×
จากหนังสือมุคตะศ็อรฺ อัลฟิกฮิล อิสลามีย์ ประกอบด้วยเนื้อหาต่างๆ อาทิ การลงโทษเชิงตักเตือนและสั่งสอน (อัต-ตะอฺซีร) การลงโทษต่อผู้กระทำผิดมี 3 ประเภท วิทยปัญญาที่มีบทบัญญัติให้มีการลงโทษแบบตักเตือน บทบัญญัติว่าด้วยการตักเตือนหรือสั่งสอน (อัตตะอฺซีร) ประเภทของการตักเตือนหรือสั่งสอน (อัตตะอฺซีร) ชนิดของการตักเตือนหรือสั่งสอน การลงโทษแบบสั่งสอน การไถ่โทษ (กัฟฟาเราะฮฺ) ของคนที่จูบผู้หญิงอื่นที่ไม่อนุญาตแก่เขาและเขาได้เสียใจ

    การลงโทษเชิงตักเตือนและสั่งสอน (อัต-ตะอฺซีร)

    ﴿التعزير﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

    แปลโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

    ผู้ตรวจทาน : ฟัยซอล อับดุลฮาดี

    ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    2010 - 1431

    ﴿التعزير﴾

    « باللغة التايلاندية »

    الشيخ محمد بن إبراهيم التويجري

    ترجمة: يوسف أبوبكر

    مراجعة: فيصل عبدالهاديي

    المصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي

    2010 - 1431

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    การลงโทษเชิงตักเตือนและสั่งสอน (อัต-ตะอฺซีร)

    อัตตะอฺซีร หมายถึง การลงโทษต่อผู้ที่ฝ่าฝืนโดยไม่มีบทกำหนดอย่างแน่นอน ไม่มีการกำหนดโทษ ไม่ใช่การชดใช้ชีวิต (กิศอศ) และไม่ใช่การชดเชย (กัฟฟาเราะฮฺ)

    การลงโทษต่อผู้กระทำผิดมี 3 ประเภท ดังต่อไปนี้

    1. การฝ่าฝืนที่ถูกกำหนดจำนวนของบทลงโทษ เช่น การผิดประเวณี การลักขโมย การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ลักษณะความผิดที่กล่าวมาไม่มีค่าชดเชยและไม่มีการตักเตือน

    2. การฝ่าฝืนที่ต้องจ่ายค่าชดใช้แต่ไม่กำหนดบทลงโทษ เช่น การร่วมประเวณีขณะที่ครองเอี๊ยะรอมหรือในตอนกลางวันของเดือนเราะมะฎอน และการฆ่าโดยไม่ได้เจตนา

    3. การฝ่าฝืนที่ไม่มีบทลงโทษและไม่มีการชดใช้ ดังนั้นลักษณะนี้การลงโทษคือการตักเตือนสั่งสอน

    วิทยปัญญาที่มีบทบัญญัติให้มีการลงโทษแบบตักเตือน

    อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดบทการลงโทษโดยระบุบทกำหนดอย่างแน่นอน ไม่มีการเพิ่ม ไม่มีการลดหย่อนจากอาชญากรรมที่ได้กระทำขึ้นซึ่งเพื่อเป็นมาตรฐานแก่ประชาชาติเป็นการปกปักษ์รักษาศาสนา เลือดเนื้อชีวิต ทรัพย์สินสมบัติ เกียรติยศศักดิ์ศรี และสติปัญญา ด้วยเหตุดังกล่าวบทบัญญัติจึงได้กำหนดบทลงโทษเพื่อเป็นการห้ามปราม นับเป็นหัวใจสำคัญที่ประชาชาติไม่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้นอกจากด้วยการรักษาความจำเป็นทั้งห้าด้านโดยการดำรงไว้ซึ่งบทลงโทษต่างๆ ที่อัลลอฮฺกำหนด

    บทการลงโทษที่กล่าวมานี้มีเงื่อนไขและข้อปฏิบัติต่างๆ บางกรณีมีเงื่อนไขไม่ครบถ้วนบทการลงโทษที่ถูกกำหนดก็จะเปลี่ยนไปเป็นบทลงโทษที่ไม่ถูกกำหนดตามการพิจารณาหรือตีความของผู้นำ (อิมาม) ซึ่งเรียกว่า การตักเตือนหรือสั่งสอน (อัตตะอฺซีร)

    บทบัญญัติว่าด้วยการตักเตือนหรือสั่งสอน (อัตตะอฺซีร)

    นับเป็นความจำเป็นต่อผู้ที่กระทำผิดที่ไม่ถึงขั้นได้รับบทลงโทษหรือต้องจ่ายชดใช้ ไม่ว่าการกระทำผิดนั้นเกิดจากการละเมิดข้อห้ามหรือละเลยต่อข้อบังคับ อาทิเช่น การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (อิสติมตาอฺ) ซึ่งไม่มีการกำหนดโทษ การลักขโมยที่ไม่ถึงขั้นต้องตัดมือ การประทุษร้ายที่ไม่ถึงขั้นต้องชดใช้ด้วยชีวิต การมีสัมพันธ์สวาทระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง การใส่ร้ายผู้อื่นนอกจากการใส่ร้ายว่าด้วยกระทำผิดประเวณี ฯลฯ หรือการเมินเฉยต่อการทำหน้าที่ทั้งที่มีความสามารถ อาทิเช่น การชดใช้หนี้สิน การคืนของฝาก การคืนของที่ปล้นชิงเขามา การคืนสิ่งของที่อธรรมเขามา ฯลฯ และผู้ที่ได้ทำการฝ่าฝืนซึ่งไม่ขั้นที่มีการกำหนดโทษต่อจากนั้นเขาได้สารภาพผิด เสียใจต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมา ก็ไม่จำเป็นต้องตักเตือนหรือสั่งสอน

    ประเภทของการตักเตือนหรือสั่งสอน (อัตตะอฺซีร)

    การตักเตือนหรือสั่งสอนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

    1. การตักเตือนที่เป็นการลงโทษและอบรมสั่งสอน เช่น พ่ออบรมสั่งสอนลูก สามีอบรมสั่งสอนภรรยา เจ้านายอบรมสั่งสอนคนรับใช้ ในความผิดที่ไม่ได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติ กรณีเช่นนี้ไม่อนุญาตให้เฆี่ยนตีเกิน 10 ครั้ง เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «لا تَـجْلِدُوا فَوْقَ عَشْرَةِ أَسْوَاطٍ إلا فِي حَدٍّ مِنْ حُدُودِ الله ٬»

    ความหมาย “ท่านทั้งหลายอย่าได้เฆี่ยนตีเกินจำนวน 10 ครั้ง ยกเว้นในกรณีที่ลงโทษหนึ่งโทษใดจากบทลงโทษของอัลลอฮฺ" (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 6850 สำนวนหะดีษเป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1708)

    2. การตักเตือนเนื่องจากการกระทำฝ่าฝืน ในกรณีนี้เป็นที่อนุญาตให้เพิ่มจำนวนการลงโทษตามที่ผู้ปกครองเห็นว่าสมควรและตามความจำเป็น โดยพิจารณาจากน้ำหนักการฝ่าฝืนมากหรือน้อยยเพราะไม่มีบทลงโทษที่กำหนดตายตัว ส่วนกรณีที่การฝ่าฝืนมีการระบุจำนวนบทลงโทษไว้ เช่น การผิดประเวณี การลักขโมย เป็นต้น กรณีเช่นนี้ไม่ต้องมีการตักเตือนหรือสั่งสอน

    ชนิดของการตักเตือนหรือสั่งสอน

    การตักเตือนหรือสั่งสอนมีการลงโทษหลายรูปแบบ โดยเริ่มด้วยการตักเตือน ชี้แนะ คว่ำบาตร (ทอดทิ้ง) ตำหนิ ข่มขู่ คาดโทษ หรือถอดถอนจากตำแหน่ง และลงท้ายด้วยโทษสถานหนัก เช่น กักขัง เฆี่ยนตี และบางทีถึงขั้นต้องฆ่าเพื่อเป็นการสั่งสอนเมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์โดยภาพรวม เช่น การฆ่าสายลับ ผู้ทำบิดอะฮฺ และผู้ที่ก่อความผิดร้ายแรง หรือบางครั้งการสั่งสอนโดยการประจาน ปรับเงิน หรือเนรเทศ

    การลงโทษแบบสั่งสอน

    การลงโทษแบบสั่งสอนนั้นไม่ถูกระบุตายตัว สำหรับผู้ปกครอง (หากิม) มีสิทธิเลือกการลงโทษที่เห็นว่าเหมาะกับผู้กระทำความผิดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยมีเงื่อนไขว่าไม่ได้ออกไปจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงใช้หรือสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม โดยดังกล่าวจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานที่ วันเวลา บุคคล ความผิด และสภาพการณ์

    การไถ่โทษ (กัฟฟาเราะฮฺ) ของคนที่จูบผู้หญิงอื่นที่ไม่อนุญาตแก่เขาและเขาได้เสียใจ

    จากอิบนิมัสอูด กล่าวว่า

    أَنَّ رَجُلاً أَصَابَ مِن امْرَأَةٍ قُبْلَةً، فَأَتَى النَّبِيَّ ﷺ فَأَخْبَرَهُ، فَأَنْزَلَ اللهُ (ﮩ ﮪ ﮫ ﮬ ﮭ ﮮ ﮯ ﮰ ﮱ ﯓ ﯔ ﯕ ﯖ) [هود/114] . قَالَ الرَّجُلُ: يَا رَسُولَ الله أَلِـيَ هَذَا؟ قَالَ: «لِـجَـمِيعِ أُمَّتِي كُلِّـهِـمْ».

    ความหมาย แท้จริงชายคนหนึ่งได้จูบผู้หญิงคนหนึ่งและเขามาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม และได้บอกเรื่องราวกับท่าน ดังนั้นอัลลอฮฺได้ประทานอัลกุรอานลงมาความว่า “และเจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาดตามปลายช่วงทั้งสองของกลางวันและยามต้นจากกลางคืน แท้จริงความดีทั้งหลายย่อมลบล้างความชั่วทั้งหลาย นั่นคือข้อเตือนสำหรับบรรดาผู้ที่รำลึก" (ฮูด : 114) ชายคนนั้นก็กล่าวว่า : โอ้ท่านรอสูลุลลอฮฺ ดังกล่าวหมายรวมถึงฉันด้วยใช่ไหม? ท่านตอบว่า “หมายรวมถึงทุกคนที่เป็นประชาชาติของฉัน" (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 526 สำนวนหะดีษเป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2763)