×
การยืนยันการเข้าเดือนด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยวหรือการนับจำนวนวัน จำนวนพยานที่เห็น และการเป็นพยานของสตรีในการเห็นจันทร์เสี้ยว ถาม การเข้าเดือนเราะมะฎอนนั้นยืนยันด้วยวิธีใด และจะยืนยันการเห็นจันทร์เสี้ยวได้อย่างไร ? ตอบคำถามโดย เชค อับดุลอะซีซ บิน บาซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ

    การยืนยันการเข้าเดือนด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยวหรือการนับจำนวนวัน จำนวนพยานที่เห็น และการเป็นพยานของสตรีในการเห็นจันทร์เสี้ยว

    ﴿ثبوت الشهر برؤية الهلال أو إكمال العدة والعدد المطلوب في الشهود وحكم شهادة المرأة﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    เชค อับดุลอะซีซ บิน บาซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ

    แปลโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : เว็บไซต์เชคบินบาซ

    2010 - 1431

    ﴿ثبوت الشهر برؤية الهلال أو إكمال العدة والعدد المطلوب في الشهود وحكم شهادة المرأة﴾

    « باللغة التايلاندية »

    سماحة الشيخ عبدالعزيز بن باز رحمه الله

    ترجمة: صافي عثمان

    المصدر: الموقع الرسمي للشيخ ابن باز

    2010 - 1431

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    การยืนยันการเข้าเดือนด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยวหรือการนับจำนวนวัน จำนวนพยานที่เห็น และการเป็นพยานของสตรีในการเห็นจันทร์เสี้ยว

    ถาม การเข้าเดือนเราะมะฎอนนั้นยืนยันด้วยวิธีใด และจะยืนยันการเห็นจันทร์เสี้ยวได้อย่างไร ?

    ตอบ ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานียิ่ง มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺ และขอพระองค์ทรงประทานพรและความสันติแด่ศาสนทูตของพระองค์ รวมถึงครอบครัว
    เศาะหาบะฮฺ และบรรดาคนที่ปฏิบัติตามแนวทางของท่าน

    การยืนยันการเข้าเดือนเราะมะฎอนนั้นใช้เกณฑ์การเห็นจันทร์เสี้ยว ซึ่งเป็นทัศนะเห็นพ้องของ
    อุละมาอ์ทั้งหมด เพราะหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า

    «صوموا لرؤيته، وأفطروا لرؤيته، فإن غم عليكم فأكملوا العدة ثلاثين»

    ความว่า “จงถือศีลอดด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยว และจงออกอีดด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยว แต่ถ้าหากมันไม่ปรากฏให้เห็นแก่พวกท่าน ก็จงนับจำนวนเดือนให้ครบสามสิบวัน" (บันทึกโดยมุสลิม ในภาคการถือศีลอด บรรพว่าด้วยวาญิบต้องถือศีลอดเราะมะฎอนด้วยการเห็นเดือน และการออกอีดด้วยการเห็นเดือน หมายเลข 1081 และอัน-นะสาอีย์ ในภาคการถือศีลอด บรรพว่าด้วยการขัดแย้งต่อ อุมัรฺ บิน ดีนาร์ หมายเลข 2124 สำนวนนี้เป็นของท่าน)

    ในสำนวนอื่นมีว่า

    «صوموا لرؤيته، وأفطروا لرؤيته، فإن غم عليكم فصوموا ثلاثين»

    ความว่า “จงถือศีลอดด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยว และจงออกอีดด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยว แต่ถ้าหากมันไม่ปรากฏให้เห็นแก่พวกท่าน ก็จงถือศีลอดให้ครบสามสิบวัน" (บันทึกโดย อิบนุ หิบบาน ในเศาะฮีหฺของท่าน บรรพว่าด้วยการอธิบายว่าจันทร์เสี้ยวของเชาวาลถ้าไม่ปรากฏให้เห็น จำเป็นต้องถือศีลอด
    เราะมะฎอนสามสิบวัน)

    และในสำนวนอื่นมีว่า

    «فأكملوا عدة شعبان ثلاثين يوماً»

    ความว่า “ก็จงนับจำนวนเดือนชะอฺบานให้ครบสามสิบวัน" (บันทึกโดย อัล-
    บุคอรีย์ ในภาคการถือศีลอด บรรพว่าด้วยวจนะของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า “เมื่อพวกท่านเห็นเดือนก็จงถือศีลอด" หมายเลข 1909)

    ความหมายที่ต้องการก็คือ ให้ถือศีลอดด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยวและให้ออกจากการถือศีลอดด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยวเช่นกัน และถ้าหากไม่เห็นจันทร์เสี้ยวก็ให้นับวันของเดือนชะอฺบานให้ครบสามสิบวันแล้วจึงเริ่มถือศีลอด และกรณีเดียวกันกับเดือนเราะมะฎอน คือถ้าไม่เห็นจันทร์เสี้ยวก็จำเป็นต้องถือศีลอดให้ครบสามสิบวันแล้วจึงออกอีด แต่ถ้าเห็นจันทร์เสี้ยวก็ไม่มีปัญหา อัลหัมดุลิลลาฮฺ

    ดังนั้น ที่วาญิบก็คือชาวมุสลิมจะต้องถือศีลอดด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยวของเดือนเราะมะฎอนในคืนที่สามสิบชะอฺบาน ซึ่งแปลว่าเดือนชะอฺบานไม่ครบสามสิบวัน และพวกเขาก็เริ่มถือศีลอดได้เลย เช่นเดียวกันนั้น ถ้าหากพวกเขาเห็นจันทร์เสี้ยวในคืนที่สามสิบเราะมะฎอน ก็ให้พวกเขาออกจากการถือศีลอดได้เลย หมายถึงพวกเขาได้ถือศีลอดแค่ยี่สิบเก้าวัน แต่ถ้าหากว่าไม่เห็นจันทร์เสี้ยว ก็ต้องนับวันในเดือนชะอฺบานให้ครบสามสิบวัน(กรณีจันทร์เสี้ยวเริ่มเราะมะฎอน) และต้องถือศีลอดให้ครบสามสิบวัน(ในกรณีจันทร์เสี้ยวสำหรับการออกอีด) ตามหะดีษที่ว่า

    «صوموا لرؤيته، وأفطروا لرؤيته، فإن غم عليكم فأكملوا العدة ثلاثين»

    ความว่า “จงถือศีลอดด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยว และจงออกจากการถือศีลอดด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยว แต่ถ้าหากมันไม่ปรากฏให้เห็นแก่พวกท่าน ก็จงนับจำนวนเดือนให้ครบสามสิบวัน"

    ซึ่งหะดีษนี้หมายรวมหมดทั้งชะอฺบานและเราะมะฎอน และในสำนวนอื่นก็มีว่า

    «فإن غم عليكم فصوموا ثلاثين»

    ความว่า “ถ้าหากมันไม่ปรากฏให้เห็นแก่พวกท่าน ก็จงถือศีลอดให้ครบสามสิบวัน"

    การเห็นจันทร์เสี้ยวนั้นสามารถยืนยันได้ด้วยคนเห็นเพียงแค่หนึ่งคน ในการกำหนดว่าเข้าเดือน
    เราะมะฎอนแล้วหรือไม่ ซึ่งต้องเป็นคนที่ดีมีความยุติธรรม ตามความเห็นของอุละมาอ์ส่วนใหญ่ เพราะมีรายงานจากอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า “คนทั้งหลายได้พยายามดูจันทร์เสี้ยวกัน และฉันก็ได้บอกกับท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าฉันเห็นจันทร์เสี้ยว ท่านก็เลยถือศีลอดและสั่งให้ผู้คนถือศีลอดด้วย" (บันทึกโดย อบู ดาวูด ในภาคการถือศีลอด บรรพว่าด้วย พยานหนึ่งคนในการเห็นจันทร์เสี้ยวเราะมะฎอน หมายเลข 2342)

    และด้วยหลักฐานจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า มีชาวเบดูอินคนหนึ่งมาบอกกับท่านว่าเขาได้เห็นจันทร์เสี้ยว ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็เลยถามเขาว่า “เจ้าปฏิญาณหรือไม่ว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และแท้จริงฉันเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ?" ชายผู้นั้นตอบว่า ใช่ ข้าปฏิญาณตามนั้น ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงสั่งให้มีการถือศีลอดตามนั้น (บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ ในภาคการถือศีลอด บรรพว่าด้วยการถือศีลอดด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยว หมายเลข 691)

    ดังนั้น จันทร์เสี้ยวสำหรับการเริ่มเดือนเราะมะฎอนนั้น ถ้ามีคนซึ่งเชื่อใจได้เห็นแค่คนเดียวก็ต้องถือศีลอดตามนั้น

    ส่วนการเห็นจันทร์เสี้ยวสำหรับกำหนดวันอีดนั้น จำเป็นต้องมีคนเห็นซึ่งเชื่อใจได้จำนวนสองคนขึ้นไปเท่านั้น เหมือนกับเดือนอื่นๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีคนเห็นสองคนขึ้นไปเช่นเดียวกัน เพราะมีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า

    «فإن شهد شاهدان فصوموا وأفطروا»

    ความว่า “ถ้าหากว่ามีคนเห็นสองคน ก็จงถือศีลอดและจงออกอีด" (บันทึกโดย อะห์มัด ในมุสนัด อัล-กูฟียีน หมายเลข 18416 และอัน-นะสาอีย์ ในภาคการถือศีลอด บรรพว่าด้วยการเห็นของชายหนึ่งสำหรับการเข้าเดือนเราะมะฎอน หมายเลข 2116)

    และมีรายงานจาก อัล-หาริษ บิน หาฏิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า “ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สั่งเราว่าให้ออกอีกด้วยการเห็นเดือน ถ้าเราไม่เห็นเองแต่กลับมีคนสองคนที่เชื่อใจได้เห็นมันแล้ว ก็ให้เราถือปฏิบัติด้วยการออกอีกตามที่พวกเขาทั้งสองเห็น" (บันทึกโดย อบู ดาวูด ในภาคการถือศีลอด บรรพว่าด้วยการเห็นของชายสองคนสำหรับจันทร์เสี้ยวเดือนเชาวาล หมายเลข 2338)

    ความหมายที่ต้องการก็คือ จำเป็นต้องมีคนที่ไว้ใจได้อย่างน้อยสองคนขึ้นไปเห็นจันทร์เสี้ยว สำหรับการกำหนดการออกอีดและการกำหนดเดือนอื่นๆ ส่วนการเริ่มถือศีลอดเราะมะฎอนนั้นให้ใช้แค่คนเห็นเพียงแค่หนึ่งคนเท่านั้น ตามหะดีษทั้งสองที่ระบุข้างต้น

    ส่วนการเห็นของสตรีนั้น อุละมาอ์มีความเห็นขัดแย้งกันเป็นสองทัศนะ บางกลุ่มก็เห็นว่าการเห็นของสตรีนั้นรับได้ เหมือนกับการที่เรายอมรับการรายงานหะดีษของนางถ้าหากว่านางเป็นผู้ที่เชื่อถือได้ แต่บางกลุ่มก็ไม่ยอมรับ และความเห็นที่มีน้ำหนักมากที่สุดในประเด็นนี้ก็คือ ความเห็นที่ว่าไม่ยอมรับการเห็นของสตรี เพราะส่วนนี้เป็นหน้าที่ของผู้ชาย เป็นภาระเฉพาะของผู้ชาย และให้ผู้ชายเป็นคนที่ดำเนินการดูเดือน และเนื่องจากว่าพวกเขารู้ดีกว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้

    จาก รวมฟัตวาเชคบินบาซ เล่มที่ 15

    ที่มา http://www.binbaz.org.sa/mat/398