×
อธิบายข้อมูลว่าด้วยการทำร้ายร่างกายที่ไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต อาิทิ การทำร้ายส่วนต่างๆ ในร่างกายให้เกิดบาดแผลหรือขาดวิ่น รูปแบบการกิศอศในกรณีที่เจตนาทำร้ายร่างกาย เงื่อนไขการดำเนินการกิศอศกรณีทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเสียหาย เงื่อนไขการกิศอศกรณีสร้างรอยแผล ผลกระทบที่เกิดจากการทำร้าย ความยุติธรรมในการรักษาสิทธิ หุก่มผู้ที่แอบมองที่ส่วนตัวของผู้อื่น หุก่มการถ่ายเลือดให้ผู้อื่น จากหนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    การทำร้ายร่างกายที่ไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต

    ﴿الجناية على ما دون النفس﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

    แปลโดย : รุสดี การีสา

    ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    2010 - 1431

    ﴿الجناية على ما دون النفس﴾

    « باللغة التايلاندية »

    الشيخ محمد بن إبراهيم التويجري

    ترجمة: رشدي كاريسا

    مراجعة: صافي عثمان

    مصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي

    2010 - 1431

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    การทำร้ายร่างกายที่ไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต

    การทำร้ายร่างกายที่ไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต คือ การทำร้ายส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ที่กระทำโดยผู้อื่น ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่การเสียชีวิต

    การทำร้ายส่วนต่างๆ ในร่างกายให้เกิดบาดแผลหรือขาดวิ่น

    หากเป็นการจงใจกระทำให้ลงโทษด้วยการกิศอศ และหากกรณีที่ไม่ได้มีเจตนาหรือกรณีกึ่งเจตนาให้ลงโทษด้วยการจ่ายดิยะฮฺ

    · จำพวกของคนที่ต้องโทษกิศอศในกรณีทำร้ายร่างกาย ก็คือคนจำพวกเดียวกันกับผู้ที่ต้องโทษกิศอศในกรณีฆ่าผู้อื่น ถ้าไม่อยู่จำพวกดังกล่าวก็ไม่ต้องกิศอศ ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ดังนั้น มูลเหตุที่ทำให้ต้องโทษกิศอศในกรณีทำร้ายร่างกายก็คือมูลเหตุเดียวกันที่ทำให้ต้องโทษกิศอศในกรณีของการฆ่าผู้อื่น ซึ่งมีเงื่อนไขเดียวกันและเหมือนกัน นั่นคือ การเจตนากระทำ ดังนั้น จึงไม่มีการกิศอศถ้าหากทำไปโดยไม่เจตนาหรือกึ่งเจตนา แต่ให้ลงโทษด้วยการจ่ายดิยะฮฺแทน

    การกิศอศในกรณีที่เจตนาทำร้ายร่างกายมีสองรูปแบบ

    รูปแบบที่หนึ่ง อัล-อัฏรอฟ คือ ทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เสียหาย อาทิ การทำร้ายดวงตา จมูก หู ฟัน ปาก แก้ม มือ เท้า นิ้วมือนิ้วเท้า ข้อมือ อวัยวะเพศ เป็นต้น การกิศอศในกรณีนี้ผู้กระทำจะถูกลงโทษด้วยรูปแบบที่เหมือนกับการกระทำของเขาต่อเหยื่อทุกประการ คือ ถ้าทำให้ตาของจำเลยบอด ก็ต้องลงโทษด้วยการชดใช้ทำให้ตายของโจทก์บอดด้วย เป็นต้น

    อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    (ﮮ ﮯ ﮰ ﮱ ﯓ ﯔ ﯕ ﯖ ﯗ ﯘ ﯙ ﯚ ﯛ ﯜ ﯝ ﯞ ﯟ ﯠ ﯡ ﯢ ﯣ ﯤ ﯥ ﯦ ﯧ ﯨ ﯩ ﯪ ﯫ ﯬ ﯭ ﯮ ﯯ ﯰ) [المائدة / 45 ].

    ความว่า : “และเราได้บัญญัติแก่พวกเขาไว้ในคัมภีร์นั้นว่า ชีวิตต้องใช้ด้วยชีวิต และ ตาด้วยตา และจมูกด้วยจมูก และหูด้วยหู และฟันด้วยฟัน และบรรดาบาดแผลก็ให้มีการชดเชยเยี่ยงเดียวกัน และผู้ใดให้การชดเชยนั้นเป็นทาน มันก็เป็นสิ่งลบล้างบาปของเขา และผู้ใดมิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมาแล้ว ชนเหล่านี้แหละคือ ผู้อธรรม” (อัล-มาอิดะฮฺ 45)

    เงื่อนไขการกิศอศกรณีทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเสียหาย

    การกิศอศจะถูกกำหนดขึ้นโดยมีเงื่อนไขว่า เหยื่อผู้ถูกกระทำนั้นไม่ได้มีความผิดใดๆ และเป็นผู้ที่อยู่ในศาสนาเดียวกันกับผู้กระทำ ดังนั้นการกิศอศจะไม่กำหนดหากผู้กระทำเป็นมุสลิมในขณะที่ผู้ถูกกระทำนั้นเป็นกาฟิร และผู้กระทำนั้นต้องบรรลุวัยตามศาสนบัญญัติ และผู้ถูกกระทำนั้นไม่ใช้บุตรของผู้กระทำ และเป็นการกระทำที่เจตนา(จงใจ) ดังนั้นเมื่อใดที่ครบตามเงื่อนไขที่ระบุนี้การกิศอศก็จำเป็นต้องถูกดำเนินการให้ลุล่วง และให้ดำเนินการหากตรงตามเงื่อนไขที่จะกล่าวต่อไปนี้

    เงื่อนไขการดำเนินการกิศอศกรณีทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเสียหาย

    1. ไม่มีการกระทบกับส่วนอื่นๆ ในภายหลัง คือให้ตัดจากส่วนที่เป็นข้อต่อของร่างกาย หรือจุดสิ้นสุดของอวัยวะ

    2. มีความเหมือนทั้งในเรื่องของชื่อและจุดที่จะกระทำ อาทิ ตากับตา ดังนั้นห้ามทำการกิศอศตาข้างซ้ายด้วยตาข้างขวา หรือตาที่บอดกับตาที่มองเห็น เป็นต้น

    3. มีสภาพและความสมบูรณ์เหมือนกันและเท่ากัน ดังนั้นห้ามทำการกิศอศมือหรือเท้าที่สมบูรณ์เนื่องจากการทำร้ายมือหรือเท้าที่เป็นอัมพาต เช่นเดียวกับที่ต้องไม่เอากิศอศดวงตาที่สมบูรณ์เพระการทำร้ายดวงตาที่บอด แต่อนุญาตให้ทำการกิศอศกลับกันได้ (คือ การกิศอศอวัยวะที่เป็นอัมพาตของผู้ร้ายเนื่องจากการที่เขาทำให้ทำร้ายอวัยวะที่สมบูรณ์ของเหยื่อ) และไม่ต้องจ่าย อัรชฺ (ค่าชดเชยส่วนที่เหลือเพราะความสมบูรณ์ที่ต่างกันของอวัยวะนั้นๆ) แต่อย่างใด

    กรณีที่เงื่อนไขเหล่านี้มีครบถ้วน ก็อนุญาตให้ดำเนินการกิศอศได้ และหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขให้เปลี่ยนจากการกิศอศเป็นการจ่าย ดิยะฮฺ

    รูปแบบที่สอง อัล-ญุรูหฺ หรือ กรณีที่ทำให้เกิดบาดแผลบนร่างกาย ซึ่งหากการกระทำดังกล่าวเป็นการเจตนา ให้ลงโทษด้วยการกิศอศ

    เงื่อนไขการกิศอศกรณีสร้างรอยแผล

    ไม่มีความแตกต่างจากเงื่อนไขกรณีกระทำการฆ่า พร้อมกับเงื่อนไขที่ว่าต้องสามารถที่จะดำเนินการกิศอศได้โดยไม่มีผลกระทบกับส่วนอื่นๆ บนร่างกายหรือเกินจากส่วนที่ถูกทำร้าย โดยที่บาดแผลนั้นต้องมีจุดที่สิ้นสุดถึงกระดูก เช่นกรณีที่เป็นบาดแผลแบบ อัล-มูฎิหะฮฺ บาดแผลที่ฉีกขาดถึงกระดูกและมองเห็นกระดูกอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนของร่างกาย อาทิ ที่ศีรษะ ต้นขา หน้าแข็ง เป็นต้น

    กรณีที่ไม่สามารถกระทำการกิศอศไม่ให้กระทบส่วนอื่นๆ และไม่ล้ำขอบเขตที่กำหนดได้ การกิศอศให้ถือเป็นโมฆะ และให้ทำการจ่ายดิยะฮฺแทน

    ส่งเสริมให้มีการให้อภัยจากการกิศอศกรณีทำร้ายส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหรือการสร้างบาดแผลบนร่างกายโดยเปลี่ยนเป็นการจ่าย ดิยะฮฺแทน และเป็นการดียิ่งกว่าหากมีการอภัยให้ทั้งหมด(ทั้งการกิศอศและการจ่ายดิยะฮฺ) และผู้ใดที่ให้อภัยในเรื่องที่กล่าวมานี้ แท้จริงเขาจะได้รับผลบุญจากอัลลอฮฺ และเป็นการส่งเสริมให้มีการร้องขอต่อผู้ที่มีสิทธิในการให้อภัยดังกล่าว

    عن أنس بن مالك رضي الله عنه قال: مَا رُفِعَ إلَى رَسُولِ الله صلى الله عليه وسلم شَيْءٌ فِيْـهِ القِصَاصُ، إلا أَمَـرَ فِيْـهِ بِالعَفْوِ. أخرجه أبو داود وابن ماجه.

    ความว่า: ท่านอะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า “ไม่มีเรื่องใดที่ถูกฟ้องไปถึงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เกี่ยวกับการกิศอศนอกเสียจากท่านจะสั่งให้มีการอภัยโทษ” (บันทึกโดย อบู ดาวูด หมายเลข 4497 และอิบนุ มาญะฮฺ หมายเลข 2692 สำนวนนี้เป็นของท่าน)

    ผลกระทบที่เกิดจากการทำร้าย

    1. ผลกระทบที่เกิดจากการถูกทำร้ายนั้น อยู่บนหลักประกันของการกิศอศหรือการจ่ายดิยะฮฺ ทั้งกรณีการฆ่าและกรณีที่นอกเหนือจากการฆ่า ดังนั้น หากการตัดนิ้วใดนิ้วก่อผลกระทบทำให้เกิดเชื้อระบาดไปยังข้อมือจนข้อมือขาด เช่นนี้แล้วจำเป็นจะต้องทำการลงโทษด้วยการตัดมือของอาชญากร และหากเกิดเชื้อระบาดจนกระทั่งก่อให้เกิดการเสียชีวิตจำเป็นต้องลงโทษด้วยการกิศอศ(ประหารให้ตายตาม)

    2. ผู้กระทำผิด(นักโทษ)ที่เสียชีวิตเนื่องจากการถูกลงโทษในรูปแบบของการหัดด์ (โทษอาญาโดยปกติ) อาทิ การเฆี่ยน การตัดมือจากการขโมย เป็นต้น หรือจากการถูกกิศอศกรณีทำร้ายร่างกาย ดังนั้น การจ่ายสินไหมให้กับคนเหล่านี้ให้ตกเป็นความรับผิดชอบของทรัพย์สินส่วนกลาง

    3. ห้ามไม่ให้ทำการกิศอศกรณีทำร้ายร่างกาย จนกว่าบาดแผลหรือส่วนที่ถูกตัดของเหยื่อผู้ถูกกระทำจะหายสนิท เนื่องจากอาจจะเกิดมีการติดเชื้อหรือบาดแผลระบาดไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย เช่นเดียวกันนี้จะไม่มีการจ่ายสินไหมให้กับผู้ถูกกระทำจนกว่าส่วนที่ถูกกระทำนั้นจะหายสนิท เพื่อรอดูว่าอาจเกิดการระบาดไปถึงส่วนอื่นๆ ของร่างกายหรือไม่

    4. เมื่อตัดนิ้วจนขาดโดยเจตนา แล้วเหยื่อก็ให้อภัยต่อผู้ทำร้าย แต่เกิดอาการระบาดของเชื้อลามไปสู่มือหรือเป็นเหตุทำให้เสียชีวิต ในขณะที่การยกโทษดังกล่าวนั้นไม่ได้ระบุเงื่อนไขว่าต้องจ่ายค่าทดแทนใดๆ จำเลยก็จะไม่ถูกลงโทษและไม่ต้องจ่ายดิยะฮฺใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าหากระบุเงื่อนไขการยกโทษว่าต้องจ่ายค่าทดแทนใดๆ จำเลยก็จำเป็นต้องจ่ายดิยะฮฺให้สมบูรณ์

    ความยุติธรรมในการรักษาสิทธิ

    ผู้ใดกระทำการทุบตีผู้อื่นด้วยมือของเขา หรือด้วยไม้เท้า หรือด้วยแส้ หรือด้วยการชก การกิศอศก็จะถูกดำเนินการต่อผู้กระทำเสมือนกับที่เขากระทำ เขาจะถูกกระทำเสมือนกับที่เขากระทำผู้อื่น ดังนั้นเขาจะถูกชกเหมือนกับที่เขาชก ถูกตีเหมือนกับที่เขาตีตรงส่วนที่ถูกเขาตี ด้วยเครื่องมือที่เขาใช้ในการทุบตี หรือเป็นแบบเดียวกัน นอกเหนือจากผู้ถูกกระทำจะให้การอภัย

    หุก่มผู้ที่แอบมองที่ส่วนตัวของผู้อื่น

    ผู้ใดที่แอบมองเข้าไปยังบ้านของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต จากนั้นเขาถูกเจ้าของบ้านทิ่มแทงดวงตาทำให้บอด ดังนั้นผู้กระทำไม่จำเป็นจะต้องจ่ายดิยะฮฺ หรือไม่ถูกทำโทษด้วยการกิศอศแต่อย่างใด

    عن أبي هريرة رضي الله عنه قال: قال أبو القاسم صلى الله عليه وسلم: «لَوْ أَنَّ امْرَءاً اطَّلَعَ عَلَيْكَ بِغَيْرِ إذْنٍ فَخَذَفْتَـهُ بِحَصَاةٍ فَفَقَأتَ عَيْنَـهُ لَـمْ يَكُـنْ عَلَيْكَ جُنَاحٌ». متفق عليه.

    ความว่า รายงานจากท่าน อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า “หากมีผู้หนึ่งได้ทำการแอบมองไปยังเจ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วเจ้าก็ทำการขว้างก้อนหินใส่เขา แล้วถูกดวงตาของเขา แท้จริงเจ้าจะไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 6902 สำนวนนี้เป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลข 2158)

    หุก่มการถ่ายเลือดให้ผู้อื่น

    การถ่ายเลือดจากผู้หนึ่งไปยังอีกผู้หนึ่งถือเป็นการอนุมัติ ในกรณีที่มีความจำเป็น และไม่มีสิ่งอื่นที่อนุมัติมาทดแทนในส่วนนี้ได้ ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีความเชื่อสูงว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ และผู้ให้ได้ยินยอมสมัครใจพร้อมกับไม่มีผลกระทบใดๆ กับเขา จึงถือว่าเป็นการอนุญาตให้กระทำได้เท่าที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น

    · อนุญาตให้ทำการรวบรวมเลือด(เก็บไว้ที่ธนาคารเลือด) เพื่อเผื่อไว้ในกรณีเกิดเหตุจำเป็นและฉุกเฉิน อาทิ กรณีเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน กรณีการคลอดบุตร และกรณีอื่นๆ ที่มีการเสียเลือดมาก