×
อธิบายความหมายและเคล็ดลับ(หิกมะฮฺ)ในการบัญญัติการมอบอำนาจ หุก่มการมอบอำนาจ กรณีต่างๆ ที่อนุญาตให้ทำการมอบอำนาจได้ ลักษณะของวะกาละฮฺ หุก่มการมอบอำนาจอีกทอดหนึ่งของผู้รับมอบอำนาจ การมอบอำนาจจะเป็นโมฆะด้วยสาเหตุใดบ้าง วิธีการมอบอำนาจ หุก่มการเสนอตัวเพื่อรับมอบอำนาจ จากหนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    อัล-วะกาละฮฺ (การมอบอำนาจ)

    الوكالة

    มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์

    แปลโดย : อิสมาน จารง

    ผู้ตรวจทาน : อัสรัน นิยมเดชา

    محمد بن إبراهيم التويجري

    ترجمة: عثمان جاورنج

    مراجعة: عصران إبراهيم


    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

     อัล-วะกาละฮฺ (การมอบอำนาจ)

    อัล-วะกาละฮฺ  คือ การให้ผู้ที่สามารถใช้สิทธิได้เหมือนตัวเขาทำหน้าที่แทนในสิ่งที่(ศาสนา)อนุญาตให้มีการทำแทนกันได้ 

    เคล็ดลับ(หิกมะฮฺ)ในการบัญญัติการมอบอำนาจ

                การมอบอำนาจนั้นถือเป็นอีกคุณค่าหนึ่งของศาสนาอิสลาม  เนื่องด้วยมนุษย์ทุกคนย่อมต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  บางครั้งเขามีสิทธิต่างๆ เหนือผู้อื่นและบางครั้งผู้อื่นมีสิทธิเหนือตัวเขา ซึ่งเขาอาจลงมือทำด้วยตัวเองไมว่าจะเป็นการรับหรือการให้ หรือเขาอาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทน และแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถลงมือทำงานของตนด้วยตัวเองได้ ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงอนุญาตให้เขามอบอำนาจให้ผู้อื่นทำหน้าที่แทนเขาได้

    หุก่มการมอบอำนาจ

              การมอบอำนาจนั้นถือเป็นข้อตกลงที่เป็นที่อนุญาต ทั้งผู้มอบอำนาจผู้รับมอบอำนาจ สามารถที่จะทำการยกเลิกสัญญาการมอบอำนาจนั้น ได้ทุกเมื่อทุกเวลา 

              การมอบอำนาจนั้นมีผลใช้ได้ด้วยทุกวิธี ที่สื่อความหมายถึงการมอบอำนาจ จะด้วยการพูด หรือ การกระทำก็ได้

    กรณีที่อนุญาตให้มีการมอบอำนาจได้

    สิทธินั้นมีอยู่สามประเภท

    1. ประเภทแรก :สามารถที่จะทำการมอบอำนาจกันได้อย่างเสรี โดยไม่มีเงื่อนไข ได้แก่สิ่งที่สามารถทำแทนกันได้ เช่น การทำข้อตกลงต่างๆ การยกเลิกข้อตกลง การลงโทษ และอื่นๆ

    2. อีกประเภทหนึ่ง :ไม่สามารถที่จะทำการมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่แทนกันได้เลยโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งได้แก่ อิบาดะฮฺประเภทที่ต้องทำด้วยร่างกายเท่านั้นเช่น การทำความสะอาดร่างกาย การละหมาด และ อื่นๆ

    3. ประเภทที่สาม : กรณีที่อนุโลมให้ทำการมอบอำนาจได้หากไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ด้วยตัวเองเช่น การวะกาละฮฺให้ไปทำหัจญ์หรืออุมเราะฮฺที่วาญิบแทน เป็นต้น

    กรณีต่างๆ ที่อนุญาตให้ทำการมอบอำนาจได้

    การมอบอำนาจสามารถกระทำได้สำหรับบุคคลที่สามารถดำเนินการด้วยตัวเองได้ และสามารถทำการมอบอำนาจให้ทำหน้าที่แทนกันได้ในเรื่องที่สามารถทำแทนกันได้ที่เกี่ยวกับการทำสัญญาต่างๆ  เช่น  การซื้อการขาย  การเช่า-จ้าง  เป็นต้น

    และที่เกี่ยวกับการยกเลิกข้อตกลง(สัญญา) เช่น การหย่า การปล่อยทาส การยกเลิกการซื้อขาย เป็นต้น

    และที่เกี่ยวกับอาญาทั้งในการตันสินและการลงอาญา เป็นต้น

    ลักษณะของวะกาละฮฺ

    การมอบอำนาจโดยกำหนดเวลา(ชั่วคราว)ถือว่าใช้ได้  เช่นผู้มอบอำนาจกล่าวว่า “คุณมีอำนาจแทนผมหนึ่งเดือน"

    และถือว่าใช้ได้เช่นกันในการมอบอำนาจโดยมีเงื่อนไข เช่นผู้มอบอำนาจกล่าวว่า “เมื่อการเช่าบ้านของฉันสิ้นสุดลงท่านก็จงขายบ้านหลังนั้นไปเสีย”

    นอกจากนั้นถือว่าใช้ได้เช่นกันในการมอบอำนาจแบบทันทีเช่นผู้มอบอำนาจกล่าวว่า “เธอมีอำนาจแทนทันทีเดียวนี้”

    และถือว่าใช้ได้สำหรับผู้รับมอบอำนาจที่จะรับการมอบอำนาจทันทีหรือรับภายหลัง

    หุก่มการมอบอำนาจอีกทอดหนึ่งของผู้รับมอบอำนาจ

    ถือว่าใช้ไม่ได้(ไม่อนุญาต)ที่ผู้รับมอบอำนาจจะมอบอำนาจในสิ่งที่ได้รับมอบอำนาจให้ผู้อื่นอีกต่อหนึ่ง ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจากผู้มอบอำนาจในเรื่องดังกล่าว

    และถ้าหากเขาไม่สามารถดำเนินการสิ่งที่เขาได้รับมอบอำนาจด้วยตัวเองได้เขาสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นได้ยกเว้นในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ถือว่าจะต้องได้รับการยินยอมจากผู้มอบอำนาจเสียก่อน

    การมอบอำนาจจะเป็นโมฆะด้วยสาเหตุต่อไปนี้

    1.      ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขอทำการยกเลิก

    2.      ผู้มอบอำนาจได้ถอนการมอบอำนาจจากผู้รับมอบอำนาจ

    3.      ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เสียชีวิต หรือ วิกลจริต

    4.      ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกอายัดเพราะสติฟั่นเฟือน

    วิธีการมอบอำนาจ

    อนุญาตให้มีการมอบอำนาจโดยมีสินจ้างหรือไม่มีสินจ้างก็ได้  และผู้รับมอบอำนาจถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจในสิ่งที่เขาได้รับมอบอำนาจ เขาจะไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ในความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยมีข้อแม้ว่าเขามิได้บกพร่องในหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจนั้น และถ้าหากเขาละเมิดหรือบกพร่องเขาต้องรับผิดชอบชดใช้  และให้ยึดถือคำพูดของเขาถ้าหากเขากล่าวว่าเขามิได้บกพร่องพร้อมคำสาบาน

    หุก่มการเสนอตัวเพื่อรับมอบอำนาจ

    ผู้ใดที่คิดว่าตนเองเป็นคนเหมาะสมและมีคุณธรรม ไม่กลัวว่าจะตัวเองจะบกพร่องต่อความรับผิดชอบ และการรับมอบอำนาจไม่ได้ทำให้เขาละเลยสิ่งสำคัญกว่าก็ถือว่าเป็นสุนัตสำหรับเขาที่จะรับมอบอำนาจสิ่งนั้น เพราะในการรับดังกล่าวเป็นสิ่งที่ได้รับผลบุญและกุศลแม้จะด้วยการรับสินจ้างก็ตามถ้าหากเขามีความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริงและทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์