×
ผู้เขียนได้อธิบายหะดีษของอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุมา เกี่ยวกับการบันทึกความดีความชั่วของมนุษย์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเมตตาและความยุติธรรม ของอัลลอฮฺที่ไม่ทรงบันทึกผู้ที่คิดกระทำผิดและจะบันทึกความผิดของเขาเท่ากับที่ทำผิดจริง ในขณะที่เมื่อบ่าวคิดจะกระทำความดี พระองค์ก็ทรงใหับันทึกทันทีและเมื่อทำความดีจริงๆ ก็จะทรงให้บันทึกเป็นสิบเท่า ทั้งหมดนี้ยืนยันถึงพระเดชานุภาพของอัลลอฮฺโดยแท้จริง

    ความยุติธรรม ความโปรดปราน และเดชานุภาพของอัลลอฮฺ

    [ ไทย ]

    عدل الله ورحمته وقدرته عز وجل

    [ باللغة التايلاندية ]

    ไฟศ็อล อับดุลฮาดีย์ อบุลฟัฎล์

    فيصل عبدالهادي أبو الفضل

    ตรวจทาน: ซุฟอัม อุษมาน

    مراجعة: صافي عثمان

    สำนักงานความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด

    المكتب التعاوني للدعوة وتوعية الجاليات بالربوة بمدينة الرياض

    1428 – 2007

    ความยุติธรรม ความโปรดปราน และเดชานุภาพของอัลลอฮฺ

    عَنْ ابْنِ عَبَّاسٍ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا عَنْ رَسُولِ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم فِيمَا يَرْوِيهِ عَنْ رَبِّهِ تَبَارَكَ وَتَعَالَى، قَالَ: «إنَّ اللَّهَ كَتَبَ الْحَسَنَاتِ وَالسَّيِّئَاتِ، ثُمَّ بَيَّنَ ذَلِكَ، فَمَنْ هَمَّ بِحَسَنَةٍ فَلَمْ يَعْمَلْهَا كَتَبَهَا اللَّهُ عِنْدَهُ حَسَنَةً كَامِلَةً، وَإِنْ هَمَّ بِهَا فَعَمِلَهَا كَتَبَهَا اللَّهُ عِنْدَهُ عَشْرَ حَسَنَاتٍ إلَى سَبْعِمِائَةِ ضِعْفٍ إلَى أَضْعَافٍ كَثِيرَةٍ، وَإِنْ هَمَّ بِسَيِّئَةٍ فَلَمْ يَعْمَلْهَا كَتَبَهَا اللَّهُ عِنْدَهُ حَسَنَةً كَامِلَةً، وَإِنْ هَمَّ بِهَا فَعَمِلَهَا كَتَبَهَا اللَّهُ سَيِّئَةً وَاحِدَةً». رَوَاهُ الْبُخَارِيُّ، وَمُسْلِمٌ.

    ความว่า : จากท่านอิบนุอับบาส –เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา- จากท่านเราะสูลุลลอฮฺ –ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ท่านเล่าจากดำรัสแห่งพระผู้อภิบาลของท่าน –ตะบาเราะกะ วะตะอาลา- พระองค์ได้ตรัสว่า: แท้จริงอัลลอฮฺได้บันทึกความดีและความชั่วทั้งหลาย แล้วพระองค์ก็ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าว ใครก็ตามที่ปรารถนาจะทำความดีอย่างหนึ่ง แต่แล้วเขาไม่ได้ทำ อัลลอฮฺจะทรงบันทึก ณ พระองค์ซึ่งหนึ่งความดีอย่างสมบูรณ์ และถ้าหากเขาปรารถนาที่จะทำมัน แล้วเขาก็ได้ทำ อัลลอฮฺจะทรงบันทึก ณ พระองค์ซึ่งสิบความดี และพระองค์จะทรงเพิ่งพูนอีกถึงเจ็ดร้อยเท่าจนถึงหลายๆ เท่าอย่างมากมาย และถ้าหากเขาปรารถนาที่จะทำความชั่วอย่างหนึ่ง แต่แล้วเขาไม่ได้ทำ อัลลอฮฺจะทรงบันทึก ณ พระองค์ซึ่งหนึ่งความดีอย่างสมบูรณ์ และถ้าหากเขาปรารถนาที่จะทำมัน แล้วเขาก็ได้ทำ พระองค์จะทรงบันทึก ณ พระองค์ซึ่งหนึ่งความผิดเท่านั้น" (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม) [1]

    ประวัติโดยย่อของเศาะหาบะฮฺผู้เล่าหะดีษ

    อิบนุ อับบาส มีชื่อว่าอับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส เป็นลูกพี่ลูกน้องกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ส่วนมารดาของท่านคืออุมมุล ฟัฎฺล ลุบาบะฮฺ บินติ อัลหาริษ เป็นพี่น้องกับท่านหญิงมัยมูนะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านเกิดที่เมืองมักกะฮฺก่อนที่ท่านนบีจะอพยพไปยังเมืองมะดีนะฮฺสามปี และตอนที่ท่านนบีเสียชีวิตท่านมีอายุได้ 13 ปี

    ท่านได้รายงานหะดีษจากท่านนบี –ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- เป็นจำนวน 1660 หะดีษด้วยกัน และท่านเป็นหนึ่งในบรรดาเศาะหาบะฮฺที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับความรู้และความเข้าใจในเรื่องหลักคำสอนของศาสนาและอรรถธิบายอัลกุรอาน จนถูกขนานนามว่า “หับรุลอุมมะฮฺ” และ “ตุรญุมานุล กุรอาน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้รอบรู้ของประชาชาติ” และ “ผู้อรรถธิบายอัลกุรอาน”

    ท่านเสียชีวิตที่เมืองฏออีฟในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่68 [2] ในสมัยเคาะลีฟะฮฺอิบนุซ ซุบัยรฺ

    ความสำคัญของหะดีษ

    หะดีษบทนี้ได้ชี้แจงถึงความยิ่งใหญ่ของความโปรดปรานและเราะฮฺมะฮฺของพระองค์อัลลอฮฺที่มีต่อบ่าวของพระองค์ ซึ่งมันจะเป็นแรงกระตุ้นหนุนเจือให้รู้สึกอยากทำความดีเพื่อหวังผลบุญอันมากมายจากพระองค์ และหะดีษบทนี้ยังได้ตักเตือนบ่าวให้ตระหนักอยู่เสมอว่าทุกๆการงานที่เขาปฏิบัติยู่นั้นมีผู้ที่คอยสังเกตและมองดูอยู่

    อธิบายหะดีษ

    หะดีษบทนี้เรียกว่าหะดีษกุดสีย์ นั่นคือหะดีษที่ท่านนบี –ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- รายงานจากอัลลอฮฺ –สุบหานะฮุ วะตะอาลา-

    (แท้จริงอัลลอฮฺได้บันทึกความดีและความชั่วทั้งหลาย ...)

    การบันทึกความดีและความชั่วของมนุษย์นั้นมี 2 ประเภทกล่าวคือ

    1. การบันทึกก่อนที่มนุษย์จะทำความดีและความชั่ว นั่นคือการบันทึกใน “เลาหฺมะหฺฟูซ” หรือที่เรียกว่ากำหนดกฎสภาวะ (เกาะดัร) ซึ่งอัลลอฮฺได้กำหนดกฎสภาวะต่างๆที่จะบังเกิดขึ้นในมัคลูกนี้ก่อนที่พระองค์จะสร้างมันขึ้นถึงห้าหมื่นปี [3]

    2. การบันทึกในขณะที่มนุษย์ได้ทำความดีหรือความชั่วนั้น ๆ หรือการบันทึกของมลาอิกะฮฺนั่นเอง อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

    أم يحسبون أنا لا نسمع سرهم ونجواهم بلى رسلنا لديهم يكتبون [4]

    ความว่า "หรือพวกเขาคิดว่าเราไม่ได้ยินความลับของพวกเขาและการประชุมลับของพวกเขา แน่นอน(เราได้ยิน) และทูต(มลาอิกะฮฺ)ของเราอยู่กับพวกเขาเพื่อบันทึก"

    ส่วนการบันทึกที่กล่าวในหะดีษบทนี้บางอุละมาอ์กล่าวว่าคือการบันทึกประเภทที่สอง ดังที่มีสายรายงานอื่นจากท่านนบีว่า :

    إذا أراد عبدي أن يعمل سيئة فلا تكتبوها عليه حتى يعملها ، فإن يعملها فاكتبوها له بمثلها، وإن تركها من أجلي فاكتبوها له حسنة [5]

    ความว่า "เมื่อบ่าวของข้าปรารถนาที่จะทำความชั่วอย่างหนึ่ง พวกเจ้าทั้งหลาย(หมายถึงบรรดามลาอิกะฮฺ)จงอย่าเพิ่งบันทึกมันจนกว่าเขาจะปฏิบัติมันเสียก่อน และหากเขาปฏิบัติมันแล้ว พวกเจ้าก็จงบันทึกเสมือนกับมัน(หมายถึงบันทึกแค่หนึ่งความชั่ว) และถ้าหากเขาได้ละทิ้งมันเพื่อข้าแล้ว พวกเจ้าก็จงบันทึกหนึ่งความดีให้แก่เขา"

    (แท้จริงอัลลอฮฺได้บันทึก...)

    พาดพิงการบันทึกถึงอัลลอฮฺทั้งๆ ที่พระองค์ไม่ใช่ผู้ที่ทำการบันทึกด้วยตัวพระองค์เอง กล่าวคืออัลเกาะลัม(ปากกา)จะบันทึกกฎสภาวะในเลาหฺมะหฺฟูซ และมลาอิกะฮฺจะบันทึกการงานของมนุษย์ในโลกนี้ นั่นก็เพราะว่าสาเหตุของการบันทึกมาจากคำสั่งของพระองค์ ดังนั้นจึงพาดพิงการบันทึกถึงพระองค์ การพูดประโยคแบบนี้เราก็มักนิยมใช้กัน เช่นเราพูดว่า ฉันสร้างบ้านหมดไปหนึ่งล้านกว่าบ้าน ทั้ง ๆ ที่เราอาจไม่ใช่ผู้ที่สร้างบ้านด้วยตัวเองแต่เราจ้างเขามาสร้างต่างหาก แต่ที่เราพูดไปอย่างนั้นก็เพราะว่าสาเหตุของการสร้างมาจากคำสั่งของเรานั่นเอง

    อนึ่งเราก็รู้อย่างประจักษ์แจ้งแล้วว่าอัลลอฮฺทรงรอบรู้ทุกๆ การเคลื่อนไหว แต่แล้วทำไมจึงต้องให้มลาอิกะฮฺจดบันทึกการงานของมนุษย์ด้วย ?

    คำตอบคือ เพื่อแสดงถึงความยุติธรรมของอัลลอฮฺและเพื่อเป็นหลักฐานมัดตัวมนุษย์ในความผิดของเขาที่ได้กระทำไว้ในโลกนี้จนเขาไม่สามารถจะแก้ตัวได้ในวันพิพากษา ด้วยเหตุนี้มนุษย์ทุกคนจึงถูกสั่งให้อ่านสมุดบันทึกของเขาและใตร่ตรองในความผิดต่างๆที่ได้ทำไว้ อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

    اقرأ كتابك كفى بنسفك اليوم حسيبا [6]

    ความว่า "เจ้าจงอ่านบันทึกของเจ้า พอเพียงแก่ตัวเจ้าแล้ววันนี้ที่จะเป็นผู้ชำระบัญชีของตัวเจ้าเอง"

    และดังที่มีรายงานจากท่านนบีว่า : "แท้จริงอัลลอฮฺจะพิพากษาชายคนหนึ่งจากประชาชาติของฉันต่อหน้ามัคลูกทั้งหลาย และแล้วสมุดบันทึกจำนวน99เล่มจะถูกแผ่ออก แต่ล่ะเล่มจะมีขนาดเท่าสุดสายตาทอดเห็น และพรงองค์ก็ตรัสว่า : เจ้าจะปฏิเสธบางอย่างจากสิ่งที่ถูกเขียนนี้หรือไม่? มลาอิกะฮฺผู้จดบันทึกของข้าอยุติธรรมต่อเจ้าหรือไม่? เขาก็ตอบว่า : โอ้อัลลอฮฺ ไม่เลย พระองค์ก็ทรงถามอีกว่า: เจ้ามีข้อแก้ตัวไหม? เขาก็ตอบว่า : โอ้อัลลอฮฺ ไม่เลย" [7]

    ท่านอัลหาฟิซ อิบนุหะญัรกล่าวว่า : และสามารถนำเอามาเป็นหลักฐานจากประโยคข้างต้นได้ว่า บรรดามลาอิกะฮฺผู้จดบันทึกจะไม่บันทึกสิ่งที่เป็นมุบาหฺ เพราะ (ในหะดีษ) มันเจาะจงเฉพาะสิ่งที่เป็นความดีและความชั่ว [8]

    (แล้วพระองค์ก็ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าว) หมายถึงแจกแจงถึงวิธีการบันทึกว่าเป็นอย่างไร

    (ใครก็ตามที่ปรารถนาจะทำความดีอย่างหนึ่ง แต่แล้วเขาไม่ได้ทำ อัลลอฮฺจะทรงบันทึก ณ พระองค์ซึ่งหนึ่งความดีอย่างสมบูรณ์)

    ในหะดีษบอกว่า “ปรารถนา” นั่นหมายถึงการตั้งใจที่จะทำจริงๆ ดังนั้นถ้าหากเป็นเพียงแค่การนึกคิดโดยไม่ได้ปรารถนาจะทำจริงๆ ถือว่าไม่เข้าข่ายในหะดีษบทนี้

    การที่คนๆหนึ่งปรารถนาจะทำความดีอย่างหนึ่งแต่เขาไม่ได้ทำ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กรณีด้วยกัน คือ

    1. กรณีที่ไม่ได้ทำเนื่องจากเกิดอาการขี้เกียจ กรณีนี้เขาจะถูกบันทึกหนึ่งความดีอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากการตั้งเจตนาและการปรารถนาที่ดีนั้นเป็นต้นเหตุและคือจุดเริ่มต้นของความดี ดังนั้นเมื่อต้นเหตุเป็นสิ่งที่ดีเขาจึงได้รับหนึ่งความดี และกรณีนี้คือกรณีของหะดีษบทนี้

    2. กรณีที่ไม่ได้ทำเนื่องจากไปทำความดีอย่างอื่นที่ดีกว่า เช่น มุสลิมคนหนึ่งตั้งใจจะอิอฺติกาฟที่มัสญิดนะบะวีย์ ณ นครมาดีนะฮฺ แต่แล้วเขาก็ได้ละทิ้งอิอฺติกาฟที่มัสญิดนะบะวีย์ แต่กลับไปอิอฺติกาฟที่มัสญิดอัลหะรอม ณ นครมักกะฮฺแทน เพราะการอิอฺติกาฟที่นครมักกะฮฺนั้นประเสริฐกว่า กรณีนี้เขาจะได้รับสองความดีคือ ความดีจากความปรารถนาดีที่เขาตั้งใจจะทำความดีอันแรก และความดีจากการงานที่สองที่เขาได้กระทำ [9]

    3. กรณีที่ได้ทำสาเหตุที่จะบรรลุถึงความดีนั้นๆ แล้ว แต่ยังไม่ทันที่จะทำความดีอันนั้นจนสำเร็จลุล่วง ก็เกิดมีอุปสรรคขึ้นมาเสียก่อน และถ้าหากไม่มีอุปสรรคนั้นๆ แล้วเขาย่อมที่จะทำความดีนั้นๆจนลุล่วง เช่น นาย ก. ปรารถนาที่จะถือศีลอดสุนัตในวันพรุ่งนี้ พอรุ่งขึ้นเขาก็ถือศีลอดดังที่ปรารถนาไว้ แต่ไม่ทันที่จะถือศีลอดจนจบ เขาก็เกิดป่วยขึ้นมาอย่างกะทันหันจนต้องละศีลอด กรณีนี้เขาจะได้รับผลบุญเสมือนกับเขาได้ทำความดีนั้นๆ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

    ومن يخرج من بيته مهاجراً إلى الله ورسوله ثم يدركه الموت فقد وقع أجره [10]

    ความว่า "และผู้ที่ออกจากบ้านเขาไปในฐานะผู้อพยพไปยังอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ แล้วความตายก็ประสบเขา แน่นอนผลตอบแทนของเขานั้นย่อมปรากฏอยู่แล้ว ณ อัลลอฮฺ"

    เขาผู้นี้ยังไม่ทันที่จะอพยพถึงนครมาดีนะฮฺ แต่อัลลอฮฺทรงได้บันทึกแก่เขาเสมือนกับว่าเขาได้อพยพถึงนครมาดีนะฮฺ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเขาได้ทำสาเหตุที่จะบรรลุถึงความดีนั้นๆ นั่นคือการออกเดินทางจากบ้านเขา แต่ทว่าเขาเจอะกับอุปสรรคนั่นคือความตาย และหากเขาไม่ประสบกับความตายแล้วเขาก็ย่อมอพยพสู่นครมาดีนะฮฺแล้ว ดังนั้นอัลลอฮฺจึงบันทึกแก่เขาเสมือนกับว่าเขาได้อพยพ

    (อัลลอฮฺจะทรงบันทึก ณ พระองค์) ท่านอิหม่ามนะวะวีย์กล่าวว่า นี่แสดงถึงการเอาใจใส่ของพระองค์ต่อการบันทึกความดีของบ่าวของพระองค์ [11]

    (ซึ่งหนึ่งความดีอย่างสมบูรณ์) คือหนึ่งความดีอย่างสมบูรณ์ที่ไม่ขาดตกบกพร่อง ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้มีข้อคลางแคลงใจว่า เขาไม่ได้ลงมือปฏิบัติทำความดี แต่ทำไมเขาจึงได้รับความดี

    (และถ้าหากเขาปรารถนาที่จะทำมัน แล้วเขาก็ได้ทำ อัลลอฮฺจะทรงบันทึก ณ พระองค์ซึ่งสิบความดี และพระองค์จะทรงเพิ่งพูนอีกถึงเจ็ดร้อยเท่าจนถึงหลายๆ เท่าอย่างมากมาย) ทุกๆ ความดีที่มุสลิมได้ทำนั้น อัลลอฮฺจะทรงตอบแทนด้วยการบันทึกสิบความดีให้กับเขาเป็นอย่างน้อย ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ในอายะฮฺหนึ่งว่า :

    مَنْ جَاءَ بِالْحَسَنَةِ فَلَهُ عَشْرُ أَمْثَالِهَا [12]

    ความว่า "ผู้ใดที่นำความดีมา เขาก็จะได้รับสิบเท่าของความดีนั้น"

    ส่วนการเพิ่มพูนความดีมากกว่าสิบเท่าจนถึงเจ็ดร้อยเท่าและจนถึงหลายๆเท่าอย่างมากมายจนเหลือคณานั้น มันก็ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของอัลลอฮฺ แต่ทั้งนี้มันก็มีปัจเจกสำคัญที่พระองค์จะทรงเพิ่มพูนความดีนั้นๆ ด้วย อันได้แก่

    1. การดำรงตนประพฤติดีในศาสนาอิสลาม ท่านนบี –ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ได้กล่าวว่า:

    إذا أحسن أحدكم إسلامه فكل حسنة تكتب بعشر أمثالها إلى سبعمائة ضعف [13]

    ความว่า "เมื่อคนๆหนึ่งในหมู่พวกเจ้าประพฤติดีในการนับถือศาสนาของเขาแล้ว ดังนั้นทุกๆความดีที่เขาปฏิบัตินั้นจะถูกบันทึกด้วยสิบความดีจนถึงเจ็ดร้อยเท่า"

    2. ความบริสุทธิ์ใจ หมายความว่าใครก็ตามที่มีความบริสุทธิ์ใจมากกว่าในการประกอบอิบาดะฮฺหนึ่งๆ อัลลอฮฺก็จะทรงเพิ่มพูนความดีของเขามากเท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่มีความบริสุทธิ์ใจเลยนั้น แน่นอนยิ่งการงานของเขาจะไม่ถูกตอบรับแต่ประการใด ท่านนบี –ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ได้กล่าวว่า:

    لا تسبوا أصحابي ، فلو أن أحدكم أنفق مثل أحد ذهباً ما بلغ مد أحدهم ولا نصيفه [14]

    ความว่า "พวกท่านจงอย่าด่าทอบรรดาเศาะหาบะฮฺของฉัน หากแม้นว่าคนๆหนึ่งในหมู่พวกท่านบริจาคทองคำเท่าภูเขาอุหุดแล้ว (ผลบุญ)จะไม่เท่ากับที่พวกเขาบริจาคกอบหนึ่งและครึ่งหนึ่งของมันเลย"

    สาเหตุที่ผลบุญการบริจาคของบรรดาเศาะหาบะฮฺมากกว่านั้น อุละมาอ์ได้ให้เหตุผลไว้หลายทัศนะด้วยกัน และมีทัศนะหนึ่งกล่าวว่า เนื่องจากเขามีความบริสุทธิ์ใจมากกว่าและมีความตั้งใจจริงๆ อย่างแน่วแน่ [15]

    ดังนั้นสมควรที่เราจะต้องพยายามฝึกจิตใจให้มีความบริสุทธิ์ในการประกอบอิบาดะฮฺใดๆก็ตามเพื่ออัลลอฮฺแต่พระองค์เดียว และไม่มีเจตนาอื่นใดหรือหวังผลตอบแทนจากมนุษย์ด้วยกัน เมื่อความบริสุทธิ์ใจมากเท่าไร การตอบแทนจากอัลลอฮฺก็จะยิ่งมากเท่านั้น

    3. ปฏิบัติตามสุนนะฮฺของท่านนบี –ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- หมายความว่า หากเราปฏิบัติตามสุนนะฮฺของท่านนบีในการประกอบอิบาดะฮฺหนึ่งๆมากกว่า ผลบุญของเราก็จะเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น เช่นการละหมาด หากเราปฏิบัติตามสุนนะฮฺของท่านนบีในอิริยาบถและรายละเอียดต่างๆ ผลบุญของเราก็ย่อมมากว่าผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามสุนนะฮฺในรายละเอียดที่เราปฏิบัติ

    ส่วนการงานใดก็ตามที่ไม่สอดคล้องกับสุนนะฮฺของท่านนบีเลยนั้น แน่นอนมันจะไม่ถูกตอบรับ

    และเราไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรคือสุนนะฮฺของท่านนบีบ้าง นอกจากว่าเราจะต้องศึกษาหาความรู้ ฉะนั้นแล้วมุสลิมทุกคนก่อนที่จะประกอบอิบาดะฮฺต่างๆสมควรที่จะต้องศึกษารายละเอียดและสุนนะฮฺของท่านนบีให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ทั้งนี้เพราะการงานของผู้ที่รู้ย่อมไม่เท่ากับการงานของผู้ที่ไม่รู้

    هل يستوي الذين يعلمون والذين لا يعلمون [16]

    ความว่า "บรรดาผู้รู้และบรรดาผู้ไม่รู้จะเท่าเทียมกันหรือ"

    4. ความประเสริฐของอิบาดะฮฺนั้นๆ เอง อัลลอฮฺได้ให้อิบาดะฮฺมีความหลากหลายต่างชนิดกันออกไป และอิบาดะฮฺต่างๆ ก็ย่อมมีความ ประเสริฐที่อิบาดะฮฺอื่นไม่มี บางอิบาดะฮฺนั้นการตอบแทนของมันมากมายเลยเกินจนนับไม่ได้ เช่นการถือศีลอด ดังที่ท่านนบี –ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ได้กล่าวว่า :

    كل عمل ابن آدم تضاعف الحسنة عشر أمثالها إلى سبعمائة ضعف ، قال الله عزوجل : إلا الصوم ...[17]

    ความว่า "ทุกๆการงานของลูกหลานอาดัมนั้นจะถูกเพิ่มพูนถึงสิบความดี จนถึงเจ็ดร้อยเท่า อัลลอฮฺ –อัซซะวะญัล – ได้ตรัสว่า: นอกจากการถือศีลอด" [18]

    5. เวลาของการปฏิบัติ การปฏิบัติอิบาดะฮฺในบางช่วงเวลา ผลบุญของมันนั้นจะเพิ่มพูนและทวีคูณอย่างมากมายกว่าในช่วงเวลาอื่น เช่นการประกอบอิบาดะฮฺในคืนอัลก็อดฺร ซึ่งเป็นคืนที่ประเสริฐกว่าหนึ่งพันเดือน

    6. สถานที่ปฏิบัติ ช่นการละหมาดในสามมัสญิด นั่นคือมัสญิดหะรอม มัสญิดนะบะวีย์ และมัสญิดอัลอักศอ มันย่อมประเสริฐกว่าละหมาดในมัสญิดอื่นๆ

    7. ความจำเป็นหรือต้องการอย่างยิ่งยวดในอิบาดะฮฺนั้นๆ ในบางกรณีอิบาดะฮฺบางอย่างอาจเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวด เช่นในกรณีเกิดอุทกภัยน้ำท่วม ในช่วงเวลานี้การบริจาคเป็นอิบาดะฮฺที่มีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการอย่างมาก ดังนั้นการบริจาคในช่วงนี้จึงประเสริฐกว่าในช่วงปกติไม่มีภัยอะไร

    อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

    لا يستوي منكم من أنفق قبل الفتح وقاتل أولئك أعظم درجة من الذين أنفقوا من بعد وقاتلوا [19]

    ความว่า "ย่อมไม่เท่าเทียมกันในหมู่พวกเจ้านั้นมีผู้บริจาค และได้ต่อสู้(ในหนทางของอัลลอฮฺ) ก่อนการพิชิต(นครมักกะฮฺ) ชนเหล่านั้นย่อมมีฐานะสูงกว่าบรรดาผู้บริจาคและต่อสู้(ในหนทางของอัลลอฮฺ)หลังพิชิต(นครมักกะฮฺ)"

    การที่การบริจาคและต่อสู้ก่อนพิชิตนครมักกะฮฺประเสริฐกว่าหลังจากการพิชิตนครมักกะฮฺแล้วนั้น ก็เนื่องจากว่าก่อนการพิชิตนครมักกะฮฺนั้นเป็นช่วงเวลาที่มุสลิมต้องเผชิญกับความยากลำบาก ทั้งในเรื่องความเป็นอยู่และการสู้รบ ดังนั้นการบริจาคและการต่อสู้ในช่วงนั้นจึงถือว่าประเสริฐกว่า

    (และถ้าหากเขาปรารถนาที่จะทำความชั่วอย่างหนึ่ง แต่แล้วเขาไม่ได้ทำ อัลลอฮฺจะทรงบันทึก ณ พระองค์ซึ่งหนึ่งความดีอย่างสมบูรณ์) การที่คนๆหนึ่งปรารถนาที่จะทำความชั่วอย่างหนึ่งแต่เขาไม่ได้ทำ สามารถแบ่งได้ออกเป็น 4 กรณี คือ

    1. กรณีที่ไม่ได้ทำเนื่องจากเกิดการเกรงกลัวต่อการลงโทษของอัลลอฮฺ กรณีนี้คือกรณีที่ประโยคข้างต้นหมายถึง ดังที่มีสายรายงานอื่นระบุไว้ว่า :

    إنما تركها من جراي [20]

    ความว่า "แท้จริงเขาละทิ้งมัน(ความชั่วที่เขาปรารถนาจะทำ)เพราะข้า"

    2. กรณีไม่ได้ทำเนื่องจากไม่มีความสามารถ แต่เขาก็ยังปรารถนาอยู่ว่าหากเขามีความสามารถเขาก็จะทำความชั่วนั้นๆ เช่น นาย ก. ปรารถนาที่จะเล่นการพนันแต่เขาไม่มีเงิน แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังปรารถนาอยู่ว่าหากเขามีเงินเขาก็จะเล่นการพนัน กรณีนี้เขาจะถูกบันทึกหนึ่งความผิด แต่ว่าความผิดของเขาไม่เท่ากับความผิดของผู้ที่ทำความชั่วนั้นจริงๆ ท่านนบี –ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ได้กล่าวว่า:

    ورجل آتاه الله مالاً ولم يؤته علماً ، فهو يخبط في ماله ، ينفقه في غير حقه ، ورجل لم يؤته علماً ولا مالاً وهو يقول : لو كان لي مثل هذا عملت فيه مثل الذي يعمل ،قال رسول الله صلى الله عليه وسلم : فهما في الوزر سواء [21]

    ความว่า "และชายคนหนึ่งที่อัลลอฮฺได้ประทานทรัพย์สมบัติให้แก่เขา แต่พระองค์ไม่ได้ประทานความรู้ให้ แล้วเขาก็ได้ใช้จ่ายทรัพย์สมบัติของเขาในหนทางที่ไม่ถูกต้องและไม่ใช่ในสิทธิของมัน และชายอีกคนหนึ่งที่อัลลอฮฺไม่ได้ประทานความรู้และทรัพย์สมบัติ และเขาก็กล่าวว่า : หากฉันมีในสิ่งที่เขามีแล้วไซร้ ฉันก็จะทำเสมือนกับสิ่งที่เขาทำเช่นกัน ท่านเราะสูลุลลอฮฺ –ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ได้กล่าวว่า: ดังนั้นเขาทั้งสองจะได้รับความผิดเหมือนๆกัน" [22]

    3. กรณีที่ปรารถนาและตั้งใจที่จะทำความชั่วอย่างหนึ่ง แล้วเขาก็ได้ปฏิบัติทำสาเหตุที่จะบรรลุถึงความชั่วนั้น ๆ แต่แล้วไม่ทันที่จะทำความชั่วอันนั้นสำเร็จก็เกิดอุปสรรคขึ้นมากลางคัน เช่น นาย ก. ปรารถนาและตั้งใจที่จะไปงัดแงะและขโมยบ้านเขา แล้วนาย ก. ก็ได้ตระเตรียมเครื่องมือเพื่อการงัดแงะอย่างเสร็จสับ และเมื่อพอไปถึงบ้านที่เป็นเป้าหมายเขาก็ได้งัดแงะประตูบ้าน แต่ปรากฏว่าคนในบ้านหลังดังกล่าวรู้ตัว จนทำให้เขาต้องหนีเตลิดและยกเลิกการลักขโมยในคืนนั้นไป

    กรณีนี้เขาจะได้รับความผิดเหมือนกับผู้ที่ได้ทำความชั่วนั้นๆ ดังที่ท่านอบูบักเราะฮฺได้เล่าจากท่านนบี –ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ว่าท่านได้กล่าวว่า:

    إذا التقى المسلمان بسيفهما فالقاتل والمقتول في النار ، فقلت : يارسول الله هذا القاتل فما بال المقتول ؟ قال : إنه كان حريصاً على قتل صاحبه [23]

    ความว่า "เมื่อมุสลิมสองคนคบดาบมาพบกัน(เพื่อเข่นฆ่ากัน) ดังนั้นผู้ที่ฆ่าและผู้ที่ถูกฆ่าจะอยู่ในนรก ฉัน(หมายถึงอบูบักเราะฮฺ)จึงถามขึ้นว่า: โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ นี้คือผู้ที่ฆ่า แล้วผู้ที่ถูกฆ่ามีความผิดอะไรหรือ? ท่านตอบว่า: แท้จริงแล้วเขานั้นเหือดกระหายที่จะฆ่าคู่อริของเขา"

    ถึงแม้ว่าเขาไม่ได้ฆ่าคู่อริ แต่เนื่องจากเขามีความปรารถนาที่จะฆ่า และได้ทำสาเหตุที่จะบรรลุถึงการฆ่า นั่นคือการคบดาบแล้วเข้าต่อสู้กัน ดังนั้นเขาทั้งสองก็จะได้รับความผิดเหมือนๆกัน แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าระดับการลงโทษของเขาทั้งสองคนนั้นจะต้องเหมือนๆกัน

    กรณีนี้มันแตกต่างกับกรณีที่สองก็ตรงที่ว่า กรณีที่สองเขาไม่มีความสามารถและไม่ได้เริ่มลงมือปฏิบัติแม้แต่น้อยนิด ส่วนกรณีนี้เขาได้ลงมือปฏิบัติแล้ว แต่เกิดมีอุปสรรคขึ้นก่อนที่จะทำสำเร็จ และกรณีนี้ความผิดของเขาย่อมมากกว่าความผิดในกรณีที่สอง

    4. กรณีไม่ได้ทำเนื่องจากเกิดความละอายใจตัวเอง ไม่ใช่เพื่ออัลลอฮฺ กรณีนี้เขาจะไม่ถูกบันทึกใดๆ ทั้งสิ้นทั้งความดีและความชั่ว

    (และถ้าหากเขาปรารถนาที่จะทำมัน แล้วเขาก็ได้ทำ พระองค์จะทรงบันทึก ณ พระองค์ซึ่งหนึ่งความผิดเท่านั้น) ความชั่วต่างๆที่มนุษย์ทำ อัลลอฮฺจะบันทึกหนึ่งความผิดเท่านั้น ซึ่งมันต่างกับความดี ซึ่งพระองค์จะบันทึกถึงสิบความดีและจะเพิ่มพูนอีกหลายๆเท่า ส่วนประเด็นปัญหาที่ว่า ความชั่วที่มนุษย์ก่อขึ้นนั้นความผิดของมันจะเพิ่มพูนหรือไม่ ?

    คำตอบคือ ความดีและความชั่วจะถูกเพิ่มพูนหากกระทำในสถานที่และเวลาที่มีความประเสริฐ เช่นนครมักกะฮฺและเดือนรอมฎอน กล่าวคือความดีนั้นจะเพิ่มพูนทั้งปริมาณและขนาดของการตอบแทน ส่วนความชั่วนั้นจะเพิ่มพูนเฉพาะขนาดของการลงโทษ แต่จะไม่เพิ่มพูนจำนวนของความผิด อัลลอฮฺได้ตรัสว่า


    مَنْ جَاءَ بِالْحَسَنَةِ فَلَهُ عَشْرُ أَمْثَالِهَا وَمَنْ جَاءَ بِالسَّيِّئَةِ فَلا يُجْزَى إِلا مِثْلَهَا وَهُمْ لا يُظْلَمُونَ [24]

    ความว่า "ผู้ใดที่นำความดีมา เขาก็จะได้รับสิบเท่าของความดีนั้น และผู้ใดที่ทำความชั่วมาเขาจะไม่ถูกตอบแทน นอกจากเท่ากับความชั่วนั้น โดยพวกเขาจะไม่ถูกอธรรม"

    ในอายะฮฺนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ความชั่วจะไม่ถูกเพิ่มพูนนอกจากเท่ากับความชั่วนั้นๆ
    และอีกอายะฮฺหนึ่งพระองค์ได้ตรัสว่า :

    وَمَنْ يُرِدْ فِيهِ بِإِلْحَادٍ بِظُلْمٍ نُذِقْهُ مِنْ عَذَابٍ أَلِيمٍ [25]

    ความว่า "และถ้าผู้ใดที่ปรารถนาที่จะกระทำการฝ่าฝืนด้วยทุจริตใด ๆ ในนั้น(มัสญิดหะรอม) เราก็จะให้เขาลิ้มรสการลงโทษอย่างเจ็บปวดยิ่ง"

    อัลลลอฮฺไม่ได้ตรัสว่าผู้ที่ทำความชั่วในนั้น พระองค์จะเพิ่มพูนความผิด แต่พระองค์ตรัสว่า จะลงโทษเขาอย่างเจ็บปวด ซึ่งทำให้เราเข้าใจว่าผู้ที่ทำความชั่วในสถานที่ประเสริฐนั้นความผิดของเขาจะไม่เพิ่มพูนจำนวนแต่อย่างใด เขาจะยังคงได้รับหนึ่งความผิด แต่ทว่าหนึ่งความผิดของเขานั้นขนาดการลงโทษจะรุนแรงกว่า

    ประโยชน์ที่ได้จากหะดีษ

    1. อัลลอฮฺนั้นทรงมีความเมตตาปรานี และยุติธรรมต่อมนุษย์ทั้งมวล

    2. มุสลิมสมควรที่จะมีเจตนาและปรารถนาที่จะทำความดีอยู่สม่ำเสมอ เพราะถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำจริงๆ แต่เขาก็ยังจะได้รับหนึ่งความดีอย่างสมบูรณ์

    3. มุสลิมควรที่จะตระหนักอยู่เสมอว่าทุกๆ การเคลื่อนไหวของเขานั้นมีผู้ทีคอยสังเกตและมองดูอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อเขาจะได้ยับยั้งชั่งใจเมื่อจะทำความผิด

    4. ในการดะอฺวะฮฺนั้นต้องใช้ทั้งรูปแบบการตัรฆีบ นั่นคือการส่งเสริมให้ทำความดีด้วยการบอกถึงผลบุญหรือความประเสริฐของการงานนั้นๆ และรูปแบบการตัรฮีบ นั่นคือการตักเตือนไม่ให้ทำความชั่ว ด้วยการบอกถึงความผิดและการลงโทษอันมหันต์เนื่องจากประกอบความชั่วนั้นๆ

    แหล่งอ้างอิง

    [1] บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ในกิตาบ:อัรฺริกอกฺ บาบ:มัน ฮัมมะ บิ หะสะนะฮฺ เอา สัยยิอะฮฺ หะดีษที่:6491 และมุสลิมในกิตาบ อัลอีมาน บาบ อิซา ฮัมมัล อับดุ... หะดีษที่: 336

    [2] บ้างก็ว่าปีที่ 69 และบ้างก็ว่าปีที่ 70 บ้างก็ว่าปีที่ 69 และบ้างก็ว่าปีที่ 70

    [3] จากหะดีษที่บันทึกโดยมุสลิม(2653) และอัตติรมิซีย์(2156)

    [4] อัซซุครุฟ : 80

    [5] บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ (7501)

    [6] อัลอิสรออ์ : 14

    [7] บันทึกโดยอะหฺมัด(2/213) อัตติรมิซีย์(2639)

    [8] ฟัตหุลบารีย์ 11/399

    [9] ส่วนผลบุญหรือความดีของผู้ที่ปฏิบัติความดีหนึ่งๆจะเป็นอย่างไรนั้น ได้อธิบายในประโยคถัดไปของหะดีษบทนี้แล้ว

    [10] อันนิสาอ์ : 100

    [11] ชัรหฺ มัตนิล อัรบะอีน (118)

    [12] อัลอันอาม:160

    [13] บันทึกโดยมุสลิม

    [14] บันทึกโดยอัลบุคอรีย์(3673) และมุสลิม(6434)

    [15] ฟัตหุลบารีย์ (7/44)

    [16] อัซซุมัรฺ : 9

    [17] บันทึกโดยอัลบุคอรีย์:1894 และมุสลิม:1151

    [18] หมายความการถือศีลอดนั้น พระองค์จะทรงตอบแทนมากยิ่งกว่า

    [19] อัลหะดีด : 10

    [20] บันทึกโดยมุสลิม(333)

    [21] บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ (4228)

    [22] หมายความว่า เขาทั้งสองเป็นผู้ที่ทำบาปเหมือนๆกัน ส่วนความหนักเบาของความผิดนั้นมัน ย่อมไม่เท่ากัน

    [23] บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ (30) และมุสลิม(7181)

    [24] อัลอันอาม:160

    [25] อัลฮัจญ์ : 25