ลัยละตุล ก็อดรฺ
หมวดหมู่
แหล่งอ้างอิง
Full Description
ลัยละตุล ก็อดรฺ
ليلة القدر
ดร.อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา
الدكتور إسماعيل لطفي فطاني
แปลโดย: อับดุลกะรีม ยูสุฟ
ترجمة: عبدالكريم يوسف
ตรวจทาน: ซุฟอัม อุษมาน
مراجعة: صافي عثمان
بسم الله الرحمن الرحيم
บทความว่าด้วยคืน ลัยละตุล ก็อดรฺ อธิบายความหมาย ความประเสริฐ ทัศนะต่างๆ เกี่ยวกับการเกิดขึ้น การสนับสนุนให้ประกอบอิบาดะฮฺในคืนนี้ และบทดุอาอ์ เป็นต้น
ความหมายและความประเสริฐของลัยละตุล ก็อดรฺ
ลัยละตุล ก็อดรฺเป็นค่ำคืนหนึ่งของเดือนเราะมะฎอน อัล-มุบาร๊อก ที่อัลลอฮฺได้ให้ชื่อว่า "ลัยละตุล ก็อดรฺ" เนื่องจากในค่ำคืนนั้นมีเกียรติและความประเสริฐต่าง ๆ ดังนี้
- เป็นค่ำคืนอัลกุรอานถูกประทานลงมา
- เป็นค่ำคืนที่ญิบรีลและบรรดามลาอิกะฮฺลงมา(ยังโลกดุนยา)
- เป็นค่ำคืนที่ความบะเราะกะฮฺ/ความปลอดภัยและการอภัยโทษถูกประทานลงมา
อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
«لَيْلَةُ الْقَدْرِ خَيْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍ»
มีใจความว่า "(การประกอบอิบาดะฮฺในค่ำคืน)ลัยละตุล ก็อดรฺดีกว่า(การประกอบ อิบาดะฮฺ)หนึ่งพันเดือน(ในค่ำคืนอื่นจากลัยละตุล ก็อดรฺ)" (อัล-ก็อดรฺ อายะฮฺที่ 3)
ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวมีใจความว่า
"และผู้ใดที่ดำรงไว้(อิบาดะฮฺ) ในลัยละตุล ก็อดรฺด้วยความศรัทธาต่ออัลลอฮฺและหวังในความโปรดปรานและผลตอบแทนจากพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น แท้จริงเขาจะได้รับการอภัยโทษจากบาปทั้งหลายที่ผ่านมา" (อัล-บุคอรีย์ 2:253 และมุสลิม 1:524 เลขที่ 760)
จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ แท้จริงท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวถึงเกี่ยวกับลัยละตุล ก็อดรฺว่า
"แท้จริงมันเป็นคืนที่ยี่สิบเจ็ด หรือยี่สิบเก้า(ของเราะมะฎอน) แท้จริงแล้วบรรดามลาอิกะฮฺในค่ำคืนนั้น (ลงมายัง) พื้นโลกมากกว่าจำนวนเม็ดทราย" (หะดีษอิมามอะห์มัด, อัล-บัซซาร, และอัต-เฏาะบะรอนีย์ ในอัล-เอาสัฏ ผู้รายงานเป็น ษิเกาะฮฺ ดู มัจญ์มูอฺ อัซ-ซะวาอิด 3:176)
ท่านอิมาม อัน-นะวะวีย์กล่าวว่า "ลัยละตุล ก็อดรฺเป็นค่ำคืนที่ประเสริฐที่สุดในรอบปี ผู้ใดที่ประกอบอิบาดะฮฺ (กิยามุลลัยล์) ในลัยละตุล ก็อดรฺ แม้ว่าเขาจะไม่ได้รับเตาฟีกในการมองเห็นสัญญาลักษณ์ของลัยละตุล ก็อดรฺก็ตาม แท้จริงแล้วเขาจะได้รับผลตอบแทนด้วยผลตอบแทนดังกล่าว"
ลัยละตุล ก็อดรฺ เกิดขึ้นเมื่อไร
เนื่องจากลัยละตุล ก็อดรฺ เป็นค่ำคืนที่ถูกซ่อนไว้เป็นความลับโดยอัลลอฮฺ เนื่องจากหลักฐานไม่มีการกล่าวอ้างอย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้นเมื่อไร ดังนั้นนักวิชาการจึงมีทัศนะที่แตกต่างกันมากกว่าสี่สิบทัศนะ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ :
1. ลัยละตุล ก็อดรฺ เป็นค่ำคืนแรกของเดือนเราะมะฎอน (รายงานโดยอะนัส)
2. ลัยละตุล ก็อดรฺ ค่ำคืนที่เจ็ดของเดือนเราะมะฎอน (รายงานโดยอลีย์และซัยด์ บิน ศาบิต)
3. ลัยละตุล ก็อดรฺ ค่ำคืนที่สิบเจ็ดของเดือนเราะมะฎอน (รายงานโดยซัยด์ บิน อัรกอม และอิบนุมัสอูด)
4. ลัยละตุล ก็อดรฺเป็นค่ำคืนที่ยี่สิบเจ็ดของเดือนเราะมะฎอน (รายงานโดยอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ บันทึกโดยมุสลิม 1167 และสนับสนุนโดยอิหม่ามอัช-ชาฟีอีย์ และคณะ)
5. ลัยละตุล ก็อดรฺ เป็นค่ำคืนที่ยี่สิบสามของเดือนเราะมะฎอน (รายงานโดยอับดุลลอฮฺ บิน อุนัยส์ ออกโดยมุสลิมหมายเลข 1168 และ รายงานโดยมุอาวิยะฮฺ ออกโดยอิบนุ อบีชัยบะฮฺ)
6. ค่ำคืนที่ยี่สิบห้าของเราะมะฎอน (รายงานโดยอิบนุ อับบาส, อบู สะอีด, อิบนุ มัสอูด, อัล-ฮะซัน และเกาะตาดะฮฺ)
7. ค่ำคืนที่ยี่สิบห้าของเราะมะฎอน (รายงานโดยอบู บักเราะฮฺ)
8. ค่ำคืนที่ยี่สิบเจ็ดของเราะมะฎอน (รายงานโดยอบู ฮุร็อยเราะฮฺ และอุบัยย์ บิน กะอับ ออกโดยมุสลิมหมายเลข 762 สนับสนุนโดยอิมามอะห์มัดและเป็นรายงานหนึ่ง โดยอบู หะนีฟะฮฺ)
9. ค่ำคืนที่ยี่สิบเก้าของเราะมะฎอน (รายงานโดยอบู ฮุร็อยเราะฮฺ บันทึกโดยอิบนุ คุซัยมะฮฺ หมายเลข 2194 จัดว่าเป็นหะดีษหะซัน)
10. ค่ำคืนสุดท้ายของเราะมะฎอน (รายงานโดยมุอาวิยะฮฺที่บันทึกโดยอิบนุ คุซัยมะฮฺหมายเลข 2189 จัดว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)
11. ค่ำคืนวิติร(เลขคี่) ในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน (รายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ บันทึกโดยมุสลิมหมายเลขที่ 1169 และสนับสนุนจากอบู เษาร์, อัล-มุซะนีย์, อิบนุ คุซัยมะฮฺและท่านอื่น ๆ )
ท่านอิบนุ หะญัร อัล-อัสเกาะลานีย์ กล่าวว่า ทัศนะที่แข็งที่สุดคือทัศนะสุดท้ายนั่นคือลัยละตุล ก็อดรฺเป็นคืนวิติร(คืนคี่)จากสิบคืนสุดท้ายของเราะมะฎอน ตามทัศนะของชาฟิอีย์คือค่ำที่ยี่สิบเอ็ดหรือคืนที่ยี่สิบสาม ส่วนทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่คือ คืนที่ยี่สิบเจ็ด เนื่องจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวไว้ดังใจความว่า "ดังนั้นจงพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งลัยละตุล ก็อดรฺในระหว่างสิบคืนสุดท้ายของเราะมะฎอนเถิด และจงพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่ง(ค่ำอัล-เกาะดัร)ในทุกค่ำคืนวิติร(คี่)"
การที่ไม่ระบุชัดว่าลัยละตุล ก็อดรฺ อยู่ในค่ำคืนไหนนั้น คงจะเป็นวิทยปัญญาเพื่อมิให้มวลมนุษย์ละเลยจากการประกอบอิบาดะฮฺในค่ำคืนอื่น ๆ ของเดือนเราะมะฎอนอันเป็นค่ำคืนที่เปี่ยมล้นไปด้วยความประเสริฐ ด้วยเหตุนี้ ครั้งหนึ่งขณะที่อับดุลเลาะ บิน อุนัยส์ ได้ถามท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เกี่ยวกับคืนที่ชัดเจนของลัยละตุล ก็อดรฺ ท่านรอซูลจึงตอบว่า ความว่า "หากมิใช่เพราะฉันเป็นห่วงว่ามนุษย์จะละเลยการละหมาดในค่ำคืนเดือนเราะมะฎอน ยกเว้นในคืนนั้นคืนเดียวเท่านั้น แน่แท้ฉันจะบอกลัยละตุล ก็อดรฺแก่ท่าน"
ความพยายามอย่างจริงจังเพื่อให้ได้มาซึ่งลัยละตุล ก็อดรฺ
จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม มักจะทำอิอฺติกาฟในสิบวันสุดท้ายของเราะมะฎอนอยู่เสมอ และท่านกล่าวว่า "จงพยายามอย่างจริงจังเพื่อให้ได้มาซึ่งลัยละตุล ก็อดรฺในค่ำคืนสุดท้ายของเราะมะฎอน"
สัญลักษณ์ของลัยละตุล ก็อดรฺ
สัญลักษณ์ของลัยละตุล ก็อดรฺ มีมากมายส่วนหนึ่งได้แก่
1. ลักษณะของค่ำคืน ลัยละตุล ก็อดรฺ มีบรรยากาศที่สดใสบริสุทธิ์ เสมือนว่าในค่ำคืนนั้นมีแสงจันทร์ส่องแสง (แสงจากดวงดาวระยิบระยับสะอาดสดใส…) เป็นคืนที่เงียบสงบบรรยากาศไม่ร้อนและไม่หนาว (รายงานโดยอิบนุ อับบาส ในเศาะฮีหฺ อิบนิ คุซัยมะฮฺ 3:332 อุบาดะฮฺ บิน อัศ-ศอมิต และ ญาบิร บิน สะมุเราะฮฺ ออกโดยอะห์มัด : มัจญ์มูอฺ อัซ-ซะวาอิด 3:175)
2. ลักษณะของคืน ลัยละตุล ก็อดรฺ จะมีฝนตกและลมพัด (รายงานโดยญาบิร บิน สะมุเราะฮฺ ออกโดยอะห์มัด มัจญ์มูอฺ อัซ-ซะวาอิด 3:175)
3. ต้นไม้ในคืน ลัยละตุล ก็อดรฺ จะโน้มลงสู่พื้นดิน และคืนสู่สภาพเดิม ทุกสิ่งก็จะก้มกราบ (อัฏ-เฏาะบะรีย์ ดู ฟัตหุลบารีย์ 4:260)
4. แสงอาทิตย์ตอนเช้าของคืนนั้นจะไม่เจิดจ้า(ครึ้ม) เสมือนกับดวงจันทร์ในค่ำแรก (ลักษณะจะมีสีแดงอ่อน)
หะดีษต่าง ๆ มีดังนี้
หะดีษ ซิรร์ บิน หุบัยช์ ท่านกล่าวว่า ฉันได้ถามอุบัยย์ บิน กะอับ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า แท้จริงพี่น้องของท่านคือ อิบนุ มัสอูด กล่าวว่า ผู้ใดที่กิยามุลลัยล์เป็นเวลาครบหนึ่งปี แน่นอนเขาจะพบกับลัยละตุล ก็อดรฺ อุบัยย์จึงตอบว่า ขออัลลอฮฺทรงให้ความโปรดปรานแก่เขา(อิบนุ มัสอูด)เถิด เขาไม่ต้องการให้มนุษย์นั้นเพลิดเพลินและหวังพึ่งจนละทิ้งการปฏิบัติอะมัลนั่นเอง แท้จริงแล้วเขาเองก็ทราบว่าลัยละตุล ก็อดรฺ นั้นเกิดขึ้นในเดือนเราะมะฎอน(เท่านั้น) แน่แท้ มันจะอยู่ในสิบคืนสุดท้าย และแท้จริง (คืนนั้น) อยู่ในคืนที่ยี่สิบเจ็ด จากนั้นอุบัยย์ก็กล่าวปฎิญาณว่า ไม่เป็นการยกเว้นอีก แท้จริงแล้ว คืนลัยละตุล ก็อดรฺเป็นคืนที่ยี่สิบเจ็ดเท่านั้น ฉันถามต่อไปว่า ท่านมั่นใจอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้นโอ้ อบุล-มุนซิร? ท่านตอบว่า ด้วยสัญลักษณ์ที่ท่านรอซูลได้เล่าให้เราทราบนั่นคือ … แท้จริงดวงอาทิตย์ขึ้นมาในเช้าของคืนวันนั้นไม่มีแสงเจิดจ้า (หะดีษเศาะฮีหฺ มุสลิม 2:828 และเศาะฮีหฺ อิบนุ คุซัยมะฮฺ หมายเลข 2193)
จากท่านอิบนุ อับบาส จากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวเกี่ยวกับคืน ลัยละตุล ก็อดรฺ ความว่า "เป็นคืนหนึ่งที่มีบรรยากาศที่ดี ไม่ร้อนและไม่หนาว ดวงอาทิตย์ในตอนเช้ามีสีแดงอ่อน"
จากอบู อักร๊อบ อัล-อะซะดีย์ กล่าวว่า ในเช้าวันหนึ่งของเดือนเราะมะฎอนฉันได้เยือนบ้านของอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด ขณะที่ท่านกำลังอยู่บนดาดฟ้า ฉันได้ยินท่านกล่าวว่า "เศาะดะก็อลลอฮุวะรอซูลุฮ" (หมายถึง คำดำรัสของอัลลอฮและคำกล่าวของท่านรอซูลนั้นย่อมเป็นสัจจะ) และในระยะงานอื่นมีว่า "เศาะดะก็อลลอฮุ วะบัลละฆอรอซูลุฮ" (หมายถึง คำดำรัสของอัลลอฮย่อมเป็นสัจจะและท่านรอซูลได้เผยแผ่สัจธรรมแด่พวกเราแล้ว) จากนั้นฉันขึ้นไปหาท่านและถามว่า โอ้! อบู อับดุรเราะมาน ที่ท่านกล่าวว่า เศาะดะก็อลลอฮุวะรอซูล นั้นมีความหมายอย่างไร? ท่านจึงตอบว่า แท้จริงแล้วท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้เล่าให้เราทราบว่า แท้จริงคืน ลัยละตุล ก็อดรฺ นั้น (เกิดขึ้น) ในส่วนหนึ่งจากเจ็ดคืนสุดท้ายเราะมะฎอน และแท้จริงแล้ว ดวงอาทิตย์ของเช้าวันรุ่งขึ้นจะไม่เจิดจ้า(ครึ้ม) ท่านอบู อักร็อบ กล่าวว่า ฉันจึงขึ้นไปบนดาดฟ้าและมองดูดวงอาทิตย์ (ฉันเห็นจริงตามที่ท่านได้บอก) ดังนั้น ฉันก็กล่าวเหมือนท่านว่า "เศาะดะก็อลลอฮุวะรอซูลุฮฺ เศาะดะก็อลลอฮุวะรอซูลุฮฺ (หะดีษมุสนัด อิมาม อะห์มัด หมายเลข 3857, 4374 ทั้งสองสายรายงานนั้นเศาะฮีหฺ ดู มัจญ์มูอฺ อัซ-ซะวาอิด 3:174)
ความจริงจังในการประกอบอิบาดะฮฺสิบวันสุดท้ายเราะมะฎอน
จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฏิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เมื่อเข้าสิบวันสุดท้ายจากเดือนเราะมะฎอนท่านจะมีความจริงจังในการประกอบอิบาดะฮฺ (ด้วยการไม่ร่วมหลับนอนกับภรรยา)
รายงานโดยอะนัสกล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม จะล่าช้าในการรับประทานอาหารค่ำ โดยจะไปทานในเวลาสะหูร ทั้งนี้เพื่อรักษาสุขภาพ และเวลาในการประกอบอิบาดะฮฺกลางคืน (มัจญ์มูอฺ อัซ-ซะวาอิด 3:174) ท่านจะลุกขึ้นในยามค่ำคืน ปลุกลูก ๆ และภรรยา (เพื่อตื่นขึ้นมาประกอบอิบาดะฮฺพร้อมๆ กับท่าน)
จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เอาจริงเอาจัง(ประกอบอิบาดะฮฺ) ในช่วงสิบวันสุดท้ายเราะมะฎอนมากกว่า (การประกอบ อิบาดะฮฺ) ในช่วงอื่น ๆ
ท่านนุอฺมาน บิน บะชีร กล่าวว่า เราได้ประกอบกิยามุลลัยล์พร้อม ๆ กับท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในคืนที่ยี่สิบสามจากเดือนเราะมะฎอนจนกระทั่งหนึ่งส่วนสามของคืน ต่อมาในคืนที่ยี่สิบห้ากระทั่งครึ่งคืนและในคืนที่ยี่สิบเจ็ดจนกระทั่งเวลาที่เราคิดว่าเราไม่ทันทีจะรับประทานอาหารสะหูร เนื่องจากเสร็จกิยามุลลัยล์ล่าช้าเกินไป (หะดีษออกโดยอิบนุ คุซัยมะฮฺ 4:220 สายรายงานหะซัน) รายงานของอบู ซัร ก็เช่นเดียวกัน
ออกสู่มัสยิดพร้อมๆ กันเพื่อให้ได้มาซึ่งลัยละตุล ก็อดรฺ
จากอับดุลลอฮฺ บิน อุนัยส์ กล่าวว่า โอ้ท่านรอซูลลุลอฮฺ แท้จริงฉันอยู่ ณ หมู่บ้านที่ไกลออกไป ดังนั้นขอท่านจงกำหนดเพื่อให้ฉันออกละหมาด(พร้อม ๆ กับท่าน)ในมัสยิดแห่งนี้ในคืนใดคืนหนึ่ง ท่านรอซูลตอบว่า "จงมาในคืนที่ยี่สิบสามของเราะมะฎอน" (มุวัฏเฏาะอ์ อิมาม มาลิก 614)
การอิอฺติกาฟ
จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ภรรยาของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เล่าว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม มักจะอิอฺติกาฟ(ณ มัสยิด) ในสิบวันสุดท้ายจากเราะมะฎอน กระทั่งท่านเสียชีวิต ต่อมาภรรยาของท่านได้เจริญรอยตามซุนนะฮฺการอิอฺติกาฟต่อจากท่าน (อัล-บุคอรีย์ 2:255 และมุสลิม 2:831 หมายเลข 1172)
จากหะดีษดังกล่าว จึงกระจ่างชัดว่าในบรรดาอะมัลหลักของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และบรรดาเศาะฮาบะฮฺทั้งหญิงและชายเพื่อให้ได้มาความประเสริฐของลัยละตุล ก็อดรฺ คือ "การอิอฺติกาฟ(ท่านปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง)กระทั่งเสียชีวิต"
ดุอาอ์ลัยละตุล ก็อดรฺ
จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา กล่าวว่า ฉันกล่าวว่า โอ้ ! ท่าน รอซูลลุลอฮฺ ฉันจะทำอย่างไรเล่าหากฉันได้รับเตาฟีกพบกับลัยละตุล ก็อดรฺ ดุอาอ์อะไรบ้างที่ฉันควรอ่าน? ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตอบว่า "จงอ่านเถิดว่า
اللَّهُمَّ إِنَّكَ عَفُوٌّ تُحِبُّ الْعَفْوَ فَاعْفُ عَنِّيْ
ความว่า "โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน แท้จริงพระองค์เป็นผู้ที่ทรงให้อภัย พระองค์ชอบที่จะให้อภัย ดังนั้นขอทรงอภัยต่อ(บาปต่าง ๆ) ของข้าด้วยเถิด" (หะดีษที่ออกโดยอัต-ติรมีซีย์หมายเลข 3580 หะซัน เศาะฮีหฺ และอัน-นะสาอีย์ในอะมัล อัล-เยาม์ วัล-ลัยละฮฺ หมายเลข 872 และอะห์มัดในมุสนัดของท่าน 6:171, 182 และอิบนุ มาญะฮฺ หมายเลข 3850 และ อัล-หากิม 1:350)
รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา อีกว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า "หากฉันมีความรู้สึกว่าจะเกิดลัยละตุล ก็อดรฺ ขึ้นในคืนใดคืนหนึ่ง แน่แท้ฉันจะขอดุอาอ์อย่างมากมายด้วยการขออภัยโทษและความปลอดภัย" (อะมัล อัล-เยาม์ วัล-ลัยละฮฺ ของ อัน-นะสาอีย์ หมายเลข 878)