ความเมตตาของท่านนบีต่อผู้อ่อนแอ
หมวดหมู่
แหล่งอ้างอิง
Full Description
ความเมตตาของท่านนบีต่อผู้อ่อนแอ
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ดร.รอฆิบ อัส-สิรญานีย์
แปลโดย : อับดุลอาซีซ สุนธารักษ์
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : เว็บไซต์ www.rasoulallah.net
2014 - 1436
رحمته g بالضعفاء
« باللغة التايلاندية »
د. راغب السرجاني
ترجمة: عبدالعزيز عبدالقادر
مراجعة: صافي عثمان
المصدر: موقع نصرة سيدنا محمد ر سول الله
www.rasoulallah.net
2014 - 1436
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
ความเมตตาของท่านเราะสูล g ต่อผู้อ่อนแอ
“มุหัมมัด เป็นผู้ชายที่มีความพิเศษด้วยระดับที่สูงสุดของนิสัยแห่งความห่วงใยและความรู้สึกที่อ่อนโยน” (แครีน อาร์มสตรอง, ชีวประวัติมุหัมมัด - 1998, แปลเป็นภาษาอาหรับโดย ฟาฏิมะฮฺ นัศรฺ, มุหัมมัด อะนานีย์)
ใครคือผู้อ่อนแอ ?
ถึงแม้ว่าจะมีการเติบโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และระดับคุณภาพชีวิตที่สูง แต่การฆ่าตัวตายในประเทศญี่ปุ่นมีให้เห็นมากกว่า 30,000 รายต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น และเป็นเปอร์เซ็นที่สูงที่สุดในโลกปัจจุบัน
อ้างจาก(http://news.bbc.co.uk/hi/arabic/news/newsid_1525000/1525590.stm)
นี่คือสภาพของพวกเขา แต่อิสลามนั้นแตกต่าง!!
ผู้อ่านอาจคิดว่า คำว่า "ผู้อ่อนแอ" อาจหมายถึงกลุ่มเฉพาะ หรือคนกลุ่มหนึ่งจากหมู่มุสลิมเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วหมายถึงมนุษย์ทุกคน เพราะพวกเขาล้วนเลี่ยงไม่พ้นจากสภาพความอ่อนแอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ละคนย่อมมีส่วนที่อ่อนแอในบริบทของตัวเอง
ถ้าหากเด็กและผู้สูงอายุคือผู้อ่อนแอ คนหนุ่มที่แข็งแรงก็ย่อมมีส่วนที่อ่อนแอเช่นกัน เขาอาจจะอ่อนแอด้านประสบการณ์ ความคิด ปัจจัย หรือด้านอื่นๆ และเมื่อคนยากจนเป็นผู้อ่อนแอ คนรวยก็ใช่ว่าเขาคือผู้แข็งแรงเสมอไป เขาอาจจะอ่อนแอด้านสุขภาพ ขาดความรักจากผู้คน หรือมีอีหม่านที่อ่อนแอก็เป็นได้ ดังนั้นโดยรวมแล้วมนุษย์ทุกคนย่อมมีส่วนที่อ่อนแอ และเช่นนี้เอง พระองค์อัลลอฮฺทรงมีดำรัสว่า :
﴿ وَخُلِقَ ٱلۡإِنسَٰنُ ضَعِيفٗا ٢٨ ﴾ [النساء : ٢٨]
ความว่า “และมนุษย์นั้นถูกบังเกิดขึ้นในสภาพที่อ่อนแอ” (อัน-นิสาอ์ : 28)
แน่นอน มนุษย์นั้นถูกสร้างขึ้นในสภาพที่อ่อนแอและจะย้อนกลับสู่ความอ่อนแออีกครั้ง...ทว่าความอ่อนแอคือสิ่งที่กระจ่างตั้งแต่แรกของการสร้างมนุษย์ขึ้นมา พระองค์อัลลอฮฺได้ดำรัสถึงนบีอาดัม อะลัยฮิสสลาม ทั้งๆ ที่ท่านนบีอาดัมเป็นผู้มีเกียรติและสถานะสูงส่งอยู่แล้ว แต่พระองค์อัลลอฮฺก็ตรัสว่า :
﴿ وَلَقَدۡ عَهِدۡنَآ إِلَىٰٓ ءَادَمَ مِن قَبۡلُ فَنَسِيَ وَلَمۡ نَجِدۡ لَهُۥ عَزۡمٗا ١١٥ ﴾ [طه: ١١٥]
ความว่า “และโดยแน่นอน เราได้ให้คำมั่นสัญญาแก่อาดัมแต่กาลก่อน แต่เขาได้ลืม และเราไม่พบความมั่นใจอดทนในตัวเขา” (ตอฮา : 115)
พระองค์อัลลอฮฺทรงดำรัสถึงความอ่อนแอของนบีอาดัมซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความอ่อนแอที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนกับลูกหลานของท่าน และขณะที่นบีมูซา อะลัยฮิสสลาม ได้สนทนากับนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในค่ำคืนมิอฺรอจญ์นั้น ท่านได้ให้ความกระจ่างถึงความอ่อนแอของประชาชาติอิสลาม เมื่อนบีมูซาทราบว่าพระองค์อัลลอฮฺทรงบัญญัติการละหมาด 50 เวลาในหนึ่งวันและหนึ่งคืน แก่อุมมะฮฺของนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านจึงกล่าวว่า :
«يا محمد، واللهِ لَقَدْ رَاوَدْتُ بَنِيْ إِسْرَائِيْلَ قَوْمِيْ عَلَى أَدْنَى مِنْ هَذَا فَضَعُفُوا وَتَرَكُوْهُ، فَأُمَّتُكَ أَضْعَفُ أَجْسَادًا وَقُلُوْبًا وَأَبْدَانًا وَأَبْصَارًا وَأَسْمَاعًا، فَارْجِعْ فَلْيُخَفِّفْ عَنْكَ رَبُّكَ» [رواه البخاري: 7079، ومسلم : 162]
ความว่า “มุหัมมัดเอ๋ย ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันเคยเรียกร้องกระตุ้นชาวบนีอิสรออีลให้ละหมาดจำนวนน้อยกว่านี้นัก แต่พวกเขาก็ยังอ่อนแอและละทิ้งเลย นับประสาอะไรกับอุมมะฮฺของท่านที่พวกเขาอ่อนแอกว่า ทั้งร่างกาย จิตใจ การเห็น และการได้ยิน.. ดังนั้นจงกลับไปและขอผ่อนปรนจากอัลลอฮฺเถิด” (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ : 7079, มุสลิม : 162)
และท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังได้กล่าวถึงความอ่อนแอของเศาะหาบะฮฺของท่าน ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้ทำให้เกียติของพวกเขาลดลงแต่อย่างใด เศาะหาบะฮฺท่านนี้คืออบู ซัรฺ ท่านเป็นเศาะหาบะฮฺอาวุโสและชั้นแนวหน้าด้วยซ้ำ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวแก่เขาว่า :
«يَا أبا ذر إِنِّي أَرَاكَ ضَعِيفًا وَإِنِّي أُحِبُّ لَكَ مَا أُحِبُّ لِنَفْسِي، لا تَأَمَّرَنَّ عَلىَ اثْنَيْنِ وَلَا تَوَلَّيَنَّ مَالَ يَتِيْمٍ» [رواه مسلم : 1826]
ความว่า “อะบูซัรรฺเอ๋ย ฉันเห็นว่าท่านนั้นเป็นผู้ที่อ่อนแอ และฉันก็ปรารถนาที่จะให้ท่านได้รับในสิ่งที่ฉันปรารถนาให้ตนเองได้รับ ดังนั้น ท่านจงอย่าได้เป็นผู้นำคนตั้งแต่คนสองคนขึ้นไป และจงอย่าได้เป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองทรัพย์สินของเด็กกำพร้าเลย” (รายงานโดย มุสลิม : 1826)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังได้พูดถึงความอ่อนแอของท่านอบู บักรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ด้วยซ้ำ ตอนที่ท่านได้กล่าวถึงความฝันที่ท่านเห็นอบู บักรฺ อยู่ในความฝันนั้นด้วยว่า
«...ثُمَّ أَخَذَهَا ابْنُ أَبِي قُحَافَةَ فَنَزَعَ بِهَا ذَنُوبًا أَوْ ذَنُوبَيْنِ وَفِي نَزْعِهِ ضَعْفٌ، وَاللَّهُ يَغْفِرُ لَهُ ضَعْفَهُ» [البخاري : 3464، ومسلم : 2392]
ความว่า “...แล้วลูกชายอบู กุหาฟะฮฺ (หมายถึงอบู บักรฺ) ก็ตักน้ำขึ้นมาหนึ่งถังหรือสองถัง ซึ่งการตักของเขานั้นมีความอ่อนแออยู่ ขออัลลอฮฺทรงให้อภัยแก่เขาและในความอ่อนแอของเขาด้วยเถิด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ : 3464, มุสลิม : 2392)
ความอ่อนแอเป็นสิ่งที่เคียงคู่กับมนุษย์ และใช่ว่ามันจำกัดเพียงที่เราได้นำเสนอเท่านั้น
อนึ่ง บทนำนี้จะเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความเอาใจใส่ของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่มีต่อผู้อ่อนแอ เพราะความอ่อนแอคือสาเหตุประการหนึ่งของความเจ็บปวด ซึ่งท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นผู้ที่เมตตาต่อผู้ศรัทธาทั้งหลายในทุกๆ สภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพที่พวกเขาอ่อนแอมากเท่าไร ท่านนบีก็จะยิ่งเมตตาพวกเขามากขึ้นอีก ท่านจึงสอนพวกเราให้ขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้พ้นจากความอ่อนแอทั้งหลาย ดังเช่นที่ว่า :
«اللهم إِنِّي أَعُوْذُ بِكَ مِنْ غَلَبَةِ الدَّيْنِ وَغَلَبَةِ العَدُوِّ وَشَمَاتَةِ الأَعْدَاءِ» [رواه النسائي: 5475، أحمد : 6618، والطبراني في الكبير : 11882، وقال الشيخ الألباني: صحيح في صحيح الجامع : 1296]
ความว่า “โอ้อัลลอฮฺ ฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้พ้นจากการเป็นหนี้สินท่วมตัว การได้เปรียบของศัตรู และคำดูหมิ่นปรามาสจากพวกเขา” (รายงานโดย อัน-นะสาอีย์: 5475, อะห์มัด : 6618, อัฏ-เฏาะบะรอนีย์ ในอัล-กะบีรฺ 11882, เชคอัล-อัลบานีย์กล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ในเศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 1296)
ความอ่อนแอที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในบางครั้งของช่วงชีวิตหรือในบางสถานการณ์ คือสาเหตุที่ทำให้มีการผ่อนปรนและ อนุโลมในบางหลักการทางศาสนา ดังที่อัลลอฮฺได้กล่าวถึงเศาะหาบะฮฺที่ร่วมสงครามบะดัรฺ ซึ่งเป็นเศาะหาบะฮฺที่มีสถานะสูงส่งยิ่งว่า :
﴿ ٱلۡـَٰٔنَ خَفَّفَ ٱللَّهُ عَنكُمۡ وَعَلِمَ أَنَّ فِيكُمۡ ضَعۡفٗاۚ ﴾ [الأنفال: ٦٦]
ความว่า “บัดนี้อัลลอฮฺได้ทรงผ่อนผันแก่พวกเจ้าแล้ว และทรงรู้ว่า แท้จริงในหมู่พวกเจ้านั้นมีความอ่อนแอ” (อัน-อันฟาล : 66)
ความอ่อนแอเป็นสาเหตุของการผ่อนปรน มิใช่เป็นการลงโทษหรือเป็นการตำหนิแต่อย่างใด โดยที่อัลลอฮฺทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาและทรงรู้ถึงประสิทธิภาพของพวกเขา พระองค์ไม่บังคับในสิ่งที่เกินความสามารถของมนุษย์ มันคือความเมตตาของพระองค์ พระองค์ทรงมีดำรัสว่า :
﴿ لَا يُكَلِّفُ ٱللَّهُ نَفۡسًا إِلَّا وُسۡعَهَاۚ ٢٨٦ ﴾ [البقرة: ٢٨٦]
ความว่า “อัลลอฮฺจะไม่ทรงบังคับชีวิตหนึ่งชีวิตใดนอกจากตามความสามารถของชีวิตนั้นเท่านั้น” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 286)
ความอ่อนแอไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม จำเป็นต้องให้ความสำคัญและเอาใจใส่อย่างมาก การเอาใจใส่ดังกล่าวถือว่าเป็นเครื่องหมายแห่งเมตตาและสัญลักษณ์แห่งความเอ็นดูห่วงใย ซึ่งท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมในเรื่องเหล่านี้ ในคราวต่อไปเราจะได้ยกตัวอย่างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ซึ่งมันมีมากมายเหลือเกิน
ที่มา
http://rasoulallah.net/index.php/ar/articles/article/14561