×
การถือศีลอดนั้นมีคุณค่าและความประเสริฐอันใหญ่หลวงมากมาย และสำหรับผู้ถือศีลอดก็มีมารยาทบางประการที่งดงามสมควรที่จะต้องให้ความสำคัญและเอาใจใส่ เพื่อให้การถือศีลอดมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นและงดงามยิ่งขึ้นไปอีก อาทิ การอดทน มีอะมานะฮฺ ความเมตตาเอื้อเฟื้อ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การไกล่เกลี่ยระหว่างพี่น้อง จึงขอเรียกร้องไปยังมุสลิมทุกคน ทุกประเภทอาชีพและหน้าที่มาร่วมกันฟื้นฟูมารยาทอันดีงามเหล่านี้ในเดือนเราะมะฎอน เพื่อหวังผลบุญที่ยิ่งใหญ่จากเอกองค์อัลลอฮฺ

    เราอยู่ส่วนไหน จากมารยาทของผู้ถือศีลอด

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ฝ่ายวิชาการสำนักพิมพ์อัล-วะฏ็อน

    แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ

    ตรวจทานโดย : อุษมาน อิดรีส

    ที่มา : สนพ. ดาร อัล-วะฏ็อน

    2013 - 1434


    أين نحن من أخلاق الصائمين

    « باللغة التايلاندية »

    القسم العلمي بمدار الوطن

    ترجمة: محمد صبري يعقوب

    مراجعة: عثمان إدريس

    المصدر: مدار الوطن

    2013 - 1434

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เราอยู่ส่วนไหน

    จากมารยาทของผู้ถือศีลอด

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา กรุณาปรานียิ่ง

    อัลหัมดุลิลลาฮฺ – มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ พรอันประเสริฐและความศานติพึงมีแด่ผู้ที่ประเสริฐยิ่งในบรรดาอัมบิยาอ์และศาสนทูต -ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม- และแด่เครือญาติ ตลอดจนเศาะหาบะฮฺของท่านทุกคน

    อนึ่ง...อะไรคือการถือศีลอด ? แก่นแท้ของมันคืออะไร ? มันมีความลับอะไรซ่อนเร้นอยู่ ? และผลของมันเป็นเช่นไร ?

    การถือศีลอดเป็นเพียงการงดจากอาหาร เครื่องดื่ม และการมีเพศสัมพันธ์กับภรรยา ตั้งแต่ตะวันขึ้นจนถึงตะวันลับขอบฟ้ากระนั้นหรือ ส่วนหลังจากนั้นใครจะทำอะไรก็สุดแล้วแต่ปรารถนา ?

    หากการถือศีลอดเป็นเช่นนี้ มันก็ย่อมเป็นการปฏิบัติที่ง่ายดายที่สุดสำหรับมนุษย์ และย่อมไม่ควรค่าที่จะได้รับผลตอบแทนอันมหาศาล ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้แจ้งไว้ ด้วยคำตรัสของพระองค์ที่ว่า

    «كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَمَ لَهُ، الحَسَنَةُ بِعَشْرِ أَمْثَالِهَا، إِلَّا الصِّيَامَ، فَإِنَّهُ لِي وَأَنَا أَجْزِي بِهِ» [البخاري برقم 1904، مسلم برقم 1151]

    ความว่า "ทุกๆ การงานของลูกหลานอาดัมเป็นเอกสิทธิ์ของเขา (หนึ่งความดีจะได้รับการตอบแทนเท่ากับสิบเท่าของความดีนั้น) นอกจากการถือศีลอด แท้จริงมันเป็นเอกสิทธิ์ของข้าและข้าจะเป็นผู้ตอบแทนมันเอง (โดยไม่กำหนดตายตัวว่าเพิ่มขึ้นเท่าใด) " (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 1904 และมุสลิม :1151)

    ชาวสะลัฟบางท่านได้กล่าวว่า “การถือศีลอดที่ง่ายดายที่สุดคือ การงดอาหารและเครื่องดื่ม"

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้อธิบายถึงแก่นแท้ของการถือศีลอด ในคำกล่าวที่ว่า

    «مَن لم يَدَعْ قولَ الزُّورِ والعمَلَ بِهِ وَالجَهْلَ، فَليسَ للهِ حاجة فِي أَن يَدَعَ طَعَامَهُ وشَرَابَهُ» [البخاري برقم 6057]

    ความว่าผู้ใดยังไม่ละทิ้งการพูดเท็จ กระทำในสิ่งที่เป็นเท็จ และก้าวร้าว ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นสำหรับอัลลอฮฺต่อการละทิ้งอาหารและเครื่องดื่มของเขา" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 6057)

    การถือศีลอดที่สมบูรณ์คือ การถือศีลอดที่ทำให้ผู้ถือศีลอดสามารถบรรลุถึงสถานะของความยำเกรง ดังที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ทรงตรัสว่า

    ﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ ١٨٣ ﴾ [البقرة: ١٨٣]

    ความว่าโอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดได้ถูกกำหนดเป็นฟัรฎูแก่พวกเจ้า เสมือนกับที่ได้ถูกกำหนดแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง" (สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 183)

    มนุษย์จะไม่บรรลุถึงสถานะของความยำเกรง เว้นแต่จะดำรงซึ่งมารยาทที่ดีงาม และห่างไกลจากมารยาทที่เลวทราม ดังนั้น การถือศีลอดจึงจำเป็นต้องประกอบด้วย

    1. การยับยั้งท้องและอวัยวะเพศจากการสนองอารมณ์ความใคร่

    2. การยับยั้งสายตา ลิ้น ขา หู และทุกส่วนของอวัยวะจากการความผิดบาป

    3. การระงับหัวใจจากความปรารถนาอันต่ำต้อย และความคิดต่างๆที่ทำให้ออกห่างจากอัลลอฮฺ ตะอาลา รวมทั้งยับยั้งหัวใจจากจากคสามปรารถนาอื่นจากอัลลอฮฺโดยปริยาย

    การถือศีลอดบนโลกมนุษย์จำเป็นต้องได้รับการแปลให้เป็นรูปธรรม หากไม่แล้วจิตวิญญาณของมันก็จะขาดหายไป จะมีแต่เรือนร่างที่ปราศจากจิตวิญญาณ หรือมีแต่เรือนร่างโดยปราศจากเนื้อแท้ของมัน หรือมีแต่ภาพลักษณ์ภายนอกโดยปราศจากสิ่งบ่งชี้

    มารยาทในการถือศีลอดและการละหมาดยามค่ำคืนไปอยู่ไหน ?

    อะมานะฮฺ (ความรับผิดชอบ) ไปอยู่ไหน ?

    ความใจบุญสุนทานและความเอื้อเฟื้อไปอยู่ไหน ?

    ความเคร่งครัดและละทิ้งสิ่งคลุมเครือทั้งหลายไปอยู่ไหน ?

    ความเอื้ออาทร ความเมตตา และความห่วงใยไปอยู่ไหน ?

    ความละอายและการสำรวจตัวเองไปอยู่ไหน ?

    ความอดทนและการมอบหมายการงานต่างๆแด่อัลลอฮฺไปอยู่ไหน?

    ความช่วยเหลือที่ดีงาม และการร่วมมือกันบนความดีงามและความยำเกรงไปอยู่ไหน ?

    การถือศีลอดจะมีประโยชน์อันใดเล่า หากมันไม่สามารถห้ามปรามจากสิ่งลามกและความชั่วร้าย ?

    การถือศีลอดจะมีประโยชน์อันใดเล่า หากมันไม่สามารถหักห้ามจากสิ่งไร้สาระและความจอมปลอม ?

    การถือศีลอดจะมีประโยชน์อันใดเล่า หากมันไม่สามารถปกป้องจากการว่าร้ายนินทา อิจฉาริษยา หรือบาดหมางใจกัน ?

    การถือศีลอดจะมีประโยชน์อันใดเล่า หากมันไม่สามารถขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์และชำระความตระหนี่ ความต้องการ และความต่ำทรามทั้งหลาย ?

    จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้คนต่อการถือศีลอดให้สอดคล้องกับความเข้าใจของอิสลาม และความบรรดาประเสริฐและมารยาทต่างๆที่ชะรีอะฮฺของอัลลอฮฺได้กำหนดไว้

    ผู้คนจำเป็นต้องทำการปฏิสัมพันธ์กับการถือศีลอดในฐานะที่มันเป็นอิบาดะฮฺหนึ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นหลักการหนึ่งที่สำคัญในจำนวนหลักการอิสลาม มิใช่ในฐานะที่มันเป็นพียงประเพณีที่สืบทอดกันมาจากชนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง

    มีผู้คนกลุ่มหนึ่งที่เข้าสู่เดือนเราะมะฎอนและออกจากเดือนนั้น โดยที่ชีวิตของเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย เราะมะฎอนไม่ได้อิทธิพลใดๆ ต่อบุคลิกภาพของเขา และไม่ได้ยกระดับมารยาทของเขาให้สูงขึ้นแต่อย่างใด ใช่แต่เท่านั้น เราะมะฎอนกลับไม่ได้เพิ่มพูนสิ่งใดๆจากอัลลอฮฺแก่บางคนเลยเว้นแต่ยิ่งทำให้เขาห่างไกลจากพระองค์ พวกเขาเหล่านั้นคือบรรดาผู้กลับกลอก(มุนาฟิก) –วัลอิยาซุบิลลาฮฺ มินซาลิก เราขอความคุ้มครองจากสภาพเช่นนั้น- คือบรรดาผู้ที่เกลียดเดือนเราะมะฎอน และตระเตรียมอาวุธสำหรับต่อต้านเดือนนี้ เพื่อขจัดผลด้านศรัทธาที่ได้รับจากเดือนรอมฎอนออกจากจิตใจของบรรดาผู้ศรัทธา

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในคำกล่าวที่ว่า

    « مَا أَتَى عَلَى الْمُسْلِمِينَ شَهْرٌ خَيْرٌ لَهُمْ مِنْ رَمَضَانَ، وَلَا أَتَى عَلَى الْمُنَافِقِينَ شَهْرٌ شَرٌّ لَهُمْ مِنْ رَمَضَانَ، وَذَلِكَ لِمَا يُعِدُّ الْمُؤْمِنُونَ فِيهِ مِنَ الْقُوَّةِ لِلْعِبَادَةِ، وَمَا يُعِدُّ فِيهِ الْمُنَافِقُونَ مِنْ غَفَلَاتِ النَّاسِ وَعَوْرَاتِهِمْ، هُوَ غنْمٌ لِلْمُؤْمِنِ يَغْتَنِمُهُ الْفَاجِرُ» [أخرجه أحمد برقم 8368 والبيهقي برقم 8502 وضعفه شعيب الأرنؤوط]

    ความว่า “ไม่มีเดือนใดที่จะมายังบรรดามุสลิมที่จะประเสริฐกว่าเดือนเราะมะฎอน และไม่มีเดือนใดที่จะมายังบรรดาผู้กลับกลอกที่จะเลวร้ายยิ่งกว่าเดือนเราะมะฎอน สำหรับผู้ศรัทธาพวกเขาจะตระเตรียมเพื่อเข้าสู่มันด้วยการเตรียมพร้อมพละกำลังร่างกายและการทำอิบาดะฮฺ ส่วนบรรดาผู้กลับกลอกก็จะตระเตรียมเข้าสู่มันด้วยการทำให้ผู้คนเพิกเฉยและพลาดมันไป ซึ่งถือเป็นโอกาศแห่งโชคลาภของผู้ศรัทธาที่ฉกฉวยจากคนชั่ว" (บันทึกโดยอะหฺมัด หมายเลขหะดีษ 8368 และอัลบัยฮะกีย์ หมายเลขหะดีษ 8502 ท่านชุอัยบฺ อัล-อัรนะอูฏ กล่าวว่าเป็นหะดีษเฎาะอีฟ)

    ดังนั้น จงทำให้เดือนเราะมะฎอนเป็นโรงเรียนเพื่อให้การตัรบียะฮฺมารยาทที่ดีงามแก่อุมมะฮฺในทุกๆ ด้าน ยกระดับสถานะของการเป็นบ่าวของอัลลอฮฺสู่ความพึงพอพระทัยของพระองค์ อัซซะวะญัลลา เป็นผู้นำของมนุษยชาติ และมีอำนาจปกครองบนหน้าแผ่นดิน ดังที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ทรงตรัสว่า

    ﴿وَعَدَ ٱللَّهُ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ مِنكُمۡ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ لَيَسۡتَخۡلِفَنَّهُمۡ فِي ٱلۡأَرۡضِ كَمَا ٱسۡتَخۡلَفَ ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِهِمۡ وَلَيُمَكِّنَنَّ لَهُمۡ دِينَهُمُ ٱلَّذِي ٱرۡتَضَىٰ لَهُمۡ وَلَيُبَدِّلَنَّهُم مِّنۢ بَعۡدِ خَوۡفِهِمۡ أَمۡنٗاۚ يَعۡبُدُونَنِي لَا يُشۡرِكُونَ بِي شَيۡٔٗاۚ ٥٥﴾ [النور: ٥٥ ]

    ความว่า “อัลลอฮฺทรงสัญญากับบรรดาผู้ศรัทธาและบรรดาผู้กระทำความดีในหมู่พวกเจ้าว่า แน่นอนพระองค์จะทรงให้พวกเขาเป็นตัวแทนสืบช่วงบนหน้าแผ่นดินเสมือนดังที่พระองค์ทรงให้บรรดาชนก่อนพวกเขาเป็นตัวแทนสืบช่วงมาก่อนแล้ว และพระองค์จะทรงทำให้ศาสนาของพวกเขาซึ่งพระองค์ทรงโปรดปรานเป็นที่มั่นคงเป็นเกียรติแก่พวกเขา และแน่นอนพระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงให้พวกเขาได้รับความปลอดภัยหลังจากความกลัวของพวกเขาโดยที่พวกเขาจะต้องเคารพภักดีข้า ไม่ตั้งภาคีอื่นใดต่อข้า" (สูเราะฮฺ อัน-นูร : 55)

    แน่นอนที่สุด มารยาทของการถือศีลอดนั้นมีมากมาย ซึ่งคงไม่สามารถที่จะนำเสนอได้ทั้งหมด เพียงแต่เราขอนำเสนอในบางประเภทดังนี้

    ความอดทน

    ส่วนหนึ่งของมารยาทการถือศีลอดคือ ความอดทน กล่าวคือ เราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งความอดทน เพราะการหักห้ามจากอารมณ์ตัณหาที่เคยชินจำเป็นต้องมีความอดทน ดังนั้น การที่คนคนหนึ่งได้อดทนจากความหิวและความกระหายนั้นก็เพื่อเป็นการแสดงความภักดีและความรักต่ออัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา และเจริญรอยตามศาสนทูตของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เช่นเดียวกับที่จำเป็นต้องอดทนต่อการคุกคามของผู้คนและการปฏิบัติอันโง่เขลาของผู้ที่โฉดเขลา และการล่วงละเมิดที่ไม่ชอบธรรมของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงได้กล่าวว่า

    «وَإِذَا كَانَ يَوْمُ صَوْمِ أَحَدِكُمْ فَلاَ يَرْفُثْ وَلاَ يَصْخَبْ، فَإِنْ سَابَّهُ أَحَدٌ أَوْ قَاتَلَهُ، فَلْيَقُلْ إِنِّي امْرُؤٌ صَائِمٌ» [أخرجه البخاري برقم 1904، ومسلم برقم 1151]

    ความว่า “และ เมื่อวันที่คนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านถือศีลอดอยู่ ก็จงอย่าพูดจาหยาบคาย และจงพูดตะโกน และหากคนหนึ่งคนใดด่าทอเขา ก็จงกล่าวว่า แท้จริงฉันเป็นคนที่ถือศีลอด" (อัลบุคอรีย์: 1904, มุสลิม: 1151)

    พร้อมๆ กับคำแนะนำของท่านนบีที่ดีงามนี้ เราก็ยังพบว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ขาดสติด้วยสาเหตุเพียงเล็กน้อย ทำให้พวกเขาเกิดอารมณ์โกรธ มีการด่าทอ ประณามสาปแช่งกัน และทำร้ายร่างกาย ดังนั้น เมื่ออารมณ์โกรธกริ้วของบางคนได้บรรเทาลงและได้รับการตำหนิในสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับเขา เขาใช้การถือศีลอดเป็นข้ออ้าง ประหนึ่งว่าการถือศีลอดได้เชิญชวนเขาให้ประพฤติในสิ่งที่ชั่วร้าย ทั้งด้วยคำพูดหรือการกระทำ หากเขาคนนั้นทราบถึงแก่นแท้ของการถือศีลอด และทราบว่าเดือนรอมฎอนเป็นเดือนหนึ่งที่เรียกร้องให้มีความอดทน ให้อภัย มีเมตตา และประนีประนอมกัน เขาย่อมจะไม่กล่าวหาเดือนรอมฎอนหรือการถือศีลอดด้วยความเท็จเหล่านี้ และย่อมจะไม่กล่าวในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงและโป้ปด

    การมีอะมานะฮฺ

    ส่วนหนึ่งของมารยาทการถือศีลอด คือ การมีอะมานะฮฺ เพราะการถือศีลอดนั้นเป็นหนึ่งในอะมานะฮฺ (ความรับผิดชอบ) ต่างๆที่มนุษย์กำลังแบกรับอยู่ ในขณะที่ชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินไม่สามารถที่จะแบกรับมันได้ อัลลอฮฺ ตะอาลาตรัสว่า

    ﴿ إِنَّا عَرَضۡنَا ٱلۡأَمَانَةَ عَلَى ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِ وَٱلۡجِبَالِ فَأَبَيۡنَ أَن يَحۡمِلۡنَهَا وأَشۡفَقۡنَ مِنۡهَا وَحَمَلَهَا ٱلۡإِنسَٰنُۖ إِنَّهُۥ كَانَ ظَلُومٗا جَهُولٗا ٧٢ ﴾ [الأحزاب: ٧٢ ]

    ความว่า “แท้จริงเราได้เสนออะมานะฮฺแก่ชั้นฟ้าทั้งหลาย แผ่นดิน และขุนเขา แต่พวกมันปฏิเสธที่จะแบกรับมันไว้และกลัว (ว่าจะไม่สามารถรับผิดชอบ) อะมานะฮดังกล่าว และมนุษย์ได้แบกรับมัน แท้จริงเขา (มนุษย์) เป็นผู้อธรรมงมงายยิ่ง" (สูเราะฮฺ อัล-อะหฺซาบ 72)

    ด้วยเหตุนี้ จึงมีการข่มขู่ที่รุนแรงสำหรับผู้ที่บกพร่องต่อความรับผิดชอบ (อะมานะฮฺ) ในเดือนอันยิ่งใหญ่นี้ ด้วยการละศีลอดก่อนตะวันลับขอบฟ้าแม้เพียงไม่กี่นาทีก็ตาม ดังมีรายงานจากท่านอบีอุมามะฮฺ อัล-บาฮิลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

    « بَيْنَا أَنَا نَائِمٌ إِذْ أَتَانِي رَجُلَانِ، فَأَخَذَا بِضَبْعَيَّ، فَأَتَيَا بِي جَبَلًا وَعْرًا، فَقَالَا: اصْعَدْ، فَقُلْتُ: إِنِّي لَا أُطِيقُهُ، فَقَالَا: إِنَّا سَنُسَهِّلُهُ لَكَ، فَصَعِدْتُ حَتَّى إِذَا كُنْتُ فِي سَوَاءِ الْجَبَلِ إِذَا بِأَصْوَاتٍ شَدِيدَةٍ، قُلْتُ: مَا هَذِهِ الْأَصْوَاتُ؟ قَالُوا: هَذَا عُوَاءُ أَهْلِ النَّارِ، ثُمَّ انْطُلِقَ بِي، فَإِذَا أَنَا بِقَوْمٍ مُعَلَّقِينَ بِعَرَاقِيبِهِمْ، مُشَقَّقَةٍ أَشْدَاقُهُمْ، تَسِيلُ أَشْدَاقُهُمْ دَمًا قَالَ: قُلْتُ: مَنْ هَؤُلَاءِ؟ قَالَ: هَؤُلَاءِ الَّذِينَ يُفْطِرُونَ قَبْلَ تَحِلَّةِ صَوْمِهِمْ» [رواه ابن خزيمة برقم 1986 وصححه الألباني في صحيح الترغيب والترهيب برقم 1005]

    ความว่า ““ขณะที่ฉันกำลังนอนหลับอยู่ ก็ว่ามีชายสองคนมาหาฉัน แล้วทั้งสองก็จับสองแขนของฉัน แล้วพาฉันไปยังภูเขาที่ขรุขระ(แห่งหนึ่ง) แล้วชายทั้งสองก็กล่าวว่า: “จง (ปีน) ขึ้นไป" ฉันกล่าวตอบว่า “แท้จริงฉันไม่สามารถ(ปีน)ขึ้นไปได้(หรอก)" ชายทั้งสองตอบว่า “แท้จริงเราจะให้เกิดความง่ายดายต่อท่าน" แล้วฉันก็ได้ปีนขึ้นไปจนกระทั่งเมื่อฉันถึงไปยังช่วงกลางของภูเขา ทันใดนั้นปรากฏมีเสียงดังขึ้นมาอย่างแรง ฉันเลยถามไปว่า “นี่มันเสียงอะไรกันหรือ?" พวกเขากล่าวว่า “นี่คือเสียงกรีดร้องของชาวนรก" หลังจากนั้นทั้งสองก็นำพาฉันไปจนกระทั่งเมื่อฉันได้เจอชนกลุ่มหนึ่งซึ่งพวกเขาถูกตรึงแขวนไว้ด้วยกับข้อเท้าของพวกเขา ปากของพวกเขาปริแตกออก และมีเลือดไหลรินออกมา ท่านนบีกล่าวว่า “คนเหล่านี้คือใครกันหรือ?" เขากล่าวว่า “พวกเขาคือบรรดาผู้ที่ละศีลอดก่อนเวลาที่อนุญาตให้ออกจากศีลอด" (บันทึกโดยอิบนุคุซัยมะฮฺ หมายเลขหะดีษ 1986 ชัยคฺอัล-อัลบานีย์กล่าวว่าเป็นหะดีษที่เศาะฮีหฺ ในหนังสือ เศาะฮีหฺ อัต-ตัรฆีบ วัต-ตัรฮีบ หมายเลขหะดีษ 1005)

    ความเมตตา ความเสมอภาค และช่วยเหลือเกื้อกูล

    ส่วนหนึ่งของมารยาทการถือศีลอดคือ มีความเมตตา ความเสมอภาค และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน กล่าวคือ เราะมะฎอนคือเดือนแห่งความเมตตาและความเสมอภาค ทำให้คนรวยได้รำลึกถึงพี่น้องของเขาที่ยากจนและสงสารพวกเขา และให้ความช่วยเหลือเขาด้วยการบริจาคทรัพย์สิน อาหารและเครื่องดื่ม ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ส่งเสริมในเรื่องนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «مَنْ فَطَّرَ صَائِمًا، كَانَ لَهُ مِثْلُ أَجْرِ الصَّائِمِ، مِنْ غَيْرِ أَنْ يَنْقُصَ مِنْ أَجْرِ الصَّائِمِ شَيْئًا» [رواه الترمذي برقم 807 وأحمد برقم 21676، وصححه الألباني في صحيح الجامع الصغير برقم 6415]

    ความว่า “ผู้ใดเลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่ถือศีลอด เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับผลบุญของผู้ถือศีลอด(ที่เขาให้อาหาร) โดยที่ผลบุญนั้น ไม่ได้ลดน้อยลงไปจากผู้ถือศีลอดนั้นแต่อย่างใด" (บันทึกโดยอัตติรมิซีย์ หมายเลขหะดีษ 807 และอะหมัด หมายเลข 21676 ชัยคฺอัล-อัลบานีย์กล่าวว่าเป็นหะดีษที่เศาะฮีหฺ ในหนังสือ เศาะฮีหฺ อัลญามิอฺ อัศเศาะฆีร หมายเลขหะดีษ 6415)

    ดังนั้น ผู้ถือศีลอดจึงจำเป็นต้องรู้สึกเหมือนกับที่พี่น้องมุสลิมของเขารู้สึก ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกเมตตาแก่พี่น่องของเขาที่อ่อนแอ ให้ความความช่วยเหลือพี่น้องที่ยากจน ช่วยเหลือผู้ถูกอธรรมและตกทุกข์ แสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่พวกเขา และปกป้องพวกเขาจากความเดือดร้อนทั้งหลาย ตามขอบเขตความสามารถของเขา เพราะอัลลอฮฺ ตะอาลา จะไม่บังคับชีวิตหนึ่งชีวิตใดนอกจากตามที่เขามีความสามารถเท่านั้น อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงมีดำรัสว่า

    ﴿ وَٱفۡعَلُواْ ٱلۡخَيۡرَ لَعَلَّكُمۡ تُفۡلِحُونَ ٧٧ ﴾ [الحج: ٧٧ ]

    ความว่า “และจงประกอบความดี เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ" (สูเราะฮฺ อัล-หัจญ์ : 77)

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «المُسْلِمُ أَخُو المُسْلِمِ لاَ يَظْلِمُهُ وَلاَ يُسْلِمُهُ، وَمَنْ كَانَ فِي حَاجَةِ أَخِيهِ كَانَ اللَّهُ فِي حَاجَتِهِ، وَمَنْ فَرَّجَ عَنْ مُسْلِمٍ كُرْبَةً، فَرَّجَ اللَّهُ عَنْهُ كُرْبَةً مِنْ كُرُبَاتِ يَوْمِ القِيَامَةِ، وَمَنْ سَتَرَ مُسْلِمًا سَتَرَهُ اللَّهُ يَوْمَ القِيَامَةِ» [أخرجه البخاري برقم 2442 ومسلم برقم 2580]

    ความว่า “มุสลิมคนหนึ่งเป็นพี่น้องกับมุสลิมอีกคนหนึ่ง เขาจะไม่ปฏิบัติอธรรมต่อพี่น้องของเขา และจะไม่ปล่อยให้พิน้องของเขาเกิดความพินาศ บุคคลใดช่วยเป็นธุระให้พี่น้องของเขา อัลลอฮฺก็จะทรงเป็นธุระให้กับเขา และบุคคลใดที่ช่วยเหลือมุสลิมให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติหนึ่ง (บนโลกนี้) อัลลอฮฺก็จะทรงให้เขาพ้นจากภัยพิบัติหนึ่งจากบรรดาภัยพิบัติในวันกิยามะฮฺ และผู้ใดปกปิด (ส่วนบกพร่องของ) มุสลิมหนึ่งคน อัลลอฮฺก็จะทรงปกปิด (ส่วนบกพร่องของ) เขาในวันกิยามะฮฺ" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข หะดีษ 2442 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2580)

    การให้ความช่วยเหลือที่ดี

    และส่วนหนึ่งของมารยาทการถือศีลอดเช่นเดียวกัน คือ การให้ความช่วยเหลือที่ดี (แก่พี่น้องของเขา) ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า

    ﴿ مَّن يَشۡفَعۡ شَفَٰعَةً حَسَنَةٗ يَكُن لَّهُۥ نَصِيبٞ مِّنۡهَاۖ وَمَن يَشۡفَعۡ شَفَٰعَةٗ سَيِّئَةٗ يَكُن لَّهُۥ كِفۡلٞ مِّنۡهَاۗ ﴾ [النساء: ٨٥]

    ความว่า “ผู้ใดที่ให้ความช่วยเหลือที่ดี (แก่พี่น้องของเขา) เขาก็จะได้รับการตอบแทนจากการช่วยเหลือที่ดีนั้น และผู้ใดให้ความช่วยเหลือที่ชั่วช้า เขาก็จะได้รับการลงโทษจากการช่วยเหลือที่ชั่วช้านั้น" (สูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ 85)

    ท่านอบูมูซา อัล-อัชอะรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า

    كَانَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا أَتَاهُ طَالِبُ حَاجَةٍ، أَقْبَلَ عَلَى جُلَسَائِهِ فَقَالَ: «اشْفَعُوا فَلْتُؤْجَرُوا، وَلْيَقْضِ اللهُ عَلَى لِسَانِ نَبِيِّهِ مَا أَحَبَّ» [أخرجه البخاري برقم 1432 ومسلم برقم 2627]

    ความว่า “ปรากฏว่าท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมนั้น เมื่อมีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมาหาท่าน ท่านจะหันไปทางผู้ที่นั่งร่วมวงกับท่าน และกล่าว่า พวกท่านจงช่วยเหลือเขาเถิด แล้วพวกท่านจะได้รับการตอบแทน และอัลลอฮฺก็จะทรงกำหนดให้เป็นไปตามคำพูดนบีของพระองค์ตามที่พระองค์ทรงพอใจ" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 1432 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2627)

    การให้ข้อตักเตือนแก่ชาวมุสลิม

    และส่วนหนึ่งของมารยาทการถือศีลอดคือ การให้ข้อตักเตือนแก่มุสลิมทุกคน เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «الدِّينُ النَّصِيحَةُ» قُلْنَا: لِمَنْ؟ قَالَ: «لِلهِ وَلِكِتَابِهِ وَلِرَسُولِهِ وَلِأَئِمَّةِ الْمُسْلِمِينَ وَعَامَّتِهِمْ» [أخرجه مسلم برقم 55]

    ความว่า “ศาสนาคือการตักเตือน พวกเราถามว่า (ตักเตือน) เพื่อใครล่ะ ? ท่านนบีตอบว่า เพื่ออัลลอฮฺ เพื่อคัมภีร์ของพระองค์ เพื่อศาสนทูตของพระองค์ เพื่อบรรดาผู้นำของชาวมุสลิม และเพื่อบรรดามุสลิมทุกคน" (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 55)

    และมีรายงานจากท่านญะรีร บินอับดิลลาฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า

    «بَايَعْتُ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَلَى إِقَامِ الصَّلاَةِ، وَإِيتَاءِ الزَّكَاةِ، وَالنُّصْحِ لِكُلِّ مُسْلِمٍ» [أخرجه البخاري برقم 57 ومسلم برقم 56]

    ความว่า “ฉันได้ให้สัตยาบันกับท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า จะดำรงการละหมาด จะบริจาคทาน จะเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งผู้นำ จะให้คำตักเตือนแก่ชาวมุสลิมทุกคน" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 57 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 56)

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «لاَ يُؤْمِنُ أَحَدُكُمْ، حَتَّى يُحِبَّ لِأَخِيهِ مَا يُحِبُّ لِنَفْسِهِ» [أخرجه البخاري برقم 13 ومسلم برقم 45]

    ความว่า “ผู้หนึ่งผู้ใดในหมู่พวกท่านจะยังไม่ถือว่ามีศรัทธา(ที่สมบูรณ์) จนกว่าเขาจะรักพี่น้อง(มุสลิม) ของเขา ดังที่เขารักตัวของเขาเอง" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 13 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 45)

    ดังนั้น ส่วนหนึ่งจากสิทธิของมุสลิมที่จำเป็นต้องปฏิบัติต่อพี่น้องมุสลิมด้วยกัน คือการให้ข้อตักเตือนและเชิญชวนเขาสู่สิ่งที่ดีและประสบความความสำเร็จในชีวิต และตักเตือนเขาให้ระวังหนทางต่างๆที่เบี่ยงเบนและแนวทางต่างๆที่หลงผิด ซึ่งสิ่งนี้นับว่าเป็นส่วหนึ่งของเนื้อแท้แห่งความเป็นพี่น้องกันในอิสลาม และความเป็นเลือดเนื้อเดียวกันแห่งการศรัทธา ตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ฉายภาพถึงมันว่า

    « مَثَلُ الْمُؤْمِنِينَ فِي تَوَادِّهِمْ، وَتَرَاحُمِهِمْ، وَتَعَاطُفِهِمْ مَثَلُ الْجَسَدِ إِذَا اشْتَكَى مِنْهُ عُضْوٌ تَدَاعَى لَهُ سَائِرُ الْجَسَدِ بِالسَّهَرِ وَالْحُمَّى» [أخرجه مسلم برقم 2586]

    ความว่า “เปรียบบรรดาผู้ศรัทธา ในด้านความรัก ความเอื้ออาทร และปรองดองที่มีให้กันและกันนั้น เปรียบเสมือนกับร่างกายเดียวกัน เมื่อใดก็ตามที่อวัยวะส่วนหนึ่งได้รับบาดเจ็บแล้ว ก็จะส่งผลต่ออวัยวะส่วนที่เหลือในการอดหลับอดนอนเพราะความเจ็บปวดที่ได้รับด้วยเช่นกัน" (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2586)

    เดือนเราะมะฎอนถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับการตักเตือนและสั่งสอน และให้ข้อแนะนำแก่พี่น้องมุสลิมด้วยกัน เนื่องจากหัวใจของพวกเขาต่างมุ่งตรงไปยังพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา ส่วนจิตใจของพวกเขาก็มีความปรารถนาที่จะสดับฟังคำตรัสของอัลลอฮฺและคำกล่าวของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ความสงบนิ่งของจิตใจก็จะเกิดขึ้น ส่วนชัยฏอนก็ถูกคุมขังด้วยโซ่ตรวน ดังนั้น มุสลิมทุกคนที่รักในสิ่งที่ดีงามจำเป็นต้องฉกฉวยโอกาสในเดือนนี้ในการให้คำตักเตือน ให้ข้อแนะนำและเสนอแนะแก่พี่น้องของเขา โดยเฉพาะบรรดาอิมามมัสญิด นักศึกษา และนักดาอีย์ทุกคน ซึ่งพวกเขามีหน้าที่อันสำคัญยิ่งในการให้คำตักเตือนผู้คน ให้ข้อรำลึก และแนะนำพวกเขาในเดือนเราะมะฎอนอันมีเกียรตินี้

    การช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรมและความยำเกรง

    ในจำนวนมารยาทของการถือศีลอดคือ การช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรมและความยำเกรง ซึ่งอัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ทรงสั่งใช้ในเรื่องนี้ พระองค์ทรงมีดำรัสว่า

    ﴿ وَتَعَاوَنُواْ عَلَى ٱلۡبِرِّ وَٱلتَّقۡوَىٰۖ وَلَا تَعَاوَنُواْ عَلَى ٱلۡإِثۡمِ وَٱلۡعُدۡوَٰنِۚ ﴾ [المائدة: ٢]

    ความว่า “และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และความยำเกรง และจงอย่าช่วยกันในสิ่งที่เป็นบาป และเป็นศัตรูกัน" (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ 2)

    พระองค์ได้ตรัสอีกว่า

    ﴿ وَٱلۡعَصۡرِ ١ إِنَّ ٱلۡإِنسَٰنَ لَفِي خُسۡرٍ ٢ إِلَّا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلۡحَقِّ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلصَّبۡرِ ٣ ﴾ [العصر: ١، ٣]

    ความว่า “ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริง มนุษย์นั้น อยู่ในการขาดทุน นอกจากบรรดาผู้ศรัทธา และกระทำความดีทั้งหลาย และตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกัน ให้มีความอดทน" (สูเราะฮฺ อัล-อัศรฺ 1-3)

    ซึ่งในเดือนเราะมะฎอนได้มีโครงการเพื่อการกุศลอย่างมากหลายที่สามารถนำไปปฏิบัติ เช่น

    1. โครงการเลี้ยงอาหารละศีลอด

    2. จัดกลุ่มท่องจำอัลกุรอาน

    3. จัดอบรมการเรียนการสอนแก่ลูกหลานมุสลิม

    4. แจกจ่ายม้วนเทป(ซีดี) หนังสือ(จุลสาร) และแผ่นพับ

    5. ให้การอุปการะเด็กกำพร้าและครอบครัวที่ยากไร้

    6. ช่วยเหลือบรรดามุญาฮิดีน ผู้ลี้ภัย และผู้ที่ตกทุกข์ในประเทศอิสลามทั่วทุกมุมโลก

    ดังนั้น มุสลิมทุกคนจำเป็นที่ต้องมีส่วนร่วมกับพี่น้องของเขาในบางกิจกรรมเพื่อการกุศล ไม่ว่าจะสนับสนุนด้วยทุนทรัพย์ เวลา หรือพละกำลังความสามารถ เพื่อให้ตัวเองได้รับการตอบแทนและผลบุญจากการมีส่วนร่วมดังกล่าว ซึ่งท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าว่า

    «مَنْ جَهَّزَ غَازِيًا فِي سَبِيلِ اللَّهِ فَقَدْ غَزَا، وَمَنْ خَلَفَ غَازِيًا فِي سَبِيلِ اللَّهِ بِخَيْرٍ فَقَدْ غَزَا» [أخرجه البخاري برقم 2843 ومسلم برقم 1895]

    ความว่า “ผู้ใดได้จัดเตรียมเสบียงให้แก่นักรบในหนทางของอัลลอฮฺก็เท่ากับเขาได้ออกสงคราม และผู้ใดที่อยู่ข้างหลังนักรบในหนทางของอัลลอฮฺด้วยความดีงามก็เท่ากับเขาได้ออกสงคราม" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 2843 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1895)

    การไกล่เกลี่ยระหว่างผู้คน

    และในจำนวนมารยาทของการถือศีลอดคือ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้คน ซึ่งเป็นประตูแห่งความดีงามที่ยิ่งใหญ่มาก ที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเพิกเฉยต่อมัน อัลลอฮ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ لَّا خَيۡرَ فِي كَثِيرٖ مِّن نَّجۡوَىٰهُمۡ إِلَّا مَنۡ أَمَرَ بِصَدَقَةٍ أَوۡ مَعۡرُوفٍ أَوۡ إِصۡلَٰحِۢ بَيۡنَ ٱلنَّاسِۚ ﴾ [النساء: ١١٤]

    ความว่า “ไม่มีความดีใดๆ ในการพูดซุบซิบอันมากมายของพวกเขา นอกจากผู้ที่ใช้ให้ทำทานหรือให้ทำสิ่งที่ดีงาม หรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้คนเท่านั้น" (สูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ 114)

    พระองค์ตรัสอีกว่า

    ﴿ إِنَّمَا ٱلۡمُؤۡمِنُونَ إِخۡوَةٞ فَأَصۡلِحُواْ بَيۡنَ أَخَوَيۡكُمۡۚ ﴾ [الحجرات: ١٠]

    ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า" (สูเราะฮฺ อัล-หุญุรอต 10)

    และพระองค์ได้ตรัสอีกว่า

    ﴿ وَٱلصُّلۡحُ خَيۡرٞۗ ﴾ [النساء: ١٢٨]

    ความว่า “และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (ระหว่างพี่น้อง) นั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่ง" (สูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ 128)

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าว่า

    «كُلُّ سُلَامَى مِنَ النَّاسِ عَلَيْهِ صَدَقَةٌ، كُلَّ يَوْمٍ تَطْلُعُ فِيهِ الشَّمْسُ» قَالَ: «تَعْدِلُ بَيْنَ الِاثْنَيْنِ صَدَقَةٌ، وَتُعِينُ الرَّجُلَ فِي دَابَّتِهِ فَتَحْمِلُهُ عَلَيْهَا، أَوْ تَرْفَعُ لَهُ عَلَيْهَا مَتَاعَهُ صَدَقَةٌ» قَالَ: «وَالْكَلِمَةُ الطَّيِّبَةُ صَدَقَةٌ، وَكُلُّ خُطْوَةٍ تَمْشِيهَا إِلَى الصَّلَاةِ صَدَقَةٌ، وَتُمِيطُ الْأَذَى عَنِ الطَّرِيقِ صَدَقَةٌ» [أخرجه البخاري برقم 2989 ومسلم برقم 1009]

    ความว่า “ทุกข้อกระดูกจากผู้คนทั้งหลายนั้น (มีหน้าที่) จะต้องทำเศาะดะเกาะฮฺ ทุกๆวันที่ตะวันขึ้น ท่านกล่าวว่า การที่ท่านช่วยไกล่เกลี่ยด้วยความยุติธรรมระหว่างสองคน (ที่ขัดแย้งกัน) ก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ, การทีท่ายช่วยเหลือผู้คนให้ขึ้นพาหนะของเขา หรือท่านช่วยยกสิ่งของของเขาขึ้นบนพาหนะของเขาก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ ท่านกล่าวว่า คำพูดที่ดีก็เป็นการเศาะดะเกาะฮฺ, ทุกๆย่างก้าวที่เดินไปสู่การละหมาดก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ และการที่ท่านได้ขจัดขวากหนาม (สิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งสกปรก) จากทางเดินก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 2989 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1009)

    ไหนเล่าบรรดาผู้คนที่ฉวยโอกาสเดือนเราะมะฎอนนี้ในการไกล่เกลี่ยประนีประนอมระหว่างผู้คน และสร้างความปรองดองแก่คู่กรณีที่ทะเลาะเบาะแว้ง ดึงความโกรธกริ้วออกจากในจิตใจของพวกเขา แล้วสร้างความรักความกลมเกลียวแก่มุสลิมต่อพี่น้องมุสลิมด้วยกัน

    แน่นอนที่สุด มารยาทของการถือศีลอดนั้นมีมากมาย ซึ่งครอบคลุมทุกมารยาทที่สูงส่ง คุณลักษณะนิสัยที่น่ายกย่อง และการงานที่ดีงาม ดังนั้นผู้ที่ประสบความสำเร็จก็คือผู้ที่สามารถประดับประดาด้วยคุณลักษณะนิสัยเหล่านี้มากที่สุดและมีส่วนร่วมในทุกประเภทของความดีงาม ส่วนผู้ที่ล้มเหลวก็คือผู้ที่เพิกเฉยต่อมันและสิ้นเปลืองเวลาในเดือนนี้ไปกับการนอนหลับและความเกียจคร้าน

    คำเรียกร้องและคำสั่งเสีย

    นี่คือคำเรียกร้องต่อทุกคนในสังคม และทุกหมู่เหล่า เพื่อให้เดือนเราะมะฎอนมีผลต่อชีวิตและวิถีแห่งการดำเนินชีวิต รวมถึงต่อกิจการงานของเขา

    ถึง...พ่อค้าแม่ค้ามุสลิม

    เพื่อให้เราะมะฎอนมีผลต่อการค้าขายของท่าน จงซื่อสัตย์ต่อมุสลิมด้วยกัน ละทิ้งการหลอกลวงและการฉ้อโกง ให้มีสัจจะในคำพูด มีความเอื้อเฟื้อในการซื้อขาย ให้หลีกห่างจากการขายของที่อัลลอฮฺทรงห้าม และออกห่างจากการกินดอกเบี้ยหรือทุกสิ่งที่เป็นที่ต้องห้ามของศาสนา รวมถึงให้ทุ่มหรือบริจาคทรัพย์สินของท่านเพื่อเด็กกำพร้า คนขัดสน และคนยากไร้ทั้งหลาย สุดท้ายนี้ให้ท่านมีส่วนร่วมในทุกๆโครงการเพื่อการกุศลแม้ว่าท่านจะอยู่ที่ใดก็ตาม

    ถึง...พนักงานมุสลิม

    เพื่อให้เราะมะฎอนมีผลต่อหน้าที่รับผิดชอบของท่าน ขอให้เอาใจใส่ต่อการงานของท่าน ให้มีความตรงต่อเวลาในการนัดหมาย และให้รักษาเวลาทำงาน และทำงานตามที่ได้รับการมอบหมายให้สมบูรณ์ ขอให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่มาหลังจากท่าน ขอให้มีความกระฉับกระเฉงอย่าให้มีความเหนื่อยล้าและเบื่อหน่าย ให้มีการยิ้มแย้มเบิกบานเวลาพบปะกัน ใช้คำพูดที่นุ่มนวล และมีความสุภาพอ่อนโยนในการหยิบยื่นกัน

    ถึง...แพทย์และพยาบาลมุสลิม

    เพื่อให้เราะมะฎอนมีผลต่อการงานของท่าน จงอย่ามุ่งแต่จะสะสมทรัพย์ และแสวงหาผลประโยชน์บนความเดือดร้อนของผู้คน ขอให้ระมัดระวังในการวินิจฉัยโรคและระบุประเภทของยา ขอให้ท่านมีความเมตตาต่อผู้ป่วยของท่าน ขอให้มีความละเอียดอ่อนในการวินิจฉัยและติดตามผลในทุกกรณีที่มายังท่าน และให้ท่านพูดคุยด้วยคำพูดที่ดี เป็นคำพูดที่ให้ความหวังและสร้างกำลังใจแก่จิตใจของพวกเขา

    ถึง...ครูบาอาจารย์มุสลิม

    เพื่อให้เราะมะฎอนมีผลต่อการสอนและชั่วโมงคาบสอนของท่าน ขอให้ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักศึกษาของท่าน พึงทราบเถิดว่า พวกเขาจะปฏิบัติตามท่านในทุกสิ่งที่ท่านได้ทำ ทั้งคำพูด การกระทำ และพฤติกรรมของท่าน ดังนั้น จงพยายามสอนพวกเขาในเรื่องจรรยามารยาทที่น่ายกย่องและคุณลักษณะนิสัยที่ดีงาม และพึงระวังอย่าให้พฤติกรรมที่ไม่ดีหรือที่ชั่วร้ายออกมาจากตัวท่านเป็นอันขาด เพราะไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาก็จะไม่รับฟังคำนะศีหะฮฺจากท่านเลย และจะทำให้คำพูดของท่านสำหรับพวกเขาแล้วไม่มีประโยชน์ใดๆ

    ถึง...พ่อที่ประเสริฐ

    เพื่อให้เราะมะฎอนมีผลต่อการตัรบียะฮฺ (อบรมสั่งสอน) ลูกๆของท่าน จงพยายามรักษาการกระทำที่ดีงามในเดือนที่ประเสริฐนี้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าลูกๆของท่านนั้นมีความประเสริฐ มีมารยาท มีหุกุ่ม และสิ่งที่เฉพาะเจาะจงของเขา จงทำให้มารยาทของการถือศีลอดเป็นแบบอย่างที่เป็นรูปธรรมในการปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวของท่าน ลูกๆของท่าน เพื่อนบ้านของท่าน และเพื่อนพ้องของท่าน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ท่านได้เป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่ลูกๆของท่าน และคนทุกคนที่รายล้อมตัวท่าน

    โอ้อัลลอฮฺได้โปรดประทานเตาฟีกแก่เรา เพื่อการถือศีลอดในเดือนนี้ได้รับความโปรดปรานจากพระองค์ และได้โปรดให้เราเป็นหนึ่งในผู้ที่พระองค์ทรงปลดปล่อยให้รอดพ้นจากการลงโทษของไฟนรก ด้วยความเมตตาของพระองค์ โอ้ผู้ทรงเมตตา กรุณาปรานียิ่ง

    และพรอันประเสริฐ ความศานติ และความจำเริญของอัลลอฮฺ พึงมีแด่ท่านนบีของเรา -มุหัมมัด- ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และแด่เครือญาติ ตลอดจนเศาะหาบะฮฺของท่านทั้งหลาย