เทศกาลวาเลนไทน์ … สำหรับใคร !?
หมวดหมู่
Full Description
วาเลนไทน์สำหรับใคร ?
﴿عيد الحب ... لمن ؟﴾
อุษมาน อิดรีส
ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
วาเลนไทน์สำหรับใคร ?
อารัมภบท
สัจธรรมอย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ ประชาชาติอื่นจากอิสลามจะมีเทศกาลแห่งความสนุกสนานรื่นเริงเนื่องในโอกาส ต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลเนื่องในโอกาสเหตุการณ์สำคัญของกลุ่มชน เทศกาลตามฤดูกาล เทศกาลวันแม่ เทศกาลวันแรงงาน เทศกาลวันขึ้นปีใหม่ เทศกาลวันเด็ก เทศกาลวันตรุษจีน เทศกาลวันสงกรานต์ เทศกาลวันต้นไม้และการเกษตร ฯลฯ จนกระทั่งเกือบจะไม่มีเดือนใดเลยที่ไม่มีเทศกาลสำคัญอยู่
ปัจจุบันเราพบว่า เทศกาลเนื่องในโอกาสวันสำคัญทางศาสนาอื่นจากศาสนาอิสลามมากมายได้ซึมซับเข้า มามีบทบาทต่อระบบการดำเนินชีวิต จริยธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวมุสลิมทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นหนุ่มสาวมุสลิมที่ชอบใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยเรื่อง สนุกสนานฮาเฮและบันเทิง และกลายเป็นวัฒนธรรมนิยมที่มีการลอกเลียนแบบกันอย่างกว้างขวางในหมู่วัยรุ่น มุสลิมจนยากต่อการเยียวยา และลบล้างค่านิยมเหล่านั้นให้ออกจากความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา
สภาพของเยาวชนมุสลิมดังกล่าวสอดคล้องอย่างยิ่งกับคำอธิบายของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า ในอนาคตจะมีประชาชาติของท่านกลุ่มหนึ่งที่มีพฤติกรรมชอบตามก้นศัตรูของอัล ลอฮฺในด้านพิธีกรรมและประเพณีบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในศาสนาของพวก เขา ดังมีระบุในหะดีษของอบีสะอีด อัลคุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ว่า
لَتَتَّبِعُنَّ سُنَنَ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ شِبْرًا بِشِبْرٍ وَذِرَاعًا بِذِرَاعٍ حَتَّى لَوْ دَخَلُوْا جُحْرَ ضَبٍّ تَبَعْتُمُوْهُ. قُلْنَا: يَا رَسُوْلَ اللهِ، آَلْيَهُوْدَ وَالنَّصَارَى؟ قَالَ: فَمَنْ!
“แน่นอน พวกเจ้าจะประพฤติตามแนวทางของคนก่อนพวกเจ้า ทีละคืบ ทีละศอก จนกระทั่งพวกเขาเหล่านั้นเดินเข้าไปในรูแย้ พวกเจ้าก็จะเดินตามพวกเขา (เข้าไปในรูแย้) ด้วย” บรรดาเศาะหาบะฮฺก็ถามว่า “พวกนั้นคือ ยะฮูดและนะศอรอ (ยิวและคริสต์) ใช่หรือไม่?” ท่านก็ตอบว่า “จะเป็นใครเสียอีก” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 3269 มุสลิม : 2669)
ณ วันนี้ คำอธิบายของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่มีมากว่า 1400 ปี ได้เป็นที่ประจักษ์ถึงความสัจจริงของมันแล้ว ปัจจุบัน ทุกครั้งที่มีเทศกาลเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสอะไรก็ตาม เราจะพบว่ามีเยาวชนมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่เข้าร่วมสนุกสนานเฮฮาและเฉลิมฉลอง กับพวกเขาด้วยเสมอ โดยหารู้ไม่ว่า ปฏิกิริยาการตอบสนองที่พวกเขากำลังปฏิบัติอยู่นั้น เป็นผลพวงมาจากกระแสการโจมตีทางวัฒนธรรมและคุณค่าทางจริยธรรมของศัตรูของพวก เขาเองอย่างเป็นระลอกๆ และต่อเนื่อง ด้วยวิธีการที่หลากหลายรูปแบบ โดยผ่านสื่อและเทคโนโลยีไฮเทคสมัยใหม่ทั้งหลายที่ดึงดูดความสนใจของเยาวชน ทั้งในรูปของหนัง ละคร เพลง โฆษณา หนังสือพิมพ์ นิตยสาร งานเขียน ฯลฯ มาเป็นเวลานานนับศตวรรษมาแล้ว ซึ่งเป้าหมายหลักของการโจมตีเหล่านั้นมีเพียงอย่างเดียว นั่นคือ ดับแสงแห่งคำสอนของอิสลามและทำลายล้างคุณค่าทางจริยธรรมของมนุษยชน ผนวกกับความอ่อนแอของอีหม่าน และไม่ประสาต่อหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม จึงทำให้เยาชนมุสลิมถูกชักจูงได้ง่ายและเห็นดีเห็นงามกับวัฒนธรรมที่ถูกนำ เข้าเหล่านั้น
ด้วยตระหนักถึงอันตรายและความสำคัญของปัญหาข้างต้น อิสลามจึงให้ความสำคัญกับมันอย่างที่สุด และหาทางโอบอุ้มและป้องกันเยาวชนมุสลิมไม่ให้หลงเชื่อและตกอยู่ในบ่วงแห่ง การหลอกล่อ ด้วยการสั่งให้พวกเขาห่างไกลจากการโฆษณาชวนเชื่อและสิ่งล่อลวงที่เป็นโทษต่อ ศาสนาของพวกเขาและเป็นโทษตัวเขาเองด้วย พร้อมทั้งกำชับอย่างหนักแน่นว่า ผู้ศรัทธาที่แท้จริงนั้นคือผู้ที่ห่างไกลและไม่เข้าร่วมเป็นพยานและแสดงความ ยินดีกับเทศกาลความรื่นเริงต่างๆ ของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้น อัลลอฮฺตรัสว่า
«وَالَّذِينَ لاَ يَشْهَدُونَ الزُّورَ، وَإِذَا مَرُّوا بِاللَّغْوِ مَرُّوا كِرَاماً»
“และ (ผู้ศรัทธาเหล่านั้นคือ) บรรดาผู้ที่ไม่ร่วมเป็นสักขีพยานในสิ่งจอมปลอม และเมื่อพวกเขาเดินผ่านสิ่งไร้สาระ พวกเขาผ่านไปอย่างมีเกียรติ” (อัลฟุรกอน : 72)
คำว่า “สิ่งจอมปลอม” ที่บ่าวผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในที่นี้หมายถึง เทศกาลรื่นเริงต่างๆของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั่นเอง
ขณะ เดียวกันอิสลามก็ห้ามไม่ให้ชาวมุสลิมมีประพฤติกรรมลอกเลียนแบบประเพณีของชน ต่างศาสนิก โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานเฉลิมฉลอง หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรม หรือการแสดงความยินดีด้วยการส่งของขวัญ หรือการ์ดอวยพรต่างๆ อาทิ เทศกาลขึ้นปีใหม่ คริสต์มาส สาดน้ำสงกรานต์ และวันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก เป็นต้น ท่านนบี ศ็อลลัลลออุอะลัยอิวะสัลลัม กล่าวว่า
مَنْ تَشَبَّهَ بِقَوْمٍ فَهُوَ مِنْهُمْ
“ผู้ใดลอกเลียนแบบชนกลุ่มใด เขาก็คือชนกลุ่มนั้น” (บันทึกโดย อบู ดาวูด 4031)
วันแห่งความรัก ทำไมต้องเป็น 14 กุมภาฯ?
14 กุมภาพันธ์ ของทุกๆ ปีเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ชาวมุสลิมผู้ไม่ประสากับข้อเท็จจริงของวันนี้ บางคนได้ร่วมเฉลิมฉลองกับชนต่างศาสนิกและลอกเลียนแบบประเพณีของพวกเขาด้วย การส่งการ์ดอวยพรและดอกกุหลาบสีแดงสดแก่คนที่ตนรักเพื่อแสดงถึงความรักที่มี ต่อกัน พวกเขาเรียกวันนี้ว่า “วันแห่งความรัก” หรือ “วันวาเลนไทน์”
จะมีเยาวชนมุสลิมสักกี่คนที่ตระหนักว่า วันที่ 14 ของ กุมภาพันธ์นี้เป็นวันสำคัญทางศาสนาคริสต์วันหนึ่งที่ชาวคริสต์กำหนดขึ้นตาม ความเชื่อของพวกเขา เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสรำลึกถึงวีรกรรมแห่งความรักของเซนต์วาเลนไทน์ ที่เป็นเหตุให้เขาต้องจบชีวิตลงด้วยการต้องโทษประหารชีวิตในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270
เทศกาลแห่งความรัก ที่ถูกแอบอ้างได้กลายเป็นประเพณีนิยมและแพร่หลายในหมู่เยาวชนหนุ่มสาวมุสลิม เป็นเทศกาลที่ดูภายนอกจะเชิญชวนสู่ความรัก ความห่วงใย และความเป็นมิตร แต่โดยเนื้อแท้กลับเป็นเทศกาลที่เชิญชวนสู่ความหายนะ ความเสื่อมทรามทางจริยธรรม และการหลอกลวง เป็นเทศกาลแห่งการเสียพรหมจารีย์ของสาวๆ ที่ยอมทอดกายให้กับคนรักเพื่อเป็นการบูชาความรักที่มีต่อกัน และเป็นเทศกาลที่หนุ่มๆ โลดลำพองใจ เพราะเป็นวันที่พวกเขาจะได้สารภาพรักกับเพื่อนหญิง ด้วยการขอร่วมหลับนอนและสัมผัสเนื้อหนังอันพึงสงวนของเธอ ! นาอูซุบิลลาฮฺ มินซาลิก
ทำไมต้องเป็นวาเลนไทน์ ?
ผู้อ่านบางท่านอาจจะแปลกใจว่า ทำไมเราจึงต้องหยิบยกประเด็นวันวาเลนไทน์ หรือเทศกาลแห่งความรักนี้มาตีแผ่ ในเมื่อมันเป็นเทศกาลที่ขัดแย้งกับหลักการอิสลาม และเป็นตัวทำลายจริยธรรมที่ดีงามของสังคม การนำประเด็นนี้มาวิพากษ์วิจารณ์จะไม่เป็นการเผยแพร่และโฆษณาให้ชาวมุสลิม อีกหลายๆ คนที่ยังไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องมารับรู้เรื่องเช่นนี้และพลอยเห็นดีเห็นงาม ตามไปด้วยดอกหรือ?
ที่จริง ถ้าเราสังเกตอย่างถี่ถ้วนต่อสภาพของวัยรุ่นหนุ่มสาวส่วนใหญ่ในวันนี้ เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวทางการค้า และการแลกเปลี่ยนการ์ดอวยพร เราจะเข้าใจทันทีว่า โรคระบาดที่ถูกห่อหุ้มอยู่ในคราบของความรัก และธรรมเนียมที่เลวทรามและป่าเถื่อนนี้ ได้ลุกลามเข้าสู่สังคมมุสลิมอย่างรวดเร็วเสมือนกับการลุกไหม้ของเพลิงไฟใน กองฟาง เป็นเทศกาลแห่งการโฆษณาชวนเชื่อที่มีเบื้องหลังอันเลวร้าย เป็นเทศกาลที่มีเบื้องหลังแห่งตัณหา และความบกพร่องทางจริยธรรมแอบแฝงอยู่ภายใต้ชื่อของความรักและอื่นๆ
ดังนั้น การหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นการปลุกจิตสำนึกอย่างหนึ่ง ให้เยาวชนหนุ่มสาวของเราได้ตระหนักถึงอันตรายและภัยร้ายจากธรรมเนียมประเพณี นอกรีตที่ถูกนำเข้าสู่วิถีการดำเนินชีวิตของมุสลิม และเกิดการตื่นตัวต่อแผนการทำลายล้างในรูปแบบต่างๆของศัตรูที่พยายามหยิบ ยื่นมาให้ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายความบริสุทธิ์และความใสสะอาดของพวกเขาภายใต้สโลแกน ที่สวยหรูและชวนหลงใหล
ทำไมเราจึงไม่ร่วมเฉลิมฉลองกับเทศกาลวาเลนไทน์?
หนุ่ม สาวชาวมุสลิมที่ร่วมเฉลิมฉลองกับเทศกาลแห่งความรักนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีความ เชื่อในเรื่องราวและเหตุการณ์ที่ถูกผนวกเข้ากับที่มาของเทศกาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับชาวโรมันหรือเกี่ยวกับชาวคริสต์ ยิ่งกว่านั้น ส่วนใหญ่ของพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าเทศกาลวันวาเลนไทน์มีความเป็นมาอย่างไร แต่สิ่งที่ชักจูงพวกเขาให้ร่วมเฉลิมฉลองด้วยเป็นเพียงความรู้สึกอยากจะ ปฏิบัติตามพวกเขาเท่านั้นเอง โดยมองว่าธรรมเนียมนิยมต่างๆที่มาจากยุโรปเป็นสิ่งที่ดีและทันสมัย หรือเป็นเพียงโอกาสที่เอื้ออำนวยสำหรับการสนองตอบต่ออารมณ์ตัณหาที่เปิด โอกาสให้กระทำเนื่องในโอกาสดังกล่าวเท่านั้นเอง
อาจ จะมีพี่น้องมุสลิมของเราบางคนที่เห็นด้วยกับเทศกาลการเฉลิมฉลองเนื่องใน โอกาสวันวาเลนไทน์ข้องใจว่า ในเมื่ออิสลามเป็นศาสนาที่เชิญชวนสู่ความรักและสันติภาพ และเทศกาลแห่งความรักก็เป็นโอกาสหนึ่งที่เราสามารถใช้โอกาสนี้เผยแผ่ความรัก และความสามัคคีในหมู่พี่น้องชาวมุสลิม เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำไมจึงสกัดกั้นและห้ามปรามไม่ให้พี่น้องของเราร่วมเฉลิมฉลองในวันนี้?
สำหรับคำตอบต่อข้อสงสัยข้างต้น พอจะชี้แจงได้ดังนี้
1- การเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันแห่งความรัก (วา เลนไทน์) เป็นการลอกเลียนแบบธรรมเนียมปฏิบัติของชาวโรมันที่ชาวคริสต์ได้นำเข้าไปเป็น ส่วนหนึ่งของศาสนาของพวกเขา ในเมื่ออิสลามห้ามไม่ให้มีพฤติกรรมลอกเลียนแบบชาวคัมภีร์ ดังนั้นการลอกเลียนแบบในความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนาของชาวคัมภีร์จึงเป็นสิ่ง ที่ยิ่งไม่อนุญาต
«وَلاَ تَكُونُواْ كَالَّذِينَ تَفَرَّقُواْ وَاخْتَلَفُواْ مِن بَعْدِ مَا جَاءهُمُ الْبَيِّنَاتُ»
“และพวกเจ้าจงอย่าเป็นเช่นบรรดาผู้ที่แตกแยกกัน (ชาวยิวและคริสต์) และขัดแย้งกันหลังจากที่บรรดาหลักฐานอันชัดแจ้งได้มายังพวกเขาแล้ว” (อาล อิมรอน : 105)
อิมาม อัส-ศ็อนอานีย์ กล่าวว่า “เมื่อ มีการลอกเลียนแบบผู้ปฏิเสธศรัทธาในด้านการแต่งกายและเชื่อว่าการกระทำดัง กล่าวทำให้เขาเป็นเหมือนผู้ปฏิเสธศรัทธาคนนั้น เขาก็จะกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาทันที แต่ถ้าเขาไม่ได้มีความเชื่อเช่นนั้น อุละมาอ์ก็ทัศนะที่ขัดแย้งกัน บางคนกล่าวว่ากลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาด้วย และบางคนกล่าวไม่ แต่เขาต้องถูกลงโทษ” (สุบุลุสสลาม เล่ม 8 หน้า 248)
2- คนทั่วไปมักจะเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง ของวันแห่งความรัก ซึ่งความรักที่แท้จริงที่พวกเขาหมายถึงในวันนี้คือวันแห่งการเสียตัวของหญิง สาวให้กับชายหนุ่มที่ตนรัก คือวันแห่งการมีเพศสัมพันธ์ที่ต้องห้ามระหว่างคู่ชายหญิงที่ไม่ได้แต่งงาน กันโดยปราศจากขอบเขต การแสดงออกเช่นนี้ไม่เพียงขัดกับจริยธรรมที่ดีทางสังคม แต่ยังสวนทางกับหลักคำสอนและเป็นที่ต้องห้ามในอิสลามอย่างสิ้นเชิง
«وَلاَ تَقْرَبُواْ الزِّنَى إِنَّهُ كَانَ فَاحِشَةً وَسَاء سَبِيلاً»
“และพวกเจ้าจงอย่าเข้าใกล้การผิดประเวณี แท้จริงมันเป็นการลามกและทางอันชั่วช้า” (อัล-อิสรออ์ : 32)
ดังนั้น หนุ่มสาวมุสลิมคนใดเฉลิมฉลองวันแห่งความรักเพื่อเป้าหมายด้านตัณหาและมีความ สัมพันธ์เชิงชู้สาวกับผู้ที่ต้องห้าม แท้จริงเขาได้กระทำบาปใหญ่ที่ต้องห้ามของศาสนา
3- ไม่มีศาสนาใดที่กระตุ้นและส่งเสริมให้ทุกคนมีความรัก ความห่วงใย และความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันเฉกเช่นคำสอนของศาสนาอิสลาม ซึ่งได้สอนสั่งให้ประชาชาติอิสลามแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใยกันตลอดทุกวันเวลา ไม่ใช่เพียงบางวันหรือบางโอกาสเท่านั้น
إِذَا أَحَبَّ الرَّجُلُ أَخَاهُ فَلْيُخْبِرْهُ أَنَّهُ يُحِبُّهُ
“เมื่อชายคนหนึ่งรู้สึกรักใคร่พี่น้องของเขา ก็จงบอกเขาว่าตนรัก” (อบู ดาวูด : 5124, อัต-ติรมิซีย์ : 2392)
อนึ่งความรักในที่นี้ คือความรักฉันท์พี่น้องผู้ร่วมศรัทธา มิใช่ความรักแบบรักใคร่ชอบพอกับเพศเดียวกันเช่นพวกเกย์หรือเลสเบี้ยน
لاَ تَدْخُلُوْا الْجَنَّةَ حَتَّى تُؤْمِنُوْا، وَلاَ تُؤْمِنُوْا حَتَّى تَحَابُّوْا، أَوَلاَ أَدُلُّكُمْ عَلَى شَيْءٍ إِذَا فَعَلْتُمُوْهُ تَحَابَبْتُمْ، أَفْشُوْا السَّلاَمَ بَيْنَكُمْ
“พวก เจ้าจะไม่สามารถเข้าสวรรค์จนกว่าพวกเจ้าจะศรัทธามั่น และพวกเจ้าจะยังไม่ศรัทธาเป็นผู้ศรัทธา (ที่แท้จริง) จนกว่าพวกเจ้าจะรักใคร่ซึ่งกันและกัน พวกเจ้าจะให้ฉันแนะนำบางอย่างไหม เมื่อพวกเจ้ากระทำมัน พวกเจ้าก็จะรักใคร่กัน นั่นคือพวกเจ้าจงโปรยสลามในหมู่พวกเจ้า” (มุสลิม : 54)
ทำไมต้องมอบกุหลาบแดงในวันวาเลนไทน์?
หนุ่มสาวบางคนเข้าใจแต่เพียงว่าดอกกุหลาบสีแดงสดเป็นราชินีแห่งดอกไม้นี้เป็นสื่อ ที่แสดงถึงความสุข ความมีไมตรีจิต ความน่ารักความสวยงาม และเป็นเสมือนตัวแทนแห่งความรัก แต่เขาหารู้ไม่ว่าดอกกุหลาบแดงสดนั้นที่นำมาเป็นตัวแทนที่สื่อถึงความรักใน วันวาเลนไทน์นั้น เกิดจากตำนานความเชื่อของชาวคริสต์ที่เชื่อกันว่า ในสมัยที่พระเยซูถูกตรึงไม้กางเขนอยู่นั้น พระโลหิตได้ไหลหยดลงบนต้นหญ้ามอสส์ และได้บังเกิดเป็นต้นกุหลาบที่มีดอกสีแดงสด จึงมีการเรียกขานกุหลาบชนิดนี้ว่า "กุหลาบมอสส์" อันเป็นตัวแทนแห่งความรักที่มีต่อชาวโลก
เช่นเดียวกับความเชื่อของชาวกรีกที่เชื่อว่าตั้งแต่สมัยกรีก ตำนานเล่าว่า "คลอรีส" เทพธิดาแห่งดอกไม้ ได้บันดาลให้ร่างของนางไม้กลายเป็นกุหลาบ และยกให้เป็นราชินีของดอกไม้ จากนั้นต่อมาก็มีการมอบดอกกุหลาบแก่ "อีรอส" ลูกชาย ซึ่งเป็นเทพแห่งความรัก ความเชื่อต่างๆเหล่านี้ย่อมขัดต่อหลักการศรัทธาที่บริสุทธิ์ของอิสลาม
- จุดยืนของมุสลิมต่อเทศกาลวาเลนไทน์
จากที่กล่าวมาข้างต้น ถึงที่มาของเทศกาลวาเลนไทน์ เป้าหมายของการจัดงาน และจุดยืนของอิสลามต่อเทศกาลดังกล่าว เราจึงพอจะสรุปถึงจุดยืนของมุสลิมต่อเทศกาลดังกล่าวดังนี้
1- ต้องไม่ร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ เพราะเป็นวันสำคัญทางศาสนาของอื่นจากอิสลาม หรือเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในงานเฉลิมฉลองดังกล่าว ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าอิสลามห้ามมีส่วนร่วมในงานเทศกาลทางศาสนาของผู้ ปฏิเสธศรัทธา
อิมาม อัซ-ซะฮะบีย์ กล่าวว่า “ใน เมื่อชาวคริสต์มีเทศกาลเฉลิมฉลองเฉพาะสำหรับพวกเขา และชาวยิวก็มีเทศกาลเฉลิมฉลองเฉพาะสำหรับพวกเขา ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้มุสลิมเข้าไปมีส่วนร่วมในงานเฉลิมฉลองดังกล่าว เช่นเดียวกับที่ไม่อนุญาตให้มุสลิมเข้าไปมีส่วนร่วมในหลักการศาสนาของพวกเขา และการอิบาดะฮฺหรือร่วมกิบลัตของพวกเขา” (ตะชับบุฮฺ อัล-เคาะสีส บิอะฮฺลิ อัล-เคาะมีส ดู นิตยสาร อัล-หิกมะฮฺ 4/193)
2- ต้องไม่ให้ความช่วยเหลือชนต่างศาสนิกในการจัดงานเฉลิมฉลองทางศาสนาของพวกเขา ไม่ว่าจะด้วยการจัดทำและส่งมอบของขวัญ ช่วยจัดพิมพ์การ์ด หรือค้าขายอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพราะเทศกาลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ทางศาสนาของพวกเขา ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือใดๆ ต่อสิ่งดังกล่าวจึงเท่ากับว่าเป็นการยอมรับและช่วยเหลือในการเผยแพร่สิ่ง ปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้น ในขณะที่อิสลามห้ามมิให้มุสลิมเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการทางศาสนาของชนต่าง ศาสนิกอย่างเด็ดขาด
อิบนุ ตัยมิยะฮฺ กล่าวความว่า “ไม่ อนุญาตให้มุสลิมเข้าไปมีส่วนพัวพันในทุกรูปแบบที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาล ต่างๆของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การแต่งกาย การอาบน้ำ การจุดไฟฯลฯ และไม่อนุญาตให้จัดงานเลี้ยง มอบของขวัญ หรือขายสิ่งต่างๆที่เป็นการส่งเสริมและช่วยเหลือเพื่อการดังกล่าว...” (มัจมูอฺ อัล-ฟะตาวา 25/329)
อิบนุ อัต-ตุรกุมานีย์ กล่าวว่า “เป็น การบาปสำหรับมุสลิมที่จะร่วมสมาคมกับพวกเขา และให้ความช่วยเหลือพวกเขาด้วยการเชือดสัตว์ ต้มอาหาร และให้ยืมยานพาหนะสำหรับขับขี่ไปยังเทศกาลและงานเฉลิมฉลองของพวกเขา” (อัล-ลุมะอฺ ฟี อัล-หะวาดิษ วะ อัล-บิดะอฺ 2/519-520)
3- ต้องไม่ให้ความช่วยเหลือต่อชาวมุสลิมที่ร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสดังกล่าว และจำเป็นต้องตักเตือนและห้ามปรามพวกเขา เพราะการร่วมเฉลิมฉลองในงานเทศกาลของชนต่างศาสนิกเป็นสิ่งที่มุงกัรและจำ เป็นต้องห้ามปราม (ดูคำอธิบายของอิบนุ ตัยมิยะฮฺ ในอิกติฎออ์ อัส-ศิรอฏ อัล-มุสตะกีม 2/519-520)
4- ไม่อนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนของขวัญ และส่งการ์ดแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสเทศกาลวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก เพราะมันไม่ใช่เทศกาลของมุสลิม
อิบนุล ก็อยยิม กล่าวว่า “การแสดงความยินดีด้วยสัญลักษณ์ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้ปฏิเสธศรัทธาเป็นสิ่งที่ต้องห้าม(หะรอม)อย่างเป็นเอกฉันท์ เช่นการแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสเทศกาลสำคัญ และการถือศีลอดของพวกเขา ด้วยการกล่าวว่า “ขอให้มีความสุขกับเทศกาลที่ประเสริฐ หรือขอแสดงความยินดีกับเทศกาลนี้ เป็นต้น ถึงแม้ว่าคำพูดเหล่านี้ไม่ (อันตรายถึงขั้น) กลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา แต่เป็นส่วนหนึ่งของคำพูดที่ต้องห้าม(บาป)... ดังนั้นผู้ใดแสดงความยินดีกับสิ่งที่ฝ่าฝืน หรืออุตริ หรือปฏิเสธศรัทธา ก็เท่ากับว่าเขาได้นำพาตัวเองสู่ความโกรธกริ้วและการประณามของอัลลอฮฺ” (อะหฺกาม อะฮฺลิ อัซ-ซิมมะฮฺ 1/441-442)
5- ต้องชี้แจงให้พี่น้องชาวมุสลิมที่หลงผิดให้เข้าใจถึงข้อเท็จจริงของเทศกาลวาเลน ไทน์นี้ และความจำเป็นที่มุสลิมต้องมีจุดยืนด้านศาสนาที่แตกต่างจากชนต่างศาสนิก ทั้งในด้านหลักการศรัทธา การแต่งกาย และเอกลักษณ์เฉพาะทางศาสนา ฯลฯ และต้องชี้แจงถึงอันตรายจากการลอกเลียนแบบชนต่างศาสนิกในด้านสัญลักษณ์ทาง ศาสนาของพวกเขา ทั้งในรูปของการจัดงานเทศกาลต่างๆ หรือรูปแบบของเคารพภักดี และวิถีการดำเนินชีวิต เป็นต้น
หวัง ว่าที่กล่าวมาข้างต้น คงพอจะปลุกจิตสำนึกให้พี่น้องมุสลิมได้ตระหนักว่า แท้ที่จริงแล้ว เทศกาลวาเลนไทน์นั้นถูกอุบัติขึ้นสำหรับใคร และได้ประจักษ์ถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่แห่งอิสลาม และความจำเป็นที่จะต้องยืนหยัดอยู่บนจุดยืนที่เป็นเอกเทศ มั่นคง และห่างไกลจากอบายมุขและสิ่งยั่วยุต่างๆ ที่ค้านกับหลักคำสอนอันบริสุทธิ์ของอิสลามและสร้างความอ่อนแอต่ออีมานและการ ภักดีของเราต่ออัลลอฮฺ.
فَسَتَذْكُرُوْنَ مَا أَقُوْلُ لَكُمْ، وَأُفَوِّضُ أَمْرِي إِلَى اللهِ، إِنَّ اللهَ بَصِيْرٌ بِالْعِبَادِ