มารยาทในการหยอกล้อ
หมวดหมู่
Full Description
มารยาทในการหยอกล้อ
آداب المزاح
ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน
فيصل عبدالهادي
مراجعة: صافي عثمان
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
มารยาทในการหยอกล้อ
ปาก นอกจากจะมีหน้าที่เคี้ยวอาหารก่อนที่จะถูกลำเลียงลงสู่กระเพาะแล้ว มันยังมีหน้าที่อีกอย่างที่สำคัญไม่หย่อนกว่ากัน นั่นคือเอาไว้พูดสื่อสารระหว่างกัน และเพื่อเป็นการเพิ่มอรรถรสในการพูด ก็ต้องมีการหยอกล้อเย้าแหย่กันบ้าง
บางคนอาจประสงค์ดีในการหยอกล้อ อยากให้คนรอบข้างมีความสุข แต่พอเย้าเข้าหน่อยกลับกลายเป็นการเอาความทุกข์ไปทับถมเขาเสียนี่
บางทีแทนที่คนรอบข้างจะมารุมล้อม อาจกลายเป็นมาล้อมรุมแทน
ฉะนั้นสมควรอย่างยิ่งยวดที่เราจักต้องศึกษา และทำความเข้าใจถึงกรอบและมารยาทที่อิสลามได้วางไว้ในการหยอกล้อ เพราะ...
“คำพูดหนึ่งคำอาจเป็นเหตุให้ผู้พูดเข้าสู่สวนสวรรค์ แต่ในทางกลับกันมันอาจเป็นชนวนให้ผู้พูดตกขุมนรกก็อาจเป็นไปได้”
มารยาทในการหยอกล้อ
1. ไม่หยอกล้อในเชิงดูถูกดูแคลนหรือเย้ยหยันในคำสอนของศาสนา
ไม่ว่าคำสอนนั้นจะเป็นวาญิบหรือสุนัตก็ตามที เช่นการละหมาด การไว้เครา การสวมหิญาบ เป็นต้น เพราะการกระทำเช่นนั้นก็เสมือนกับการดูถูกดูแคลนผู้ที่ประทานคำสอนเหล่านั้นมา นั่นคือเอกองค์อัลลอฮฺ –สุบหานะฮุ วะตะอาลา- ซึ่งเป็นผลให้ผู้ที่กระทำเช่นนั้นหลุดพ้นจากสภาพความเป็นมุสลิม (มุรตัด)
อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:
«وَلَئِن سَأَلْتَهُمْ لَيَقُولُنَّ إِنَّمَا كُنَّا نَخُوضُ وَنَلْعَبُ قُلْ أَبِاللهِ وَآيَاتِهِ وَرَسُولِهِ كُنتُمْ تَسْتَهْزِئُونَ، لاَ تَعْتَذِرُواْ قَدْ كَفَرْتُم بَعْدَ إِيمَانِكُمْ... »
ความว่า: และถ้าหากเจ้าได้ถามพวกเขา แน่นอนพวกเขาจะกล่าวว่า แท้จริงพวกเราเป็นแต่พูดสนุกและพูดเล่นเท่านั้น จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่าต่ออัลลอฮฺและโองการของพระองค์และเราะสูลของพระองค์กระนั้นหรือที่พวกท่านเย้ยหยันกัน พวกท่านอย่าแก้ตัวเลย แท้จริงพวกท่านได้ปฏิเสธศรัทธาแล้ว หลังจากมีการศรัทธาของพวกท่าน... [อัตเตาบะฮฺ:65-66]
การดูถูกดูแคลนหรือเย้ยหยันคำสอนของศาสนานั้น บางอุละมาอฺได้แบ่งออกเป็นสองประเภท นั่นคือ
- การเย้ยหยันโดยทางตรง เช่นการพูดดูถูกดูแคลนการละหมาด เป็นต้น
- การเย้ยหยันโดยทางอ้อม ซึ่งจะเป็นในรูปแบบของการแสดงท่าทางที่สื่อถึงการเย้ยหยัน เช่นการแลบลิ้นต่อคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นต้น
นอกจากการเย้ยหยันคำสอนแล้ว การเย้ยหยันผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอน เนื่องจากเขาได้ปฏิบัติตามคำสอนนั้น ๆ ก็ถือว่าเหมือนกับการเย้ยหยันคำสอนนั้น ๆ เช่นการพูดดูถูกดูแคลนคนที่ไว้เคราเนื่องจากเขาได้ไว้เครา เป็นต้น
2. ไม่หยอกล้อนอกจากเรื่องสัจจริง
การพูดปดมดเท็จถือเป็นบาปใหญ่ในศาสนาอิสลาม อีกทั้งมันยังเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของพวกมุนาฟิก ดังที่ท่านนบี –ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ได้กล่าวว่า:
«آية المنافق ثلاث: إذا حدث كذب، وإذا وعد أخلف، وإذا اؤتمن خان»
ความว่า: สัญลักษณ์ของพวกมุนาฟิกมีอยู่สามประการ เมื่อเขาพูดเขาก็โกหก เมื่อเขาทำสัญญาเขาก็เบี้ยว และเมื่อเขาถูกมอบความไว้วางใจเขาก็ไม่ซื่อสัตย์ [บันทึกโดยอัลบุคอรีย์: 33 และมุสลิม: 208]
ถึงแม้ว่าการหยอกล้อจะเป็นที่อนุญาต แต่ถ้าสื่อของการหยอกล้อเป็นสิ่งที่หะรอม โดยการแต่งเนื้อปั้นเรื่องโดยไม่มีมูลความจริง มันก็ทำให้การหยอกล้อนั้นเป็นสิ่งที่หะรอม
ท่านนบี –ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ได้กล่าวว่า:
«ويل للذي يحدث فيكذب ليضحك به القوم ويل له»
ความว่า: ความหายนะจงประสบแก่ผู้ที่พูดแล้วเขาก็โกหก เพื่อให้หมู่ชนหัวเราะ ความหายนะจงประสบแก่เขา [บันทึกโดยอบูดาวูด: 4982]
3. ไม่หยอกล้อโดยทำให้เกิดความหวาดกลัวหรือตกใจ
ท่านนบี –ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- กล่าว่าว่า:
«لا يحل لمسلم أن يروع مسلما »
ความว่า: ไม่อนุญาตให้มุสลิมสร้างความหวาดกลัวแก่พี่น้องมุสิลมด้วยกัน [บันทึกโดยอบูดาวูด: 4996]
ตัวอย่างเช่น การเดินย่องมาข้างหลังเงียบ ๆ แล้วจี้เส้น หรือการเอาทรัพย์สินไปซ่อน เป็นต้น
ท่านอัลอิซ อิบนุ อับดุสสลามได้กล่าวไว้ในหนังสือ “เกาะวาอิดุลอะหฺกาม” ว่า:
“ส่วนการปฏิบัติของคนทั่วไปโดยการเอาทรัพย์สิน (ไปซ่อน) เพื่อหยอกล้อนั้น การปฏิบัติเช่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องห้าม เพราะมันเป็นการทำให้เจ้าทรัพย์สินมีความวิตกกลัว”
การหยอกล้อโดยทำให้คนอื่นหวาดกลัวหรือตกใจถึงแม้ว่าจะทำให้ผู้ที่หยอกล้อมีความสุขและสนุก แต่ทว่ามันไม่ได้ทำให้ผู้ที่ถูกหยอกล้อนั้นมีความสุขแต่ประการใด และในบางครั้งมันยังอาจส่งผลกระทบต่อภาวะจิตใจหรือร่างกายของผู้ที่ถูกหยอกล้ออีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่งที่เราจะสรรหาความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น
4. ไม่หยอกล้อในเชิงดูถูกคนอื่น
อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:
﴿ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا يَسْخَرْ قَومٌ مِّن قَوْمٍ عَسَى أَن يَكُونُوا خَيْراً مِّنْهُمْ وَلَا نِسَاء مِّن نِّسَاء عَسَى أَن يَكُنَّ خَيْراً مِّنْهُنَّ وَلَا تَلْمِزُوا أَنفُسَكُمْ وَلَا تَنَابَزُوا بِالْأَلْقَابِ بِئْسَ الاِسْمُ الْفُسُوقُ بَعْدَ الْإِيمَانِ ﴾
ความว่า: โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย ชนกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยชนอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีชนกลุ่มที่ถูกเยอะเย้ยนั้นจะดีกว่าชนกลุ่มที่เยาะเย้ย และสตรีกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยสตรีอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีสตรีที่ถูกเยาะเย้ยจะดีกว่ากลุ่มที่เยาะเย้ย และพวกเจ้าอย่าได้ตำหนิตัวของพวกเจ้าเอง และอย่าได้เรียกกันด้วยฉายาที่ไม่ชอบ ช่างเลวทรามจริง ๆ ที่บรรดาผู้ศรัทธาเรียกว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนภายหลังจากที่ได้มีการศรัทธากันแล้ว และผู้ใดไม่สำนึกผิด ชนเหล่านั้นคือบรรดาผู้อธรรม [อัลหุญุร็อต : 11]
ท่านอิบนุกะษีรฺกล่าวว่า: ความหมายคือการดูถูก เหยียดหยาม ดูหมิ่น ปวงประการเหล่านี้คือสิ่งที่หะรอมและถือเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของพวกมุนาฟิก
จุดประสงค์ของการหยอกล้อคือ เพื่อสร้างบรรยากาศของความสุข แต่การหยอกล้อในเชิงดูถูกเหยียดหยามนั้น มันจะสร้างบรรยากาศของการเป็นศัตรูมากกว่า
ท่านนบี –ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ได้กล่าวว่า:
المسلم أخو المسلم لا يظلمه ولا يخذله ولا يحقره، التقوى ها هنا - ويشير إلى صدره ثلاث مرات - بحسب إمرىء من الشر أن يحقر أخاه المسلم. كل المسلم على المسلم حرام؟ دمه، وماله، وعرضه
ความว่า: มุสลิมคือพี่น้องของมุสลิม เขาจะไม่อยุติธรรม ไม่ทอดทิ้ง และไม่ดูถูกพี่น้องของเขา การตักวาอยู่ที่นี้ –และท่านก็ชี้ไปที่อกของท่านสามครั้ง- เป็นทีเพียงพอแล้วสำหรับความชั่วแก่คน ๆ หนึ่งโดยที่เขาดูถูกพี่น้องของเขา มุสลิมทุกคนเป็นที่หะรอมแก่มุสลิมด้วยกันซึ่งเลือดเนื้อ ทรัพย์สมบัติ และเกียตริศักดิ์ศรี ของเขา [บันทึกโดยมุสลิม: 6487]
5. หยอกล้อแต่พอดีพองาม
การงานใดก็แล้วแต่ที่ศาสนาอนุญาตหากปฏิบัติเกินความพอดีแล้ว จากที่อนุญาตอาจะเป็นหะรอม
ท่านอิบนุหะญัรฺได้กล่าวว่า:
“การหยอกล้อที่ต้องห้ามคือ การหยอกล้อที่เกินพอดีและปฏิบัติจนเป็นนิจ เนื่องจากมันทำให้หันเหออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และขบคิดถึงปวงประการที่สำคัญในศาสนา และมันยังส่งผลให้จิตใจแข็งกระด้าง ก่อความเดือดร้อน เกลียดชัง และยังทำให้ไม่มีความน่าเกรงขามและน่านับถือ”
ท่านนบี –ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ได้กล่าวว่า:
«لا تكثر الضحك فإن كثرة الضحك تميت القلب»
ความว่า: ท่านจงอย่าหัวเราะมาก เพราะการหัวเราะมาก ๆ ทำให้หัวใจตายด้าน [บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ: 4193]
ดังนั้นจงให้การหยอกล้อเสมือนกับเกลือในอาหาร หากไม่ใส่เลยอาหารก็จะไม่ได้รสชาติ แต่หากใส่มากเกินไปอาหารก็จะเสียรสชาติ เติมนิดใส่หน่อย อาหารจะได้อร่อย
6. คำนึงถึงคู่สนทนา
มนุษย์มีวัยและสถานะภาพที่แตกต่างกัน การหยอกล้อกับเด็ก ๆ ย่อมไม่เหมือนกับการหยอกล้อกับผู้หลักผู้ใหญ่ การหยอกล้อกับเพื่อนสนิทมิตรสหายก็ย่อมไม่เหมือนกับการหยอกล้อกับคนที่เพิ่งจะรู้จัก ดังนั้นในการหยอกล้อจึงควรคำนึงถึงจุดนี้ด้วย ไม่ใช่เหมารวมหมดเลย เพราะบางถ้อยคำอาจดูดีเมื่อใช้กับบางคน แต่มันจะดูแย่เมื่อใช้กับอีกบางคน
และการคำนึงถึงคู่สนทนานี้ยังแสดงถึงการมีมารยาท การให้เกียรติ และยังเป็นการแสดงถึงการสานสัมพันธ์ดีที่อีกด้วย
7. ไม่หยอกล้อโดยการนินทา
การนินทากลายเป็นอาหารจานเด็ดอันโอชะสำหรับวงสนทนาไปแล้ว อาจเป็นเพราะด้วยความสนุกปากหรืออยากฟัง ทั้งอาจโดยตั้งใจหรือปากพาไป เลยทำให้บุคคลที่สามที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่กลายเป็นเป้าล่อในวงสนทนาโดยปริยาย บางคนกลับทึกทักเอาเองว่าคงไม่เป็นไร เพราะเป็นเพียงการหยอกล้อเย้าเล่น แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นไม่
การนินทาคือ การกล่าวถึงบุคคลที่สามในสิ่งที่เขาไม่พอใจ ดังที่ท่านนบี –ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ได้กล่าวว่า:
«ذكرك أخاك بما يكره»
ความว่า: (การนินทาคือ) การที่ท่านกล่าวถึงพี่น้องของท่านในสิ่งที่เขาไม่พอใจ [มุสลิม: 6536]
ฉะนั้นการพูดถึงคนอื่นในทางลับหลังโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ ถือว่าเป็นการนินทา และอัลลอฮฺได้อุปมาคนที่นินทาคนอื่นเสมือนกับผู้ที่ได้กินเลือดเนื้อพี่น้องของเขา พระองค์ได้ตรัสว่า:
﴿ولا يغتب بعضكم بعضاً أيحب أحدكم أن يأكل لحم أخيه ميتاً فكرهتموه واتقوا الله إن الله تواب رحيم﴾
ความว่า: และบางคนในหมู่พวกเจ้าจงอย่านินทาซึ่งกันและกัน คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้านั้นชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ พวกเจ้าย่อมเกลียดมัน และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ [อัลหุญุรอต:12]
ท่านอัมรฺ อิบนุ อัลอาศและสหายของท่านได้เดินผ่านซากลอที่เน่าเฟะ เมื่อเห็นดังนั้นท่านอัมรฺจึงกล่าวขึ้นว่า “การที่พวกท่านกินเนื้อล่อที่เน่าเฟะนี้จนอิ่มท้อง ยังดีกว่าที่ท่านจะกินเลือดเนื้อพี่น้องมุสลิมของท่าน (หมายถึงการนินทา)”
ดังนั้นจงอย่าให้วงสนทนาของเรามีกับแกล้มที่เป็นเลือดเนื้อพี่น้องของเราร่วมอยู่ด้วยเด็ดขาด