×
บทความที่กล่าวถึงแง่มุมบางประการเกี่ยวกับการทดสอบในชีวิตมนุษย์ โดยอ้างจากคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอานที่กล่าวถึงกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทดสอบ พร้อมทั้งบทสรุปที่สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเท่าทัน และไม่รู้สึกท้อแท้เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาในระดับต่างๆ

    กฎเกณฑ์ว่าด้วยบททดสอบในชีวิตมนุษย์

    ﴿سنة الابتلاء﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ซุฟอัม อุษมาน

    ผู้ตรวจทาน : ทีมงานภาษาไทยเว็บอิสลามเฮ้าส์

    2010 - 1432

    ﴿سنة الابتلاء﴾

    « باللغة التايلاندية »

    صافي عثمان

    مراجعة: فريق اللغة التايلاندية بموقع دار الإسلام

    2010 - 1432

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    กฎเกณฑ์ว่าด้วยบททดสอบในชีวิตมนุษย์

    มีกฎเกณฑ์บางประการที่มนุษย์มิอาจหลีกหนีได้พ้น เป็นกฎที่เกี่ยวกับการเกิดแก่เจ็บตาย และสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับโดยดุษฎีก็คือ มนุษย์มิได้กำเนิดมาด้วยความประสงค์ของตัวเขาเอง เราต่างปรากฏอยู่ในโลกนี้ด้วยกำหนดของพระองค์ผู้สร้าง โดยปราศจากคำร้องขอใดๆ จากเราตั้งแต่ต้น

    เหตุใดพระองค์ผู้ทรงปรีชาญาณจึงสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายในเอกภพ และยังได้สร้างสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ขึ้นมาอีกด้วย? แล้วทำไมเราต้องมีชีวิต? คำถามเหล่านี้เกินกว่าความสามารถที่มนุษย์จะตอบเองได้ เพราะเราเป็นเพียงแค่ผู้ถูกสร้าง การตระเวนหาคำตอบโดยอาศัยมันสมองของมนุษย์เพียงประการเดียวจึงย่อมก่อให้เกิดความสับสน ฟุ้งซ่าน และหลงทาง

    นับเป็นบุญคุณอันใหญ่หลวงที่พระองค์ผู้สร้างไม่ทรงปล่อยให้เราเคว้งคว้างท่ามกลางความสับสนทางความคิดเพื่อจะหาคำตอบเกี่ยวกับเหตุผลของการมีชีวิต ในพระดำรัสของพระองค์มีคำตอบอย่างชัดเจนว่า เราเกิดมาเพื่อเป็นบ่าวของพระองค์ที่ต้องน้อมรับศรัทธาและปฏิบัติตามสิ่งที่พระองค์สั่งใช้

    ﮋ ﭳ ﭴ ﭵ ﭶ ﭷ ﭸ ﭹ ﮊ الذاريات: ٥٦

    ความว่า “และข้าไม่ได้สร้างหมู่ญินและมนุษย์ เว้นแต่เพื่อให้พวกเขาอิบาดะฮฺ(เป็นผู้ที่มอบการเคารพภักดี)ต่อข้า” (อัซ-ซาริยาต : 56)

    สถานะแห่ง “อุบูดิยะฮฺ” หรือการเป็นบ่าวที่ยอมมอบตนต่อพระผู้อภิบาลอย่างสุดซึ้ง เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสูงส่งที่สุดในมาตรวัดของอัลลอฮฺ

    หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าการเป็นบ่าวก็คือความต่ำต้อยและไร้เกียรติ การตีความดังกล่าวอาจจะถูกต้องเฉพาะเมื่อใช้ระหว่างมนุษย์ด้วยกันแต่ไม่ใช่กับพระผู้เป็นเจ้า การเป็นบ่าวของอัลลอฮฺไม่ได้มีความหมายเดียวกันกับการเป็นบ่าวรับใช้มนุษย์ เพราะมันไม่ใช่การถูกกดขี่ใช้งานเช่นที่เราใช้อธิบายและให้คุณลักษณะทาสในความหมายของเรา

    การเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ คือการได้ตำแหน่งผู้ที่พระองค์โปรดปรานมากที่สุดในหมู่สรรพสิ่งทั้งมวล เมื่อเป็นผู้ที่ถูกโปรดปรานของพระองค์แล้ว ความจำเริญอันดีงามทั้งหลายในชีวิตก็จะปรากฏให้เห็นในตัวเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ดังนั้นตำแหน่งการเป็นบ่าวของพระองค์จึงไม่ใช่ว่าจะสามารถได้มาง่ายๆ

    นอกจากเหตุผลที่มนุษย์ถูกสร้างให้ทำหน้าที่บ่าวของอัลลอฮฺโดยภาพรวมแล้ว ในระดับที่ชัดเจนสำหรับเหตุผลอีกประการของการมีชีวิตก็คือ การทดสอบพวกเขาว่าใครที่ตั้งใจจริงกว่ากันในการที่จะเป็นบ่าวที่ดีของพระองค์

    ﮋ ﭛ ﭜ ﭝ ﭞ ﭟ ﭠ ﭡ ﭢﭣ ﭤ ﭥ ﭦ ﭧ ﮊ الملك: ٢

    ความว่า “พระองค์คือผู้ที่สร้างความตายและชีวิต เพื่อทดสอบพวกเจ้า ว่าผู้ใดในหมู่พวกเจ้าที่จะปฏิบัติดีกว่ากัน และพระองค์ทรงเป็นผู้เปี่ยมด้วยเดชานุภาพและทรงอภัยยิ่ง” (อัล-มุลก์ : 2)

    ﮋ ﭤ ﭥ ﭦ ﭧ ﭨ ﭩ ﭪ ﭫ ﭬ ﭭ ﭮ ﭯ ﭰ ﭱ ﭲ ﭳﭴ ﮊ هود: ٧

    ความว่า “และพระองค์คือผู้ที่สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและพื้นพิภพในหกวัน และอัรช์(บัลลังก์)ของพระองค์นั้นอยู่เหนือน้ำ(เหนือชั้นฟ้าทั้งเจ็ด) ทั้งนี้เพื่อพระองค์จะทดสอบพวกเจ้า ว่าผู้ใดในหมู่พวกเจ้าที่ปฏิบัติดีกว่ากัน” (ฮูด : 7)

    คำว่า “ผู้ใดที่ปฏิบัติดีกว่ากัน” มีการอธิบายจากเหล่าอุละมาอ์ตัฟสีรว่า ความหมายก็คือใครที่บริสุทธิ์ใจมากที่สุดและทำได้ถูกต้องมากที่สุด อัล-ฟุฎัยล์ บิน อิยาฎ กล่าวว่า “แท้จริงแล้ว การปฏิบัติอามัลนั้นถ้าหากทำด้วยความบริสุทธิ์ใจแต่ไม่ถูกต้อง ก็ย่อมไม่ถูกตอบรับ” (ดู ตัฟสีร อัส-สะอฺดีย์ สูเราะฮฺ ฮูด อายะฮฺ 7)

    ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบว่าชีวิตโลกนั้นมีอุปสรรคมากมายที่เป็นบททดสอบ นับตั้งแต่เรื่องที่ใหญ่ที่สุดอย่างเรื่องความศรัทธา ความเชื่อ และการน้อมรับคำสั่งขององค์อภิบาล ไปจนถึงเรื่องทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตในแต่ละวัน ล้วนมีบททดสอบให้เราเผชิญทั้งสิ้น

    ในเรื่องเกี่ยวกับการศรัทธา อัลลอฮฺได้ทรงอธิบายว่า เป็นเรื่องง่ายที่พระองค์จะทำให้มวลมนุษย์มีศาสนาเดียวกันโดยไม่แตกต่างทางความเชื่อ แต่ที่ไม่เป็นเช่นนั้นก็เพราะนี่คือการทดสอบ มนุษย์ต้องผ่านบททดสอบท่ามกลางความขัดแย้งนี้ด้วยการเลือกเองว่าจะเชื่อและศรัทธาแบบไหน จะถูกต้องตามเจตนารมณ์ของอัลลอฮฺหรือไม่? พระองค์ตรัสว่า

    ﮋ ﭿ ﮀ ﮁ ﮂ ﮃ ﮄ ﮅ ﮆ ﮇ ﮈ ﮉ ﮊﮋ ﮌ ﮍ ﮎ ﮏ ﮐﮑ ﮒ ﮓ ﮔ ﮕ ﮖ ﮗ ﮘﮙ ﮚ ﮛ ﮜ ﮝ ﮞﮟ ﮠ ﮡ ﮢ ﮣ ﮤ ﮥ ﮦ ﮧ ﮨ ﮩ ﮪﮫ ﮬ ﮭﮮ ﮯ ﮰ ﮱ ﯓ ﯔ ﯕ ﯖ ﯗ ﯘ ﯙ ﮊ المائدة: ٤٨

    ความว่า “และเราได้ประทานคัมภีร์อัลกุรอานลงมาแก่เจ้า(มุหัมมัด)ด้วยสัจธรรมที่มารับรองความถูกต้องและครอบคลุมคำสอนของคัมภีร์ก่อนหน้ามัน ดังนั้น จงสั่งใช้บัญญัติต่างๆ ระหว่างพวกเขาด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺประทานลงมา และอย่าได้ตามอารมณ์ของพวกเขาเหล่านั้นจนต้องหันเหจากสัจธรรมที่ลงมายังเจ้า ทุกๆ ประชาชาติในหมู่พวกเจ้าเราได้กำหนดบัญญัติและวิถีทางไว้เฉพาะแล้ว และหากแม้นอัลลอฮฺทรงประสงค์ แน่แท้พระองค์ย่อมทำให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติเดียวกัน(ใช้บัญญัติและแนวทางอันเดียวกัน) แต่ทว่า (ที่ไม่เป็นเช่นนั้น)เพื่อพระองค์จะทดสอบพวกเจ้าในสิ่งที่ทรงมอบให้กับพวกเจ้า ดังนั้น จงแข่งขันมุ่งสู่ความดีงามทั้งหลายเถิด ยังอัลลอฮฺนั้นคือที่คืนกลับของพวกเจ้าทั้งหมดทั้งมวล แล้วพระองค์ก็จะทรงบอกให้พวกเจ้ารู้ถึงสิ่งที่พวกเจ้าเคยขัดแย้งกันมา” (อัล-มาอิดะฮฺ : 48)

    การทดสอบของบรรดาผู้ศรัทธา

    ส่วนการทดสอบในกรอบของบรรดาผู้ที่น้อมรับการศรัทธาแล้วนั้น พระองค์ได้ตรัสว่า

    ﮋ ﮣ ﮤ ﮥ ﮦ ﮧ ﮨ ﮩ ﮪ ﮫ ﮬ ﮭ ﮮ ﮯ ﮰ ﮱ ﯓﯔ ﯕ ﯖ ﯗ ﯘ ﯙ ﯚ ﯛﮊ العنكبوت: ٢

    ความว่า “หรือมนุษย์คิดว่าพวกเขาถูกปล่อยให้กล่าวว่า ‘เราได้ศรัทธาแล้ว’ โดยที่พวกเขาจะไม่ถูกทดสอบใดๆ ขอสาบานว่า แท้จริงเราได้ทดสอบบรรดาผู้คนก่อนหน้าพวกเขา ดังนั้น อัลลอฮฺย่อมที่จะรู้(จำแนกให้เห็น)ว่าผู้ใดที่สัจจริงและผู้ใดที่โกหก” (อัล-อันกะบูต : 2-3)

    ﮋ ﯔ ﯕ ﯖ ﯗ ﯘ ﯙ ﯚ ﯛ ﯜ ﯝ ﯞ ﯟﯠ ﯡ ﯢ ﯣ ﯤ ﯥ ﯦ ﯧ ﯨ ﯩ ﯪ ﯫ ﯬ ﯭﯮ ﯯ ﯰ ﯱ ﯲ ﯳ ﯴﮊ البقرة: ٢١٤

    ความว่า “พวกเจ้าคิดหรือว่าจะได้เข้าสวรรค์ ทั้งที่ๆ ยังไม่มีการ(ทดสอบ)ประสบแก่พวกเจ้าเหมือนที่บรรดาผู้คนก่อนหน้าพวกเจ้า(ประสบมาก่อน) ความอดอยากและโรคภัยได้ประสบแก่พวกเขา และพวกเขายังถูกข่มขู่ให้หวาดกลัว(ด้วยประการต่างๆ นานา) กระทั่งรอซูลและบรรดาผู้ศรัทธาต่างกล่าวว่า ‘เมื่อใดเล่าที่อัลลอฮฺจะช่วยเหลือ?’ พึงทราบเถิดว่า แท้จริงความช่วยเหลือของอัลลอฮฺนั้นอยู่แค่เอื้อม(สำหรับผู้ที่สามารถผ่านบททดสอบได้) (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 214)

    ﮋ ﭘ ﭙ ﭚ ﭛ ﭜ ﭝ ﭞ ﭟ ﭠ ﭡ ﭢ ﭣ ﭤ ﭥﮊ آل عمران: ١٤٢

    ความว่า “หรือพวกเจ้าคิดว่าจะได้เข้าสวรรค์ ทั้งๆ ที่อัลลอฮฺยังไม่ได้รู้(หมายถึงยังไม่มีปรากฏให้เห็น)ว่าผู้ใดที่ต่อสู้และอดทนในหมู่พวกเจ้า” (อาล อิมรอน : 142)

    ﮋ ﭠ ﭡ ﭢ ﭣ ﭤ ﭥ ﭦ ﭧ ﭨ ﮊ محمد: ٣١

    ความว่า “และเรา(อัลลอฮฺ)จะทดสอบพวกเจ้า กระทั่งเราได้รู้เห็นบรรดาผู้ที่ต่อสู้และอดทนในหมู่พวกเจ้า และกระทั่งเราได้ทดสอบเรื่องราวต่างๆ ของพวกเจ้า” (มุหัมมัด : 31)

    อายะฮฺทั้งหมดข้างต้นระบุอย่างชัดแจ้งว่า การทดสอบเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้แล้วโดยพระผู้อภิบาล และเป็นสิ่งที่ผู้ศรัทธามิอาจหลีกหนีมันได้พ้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการจำแนกและแบ่งชั้นความศรัทธา และรับผลตอบแทนตามระดับดีกรีอีมานของแต่ละคน

    การทดสอบในชีวิตของผู้ศรัทธานั้นมีหลายระดับและหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไปตามสถานะและสภาพของผู้ศรัทธานั้นๆ

    โดยทั่วไปผู้ศรัทธาทุกคนมักจะต้องเจอกับบททดสอบเกี่ยวกับชีวิตโลกเช่นที่อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﮋ ﯺ ﯻ ﯼ ﯽﯾ ﯿ ﰀ ﰁ ﰂﰃ ﰄ ﰅ ﰆﮊ الأنبياء: ٣٥

    ความว่า “ทุกชีวิตย่อมต้องลิ้มรสความตาย และเราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยสิ่งที่เลวร้ายและด้วยสิ่งที่ดีเพื่อเป็นฟิตนะฮฺ(การทดสอบ) และยังเราพวกเจ้าทั้งหลายจะกลับคืน” (อัล-อันบิยาอ์ : 35)

    จากอายะฮฺข้างบน ทำให้เราทราบว่าการทดสอบไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของสิ่งที่เลวร้ายหรือความยากลำบากเสมอไป ความสะดวกสบายก็เป็นบททดสอบได้เช่นกัน เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับชนเผ่าอิสรออีลแล้วในอดีต ดังที่อัลลอฮฺได้กล่าวถึงว่า

    ﮋ ﮧ ﮨ ﮩ ﮪ ﮫ ﮬ ﮊ الأعراف: ١٦٨

    ความว่า “และเราได้ทดสอบพวกเขาด้วยสิ่งที่ดี(ความสะดวกสบาย)และความเลวร้าย(ความยากลำบาก) เผื่อว่าพวกเขาจะกลับตน” (อัล-อะอฺรอฟ : 168)

    บางทีสิ่งที่สวยสดงดงามดูเหมือนไม่มีพิษภัยใดๆ ก็เป็นบททดสอบเช่นกัน ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวถึงความเขียวสดและชีวิตอันร่มรื่นในโลกนี้ความว่า

    “แท้จริงโลกดุนยานี้ช่างหอมหวานและเขียวสด(เป็นบททดสอบที่น่ายั่วยวนและให้หลงใหล) และแท้จริงอัลลอฮฺได้กำหนดให้พวกท่านอาศัยอยู่ในโลกนี้ เพื่อพระองค์จะได้เห็นว่าพวกท่านจะปฏิบัติอย่างไร ดังนั้นจงพึงระวัง(ความสวยงามของ)โลกและพึงระวังบรรดาสตรี เพราะแท้จริงฟิตนะฮฺแรกที่เกิดขึ้นกับเผ่าอีสรออีลนั้น มาจากสตรี” (บันทึกโดย มุสลิม : 2742)

    แม้แต่ทรัพย์สมบัติ ลูกหลาน ภรรยา ความมั่งมี และความรู้ของมนุษย์ก็เป็นบททดสอบความศรัทธาของพวกเขา ทั้งปวงนี้เป็นบททดสอบระดับตื้นๆ ทั่วๆ ไปที่ผู้ศรัทธาโดยรวมมักจะต้องประสบและถูกทดสอบโดยพระองค์อัลลอฮฺ

    ทดสอบศรัทธาระดับลึก

    การทดสอบผู้ศรัทธาในระดับลึกส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการต่อสู้และเผชิญหน้าระหว่างผู้ที่เชิดชูสัจธรรมของอัลลอฮฺกับบรรดาผู้ต่อต้าน เป็นการเผชิญหน้าที่อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียและเป็นการทดสอบความเข้มแข็งของศรัทธาที่เข้มข้นมากขึ้นไปอีก อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﮋ ﯚ ﯛ ﯜ ﯝ ﯞ ﯟ ﯠ ﯡ ﯢ ﯣ ﯤ ﯥ ﯦ ﯧ ﯨ ﯩ ﯪﯫ ﯬ ﯭ ﯮ ﯯ ﯰ ﯱ ﯲ ﯳ ﯴ ﮊ آل عمران: ١٨٦

    ความว่า “แน่แท้ พวกเจ้าจะต้องถูกทดสอบในเรื่องทรัพย์สินและชีวิตของพวกเจ้า และพวกเจ้าจะได้ฟังจากบรรดาชาวคัมภีร์ก่อนหน้าพวกเจ้าและจากเหล่านผู้ตั้งภาคีซึ่งการกล่าวร้ายอันมากมาย และหากพวกเจ้าอดทนและยำเกรง แน่แท้ว่านั่นย่อมต้องเป็นสิ่งที่ดียิ่งแก่พวกเจ้า” (อาล อิมรอน : 186)

    การทดสอบในรูปแบบนี้ปรากฏให้เห็นตั้งแต่สมัยบรรดาศาสนทูตทั้งหลาย และเห็นชัดเจนมากขึ้นไปอีกในยุคสมัยของท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม จวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีให้เห็นอย่างไม่หยุดไม่หย่อน นับเป็นสัจธรรมที่ชัดเจนยิ่งของมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

    มีตัวอย่างในอดีตมากมายที่ระบุถึงการทดสอบบรรดาผู้ศรัทธา บรรดานบีของอัลลอฮฺล้วนเป็นผู้ผ่านการทดสอบทั้งสิ้น อาทิ นบีนูห์ ถูกทดสอบด้วยการฝ่าฝืนของครอบครัวท่านเอง ทั้งลูกเมียของท่านไม่ยอมศรัทธาและเชื่อฟังท่าน เก้าร้อยห้าสิบปีที่ท่านเชิญชวนมวลมนุษย์สู่ศาสนาของพระเจ้ากลับมีผู้ที่ศรัทธาเพียงไม่กี่คน นบีอิบรอฮีมก็ถูกทดสอบด้วยการโยนลงเข้ากองไฟ และแม้แต่บิดาของท่านเองก็ไม่ยอมศรัทธาต่อการเชิญชวนของท่าน เรื่องราวของนบีมูซากับฟิรเอาน์อีกเล่าก็ล้วนเป็นที่รู้กันว่าท่านต้องอดทนมากแค่ไหนในการนำชนเผ่าอิสรออีลอพยพออกจากดินแอนอียิปต์ข้ามน้ำข้ามทะเลทราย สุดท้ายพวกอิสรออีลเสียเองที่ฝ่าฝืนต่อคำสั่งท่าน

    แม้แต่ผู้ศรัทธาที่ไม่ใช่นบีอย่างอาสิยะฮฺภรรยาของฟิรเอาน์ที่ถูกสามีของนางทรมานเมื่อรู้ว่านางศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เรื่องราวของอัศหาบุลอุคดูด(คูที่สุมด้วยกองไฟ) และเด็กหนุ่มผู้ศรัทธาที่โดนประหาร แม้กระทั่งเรื่องราวของเศาะหาบะฮฺของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ถูกเล่าขานกันมามากมายหลายกรณี เช่น เรื่องของครอบครัวยาสิร เรื่องของบิลาล เรื่องของมุศอับ บิน อุมัยร์ เรื่องค็อบบาบ บิน อัล-อะร็อต และคนอื่นๆ อีกมาก

    อุละมาอ์ในอดีตเช่น อิมามอบู หะนีฟะฮฺ อิมามมาลิก อิมามอัช-ชาฟิอีย์ อิมามอะห์มัด อิมามอัล-บุคอรีย์ ฯลฯ และอีกมากต่อมากล้วนมีเรื่องที่เล่าขานกันถึงบททดสอบที่หนักหน่วงทั้งสิ้น

    ผู้สืบทอดสารแห่งพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเผยแพร่แก่มนุษยชาติจะยังคงถูกทดสอบและเผชิญหน้ากับความท้าทายเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าจะถึงวันที่โลกดับสูญ เพราะพวกเขาเป็นผู้สืบสานอุดมการณ์ของเหล่าศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ จึงมิอาจหลีกพ้นจากสัจธรรมข้อนี้ได้ ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวอธิบายไว้มีความว่า

    “แท้จริงบรรดาผู้ที่ถูกทดสอบหนักหน่วงที่สุดคือบรรดานบี จากนั้นก็คือผู้ที่ใกล้เคียงกับพวกเขา และผู้ที่ใกล้เคียงรองลงมา บ่าวทุกคนจะถูกทดสอบตามระดับการยึดมั่นในศาสนา(ความศรัทธา)ของเขา ถ้าหากเขายึดศาสนาไว้มั่นคงการทดสอบก็จะหนักหน่วง และถ้าเขายึดศาสนาไว้เพียงเบาบางก็จะถูกทดสอบตามนั้น การทดสอบจะเกิดขึ้นกับบ่าวอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งมันจะปล่อยให้เขาเดินเหินบนแผ่นดินโดยไม่มีบาปใดๆ ติดตัวอีก(เนื่องจากถูกลบล้างด้วยการผ่านการทดสอบแล้ว) (อัต-ติรมิซีย์ : 2398, อัน-นะสาอีย์ : 7481, อิบนุ มาญะฮฺ : 4023)

    สิ่งที่น่าจดจำอีกประการหนึ่งก็คือ ระดับการทดสอบของผู้ศรัทธายังสามารถส่อให้เห็นถึงระดับอีมานของเขา และเป็นเป็นเครื่องหมายบ่งชี้ว่าอัลลอฮฺทรงรักเขามากกว่าคนอื่น เพราะท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้มี ความว่า

    “แท้จริงแล้ว เมื่ออัลลอฮฺรักชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด พระองค์ก็จะทรงทดสอบพวกเขา ใครที่อดทน(พอใจกับการทดสอบ)เขาก็จะได้รับความโปรดปราน และใครที่ไม่อดทน(ไม่พอใจกับการถูกทดสอบ)เขาก็จะได้รับความไม่พอใจจากพระองค์” (อะห์มัด 5:427-428, อัต-ติรมิซีย์ : 2396, อิบนุ มาญะฮฺ : 4031)

    บทสรุป

    การทดสอบในชีวิตเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ที่มนุษย์หลีกหนีไม่พ้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ไม่ว่าเขาจะศรัทธาหรือไม่ หากแต่ผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺนั้นมีบททดสอบที่หนักหน่วงกว่าคนอื่นๆ หลายเท่า และในหมู่พวกเขากันเองก็มีระดับการทดสอบที่แตกต่างตามดีกรีความเข้มข้นของอีมานอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการจำแนกว่าผู้ใดควรได้รับผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน

    จะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเผชิญหน้ากับการทดสอบ คือความอดทน อันเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้มนุษย์ผ่านบททดสอบในชีวิตของเขาได้ อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﮋﭠ ﭡ ﭢ ﭣﭤ ﭥﭦ ﭧ ﭨ ﭩﭪ ﭫ ﭬ ﭭ ﭮ ﭯ ﭰ ﭱ ﭲ ﭳ ﭴ ﭵ ﭶ ﭷ ﭸ ﭹ ﭺ ﭻ ﭼ ﭽ ﭾﭿ ﮀ ﮁ ﮂ ﮃ ﮊ البقرة: ١٥٥ - ١٥٧

    ความว่า “และแน่แท้ เราจะทดสอบพวกเจ้า ด้วยสิ่งบางประการจากความหวาดกลัว(จากการคุกคามของศัตรู) ความหิวโหย การลดหายของทรัพย์สิน ชีวิต และพืชผล และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด บรรดาผู้ที่เมื่อความทุกข์ยากในการทดสอบใดๆ ประสบกับพวกเขาแล้ว พวกเขาก็จะกล่าวว่า ‘แท้จริงเราเป็นกรรมสิทธิของอัลลอฮฺ และแท้จริงเราจะกลับคืนไปยังพระองค์’ พวกเขาเหล่านั้นจะได้รับพรและความเมตตาจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา และพวกเขาเหล่านั้นคือบรรดาผู้ที่ได้รับทางนำ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 155-157)

    ขออัลลอฮฺประทานความอดทนแก่เราและแก่ประชาชาติอิสลามทั้งผอง เพื่อฟันฝ่าบททดสอบอันหนักหน่วงของพวกเขาทุกวันนี้และตลอดไป จนกว่าจะกลับคืนสู่พระองค์ด้วยความสันติสุขเทอญ อามีน.