ เพราะเลือดคือเป้าประสงค์จริงๆ ของการกินและดื่ม ซึ่งมันก็เกิดขึ้นแล้วด้วยการให้เลือด[2]

    สอง การฉีดสารอาหาร (เช่นให้น้ำเกลือ) ซึ่งทดแทนการกินและดื่มได้ เมื่อผู้ถือศีลอดได้รับมันเขาไปในร่างกายก็ถือว่าการถือศีลอดของเขาเสีย แม้ว่ามันไม่ใช่การกินและดื่มจริงๆ ก็ตาม เพราะมันอยู่ในความหมายเดียวกันกับการกินและดื่ม จึงอยู่ในหุก่มเดียวกันด้วย ส่วนการฉีดที่ไม่ใช่การทดแทนอาหารนั้นไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย ไม่ว่าจะรับทางกล้ามเนื้อหรือหลอดอาหาร แม้กระทั่งจะรู้สึกถึงความร้อนผ่าวของมันที่คอหอยก็ตาม มันก็ไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย เพราะไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มและไม่ได้อยู่ในความหมายเดียวกัน จึงไม่มีหุก่มเหมือนกันกับการกินและดื่ม การรู้สึกถึงรสชาติตรงคอหอยนั้นไม่เป็นผลใดๆ ถ้าหากไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการกินและดื่ม เพราะฉะนั้น บรรดาฟุเกาะฮาอ์ในมัซฮับเรา(มัซฮับ หันบะลีย์)กล่าวว่า ถ้าเขาเตะเท้าโดนลูกฟักแล้วเกิดรสที่คอของเขาก็ไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวในสาร "หะกีเกาะตุศศิยาม" ของท่านว่า : ไม่ปรากฏในหลักฐานต่างๆ ซึ่งระบุสิ่งที่ทำให้เสียการถือศีลอดที่อัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์กำหนดมา ว่ามีสิ่งที่เข้าไปถึงสมองหรือร่างกายหรือเข้าไปทางช่องทางใดๆ หรือนำไปสู่โพรงท้อง หรือสิ่งที่คล้ายๆ กัน ซึ่งอยู่ในความหมายที่เจ้าของคำพูดเหล่านี้อ้างว่าเป็นมูลเหตุแห่งบัญญัติ ณ อัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์รวมอยู่ด้วย. ท่านกล่าวต่อว่า เมื่อไม่มีหลักฐานว่าอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์เกี่ยวโยงหุก่มดังกล่าวด้วยลักษณะพวกนี้ คำพูดของผู้ที่กล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ทำให้สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเสีย ย่อมเป็นคำพูดที่กล่าวโดยปราศจากความรู้. จบการอ้างจากคำพูดของท่าน

    ประเภทที่ห้า การกรอกเลือด

    เนื่องจากมีหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า "ผู้ทำการกรอกเลือดและผู้ยอมรับให้ทำการกรอกเลือด ย่อมเสียการถือศีลอด" บันทึกโดยอะหฺมัด และอบู ดาวูด จากชัดด๊าด บิน เอาส์ อัล-บุคอรีย์กล่าวว่า ในเรื่องนี้ไม่มีหะดีษใดที่เศาะฮีหฺมากกว่าหะดีษนี้อีกแล้ว และนี่คือความเห็นของอิมามอะหฺมัดและฟุเกาะฮาอ์ในหมู่นักรายงานหะดีษส่วนใหญ่ และในความหมายของการกรอกเลือดนั่นเองจึงไม่อนุญาตให้ผู้ถือศีลอดฟัรฎู(การถือศีลอดวาญิบ)บริจาคเลือดที่มีผลต่อร่างกายมากเท่าๆ กับการกรอกเลือด ยกเว้นถ้าหากพบว่ามีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องให้เลือดหรือไม่อาจขจัดความจำเป็นนั้นนอกจากด้วยการให้เลือดเท่านั้น และถ้าหากว่าการนำเลือดออกจากร่างกายของผู้ถือศีลอดในกรณีดังกล่าวไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่เขาก็อนุญาตให้ทำได้เนื่องจากมีความจำเป็นต้องทำ วันนั้นเขาไม่ต้องถือศีลอดและให้เขาถือศีลอดชดใช้หลังจากนั้น ส่วนเลือดที่ออกเนื่องจากเลือดกำเดา ไอ ริดสีดวงทวาร ถอนฟัน แผลเปิด ตรวจเลือด รอยฉีดของเข็ม หรือที่คล้ายๆ กันนั้น ไม่ถือว่าทำให้การถือศีลอดเสีย เพราะไม่ใช่การกรอกเลือดหรืออยู่ในความหมายเดียวกันกับมัน เมื่อมันไม่ส่งผลต่อร่างกายเหมือนการกรอกเลือด

    ประเภทที่หก การอาเจียนโดยเจตนา

    คือการทำให้สิ่งที่อยู่ในกระเพาะออกมาทางปาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม เนื่องด้วยหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า "ผู้ใดที่อาเจียนเองโดยไม่เจตนาเขาไม่ต้องชดใช้(การถือศีลอด) ส่วนใครที่อาเจียนโดยเจตนาให้เขาถือศีลอดชด" รายงานโดยนักรายงานทั้งห้ายกเว้นอัน-นะสาอีย์ และอัล-หากิมเห็นว่ามันเศาะฮีหฺ ผู้ถือศีลอดที่เจตนาให้เขาออกจากการถือศีลอด ไม่ว่าจะด้วยการกระทำเช่น นวดท้อง สอดเข้าไปในคอ หรือด้วยการดม เช่นดมบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้อาเจียน หรือด้วยการดู เช่นเจตนาดูสิ่งที่ทำให้เกิดอาการอาเจียน เขาต้องเลิกถือศีลอดด้วยประการเหล่านั้นทั้งปวง ทว่าถ้าหากเกิดอาเจียนขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุก็ไม่มีผลเสียใดๆ ถ้ากระเพาะของเขามีอาการจะอาเจียนก็ไม่จำเป็นต้องพยายามระงับ เพราะมันจะเป็นโทษกับตัวเขา แต่ให้เขาปล่อยไปตามนั้น ไม่ต้องพยายามอาเจียนและไม่ต้องพยายามระงับการอาเจียน

    ประเภทที่เจ็ด การมีเลือดประจำเดือนหรือเลือดหลังคลอดบุตร

    เนื่องด้วยหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่มีต่อผู้หญิงว่า "เมื่อนางมีประจำเดือนมา นางไม่ต้องละหมาดและไม่ต้องถือศีลอด มิใช่หรือ ?" ดังนั้น เมื่อใดที่นางเห็นเลือดประจำเดือนหรือเลือดหลังคลอดบุตร การถือศีลอดของนางก็ใช้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเห็นในช่วงเช้าของเวลากลางวัน หรือช่วงเย็นแม้ว่าก่อนดวงอาทิตย์จะตกดินเพียงแค่ครู่เดียวก็ตาม แต่ถ้าหากนางรู้สึกว่ามีการเคลื่อนที่ของเลือดแต่ไม่ปรากฏให้เห็นนอกจากหลังดวงอาทิตย์ตกดินไปแล้ว การถือศีลอดของนางถือว่าใช้ได้

    และเป็นที่ต้องห้ามสำหรับผู้ถือศีลอดที่จะก่อเหตุที่ทำให้การถือศีลอดของเขาเสียเช่นที่ได้อธิบายมา ถ้าหากว่าการถือศีลอดของเขานั้นเป็นการถือศีลอดที่วาญิบ เช่น ถือศีลอดเราะมะฎอน ถือศีลอดชด ถือศีลอดเนื่องด้วยการบนบาน ยกเว้นถ้าหากมีความจำเป็นที่อนุโลมให้ละเว้นจากการถือศีลอดได้ เช่น การเดินทางหรือป่วย เป็นต้น เพราะว่าผู้ที่เริ่มเข้าสู่การปฏิบัติศาสนกิจที่
    วาญิบจำเป็นที่เขาต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์นอกเสียจากมีเหตุจำเป็นที่ถูกต้อง นอกจากนั้น สำหรับผู้ที่กระทำให้การถือศีลอดของเขาเสียในช่วงกลางวันของเราะมะฎอนโดยไม่มีเหตุจำเป็นนั้น เขาต้องงดจากการกินดื่มในช่วงเวลาที่เหลือของวันนั้นและต้องถือศีลอดชดใช้ แต่ถ้าหากเขาละจากการถือศีลอดเนื่องจากมีเหตุจำเป็น เขาก็ต้องถือชดใช้เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องงดกินและดื่มในวันนั้น ส่วนผู้ที่ถือศีลอดสุนัตนั้น อนุญาตให้เขาละจากการถือศีลอดได้แม้ว่าไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ก็ตาม แต่การถือศีลอดให้เสร็จสมบูรณ์ย่อมดีกว่า

    พี่น้องของฉัน : จงหมั่นดูแลรักษาการทำความดีเชื่อฟังอัลลอฮฺเถิด จงห่างไกลจากการฝ่าฝืนและสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย จงวิงวอนขอต่อผู้สร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน จงนำตนเข้าไปสู่การพัดพาแห่งความกรุณาของพระองค์เถิด เพราะพระองค์นั้นเป็นผู้ให้อย่างมากมาย พึงทราบเถิดว่า เวลาของพวกท่านในดุนยานั้นไม่มีสิ่งใดที่เป็นของพวกท่านเลยนอกจากช่วงที่พวกท่านได้ใช้หมดไปในการเคารพเชื่อฟังพระผู้อภิบาลพวกท่าน ดังนั้น จงรีบขวนขวายโชคลาภนี้เถิดก่อนที่เวลาจะหลุดลอยไป จงรีบหากำไรเถิดก่อนที่ความขาดทุนจะมาถึง

    โอ้ อัลลอฮฺ ขอทรงทำให้เราประสบความสำเร็จในการฉกฉวยเวลาอันมีค่า และมุ่งมั่นใช้มันเพื่อการงานที่ดีทั้งหลาย โอ้ อัลลอฮฺ ขอทรงเอื้อเฟื้อต่อเราด้วยความประเสริฐและคุณความดี ขอทรงปฏิบัติต่อเราด้วยการยกโทษและการอภัย โอ้ อัลลอฮฺ ขอทรงทำให้เรามีความง่ายดายต่อสิ่งที่ง่ายดาย ขอทรงให้เราห่างไกลจากความยากลำบาก ขอทรงอภัยแก่เราทั้งในโลกหน้าและโลกนี้ โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ประทานแก่เราซึ่งการช่วยเหลือของนบีของเรา ขอทรงให้เราได้ไปถึงยังสระน้ำของท่าน ขอทรงรดรินจากน้ำในสระนั้นให้เราได้ดื่มโดยที่เราจะไม่กระหายหลังจากนั้นอีกช่วยกาลนาน โอ้ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

    اللَّهُمَّ صلِّ وسلِّم وباركْ على عبدِك ونبيِّك محمدٍ وعلى آلِهِ وأصحابِه أجمعين.

    [1] สามารถใช้ข้าวสารทดแทนได้ แต่ต้องสังเกตน้ำหนักด้วยว่าถ้าหากข้าวสารหนักมากกว่าแป้งก็ต้องเพิ่มให้ข้าวสารได้จำนวนเท่าๆ กับแป้ง หรือถ้ามันเบากว่าก็ให้ลดลงเพื่อให้ได้จำนวนเท่าๆ กันกับแป้ง

    [2] นี่เป็นความเห็นของฉันก่อนหน้านี้ จนกระทั่งฉันได้ประจักษ์ว่าการให้เลือดนั้นไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย เพราะมันไม่ใช่การกินและดื่ม และไม่ได้อยู่ในความหมายของการกินและดื่ม ฉะนั้น กล่าวตามหลักก็คือการถือศีลอดยังใช้ได้อยู่จนกว่าจะเห็นสาเหตุที่ชัดเจนว่ามันได้เสียไปแล้ว และมีระบุในจำนวนกฎที่ใช้กันก็คือ ความมั่นใจจะไม่สูญไปหรือถูกลบล้างด้วยความเคลือบแคลง