×
การอาบน้ำละหมาด จากหนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์ โดยเชค มุัหัมมัด อัต-ตุวัยญิรีย์

    การทำวุฎูอ์(อาบน้ำละหมาด)

    [ ไทย ]

    الوضوء

    [ باللغة التايلاندية ]

    มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์

    محمد بن إبراهيم بن عبدالله التويجري

    แปลโดย: ดานียา เจะสนิ

    ترجمة: دانيا جيء سنيك

    ตรวจทาน: อัสรัน นิยมเดชา

    مراجعة: عصران نيئيوم ديشا

    จากหนังสือ: มุคตะศ็อร อัล-ฟิกฮฺ อัล-อิสลามีย์

    المصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي

    สำนักงานความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด

    المكتب التعاوني للدعوة وتوعية الجاليات بالربوة بمدينة الرياض

    1429 – 2008

    4 - การทำวุฎูอ์(อาบน้ำละหมาด)

    ความหมายของวุฎูอ์

    การทำวุฎูอ์ หรือการอาบน้ำละหมาด คือ การชำระล้างทำความสะอาดโดยใช้น้ำที่สะอาดล้างอวัยวะทั้งสี่คือใบหน้า มือรวมถึงแขน ศีรษะ และเท้า ด้วยวิธีการที่เฉพาะตามที่ได้บัญญติในอิสลาม

    ความสำคัญของการทำวุฎูอ์

    มีหะดีษรายงานจากท่านอบูหุร็อยเราะฮฺเราะฎิยัลลอฮุอันฮุกล่าวว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวแก่ท่านบิลาล เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า

    يَا بِلَالُ حَدِّثْنِي بِأَرْجَى عَمَلٍ عَمِلْتَهُ فِي الْإِسْلَامِ، فَإِنِّي سَمِعْتُ دَفَّ نَعْلَيْكَ بَيْنَ يَدَيَّ فِي الْجَنَّةِ، قَالَ " مَا عَمِلْتُ عَمَلًا أَرْجَى عِنْدِي أَنِّي لَمْ أَتَطَهَّرْ طَهُورًا فِي سَاعَةِ لَيْلٍ أَوْ نَهَارٍ إِلَّا صَلَّيْتُ بِذَلِكَ الطُّهُورِ مَا كُتِبَ لِي أَنْ أُصَلِّيَ

    “โอ้บิลาล ท่านจงบอกฉันมาว่าการงาน(อะมัล)ในอิสลามนั้นการงานใดที่ท่านทำแล้ว ท่านมีความหวังกับผลของการงานนั้นมากที่สุด เพราะฉันได้ยินเสียงก้าวจากรองเท้าของท่านบนสวรรค์" ท่านบิลาลจึงตอบว่า “ไม่มีการงานใดที่ฉันหวังมากที่สุดเท่ากับการอาบน้ำละหมาดในตลอดเวลาของฉัน แล้วฉันได้ทำละหมาดด้วยน้ำละหมาดนั้นๆไม่ว่าจะเป็นกลางคืนหรือกลางวัน เท่าที่ฉันจะละหมาดได้” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัลบุคอรียฺ เลขที่ : 1149 สำนวนนี้เป็นของอัลบุคอรียฺและมุสลิม เลขที่: 2458)


    ความสำคัญของการเนียต(ตั้งเจตนา)

    การตั้งเจตนาเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้การงานหนึ่งการงานใดถูกต้อง ถูกรับพิจารณาและได้รับผลตอบแทนในที่สุด สำหรับที่ที่ใช้ตั้งเจตนานั้นคือหัวใจ และการตั้งเจตนาเป็นสิ่งจำเป็นต่อทุกๆการงาน เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    إِنَّمَا الْأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ وَإِنَّمَا لِكُلِّ امْرِئٍ مَا نَوَى

    ความว่า “แท้จริงในทุกๆการงานนั้นจะขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนา และแท้จริงบุคคลแต่ละคนนั้นจะได้รับผลตามสิ่งที่เขาได้ตั้งเจตนาไว้” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัลบุคอรียฺ เลขที่ : 1 สำนวนนี้เป็นของอัลบุคอรียฺและมุสลิม เลขที่: 1907)

    · การตั้งเจตนาทางศาสนบัญญัติมีความหมายว่า การตั้งใจทำอิบาดะฮฺเพื่อสู่ความใกล้กับอัลลอฮฺ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

    1- ตั้งเจตนาทำการงานใดการงานหนึ่ง เช่น ตั้งใจอาบน้ำละหมาด ตั้งใจอาบน้ำ ตั้งใจละหมาด เป็นต้น

    2- ตั้งเจตนาสู่เป้าหมายแห่งการงาน นั่นคืออัลลอฮฺ เช่น ตั้งใจอาบน้ำละหมาด ตั้งใจอาบน้ำ ตั้งใจละหมาดหรืออื่นๆเพื่อสู่ความใกล้กับอัลลอฮฺ เพียงหนึ่งเดียว และส่วนนี้มีความสำคัญกว่าส่วนแรก

    · การรับการงานหนึ่งการงานใดนั้นมีเงื่อนไขอยู่ 2 ประการคือ ต้องอิคลาศ(มีเจตนาที่บริสุทธิ์)ต่ออัลลอฮฺ และต้องทำตามแบบอย่างที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ทำไว้

    · ความหมายของการอิคลาศ(มีเจตนาที่บริสุทธิ์)

    การอิคลาศ(มีเจตนาที่บริสุทธิ์)คือความเสมอต้นเสมอปลายในทุกๆ การงานของบ่าวคนหนึ่งคนใด ทั้งภายนอก ภายใน ด้วยการน้อมทำเพื่ออัลลอฮฺและขัดเกลาให้ปราศจากการโอ้อวดหรือเพื่อให้ผู้อื่นสนใจ และแก่นแท้ของการอิคลาศคือการที่ภายในจิตใต้สำนึกของคนเราสามารถที่จะควบคุม สร้างสรรค์การกระทำภายนอกได้ ดังนั้นเมื่อบ่าวคนหนึ่งมีความอิคลาศอยู่ในใจแล้ว อัลลอฮฺจะได้เลือกเขา ปลุก กระตุ้นจิตวิญญาณเขา เพื่อให้เขามีความกระตือรือร้นในการที่จะเข้าหาอัลลอฮฺ ฉะนั้นเขาจึงรู้สึกชอบและรักที่จะทำความดี รู้สึกเกลียดความชั่ว ตรงกันข้ามกับ หัวใจที่ปราศจากการอิคลาศ ซึ่งมีแต่ตามอารมณ์ ความอยากได้ บางครั้งทำไปเพราะอยากได้อำนาจ และบางครั้งทำไปเพราะอยากได้เงินทอง

    สิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติในการทำวุฎูอ์(อาบน้ำละหมาด)

    1. ต้องล้างใบหน้า ซึ่งรวมถึงการบ้วนปากและสูดน้ำเข้าจมูก

    2. ต้องล้างมือทั้งสองข้างพร้อมแขนจรดข้อศอก

    3. ต้องลูบศีรษะ พร้อมด้วยใบหูทั้งสองข้าง

    4. ต้องล้างเท้าทั้งสองข้างตลอดถึงข้อเท้า

    5. ต้องเรียงทำตามลำดับและขั้นตอนที่ได้กล่าวมา

    6. ต้องมีความต่อเนื่องกันในแต่ละขั้นตอนที่ได้กล่าวมา

    สิ่งที่สุนัต(ส่งเสริมให้ปฏิบัติ)ในการทำวุฎูอ์(อาบน้ำละหมาด)

    ให้แปรงหรือสีฟัน ให้ล้างมือทั้งสองข้างสามครั้ง ให้เริ่มการล้างหน้าด้วยการบ้วนปากแล้วสูดน้ำเข้าจมูกและสั่งน้ำออกจากจมูกก่อนที่จะล้างหน้า ให้สางเคราที่หนา ให้เริ่มข้างขวาก่อนในทุกขั้นตอน ให้ล้างซ้ำกันสองหรือสามครั้ง ให้อ่านดุอาอ์หลังเสร็จสิ้นจากการทำวุฎูอ์แล้ว และให้ละหมาดสองร็อกอะฮฺหลังวุฎูอ์

    · ตามสุนนะฮฺ (แบบอย่างของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)ในการทำวุฎูอ์นั้น ไม่ควรล้างในแต่ละขั้นตอนซ้ำกันเกินสามครั้ง และควรใช้น้ำเพียงหนึ่งลิตร และไม่ควรใช้น้ำแบบฟุ่มเฟือยหากผู้ใดใช้น้ำเกินก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี ล้ำเส้นและไม่ถูกต้อง

    · ผู้ใดที่ตื่นขึ้นมาจากการนอนหลับ เมื่อเขาต้องการที่จะทำวุฎูอ์ ด้วยการใช้มือวักน้ำในภาชนะ เขาจำเป็นต้องล้างมือก่อนสามครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    إِذَا اسْتَيْقَظَ أَحَدُكُمْ مِنْ نَوْمِهِ فَلَا يَغْمِسْ يَدَهُ فِي الْإِنَاءِ حَتَّى يَغْسِلَهَا ثَلَاثًا فَإِنَّهُ لَا يَدْرِي أَيْنَ بَاتَتْ يَدُهُ

    ความว่า “ เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่าน ตื่นขึ้นมาจากการนอนหลับ เขาอย่าได้จุ่มมือของเขาลงในภาชนะ จนกว่าเขาจะล้างมือของเขาก่อนสามครั้ง เพราะว่าเขาเองยังไม่รู้ว่าเมื่อตอนที่เขานอนหลับนั่นไม่รู้ว่ามือของเขาไปจับอะไรบ้าง” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัลบุคอรียฺ เลขที่ : 162 และมุสลิม เลขที่: 278 ซึ่งสำนวนนี้เป็นของมุสลิม)

    วิธีการทำวุฎูอ์ที่ถือว่าใช้ได้

    ให้ตั้งเจตนาเพื่อทำวุฎูอ์ แล้วบ้วนปากและสั่งจมูก หลังจากนั้นให้ล้างใบหน้า แล้วล้างมือตั้งแต่ปลายนิ้วถึงข้อศอก หลังจากนั้นให้เช็ดศีรษะพร้อมด้วยสองใบหู แล้วจึงล้างเท้าพร้อมตาตุ่ม ทั้งนี้ในแต่ละส่วนหากทำเพียงครั้งเดียวก็ถือว่าใช้ได้แล้ว หากแต่ต้องระวังเพื่อให้ทั่วถึงสมบูรณ์และให้ถูตามสอกนิ้วมือด้วย

    วิธีการทำวุฎูอ์ที่ถือว่าสมบูรณ์แบบ

    ให้ตั้งเจตนาเพื่อทำวุฎูอ์ แล้วล้างฝ่ามือและหลังมือสามครั้ง แล้วบ้วนปากและสั่งจมูกโดยใช้น้ำในวักเดียวกัน กล่าวคือครึ่งวักสำหรับใส่ปากและอีกครึ่งสำหรับสูดเข้าจมูก สามครั้งสามวัก หลังจากนั้นให้ล้างใบหน้าสามครั้ง แล้วล้างมือขวาตั้งแต่ปลายนิ้วถึงข้อศอกสามครั้งและล้างมือซ้ายในวิธีการเดียวกัน หลังจากนั้นให้เช็ดศรีษะพร้อมด้วยสองใบหูเพียงครั้งเดียวโดยเริ่มแต่ด้านหน้าแล้วลูบกลับมาด้านหน้าอีก แล้ววกลงที่ใบหูเอานิ้วชี้ชอนเช็ดภายในหู และนิ้วหัวแม่มือลูบเช็ดหลังใบหูให้ทั่ว แล้วจึงล้างเท้าขวาพร้อมตาตุ่มสามครั้งและล้างเท้าซ้ายในวิธีการเดียวกัน แล้วจึงขอดุอาอ์ด้วยดุอาอ์ที่จะกล่าวในบทต่อไป อินชาอัลลอฮฺ

    วิธีการทำวุฎูอ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

    มีรายงานจากท่านหุมรอน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ คนใช้ของท่านอุษมาน อิบนุอัฟฟาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าเขาได้เห็นท่านอุษมานเรียกให้ใครคนหนึ่งนำน้ำไปให้ท่านเพื่ออาบน้ำละหมาด แล้วท่านได้เทน้ำจากภาชนะลงบนมือทั้งสองแล้วได้ล้างมัน 3 ครั้ง แล้วท่านก็เอามือขวาจุ่มลงไปเพื่อวักน้ำขึ้นมา แล้วก็บ้วนปาก และสูดน้ำเข้าจมูก แล้วสั่งออกมา แล้วล้างใบหน้า 3 ครั้ง และล้างมือทั้งสองจนถึงข้อศอก 3 ครั้ง แล้วลูบศีรษะของท่าน(หนึ่งครั้ง) แล้วล้างเท้าทั้งสองของท่าน 3 ครั้ง แล้วท่านอุษมานก็กล่าวว่า “ฉันได้เห็นท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อาบน้ำละหมาดอย่างที่ฉันอาบนี้ แล้วท่านเราะสูลได้กล่าวว่า

    مَنْ تَوَضَّأَ نَحْوَ وُضُوئِي هَذَا ثُمَّ صَلَّى رَكْعَتَيْنِ لَا يُحَدِّثُ فِيهِمَا نَفْسَهُ غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ

    ความว่า “ใครอาบน้ำละหมาดอย่างที่ฉันอาบนี้ แล้วละหมาด 2 ร็อกอะฮฺ โดยที่เขามิได้คิดถึงสิ่งอื่นใดในขณะละหมาดสองร็อกอะฮฺนั้นแล้ว อัลลอฮฺ ก็จะยกโทษให้แก่เขาจากบาปของเขาที่แล้ว ๆ มา” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัลบุคอรียฺ เลขที่ : 159 สำนวนนี้เป็นของอัลบุคอรียฺและมุสลิม เลขที่: 226)

    · มีหลักฐานว่าบางครั้งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทำวุฎูอ์โดยล้างแต่ละอวัยวะเพียงครั้งเดียว และมีบางครั้งล้างซ้ำกันสองครั้ง และมีบางครั้งซ้ำกันสามครั้ง จึงถือว่าทั้งสามแบบนั้นเป็นสุนนะฮฺ ดังนั้นสำหรับมุสลิมแต่ละคนจึงทำได้หลากหลาย อาจเป็นบางครั้งแบบครั้งเดียว หรือบางครั้งแบบซ้ำกันก็ได้ทั้งนี้เพื่อฟื้นฟูสุนนะฮฺ

    1- รายงานจากอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา กล่าวว่า

    تَوَضَّأَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهم عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَرَّةً مَرَّةً

    ความว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ทำวุฎูอ์ โดยการล้างครั้งเดียว ครั้งเดียว” (รายงานโดยอัลบุคอรียฺ เลขที่ : 157)

    2- รายงานจากอับดุลลอฮฺ อิบนฺ ซัยดฺ กล่าวว่า

    أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهم عَلَيْهِ وَسَلَّمَ تَوَضَّأَ مَرَّتَيْنِ مَرَّتَيْنِ

    ความว่า “แท้จริงท่านนบีได้ทำวุฎูอ์ โดยการล้างซ้ำกันสองครั้ง สองครั้ง (รายงานโดยอัลบุคอรียฺ เลขที่ : 158)

    · การกระทำของมนุษย์นั้น อาจแบ่งออกได้ สองประเภท

    1- ประเภทแรกคือ ประเภทที่ทำได้ด้วยทั้งมือขวาและมือซ้าย ดังนั้นการกระทำประเภทนี้สมควรทำด้วยมือขวาก่อนหากเป็นงานที่มีเกียรติ เช่น การทำวุฎูอ์ การอาบน้ำ การสวมเสื้อผ้า การสวมรองเท้า การเข้ามัสยิด และการเข้าบ้าน เป็นต้น และสมควรทำด้วยมือซ้ายก่อนหากเป็นงานที่ไม่มีเกียรติ เช่น การออกจากมัสยิด การถอดรองเท้า และการเข้าห้องน้ำ

    2- ประเภทที่สองคือประเภทที่ทำได้ด้วยทั้งมือใดมือหนึ่ง ดังนั้นการกระทำประเภทนี้ต้องทำด้วยมือขวา หากเป็นงานที่มีเกียรติ เช่น การกิน การดื่ม การจับมือสลาม การยื่นมือรับของ การการยื่นมือให้ของ เป็นต้น และต้องทำด้วยมือซ้ายหากเป็นงานที่ไม่มีเกียรติ เช่น การอิสติจญมารฺ การจับอวัยวะเพศ และการสั่งน้ำมูก เป็นต้น

    มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า

    كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهم عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يُعْجِبُهُ التَّيَمُّنُ فِي تَنَعُّلِهِ وَتَرَجُّلِهِ وَطُهُورِهِ وَفِي شَأْنِهِ كُلِّهِ

    ความว่า “ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมนั้น ชอบเริ่มด้วยข้างขวาเมื่อท่านสวมรองเท้า เมื่อท่านหวีผม และเมื่อท่านทำความสะอาด หรือเมื่อท่านทำอะไรก็แล้วแต่” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัลบุคอรียฺ เลขที่ : 168 สำนวนนี้เป็นของอัลบุคอรียฺและมุสลิม เลขที่: 268)

    วิธีการดุอาอ์ เมื่อเสร็จสิ้นจากการทำวุฎูอ์

    1. มีรายงานจากท่านอุมัรฺ อิบนฺค็อฏฏอบเราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวความว่า “ใครก็ตามที่ทำวุฎูอ์เสร็จแล้วกล่าวว่า

    أَشْهَدُ أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ وَحْدَهُ لَا شَرِيكَ لَهُ، وَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُولُهُ، اللَّهُمَّ اجْعَلْنِي مِنَ التَّوَّابِينَ وَاجْعَلْنِي مِنَ الْمُتَطَهِّرِينَ؛ فُتِحَتْ لَهُ ثَمَانِيَةُ أَبْوَابِ الْجَنَّةِ يَدْخُلُ مِنْ أَيِّهَا شَاءَ

    ความว่า “ข้าพระองค์ ขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าใด ๆ ที่เป็นที่เคารพสักการะอย่างแท้จริงนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีภาคีใด ๆ ร่วมกับพระองค์ และข้าพระองค์ขอปฏิญาณว่ามุหัมมัด เป็นบ่าวและศาสนฑูตของพระองค์ โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ได้โปรดให้ข้าพระองค์เป็นผู้หนึ่งในหมู่ผู้ที่สำนึกผิดต่อพระองค์ และขอได้โปรดให้ข้าพระองค์เป็นหนึ่งในหมู่ผู้ที่รักษาความสะอาดด้วยเถิด” นอกจากว่าประตูสวรรค์ทั้งแปดบานจะถูกเปิดขึ้นเพื่อรับเขา โดยเขาจะเลือกเข้าทางบานไหนก็ได้” (รายงานโดยมุสลิม เลขที่: 234)

    2. มีรายงานจากท่านอะบี สะอีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวความว่า “ใครก็ตามที่ทำวุฎูอ์เสร็จแล้วกล่าวว่า

    سُبْحَانَكَ اللَّهُمَّ وَبِحَمْدِكَ، أَشْهَدُ أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا أَنْتَ، أَسْتَغْفِرُكَ وَأَتُوبُ إِلَيْكَ

    ความว่า “โอ้อัลลอฮฺมหาบริสุทธิ์และมวลการสรรเสริญมีต่อพระองค์เท่านั้น ข้าพระองค์ ขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าใด ๆ ที่จะต้องเคารพบูชานอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ข้าพระองค์ขออภัยโทษและสารภาพผิดต่อพระองค์เพียงผู้เดียว จะถูกจารึกไว้ในแผ่นจารึก แล้วประทับตราผนึกไว้ และจะไม่ถูกทำลายได้จนถึงวันกิยามะฮฺ” (รายงานโดยนะสาอียฺในอะมะลุล เยามุ วัลลัยละฮฺ เลขที่: 81 และฏ็อบเราะนียฺในอัลเอาสัฏ เลขที่: 1478 ซึ่งเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ โปรดดูในอัลสิลสิละฮฺ อัศ เศาะฮีหะฮฺ เลขที่ : 2333)

    · และหลังจากเสร็จสิ้นจากการทำวุฎูอ์แล้ว ก็อาจจะเช็ดน้ำที่เปียกด้วยผ้าหรือกระดาษชำระและอื่นๆได้