×
ข้อมูลเกี่ยวกับบทว่าด้วยการขอดุอาอ์ ประกอบด้วย ประเภทของดุอาอ์ พลังของดุอาอ์ การตอบรับดุอาอ์ ปัจจัยที่กีดขวางการตอบรับดุอาอ์ สภาพของดุอาอ์กับบททดสอบในชีวิต คุณค่าของดุอาอ์ มารยาทในการขอดุอาอ์ และสาเหตุแห่งการตอบรับ ดุอาอ์ที่อนุญาตให้ขอและที่ไม่อนุญาต เวลา สถานที่ และสภาพที่ดีที่สุด ในการขอดุอาอ์ จากหนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    บทว่าด้วยการขอดุอาอ์

    ﴿كتاب الأدعية﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

    แปลโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ผู้ตรวจทาน : อัสรัน นิยมเดชา

    ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    2009 - 1430

    ﴿كتاب الأدعية﴾

    « باللغة التايلاندية »

    الشيخ محمد بن إبراهيم التويجري

    ترجمة: صافي عثمان

    مراجعة: عصران إبراهيم

    المصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي

    2009 - 1430

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    บทว่าด้วยการขอดุอาอ์

    ประเภทของดุอาอ์

    ดุอาอ์มีสองประเภท คือ ดุอาอ์ อิบาดะฮฺ และ ดุอาอ์ มัสอะละฮฺ แต่ละประเภทมีนัยที่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันด้วย

    1. ดุอาอ์ อิบาดะฮฺ คือ การ ตะวัสสุล (พึ่งปัจจัย)ต่ออัลลอฮฺให้ได้สิ่งที่ต้องการ หรือป้องกันจากสิ่งที่ไม่ชอบ หรือขจัดโทษภัย ด้วยการปฏิบัติอิบาดะฮฺ(อะมัลความดีต่างๆ) ด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์เพียงผู้เดียว

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    (ﮎ ﮏ ﮐ ﮑ ﮒ ﮓ ﮔ ﮕ ﮖ ﮗ ﮘ ﮙ ﮚ ﮛ ﮜ ﮝ ﮞ ﮟ ﮠ ﮡ ﮢ ﮣ ﮤ ﮥ ﮦ ﮧ ﮨ ﮩ ﮪ ﮫ ﮬ ﮭ ﮮ ﮯ) [الأنبياء/87-88].

    ความว่า "และจงรำลึกถึงเรื่องราวของซันนูน (นบี ยูนุส) เมื่อเขาจากไปด้วยความโกรธพรรคพวกของเขา แล้วเขาคิดว่าเราจะไม่ทำให้เขาได้รับความลำบาก แล้วเขาก็ร้องเรียนท่ามกลางความมืดทึบทะมึนว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ท่าน มหาบริสุทธิ์แห่งพระองค์ท่าน แท้จริงข้าพระองค์เป็นผู้หนึ่งในหมู่ผู้อธรรมทั้งหลาย ดังนั้นเราได้ตอบรับการร้องเรียนของเขา และเราได้ช่วยให้เขารอดพ้นจากความทุกข์ระทม และเช่นเดียวกันนี้แหละที่เราช่วยบรรดาผู้ศรัทธา" (อัล-อันบิยาอ์ 87-88)

    2. ดุอาอ์ มัสอะละฮฺ คือ การร้องขอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ขอ ไม่ว่าจะเป็นการขอให้ได้รับผลประโยชน์ หรือ ขอให้ขจัดโทษภัยให้หมดไป

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    ( ﭓ ﭔ ﭕ ﭖ ﭗ ﭘ ﭙ ﭚ ﭛ ﭜ ) [آل عمران/ 16]

    ความว่า "คือบรรดาผู้ที่กล่าวว่า โอ้พระเจ้าแห่งพวกข้าพระองค์ แท้จริงพวกข้าพระองค์ศรัทธากันแล้ว โปรดทรงอภัยโทษให้แก่ความผิดของพวกข้าพระองค์ และโปรดได้ทรงป้องกันพวกข้าพระองค์ให้พ้นจากการลงโทษแห่งไฟนรกด้วย" (อาล อิมรอน 16)

    พลังของดุอาอ์

    ดุอาอ์ (การขอพร) และ ตะเอาวุซ (การขอความคุ้มครอง) เป็นเหมือนอาวุธ และพลังของอาวุธนั้นเกี่ยวข้องกับผู้ที่ใช้มันด้วย ไม่ใช่เกี่ยวข้องกับความคมของมันเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ถ้าหากอาวุธใดมีความสมบูรณ์พร้อม ไม่หักไม่บิ่น และมือที่ใช้อาวุธก็เปี่ยมไปด้วยพลัง อีกทั้งไม่มีสิ่งใดๆ มากีดขวางการใช้อาวุธนั้น แน่นอนว่ามันย่อมต้องใช้ได้ผลอย่างเต็มประสิทธิภาพกับคู่ต่อสู้ แต่ถ้าเมื่อใดที่หนึ่งในสามประการดังกล่าวไม่พร้อม ผลของมันก็จะไม่ปรากฏ

    ดุอาอ์นั้นเป็นอาวุธของผู้ศรัทธา ซึ่งมันเป็นประโยชน์ทั้งกับกำหนดลิขิตของอัลลอฮฺที่เกิดขึ้นแล้วและที่ยังไม่เกิดขึ้น และด้วยแรงแห่งความมั่นใจที่เข้มข้นต่อพระองค์อัลลอฮฺ การยืนหยัดบนคำสั่งใช้ของพระองค์ และความมุ่งมั่นที่จะเชิดชูพระพจนารถของพระองค์ ก็จะเกิดการตอบรับดุอาอ์และสมความปรารถนาตามที่ต้องการ

    การตอบรับดุอาอ์

    เมื่อการขอดุอาอ์เป็นไปด้วยเงื่อนไขต่างๆ ของมันอย่างครบถ้วน เมื่อนั้นอัลลอฮฺก็จะทรงกำหนดให้เกิดผลอย่างหนึ่งอย่างใดในประการต่างๆ เหล่านี้ คือ 1) พระองค์จะทรงตอบรับดุอาอ์นั้นทันที หรือ 2) พระองค์จะทรงไม่ตอบรับทันที แต่จะทรงให้มันล่าช้า เพื่อให้บ่าวของพระองค์ได้วอนขอต่อพระองค์ให้มากขึ้นด้วยการร้องไห้และนอบน้อม หรือ 3) จะทรงประทานสิ่งอื่นให้ที่เป็นประโยชน์ต่อเขามากกว่าสิ่งที่เขาขอ หรือ 4) จะทรงขจัดภัยอย่างอื่นให้เขาแทนสิ่งที่เขาขอ หรือ 5) จะทรงเก็บไว้เพื่อประทานให้เขาในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรู้ดีว่าอันไหนเป็นประโยชน์ต่อบ่าวของพระองค์มากที่สุด ดังนั้น เราจึงไม่ควรรีบร้อนต้องการเห็นผลของดุอาอ์ทันทีทันใด อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ﮮ ﮯ ﮰ ﮱ ﯓ ﯔ ﯕ ﯖ ﯗ ﯘ ﯙ ﯚ﴾ [الطلاق/3]

    ความว่า "แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงบรรลุในกิจการของพระองค์ โดยแน่นอนสำหรับทุกสิ่งอย่างนั้นอัลลอฮฺทรงกำหนดกฎสภาวะไว้แล้ว" (อัฏ-เฏาะลาก 3)

    (ﯩ ﯪ ﯫ ﯬ ﯭ ﯮ ﯯ ﯰ ﯱ ﯲ ﯳ ﯴ ﯵ ﯶ ﯷ ﯸ ﯹ ﯺ ﯻ ﯼ) [البقرة/186]

    ความว่า "และเมื่อบ่าวของข้าถามเจ้าถึงข้าแล้วละก็ (จงตอบเถิดว่า)แท้จริงและข้าอยู่ใกล้ ข้าจะตอบรับคำวิงวอนของผู้ที่วิงวอนเมื่อเขาวิงวอนต่อข้า ดังนั้น พวกเขาจงตอบรับข้าเถิดและจงศรัทธาต่อข้า เพื่อว่าพวกเขาจะได้อยู่ในทางที่ถูกต้อง" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 186)

    ปัจจัยที่กีดขวางการตอบรับดุอาอ์

    ดุอาอ์เป็นเหตุปัจจัยที่มีพลังมากที่สุดในการขจัดเพทภัยและการขอให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ปรารถนา แต่ผลของมันอาจจะไม่ปรากฏให้เห็น เนื่องจากความอ่อนของตัวดุอาอ์เอง เช่น เป็นดุอาอ์ที่อัลลอฮฺไม่ชอบเนื่องจากแฝงด้วยถ้อยคำที่ละเมิดขอบเขต หรืออาจจะเป็นเพราะหัวใจที่อ่อนแอและไม่มุ่งมั่นจิตใจไปยังอัลลอฮขณะที่เขาขอดุอาอ์ หรืออาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่กีดขวางการตอบรับดุอาอ์ เช่น การกินสิ่งที่หะรอม การหลงลืมและเผลอเรออย่างชัดเจน บาปที่ทับถมในหัวใจ การรีบร้อนอยากเห็นผลของดุอาอ์จนละทิ้งไม่ขอดุอาอ์อย่างต่อเนื่อง บางครั้งอัลลอฮฺอาจจะไม่ให้เห็นผลของดุอาอ์บนโลกนี้เพราะพระองค์ได้เตรียมสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าให้เขาในอาคิเราะฮฺ บางทีพระองค์ไม่ประทานสิ่งที่เขาขอเพราะพระองค์ได้ขจัดสิ่งที่เป็นภัยต่อเขาแทน หรือบางที การให้สิ่งที่เขาขออาจจะเป็นเหตุให้เขาทำบาปมากขึ้น ดังนั้นการไม่ให้สมปรารถนาจึงมีคุณต่อตัวเขามากกว่า และบางที พระองค์ไม่ให้เขาสมปรารถนาตามที่เขาขอ เพื่อไม่ให้เขาลืมพระองค์ แล้วเขาก็จะหยุดการวิงวอนขอต่อพระองค์อีก

    สภาพของดุอาอ์กับบททดสอบในชีวิต

    ดุอาอ์เป็นยาที่ดีสุด เป็นศัตรูกับบททดสอบ เพราะมันจะคอยยับยั้งไม่ให้บททดสอบลงมาโดนกับตัวของมนุษย์ คอยขจัดมันถ้าหากมันลงมาแล้ว หรือบรรเทาให้มันทุเลาลง สภาพของดุอาอ์กับบททดสอบมีอยู่สามกรณีดังนี้

    กรณีที่หนึ่ง ดุอาอ์มีพลังเหนือกว่าบททดสอบ และมันก็สามารถต้านทานและขจัดมันได้

    กรณีที่สอง ดุอาอ์มีพลังน้อยกว่าแรงของบททดสอบ ดังนั้นมันก็จะไม่เป็นผลและแพ้ต่อบททดสอบที่มีความเข้มข้นกว่ามัน

    กรณีที่สาม ทั้งสองอย่างมีพลังเท่าๆ กัน และจะคอยต่อสู้เพื่อเอาชนะอีกฝ่ายให้ได้

    คุณค่าของดุอาอ์

    1. อัลลอฮฺตรัสว่า

    (ﯩ ﯪ ﯫ ﯬ ﯭ ﯮ ﯯ ﯰ ﯱ ﯲ ﯳ ﯴ ﯵ ﯶ ﯷ ﯸ ﯹ ﯺ ﯻ ﯼ) [البقرة/186]

    ความว่า "และเมื่อบ่าวของข้าถามเจ้าถึงข้าแล้วละก็ (จงตอบเถิดว่า)แท้จริงแล้วข้าอยู่ใกล้ ข้าจะตอบรับคำวิงวอนของผู้ที่วิงวอนเมื่อเขาวิงวอนต่อข้า ดังนั้น พวกเขาจงตอบรับข้าเถิดและจงศรัทธาต่อข้า เพื่อว่าพวกเขาจะได้อยู่ในทางที่ถูกต้อง" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 186)

    2. อัลลอฮฺตรัสว่า

    (ﭝ ﭞ ﭟ ﭠ ﭡ ﭢ ﭣ ﭤ ﭥ ﭦ ﭧ ﭨ ﭩ ﭪ ﭫ) [ غافر/60]

    ความว่า "และพระเจ้าของพวกเจ้าตรัสว่า จงวิงวอนขอต่อข้า ข้าจะตอบรับแก่พวกเจ้า ส่วนบรรดาผู้โอหังต่อการเคารพภักดีข้านั้น จะเข้าไปอยู่ในนรกอย่างต่ำต้อย" (ฆอฟิรฺ 60)

    มารยาทในการขอดุอาอ์ และสาเหตุแห่งการตอบรับ

    ส่วนหนึ่งของสิ่งดังกล่าวก็คือ อิคลาศ การบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ ผู้ทรงเกียรติและสูงส่ง เริ่มต้นด้วยการกล่าวสรรเสริญสดุดีอัลลอฮฺ จากนั้นก็กล่าวเศาะละวาตต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ทั้งในตอนเริ่มต้นขอและตอนปิดท้าย

    ต้องให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวขณะที่ขอดุอาอ์ ใช้เสียงเบา ยอมรับในความผิดบาปและขออภัยโทษ ยอมรับต่อนิอฺมัตของอัลลอฮฺ การทวนดุอาอ์สามครั้ง การขออย่างจริงจัง ไม่แสดงความรู้สึกว่าดุอาอ์เกิดผลช้า การขอด้วยความมั่นใจว่าดุอาอ์จะได้รับการตอบรับ ต้องไม่ขอในสิ่งที่เป็นบาปหรือตัดสัมพันธ์กับเครือญาติ และต้องไม่ละเมิดขอบเขตในการขอ

    ไม่ขอให้เกิดภัยต่อตัวเอง ครอบครัว ทรัพย์สิน และลูกหลาน อาหารการกินและเสื้อผ้าต้องไม่ใช่สิ่งต้องห้าม ต้องคืนสิทธิที่เคยละเมิดแก่ผู้เป็นเจ้าของ ขอด้วยความนอบน้อมและสงบเสงี่ยม อยู่ในสภาพที่สะอาดจากญุนุบและสิ่งสกปรก ยกมือขณะขอดุอาอ์ให้สูงระดับไหล่ด้วยการประกบมือทั้งสองข้างแบมือสู่ท้องฟ้า หรือถ้าต้องการให้ฝ่ามือทั้งสองข้างหันเข้าสู่ใบหน้าและให้หลังมือหันไปทางกิบละฮฺก็ได้ การผิดหน้าไปสู่กิบละฮฺตอนขอดุอาอ์ ขอดุอาอ์ทั้งในยามสุขและยามทุกข์ และการขอดุอาอ์ด้วยดุอาอ์ที่คาดหวังว่าจะได้รับการตอบรับเนื่องจากมีระบุในสายรายงาน

    ดุอาอ์ที่อนุญาตให้ขอและที่ไม่อนุญาต

    ดุอาอ์มีหลายประเภท

    1. ประเภทที่ถูกใช้ให้ขอ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงบังคับหรือเชิงสนับสนุน เช่นดุอาอ์ต่างๆ ในละหมาด และอื่นๆ ที่มีในอัลกุรอานและซุนนะฮฺ ประเภทนี้เป็นดุอาอ์ที่อัลลอฮฺชอบและโปรดปราน

    2. ประเภทที่ถูกห้ามไม่ให้ขอ เช่นการละเมิดในการขอดุอาอ์ ตัวอย่างเช่นการขอสิ่งที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะของพระเจ้า อย่างการขอให้ตัวเองรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง หรือขอให้มีพลังเหนือทุกสรรพสิ่ง หรือขอให้มีความรู้ในสิ่งที่เร้นลับ เป็นต้น ประเภทนี้เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺไม่ชอบและไม่โปรดปราน

    3. สิ่งที่อนุญาตให้ขอได้ เช่น การขอสิ่งที่อยู่นอกเหนือความจำเป็นที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือมะอฺศิยัต

    เวลา สถานที่ และสภาพที่ดีที่สุดในการขอดุอาอ์

    1. เวลาที่ดีที่สุดในการขอดุอาอ์

    กลางดึกช่วงสุดท้ายของคืน, คืนลัยละตุลก็อดรฺ, หลังละหมาดห้าเวลา, ระหว่างอะซานและอิกอมะฮฺ, ช่วงเวลาเฉพาะเวลาหนึ่งในกลางคืน(ไม่มีระบุว่าช่วงไหน), ช่วงเวลาเฉพาะเวลาหนึ่งในวันศุกร์นั่นคือช่วงเวลาสุดท้ายหลังอัศร์, ช่วงเวลาอะซานเรียกสู่การละหมาดห้าเวลา, เมื่อนอนในสภาพที่มีวุฎูอ์(น้ำละหมาด)จากนั้นตื่นขึ้นมาในเวลากลางคืนและขอดุอาอ์, การขอดุอาอ์ในเดือนเราะมะฎอน เป็นต้น

    2. สถานที่ที่ดีที่สุดในการขอดุอาอ์

    ดุอาอ์วันอะเราะฟะฮฺ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ, ดุอาอ์บนเนินเศาะฟาและมัรวะฮฺ, ดุอาอ์ ณ อัล-มัชอัร อัล-หะรอม, ดุอาอ์หลังจากขว้างเสาหินอันที่หนึ่งและอันที่สองในวันตัชรีก เป็นต้น

    3. สภาพที่ดีที่สุดในการขอดุอาอ์

    หลังจากที่กล่าวขอว่า "ลาอิลาฮะ อิลลา อันตะ, สุบหานะกะ, อินนี กุนตุ มินัซ ซอลิมีน", ดุอาอ์ในขณะที่จิตใจรำลึกถึงและมุ่งมั่นอยู่กับอัลลอฮฺ, ดุอาอ์หลังจากอาบน้ำละหมาด, ดุอาอ์ของผู้เดินทาง, ดุอาอ์ของผู้ป่วย, ดุอาอ์ของผู้ที่ถูกอธรรม, ดุอาอ์ของบุพการีแก่ลูกหลาน, ดุอาอ์ของผู้ที่อยู่ในภาวะคับขัน, ดุอาอ์ขณะสุญูด, ดุอาอ์ของบรรดามุสลิมเมื่อมีการนั่งรวมกันเพื่อรำลึกถึงอัลลอฮฺ, ดุอาอ์เมื่อได้ยินไก่ขัน, ดุอาอ์เมื่อตกใจตื่นเวลากลางคืนแล้วกล่าวว่า "ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ วะห์ดะฮู..." จนจบ จากนั้นก็กล่าวอิสติฆฟารและขอดุอาอ์ เป็นต้น

    ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของดุอาอ์จากอัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ถูกต้อง

    (ติดตามต่อได้ที่หัวข้อ "ดุอาอ์จากอัลกุรอาน" ในหน้าเว็บ)