บทบัญญัติต่างๆ เกี่ยวกับการถือศีลอด
หมวดหมู่
Full Description
บทบัญญัติต่างๆ เกี่ยวกับการถือศีลอด
จากหนังสือ “มุคตะศ็อรฺ อัล-ฟิกฮิล อิสลามีย์”
โดย เชค มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์
แปลโดย ไฟศ็อล อับดุลฮาดีย์
1428 / 2007
บทความว่าด้วยบทบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการถือศีลอด อาทิ การดูจันทร์เสี้ยว การตั้งเจตนา การถือศีลอดของผู้เดินทาง ของคนแก่ชรา ของหญิงตั้งท้องหรือให้นมบุตร สิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเสียและไม่เสีย การถือศีลอดทดแทน การจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ เป็นต้น
สำหรับมุสลิมที่จะได้รับผลบุญจากการถือศีลอดนั้น จำเป็นที่จะต้องถือศีลอดด้วยใจที่ศรัทธาและเปี่ยมต่ออัลลอฮฺ โดยไม่มีการโอ้อวด หวังเพื่อชื่อเสียง และไม่ใช่เพราะปฏิบัติตามเขาหรือคนในท้องถิ่น แต่ทว่าจะต้องถือศีลอดเพราะเป็นคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ และหวังผลตอบแทนจากพระองค์เท่านั้น และอิบาดะฮฺอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน
วาญิบต้องถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนเพราะหนึ่งในเหตุสองประการ :
1. เนื่องจากเห็นจันทร์เสี้ยวโดยมุสลิมที่มีความน่าเชื่อถือและสายตาดีไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม
2. หรือเนื่องจากให้เดือนชะอฺบานครบสามสิบวัน
บทบัญญัติต่างๆเกี่ยวกับการดูจันทร์เสี้ยวเดือนเราะมะฎอน
เมื่อไม่เห็นจันทร์เสี้ยวในคืนที่ท้องฟ้าโปร่งหรือท้องฟ้าครึ้มของคืนที่สามสิบเดือนชะอฺบาน(หมายถึงวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่สามสิบชะอฺบาน)แล้ว เช้าของวันรุ่งขึ้นจะไม่มีการถือศีลอด และเมื่อมีการถือศีลอดยี่สิบแปดวันแต่แล้วก็มีการเห็นจันทร์เสี้ยว(ในคืนที่ยี่สิบเก้าของเราะมะฎอน) ดังนั้นเช้าของวันรุ่งขึ้นถือเป็นวันออกจากศีลอดและเป็นวันอีด และให้ถือศีลอดชดหลังจากวันอีดอีกหนึ่งวัน และหากถือศีลอดครบสามสิบวันด้วยพยานที่เห็นจันทร์เสี้ยว(เข้าเราะมะฎอน)เพียงคนเดียว และยังไม่มีการเห็นจันทร์เสี้ยว(เพื่อกำหนดวันอีด) ดังนั้นจะไม่มีการออกจากศีลอด(เพื่อกำหนดวันอีด)จนกระทั่งจะเห็นจันทร์เสี้ยวเสียก่อน
จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«صُومُوا لِرُؤْيَتِهِ وَأَفْطِرُوا لِرُؤْيَتِهِ، فَإِنْ غُبِّيَ عَلَيْكُمْ فَأَكْمِلُوا عِدَّةَ شَعْبَانَ ثَلَاثِينَ»
ความว่า "พวกท่านจงถือศีลอดเพราะจากการเห็นจันทร์เสี้ยว และจงออกจากการถือศีลอด (เพื่อกำหนดวันอีด)เพราะจากการเห็นมันเช่นกัน ดังนั้นถ้าหากมีเมฆหมอกปกคลุมเหนือพวกท่าน พวกท่านก็จงทำให้เดือนชะอฺบานครบสามสิบวัน" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 1909 สำนวนนี้เป็นรายงานของท่าน, มุสลิม : 1081)
เมื่อประเทศหนึ่งๆ มีการเห็นจันทร์เสี้ยว จำเป็นที่ประชากรในประเทศนั้นๆ ต้องถือศีลอด และเนื่องจากมีความแตกต่างในเรื่องของมุมที่จันทร์เสี้ยวปรากฏ(มัฏละอฺ) ดังนั้นในแต่ละเขตและดินแดนย่อมมีหุก่มเฉพาะของเขตและดินแดนนั้นๆ ในการเริ่มและสิ้นสุดของการถือศีลอดตามแต่การเห็นจันทร์เสี้ยว และถ้าหากว่ามุสลิมในทุกมุมโลกถือศีลอดพร้อมเพรียงกันโดยยึดการมองเห็นจันทร์เสี้ยวรวมกันก็ถือว่าเป็นสิ่งดี เพราะมันแสดงถึงความเป็นเอกภาพ ภารดรภาพ และความกลมเกลียวกัน หวังว่าอัลลอฮฺจะให้บรรลุผลดังนั้น อินชาอัลลอฮฺ ดังนั้นมุสลิมทุกคนจำเป็นที่จะต้องถือศีลอดพร้อมๆ กับประเทศของเขา และไม่แบ่งแยกระหว่างประชากรโดยที่กลุ่มหนึ่งถือพร้อมกับประเทศของเขาและอีกกลุ่มหนึ่งถือตามประเทศอื่น ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกที่อัลลอฮฺทรงห้าม
ใครก็ตามที่เห็นจันทร์เสี้ยวเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนเชาวาลเพียงคนเดียว และการมองเห็นของเขาถูกปฏิเสธ เช่นนี้แล้วจำเป็นสำหรับเขาที่จะต้องถือศีลอดหรือออกจากศีลอดพร้อมๆ กับผู้คนทั่วไป และถ้าหากเห็นจันทร์เสี้ยวในตอนกลางวัน ถือว่าจันทร์เสี้ยวดวงนั้นสำหรับคืนที่จะมาถึง แต่ถ้าหากว่ามันลับขอบฟ้าก่อนที่ดวงอาทิตย์จะลับ ถือว่ามันเป็นของคืนที่ผ่านมา
ส่งเสริมให้ผู้ที่เห็นจันทร์เสี้ยวกล่าวว่า :
«اَللَهُّمَّ أَهِلَّهُ عَلَينَا بِاليُمْنِ وَالإِيمان ، وَالسَلامَةِ وَالِإسْلاَمِ ، وَرَبِّي وَرَبُّكَ الله»
ความว่า "โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงทำให้มันเป็นจันทร์เสี้ยวที่มาพร้อมด้วยสิ่งที่ดีและอีมาน ความสันติสุขและอิสลาม พระผู้อภิบาลของฉันและของเจ้า(จันทร์เสี้ยว)คืออัลลอฮฺ" (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยอะหฺมัด : 1397 ดู อัสสิลสิละฮฺ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ : 1816 และบันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์3451 ดู เศาะฮีหฺ สุนัน อัต-ติรมิซีย์ : 2745)
วาญิบสำหรับผู้ปกครองมุสลิมที่จะต้องแจ้งข่าวประกาศผ่านสื่อที่ศาสนาอนุมัติถึงการเข้าเดือนเราะมะฎอน เมื่อมีการเห็นจันทร์เสี้ยวตามศาสนบัญญัติ และเมื่อออกจากเดือนเราะมะฎอน(เพื่อเข้าอีด)ก็เช่นเดียวกัน
เมื่อมุสลิมถือศีลอด ณ ประเทศหนึ่ง หลังจากนั้นเขาได้เดินทางไปยังประเทศหนึ่ง ดังนั้นหุก่มการถือศีลอดและออกจากศีลอด(เพื่อเข้าวันอีด)ของเขาคือหุก่มของประเทศที่เขาเดินทางไป กล่าวคือให้เขาออกจากศีลอด (เพื่อเข้าวันอีด)พร้อมๆ กับชาวเมืองในประเทศที่เขาเดินทางไปอยู่เมื่อพวกเขาออกจากศีลอด และถ้าหากว่าเขาออกจากศีลอด(เพื่อเข้าอีด)น้อยกว่ายี่สิบเก้าวัน ก็ให้เขาถือศีลอดชดหลังจากวันอีดหนึ่งวัน และถ้าหากว่าเขาถือศีลอดมากกว่าสามสิบวัน เขาก็ยังไม่อาจออกจากศีลอดได้นอกจากจะพร้อมกับชาวเมืองในประเทศที่เข้าเดินทางไป
การตั้งเจตนาเพื่อถือศีลอด
วาญิบที่จะต้องตั้งเจตนาเพื่อถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนในช่วงกลางคืนก่อนแสงอรุณขึ้น แต่ถ้าเป็นการถือศีลอดสุนัตแล้ว อนุญาตให้ตั้งเจตนาในช่วงกลางวันหากว่าเขายังไม่ได้กระทำสิ่งที่ทำให้ศีลอดเสียหลังจากแสงอรุณขึ้น
การถือศีลอดที่เป็นฟัรฎูด้วยการตั้งเจตนาในช่วงกลางวันจะถือว่าใช้ได้ ในกรณีที่ไม่รู้ในช่วงกลางคืนว่าการถือศีลอดนั้นเป็นวาญิบ หรือในกรณีที่เพิ่งปรากฏหลักฐานในช่วงกลางวันถึงการเห็นจันทร์เสี้ยว(เมื่อคืนที่ผ่านมา) กรณีดังกล่าวนี้ในเขาถือศีลอดในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของวันนั้น โดยไม่ต้องถือศีลอดชด ถึงแม้ว่าเขาจะรับประทานอาหารก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม
ผู้ที่การถือศีลอดเป็นวาญิบสำหรับเขาในช่วงกลางวัน เช่นคนบ้าที่ฟื้นสติ เด็กที่บรรลุศาสนภาวะ และคนต่างศาสนิกที่เข้ารับอิสลาม(คือฟื้นขึ้นในช่วงกลางวัน หรือบรรลุศาสนภาวะตอนกลางวัน หรือรับอิสลามในเวลากลางวันของเราะมะฎอน) เขาเหล่านี้อนุญาตให้ตั้งเจตนาถือศีลอดในช่วงกลางวันตอนที่การถือศีลอดเป็นวาญิบสำหรับเขา ถึงแม้ว่าหลังจากที่เขาได้กินหรือดื่ม และเขาไม่ต้องถือศีลอดชดแต่ประการใด
การถือศีลอดและการละหมาดของมุสลิมแต่ละคนนั้นให้ปฏิบัติตามหุก่มของสถานที่ที่เขาพำนักอยู่ กล่าวคือผู้ที่ศีลอดนั้นให้เขาเริ่มถือศีลอดและละศีลอดตามสถานที่ที่เขาพำนักอยู่ไม่ว่าเขาจะอยู่บนพื้นดิน หรือบนเครื่องบินในชั้นบรรยากาศ หรือบนเรือในทะเล
การถือศีลอดของผู้ที่ชราภาพและผู้ที่ป่วย
- ใครก็ตามที่ละศีลอดเนื่องจากชราภาพและป่วยเรื้อรังที่ไม่มีทางหายขาดไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ที่เดินทางหรือไม่ก็ตาม ให้เขาจ่ายอาหารแก่คนยากจนวันละหนึ่งคนแทนการถือศีลอด โดยที่เขาทำอาหารเท่ากับจำนวนวันที่เขาขาดการถือศีลอด และเชิญชวนในคนยากจนมารับประทานอาหาร และเขามีสิทธิ์เลือกหากเขามีความประสงค์ก็ให้จ่ายอาหารวันต่อวัน หรือให้รวบจ่ายในวันสุดท้าย โดยจ่ายอาหารวันล่ะครึ่งกันตัง(สองลิตรโดยประมาณ)ให้แก่คนยากจน
- ผู้ที่เป็นโรคประสาทหลอนหรือความจำเลอะเลือนเขาไม่จำเป็นต้องถือศีลอดและไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ เนื่องจากการงานของเขาจะไม่ถูกบันทึก
- ผู้ที่มีรอบเดือนหรือมีนิฟาส (เลือดหลังคลอดบุตร) นั้นไม่อนุญาตให้ถือศีลอด กล่าวคือให้เขาละศีลอดและถือชดหลังจากนั้น และเมื่อเขาสะอาด(หมดจากรอบเดือนหรือนิฟาส)ในช่วงกลางวัน(ของเราะมะฎอน) หรือผู้ที่กลับจากการเดินทางในสภาพที่เขาละศีลอดอยู่ พวกเขาเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องถือศีลอด(ในเวลาที่เหลืออยู่)เพียงแต่ต้องถือชดเท่านั้น
- ผู้หญิงที่ตั้งท้องและให้นมลูก เมื่อนางกลัวอันตรายจะประสบแก่นาง(หากนางถือศีลอด)หรือประสบแก่นางและลูกของนาง พวกนางสามารถละศีลอดได้และให้ถือชดในวันอื่นนอกเราะมะฎอน
หุกุ่มการถือศีลอดในขณะเดินทาง
สิ่งที่ประเสริฐที่สุดสำหรับผู้ที่ถือศีลอดคือให้ละศีลอดในขณะการเดินทาง และสำหรับผู้ที่เดินทางในช่วงเดือนเราะมะฎอนนั้น หากว่าการถือศีลอดและละศีลอดสำหรับเขานั้นเท่าเทียมกัน (ไม่สร้างความยากลำบากแต่ประการใด) เช่นนี้การถือศีลอดสำหรับเขานั้นย่อมดีกว่า และถ้าหากว่าการถือศีลอดนั้นสร้างความยากลำบากให้แก่เขาแล้ว ดังนั้นการละศีลอดสำหรับเขานั้นย่อมดีกว่า และถ้าหากการถือศีลอดสร้างความยากลำบากอย่างหนัก(จนอาจให้เป็นอันตรายได้) กรณีนี้ก็วาญิบสำหรับเขาที่จะต้องละจากการถือศีลอดและถือชดในวันอื่นต่อไป
จากท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้กล่าวว่า
«كُنَّا نُسَافِرُ مَعَ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، فَلَمْ يَعِبْ الصَّائِمُ عَلَى الْمُفْطِرِ، وَلاَ الْمُفْطِرُ عَلَى الصَّائِمِ»
ความว่า "พวกเราได้เดินทางพร้อมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ วะลัยฮิ วะสัลลัม แล้วคนที่ถือศีลอดก็ไม่ได้ตำหนิคนที่ละศีลอด และคนที่ละศีลอดก็ไม่ได้ตำหนิคนที่ถือศีลอด" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 1947 และมุสลิม : 1118)
- ใครก็ตามที่ตั้งเจตนาเพื่อที่จะถือศีลอด แล้วเขาก็ได้ถือ แต่แล้วเขาก็หมดสติลงตลอดทั้งวัน หรือส่วนหนึ่งของกลางวัน กรณีนี้การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้ อินชาอัลลอฮฺ
- ใครก็ตามที่หมดสติในเดือนเราะมะฎอน ไม่ว่าจะด้วยเพราะสลบ ล้มป่วย หรือเป็นบ้า หลังจากนั้นเขาก็ฟื้นจากการหมดสติ เขาไม่จำเป็นต้องชดการถือศีลอดและการละหมาด เนื่องจากในช่วงนั้นเขาพ้นจากสภาพที่ต้องรับภาระ (คำสอนของศาสนา) และหากเขาหมดสติเนื่องจากการกระทำ และเพราะความเต็มใจของเขาเอง หลังจากนั้นเขาก็ฟื้นขึ้นมา กรณีนี้เขาจำเป็นต้องถือศีลอดชด
- ใครก็ตามที่เจตนาจะถือศีลอด แล้วเขาก็ได้ตื่นทานสะหูร และแล้วเขาก็เผลอนอนจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตก กรณีนี้ถือว่าการถือศีลอดของเขานั้นใช้ได้ และไม่ต้องถือชดแต่ประการใด
- เมื่อมุสลิมเผลอกิน ดื่ม หรือมีเพศสัมพันธ์ อย่างลืมตัวในเดือนเราะมะฎอน การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้
- เมื่อมุสลิมฝันเปียกในขณะที่เขาถือศีลอด การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้ และวาญิบที่เขาจะต้องอาบน้ำยกหะดัส และเขาไม่มีความผิดแต่ประการใด
- ใครก็ตามที่ป่วยซึ่งการถือศีลอดนั้นอาจสร้างความยากลำบากและอาจเกิดอันตรายแก่เขาได้ กรณีนี้การถือศีลอดสำหรับเขานั้นถือว่าหะรอม และวาญิบจะต้องละศีลอด และให้ถือชดในวันถัดไป
- สิ่งที่ประเสริฐที่สุดสำหรับมุสลิมคือให้เขาอยู่ในสภาพที่สะอาดตลอดเวลา (ไม่มีหะดัส ทั้งหะดัสเล็กและใหญ่) และอนุญาตให้ผู้ที่ถือศีลอดล่าช้าในการอาบน้ำ(ยกหะดัส) จากญุนุบ เลือดประจำเดือน เลือดหลังคลอดบุตร หลังจากแสงอรุณขึ้นแล้ว และการถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้
- สุนัตสำหรับผู้ที่จะเดินทางในเดือนเราะมะฎอนให้เขาละศีลอดก่อนที่จะขึ้นยวดยานพาหนะ และใครก็ตามที่ละศีลอดเนื่องจากผลประโยชน์ของคนอื่น เช่นช่วยคนจมน้ำ ดับไฟไหม้ เป็นต้น เขาจำเป็นต้องถือชดเท่านั้น(โดยไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮฺใดๆ)
วิธีการถือศีลอดของประเทศที่ดวงอาทิตย์ค้างฟ้า
- ใครก็ตามที่พำนักอยู่ในประเทศที่ดวงอาทิตย์ไม่ลับขอบฟ้าในช่วงฤดูร้อนและดวงอาทิตย์ไม่ขึ้นในช่วงฤดูหนาว หรือประเทศที่มีช่วงกลางวันยาวตลอดหกเดือนและช่วงกลางคืนอีกหกเดือน หรือมากกว่า หรือน้อยกว่า กรณีนี้ให้พวกเขาถือศีลอดตามประเทศที่ใกล้เคียงกับพวกเขามากที่สุดที่มีทั้งช่วงกลางวันและกลางคืนรวมกัน 24ชั่วโมง โดยที่พวกเขากำหนดวันเริ่มและวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน และเวลาเริ่มถือศีลอดและเปิดศีลอดตามประเทศนั้นๆ
- ใครก็ตามที่มีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของตนในช่วงกลางวันของเดือนเราะมะฎอนในขณะที่นางมีรอบเดือน เขาจำเป็นจะต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮฺและถือศีลอดชด และให้บริจาคเงินเป็นจำนวนทองเท่ากับหนึ่งดีนาร์หรือครึ่งดีนาร์ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทว่าด้วยเลือดประจำเดือนของสตรี
- เมื่อเครื่องบินได้บินออกก่อนดวงอาทิตย์จะตก และได้ขึ้นอยู่บนชั้นบรรยากาศ ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ถือศีลอดละศีลอดจนกว่าพระอาทิตย์จะตก
- ใครก็ตามที่ละทิ้งการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน เพราะปฏิเสธการเป็นวาญิบของมัน ถือว่าเขาเป็นกาฟิร และใครก็ตามที่ละทิ้งมันเพราะความเกียจคร้าน ไม่ถือว่าเขาเป็นกาฟิร และการละหมาดของเขาถือว่าใช้ได้ แต่เขานั้นมีความผิดอันใหญ่หลวง
สาเหตุที่ทำให้ศีลอดเสีย
1. การกินหรือดื่ม ในช่วงกลางวันของเดือนเราะมะฎอน
2. มีเพศสัมพันธ์ในช่วงกลางวันของเดือนเราะมะฎอน
3. น้ำอสุจิหลั่งออกในขณะที่ตื่นอยู่ ไม่ว่าจะด้วยการสัมผัส จูบ สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง เป็นต้น
4. ฉีดสารอาหารผ่านเข็มฉีดยาเข้าร่างกาย
สาเหตุข้างต้นนี้ทำให้การถือศีลอดเสียก็ต่อเมื่อทำไปด้วยความตั้งใจ รู้เท่าถึงการณ์ และรำลึกว่าตัวเองถือศีลอดอยู่
5. มีรอบเดือนหรือเลือดหลังคลอดบุตร
6. เป็นมุรตัด (หลุดพ้นจากสภาพเป็นมุสลิม)
สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. นำสิ่งของเข้าในร่างกายที่สามารถให้พลังงานและเสริมความแข็งแรงให้กับร่างกาย เช่นการกิน ดื่ม และสิ่งที่เทียบเท่ากับการดื่มหรือกิน รวมทั้งการดื่มหรือรับประทานสิ่งที่เป็นโทษต่อร่างกายเช่น ดื่มเลือด สิ่งมึนเมา เป็นต้น
2. มีสิ่งออกจากร่างกายซึ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เช่น น้ำอสุจิ เลือดประจำเดือน เลือดหลังคลอดบุตร เป็นต้น
บทบัญญัติของผู้ที่ได้ยินเสียงอะซานในขณะที่ภาชนะ(อาหารหรือเครื่องดื่ม)ยังอยู่ในมือของเขา
จากท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้กล่าวว่า ท่านเราะสูลุลอฮฺได้กล่าวว่า
«إِذَا سَمِعَ أَحَدُكُمْ النِّدَاءَ وَالإِنَاءُ عَلَى يَدِهِ فَلاَ يَضَعْهُ حَتَّى يَقْضِيَ حَاجَتَهُ مِنْهُ»
ความว่า "เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเจ้าได้ยินเสียงอะซาน ในขณะที่ภาชนะ(อาหารหรือเครื่องดื่ม)อยู่ในมือของเขา ดังนั้นเขาก็จงอย่าเพิ่งวางมันจนกว่าจะรับประทานมันเสร็จเสียก่อน" (หะดีษหะสัน เศาะฮีหฺ บันทึกโดยอบู ดาวูด : 2350 ดู เศาะฮีหฺ สุนัน อบี ดาวูด : 2060)
ใครก็ตามที่รับประทานอาหาร(สะหูร)โดยมั่นใจว่ายังอยู่ในช่วงกลางคืนอยู่(แสงอรุณยังไม่ขึ้น) แต่ปรากฏว่าเข้าช่วงกลางวันแล้ว(แสงอรุณขึ้นแล้ว) หรือได้รับประทานอาหาร(ละศีลอด)โดยมั่นใจว่าดวงอาทิตย์ได้ตกแล้ว แต่ปรากฏว่าดวงอาทิตย์ยังไม่ตก กรณีนี้ถือว่าการถือศีลอดของเขาใช้ได้และไม่ต้องถือชด
สิ่งที่ไม่ได้ทำให้ศีลอดเสียนั้นมีมากมาย ส่วนหนึ่งก็คือ
- การใช้ผงหรือดินสอที่ทำให้ขอบตาดำ การฉีดยา ยาที่ใช้หยอดในอวัยวะเพศ การเยียวยารักษาบาดแผล การใช้น้ำหอม น้ำมันทาผม ควันไม้หอม การใช้ต้นเทียน(เพื่อทาเล็บหรือเปลี่ยนสีผม) น้ำยาหยอดตา หู หรือจมูก การอาเจียน การกรอกเลือด การเอาเลือดออก เลือดกำเดา การตกเลือด เลือดที่ไหลออกจากบาดแผล การถอนฟัน มะซีย์(น้ำที่หลั่งเนื่องจากความใคร่ซึ่งไม่ใช่อสุจิ)หรือวะดีย์(น้ำเหนียวที่หลั่งออกมาหลังการถ่ายปัสสาวะซึ่งไม่ใช่อสุจิ)ออก และยาแก้หอบหืด ทั้งหมดนี้ไม่ทำให้เสียศีลอด
- การตรวจเลือด และการฉีดยาหากว่าเพื่อการรักษาไม่ใช่เพื่อฉีดสารอาหารเข้าไปไม่ถือว่าเสียศีลอด แต่ว่าถ้าสามารถกระทำในช่วงกลางคืนได้นั้นย่อมดีกว่า
- อนุญาตให้สตรีรับประทานยาระงับการมีประจำเดือนเพื่อการถือศีลอดหรือหัจญ์เมื่อแพทย์ที่มีประสบการณ์ได้รับรองแล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อนาง แต่ทางที่ดีนางไม่ควรใช้
- การล้างไต โดยการเอาเลือดออกจากร่างกาย หลังจากนั้นก็เอาเลือดที่บริสุทธิ์พร้อมๆ กับสารบางชนิดกลับใส่เข้าไปใหม่ กรณีนี้ถือว่าทำให้การถือศีลอดเสีย
- เมื่อผู้ที่ถือศีลอดหลั่งอสุจิด้วยการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง หรือการเล้าโลมภรรยาของตนโดยไม่ได้ร่วมเพศ ถือว่าเขามีความผิดและต้องถือศีลอดชดโดยไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ
- ใครก็ตามที่ถือศีลอดในขณะที่เดินทาง และเขาได้มีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของตนในช่วงกลางวัน กรณีนี้เขาต้องถือศีลอดชดโดยไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ
- ใครก็ตามที่มีเพศสัมพัธ์กับภรรยาของตนในขณะที่เขาไม่ได้เดินทาง เขาต้องถือศีลอดชดพร้อมๆกับต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮฺและเขายังจะได้รับความผิดหากว่าทำไปโดยเจตนา รู้เท่าถึงการณ์ และมีความจำอยู่ ส่วนหากทำไปเพราะโดนขู่บังคับ ไม่รู้ หรือลืม กรณีนี้การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้ ไม่ต้องถือชด และไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ และผู้หญิงในกรณีนี้ก็เหมือนกับผู้ชาย
กัฟฟาเราะฮฺเนื่องจากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงกลางวันของเดือนเราะมะฎอน
ปล่อยทาสใหเป็นอิสระหนึ่งคน หากไม่มีก็ให้ถือศีลอดชดสองเดือนติดต่อกัน และหากไม่มีความสามารถอีกก็ให้จ่ายอาหารแก่คนยากจนจำนวนหกสิบคน โดยให้จ่ายอาหารทุกๆ หนึ่งคนจำนวนครึ่งกันตัง(ประมาณหนึ่งกิโลกับอีกสี่ขีด) และหากไม่มีความสามารถอีกการจ่ายกัฟฟาเราะฮฺก็ถือว่าตกไป และกัฟฟาเราะฮฺนั้นไม่เป็นวาญิบนอกจากเพราะการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงกลางวันของเดือนเราะมะฎอนของผู้ที่ต้องถือศีลอดเท่านั้น เมื่อทำไปด้วยเพราะรู้และเจตนา ส่วนผู้ที่ทำไปในขณะที่เขาถือศีลอดสุนัต การถือศีลอดเพราะบนบาน หรือถือศีลอดชด ไม่จำเป็นต้องออกกัฟฟาเราะฮฺแต่อย่างใด
จากท่านอบู ฮุร็อยเระาฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้กล่าวว่า
«جَاءَ رَجُلٌ إِلَى النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ : هَلَكْتُ يَا رَسُولَ اللَّهِ، قَالَ : وَمَا أَهْلَكَكَ ؟ قَالَ : وَقَعْتُ عَلَى امْرَأَتِي فِي رَمَضَانَ، قَالَ : هَلْ تَجِدُ مَا تُعْتِقُ رَقَبَةً ؟ قَالَ : لاَ، قَالَ : فَهَلْ تَسْتَطِيعُ أَنْ تَصُومَ شَهْرَيْنِ مُتَتَابِعَيْنِ، قَالَ : لاَ، قَالَ : فَهَلْ تَجِدُ مَا تُطْعِمُ سِتِّينَ مِسْكِينًا ؟ قَالَ لاَ، قَالَ : ثُمَّ جَلَسَ فَأُتِيَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِعَرَقٍ فِيهِ تَمْرٌ، فَقَالَ : تَصَدَّقْ بِهَذَا، قَالَ : أَفْقَرَ مِنَّا ؟ فَمَا بَيْنَ لاَبَتَيْهَا أَهْلُ بَيْتٍ أَحْوَجُ إِلَيْهِ مِنَّا، فَضَحِكَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ حَتَّى بَدَتْ أَنْيَابُهُ، ثُمَّ قَالَ : اذْهَبْ فَأَطْعِمْهُ أَهْلَكَ»
ความว่า "ได้มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม แล้วได้กล่าวว่า ฉันหายนะแล้ว ท่านเราะสูลุลลอฮฺจึงได้ถามว่า อะไรหรือที่ทำให้ท่านหายนะ? เขาก็ตอบว่า ฉันได้มีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของฉันในเดือนเราะมะฎอน ท่านนบีจึงถามว่า ท่านมีทาสเพื่อที่จะปล่อยให้เป็นอิสระไหม? เขาตอบว่า ไม่มี ท่านนบีจึงถามต่ออีกว่า งั้นท่านสามารถถือศีลอดสองเดือนติดต่อกันไหม? เขาตอบว่า ไม่ ท่านนบีจึงถามต่อไปอีกว่า ท่านมีอาหารเพื่อที่จะแจกจ่ายให้คนยากจนไหม ? เขาตอบว่า ไม่มี หลังจากนั้นเขาก็ได้นั่งอยู่ชั่วครู่ก็ได้มีคนนำผลอินทผลัมหนึ่งตะกร้ามอบให้กับท่านนบี ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านจึงกล่าวว่า จงเศาะดะเกาะฮฺด้วยอินทผาลัมนี้ เขาก็กล่าวว่าขึ้นมาว่า ยังจะมีคนที่ยากจนกว่าฉันอีกหรือ? ไม่มีครอบครัวไหนแล้วที่อยู่ระหว่างสองเขา(ของเมืองมะดีนะฮฺ)ที่มีความต้องการมันอย่างยิ่งนอกจากครอบครัวของเรา(คือเขานั่นแหละที่ยากจนที่สุดแล้วในมะดีนะฮฺ) แล้วท่านนบี ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็หัวเราะจนปรากฏเห็นฟันเขี้ยว หลังจากนั้นท่านก็ได้กล่าวว่า ท่านจงเอามันไปให้ครอบครัวของท่านรับประทานเถิด" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 1936 และมุสลิม : 1111 สำนวนนี้เป็นรายงานของท่าน)
- สิ่งที่ไม่ถือว่าเป็นการขาดตอนสำหรับผู้ที่ต้องถือศีลอดสองเดือนติดต่อกัน คือการละศีลอดในสองวันอีด หรือเพราะเดินทาง หรือเพราะเจ็บไข้ได้ป่วยที่อนุญาตให้ละศีลอดได้ และมีรอบเดือนหรือเลือดหลังคลอดบุตร
- เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาในระยะเวลาสองวันหรือมากกว่านั้นในเดือนเราะมะฎอน เขาจำเป็นต้องออกกัฟฟาเราะฮฺและถือศีลอดชดเท่ากับจำนวนวันที่เขามีเพศสัมพันธ์ และถ้าหากว่าเขามีเพศสัมพันธ์หลายครั้งในวันเดียวกัน ก็ให้ถือว่าเป็นวันเดียวเขาต้องออกเพียงกัฟฟาเราะฮฺเดียวพร้อมกับถือศีลอดชดหนึ่งวัน
- เมื่อผู้เดินทางได้เดินทางกลับในวันที่ภรรยาของเขาสะอาดจากรอบเดือนหรือเลือดหลังคลอดบุตรในช่วงกลางวัน อนุญาตให้เขาสมสู่ภรยาของเขาได้
- สุนัตให้ถือศีลอดชดของเดือนเราะมะฎอนโดยทันทีและติดต่อกัน และเมื่อไม่มีเวลาเหลือมากพอวาญิบต้องถือชดติดต่อกัน และเมื่อถือศีลอดชดของเดือนเราะมะฎอนล่าช้าจนเข้าเดือนเราะมะฎอนใหม่โดยไม่มีอุปสรคแต่ประการใด ถือว่าเขาทำบาปและจำเป็นต้องถือชดต่อ
- อัลลอฮฺได้กำหนดให้ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนแก่ผู้ที่ไม่มีอุปสรรคเนื่องจากการเจ็บป่วยเป็นต้น และกำหนดให้ถือชดสำหรับผู้ที่มีอุปสรรคที่สามารถหายได้เช่นการเดินทาง มีรอบเดือน และเลือดหลังคลอดบุตร และกำหนดให้จ่ายอาหารสำหรับผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอดและไม่สามารถือชดได้เช่น คนแก่ชรา เป็นต้น
- ใครก็ตามที่เสียชีวิตในขณะที่เขายังมีศีลอดที่ค้างอยู่ หากว่าเขามีอุปสรรคในการถือศีลอดเนื่องจากเจ็บป่วยเป็นต้น ก็ไม่จำเป็นแก่(วะลีย์)ของเขาที่จะต้องถือศีลอดชดให้กับเขา แต่ถ้าหากว่าเขามีโอกาสถือศีลอดชดแต่เขาไม่ได้ถือจนเขาเสียชีวิตลง กรณีนี้จำเป็นที่วะลีย์ของเขาจะต้องถือศีลอดชดให้กับเขา
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮา เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสลลัม ได้กล่าวว่า
«مَنْ مَاتَ وَعَلَيْهِ صِيَامٌ صَامَ عَنْهُ وَلِيُّهُ»
ความว่า "ใครก็ตามที่เสียชีวิตในขณะที่เขายังมีศีลอดที่ค้างอยู่ ดังนั้นวะลีย์ของเขาจงถือศีลอดแทน" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 1952 และมุสลิม : 1147)
- ใครก็ตามที่ไม่ได้ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน หรือไม่ได้ถือวันใดวันหนึ่งของมันโดยที่เขารู้ เจตนา ไม่ได้ลืม และไม่มีอุปสรรคใดๆ นั้น ไม่มีบัญญัติให้เขาถือศีลอดชดและถือว่าการถือชดใช้ไม่ได้ และถือว่าเขาได้ทำบาปใหญ่ จำเป็นที่จะต้องขออภัยโทษต่อเอกองค์อัลลอฮฺและขออภัยจากพระองค์
- ใครก็ตามที่เสียชีวิตในขณะที่เขายังมีศีลอด หัจญ์ อิอฺติกาฟ หรืออื่นๆ ที่บนบานค้างอยู่ สุนัตให้ผู้เป็นวะลีย์ นั่นคือผู้ที่มีสิทธิ์รับมรดกจากเขาทำชดแทนเขา และถ้าหากว่าผู้อื่นทำแทนก็ถือว่าใช้ได้เช่นกัน
- ใครก็ตามที่มีเจตนาละศีลอด ถือว่าเขาได้ละศีลอดแล้ว เนื่องการถือศีลอดนั้นมีสองหลักการ นั่นคือการตั้งเจตนาและการละเว้นจากสิ่งที่ทำให้ศีลอดเสีย ดังนั้นเมื่อเขามีเจตนาละศีลอดหลักการแรกก็ถือว่าตกไป เพราะเจตนานั้นคือฐานของการประกอบศาสนกิจ
- ใครก็ตามที่นอนในคืนที่สามสิบของเดือนชะอฺบาน และเขาได้กล่าวว่า หากว่าวันพรุ่งนี้เป็นเดือนเราะมะฎอนฉันก็จะถือศีลอด และแล้วก็ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่หนึ่งของเดือนเราะมะฎอน กรณีเช่นนี้ถือว่าการถือศีลอดของเขาใช้ได้
- การห้ามนั้น หากว่ามันห้ามถึงอิบาดะฮฺหนึ่งถือว่าการปฏิบัตินั้นหะรอมและเป็นโมฆะ เช่นการถือศีลอดในวันอีดทั้งสอง ซึ่งการถือศีลอดในวันนั้นถือว่าหะรอมและเป็นโมฆะ และถ้าหากว่าการห้ามนั้นคือการห้ามคำพูดหรือการกระทำที่เฉพาะเจาะจงกับอิบาดะฮฺใดอิบาดะฮฺหนึ่งแล้ว ถือว่าการปฏิบัติข้อห้ามนั้นทำให้อิบาดะฮฺนั้นเป็นโมฆะ เช่นห้ามกินสำหรับผู้ที่ถือศีลอด(เมื่อเขากินการถือศีลอดก็เป็นโมฆะ) และถ้าหากว่าการห้ามนั้นเป็นการห้ามโดยทั่วไปโดยไม่เจาะจงเฉพาะอิบาดะฮฺนั้นๆ หรืออื่นๆ ด้วย ถือว่าการปฏิบัติข้อห้ามนั้นไม่ได้ทำให้อิบาดะฮฺนั้นๆ เป็นโมฆะ เช่นการนินทา(ซึ่งมันถูกห้ามโดยทั่วไปอยู่แล้ว)สำหรับผู้ที่ถือศีลอด มันเป็นสิ่งที่หะรอมแต่ว่ามันไม่ได้ทำให้ศีลอดเสีย และในอิบาดะฮฺอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน