บททบทวนบางประการเกี่ยวกับละหมาดตะรอวีหฺ
บทความนี้ถูกแปลเป็นภาษา
หมวดหมู่
Full Description
บททบทวนบางประการ
เกี่ยวกับละหมาดตะรอวีหฺ
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ริยาฎ บิน อับดุรเราะห์มาน อัล-หุก็อยยิลฺ
แปลโดย : ซุฟอัม อุษมาน
ตรวจทานโดย : ทีมงานภาษาไทยเว็บอิสลามเฮ้าส์
ที่มา : เว็บไซต์ saaid.net
2013 - 1434
وقفات مع صلاة التراويح
« باللغة التايلاندية »
رياض بن عبدالرحمن الحقيل
ترجمة: صافي عثمان
مراجعة: فريق اللغة التايلاندية بموقع دار الإسلام
المصدر: موقع صيد الفوائد
2013 - 1434
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
บททบทวนบางประการ
เกี่ยวกับละหมาดตะรอวีหฺ
อัลหัมดุลิลลาฮฺ มวลการสรรเสริญสดุดีเป็นสิทธิแห่งอัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ขอความจำเริญและสันติสุขจงประสบแด่ผู้นำแห่งเหล่าศาสนทูต ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม
นี่คือข้อสังเกตบางประการที่เรามักจะทำผิดไม่ว่าด้วยความรู้หรือความพลั้งเผลอ ซึ่งฉันรักที่จะสะกิดให้รู้เพื่อเป็นการตักเตือนกันเพื่ออัลลอฮฺ เพื่อคัมภีร์ของพระองค์ ศาสนทูตของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และเพื่อปวงมุสลิมทั้งโดยรวมและจำเพาะ .. ขออัลลอฮฺทรงประทานความช่วยเหลือ
บททบทวนแรก สำหรับบรรดาอิมามนำละหมาด (ขออัลลอฮฺประทานเตาฟีกแก่พวกเขา)
ความผิดพลาดส่วนหนึ่งเกี่ยวกับผู้นำละหมาดคือ
1. การอ่านอัลกุรอานอย่างเร็วและละหมาดอย่างรีบเร่ง และบกพร่องในการรุกูอฺ สุญูด ฏุมะนีนะฮฺ(การรักษาจังหวะให้นิ่งในอิริยาบถการละหมาด) และคุชูอฺ (การสงบเสงี่ยมในละหมาด)
2. การเกินขอบเขตในการขอดุอาอ์ และการอ่านมันยาวๆ เพราะฉะนั้น ขอให้พี่น้องของฉันพยายามที่จะขอดุอาอ์ด้วยตัวบทที่มีสายรายงานถูกต้องและดุอาอ์ที่มีความหมายรวมครอบคลุม เพื่อท่านจะได้รับผลบุญจากการขอดุอาอ์และการตามสุนนะฮฺด้วย และท่านจะได้ปลอดพ้นจากความผิดพลาดและการทำขัดกับแนวทางของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม พึงทราบเถิดว่าการอ่านกุนูต(ในละหมาดวิติร)สม่ำเสมอนั้นไม่ใช่แนวทางของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม
3. ความเชื่อว่าจำเป็นต้องมีการเคาะตัมอัลกุรอาน ด้วยเหตุนี้จึงรีบเร่งอ่านถึงระดับที่บกพร่องและละเลยความถูกต้องในการอ่าน
4. ฉันขอเรียกร้องส่งเสริมให้บรรดาอิมามทำตามสุนนะฮฺในการละหมาดกิยาม(ตะรอวีหฺ) นั่นคือด้วยการละหมาดสิบเอ็ดหรือสิบสามร็อกอัต พร้อมๆ กับให้ละหมาดอย่างดีและอ่านยาวโดยไม่สร้างความลำบากมากเกินไป
5. พร้อมกันนั้น ขอให้พวกเขาอย่าลืมที่จะตักเตือนและชี้นำผู้คนหลังละหมาดเป็นครั้งเป็นคราวด้วย หรือระหว่างอะซานกับอิกอมะฮฺ เพราะเราะมะฎอนและค่ำคืนของมันเป็นโอกาสดีที่จะใช้เชิญชวนและตักเตือนซึ่งกัน
บททบทวนที่สอง สำหรับคนทั่วไป (ขออัลลอฮฺคุ้มครองพวกเขา)
ในจำนวนนั้นก็คือ
1. ความพยายามอย่างมากและเกินขอบเขตในการตระเวนหาและย้ายไปยังมัสยิดต่างๆ เพื่อหาอิมามที่มีเสียงอ่านไพเราะเพียงอย่างเดียว แท้จริงได้มีรายงานที่ถูกต้องมาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า
«ليصل أحدكم في المسجد الذي يليه ولا يتبع المساجد»
ความว่า "ให้พวกท่านแต่ละคนละหมาดที่มัสยิดที่อยู่ใกล้เขา และอย่าได้ตระเวนหามัสยิดต่างๆ" (บันทึกโดย อัฏ-เฏาะบะรอนีย์ ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 5456)
บรรดาสะลัฟได้ห้ามจากการกระทำดังกล่าว เนื่องจากเป็นเหตุแห่งการละทิ้งมัสยิดบางแห่งได้ เป็นการล่าช้าจากการตักบีเราะตุลอิห์รอม และมีผลเสียที่เกี่ยวข้องกับการหลงใหลในเสียงอ่านอย่างเดียว และอื่นๆ อีกหลายประการ แต่ไม่เป็นการเสียหายใดๆ ถ้าหากผู้ละหมาดจะยึดเอามัสยิดใดมัสยิดหนึ่งเพื่อละหมาดตลอดทั้งเดือนเราะมะฎอน แม้ว่าจะไม่ใช่มัสยิดในหมู่บ้านของตน ถ้าหากพบว่าการละหมาดในมัสยิดดังกล่าวสร้างความคุชูอฺและการตะดับบุรอัลกุรอานได้มากกว่า
2. การตะโกนและส่งเสียงครางเมื่อร้องไห้ หรือขึ้นเสียงดังและแสร้งร้องไห้ พฤติกรรมนี้ไม่ใช่แนวทางของสะลัฟ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุม ทว่าตัวอย่างของเราคือท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั้น ท่านจะร้องไห้เพียงแค่ได้ยินเสียงสะอื้นเหมือนน้ำที่เดือดกระเพื่อมในหม้อต้มน้ำเท่านั้น ดังนั้นการพยายามเค้นเสียงร้องไห้นั้นเป็นสิ่งที่ถูกห้าม และมันยังเป็นเหตุที่อาจชักนำสู่การโอ้อวดและก่อความรำคาญแก่ผู้ละหมาด เว้นแต่ผู้ที่ยากจะเลี่ยงหรืองดจากสภาวะดังกล่าวเขาก็ย่อมถูกยกเว้น แต่เขาก็ต้องพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างตั้งใจจริงจัง เพราะแนวทางที่ดีที่สุดคือแนวทางของท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม
3. การรู้สึกกินใจกับคำพูดของมนุษย์แต่ไม่รู้สึกอะไรกับพระดำรัสของพระผู้อภิบาลปวงมนุษย์ นั่นคือการร้องไห้เมื่อขอดุอาอ์เท่านั้น แต่ทว่ากับอัลกุรอานนั้นไม่ได้ร้องไห้ อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿لَوْ أَنزَلْنَا هَـذَا الْقُرْآنَ عَلَى جَبَلٍ لَّرَأَيْتَهُ خَاشِعاً مُّتَصَدِّعاً مِّنْ خَشْيَةِ اللهِ﴾ (الحشر : 21)
ความว่า "หากแม้นว่าเราได้ประทานอัลกุรอานนี้ลงมาบนภูเขาลูกหนึ่ง แน่นอน เจ้าต้องเห็นมันนบน้อมและแตกออกเนื่องจากความหวาดเกรงต่ออัลลอฮฺ" (อัล-หัชร์ 21)
4. บางคนนั่งพูดคุยกันรอเวลาที่อิมามจะรุกูอฺ เมื่ออิมามรุกูอฺก็เข้าไปละหมาดพร้อมกับอิมาม และจะเป็นอย่างนี้ส่วนมากในมัสยิดหะรอม การทำเช่นนี้เป็นการละทิ้งการตามอิมาม ทำให้พลาดตักบีเราะตุลอิห์รอมพร้อมอิมามและอ่านฟาติหะฮฺ ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง – โอ้พี่น้องมุสลิมที่รักของฉัน - ที่จะทำเยี่ยงดังกล่าว
5. การมองดูอัลกุรอานในละหมาดระหว่างการอ่านของอิมาม สิ่งนี้จะมีเป็นส่วนใหญ่ในมัสยิดหะรอม การทำเช่นนี้มีข้อเสียหลายประการเช่น การเคลื่อนไหวของมือทั้งสองและสายตามากเกินไป การละทิ้งสุนนะฮฺให้จับมือและวางที่หน้าอก และละทิ้งการเพ่งมองที่สุญูด เป็นต้น
6. การละหมาดพร้อมอิมามเพียงแค่สี่หรือหกร็อกอัต จากนั้นก็เลิกไปทำสิ่งที่เป็นภารกิจดุนยาต่อ การทำเช่นนี้ทำให้พลาดผลบุญที่ใหญ่หลวง เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«مَنْ قَامَ مَعَ الإمَامِ حَتَّى يَنْصَرِفَ كُتِبَ لَهُ قِيَامُ لَيْلَةٍ»
ความว่า "ผู้ใดที่ยืนละหมาดพร้อมอิมาม จนกระทั่งอิมามได้จากไป(เพราะเสร็จสิ้นจากละหมาดแล้ว) จะถูกบันทึกแก่เขาเท่ากับการยืนละหมาดทั้งคืน" (บันทึกโดยเจ้าของหนังสือสุนันทั้งหลาย เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 2417)
7. การกินมากเกินไปเมื่อละศีลอด แล้วก็มาละหมาดในขณะที่ร่างกายหนักอึ้งด้วยอาหาร ทำให้ไม่สามารถละหมาดจนเสร็จ หรือไม่ก็สร้างความรำคาญให้แก่ผู้อื่นด้วยเสียงเรอ
บททบทวนที่สาม สำหรับเหล่าสตรี (ขออัลลอฮฺปกป้องพวกนาง)
ในจำนวนนั้นก็คือ
1. การมายังมัสยิดในสภาพที่ใส่เครื่องหอม ในการนี้ย่อมขัดแย้งอย่างใหญ่หลวงกับหะดีษของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ว่า
«أيّما امرأة استعطرت، فمرت بقوم ليجدوا ريحها، فهي زانية»
ความว่า "หญิงนางใดที่ใส่น้ำหอม แล้วเดินผ่านไปยังกลุ่มคนพวกหนึ่งเพื่อให้พวกเขาได้รับกลิ่นของนาง นางก็เท่ากับเป็นผู้ทำซินา" (บันทึกโดย อะห์มัด และ อัต-ติรมิซีย์ ท่านกล่าวว่า เป็นหะดีษหะสัน เศาะฮีหฺ ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 323, 2701, 4540)
และจะเป็นเยี่ยงไรเล่าสำหรับนางที่ทำเช่นนั้นเพื่อไปเดินจับจ่ายในตลาด !!
2. การไม่ปกปิดร่างกายให้มิดชิดและเปิดเผยบางส่วนให้เห็น ทั้งๆ ที่นางจำเป็นต้องปกปิดร่างกายทั้งหมด และหิญาบของนางต้องไม่บางและรัดรูป แต่ต้องกว้าง ปกปิดมิดชิด และหลวมพอควร และต้องไม่เปิดเผยส่วนใดๆ ของเครื่องประดับของนาง นี่ไม่ใช่การทำโทษหรือกักขังนาง ทว่าเป็นการรักษาเกียรติ ปกป้องและดูแลตัวนางเอง
3. การมามัสยิดพร้อมกับคนขับรถที่ไม่ใช่ญาติสนิทเพียงลำพัง ด้วยการนี้นางก็ได้ทำความผิดตามหลักศาสนาเพื่อให้ได้บุญจากการงานที่มีสถานะเพียงแค่อนุญาตหรือส่งเสริมให้ทำเท่านั้น และนี่ย่อมเป็นสิ่งที่ผิด
4. การที่นางละทิ้งลูกๆ กับการทำผิดบาปต่างๆ เช่น ปล่อยให้ดูหนังฟังเพลง เป็นต้น หรือปล่อยให้ออกไปกับพวกที่ทำชั่ว ในขณะที่อัลลอฮฺได้ว่า
﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا قُوا أَنفُسَكُمْ وَأَهْلِيكُمْ نَارًا﴾ (التحريم : 6)
ความว่า "โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงปกป้องตัวพวกเจ้าและครอบครัวของพวกเจ้าให้รอดพ้นจากไฟนรกเถิด" (อัต-ตะหฺรีม 6)
การที่นางอยู่กับลูกๆ ที่บ้านในกรณีนี้ย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็นกว่า เพื่อที่จะได้คอยดูแลพวกเขา
5. การนำลูกๆ ที่ซุกซน สร้างความรำคาญและรบกวนแก่ผู้ละหมาดมายังมัสยิดด้วย
6. การยุ่งง่วนหลังละหมาดด้วยการพูดคุยไร้สาระ นินทาผู้อื่น และทำเสียงดังกระทั่งได้ยินไปถึงพวกผู้ชาย แทนที่จะกล่าวตัสบีหฺว่า สุบหานัล มะลิกิส กุดดูส (สามครั้ง) การซิกิร และอิสติฆฟารฺ !! ทั้งๆ ที่มีสุนนะฮฺให้แยกย้ายกันทันทีหลังอิมามละหมาดเสร็จ และไม่ล่าช้าเว้นแต่มีความจำเป็น ส่วนผู้ชายให้คอยอยู่สักครู่เพื่อให้ผู้หญิงได้ออกไปหมดก่อน หรือให้ผู้หญิงรออยู่ก่อนเพื่อให้ผู้ชายได้ออกไป ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ออกไปพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากประตูทางเข้าออกอยู่ใกล้ๆ กันซึ่งจะทำให้เกิดการปะปนคละเคล้าบริเวณประตู
7. การย้ายที่จากสถานที่ซึ่งประเสริฐที่สุดและเป็นที่รักที่สุดสำหรับอัลลอฮฺ (นั่นคือมัสยิด หลังเสร็จละหมาดแล้ว) ไปยังที่ที่เลวที่สุดและเป็นที่เกลียดชังที่สุดสำหรับอัลลอฮฺ นั่นก็คือตลาดร้านค้าทั้งหลาย โดยไม่มีความจำเป็นใดๆ
8. การไม่เข้าแถวให้ชิด มีช่องและที่ว่างระหว่างแถว
9. การละทิ้งความพยายามในการมุ่งมั่นทำความดีเชื่อฟังอัลลอฮฺและรำลึกถึงอัลลอฮฺเมื่อมีรอบเดือน เพราะยังมีอะมัลอีกมากมายที่ทำได้ในช่วงนั้น เช่น การขอดุอาอ์ การตัสบีหฺ การเศาะดะเกาะฮฺ และการเศาะละวาตต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นต้น
บททบทวนที่สี่ สำหรับมุสลิมและมุสลิมะฮฺทุกคน
จงตักวาต่ออัลลอฮฺ ในการศิยาม(ถือศีลอด) กิยาม(การละหมาดกลางคืน) และการขอดุอาอ์ของพวกท่าน และอย่าได้เป็นเยี่ยงผู้ที่คลายม้วนหรือปมขมวดของเขาหลังจากที่อุตส่าห์ได้ม้วนกระชับไว้อย่างดี ด้วยการที่พวกท่านอุตส่าห์ถือศีลอดยามกลางวัน ละหมาดยามกลางคืน ร่ำไห้พร้อมๆ กับอิมาม แล้วพวกท่านก็เหินห่างไปและปล่อยให้ผลบุญของพวกท่านสูญเปล่า ดวงตาที่เคยหลั่งน้ำตาก็กลับไปดูของหะรอม กลับไปชมพวกหนังและละครที่เปิดเผยเอาเราะฮฺและคลุกคลีระหว่างหญิงชาย หูที่เคยได้ลึกซึ้งกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟังก็กลับไปฟังเพลงและสิ่งไร้สาระ ลิ้นที่เคยกล่าวอามีนในดุอาอ์ก็กลับไปพูดพล่ามในการนินทาว่าร้าย พูดโกหก เหยียดหยาม พูดเล็กพูดน้อย ด่าว่าและสาปแช่ง รวมทั้งพฤติกรรมอื่นๆ ที่เลวร้ายของลิ้น หัวใจที่เคยน้อมนบสงบเสงี่ยมด้วยการอ่านอัลกุรอานก็กลับไปแบกหามความริษยา คดโกง และเกลียดชังพี่น้องมุสลิม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องสำหรับเราโดยเด็ดขาด จงจำไว้เถิดตามหะดีษที่ว่า
«رب صائم حظه من صيامه الجوع والعطش»
ความว่า "มีผู้ศีลอดมากน้อยเพียงไรที่ได้รับภาคผลจากการถือศีลอดของเขาเพียงแค่ความหิวและกระหาย" (บันทึกโดยอะห์มัด เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)
และที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
«مَن لم يَدَعْ قولَ الزُّورِ والعملَ بهِ فليسَ للهِ حاجةٌ في أن يَدَعَ طعامَهُ وشَرابَه»
ความว่า "ผู้ใดที่ไม่ละทิ้งคำพูดเท็จและยังทำมันอยู่ ก็ไม่ใช่ความจำเป็นสำหรับอัลลอฮฺที่เขาจักต้องถือศีลอดงดอาหารและเครื่องดื่ม" (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)
และอย่าได้เป็นคนที่เมื่ออยู่คนเดียวกับสิ่งที่อัลลอฮฺห้ามเขาก็ละเมิดมัน เพราะนี่เป็นสิ่งที่มีโทษอันเลวร้ายสาหัส ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«لأَعْلَمَنَّ أَقْوَاماً مِنْ أُمَّتِي يَأْتُونَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ بِحَسَنَاتٍ أَمْثَالِ جِبَالِ تِهَامَةَ، بِيضاً. فَيَجْعَلُهَا اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ هَبَاءً مَنْثُوراً». قَالَ ثَوْبَانُ: يَا رَسُولَ اللهِ صِفْهُمْ لَنَا، جَلِّهِمْ لَنَا، أَنْ لاَ نَكُونَ مِنْهُمْ وَنَحْنُ لاَ نَعْلَمُ. قَالَ: «أَمَا إِنَّهُمْ إِخْوَانُكُمْ وَمِنْ جِلْدَتِكُمْ، وَيَأْخُذُونَ مِنَ اللَّيْلِ كَمَا تَأْخُذُونَ، وَلٰكِنَّهُمْ أَقْوَامٌ إِذَا خَلَوْا بِمَحَارِمِ اللهِ، انْتَهَكُوهَا»
ความว่า "ฉันจะได้รู้เห็นกลุ่มชนบางพวกในหมู่ประชาชาติของฉันที่มาในวันกิยามะฮฺด้วยอะมัลความดีที่ขาวบริสุทธิ์เช่นภูเขาติฮามะฮฺ แล้วอัลลอฮฺก็ทำให้มันแหลกเป็นผุยผงกระจัดกระจาย" เษาบาน เศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งถามว่า โอ้ ท่านรอซูลุลลอฮฺ จงบอกคุณลักษณะของพวกเขาแก่เราด้วยเถิด จงอธิบายให้เราเห็นแจ้งลักษณะของพวกเขา เพื่อว่าพวกเราจะได้ไม่เข้าไปอยู่กลุ่มในพวกเขาเหล่านั้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตอบว่า "พึงทราบเถิด แท้จริงแล้วพวกเขาก็เป็นพี่น้องของพวกเจ้า และมาจากเนื้อหนังเดียวกันกับพวกเจ้า พวกเขาเอาเวลากลางคืน(เพื่อทำอิบาดะฮฺ)เหมือนที่พวกท่านทำ แต่ทว่า พวกเขาเป็นพวกที่เมื่ออยู่เพียงลำพังกับสิ่งที่อัลลอฮฺห้าม พวกเขาก็ละเมิดมัน" (เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 5028)
เมื่อท่านอยู่เพียงลำพังกับความมืด
แล้วใจก็เรียกร้องให้ท่านทำความผิด
ก็จงละอายจากสายตาของพระผู้อภิบาลเถิด
จงกล่าวแก่ใจของเจ้าว่า ผู้ทรงสร้างความมืดนั้นมองเห็นฉัน
และฉันขอเตือนตัวฉันเองและเตือนท่าน - โอ้ พี่น้องของฉัน - เป็นลำดับแรกและลำดับสุดท้ายด้วยการอิคลาศเจตนาเพื่ออัลลอฮฺ และปฏิบัติตามสุนนะฮฺในการละหมาดและภารกิจอื่นๆ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«مَنْ قامَ رَمَضانَ، إِيماناً واحْتِساباً، غُفِرَ له ما تَقدَّم مِنْ ذَنْبِه»
ความว่า "ผู้ใดที่ละหมาดกลางคืนในเดือนเราะมะฎอน ด้วยศรัทธาและหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ บาปที่ผ่านมาของเขาก็จะได้รับการอภัย" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)
ฉันวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่และสูงส่ง ให้ทรงประทานประโยชน์ด้วยบททบทวนเหล่านี้ และขอทรงประทานความอิคลาศ ความถูกต้อง และการตอบรับ
ริยาฎ บิน อับดุรเราะห์มาน อัล-หุก็อยลฺ
เว็บ www.saaid.net