×
จากหนังสือมุคตะศ็อรฺ อัลฟิกฮิล อิสลามีย์ ประกอบด้วยเนื้อหาต่างๆ อาทิ เงื่อนไขของการละหมาด เครื่องแต่งกายในการละหมาด ขอบเขตเอาเราะฮฺของผู้ชายและผู้หญิง วิธีการชดละหมาดสำหรับผู้เดินทางที่ไม่ทันตื่นละหมาดอัลฟัจญรฺ หุก่มการเปลี่ยนเจตนาในระหว่างละหมาดอยู่ ลักษณะการแต่งกายในละหมาด สถานที่ละหมาด ผู้ที่มีประจำเดือนและผู้ที่มีญุนุบจะชดละหมาดอย่างไร วิธีการละหมาดสำหรับคนที่ไม่รู้ทิศทางกิบละฮฺ ผู้ที่ขาดสติจะชดใช้ละหมาดอย่างไร วิธีการชดละหมาดต่างๆ หุก่มสำหรับผู้ที่เผลอหลับโดยไม่ทันละหมาด หรือลืมละหมาด หุก่มการละหมาดด้วยการสวมใส่รองเท้า วิธีละหมาดของผู้ที่ไม่มีเสื้อผ้าใส่ มารยาทในการไปมัสญิด เมื่อเข้าไปในมัสญิดมุสลิมควรทำสิ่งใด หุก่มการนอนหลับในมัสญิด หุก่มการให้สลามแก่ผู้ที่กำลังละหมาดอยู่ หุก่มการจองที่ในมัสญิด

    เงื่อนไขของการละหมาด

    ﴿شروط الصلاة﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

    แปลโดย : ดานียา เจะสนิ

    ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    2010 - 1431

    ﴿شروط الصلاة﴾

    « باللغة التايلاندية »

    الشيخ محمد بن إبراهيم التويجري

    ترجمة: دانيال جيء سنيك

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي

    2010 - 1431

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    4. เงื่อนไขของการละหมาด

    เงื่อนไขของการละหมาด

    มีการวางเงื่อนไขในการละหมาดดังต่อไปนี้

    1. ผู้ละหมาดต้องเป็นมุสลิมที่สะอาดปราศจากหะดัษเล็ก และหะดัษใหญ่

    2. ร่างกาย เครื่องแต่งกายและสถานที่ละหมาดต้องสะอาดปราศจากนะญิสทั้งหลาย

    3. ต้องเข้าเวลาละหมาดแล้ว

    4. ต้องส่วมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด

    5. ต้องหันหน้าไปทางกิบละฮฺ

    6. ต้องตั้งเจตนา(เนียต)โดยการตั้งเจตนาในใจว่าจะละหมาดเวลาใด ก่อนตักบีเราะตุลอิหฺรอม โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวออกมาด้วยลิ้น

    เครื่องแต่งกายในการละหมาด

    สุนัตสำหรับมุสลิมที่จะละหมาดให้ละหมาดด้วยเครื่องแต่งการที่ดูดี สะอาด เพราะอัลลอฮฺนั้นคือผู้ที่สมควรที่สุดที่จะต้องเข้าหาพระองค์ในสภาพที่ดูดีและสะอาด สำหรับผ้าที่ใช้ใส่ ปลายผ้าข้างล่างให้ยาวอยู่ในช่วงกลางระหว่างแข้งกับข้อพับ หรือไม่ก็ให้เหนือตาตุ่ม แต่อย่าให้พ้นตาตุ่มลงมา เพราะเป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม)ในการที่จะส่วมใส่เสื้อผ้าหรืออื่นๆ ด้วยการปล่อยให้ยาวพ้นตาตุ่มลงมา(อิสบาล)ทั้งในละหมาดและนอกละหมาด

    ขอบเขตเอาเราะฮฺของผู้ชายและผู้หญิง

    (เอาเราะฮฺ)ของผู้ชายนั้นอยู่ในระหว่างสะดือและหัวเข่า ส่วนของผู้หญิงนั้นทั่วทั้งร่างเป็น(เอาเราะฮฺ)นอกจากใบหน้า สองฝ่ามือ และสองเท้า แต่หากอยู่ร่วมกับชายอื่นที่ไม่ใช่มะหฺรอมต้องปิดให้ทั่วทั้งร่างกาย

    วิธีการชดละหมาดสำหรับผู้เดินทางที่ไม่ทันตื่นละหมาดอัลฟัจญรฺ

    สำหรับผู้ที่กำลังอยู่ในการเดินทาง ด้วยความเหนื่อยทำให้นอนหลับสนิท ไม่ตื่นขึ้นมาละหมาดนอกจากหลังจากดวงอาทิตย์ขึ้นมาแล้ว สุนนะฮฺให้พวกเขารีบลุกจากที่นอน แล้วไปอาบน้ำละหมาด แล้วให้คนหนึ่งคนใดอะซาน แล้วละหมาดสุนัตสองเราะกะอะฮฺ แล้วอิกอมะฮฺ แล้วละหมาดอัลฟัจญ์รฺ

    หุก่มการเปลี่ยนเจตนาในระหว่างละหมาดอยู่

    1. ในแต่ละการกระทำที่เป็นอิบาดะฮฺนั้นจำเป็นต้องมีเจตนาเจาะจงไว้ และไม่สามารถอนุญาตให้เปลี่ยนเจตนาไปมาจากการอิบาดะฮฺหนึ่งสู่อิบาดะฮฺหนึ่งได้ เช่นเปลี่ยนจากการละหมาดอัศรฺเป็นการละหมาดซุฮรฺ และไม่อนุญาตเช่นกันที่จะเปลี่ยนจากอิบาดะฮฺที่ไม่เจาะจงไปเป็นอิบาดะฮฺที่เจาะจง เช่นเปลี่ยนจากการละหมาดสุนัตเป็นการละหมาดฟัจญ์รฺ แต่อนุญาตให้เปลี่ยนจากอิบาดะฮฺที่เจาะจงไปเป็นอิบาดะฮฺที่ไม่เจาะจง เช่นผู้ที่กำลังละหมาดใดละหมาดหนึ่งของละหมาดห้าเวลาอยู่คนเดียว หลังจากนั้นเขาเปลี่ยนละหมาดเป็นละหมาดสุนัต เพราะจะไปเข้าละหมาดพร้อมญะมาอะฮฺเป็นต้น

    2. อนุญาตให้ผู้ละหมาดเปลี่ยนเจตนาของเขาในขณะที่ละหมาดอยู่ จากการเป็นมะอ์มูม หรือว่าจากการละหมาดคนเดียวไปเป็นการละหมาดญะมาอะฮฺ หรือเปลี่ยนจากการเป็นมะอ์มูมไปเป็นการละหมาดคนเดียว หรือ จากการละหมาดวาญิบไปเป็นละหมาดสุนัต แต่ไม่อนุญาตในทางกลับกัน

    3. หากผู้ละหมาดยกเลิกเจตนาของเขาในขณะที่ละหมาดอยู่ ถือว่าการละหมาดของเขาเป็นโมฆะ จะต้องเริ่มละหมาดใหม่จากจุดแรก

    ให้ผู้ละหมาดหันหน้าหรือกายตัวเองสู่สิ่งที่มีเกียรติยิ่งใหญ่ตามที่อัลลอฮฺกำหนด นั่นคือ หันไปทางอัล-กะอฺบะฮฺ ส่วนจิตใจนั้นให้มุ่งสู่อัลลอฮฺ

    ลักษณะการแต่งกายในละหมาด

    มุสลิมผู้ละหมาดจะแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ที่ตนเองชอบ โดยไม่มีข้อห้ามใดๆ จากการแต่งกาย นอกจากด้วยสาเหตุที่มีข้อห้ามในตัวของเครื่องแต่งกายเอง เช่น ห้ามสวมใส่ผ้าไหมสำหรับผู้ชาย หรือห้ามสวมใส่เสื้อผ้าที่มีรูปภาพของสิ่งที่มีชีวิตทั้งผู้ชายและผู้หญิง หรือด้วยสาเหตุที่มีข้อห้ามในลักษณะของเครื่องแต่งกาย เช่น การละหมาดของชายคนหนึ่งด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าของผู้หญิง หรือการสวมใส่เสื้อผ้าที่ต่ำกว่าตาตุ่ม(อิสบาล)หรือด้วยสาเหตุที่มีข้อห้ามในการได้มาของเครื่องแต่งกาย เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่ปล้นหรือขโมยมาเป็นต้น

    สถานที่ละหมาด

    1. พื้นแผ่นดินทุกแห่งนั้น อนุญาตให้ทำเป็นสถานที่ละหมาดได้นอกจาก ห้องน้ำ ที่เผาขยะ สถานที่มีสิ่งปฎิกูล(นะญิส) คอกอูฐ และในสุสาน เว้นแต่จะละหมาดญะนาซะฮฺ ก็อนุญาตให้ละหมาดในสุสานได้

    2. สุนนะฮฺให้ผู้ละหมาดทำการละหมาดบนพื้นดิน และอนุญาตให้ละหมาดบนผ้าปู ผ้ารอง หรือเสื่อได้

    3. อนุญาตให้ละหมาดบนถนนได้หากมีความจำเป็น เช่น เนื่องจากความคับแคบของมัสญิด ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความต่อเนื่องของแถวละหมาดด้วย

    4. ที่ดีที่สุดสำหรับบุคคลคนหนึ่งนั้นให้เขาละหมาดในมัสญิดที่ใกล้บ้านของเขาโดยไม่จำเป็นต้องกระจายให้ทั่วทุกๆ มัสญิดนอกจากด้วยเหตุผลที่อนุญาตโดยศาสนา

    เมื่อคนบ้าหายจากอาการบ้า คนกาฟิรฺเข้ารับอิสลาม หรือคนที่หมดประจำเดือน หลังจากเข้าเวลาละหมาดหนึ่งละหมาดใดแล้ว พวกเขาจำเป็นต้องละหมาดในเวลานั้นๆ

    ผู้ที่มีประจำเดือนและผู้ที่มีญุนุบจะชดละหมาดอย่างไร

    สำหรับผู้ที่มีประจำเดือนนั้น หากหมดเลือดในเวลาละหมาดหนึ่งละหมาดใดแล้วเธอไม่ทันที่จะอาบน้ำนอกจากเวลานั้นๆ จะผ่านพ้นไป เธอจำเป็นจะต้องอาบน้ำก่อนแล้วละหมาดถึงแม้ว่าจะหมดเวลาแล้วก็ตาม เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีญุนุบ ซึ่งตื่นนอนสายหากเขาใช้เวลาอาบน้ำยกหะดัษ ดวงอาทิตย์ก็ขึ้นมาแล้ว(หมดเวลาละหมาดอัลฟัจญ์รฺ) ฉะนั้น ตามสุนนะฮฺแล้วเขาจะต้องอาบน้ำก่อนแล้วจึงละหมาดหลังจากดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ทั้งนี้เพราะว่าเวลาละหมาดของผู้ที่นอนหลับนั้นเริ่มตั้งแต่ตอนที่เขาตื่น

    วิธีการละหมาดสำหรับคนที่ไม่รู้ทิศทางกิบละฮฺ

    วาญิบสำหรับมุสลิมให้ละหมาดโดยหันหน้าไปทางกิบละฮฺ แต่หากเขาไม่รู้ว่ากิบละฮฺอยู่ทางไหนและไม่มีคนที่จะให้ถามเขาจะต้องใช้วิจารณญานตัดสินใจเองว่าทางไหน แล้วละหมาดหันไปทางที่เขามั่นใจว่าเป็นกิบละฮฺโดยที่เขาไม่จำเป็นต้องละหมาดใหม่หากรู้ทีหลังว่าทางที่เขาหันไปนั้นไม่ใช่กิบละฮฺ

    ผู้ที่ขาดสติจะชดใช้ละหมาดอย่างไร

    สำหรับผู้ที่ขาดสติอันเนื่องจากการนอนหลับ หรือเมา เขาจำเป็นจะต้องชดละหมาดเมื่อมีสติเช่นเดียวกันกับผู้ที่ขาดสติอันเป็นผลมาจากการกระทำที่อนุญาต เช่น กินพืชหรือกินยา เขาจำเป็นจะต้องชดละหมาด แต่หากเขาขาดสติโดยเหตุสุดวิสัย เช่น เป็นลมหมดสติไป เขาไม่จำเป็นต้องชดละหมาด

    วิธีการชดละหมาดต่างๆ

    มีละหมาดบางประเภทซึ่งเมื่อมีเหตุสุดวิสัยไม่ทันละหมาดในเวลาที่กำหนดก็จำเป็นต้องชดเมื่อเหตุสุดวิสัยเหล่านั้นหมดไป เช่นการละหมาดห้าเวลา และมีละหมาดอีกบางประเภทซึ่งไม่จำเป็นต้องชดเมื่อไม่ทันละหมาดในเวลาที่กำหนด เช่นการละหมาดญุมุอะฮฺ เมื่อไม่ทันก็ให้เปลี่ยนไปละหมาดซุฮรฺแทน และมีละหมาดอีกบางประเภทซึ่งไม่จำเป็นต้องชดเมื่อไม่ทันละหมาดนอกจากในเวลาของมัน เช่น การละหมาดอีด

    วาญิบต้องชดละหมาดที่ขาดไปในทันทีและชดตามลำดับ แต่หากลืม ไม่รู้ หรือกลัวว่าเวลาของการละหมาดปัจจุบันจะหมดไป หรือกลัวว่าจะไม่ทันละหมาดญุมุอะฮฺ ก็ไม่จำเป็นคำนึงถึงการเรียงลำดับอีก

    ผู้ใดที่กำลังละหมาดฟัรฎูหนึ่งอยู่ แล้วนึกขึ้นได้ว่าตังเองยังไม่ได้ละหมาดฟัรฎูก่อนหน้านั้น ให้เขาละหมาดต่อไปให้เสร็จ แล้วจึงชดละหมาดที่ยังไม่ได้ละหมาดหลังจากนั้น เช่นผู้ที่ไม่ได้ละหมาดอัศรฺ เมื่อเขาไปที่มัสญิดปรากฏว่ามีการอิกอมะฮฺละหมาดอัลมัฆริบแล้ว ให้เขาละหมาดอัลมัฆริบพร้อมอิมามก่อน แล้วจึงละหมาดอัศรฺต่อไป

    หุก่มสำหรับผู้ที่เผลอหลับโดยไม่ทันละหมาด หรือลืมละหมาด

    ผู้ใดที่เผลอหลับหรือลืมละหมาดให้เขาละหมาดชดเมื่อนึกขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวว่า

    «مَنْ نَسِيَ صَلاةً، أَوْ نَامَ عَنْـهَا، فَكَفَّارَتُـهَا أَنْ يُصَلِّيَـهَا إذَا ذَكَرَهَا»

    ความว่า “ผู้ใดที่ลืมละหมาดหรือเผลอหลับไปจนเลยเวลาละหมาดให้เขาละหมาดชดเมื่อนึกขึ้นได้" (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 597 และมุสลิม เลขที่: 684 สำนวนนี้เป็นของมุสลิม)

    หุก่มการละหมาดด้วยการสวมใส่รองเท้า

    1. มีสุนนะฮฺให้มุสลิมละหมาดด้วยการสวมใส่รองเท้าหรือคุฟฺ(รองเท้าหนังหุ้มถึงข้อเท้า)ได้ หากเป็นรองเท้าหรือคุฟฺที่สะอาดปราศจากนะญิส และให้ละหมาดโดยไม่สวมใส่ร้องเท้าในบางเวลา แต่หากผู้กลัวว่าใส่ร้องเท้าแล้วจะทำให้เปรอะเปื้อนมัสญิดหรือสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ละหมาดอื่น ก็ให้ถอดร้องเท้าละหมาด

    2. เมื่อผู้ละหมาดถอดคุฟฺหรือรองเท้าทั้งสองของเขาแล้ว ไม่อนุญาตให้ตั้งรองเท้าด้านขวา แต่ให้ตั้งไว้ระหว่างขาทั้งสองหรือไม่ก็ตั้งไว้ด้านซ้ายหากไม่มีคนละหมาด และมีสุนนะฮฺเวลาสวมใส่รองเท้าให้ใส่ทางขวาก่อน และเวลาถอดให้ถอดทางซ้ายก่อน และไม่อนุญาตให้ใช้รองเท้าข้างเดียวเวลาเดิน

    วิธีละหมาดของผู้ที่ไม่มีเสื้อผ้าใส่

    สำหรับบรรดาผู้ละหมาดที่ไม่มีเสื้อผ้าใส่และอยู่ในท่ามกลางความมืดไม่มีผู้ใดเห็นพวกเขานั้น ให้พวกเขายืนละหมาดโดยให้อิมามนำละหมาดอยู่แถวหน้า แต่หากมีแสงและอยู่ในท่ามกลางผู้คน ให้พวกเขานั่งละหมาดโดยให้อิมามนั่งในแถวตรงกลาง ซึ่งหากพวกเขามีทั้งหญิงชายรวมกันให้พวกละหมาดชายต่างหากและหญิงต่างหาก

    การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติหนึ่งบทบัญญัติใดนั้นไม่ใช่สิ่งที่อนุโลมได้เพราะความไม่รู้หรือหลงลืม ดังนั้นผู้ที่ละหมาดโดยไม่มีวุฎูอ์เพราะความไม่รู้หรือลืมนั้นจะไม่มีบาป แต่วาญิบจะต้องอาบน้ำวุฎูอ์และละหมาดใหม่เมื่อรู้หรือรู้สึกตัว เป็นต้น ผิดกับการกระทำในสิ่งที่ต้องห้ามซึ่งเป็นสิ่งที่อนุโลมได้เพราะความไม่รู้หรือหลงลืม ดังนั้นผู้ที่ละหมาดโดยใส่เสื้อผ้าที่นะญิส เพราะความไม่รู้หรือหลงลืมนั้นละหมาดของเขาใช้ได้และไม่ต้องละหมาดใหม่

    มารยาทในการไปมัสญิด

    สุนัตให้มุสลิมออกไปมัสญิดด้วยความสงบเสงี่ยม ไม่รีบเร่ง มีรายงานจากอะบูฮุร็อยเราะฮฺ(เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ)ว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)กล่าวว่า

    «إذَا ثُوِّبَ لِلصَّلاةِ فَلا تَأْتُوهَا وَأَنْتُـمْ تَسْعَونَ، وَائْتُوهَا وَعَلَيْكُمُ السَّكِينَةَ، فَمَا أَدْرَكْتُـمْ فَصَلُّوا، وَمَا فَاتَـكُمْ فَأَتِـمُّوا، فَإنَّ أَحَدَكُمْ إذَا كَانَ يَـعْمِدُ إلَى الصَّلاةِ فَهُوَ فِي صَلاةٍ»

    ความว่า “เมื่อเตรียมออกไปละหมาดท่านอย่าออกไปด้วยความรีบเร่ง แต่จงออกไปด้วยความสงบเสงี่ยม ดังนั้น หากท่านทันได้ละหมาดพร้อมอิมามกี่ร็อกอะฮฺก็จงละหมาด ส่วนที่ท่านไม่ทันนั้นก็จงเพิ่มให้สมบูรณ์ เพราะคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านนั้น เมื่อตั้งใจหรือมุ่งมั่นจะไปละหมาดแล้ว ก็ถือว่าเขากำลังละหมาดอยู่" (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 908 และมุสลิม เลขที่: 620 สำนวนนี้เป็นของมุสลิม)

    1. สุนัตให้มุสลิมเมื่อเขาออกไปมัสญิดให้ก้าวเท้าขวาก่อนเข้ามัสญิดพร้อมกับบกล่าวว่า

    «أَعُوذُ بِالله العَظِيمِ، وَبِوَجْهِهِ الكَرِيمِ، وَسُلْطَانِـهِ القَدِيمِ، مِنَ الشَّيْطَانِ الرَّجِيمِ»

    คำอ่าน อะอูซุบิลลาฮิล อะซีม วะ บิวัจญ์ฮิฮิล กะรีม วะ สุลฏอนิฮิล เกาะดีม มินัช ชัยฏอนิร เราะญีม

    ความหมาย “ข้าขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ และด้วยพระพักตร์อันทรงเกียรติของพระองค์ และด้วยอำนาจอันดั้งเดิมแห่งพระองค์ จากชัยฏอนผู้ถูกสาปแช่ง" (เป็นหะดีษเศาะฮีหฺที่บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 466)

    หรือกล่าวว่า

    «اللَّهُـمَّ افْتَـحْ لِي أَبْوَابَ رَحْـمَتِكَ»

    คำอ่าน อัลลอฮุมมัฟตะหฺ ลี อับวาบะ เราะห์มะติก

    ความหมาย “โอ้ อัลลอฮฺ ขอทรงเปิดประตูแห่งความเมตตาของพระองค์ให้กับข้าพระองค์ด้วยเถิด" (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 713)

    2. เมื่อออกจากมัสญิดสุนัตให้ก้าวเท้าซ้ายพร้อมกล่าวว่า

    «اللَّهُـمَّ إنِّي أَسْأَلُكَ مِنْ فَضْلِكَ»

    คำอ่าน อัลลอฮุมมะ อินนี อัสอะลุกะ มิน ฟัฎลิก

    ความหมาย “โอ้ อัลลอฮฺ แท้จริงข้าพระองค์ขอจากพระองค์ ซึ่งความประเสริฐแห่งพระองค์" (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 713)

    เมื่อเข้าไปในมัสญิดมุสลิมควรทำสิ่งใด

    เมื่อเข้าไปในมัสญิดมุสลิมแล้วควรให้สลามแก่คนที่อยู่ในมัสญิดก่อนหน้านั้น แล้วละหมาดตะหัยยะตุลมัสญิดสองร็อกอะฮฺ และควรใช้เวลาในมัสญิดด้วยการซิกรฺระลึกถึงอัลลอฮฺ อ่านอัลกุรอาน และละหมาดสุนัตจนกว่าจะอิกอมะฮฺ ให้พยายามจนสุดความสามารถเพื่อที่จะอยู่ในแถวแรกด้านขวาของอิมาม

    หุก่มการนอนหลับในมัสญิด

    การนอนหลับในมัสญิดเป็นบางครั้งบางคราวของผู้เดินทางหรือผู้ยากไร้ไม่มีที่พักถือว่าเป็นที่อนุญาต แต่หากจะเอามัสญิดเป็นที่พักถาวรนั้นถือว่าเป็นที่ต้องห้ามนอกจากจะเป็นผู้ที่อิอฺติกาฟฺอยู่หรือผู้ที่จำเป็นต้องพักผ่อน เป็นต้น

    หุก่มการให้สลามแก่ผู้ที่กำลังละหมาดอยู่

    สุนัตให้ผู้ที่ผ่านคนที่กำลังละหมาดอยู่ให้สลามแก่ผู้ที่กำลังละหมาดอยู่ และสุนัตผู้ละหมาดรับสลามโดยการให้สัญญานด้วยนิ้ว มือ หรือศรีษะของเขาไม่อนุญาตให้ใช้คำพูด

    มีรายงานจากท่าน ศุฮัยบฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ) กล่าวว่า

    مررت برسول الله صلى الله عليه وسلم وهو يُصَلِّي، فَسَلَّمْتُ عَلَيْـهِ، فَرَدَّ إلَيَّ إشَارَةً

    ความว่า “ฉันได้ผ่านท่านเราะสูลลอฮฺ(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)ในขณะที่ท่านกำลังละหมาดอยู่ แล้วฉันได้ให้สลามแก่ท่าน แล้วท่านได้ตอบรับสลามฉันด้วยการให้สัญญานบางอย่าง" (เป็นหะดีษเศาะฮีหฺที่บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 925 และอัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 367)

    หุก่มการจองที่ในมัสญิด

    สุนนะฮฺให้ผู้ที่จะไปนั่งที่ใดที่หนึ่งในมัสญิดนั้นไปด้วยตัวเขาเอง ซึ่งหากเขาไปตั้งเสื่อ ผ้าปูหรืออื่นๆ ก่อนเพื่อจองที่แล้วตัวเองไปทีหลังนั้น ถือว่าเขาทำผิดเจตนารมณ์ของชะรีอะฮฺสองแง่ดังนี้

    คือ ผิดที่เขามาสายทั้งๆ เขาต้องมาตั้งแต่เนิ่นๆ

    ผิดที่เขาถือวิสาสะยึดที่ใดที่หนึ่งในมัสญิดให้เป็นของพวกพ้องของตัวเองโดยห้ามผู้อื่นนอกเหนือจากพวกเขาให้ละหมาดในที่แห่งนั่น ทั้งๆ ที่เขามาก่อน ฉะนั้น สำหรับผู้ที่ไปตั้งเสื่อ ผ้าปูหรืออื่นๆ ก่อนเพื่อจองที่แล้วตัวเองไปทีหลังนั้น ให้ผู้มาก่อนใช้สิทธิของตัวเองยกเสื่อหรือผ้าปูออก แล้วละหมาดในที่นั้นๆ โดยไม่มีความผิดใดๆ ทั้งสิ้น