×
อธิบายสุนนะฮฺของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม ที่สนับสนุนให้ถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาล หลังจากการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ทั้งนี้จะได้รับผลบุญเท่าักับการถือศีลอดถึงหนึ่งปี

    การถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาล

    [ ไทย ]

    صيام ستة أيام من شوال

    [ باللغة التايلاندية ]

    ซุฟอัม อุษมาน

    صافي عثمان

    ตรวจทาน: ซุฟอัม อุษมาน

    مراجعة: صافي عثمان

    สำนักงานความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด

    المكتب التعاوني للدعوة وتوعية الجاليات بالربوة بمدينة الرياض

    1428 – 2007

    “การถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาล”

    «من صام رمضان، ثم أتبعه ستاً من شوال كان كصيام الدهر» مسلم 1164

    ารปฏิบัติอิบาดะฮฺที่นอกเหนือจากศาสนกิจที่วาญิบ โดยความสมัครใจของผู้ปฏิบัติ เป็นการเสริมหนุนให้อามัลของบ่าวผู้หนึ่งสมบูรณ์ขึ้นและเป็นเหตุให้อัลลอฮฺรักบ่าวผู้นั้น เช่นที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวถึงดำรัสของอัลลอฮฺในหะดีษกุดซีย์บทหนึ่งซึ่งมีความว่า “บ่าวของฉันหมั่นเข้าใกล้ชิดฉันด้วยการปฏิบัติสิ่งสุนัต จนกระทั่งฉันได้รักเขา” (รายงานโดยอัล-บุคอรี 6137) ดังนั้น จึงควรที่มุสลิมต้องเอาใจใส่และหมั่นปฏิบัติอามัลต่างๆ ตามแนวทาง(ซุนนะฮฺ)ของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เพื่อยกระดับตัวเองให้เป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺและเป็นที่รักของพระองค์

    การถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาลเป็นศาสนกิจตามซุนนะฮฺของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ประการหนึ่ง ไม่ใช่ศาสนกิจภาคบังคับ ทว่าเป็นสิ่งที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ส่งเสริมให้ประชาชาติของท่านปฏิบัติ ดังหะดีษที่เล่าโดยอบู อัยยูบ อัล-อันศอรีย์ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ จากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า “ผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน แล้วเขาได้ถือศีลอดต่ออีกหกวันในเดือนเชาวาล นั่นเสมือนกับว่าเขาได้ถือศีลอดถึงหนึ่งปี” (รายงานโดยมุสลิม 1164)

    เหล่าอุละมาอ์ได้ให้เหตุผลว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการทำความดีจะถูกคูณด้วยสิบ การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนหนึ่งเดือนจะเท่ากับสิบเดือน การถือศีลอดอีกหกวันในเดือนเชาวาลจะเท่ากับหกสิบวันหรือสองเดือนที่เหลือ ดังนั้นก็จะเป็นการถือศีลอดครบหนึ่งปีอย่างสมบูรณ์ (ดู บทอธิบายของอิมาม อัน-นะวะวีย์ ต่อเศาะฮีหฺมุสลิม 8:56)

    นอกจากนี้การถือศีลอดในเดือนเชาวาลยังเป็นการช่วยซ่อมแซมความบกพร่องที่เกิดขึ้นระหว่างการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนอีกด้วย (อัล-มุนัจญิด. มุหัมมัด บิน ศอลิหฺ, www.islam-qa.com)

    การถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาลสามารถปฏิบัติได้อย่างเปิดกว้าง เช่น

    · ถือศีลอดทันทีหลังวันอีด โดยถือศีลอดติดต่อกันหกวันโดยไม่แยก

    · ถือศีลอดหกวันติดต่อกัน แต่ไม่ถือศีลอดทันทีหลังวันอีด

    · ถือศีลอดหกวันโดยแยกวัน อาจจะเริ่มทันทีหลังวันอีดหรือไม่ก็ได้ และไม่กำหนดวันว่าจะต้องห่างกันครั้งละกี่วัน ฯลฯ

    ท่านอิมาม อัน-นะวะวีย์ได้กล่าวว่า “เหล่าสหายของเราเห็นว่า ทางที่ดีที่สุดคือให้ถือศีลอดติดต่อกันหกวันโดยเริ่มทันทีหลังวันอีด แต่หากแยกวันหรือไม่ถือศีลอดทันทีในช่วงต้นเดือนก็ยังได้ผลบุญเช่นเดียวกัน เพราะได้บรรลุตามความหมายในหะดีษที่ว่าให้ถือศีลอลหกวันในเดือนเชาวาล(หลังจากเราะมะฎอน) (อ้างแล้ว)

    สำหรับผู้ที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนยังไม่ครบและมีภาระต้องถือศีลอดชด ให้เขาถือศีลอดชดของเดือนเราะมะฎอนในเสร็จสิ้นเสียก่อน แม้นว่าเขาต้องใช้เวลาในเดือนเชาวาลทั้งเดือนก็ตาม ทั้งนี้เพราะการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนเป็นวาญิบ และหากเขาตายไป เขาก็จะถูกสอบถามในเรื่องที่เป็นวาญิบนี้ ว่าได้ชดแล้วหรือยัง ... อีกประการหนึ่งก็คือ ผลบุญของการถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาลก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาได้ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนครบสมบูรณ์แล้วหรือไม่ (อัล-อะมีน อัล-หาจญ์ มุหัมมัด, www.islamAdvice.com)

    การถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาลเป็นอีกซุนนะฮฺหนึ่งของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่มุสลิมทุกคนไม่ควรเพิกเฉยหรือละเลย เพราะเป็นซุนนะฮฺที่สามารถปฏิบัติได้ง่ายและมีผลบุญที่สูงยิ่ง ... ขออัลลอฮฺประทานเตาฟีก.