×
อธิบายสาเหตุคร่าวๆ ของจุดเริ่มต้นการเกิดแนวคิดทางนิติศาสตร์ (ฟิกฮฺ) ของกลุ่มและมัซฮับต่างๆ ในอิสลาม รวมทั้งอธิบายมารยาทที่ควรคำนึงในเรื่องการขัดแย้งทางด้านความเห็น

    มัซฮับต่างๆ ทางฟิกฮฺในอิสลามเกิดขึ้นได้อย่างไร?

    ﴿كيف ظهرت المذاهب الفقهية في الإسلام؟﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ซุฟอัม อุษมาน

    ผู้ตรวจทาน : อุษมาน อิดรีส

    2009 - 1430

    ﴿كيف ظهرت المذاهب الفقهية في الإسلام؟﴾

    « باللغة التايلاندية »

    صافي عثمان

    مراجعة: عثمان إدريس

    2009 - 1430

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    มัซฮับต่างๆ ทางฟิกฮฺในอิสลามเกิดขึ้นได้อย่างไร?

    ทำไมต้องมีความขัดแย้งกันระหว่างอุละมาอ์ จนเกิดเป็นมัซฮับต่างๆ เช่นมัซฮับทั้งสี่?

    การขัดแย้งกันในความนึกคิดและความเห็น รวมทั้งความแตกต่างในทัศนะ เป็นสัจธรรมดั้งเดิมที่อัลลอฮฺทรงกำหนดมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ (ดู สูเราะฮฺ ฮูด 118)

    การเกิดมัซฮับต่างๆ เป็นผลพวงของความเห็นที่แตกต่างในการอิจติฮาด/การวินิจฉัย เท่านั้น เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการมีชีวิตชีวาของฟิกฮฺและการไม่หยุดนิ่งของบรรดาอุละมาอ์ในการค้นหาความรู้และข้อเท็จจริงในศาสนา ด้วยการใช้สติปัญญาและความรู้ของพวกเขา เพื่อให้สามารถเผยแพร่แก่ผู้คนทั่วไป และเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้(อับดุลกะรีม ซัยดาน. 1996 : 107)

    ส่วนการแพร่หลายมัซฮับต่างๆ โดยเฉพาะมัซฮับทั้งสี่นั้นเป็นเพราะการที่อิมามทั้งสี่มีสานุศิษย์ที่ช่วยเผยแพร่จนขยายกว้างและมีชื่อเสียง รวมทั้งมีการบันทึกกฏเกณฑ์และบทวินิจฉัยต่างๆ จนเป็นตำราขึ้นมา(อับดุลกะรีม ซัยดาน. 1996 : 121, อัล-อุลวานีย์, เฏาะฮา ญาบิรฺ. 1995 : 87)

    อันที่จริงความเห็นต่างๆ ในทางฟิกฮฺมิได้มีเพียงแค่สี่มัซฮับเท่านั้น แต่ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นทำให้ชื่อเสียงของแนวความคิดของมัซฮับทั้งสี่เป็นที่รู้จักกันและถูกใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด แนวคิดของอุละมาอ์ท่านอื่นๆ ที่เคยมีในอดีตมีมากกว่าสี่มัซฮับของอิมามทั้งสี่อีก เช่น หะสัน อัล-บัศรีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 110) อัล-เอาซาอีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 157) ซุฟยาน อัษ-เษารีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 160) อัล-ลัยษฺ อิบนฺ สะอัด (เสียชีวิต ฮ.ศ. 157) ซุฟยาน อิบนฺ อุยัยนะฮฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 198) อิบนุ หัซมฺ อัซฺ-ษอฮิรีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 270) อิสหาก อิบนฺ รอฮูยะฮฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 238) อบู เษารฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 240) เป็นต้น (อัล-อุลวานีย์, เฏาะฮา ญาบิรฺ. 1995 : 88)


    ดั้งเดิมในทางฟิกฮฺนั้น ผู้ศึกษาฟิกฮฺต้องอิจติฮาดด้วยตัวเองก่อน ด้วยการถือหลักฐานจาก อัล-กุรฺอาน อัล-หะดีษฺ และกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่จะทำให้การอิจติฮาดของเขานั้นใช้ได้ ซึ่งอาจจะพ้องกับความเห็นของคนรุ่นก่อนหน้า หรืออาจจะขัดแย้งกันก็ได้ ในทั้งสองกรณีเขาจะได้รับผลบุญ ถ้าการอิจติฮาดของเขาถูกต้องเขาจะได้รับสอบผลบุญ และถ้าผิดเขาจะได้รับหนึ่งผลบุญ อย่างไรก็ตามในสมัยหลังนี้ ความอุตสาหะในการหาความรู้ของคนส่วนมากนั้นดูลดลง อีกทั้งยังมีตำราต่างๆ ที่เป็นแหล่งอ้างอิงมากมาย และการไม่มีความพร้อมในการอิจติฮาดจึงทำให้มีการตักลีด/การตามผู้อื่น มากกว่าการอิจติฮาดเอง ทั้งๆ ที่ความพยายามในการศึกษาหลักฐาน และความอุตสาหะเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงด้วยตัวเองนั้น เป็นสิ่งที่คนรุ่นสะลัฟฺเองให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ กระนั้นอุละมาอ์บางท่านก็มีความเห็นว่า ควรต้องปิดโอกาสการอิจติฮาด เพื่อป้องกันการอ้างอิจติฮาดของคนที่ไม่มีความพร้อมในเรื่องนี้ (อับดุลกะรีม ซัยดาน. 1996 : 122-124)


    สาเหตุของการขัดแย้งในความเห็น

    มีหลายสาเหตุที่เป็นต้นตอของความขัดแย้งทางความเห็นของอุละมาอ์ โดยหลักๆ แล้ว มีดังนี้ (อัล-อุลวานีย์, เฏาะฮา ญาบิรฺ. 1995 : 105-114)

    1. การตีความทางด้านภาษา ซึ่งเป็นที่รู้กันอย่างชัดเจนว่า ภาษาอาหรับมีรากฐานทางภาษาที่สามารถตีความได้กว้างขวาง

    2. การตีความเกี่ยวกับรายงานของหลักฐาน อุละมาอ์บางท่านอาจจะรู้หลักฐานหนึ่งในขณะที่คนอื่นไม่รู้ หรือบางท่านอาจจะเห็นว่ารายงานนี้รับได้ ในขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่ารับไม่ได้ เป็นต้น

    3. การใช้กฏเกณฑ์ทางด้านฟิกฮฺที่แตกต่างกัน อุละมาอ์บางท่านอาจจะมองว่าสามารถใช้หลัก อัลมะศอลิหุล มุรสะละฮฺ (ผลประโยชน์พึงกระทำ) ในขณะที่ท่านอื่นๆ มองว่าใช้หลักนี้ไม่ได้ เช่นเดียวกับหลักอื่นๆ เช่น อิสติหฺสาน (การเห็นดีเห็นชอบ) การใช้ความเห็นเศาะหาบะฮฺ การถือประเพณี เป็นต้น

    ข้อสังเกตและข้อควรจำ

    1. ความขัดแย้งในทางฟิกฮฺไม่ใช่เหตุที่ต้องทำให้มีการทะเลาะและสร้างศัตรูระหว่างมุสลิมด้วยกัน ความเห็นที่แตกต่างกันไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เป็นการเปิดกว้างทางด้านวิชาการ และการค้นหาข้อเท็จจริง ดังนั้นแต่ละฝ่ายจึงควรมีมารยาท และให้ความเคารพความเห็นของอีกฝ่าย โดยไม่ถือว่าสิ่งที่ตนเห็นนั้นเป็นบัญญัติของอัลลอฮฺที่ถูกต้องและไม่ผิดอีกแล้ว ตัวอย่างของการให้เกียรติระหว่างสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันนั้นมีให้เห็นอย่างชัดเจนในสมัยเศาะหาบะฮฺและอุละมาอ์รุ่นก่อน(ดู เพิ่มเติม อับดุลกะรีม ซัยดาน. 1996 : 106, อัล-อุลวานีย์, เฏาะฮา ญาบิรฺ. 1995 : 115-134, อะฏิยะฮฺ มุหัมหมัด สาลิม. 1991 : 85-92)

    2. การกลับไปหาหลักฐานจากอัล-กุรฺอานและอัล-หะดีษฺคือทางออกที่อัล-กุรฺอานระบุไว้ (ดู สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ 59) เหล่าอิมามทั้งสี่และอิมามคนอื่นๆ ต่างกล่าวกันในทำนองเดียวกันว่าความเห็นของท่านแต่ละคนนั้นเป็นเพียงแค่ความเห็นของปุถุชนผู้หนึ่ง ถ้าหากมีความเห็นอื่นที่เพียบพร้อมด้วยหลักฐานที่ถูกต้องกว่าก็ให้กลับไปหาหลักฐานนั้น คำพูดของท่านอิมามมาลิก ที่ได้กล่าวว่า “คำพูดของคนทุกคนนั้นทั้งรับได้และทิ้งได้ ยกเว้นคำพูดของท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เท่านั้น" (อับดุลกะรีม ซัยดาน. 1996 : 123) คำกล่าวนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับสิ่งที่เราได้กล่าวถึงข้างต้น

    3. ควรจะต้องศึกษามารยาทต่างๆ ในการเผชิญกับความขัดแย้งทางความเห็น ดังที่อุละมาอ์รุ่นก่อนๆ ได้พูดไว้ เช่น การให้เกียรติความเห็นผู้อื่น การไม่รีบที่จะค้านความเห็นผู้อื่น การใช้วิธีอธิบายที่สันติ การศึกษากรณีตัวอย่างการทำความเข้าใจและให้เกียรติความเห็นผู้อื่นจากอุละมาอ์รุ่นก่อน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

    ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก

    - رفع الملام عن الأئمة الأعلام، لأحمد بن عبدالحليم ابن تيمية، المكتب الإسلامي- بيروت، 1412هـ 1993م
    -
    موقف الأمة من اختلاف الأئمة، عطية محمد سالم، مكتبة دار التراث ـ المدينة المنورة، 1411هـ 1991م
    -
    المدخل لدراسة الشريعة الإسلامية، عبدالكريم زيدان، مؤسسة الرسالة ـ بيروت، 1417هـ 1996م
    -
    أدب الاختلاف في الإسلام، طه جابر العلواني، الدار العالمية للكتاب الإسلامي- الرياض، 1416هـ 1995م