มาทานสะหูรฺตามสุนนะฮฺกันเถิด
หมวดหมู่
Full Description
มาทานสะหูรฺตามสุนนะฮฺกันเถิด
[ ไทย ]
السحور كما في السنة النبوية
[ باللغة التايلاندية ]
อุษมาน อิดรีส
عثمان إدريس
ตรวจทาน: ฟัยซอล อับดุลฮาดี
مراجعة: فيصل عبدالهادي
สำนักงานความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด
المكتب التعاوني للدعوة وتوعية الجاليات بالربوة بمدينة الرياض
1429 – 2008
มาทานสะหูรฺตามสุนนะฮฺกันเถิด
1. ความหมายของสะหูร
“สะหูร” มาจากคำว่า “สะหิเราะ ยัสหะรุ สะหะร่น แปลว่าเวลาก่อนรุ่งอรุณ พหูพจน์ของมันคือ อัสหาร (อัลเญาฮะรีย์, อัสศิหาหฺ, เล่ม 2 หน้า 678)
อิบนุ ดะกีกุลอัยด์ กล่าวว่า “สะหูร” หมายถึงอาหารที่ใช้ทานในเวลาก่อนรุ่งอรุณ ส่วน “สุหูร” หมายถึงพฤติกรรมการทานอาหารในเวลาก่อนรุ่งอรุณ (อิหฺกามุลอะหฺกาม, เล่ม 2 หน้า 209)
2. เวลารับประทานอาหารสะหูร
อิบนุลมุลักกิน กล่าวว่า “เสมือนกับว่า “สะหูร” เป็นนามที่ถูกเรียกตามเวลาของมัน เพราะมันถูกทานในช่วงเวลา “สะหัร” นั่นคือเวลาก่อนรุ่งอรุณ และเวลาของมันจะเริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป” (อัลอิอฺลาม บิฟะวาอิด อุมดะติลอะหฺกาม, เล่ม 5 หน้า 187)
3. หุก่มทานอาหารสะหูร
ญาบิร บิน อับดิลลาฮฺ เล่าว่า ท่านร่อซูลลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«مَنْ أَرَادَ أَنْ يَصُوْمَ فَلْيَتَسَحَّرْ بِشَيْءٍ»
“ผู้ใดประสงค์จะถือศีลอดก็จงทานอาหารสะหูรด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง”
(มุสนัดอะหมัด, เล่ม 3 หน้า 367, มุศ็อนนัฟอิบนุอบีชัยบะฮฺ, เล่ม 3 หน้า 8 (ดู สิลสิละฮฺ อัศเศาะฮีหะฮฺของอัลบานีย์, เล่ม 5 หน้า 391, เลขที่ 2309)
บรรดาอุละมาอฺมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การทานอาหารสะหูรเป็นเพียงสุนัตที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ ไม่ใช่วาญิบ ส่วนคำสั่งข้างต้นเป็นเพียงคำสั่งเชิงแนะนำเท่านั้น (อัลอิจญ์มาอฺของอิบนุลมุนซิร, หน้า 58, ชัรหฺเศาะฮีหฺมุสลิมของอันนะวะวีย์, เล่ม 7 หน้า 213, อัลอิอฺลาม บิฟะวาอิด อุมดะติลอะหฺกาม, เล่ม 5 หน้า 188)
4. ความประเสริฐของอาหารสะหูร
4.1 มีความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ) อยู่ในอาหารสะหูร
อนัส บินมาลิกเล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
«تَسَحَّرُوْا، فَإِنَّ فِي السَّحُوْرِ بَرَكَةً»
“พวก ท่านจงทานอาหารสะหูรฺเถิด เพราะแท้จริงในอาหารสะหูรฺนั้นมีความจำเริญ (บะเราะกัต) อยู่”
(เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 1923, เศาะฮีหฺมุสลิม. เลขที่ 1835)
อบู อัดดัรดาอฺ เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«هُوَ الْغَدَاءُ الْمُبَارَكُ، يَعْنِي السَّحُوْرُ»
“มัน คืออาหารที่มีความจำเริญ หมายถึงอาหารสะหูร”
(เศาะฮีหฺอิบนุหิบบาน, เลขที่ 3464, อัลมุอฺญัมอัลกะบีรของอัตเฏาะบะรอนีย์, เล่ม 18 หน้า 322 (ดู เศาะฮีหฺอัตตัรฆีบของอัลบานีย์, เลขที่ 1068))
อับดุลลอฮฺ บิน อัลหาริษ ได้เล่าจากเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งว่า “ฉันได้เข้าไปหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมในขณะที่ท่านกำลังทานอาหารสะหูรอยู่ ดังนั้นท่านกล่าวว่า
«إِنَّهَا بَرَكَةٌ أَعْطَاكُمُ اللهُ إِيَّاهَا، فَلاَ تَدَعُوْهُ»
“แท้จริงสะหูรเป็นอาหารที่มีความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ) ซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงประทานแก่พวกเจ้าเป็นการเฉพาะ ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าได้ละเว้นจากการทานอาหารสะหูร”
(มุสนัดอะหมัด, เล่ม 5 หน้า 270, สุนันอันนะสาอีย์, เลขที่ 2162 (ดู เศาะฮีหฺอัตตัรฆีบ เลขที่ 1096))
สัลมาน อัลฟาริซีย์ เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«الْبَرَكَةُ فِي ثَلاَثٍ: الْجَمَاعَاتِ، وَالثَّرِيْدِ، وَالسَّحُوْرِ»
“ความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ) มีอยู่ใน 3 สิ่ง, ในหมู่คณะ (ญะมาอะฮฺ), ในน้ำซุปผสมขนมปัง (อัซษะรีด) และในอาหารสะหูร”
(อัตเฏาะบะรอนีย์ (ดู สัลสะละฮฺ อัสเศาะฮีหะฮฺ, เล่ม 3 หน้า 36, เลขที่ 1045))
จากหะดีษต่างๆข้างต้น บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ผู้ทานอาหารสะหูรจะได้รับความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ) เพราะ
- เป็นการปฏิบัติตามสุนนะฮฺ
- เป็นการปฏิบัติที่ค้านกับชาวคัมภีร์
- ทำให้ผู้ถือศีลอดมีพละกำลังในการประกอบอิบาดะฮฺ
- สร้างความกระปรี้กระเปร่าและกระฉับกระเฉงแก่ร่างกาย
- ป้องกันจากมารยาทที่ไม่ดีงามที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากความหิว เช่นอารมณ์โมโห หงุดหงิด เป็นต้น
- มีโอกาสขอดุอาอ์ในเวลาที่ถูกรับ
- และเป็นการตั้งเจตนา (นิยัต) สำหรับผู้ที่หลงลืมก่อนเข้านอน (ดู ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 4 หน้า 140)
อิลนุดะกีกุลอัยด์ กล่าวว่า “ความจำเริญหรือบะเราะกะฮฺดังกล่าวอาจเป็นบะเราะกะฮฺกลับคืนสู่สิ่งต่างๆใน ทางอาคิเราะฮฺ เพราะการปฏิบัติตามสุนนะฮฺย่อมต้องได้รับผลบุญและการเพิ่มพูน และอาจกลับคืนสู่สิ่งต่างๆในทางโลก เพื่อความแข็งแกร่งของร่างกายและทนต่อการถือศีลอด และทำให้เขาสามารถดำเนินการถือศีลอดโดยปราศจากการตรากตรำ” (อิหฺกาม อัลอะหฺกาม, เล่ม 2 หน้า 208)
4.2 อัลลอฮฺและมะลาอิกะฮฺ จะเศาะละวาตแก่ผู้ทานอาหารสะหูร
อบูสะอีด อัลคุดรีย์ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«السَّحُوْرُ كُلُّهُ بَرَكَةٌ؛ فَلاَ تَدَعُوْهُ وَلَوْ أَنْ يَجْرَعَ أَحَدُكُمْ جُرْعَةً مِنْ مَاءٍ؛ فَإِنَّ اللهَ عَزَّ وَجَلَّ وَمَلاَئِكَتَهُ يُصَلُّوْنَ عَلَى الْمُتَسَحِّرِيْنَ»
“อาหารสะหูรทั้งหมด ล้วนเป็นอาหารที่มีความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ) ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าได้ละเว้นมัน ถึงแม้ว่าคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเจ้าจะ (ทานอาหารสะหูรด้วยการ) ดื่มน้ำเพียงอึกเดียวก็ตาม เพราะแท้จริง อัลลอฮฺจะและบรรดามะลาอิกะฮฺของพระองค์จะเศาะละวาตแก่บรรดาผู้ทานอาหารสะหูร ”
(มุสนัดอะหมัด, เล่ม 3 หน้า 12, 44, ประโยคสุดท้ายมีหะดีษจากอิบนุอุมัรสมทบ บันทึกโดย อิบนุหิบบาน, เลขที่ 3467, อัตเฏาะบะรอนีย์ในอัลเอาสัฏ, เล่ม 1 หน้า 99, อบูนุอัยมฺ ในอัลหิลยะฮฺ, เล่ม 8 หน้า 320 (สิลสิละฮฺ อัสเศาะฮีหะฮฺ, เลขที่ 1654))
ดังนั้น จึงไม่เป็นการบังควรแก่มุสลิมที่จะพลาดความจำเริญและบะเราะกะฮฺอันยิ่งใหญ่ จากเอกองค์อัลลอฮฺผู้ทรงเมตตา ด้วยการทานอาหารสะหูร ถึงแม้จะเป็นเพียงการดื่มน้ำเพียงอึกเดียวก็ตาม
4.3 การทานอาหารสะหูรเป็นบุคลิกเฉพาะของประชาชาติมุสลิม
อัมรู บิน อัลอาศ เล่าว่า แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
«فَصْلٌ مَا بَيْنَ صِيَامِنَا وَصِيَامِ أَهْلِ الْكِتَابِ أَكْلَةُ السَّحَرَ»
“ข้อแตกต่างระหว่างการถือศีลอดของเรากับการถือศีลอดของพวกอะฮฺลุลกิตาบ คือการทานอาหารสะหูร” (เศาะฮีหฺมุสลิม, เลขที่ 1095)
อัล ค็อตฏอบีย์กล่าวว่า “ชาวคัมภีร์ในสมัยก่อนอิสลาม เมื่อพวกเขานอนหลับหลังจากการแก้ศีลอดแล้ว พวกเขาก็จะไม่อนุญาตให้กินดื่มอีก (จนกระทั่งรุ่งเช้า) และเหตุการณ์เช่นนี้ยังคงดำเนินไปในระยะแรกของการถือศีลอดในอิสลาม ต่อมาอัลลอฮฺประกาศยกเลิก และอนุญาตให้มีการกินดื่ม (ในช่วงกลางคืน) จนกระทั่งรุ่งสาง” (มะอาลิม อัสสุนัน, เล่ม 2 หน้า 89)
อัลกุรฏุบีย์ กล่าวว่า “ชาวคัมภีร์ในที่นี้หมายถึง ชาวยิวกับชาวคริสต์ และหะดีษนี้บ่งชี้ว่าการทานอาหารสะหูรเป็นเอกลักษณ์ของประชาชาติอิสลามและเป็นสิ่งที่ผ่อนปรนแก่พวกเขา(ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ต้องห้ามแก่ชาวคัมภีร์หลังจากที่พวกเขาได้หลับนอนไปแล้ว)” (อัลมุฟฮิม, เล่ม 3 หน้า 156)
5. ส่งเสริมให้ทานอาหารสะหูรในช่วงก่อนรุ่งอรุณ
ส่งเสริมให้ทานอาหารสะหูรล่าช้าออกไปจนกระทั่งก่อนรุ่งอรุณ (ฟะญัร) เล็กน้อย อะนัส ได้เล่าจากเซด บินษาบิต เขากล่าวว่า
«تَسَحَّرْنَا مَعَ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، ثُمَّ قُمْنَا إِلَى الصَّلاَةِ، قُلْتُ : كَمْ كَانَ قَدْرُ مَا بَيْنَهُمَا؟ قَالَ : خَمْسِينَ آيَةً. وفي رواية : قَدْرُ خَمْسِينَ أَوْ سِتِّينَ يَعْنِي آيَةً»
“พวกเราได้ทานสะหูรฺกับท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เสร็จแล้วพวกเราก็ลุกขึ้นไป ละหมาด (ศุบหฺ) กับท่าน” ฉัน (อะนัส) ถามว่า “ช่วงเวลาเท่าใดระหว่างทั้งสอง? (หมายถึงหลังจากที่ทานสะหูรฺเสร็จกับเวลาของการละหมาดศุบหฺ)” ซัยดฺตอบว่า “(ประมาณ) ห้าสิบอายะฮฺ (หมายถึงช่วงเวลาระหว่างนั้นเท่ากับเวลาที่ใช้ในการอ่านอัลกุรอานประมาณห้า สิบอายะฮฺ)” ในอีกรายงานหนึ่งมีว่า “ประมาณห้าสิบหรือหกสิบอายะฮฺ”
(เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 1921, เศาะฮีหฺมุสลิม, เลขที่ 1097)
อัลมุฮัลลับกล่าวว่า “หะดีษนี้บ่งบอกถึงการทานอาหารสะหูรในช่วงท้าย เพื่อจะได้เป็นกำลังสำหรับการศิยาม และแท้จริงท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้ร่นเวลาการทานสะหูรให้ล่าช้าจนถึงรุ่งอรุณแรก (ก่อนเข้าเวลาละหมาดฟะญัร)” (ชัรหฺอิบนุบัตฏ็อลอะลาเศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เล่ม 4 หน้า 44)
อันนะวะวีย์กล่าวว่า “ในหะดีษนี้เป็นการส่งเสริมให้ร่นเวลาทานอาหารสะหูรไปจนถึงก่อนฟะญัรเล็ก น้อย” (ชัรห์เศาะฮีหฺมุสลิม, เล่ม 7 หน้า 208)
สะฮฺลฺ บิน สะอฺดฺ กล่าวว่า
«كُنْتُ أَتَسَحَّرُ فِي أَهْلِي ثُمَّ تَكُوْنُ سُرْعَتِي أَنْ أُدْرِكَ السُّجُوْدَ مَعَ رَسُوْلِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ»
“ฉันเคยทานอาหารสะหูรพร้อมกับครอบครัวของฉัน เสร็จแล้วความเร่งรีบของฉันก็เกิดขึ้น เพื่อที่ฉันจะได้ทันสุญูด (ละหมาดฟะญัร) พร้อมๆกับท่านรสูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม”
(เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 1920)
อิบนุอบีญัมเราะฮฺกล่าวว่า “นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมจะพิจารณาถึงสิ่งที่สะดวกและเรียบง่ายที่สุด สำหรับประชาชาติของท่าน แล้วท่านก็จะปฏิบัติตามสิ่งนั้น เพราะถ้าหากว่าท่านไม่ทานอาหารสะหูรประชาชาติของท่านก็จะปฏิบัติตามท่าน ถ้าเป็นเช่นนั้นย่อมต้องเกิดความยากลำบากแก่พวกเขาบางคน และถ้าหากว่าท่านทานอาหารสะหูรในเวลาเที่ยงคืนก็จะเป็นการสร้างความยุ่งยาก และลำบากใจแก่พวกเขาบางคนที่ชอบนอนแต่หัวค่ำเช่นกัน” (บะฮฺญะฮฺอันนุฟูส, เล่ม 2 หน้า 195)
6. อาหารสะหูรที่ประเสริฐที่สุด
อบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า นบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
«نِعْمَ سَحُوْرُ الْمُؤْمِنِ الْتَّمْرَ»
“อาหารสะหูรที่เป็นที่ประเสริฐที่สุดของมุอฺมินคือผลอินทผลัมแห้ง”
(สุนันอบูดาวูด, เลขที่ 2345, เศาะฮีหฺอิบนุหิบบาน, เลขที่ 3475, สุนันอัลบัยฮะกีย์, เล่ม 4 หน้า 237 (ดู สิลสิละฮฺเศาะฮีหะฮฺของอัลบานีย์ เลขที่ 562))
อัตฏีบีย์กล่าวว่า “เหตุที่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้ชมเชยการทานสะหูรของมุอฺมินในเวลานี้ เพราะในเวลาสะหูรจะมีความประเสริฐของมันอยู่แล้ว ดังนั้นการเจาะจงผลอินทผลัม (ซึ่งมีความประเสริฐอยู่แล้วเช่นกัน) สำหรับเป็นอาหารสะหูรของมุอ์มินจึงเท่ากับเป็นการเพิ่มพูนความประเสริฐบน ความประเสริฐ... เพื่อให้สิ่งที่เริ่มต้น (การทานอาหารสะหูร) และสิ่งที่สิ้นสุด (การแก้ศิยาม) ล้วนได้รับความประเสริฐ” (ชัรหฺอัตฏีบีย์ อะลา อัลมิชกาต, เล่ม 4 หน้า 157)
7. ทานอาหารสะหูรแต่พอดี
คุณค่าและประโยชน์ที่สำคัญยิ่งของการศิยามอย่างหนึ่งคือการยับยั้งตัณหาของปาก ท้องและความกักขฬะของอวัยวะเพศ ดังนั้นผู้ใดที่ไม่มีการลดลงของอาหารการกินในเดือนรอมฎอนจากเวลาปกติ เขาจะไม่ได้รับประโยชน์หรือเป้าหมายหลักจากการศิยาม นั่นคือการยับยั้งตัณหาของปากท้องและอวัยวะเพศ ดังนั้นการเตรียมอาหารสะหูรเป็นจำนวนมากจนเกินความจำเป็น และออกจากเป้าหมายหลักของศิยามจึงเป็นสิ่งที่ไม่ส่งเสริม ดังธรรมเนียมปฏิบัติของบรรดาผู้มีอันจะกินและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุข สบายที่มักจะสรรหาและตระเตรียมอาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลายชนิด (ดูคำพูดของอิบนุดะกีก อัลอัยด์ ใน อิหกาม อัลอะหฺกาม, เล่ม 2 หน้า 209) ดังนั้นจึงส่งเสริมให้มีการจัดเตรียมอาหารการกินสำหรับทานสะหูรแต่เพียงพอดี ไม่ฟุ่มเฟือยตามอารมณ์อยาก และเมื่อทานแล้วต้องไม่อิ่มจนเกินไป
อัลลอฮฺตรัสว่า
«وكُلُواْ وَاشْرَبُواْ وَلاَ تُسْرِفُواْ إِنَّهُ لاَ يُحِبُّ الْمُسْرِفِينَ»
“และพวกเจ้าจงกินและจงดื่ม และจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์ไม่ทรงชอบบรรดาผู้ที่ฟุ่มเฟือย” (อัล-อะอฺรอฟ, 31)
อิบนุอับบาสกล่าวว่า “ในอายะฮฺนี้อัลลอฮฺทรงอนุญาตให้กินดื่ม ตราบใดที่ไม่เป็นการฟุ่มเฟือย หรือหยิ่งยะโส” (ตัฟสีร อักุรฏุบีย์, อัลญามิอฺลิอะหฺกาม อัลกุรอาน, เล่ม 7 หน้า 191)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
«مَا مَلأَ آدَمَيٌّ وِعَاءً شَرًّا مِنْ بَطْنٍ حَسَبُ الآدَمِيِّ لُقَيْمَاتٍ يَقُمْنَ صُلْبَهُ فَإِنْ غَلَبَتْ الآدَمِيَّ نَفْسُهُ فَثُلُثٌ لِلطَّعَامِ وَثُلُثٌ لِلشَّرَابِ وَثُلُثٌ لِلنَّفْسِ»
“ลูกหลานอาดัม ไม่เติมเต็มภาชนะใดที่เลวร้ายไปกว่าท้อง (กระเพาะอาหาร) เพียงพอแล้วสำหรับลูกหลานอาดัมกับอาหารเพียงไม่กี่คำที่ทำให้ร่างกายสามารถ ยืนหยัด และหากแม้นว่าตัณหาได้ครอบงำเขา (ไม่สามารถยับยั้งได้) ก็จง (แบ่งกระเพาะเป็นสามส่วน) ส่วนหนึ่งสำหรับอาหาร ส่วนหนึ่งสำหรับเครื่องดื่ม และอีกส่วนหนึ่งสำหรับไว้หายใจ”
(สุนันอิบนุมาญะฮฺ, เลขที่ 3340, (ดู อิรวาอฺอัลเฆาะลีล, เลขที่ 1983))
การกินดื่มที่อิ่มจนเกินไปไม่เพียงแต่เป็นการฟุ่มเฟือยเท่านั้น แต่ยังเกิดโทษอีกหลายๆอย่างต่อร่างกาย อาทิเช่น ทำให้ร่างกายรู้สึกหนักอึ้ง ทำให้รู้สึกง่วงนอนและขี้เกียจ (ไม่กระฉับกระเฉง) เป็นต้น
8. จะหยุดทานอาหารสะหูรเมื่อใด
อัลลอฮฺตรัสว่า:
«وَكُلُواْ وَٱشْرَبُواْ حَتَّىٰ يَتَبَيَّنَ لَكُمُ ٱلْخَيْطُ ٱلأبْيَضُ مِنَ ٱلْخَيْطِ ٱلأسْوَدِ مِنَ ٱلْفَجْرِ ثُمَّ أَتِمُّواْ ٱلصّيَامَ إِلَى ٱللَّيْلِ»
“และพวกเจ้าจงกินและดื่มจนกระทั่งแสงแห่งรุ่งอรุณทำให้เส้น ขาวประจักษ์แก่พวกเจ้าจากเส้นดำ เสร็จแล้วพวกเจ้าก็จงถือศิยามให้ครบถ้วนไปจนถึงเวลาพลบค่ำ” (อัลบะเกาะเราะฮฺ, 187)
ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«لاَ يَغُرَّنَ أَحَدُكُمْ نِدَاءَ بِلاَلٍ مِنَ السَّحُوْرِ، وَلاَ هَذَا البَيَاضَ حَتَّى يَسْتَطِيْرَ»
“คน หนึ่งคนใดในหมู่พวกเจ้าจงอย่างหลงเชื่อกับการอาซานของบิลาล (เพราะบิลาลจะอาซานของเข้าเวลาฟะญัร) และกับแสงสีขาวจนกว่าแสง (แห่งรุ่งอรุณ) จะปกคลุมท้องฟ้า” (เศาะฮีหฺมุสลิม, เลขที่ 1094)
อาอิชะฮฺเล่าว่า “แท้จริงบิลาลจะอาซานตอนกลางคืน (ก่อนรุ่งอรุณ) ดังนั้นนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมจะกล่าว (กำชับ) ว่า:
«كلوا واشربوا حتى يؤذن ابن أم مكتوم، فإنه لا يؤذن حتى يطلع الفجر»
“พวก เจ้าจงกินและดื่มจนกว่าอิบนุอมมิมักตูมจะอาซาน เพราะเขาจะไม่อาซานจนกว่าแสงแห่งรุ่งอรุณ (ฟะญัร) จะขึ้น (ปกคลุมท้องฟ้า)” (เศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 1919)
อิบนุอับดิลบัรฺกล่าวว่า “หะดีษนี้เป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่าการทานอาหารสะหูรนั้นจะเกิดขึ้นก่อนเวลา รุ่งอรุณ เพราะคำพูดที่ว่า “แท้จริงบิลาลจะอาซานตอนกลางคืน (ก่อนรุ่งอรุณ)” เสร็จแล้วท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมก็ห้ามไม่ให้พวกเขาทานอาหารสะหูรเมื่อถึงเวลาอาซานของอิบนุอมมิมักตูม...” (อัตตัมฮีด, เล่ม 10 หน้า 62)
ท่านกล่าว เพิ่มเติมว่า “และแท้จริงปวงปราชญ์มุสลิมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้ใดที่แน่ใจว่าเวลารุ่งอรุณได้มาถึงแล้ว จะไม่อนุญาตให้เขากินและดื่มอีกต่อไป” (หมายความว่า ต้องหยุดกินและดื่มทันที) (อัตตัมฮีด, เล่ม 10 หน้า 63)
อันนะวะวีย์กล่าวว่า “ในหะดีษนี้เป็นการชี้แจงเกี่ยวกับรุ่งอรุณที่มีผลต่อหุกมการถือศิยาม นั่นคือ (การปรากฏของ) รุ่งอรุณที่สองซึ่งเป็นรุ่งอรุณที่แท้จริง” (ชัรหฺเศาะฮีหฺมุสลิม, เล่ม 8 หน้า 212)
ท่านยังกล่าวอีกว่า “สิ่งที่เราได้กล่าวมาที่ว่าเวลาศิยามจะเริ่มด้วยการปรากฏของแสงแห่งรุ่ง อรุณ (ฟะญัร) และจะห้ามการกินดื่มและการร่วมประเวณีทันทีที่แสงแห่งรุ่งอรุณมาถึงเหล่านี้ เป็นทัศนะของเรามัซฮับชาฟิอีย์ มัซฮับอบูหะนีฟะฮฺ มาลิก อะหมัด และบรรดาอุละมาอฺสมัยเศาะหาบะฮฺและตาบิอีน และหลังจากนั้น...” (อัลมัจญ์มูอฺ, เล่ม 6 หน้า 324)