×
การเช็ดบนรองเท้าคุฟ ถุงเท้า ผ้าโพกหัว ฯลฯ จากหนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    การเช็ดบนรองเท้าคุฟ

    [ ไทย ]

    المسح على الخفين

    [ باللغة التايلاندية ]

    มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์

    محمد بن إبراهيم بن عبدالله التويجري

    แปลโดย: ดานียา เจะสนิ

    ترجمة: دانيا جيء سنيك

    ตรวจทาน: อัสรัน นิยมเดชา

    مراجعة: عصران نيئيوم ديشا

    จากหนังสือ: มุคตะศ็อร อัล-ฟิกฮฺ อัล-อิสลามีย์

    المصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي

    สำนักงานความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด

    المكتب التعاوني للدعوة وتوعية الجاليات بالربوة بمدينة الرياض

    1429 – 2008

    5- การเช็ดคุฟทั้งสองข้าง

    ระยะเวลาที่อนุญาตให้เช็ดบนรองเท้าคุฟได้

    การเช็ดบนรองเท้าคุฟ (รองเท้าหนังเหมือนถุงเท้าที่หุ้มถึงข้อเท้า) ขณะอาบน้ำละหมาดสำหรับผู้ที่มิได้เดินทางอนุญาตให้ ได้ 1 วัน 1 คืน สำหรับผู้ที่เดินทางอนุญาตให้ได้เป็นเวลา 3 วัน 3 คืนโดยเริ่มนับจากการเช็ดครั้งแรกหลังจากสวมใส่

    มีรายงานจากท่านอะลี อิบนฺอะบียฺฏอลิบเราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า

    جَعَلَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهم عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ثَلَاثَةَ أَيَّامٍ وَلَيَالِيَهُنَّ لِلْمُسَافِرِ وَيَوْمًا وَلَيْلَةً لِلْمُقِيمِ

    ความว่า “ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำหนดให้การเช็ดบนรองเท้าคุฟนั้นใช้ได้เป็นเวลา 3 วัน 3 คืนสำหรับผู้ที่เดินทางและ1 วัน 1 คืน สำหรับผู้ที่มิได้เดินทาง” (บันทึกโดยมุสลิม เลขที่: 276)

    เงื่อนไขในการเช็ดบนรองเท้าคุฟ

    รองเท้าคุฟที่สวมนั้นต้องเป็นสิ่งที่อนุญาตให้สวมใส่ได้ ต้องเป็นสิ่งที่สะอาดปราศจากนะญิส ต้องมีการสวมในขณะที่อยู่ในสภาพที่มีน้ำละหมาด ต้องจำกัดการเช็ดดังกล่าวเพียงในกรณีการชำระหะดัษเล็กเท่านั้น และต้องอยู่ในระยะเวลาที่อนุญาตสำหรับผู้ที่มิได้เดินทางและผู้ที่เดินทางเท่านั้น

    วิธีการเช็ดบนรองเท้าคุฟ

    ให้เอามือจุ่มน้ำแล้วใช้ฝ่ามือขวาเช็ดส่วนบนรองเท้าคุฟข้างขวาขึ้นมาจนถึงหน้าแข้งโดยลูบเพียงครั้งเดียวไม่จำเป็นต้องเช็ดส่วนล่างและส่วนหลังของรองเท้าคุฟ แล้วเช็ดข้างซ้ายด้วยฝ่ามือซ้ายด้วยวิธีการเดียวกัน

    · ผู้ใดที่ได้ทำการเช็ดบนรองเท้าคุฟในขณะเดินทาง ได้หนึ่งวัน หลังจากนั้นก็กลับสู่บ้านของตน ก็จะถือตามระยะเวลาที่กำหนดสำหรับผู้ที่มิได้เดินทางนั่นคือ 1 วัน 1 คืน และผู้ที่ได้ทำการเช็ดบนรองเท้าคุฟในขณะที่มิได้เดินทาง ต่อมาเขาได้เดินทางออกจากบ้านก็จะถือตามระยะเวลาการเช็ดของผู้ที่เดินทาง คือ 3 วัน 3 คืน

    · การเช็ดบนรองเท้าคุฟ จะถือว่าเป็นโมฆะใช้ไม่ได้ ด้วยสิ่งต่อไปนี้

    1- เมื่อถอดรองเท้าคุฟออกจากเท้า

    2- เมื่อจำเป็นต้องอาบน้ำญะนาบะฮฺ

    3- เมื่อครบกำหนดเวลาที่เป็นที่อนุญาต

    ส่วนสภาพความสะอาดของร่างกายนั้นยังคงอยู่ถึงแม้ว่าหลังจากหมดระยะเวลาการเช็ดก็ตาม นอกจากว่า จะกระทำในสิ่งที่ทำให้วุฎุอ์ใช้ไม่ได้

    วิธีการเช็ดบนผ้าโพกศีรษะและผ้าคลุมศีรษะ

    อนุญาตให้ทำการเช็ดบนผ้าโพกศีรษะสำหรับผู้ชายและบนผ้าคลุมศีรษะสำหรับผู้หญิงเมื่อมีความจำเป็น โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา

    โดยจะต้องเช็ดบนส่วนใหญ่ของผ้าโพกหรือผ้าคลุมศีรษะ และที่ดีควรเป็นผ้าโพกหรือผ้าคลุมศีรษะ ที่สวมใส่ในสภาพที่สะอาด

    โดยมีรายงานจากท่านอัมรฺ อิบนฺ อุมัยยะฮฺเราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า

    رَأَيْتُ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهم عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَمْسَحُ عَلَى عِمَامَتِهِ وَخُفَّيْهِ

    ความว่า “ฉันเห็นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เช็ดบนผ้าโพกศีรษะ และลูบบนรองเท้าคุฟทั้งสองของท่าน” (รายงานโดยอัลบุคอรียฺ เลขที่ : 205)

    · อนุญาตให้เช็ดบนรองเท้าคุฟทั้งสอง ถุงเท้าทั้งสอง รองเท้าทั้งสอง ผ้าโพกและผ้าคลุมศีรษะได้ในกรณีการชำระหะดัษเล็ก เช่นการปัสสาวะ การอุจจาระ และนอนหลับเป็นต้น แต่หากในกรณีเกิดหะดัษใหญ่ เช่นมีญะนาบะฮฺในระยะเวลาการเช็ด ก็ไม่อนุญาตให้เช็ดอีก แต่จำเป็นต้องอาบน้ำยกหะดัษให้ทั่วทั้งร่างกาย

    วิธีการเช็ดบนบาดแผลที่เข้าเฝือกหรือมีผ้าพันแผล

    สำหรับผู้ที่มีบาดแผลเข้าเฝือกหรือมีผ้าพันแผลอยู่ที่อวัยวะนั้นจำเป็นต้องทำการเช็ดบนบาดแผลที่เข้าเฝือกหรือมีผ้าพันแผลแทนการล้าง จนกระทั่งถอดออก ไม่ว่าจะเป็นเวลานานเท่าใด ทั้งนี้ถึงแม้จะมีญะนาบะฮฺและจะเข้าเฝือกหรือพันแผลในสภาพที่ไม่มีน้ำละหมาดก็ตาม

    · สำหรับแผลที่ไม่มีสิ่งใดปิดนั้นจำเป็นต้องล้างด้วยน้ำ แต่หากล้างด้วยน้ำแล้วก่อให้เกิดอันตราย ก็อนุญาตให้ทำการเช็ดด้วยน้ำแทนได้ และหากเช็ดด้วยน้ำแล้วจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย หรือทำให้อาการเจ็บป่วยทวีความรุนแรงยิ่งขื้น หรือทำให้อาการเจ็บป่วยหายช้าลงอนุญาตให้ทำการตะยัมมุมแทนได้ สำหรับแผลที่มีบางอย่างปิดไว้นั้นอนุญาตให้ทำการเช็ดด้วยน้ำได้และหากเช็ดด้วยน้ำแล้วจะทำให้เกิดผลเสีย อนุญาตให้ทำการตะยัมมุมแทนได้

    · ไม่มีการกำหนดระยะเวลาการใช้การเช็ดคุฟสำหรับผู้ที่เดินทางที่ไม่มีเวลาที่จะถอดหรือใส่เนื่องจากงานของเขาที่จะต้องรีบเดินทางหรือยุ่งกับการทำงานที่จำเป็น เช่น นักดับเพลิง นักบรรเทาภัย หรือผู้ส่งสารที่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาวมุสลิมเป็นต้น