×
ข้อมูลว่าด้วย ลักษณะของการละหมาดให้กับศพ อาทิ ความเข้าใจเกี่ยวกับญะนาซะฮฺ หุก่มการละหมาดญะนาซะฮฺ วิธีการละหมาดให้กับผู้เสียชีวิต ลักษณะการวางแถวของศพหน้าอีหม่าม ลักษณะการขอดุอาอ์ในละหมาดญะนาซะฮ หุก่มการละหมาดให้กับผู้ตายชะฮีด ผู้ใดบ้างที่จะต้องทำการละหมาดญะนาซะฮฺให้ สถานที่สำหรับทำการละหมาดให้กับศพ ฯลฯ จากหนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    ลักษณะของการละหมาดให้กับศพ

    ﴿صفة الصلاة على الميت﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

    แปลโดย : รุสดี การีสา

    ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    2009 - 1430

    ﴿صفة الصلاة على الميت﴾

    « باللغة التايلاندية »

    الشيخ محمد بن إبراهيم التويجري

    ترجمة: رشدي كاريسا

    مراجعة: صافي عثمان

    مصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي

    2009 - 1430

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    ลักษณะของการละหมาดให้กับศพ

    ความเข้าใจเกี่ยวกับญะนาซะฮฺ

    การร่วมเป็นสักขีพยานในการจัดการศพและการเดินไปกับขบวนนำศพนั้นมีประโยชน์อย่างมาก เช่น สามารถทำหน้าที่อันเป็นสิทธิพึงได้ของผู้ตาย อาทิ การละหมาดญะนาซะฮฺ การขออภัยโทษและขอดุอาอ์ให้กับผู้ตาย และการได้ทำหน้าที่ต่อสิทธิของครอบครัวของผู้ตาย การได้ปลอบประโลมพวกเขาเนื่องจากถูกทดสอบด้วยการจากไปของผู้ตาย การได้รับผลบุญที่ใหญ่ยิ่งสำหรับผู้ที่ตามไปส่งศพ และการได้รับบทเรียนจากการได้เห็นศพและสถานที่ฝังศพ เป็นต้น

    หุก่มการละหมาดญะนาซะฮฺ

    การละหมาดญะนาซะฮฺถือเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ มันเป็นการเพิ่มผลบุญให้กับผู้ทำการละหมาด และเป็นการชะฟาอะฮฺให้ช่วยเหลือแก่ผู้เสียชีวิต และส่งเสริมให้ผู้มีร่วมละหมาดในจำนวนที่มากในการทำละหมาดให้กับศพ และยิ่งผู้ร่วมละหมาดมากและเป็นผู้ที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺมากเท่าใด ก็จะเป็นการดียิ่งมากเท่านั้น

    จากท่าน อิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «مَا مِنْ رَجُلٍ مُسْلِـمٍ يَـمُوتُ فَيَـقُومُ عَلَى جَنَازَتِـهِ أَرْبَـعُونَ رَجُلاً، لا يُشْرِكُونَ بِالله شَيْئًا إلا شَفَّعَهُـمُ الله فِيهِ». أخرجه مسلم.

    ความว่า “ไม่มีผู้ใดในหมู่มุสลิมที่เสียชีวิตแล้วมีผู้ร่วมละหมาดญะนาซะฮฺให้กับเขาจำนวน สี่สิบคนซึ่งคนเหล่านี้ไม่เคยตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺแต่อย่างใด นอกเสียจากว่าอัลลอฮฺจะทรงให้พวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่เขา” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 948)

    วิธีการละหมาดให้กับผู้เสียชีวิต

    1. ให้มุสลิมที่ต้องการละหมาดญะนาซะฮฺทำการอาบน้ำละหมาด แล้วหันไปทางกิบลัต โดยให้ศพที่จะทำการละหมาดให้นั้นอยู่ระหว่างเขาและกิบลัต

    2. ตามแบบอย่างของซุนนะฮฺนั้นให้ผู้ที่เป็นอีหม่ามยืนตรงส่วนศีรษะของศพถ้าหากเป็นศพชาย และยืนกลางลำตัวของศพถ้าหากเป็นศพหญิง แล้วให้ทำการตักบีรสี่ครั้ง ซึ่งบางครั้งอาจจะตักบีร 5 ครั้ง หรือ 6 ครั้งหรือ 7 ครั้ง หรือ 9 ครั้ง โดยเฉพาะในการละหมาดให้กับศพของบรรดาอุละมาอ์ และผู้มีความยำเกรง และผู้ที่สร้างคุณูปการในอิสลาม โดยให้ทำสลับกันในทุกๆ ครั้งที่ทำการละมาดเพื่อเป็นการฟื้นฟูซุนนะฮฺ

    3. ให้ทำการตักบีรโดยยกมือทั้งสองข้างขณะตักบีรครั้งแรกให้เสมอกับหัวไหล่หรือใบหู ทำเช่นเดียวกันนี้ในการตักบีรครั้งต่อๆ ไป หลังจากนั้นให้วางมือข้างขวาบนหลังมือข้างซ้ายตรงหน้าอกโดยมิต้องอ่านดุอาอ์อิฟติตาหฺ หลังจากนั้นให้กล่าว อิซติอาซะฮฺ และ บิสมิลลาฮฺ แล้วอ่านฟาติหะฮฺเงียบๆ และในบางครั้งให้อ่านซูเราะฮฺอื่นควบคู่กับซูเราะฮฺฟาติหะฮฺได้

    4. หลังจากนั้นให้ตักบีรครั้งที่สองแล้วกล่าวเศาะละวาตว่า

    «اللَّـهُـمَّ صَلِّ عَلَى مُـحَـمَّدٍ، وَعَلَى آلِ مُـحَـمَّدٍ، كَمَا صَلَّيْتَ عَلَى إبْرَاهِيمَ، وَعَلَى آلِ إبْرَاهِيمَ، إنَّكَ حَـمِيدٌ مَـجِيدٌ، اللَّـهُـمَّ بَارِكْ عَلَى مُـحَـمَّدٍ، وَعَلَى آلِ مُـحَـمَّدٍ، كَمَا بَارَكْتَ عَلَى إبْرَاهِيمَ، وَعَلَى آلِ إبْرَاهِيمَ، إنَّكَ حَـمِيدٌ مَـجِيدٌ». متفق عليه

    คำอ่าน อัลลอฮุมมะ ศ็อลลิ อะลา มุฮัมมัด วะอะลา อาลิ มุฮัมมัด, กะมาศ็อลลัยตะ อะลา อิบรอฮีม วะ อะลา อาลิ อิบรอฮีม, อินนะกะ ฮะมีด ดุม มะญีด, อัลลอฮุมมะ บาริก อะลา มุฮัมมัด วะอะลา อาลิ มุฮัมมัด กะมา บาร๊อกตะ อะลา อิบรอฮีม วะอะลา อาลิ อิบรอฮีม, อินนะกะ ฮะมีดม มะญีด

    คำแปล โอ้ อัลลอฮฺ ขอได้โปรดเมตตา (หรือสดุดี) มุฮัมมัด และวงศ์วาน ของมุฮัมมัด ดุจดังที่ได้โปรดเมตตา (หรือสดุดี) แก่อิบรอฮีม และวงศ์วาน ของอิบรอฮีม แน่แท้พระองค์ทรงเป็นที่สดุดีสรรเสริญ ทรงเป็นที่สรรเสริญ พระเกียรติยิ่ง โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค็ทรงความจำเริญให้แก่มุฮัมมัด และแก่วงศ์วานของมุฮัมมัด ดุจดังที่ประทานความจำเริญให้แก่อิบรอฮีม และวงศ์วานของอิบรอฮีม แน่แท้ พระองค์ทรงเป็นที่สดุดีสรรเสริญยิ่ง ทรงเป็นที่สรรเสริญพระเกียรติยิ่ง (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 3370 สำนวนนี้เป็นของท่าน และ มุสลิม หมายเลข 406)

    5. หลังจากนั้นให้ตักบีรครั้งที่สามแล้วทำการดุอาอ์ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ด้วยบทดุอาอ์ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ เช่น

    1- «اللهم اغْفِرْ لِـحَيِّنَا وَمَيِّتِنَا، وَشَاهِدِنَا وَغَائِبِنَا، وَصَغِيرِنَا وَكَبِيرِنَا، وَذَكَرِنَا وَأُنْثَانَا، اللَّـهُـمَّ مَنْ أَحْيَيْتَـهُ مِنَّا فَأَحْيِـهِ عَلَى الإسْلامِ، وَمَنْ تَوَفَّيْتَـهُ مِنَّا فَتَوَفَّهُ عَلَى الإيمَانِ، اللَّـهُـمَّ لا تَـحْرِمْنَا أَجْرَهُ، وَلا تُضِلَّنَا بَـعْدَهُ». أخرجه أبو داود وابن ماجه

    คำอ่าน อัลลอฮุม มัฆฟิรฺ ลิฮัยยินา วะ มัยยิตินา, วะ ชาฮิดินา วะ ฆออิบินา, วะ ศอฆีรินา วะ กะบีรินา, วะ ซะกะรินา วะ อุนซานา, อัลลอฮุมมะ มัน อะหฺยัยตะฮู มินนา ฟะอะหฺยิฮี อะลัลอิสลาม, วะ มันตะวัฟฟัยตะฮู มินนา ฟะตะวัฟฟะฮู อะลัลอีมาน, อัลลอฮุมมะ ลา ตะหฺริมนา อัจญ์เราะฮู วะลา ตุฎิลละนา บะอฺดะฮู

    คำแปล “โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงโปรดอภัยโทษต่อผู้มีชีวิตของเรา ต่อผู้ที่ตายของเรา ผู้ที่อยู่ ณ ที่นี้ และผู้ที่มิได้อยู่ ณ ที่นี้ เด็กๆ ของเรา และผู้ใหญ่ของเรา บรรดาชายของเรา และบรรดาหญิงของเรา โอ้ อัลลอฮฺ ผู้ใดที่พระองค์ให้เขามีชีวิต อยู่ในหมู่พวกเรา ขอพระองค์ทรงให้เขามีชีวิตอยู่ ในอิสลาม และผู้ใดที่พระองค์ทรงให้เขาตายไป จากพวกเรา ก็ขอได้ทรงให้เขาตายอยู่ในอีมาน โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงอย่าทำ ให้ผลรางวัลของเขาเป็นที่หวงห้ามแก่เรา (คือทรงโปรดประทานผลบุญแก่เราที่ได้ละหมาดศพให้เขา) และทรงโปรดอย่าให้เราหลงผิดหลังจากเขา” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อบู ดาวูด หมายเลข 3201 และ อิบนุ มาญะฮฺ หมายเลข 1498 สำนวนนี้เป็นของท่าน)

    2- «اللهم اغْفِرْ لَـهُ وَارْحَـمْهُ، وَعَافِهِ وَاعْفُ عَنْـهُ، وَأَكْرِمْ نُزُلَـهُ، وَوَسِّعْ مُدْخَلَـهُ، وَاغْسِلْـهُ بِالمَاءِ وَالثَّلْـجِ وَالبَرَدِ، وَنَقِّهِ مِنَ الخَطَايَا كَمَا نَقَّيْتَ الثَّوْبَ الأبْيَضَ مِنَ الدَّنَسِ، وَأَبْدِلْـهُ دَاراً خَيْراً مِنْ دَارِهِ، وَأَهْلاً خَيْراً مِنْ أَهْلِـهِ، وَزَوْجاً خَيْراً مِنْ زَوْجِهِ، وَأَدْخِلْـهُ الجَنَّةَ، وَأَعِذْهُ مِنْ عَذَابِ القَبْرِ (أَوْ مِنْ عَذَابِ النَّارِ)». أخرجه مسلم

    คำอ่าน อัลลอฮุมมัฆฟิรละฮู วัรฮัมฮุ, วะ อาฟิฮิ วะอฺฟุอันฮุ, วะอักริม นุซุละฮู, วะวัสสิอฺ มุดคอละฮู, วัฆสิลฮุ บิลมาอิ วัษษัล วัลบะร็อด, วะ นักกิฮี มินัล คอฏอยา กะมา ยุนักก็อษ เษาบุล อับยะฎุ มีนัดดะนัส, วะ อับดิลฮุ ดาร็อน ค็อยรอน มินดาริฮี, วะ อะฮฺลัน ค็อยร็อน มิน อะอฺลิฮี, วะ อัดคิลฮุล ญันนะฮฺ, วะ อะอิซฮุ มิน อะซาบ บิลก๊อบริ (หรืออ่านว่า มิน อะซาบินนารฺ)

    ความว่า “โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงอภัยโทษแก่เขา และทรง เมตตาเขา และทรงให้เขาปลอดภัย และทรงปกป้องเขา ทรงให้เกียรติแก่ ที่พำนักของเขา และทรงทำให้ทางเข้าของเขากว้าง และทรงได้โปรด ชำระล้างเขาด้วยน้ำ หิมะ และลูกเห็บ และชำระล้าง ความผิดของเขา เช่นเดียวกับที่ผ้าขาวถูกชำระให้สะอาดจากสิ่งเปรอะเปื้อน ทรงเปลี่ยน ให้แก่เขาซึ่งที่อาศัยที่ดีกว่าบ้านของเขา และครอบครัวที่ดีกว่าครอบครัวของ เขา และทรงทำให้เขาได้เข้าสวนสวรรค์ และทรงปกป้องเขา จากการลงโทษในหลุมฝังศพ (หรือ การลงโทษแห่งไฟนรก) (บันทึกโดย มุสลิม หมายเลข 963)

    3- «اللهم إنَّ فُلانَ بْنَ فُلانٍ فِي ذِمَّتِكَ وَحَبْلِ جِوَارِكَ، فَقِهِ مِنْ فِتْنَةِ القَبْرِ، وَعَذَابِ النَّارِ، وَأَنْتَ أَهْلُ الوَفَاءِ وَالحَقِّ، فَاغْفِرْ لَـهُ وَارْحَـمْهُ، إنَّكَ أَنْتَ الغَفُورُ الرَّحِيمُ». أخرجه أبو داود وابن ماجه.

    คำอ่าน อัลลอฮุมมะ อินนะ ฟุลานับนะ ฟุลานิน ฟี ซิมมะติก วะ หับลิ ญิวาริก, ฟะกีฮี มิน ฟิตนะติล ก็อบรฺ, วะอะซาบิน นารฺ, วะอันตะ อะฮฺลุล วะฟาอิ วัลหัก, ฟัฆฟิรฺ ละฮู วัรหัมฮุ, อินนะกะ อันตัล เฆาะฟูรุร เราะหีม

    ความว่า “โอ้ อัลลอฮฺ แท้จริง คนผู้นี้ซึ่งเป็นบุตรของคนคนนี้ ได้กลับไปสู่การดูแลของพระองค์และสายเชือกแห่งการเคียงข้างพระองค์ ดังนั้น ขอทรงปกป้องเขาจากการทดสอบในหลุมฝังศพและการลงโทษในนรกด้วยเถิด พระองค์นั้นเป็นผู้ที่ทรงรักษามั่นในคำสัญญาและความสัจจริง ดังนั้นขอทรงอภัยให้เขาและเมตตาเขาเถิด แท้จริงแล้ว พระองค์เป็นผู้ยิ่งด้วยการอภัยและเมตตา” (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อบู ดาวูด หมายเลข 3202 และ อิบนุ มาญะฮฺ หมายเลข 1499 สำนวนนี้เป็นของท่าน)

    ­ กรณีที่เป็นศพของเด็กเล็กให้ทำการดุอาอ์ด้วยดุอาอ์บทแรกหลังจากนั้นให้กล่าวว่า

    «اللَّـهُـمَّ اجْعَلْـهُ لَنَا سَلَفًا، وَفَرَطاً، وَأَجْراً، وَذُخْراً ». أخرجه البيهقي

    คำอ่าน อัลลอฮุม มัจญ์อัลฮุ สะละฟา, วะฟะเราะฏอ, วะอัจญ์รอ, วะซุครอ

    คำแปล “โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงโปรดให้เขาเป็นรางวัลที่ล่วงหน้าไปก่อน เป็นผลบุญ และเป็นสิ่งมีค่าที่ถูกเก็บไว้แก่บิดามารดาของเขา (หะดีษหะสัน บันทึกโดย อัล-บัยฮะกีย์ หมายเลข 6794 ดู อะหฺกาม อัล-ญะนาอิซ ของ อัล-อัลบานีย์ หน้า 161)

    6. หลังจากนั้นให้ตักบีรครั้งที่สี่แล้วยืนนิ่งเพื่อดุอาอ์สักครู่ แล้วจึงให้สลามโดยหันหน้าไปทางขวาครั้งเดียว และหากมีการให้สลามครั้งที่สองโดยหันหน้าไปทางซ้ายในบางครั้งก็ถือว่าไม่เป็นไรเช่นกัน

    ­ ผู้ใดที่พลาดจากการละหมาดในตักบีรใดตักบีรหนึ่งให้ทำการชดตักบีรในลักษณะเดียวกันจนครบ และหากเขาไม่ได้ทำการชดในส่วนที่เขาไม่ทัน แล้วให้สลามไปพร้อมๆ กับอิมาม การละหมาดของเขานั้นถือว่าใช้ได้ อินชาอัลลอฮฺ

    ลักษณะการวางแถวของศพหน้าอีหม่าม

    ­ ส่งเสริมให้ทำการละหมาดโดยพร้อมเพรียงกันเป็นญะมาอะฮฺให้กับศพ และไม่ควรที่จะให้น้อยกว่าสามแถว กรณีที่มีศพรวมกันหลายๆ ศพควรให้ศพที่อยู่ถัดจากอิมาม(ไปข้างหน้าทางด้านกิบลัต)เป็นศพผู้ชายจากนั้นเป็นศพของเด็กๆ แล้วจึงเป็นศพของผู้หญิง โดยให้ทำการละหมาดให้กับศพทั้งหมดนั้นในครั้งเดียว และอนุญาตให้ทำการละหมาดแยกแต่ละศพได้เช่นกัน

    ลักษณะการขอดุอาอ์ในละหมาดญะนาซะฮ

    การขอดุอาอ์ให้กับศพนั้นให้ดูลักษณะของศพ โดยหากศพนั้นเป็นศพผู้ชายให้ดุอาอ์ตามบทดุอาอ์ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว และหากศพนั้นเป็นศพผู้หญิงให้กล่าวโดยใช้คำกิริยาและสรรพนามที่แสดงถึงความเป็นผู้หญิง และให้ใช้คำที่เป็นพหูพจน์ในกรณีที่มีหลายศพรวมกัน ซึ่งหากเป็นศพของบรรดาสตรีให้กล่าวว่าاللهم اغفرلهن (อัลลอฮุมมัฆฟิร ละฮุนนะ) เป็นต้น และกรณีที่ไม่ทราบว่าศพเป็นชายหรือหญิงอนุญาตให้ใช้คำทั่วไปไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง โดยการกล่าวว่า اللهم اغفر له (อัลลอฮุมมัฆฟิรละฮู) หรือ اللهم اغفر لها (อัลลอฮุมมัฆฟิรละฮา) เป็นต้น

    หุก่มการละหมาดให้กับผู้ตายชะฮีด

    สำหรับผู้ตายชะฮีดที่เสียชีวิตในสมรภูมิสงครามในหนทางของอัลลอฮฺนั้น ให้อิมามเป็นผู้ตัดสินใจเลือกที่จะทำการละหมาดให้หรือไม่ ซึ่งเป็นที่อนุญาตทั้งสิ้น เพียงแต่การละหมาดให้กับพวกเขานั้นเป็นสิ่งที่ดียิ่งกว่า แล้วให้ทำการฝัง ณ ที่ที่คนผู้นั้นเสียชีวิต

    ส่วนผู้ตายชะฮีดที่เสียชีวิตนอกเหนือจากสาเหตุที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเกิดจากการจมน้ำ ถูกเผาไหม้ เป็นต้น คนเหล่านี้ถูกถือว่าชะฮีดในส่วนของผลบุญในวันอาคิเราะฮฺ แต่ว่าจะต้องทำการอาบน้ำให้กับเขา ต้องทำการห่อศพ และละหมาดญะนาซะฮฺให้เขาเช่นคนทั่วไป

    ผู้ใดบ้างที่จะต้องทำการละหมาดญะนาซะฮฺให้

    1) บัญญัติให้ทำการละหมาดญะนาซะฮฺให้กับศพของมุสลิมทุกคนทั้งที่เป็นคนดีหรือคนเลว หากแต่มุสลิมที่ไม่เคยทำละหมาดเลยนั้น ห้ามทำการละหมาดญะนาซะฮฺให้กับศพของเขาอย่างเด็ดขาด

    2) มุสลิมที่ฆ่าตัวตาย และผู้ที่ยักยอกทรัพย์ที่ได้มาจากสงคราม อิมามหรือตัวแทนของอิมามไม่ควรทำการละหมาดญะนาซะฮฺให้กับทั้งสองคนดังกล่าว เพื่อเป็นการลงโทษและเป็นบทเรียนให้กับชนรุ่นหลัง โดยให้ผู้คนทั่วไปละหมาดให้กับทั้งสองตามปกติ

    3) มุสลิมที่ได้รับการลงโทษด้วยการขว้างหินใส่ หรือการประหารชีวิต ให้ทำการอาบน้ำศพให้และทำการละหมาดญะนาซะฮฺให้ตามปกติ

    ความประเสริฐของการละหมาดให้กับศพและการเดินตามศพไปกระทั่งถึงที่ฝังศพ

    ส่งเสริมให้เดินตามศพด้วยใจที่ศรัทธาและหวังผลบุญ กระทั่งได้ทำการละหมาดญะนาซะฮฺให้และเสร็จสิ้นจากการฝังศพ โดยการเดินตามศพนั้นให้กระทำได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น และห้ามทำการหามศพไปพร้อมๆ กับการส่งเสียง หรือถือไฟไปด้วย หรือการอ่านใดๆ หรือแม้แต่การกล่าวซิกิรฺใดๆ

    จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «مَنْ اتَّبَـعَ جَنَازَةَ مُسْلِـمٍ إيمَاناً وَاحْتِسَاباً، وَكَانَ مَعَهُ حَتَّى يُصَلَّى عَلَيْـهَا وَيُفْرَغَ مِنْ دَفْنِـهَا، فَإنَّـهُ يَرْجِعُ مِنَ الأَجْرِ بِقِيْرَاطَينِ، كُلُّ قِيرَاطٍ مِثْلُ أُحُدٍ، وَمَنْ صَلَّى عَلَيْـهَا ثُمَّ رَجَعَ قَبْلَ أَنْ تُدْفَنَ فَإنَّـهُ يَرْجِعُ بِقِيرَاطٍ». متفق عليه.

    ความว่า “ผู้ใดก็ตามที่เดินตามไปกับขบวนศพของมุสลิมด้วยใจศรัทธาและหวังในผลบุญ และเขาอยู่จนกระทั่งทำการละหมาดให้กับศพและเสร็จสิ้นจากการฝังศพ แน่นอนว่าเขาจะกลับไปด้วยผลบุญเท่ากับสองกีรอฏ(กะรัต) ซึ่งทุกๆ หนึ่งกีรอฏนั้นเท่ากับภูเขาอุหุด และผู้ใดที่ได้ทำการละหมาดให้กับศพหลังจากนั้นได้กลับไปก่อนที่จะทำการฝังศพ แน่นอนว่าเขาได้กลับไปด้วยผลบุญเท่ากับหนึ่งกีรอฏเท่านั้น” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 47 สำนวนรายงานเป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลข 945)

    สถานที่สำหรับทำการละหมาดให้กับศพ

    ส่งเสริมให้ทำการละหมาดให้กับศพในสถานที่ที่ได้จัดเตรียมให้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ ซึ่งมันเป็นการดียิ่งกว่าที่สุด และอนุญาตให้ทำการละหมาดในมัสยิดได้ในบางครั้ง และผู้ใดที่พลาดจากการละหมาดในสถานที่ดังกล่าวให้ไปทำการละหมาด ณ หลุมฝังศพของเขาไม่ว่าจะเป็นในบริเวณกุบูรฺหรือนอกบริเวณก็ได้ ส่วนศพที่ถูกฝังโดยที่ยังไม่ได้ทำการละหมาดให้นั้นให้ทำการละหมาดให้ ณ ที่หลุมฝังศพเช่นกัน

    ­ กรณีที่มีผู้เสียชีวิต และท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องและสามารถทำการละหมาดญะนาซะฮฺให้กับศพได้ พร้อมกับเป็นผู้ที่ได้รับการเชิญชวนให้ทำการละหมาดให้ แต่แล้วท่านคลาดจากการละหมาดดังกล่าว แน่นอนว่าเป็นสิทธิของท่านที่จะทำการละหมาดให้กับศพ ณ หลุมฝังศพของเขาได้

    หุก่มการละหมาดให้กับศพที่ฆออิบ หรือผู้ตายที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้า

    ส่งเสริมให้ทำการละหมาดให้กับศพที่ฆออิบ(ผู้ตายที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้าและไม่สามารถไปละหมาดให้กับศพถึงพื้นที่เสียชีวิตของเขาได้) ซึ่งเสียชีวิตและยังไม่มีผู้ใดทำการละหมาดให้

    عن أبي هريرة رضي الله عنه أَنَّ رَسُولَ الله صلى الله عليه وسلم نَعَى لِلنَّاسِ النَّجَاشِيَّ فِي اليَومِ الَّذِي مَاتَ فِيهِ، فَخَرَجَ بِـهِـمْ إلَى المُصَلَّى، وَكَبَّرَ أَرْبَـعَ تَـكْبِيراتٍ. متفق عليه

    ความว่า “รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า ครั้งหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้พูดกล่าวไว้อาลัยแก่ อัน-นะญาชีย์ ให้ผู้คนฟัง ในวันที่เขาได้เสียชีวิตลง และได้ออกไปละหมาดกับพวกเขาในสถานที่ละหมาด และได้ทำการตักบีรสี่ครั้ง(ละหมาดญะนาซะฮฺฆออิบ) (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1327 และ มุสลิม หมายเลข 951 สำนวนนี้เป็นของท่าน)

    หุก่มว่าด้วยการรีบจัดการศพ

    ส่งเสริมให้ดำเนินการจัดการกับศพที่เสียชีวิต และทำการละหมาดให้ พร้อมกับการพาไปยังสุสานแล้วทำการฝังศพอย่างรวดเร็ว

    عن أبي هريرة رضي الله عنه عن النبي صلى الله عليه وسلم قال: «أَسْرِعُوا بِالجَنَازَةِ، فَإنْ تَـكُ صَالِـحَةً، فَخَيْرٌ تُقَدِّمُونَـهَا إلَيْـهِ، وَإنْ تَـكُ سِوَى ذَلِكَ، فَشَرٌّ تَضَعُونَـهُ عَنْ رِقَابِكُمْ». متفق عليه

    ความว่า รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า “พวกเจ้าจงรีบเร่งในการจัดการกับศพ เนื่องจากหากศพดังกล่าวเป็นผู้ที่มีคุณธรรม ดังนั้น การดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ดีซึ่งพวกเจ้าจะได้มอบให้กับเขา(หมายถึงให้เขาได้พบกับผลตอบแทนที่ดีของเขาในกุบูรฺเร็วขึ้น) และหากมิได้เป็นเช่นนี้(หมายถึงถ้าเขาเป็นคนเลว) แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีที่พวกท่านจะแบกเขาอยู่บนต้นคอของพวกท่าน” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1315 สำนวนนี้เป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลข 944)

    ­ ถ้าหากว่ามีผู้หญิงได้มาร่วมเป็นสักขีให้กับศพ ณ ที่ละหมาดญะนาซะฮฺ ก็ให้นางละหมาดให้กับศพพร้อมๆ กับผู้ชายด้วย และนางจะได้รับผลบุญเหมือนกับผู้ชายในการละหมาดญะนาซะฮฺและการกล่าวตะอฺซิยะฮฺ(แสดงความเสียใจและปลอบโยนญาติของผู้ตาย)

    ช่วงเวลาที่ห้ามทำการฝังศพหรือทำการละหมาดให้กับศพ

    عن عُقْبَةَ بْنِ عَامِرٍ الجُهَنِيَّ رضي الله عنه قَالَ: ثَلاثُ سَاعَاتٍ كَانَ رَسُولُ الله صلى الله عليه وسلم يَنْـهَانَا أنْ نُصَلِّيَ فِيهِنَّ، أَوْ أنْ نَقْبُرَ فِيهِنَّ مَوْتَانَا: حِينَ تَطْلُعُ الشَّمْسُ بَازِغَةً حَتَّى تَرْتَفِعَ، وَحِينَ يَـقُومُ قَائِمُ الظَّهِيرَةِ حَتَّى تَـمِيلَ الشَّمْسُ، وَحِينَ تَضَيَّفُ الشَّمْسُ لِلْغُرُوبِ حَتَّى تَغْرُبَ ». أخرجه مسلم

    ความว่า รายงานจาก อุกบะฮฺ บิน อามิร อัล-ญุฮะนีย์ กล่าวว่า “สามเวลาที่ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ห้ามมิให้พวกเราทำการละหมาดหรือทำการฝังศพบรรดาผู้เสียชีวิตของพวกเรา นั่นคือ ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์กำลังโผล่ขึ้นจากแผ่นดิน จนกว่ามันจะสูงโด่งขึ้น และช่วงเวลาที่มันอยู่ใจกลางท้องฟ้าเวลาเที่ยงวัน จนกว่ามันจะคล้อยลง และช่วงเวลาที่มันกำลังจะตกดิน จนกว่ามันได้ลับขอบฟ้าไปแล้ว” (บันทึกโดย มุสลิม หมายเลข 831)