×
วิเคราะห์สาระสำคัญของสูเราะฮฺ ยูนุส ที่ได้มุ่งเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการสำคัญของความเชื่อแห่งศาสนาอิสลาม(อุศูล อัล-อะกีดะฮฺ อัล-อิสลามียะฮฺ) นั่นคือ การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ การศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ การศรัทธาต่อบรรดาศาสนทูต การศรัทธาต่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพและวันแห่งการตอบแทน โดยเฉพาะการศรัทธาต่ออัล-เกาะฎออ์และอัล-เกาะดัรฺ หรือบันทึกกฎสภาวะต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เป็นการยืนยันถึงแก่นแท้ของการศรัทธาในความเอกะของอัลลอฮฺ ญัลละวะอะลา และการศรัทธาต่ออัล-เกาะฎออ์และอัล-เกาะดัรฺ ในรูปแบบต่างๆ บางครั้งก็มาในรูปแบบของเรื่องราวของบรรดานบี และบางครั้งก็มาในรูปแบบของการย้ำเตือนให้มนุษย์รำลึกถึงเดชานุภาพของอัลลอฮฺ ความปรีชาของพระองค์ และความยุติธรรมของพระองค์ในการบริหารสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่

    เป้าหมายต่างๆ ของสูเราะฮฺยูนุส

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ฟุอาด ซัยดาน

    แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือ อะฮฺดาฟ กุลลิ สูเราะฮฺ มิน อัลกุรอาน

    2013 - 1434

    أهداف سورة يونس

    « باللغة التايلاندية »

    فؤاد زيدان

    ترجمة: وي محمد صبري وي يعقوب

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب أهداف كل سورة من القرآن

    2013 - 1434

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เป้าหมายต่างๆ ของสูเราะฮฺยูนุส

    มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอการสดุดีแห่งอัลลอฮฺและความสันติสุขปลอดภัยจงมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเครือญาติตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านทั้งหลาย และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีการตั้งภาคีใดๆ ต่อพระองค์ และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

    เป้าหมายของสูเราะฮฺยูนุส

    การศรัทธาต่ออัล-เกาะฎออ์และอัล-เกาะดัรฺ

    สูเราะฮฺยูนุสเป็นสูเราะฮฺมักกียะฮฺ ที่ได้มุ่งเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการสำคัญของความเชื่อแห่งศาสนาอิสลาม(อุศูล อัล-อะกีดะฮฺ อัล-อิสลามียะฮฺ) นั่นคือ การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ การศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ การศรัทธาต่อบรรดาศาสนทูต การศรัทธาต่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพและวันแห่งการตอบแทน โดยเฉพาะการศรัทธาต่ออัล-เกาะฎออ์และอัล-เกาะดัรฺ หรือบันทึกกฎสภาวะต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีผู้คนไม่ใช่น้อยที่ยังมีความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องนี้ และพากันค้นหาคำตอบและถกเถียงในประเด็นอัล-เกาะฎออ์และอัล-เกาะดัรฺว่ามนุษย์นั้นเป็นผู้ที่ถูกกำหนดชะตาชีวิตหรือเป็นผู้ที่มีสิทธิ์คัดเลือกชีวิตของตนเอง ใช่แต่เท่านั้นพวกเขายังมีความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยในความยุติธรรมของอัลลอฮฺ ตะอาลา และหิกมะฮฺของพระองค์ จึงพากันตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่า ถ้าอัลลอฮฺทรงให้ทางนำแก่ฉันแล้ว แน่นอนที่สุดฉันก็ย่อมอยู่บนทางนำ หรือบ้างก็กล่าวกันว่า อัลลอฮฺทรงรู้ดีอยู่แล้วว่าใครเป็นผู้ศรัทธาและใครเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ดังนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรอีกที่คนคนหนึ่งจะทำอะมั้ลหากอัลลอฮฺทรงบันทึกว่าเขาเป็นชาวนรก อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากความอ่อนแอของอีมานและเป็นความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องที่อัลลอฮฺทรงมีความปรีชาญาณและมีความยุติธรรม และพระองค์นั้นจะไม่ทรงอธรรมต่อปวงบ่าวของพระองค์

    ซึ่งการมาของเนื้อหาและนัยของอายะฮฺในสูเราะฮฺนี้ก็เพื่อเป็นการยืนยันถึงแก่นแท้ของการศรัทธาในความเอกะของอัลลอฮฺ ญัลละวะอะลา และการศรัทธาต่ออัล-เกาะฎออ์และอัล-เกาะดัรฺ ในรูปแบบต่างๆ บางครั้งก็มาในรูปแบบของเรื่องราวของบรรดานบี และบางครั้งก็มาในรูปแบบของการย้ำเตือนให้มนุษย์รำลึกถึงเดชานุภาพของอัลลอฮฺ ความปรีชาของพระองค์ และความยุติธรรมของพระองค์ในการบริหารสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่

    ในหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ท่านมลาอิกะฮฺญิบรีล อะลัยฮิสลาม ได้ถามท่านว่า

    «فَأَخْبِرْنِيْ عَنِ الإِيْمَانِ قَالَ أَنْ تُؤْمِنَ بِاللهِ وَمَلَائِكَتِهِ وَكُتُبِهِ وَرُسُلِهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ وَتْؤْمِنَ بِالْقَدَرِ خَيْرِهِ وَشَرِّهِ» [رواه مسلم رقم 8]

    ความว่า “จงบอกให้ฉันรู้เกี่ยวกับอีมานเถิด?” ท่านนบี จึงตอบว่า การที่ท่านศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ต่อบรรดามลาอิกะฮฺของพระองค์ ต่อบรรดาคัมภีร์ของพระองค์ ต่อบรรดา
    ศาสนทูตของพระองค์ ต่อวันอาคิเราะฮฺ และเชื่อต่อการบันทึกกฎสภาวะของพระองค์ทั้งที่ดีและไม่ดี” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 8)

    ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าเราเป็นผู้ศรัทธาต่ออัล-เกาะฎออ์และอัล-เกาะดัรฺหรือไม่ ก็คือคำถามเพียงข้อเดียวที่ควรถามตัวเราเองว่า อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงมีความยุติธรรมและมีความปรีชาญาณ? หรือว่าพระองค์ทรงอธรรมกันแน่ - เราขอความคุ้มครองจากความเชื่อผิดๆ เช่นนี้ - ? ซึ่งคำตอบของเราดังกล่าวนั่นแหละคือตัวชี้วัดท่าทีของเราที่มีต่อเรื่องนี้ว่าเป็นเช่นไร

    หิกมะฮฺของอัลลอฮฺ

    สูเราะฮฺนี้เริ่มต้นด้วยถ้อยคำที่ยืนยันถึงหิกมะฮฺ(วิทยหรือเหตุผลอันปรีชายิ่ง)ของอัลลอฮฺ ตะอาลา ว่า

    ﴿ الٓرۚ تِلۡكَ ءَايَٰتُ ٱلۡكِتَٰبِ ٱلۡحَكِيمِ ١ ﴾ [يونس : ١]

    ความว่า “อะลิฟ ลาม รอ เหล่านี้คือบรรดาโองการแห่งคัมภีร์ที่เปี่ยมด้วยหิกมะฮฺ” (สูเราะฮฺ ยูนุส : 1)

    อายะฮฺนี้เป็นการบ่งชี้ว่าหิกมะฮฺมีอยู่อย่างแน่นอน หลังจากนั้นอายะฮฺนี้ก็มีมา

    ﴿ أَكَانَ لِلنَّاسِ عَجَبًا أَنۡ أَوۡحَيۡنَآ إِلَىٰ رَجُلٖ مِّنۡهُمۡ أَنۡ أَنذِرِ ٱلنَّاسَ وَبَشِّرِ ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ أَنَّ لَهُمۡ قَدَمَ صِدۡقٍ عِندَ رَبِّهِمۡۗ قَالَ ٱلۡكَٰفِرُونَ إِنَّ هَٰذَا لَسَٰحِرٞ مُّبِينٌ ٢﴾ [يونس : ٢]

    ความว่า “เป็นการประหลาดแก่มนุษย์หรือ ที่เราได้ให้วะห์ยู/วิวรณ์แก่ชายคนหนึ่งจากพวกเขา ให้เตือนสำทับมนุษย์ และแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาว่า แท้จริงสำหรับพวกเขานั้น จะได้รับตำแหน่งอันสูง ณ ที่พระเจ้าของพวกเขา บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธากล่าวว่า แท้จริงนี่คือนักมายากลอย่างแน่นอน” (สูเราะฮฺ ยูนุส : 2)

    ประหนึ่งว่าบรรดาผู้ที่รู้สึกประหลาดใจในการเลือกให้ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทำหน้าที่เผยแพร่หลักคำสอนของศาสนา(ริสาละฮฺ)นั้น พวกเขาไม่มีความศรัทธาต่ออัล-เกาะฎออ์และอัล-เกาะดัรฺ เพราะถ้าพวกเขาศรัทธา พวกเขาย่อมไม่รู้สึกเคลือบแคลงสงสัยและประหลาดใจ และต้องรู้ว่านี่คือพระบัญชาของอัลลอฮฺ ตะอาลา

    การบริหารจัดการและหิกมะฮฺของอัลลอฮฺที่ปรากฏในสิ่งที่มีอยู่ในจักรวาล

    ﴿ إِنَّ رَبَّكُمُ ٱللَّهُ ٱلَّذِي خَلَقَ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضَ فِي سِتَّةِ أَيَّامٖ ثُمَّ ٱسۡتَوَىٰ عَلَى ٱلۡعَرۡشِۖ يُدَبِّرُ ٱلۡأَمۡرَۖ مَا مِن شَفِيعٍ إِلَّا مِنۢ بَعۡدِ إِذۡنِهِۦۚ ذَٰلِكُمُ ٱللَّهُ رَبُّكُمۡ فَٱعۡبُدُوهُۚ أَفَلَا تَذَكَّرُونَ ٣ إِلَيۡهِ مَرۡجِعُكُمۡ جَمِيعٗاۖ وَعۡدَ ٱللَّهِ حَقًّاۚ إِنَّهُۥ يَبۡدَؤُاْ ٱلۡخَلۡقَ ثُمَّ يُعِيدُهُۥ لِيَجۡزِيَ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ بِٱلۡقِسۡطِۚ وَٱلَّذِينَ كَفَرُواْ لَهُمۡ شَرَابٞ مِّنۡ حَمِيمٖ وَعَذَابٌ أَلِيمُۢ بِمَا كَانُواْ يَكۡفُرُونَ ٤ هُوَ ٱلَّذِي جَعَلَ ٱلشَّمۡسَ ضِيَآءٗ وَٱلۡقَمَرَ نُورٗا وَقَدَّرَهُۥ مَنَازِلَ لِتَعۡلَمُواْ عَدَدَ ٱلسِّنِينَ وَٱلۡحِسَابَۚ مَا خَلَقَ ٱللَّهُ ذَٰلِكَ إِلَّا بِٱلۡحَقِّۚ يُفَصِّلُ ٱلۡأٓيَٰتِ لِقَوۡمٖ يَعۡلَمُونَ ٥ إِنَّ فِي ٱخۡتِلَٰفِ ٱلَّيۡلِ وَٱلنَّهَارِ وَمَا خَلَقَ ٱللَّهُ فِي ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِ لَأٓيَٰتٖ لِّقَوۡمٖ يَتَّقُونَ ٦ ﴾ [يونس : ٣-٦]

    ความว่า “แท้จริงพระเจ้าของพวกท่านคืออัลลอฮฺผู้ทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินในเวลาหกวัน แล้วพระองค์ก็ทรงประทับอยู่สูงเหนือบัลลังก์ ทรงบริหารกิจการ ไม่มีผู้ให้ความช่วยเหลือคนใดเว้นแต่ต้องได้รับอนุมัติจากพระองค์ นั่นคืออัลลอฮฺพระเจ้าของพวกท่าน พวกท่านจงเคารพภักดีต่อพระองค์เถิด พวกท่านมิได้ใคร่ครวญกันดอกหรือ ? ยังพระองค์เท่านั้นคือทางกลับของพวกท่านทั้งหลาย สัญญาของอัลลอฮฺนั้นเป็นจริงเสมอ แท้จริงพระองค์นั้นทรงเริ่มการสร้าง แล้วพระองค์ก็ทรงให้มันฟื้นกลับขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทรงตอบแทนบรรดาผู้ศรัทธาและผู้ประกอบความดีโดยเที่ยงธรรม ส่วนบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น พวกเขาจะได้รับเครื่องดื่มที่ร้อนจัด และการลงโทษอันเจ็บแสบ เพราะพวกเขาปฏิเสธ ไม่ยอมศรัทธา พระองค์ทรงทำให้ดวงอาทิตย์มีแสงจ้าและดวงจันทร์มีแสงนวล และทรงกำหนดให้มันมีทางโคจร เพื่อพวกท่านจะได้รู้จำนวนปีและการคำนวณ อัลลอฮฺมิได้ทรงสร้างสิ่งเหล่านั้น เว้นแต่ด้วยความจริง พระองค์ทรงจำแนกสัญญาณต่างๆ สำหรับหมู่ชนที่มีความรู้ แท้จริงการสับเปลี่ยนของกลางคืนและกลางวัน และที่อัลลอฮฺทรงสร้างในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนั้น แน่นอนเป็นสัญญาณแก่กลุ่มชนที่มีความยำเกรง” (สูเราะฮฺยูนุส : 3-6)

    และอัลลอฮฺ ได้ดำรัสอีกว่า

    ﴿ قُلۡ مَن يَرۡزُقُكُم مِّنَ ٱلسَّمَآءِ وَٱلۡأَرۡضِ أَمَّن يَمۡلِكُ ٱلسَّمۡعَ وَٱلۡأَبۡصَٰرَ وَمَن يُخۡرِجُ ٱلۡحَيَّ مِنَ ٱلۡمَيِّتِ وَيُخۡرِجُ ٱلۡمَيِّتَ مِنَ ٱلۡحَيِّ وَمَن يُدَبِّرُ ٱلۡأَمۡرَۚ فَسَيَقُولُونَ ٱللَّهُۚ فَقُلۡ أَفَلَا تَتَّقُونَ ٣١ فَذَٰلِكُمُ ٱللَّهُ رَبُّكُمُ ٱلۡحَقُّۖ فَمَاذَا بَعۡدَ ٱلۡحَقِّ إِلَّا ٱلضَّلَٰلُۖ فَأَنَّىٰ تُصۡرَفُونَ ٣٢ ﴾ [يونس : ٣١-٣٢]

    ความว่า “จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) ใครเป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพที่มาจากฟากฟ้าและแผ่นดินแด่พวกท่าน หรือใครเป็นเจ้าของการได้ยินและการมอง และใครเป็นผู้ให้มีชีวิตหลังจากการตายและเป็นผู้ให้ตายหลังจากมีชีวิตมา และใครเป็นผู้บริหารกิจการ แล้วพวกเขาจะกล่าวกันว่าผู้นั้นคืออัลลอฮฺ ดังนั้นจงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) พวกท่านไม่ยำเกรงหรือ? นั่นแหละอัลลอฮฺ พระเจ้าที่แท้จริงของพวกท่าน ฉะนั้นหลังจากความจริงแล้วจะมีอะไรอีกเล่า นอกจากความหลงผิดเท่านั้น แล้วทำไมเล่าพวกท่านจึงถูกให้หันเหออกไปอีก?” (สูเราะฮฺ ยูนุส : 31-32)

    เนื้อหาของอายะฮฺข้างต้นนี้ได้นำเสนอหิกมะฮฺของอัลลอฮฺที่ปรากฏในทุกสิ่งที่มีอยู่ รวมถึงทุกสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง และยังได้เรียกร้องเราให้พินิจใคร่ครวญบรรดาสรรพสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งพระองค์ไม่ได้ทรงสร้างมันอย่างไร้เป้าหมายหรือโดยบัญเอิญ แต่พระองค์ทรงสร้างมันด้วยความปรีชาญาณและความยุติธรรม ซึ่งในเรื่องนี้มีข้อยืนยันที่ชัดเจนด้วยการกล่าวถึงคำว่า “الحق” หรือความสัจจริง อย่างซ้ำไปซ้ำมาในสูเราะฮฺนี้มากถึง 23 ครั้ง เพราะ “ความสัจจริง” ตรงกันข้ามกับ “ความไร้เป้าหมายและโดยบัญเอิญ” ซึ่งทุกสรรพสิ่งที่มีอยู่นั้นถูกสร้างขึ้นมาและมีชีวิตอยู่ด้วยหิกมะฮฺของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นสำหรับเราที่ต้องน้อมรับอย่างสยบต่อพระองค์และมอบหมายต่อพระองค์ โดยไม่รู้สึกเคลือบแคลงสงสัยในพระเดชานุภาพและการบริหารจัดการของพระองค์

    เช่นเดียวกันนี้ คำว่า “يدبر” หรือการบริหารจัดการ ก็มีการกล่าวถึงอย่างมากมายในสูเราะฮฺนี้ ดังนั้นทำไมเรายังมีความรู้สึกที่เคลือบแคลงสงสัยในอัล-เกาะฎออ์และอัล-เกาะดัรฺของอัลลอฮฺอีก

    ﴿ ۞وَيَسۡتَنۢبِ‍ُٔونَكَ أَحَقٌّ هُوَۖ قُلۡ إِي وَرَبِّيٓ إِنَّهُۥ لَحَقّٞۖ وَمَآ أَنتُم بِمُعۡجِزِينَ ٥٣ ﴾ [يونس : ٥٣]

    ความว่า “และพวกเขาจะสอบถามเจ้าว่า มัน(การฟื้นขึ้นอีกครั้งหนึ่งในวันกิยามะฮฺ)จะเกิดขึ้นจริงหรือ ? จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) แน่นอนทีเดียว ขอสาบานต่อพระเจ้าของฉัน แท้จริงมันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และพวกท่านไม่สามารถจะทำให้พระองค์เพลี่ยงพล้ำได้” (สูเราะฮฺ ยูนุส : 53)

    และ

    ﴿ أَلَآ إِنَّ لِلَّهِ مَا فِي ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِۗ أَلَآ إِنَّ وَعۡدَ ٱللَّهِ حَقّٞ وَلَٰكِنَّ أَكۡثَرَهُمۡ لَا يَعۡلَمُونَ ٥٥ ﴾ [يونس : ٥٥]

    ความว่า “พึงทราบเถิด แท้จริง สิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ พึงทราบเถิด แท้จริงสัญญาของอัลลอฮฺนั้นจะเกิดขึ้นจริง แต่ส่วนใหญ่ในหมู่พวกเขานั้นไม่รู้” (สูเราะฮฺ ยูนุส : 55)

    บรรดาอายะฮฺข้างต้นนี้เป็นสิ่งยืนยันว่าอัลลอฮฺนั้นสัจจริง และการบริหารจัดการของพระองค์ต่อสรรพสิ่งต่างๆ นั้นก็เป็นสิ่งที่สัจจริง และบรรดาอายะฮฺเหล่านี้ก็ได้ทำให้รู้ถึงคุณลักษณะของความเป็นพระเจ้าที่สัจจริงด้วยการกล่าวถึงร่องรอยต่างๆ ของเดชานุภาพและความเมตตาของพระองค์ที่บ่งชี้ถึงการเป็นผู้บริหารจัดการและเป็นผู้ทรงปรีชาญาณ และสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่นั้นก็เป็นหลักฐานถึงเดชานุภาพของพระองค์ได้อย่างแจ่มแจ้งที่สุด และเป็นหลักฐานที่เด่นชัดที่สุดถึงความยิ่งใหญ่ ความเกรียงไกร และการเป็นผู้ปกครองของพระองค์

    ข้อย้ำเตือนสำหรับบรรดาผู้ที่หลงลืม

    นั่นคือบรรดาผู้ที่มีความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยและไม่ศรัทธาต่อการกำหนดอันเป็น อัล-เกาะฎออ์และอัล-เกาะดัรฺ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นล้วนเป็นกลุ่มคนที่ขาดการเอาจริงเอาจังและการศรัทธาที่แท้จริง

    ﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ لَا يَرۡجُونَ لِقَآءَنَا وَرَضُواْ بِٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَٱطۡمَأَنُّواْ بِهَا وَٱلَّذِينَ هُمۡ عَنۡ ءَايَٰتِنَا غَٰفِلُونَ ٧ ﴾ [يونس : ٧]

    ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ที่ไม่หวังจะพบเรา และพวกเขาพึงพอใจต่อชีวิตในโลกดุนยา และพวกเขาสุขใจกับมัน และบรรดาผู้หลงลืมต่อสัญญาณต่างๆ ของเรา” (สูเราะฮฺ ยูนุส : 7)

    และอัลลอฮฺ ตะอาลา นั้นจะไม่ทรงอธรรมต่อมนุษย์อย่างแน่นอน แต่ว่ามนุษย์ต่างหากที่อธรรมต่อตัวของพวกเขาเองสืบเนื่องจากความผิดบาปที่พวกเขาได้ก่อ เพราะย่อมเป็นไปไม่ได้ที่อัลลอฮฺจะอธรรมต่อคนหนึ่งคนใด

    ﴿ وَلَقَدۡ أَهۡلَكۡنَا ٱلۡقُرُونَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَمَّا ظَلَمُواْ وَجَآءَتۡهُمۡ رُسُلُهُم بِٱلۡبَيِّنَٰتِ وَمَا كَانُواْ لِيُؤۡمِنُواْۚ كَذَٰلِكَ نَجۡزِي ٱلۡقَوۡمَ ٱلۡمُجۡرِمِينَ ١٣ ثُمَّ جَعَلۡنَٰكُمۡ خَلَٰٓئِفَ فِي ٱلۡأَرۡضِ مِنۢ بَعۡدِهِمۡ لِنَنظُرَ كَيۡفَ تَعۡمَلُونَ ١٤ ﴾ [يونس : ١٣-١٤]

    ความว่า “และโดยแน่นอน เราได้ทำลายประชาชาติจากศตวรรษก่อนจากพวกท่านไปแล้ว เมื่อพวกเขาเป็นผู้อธรรม และบรรดาเราะสูลของพวกเขาได้มายังพวกเขาพร้อมด้วยหลักฐานอันชัดแจ้ง แล้วพวกเขาก็ไม่ศรัทธา เช่นนั้นแหละ เราได้ตอบแทนแก่หมู่ชนที่เป็นอาชญากร แล้วเราก็ได้แต่งตั้งพวกท่านให้เป็นตัวแทนในแผ่นดินหลังจากพวกเขาเหล่านั้น เพื่อเราจะดูว่าพวกท่านจะปฏิบัติตนอย่างไร” (สูเราะฮฺยูนุส : 13-14)

    และ

    ﴿ إِنَّ ٱللَّهَ لَا يَظۡلِمُ ٱلنَّاسَ شَيۡ‍ٔٗا وَلَٰكِنَّ ٱلنَّاسَ أَنفُسَهُمۡ يَظۡلِمُونَ ٤٤ ﴾ [يونس : ٤٤]

    ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺนั้นจะไม่ทรงอธรรมแก่มนุษย์แต่อย่างใด แต่ว่ามนุษย์ต่างหากที่อธรรมต่อตัวของพวกเขาเอง” (สูเราะฮฺ ยูนุส : 44)

    เมื่อเป็นเช่นนั้น สรรพสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่นั้นย่อมไม่ใช่เป็นความบังเอิญและไร้เป้าหมาย ดังนั้น หิกมะฮฺจึงมีอยู่อย่างชัดเจน และความจริงก็เป็นที่ชัดเจน จึงไม่มีเหตุผลอะไรอีกที่เราจะมีความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยต่อการกำหนดอันเป็นอัล-เกาะฎออ์และอัล-เกาะดัรฺ และอัลลอฮฺ ตะอาลา จะไม่ทรงอธรรมต่อคนหนึ่งคนใด และจะไม่ทรงกำหนดบังคับให้คนหนึ่งคนใดกระทำในสิ่งหนึ่ง(โดยไม่มีสิทธิ์เลือก) เพราะถ้าพระองค์ทรงกำหนดบังคับให้เรากระทำการงานหนึ่งงานใดแล้ว(โดยที่เราไม่มีสิทธิ์เลือก) แล้วทำไมพระองค์จะต้องสอบสวนในสิ่งที่เราได้กระทำไป ด้วยเหตุนี้มนุษย์นั้นเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกในสิ่งที่เขาจะกระทำด้วยตัวของพวกเขาเอง

    ท่าทีของมนุษย์ต่อการกำหนดของอัลลอฮฺ

    เนื้อหาของอายะฮฺดังต่อไปนี้ได้ปะทะเผชิญหน้ากับบรรดาผู้ที่มีความประหลาดใจต่อการกำหนดของอัลลอฮฺ แต่การกระทำของพวกเขานั้นมีความแปลกประหลาดยิ่งกว่า กล่าวคือ

    ﴿ فَلَمَّآ أَنجَىٰهُمۡ إِذَا هُمۡ يَبۡغُونَ فِي ٱلۡأَرۡضِ بِغَيۡرِ ٱلۡحَقِّۗ يَٰٓأَيُّهَا ٱلنَّاسُ إِنَّمَا بَغۡيُكُمۡ عَلَىٰٓ أَنفُسِكُمۖ مَّتَٰعَ ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَاۖ ثُمَّ إِلَيۡنَا مَرۡجِعُكُمۡ فَنُنَبِّئُكُم بِمَا كُنتُمۡ تَعۡمَلُونَ ٢٣ ﴾ [يونس : ٢٣]

    ความว่า “ครั้นเมื่อพระองค์ทรงให้พวกเขารอดมาจากภยันตรายที่พวกเขาประสบ พวกเขาก็ทำความเสียหายในแผ่นดินโดยปราศจากความเป็นธรรม โอ้มนุษย์เอ๋ย แท้จริงการทำความเสียหายของพวกเจ้านั้นมันเป็นอันตรายต่อตัวของพวกเจ้าเอง นั่นเป็นความเพลิดเพลินของชีวิตในโลกนี้เท่านั้น แล้วในที่สุดพวกเจ้าก็จะกลับไปหาเรา แล้วเราจะแจ้งข่าวให้พวกเจ้าทราบถึงสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไว้” (สูเราะฮฺ ยูนุส : 23)

    ภายหลังจากอัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงให้พวกเขารอดปลอดภัยมา พวกเขาก็ทำความเสียหายบนหน้าแผ่นดินโดยปราศจากความเป็นธรรม ดังนั้น เป็นไปได้อย่างไรกันที่มนุษย์จะเข้าหาอัลลอฮฺ ตะอาลา เฉพาะช่วงเวลาที่เดือดร้อนเท่านั้น (ในช่วงเวลานั้น)พวกเขาต่างพากันรับรู้ว่าใครคือพระผู้อภิบาลของพวกเขา พวกเขาได้เข้าหาวิงวอนขอต่อพระองค์ (แต่ภายหลังจากที่พวกเขารอดปลอดภัยแล้ว)พวกเขากลับแสดงความหยิ่งยโส ประหนึ่งว่าความปลอดภัยที่พวกเขาได้รับมานั้นเกิดมาจากตัวของพวกเขาเอง

    เรื่องราวของบรรดานบี อะลัยฮิมุสสลาม ที่ได้มอบหมาย(ตะวักกัล)ต่ออัลลอฮฺอย่างสุดหัวใจ

    สูเราะฮฺนี้ได้นำเสนอเรื่องราวของท่านนบี 3 ท่าน ที่ได้มอบหมายต่ออัลลอฮฺอย่างสุดหัวใจ อัลลอฮฺ ตะอาลา จึงทำให้พวกท่านได้รอดปลอดภัย ซึ่งสูเราะฮฺนี้ได้นำเสนอเนื้อหาส่วนหนึ่งเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับการมอบหมายต่ออัลลอฮฺในทุกเรื่องราวข้างต้น ซึ่งล้วนเป็นการตอบสนองเป้าหมายของสูเราะฮฺนี้ และเรื่องราวเหล่านี้เองที่เป็นข้อยืนยันว่าผู้ที่ศรัทธาต่ออัล-เกาะฎออ์และอัล-เกาะดัรฺของอัลลอฮฺนั้นย่อมมอบหมายต่อพระองค์อย่างสุดหัวใจ ส่วนผู้ที่ไม่ศรัทธาต่ออัล-เกาะฎออ์และอัล-เกาะดัรฺพวกเขาก็จะมีความรู้สึกที่เคลือบแคลงสงสัยและถกเถียงในหิกมะฮฺและความยุติธรรมของอัลลอฮฺ

    เรื่องราวของท่านนบีนูหฺ อะลัยฮิสลาม

    ที่ได้มอบหมายต่ออัลลอฮฺอย่างสุดหัวใจ และพระองค์ก็ทรงให้ท่านและผู้ที่อยู่ร่วมกับท่านได้ปลอดภัย

    ﴿ ۞وَٱتۡلُ عَلَيۡهِمۡ نَبَأَ نُوحٍ إِذۡ قَالَ لِقَوۡمِهِۦ يَٰقَوۡمِ إِن كَانَ كَبُرَ عَلَيۡكُم مَّقَامِي وَتَذۡكِيرِي بِ‍َٔايَٰتِ ٱللَّهِ فَعَلَى ٱللَّهِ تَوَكَّلۡتُ فَأَجۡمِعُوٓاْ أَمۡرَكُمۡ وَشُرَكَآءَكُمۡ ثُمَّ لَا يَكُنۡ أَمۡرُكُمۡ عَلَيۡكُمۡ غُمَّةٗ ثُمَّ ٱقۡضُوٓاْ إِلَيَّ وَلَا تُنظِرُونِ ٧١ ﴾ [يونس : ٧١]

    ความว่า “และเจ้าจงอ่านให้พวกเขาฟังถึงเรื่องราวของนบีนูหฺ เมื่อเขา (นูหฺ) กล่าวแก่ประชาชาติของเขาว่า โอ้หมู่ชนของฉัน หากว่าการพักอยู่ของฉันและการตักเตือนของฉันด้วยโองการทั้งหลายของอัลลอฮฺเป็นเรื่องใหญ่แก่พวกท่านแล้ว ดังนั้น ฉันขอมอบหมายแด่อัลลอฮฺเท่านั้น พวกท่านจงร่วมกันวางแผนของพวกท่านพร้อมกับบรรดาภาคีของพวกท่านเถิด แล้วอย่าให้แผนของพวกท่านเป็นที่ปิดบังแก่พวกท่าน แล้วจงดำเนินการต่อฉันทันทีและอย่าได้ลังเลเลย” (สูเราะฮฺ ยูนุส : 71)

    เรื่องราวของท่านนบีมูซา อะลัยฮิสสลาม กับฟิรเอาน์

    ﴿ وَقَالَ مُوسَىٰ يَٰقَوۡمِ إِن كُنتُمۡ ءَامَنتُم بِٱللَّهِ فَعَلَيۡهِ تَوَكَّلُوٓاْ إِن كُنتُم مُّسۡلِمِينَ ٨٤ فَقَالُواْ عَلَى ٱللَّهِ تَوَكَّلۡنَا رَبَّنَا لَا تَجۡعَلۡنَا فِتۡنَةٗ لِّلۡقَوۡمِ ٱلظَّٰلِمِينَ ٨٥ ﴾ [يونس : ٨٤-٨٥]

    ความว่า “และมูซากล่าวว่า โอ้กลุ่มชนของฉัน หากพวกท่านศรัทธาต่ออัลลอฮฺ พวกท่านก็จงมอบหมายต่อพระองค์ หากพวกท่านเป็นผู้ยอมจำนน พวกเขากล่าวว่า แด่อัลลอฮฺเราขอมอบหมาย ข้าแต่พระเจ้าของเรา ได้ทรงโปรดอย่าให้เราเป็นเครื่องทดลองสำหรับหมู่ชนผู้อธรรมเลย” (สูเราะฮฺ ยูนุส : 84-85)

    เรื่องราวของกลุ่มชนของท่านนบียูนุส อะลัยฮิสสลาม

    ﴿ فَلَوۡلَا كَانَتۡ قَرۡيَةٌ ءَامَنَتۡ فَنَفَعَهَآ إِيمَٰنُهَآ إِلَّا قَوۡمَ يُونُسَ لَمَّآ ءَامَنُواْ كَشَفۡنَا عَنۡهُمۡ عَذَابَ ٱلۡخِزۡيِ فِي ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَمَتَّعۡنَٰهُمۡ إِلَىٰ حِينٖ ٩٨ ﴾ [يونس : ٩٨]

    ความว่า “ดังนั้น น่าจะมีหมู่บ้านสักแห่งหนึ่งศรัทธาทั้งหมู่บ้าน ซึ่งการศรัทธาของพวกเขาจะอำนวยประโยชน์แก่พวกเขาเอง (แต่มันไม่มี)นอกจากกลุ่มชนของยูนุส เมื่อพวกเขาศรัทธา เราได้ปลดเปลื้องการลงโทษอันอัปยศจากพวกเขาในการมีชีวิตในโลกนี้ และเราได้ยืดเวลาระยะหนึ่งแก่พวกเขา” (สูเราะฮฺ ยูนุส : 98)

    อาจจะมีข้อสงสัยว่าทำไมอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ให้ฟิรเอาน์จมน้ำไปภายหลังจากที่เขาได้กล่าวว่าฉันได้ศรัทธาแล้ว แต่สำหรับกลุ่มชนของท่านนบียูนุส อะลัยฮิสสลาม นั้นพระองค์กลับให้พวกเขารอดปลอดภัย ทั้งๆ ที่สองสภาพนี้มีความคล้ายคลึงกัน ? เราขอกล่าวว่า อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงรู้ดี ซึ่งพระองค์ทรงรู้ดีในสิ่งที่ปิดซ่อนอยู่ว่าการที่ฟิรเอาน์ได้กล่าวว่าฉันได้ศรัทธาแล้วก็เนื่องจากเป็นไปด้วยความจำเป็นไม่ใช่มาจากความเต็มใจที่จะกล่าว และหากว่าพระองค์ทรงให้เขากลับมายังโลกดุนยาอีกครั้งหนึ่ง เขาก็จะหลงผิดและทำให้ผู้คนหลงผิดตามไปด้วยอีก ซึ่งคำกล่าวของฟิรเอาน์ที่ว่าได้ศรัทธาแล้วนั้นไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด

    ﴿ ۞وَجَٰوَزۡنَا بِبَنِيٓ إِسۡرَٰٓءِيلَ ٱلۡبَحۡرَ فَأَتۡبَعَهُمۡ فِرۡعَوۡنُ وَجُنُودُهُۥ بَغۡيٗا وَعَدۡوًاۖ حَتَّىٰٓ إِذَآ أَدۡرَكَهُ ٱلۡغَرَقُ قَالَ ءَامَنتُ أَنَّهُۥ لَآ إِلَٰهَ إِلَّا ٱلَّذِيٓ ءَامَنَتۡ بِهِۦ بَنُوٓاْ إِسۡرَٰٓءِيلَ وَأَنَا۠ مِنَ ٱلۡمُسۡلِمِينَ ٩٠ ءَآلۡـَٰٔنَ وَقَدۡ عَصَيۡتَ قَبۡلُ وَكُنتَ مِنَ ٱلۡمُفۡسِدِينَ ٩١ ﴾ [يونس : ٩٠، ٩١]

    ความว่า “และเราได้ให้บนีอิสรออีลข้ามทะเลพ้นไป ดังนั้นฟิรเอาน์และพลพรรคของเขาได้ติดตามพวกเขาไปโดยอธรรมและเป็นศัตรู จนกระทั่งเมื่อการจมน้ำมาถึงเขาแล้ว เขากล่าวว่า ฉันศรัทธาแล้วว่า แท้จริงไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากผู้ซึ่งบนีอิสรออีลได้ศรัทธาต่อพระองค์ และฉันคือคนหนึ่งในหมู่ผู้นอบน้อม ณ บัดนี้หรือที่เจ้าจะศรัทธา ทั้งๆ ที่เจ้าเป็นผู้ทรยศมาก่อนหน้านี้แล้ว และเจ้าเป็นคนหนึ่งในหมู่ผู้บ่อนทำลาย” (สูเราะฮฺ ยูนุส : 90-91)

    ท่านอิมามอัล-ฟัครฺ อัล-รอซีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “ฟิรเอาน์ได้ศรัทธา 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งที่หนึ่ง(ฉันศรัทธาแล้ว) ครั้งที่สอง(ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากผู้ซึ่งบนีอิสรออีลได้ศรัทธาต่อพระองค์) และครั้งที่สาม(และฉันคือคนหนึ่งในหมู่ผู้นอบน้อม) แล้วมีเหตุอะไรที่ทำให้การศรัทธาของเขาถึงไม่ถูกตอบรับ? คำตอบคือ เพราะเขาได้ศรัทธาในช่วงเวลาที่บทลงโทษลงมาถึงแล้ว ซึ่งการศรัทธาในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นจะไม่ถูกตอบรับ เพราะช่วงเวลาของการวิงวอนขอได้หมดไปแล้ว ดังนั้นการสำนึกผิดและการศรัทธาจึงไม่ก่อประโยชน์ใดๆ อีก อัลลอฮฺได้มีดำรัสว่า

    ﴿ فَلَمۡ يَكُ يَنفَعُهُمۡ إِيمَٰنُهُمۡ لَمَّا رَأَوۡاْ بَأۡسَنَاۖ ﴾ [غافر: ٨٥]

    ความว่า “ดังนั้นการศรัทธาของพวกเขาจะไม่อำนวยประโยชน์แก่พวกเขาเลยในเมื่อพวกเขาได้เห็นการลงโทษอย่างหนักของเรา” (สูเราะฮฺ ฆอฟิรฺ : 85)

    มันแต่ต่างจากกลุ่มชนของท่านนบียูนุส อะลัยฮิสสลาม ซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงรู้ดีว่าพวกเขานั้นจะเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง พระองค์จึงให้อภัยแก่พวกเขา ทั้งๆ ที่พวกเขาเกือบจะได้รับความพินาศด้วยการลงโทษของอัลลอฮฺแล้ว แต่ว่าพวกเขาก็ได้ศรัทธาโดยดี ซึ่งประวัติศาสตร์ได้ยืนยันไว้แล้ว พวกเขากลายเป็นกลุ่มชนที่ดี เป็นกลุ่มชนที่น้อมรับปฏิบัติตามและเป็นผู้ศรัทธามั่น และอัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงประสงค์ให้ปวงบ่าวของพระองค์ได้ศรัทธาอย่างเต็มใจไม่ใช่การศรัทธาที่ฝืนความรู้สึกโดยจำเป็น อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสในเรื่องนี้ว่า

    ﴿ فَلَوۡلَا كَانَتۡ قَرۡيَةٌ ءَامَنَتۡ فَنَفَعَهَآ إِيمَٰنُهَآ إِلَّا قَوۡمَ يُونُسَ لَمَّآ ءَامَنُواْ كَشَفۡنَا عَنۡهُمۡ عَذَابَ ٱلۡخِزۡيِ فِي ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَمَتَّعۡنَٰهُمۡ إِلَىٰ حِينٖ ٩٨ ﴾ [يونس : ٩٨]

    ความว่า “ดังนั้น น่าจะมีหมู่บ้านสักแห่งหนึ่งศรัทธาทั้งหมู่บ้าน โดยที่การศรัทธาของพวกเขาจะอำนวยประโยชน์แก่พวกเขา (แต่ไม่ปรากฏให้เห็น)นอกจากกลุ่มชนของยูนุส เมื่อพวกเขาศรัทธา เราได้ปลดเปลื้องการลงโทษอันอัปยศจากพวกเขาในการมีชีวิตในโลกนี้ และเราได้ยืดเวลาระยะหนึ่งแก่พวกเขา” (สูเราะฮฺ ยูนุส : 98)

    ดังนั้น จะมีผู้ใดรู้ในเรื่องนี้อีก นอกจากอัลลอฮฺผู้ทรงปรีชาญาณ ผู้ทรงรอบรู้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นสำหรับเราที่ต้องศรัทธาต่ออัล-เกาะฎออ์และอัล-เกาะดัรฺของอัลลอฮฺ เพราะมันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไร้เป้าหมาย แต่ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันมีหิกมะฮฺของมันอยู่ ซึ่งบางเรื่องเราก็รู้หิกมะฮฺของมันแต่ในบางเรื่องอัลลอฮฺก็ปกปิดให้เราไม่รู้ เพื่อเป็นการทดสอบว่าเรามีความจริงใจในการศรัทธาต่อพระองค์หรือไม่ ซึ่งหากเรารู้หิกมะฮฺของทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ดังนั้น การที่เราศรัทธาในสิ่งเร้นลับก็จะไม่ก่อประโยชน์อะไรอีก

    การปิดท้ายของสูเราะฮฺ

    ﴿ وَأَنۡ أَقِمۡ وَجۡهَكَ لِلدِّينِ حَنِيفٗا وَلَا تَكُونَنَّ مِنَ ٱلۡمُشۡرِكِينَ ١٠٥ وَلَا تَدۡعُ مِن دُونِ ٱللَّهِ مَا لَا يَنفَعُكَ وَلَا يَضُرُّكَۖ فَإِن فَعَلۡتَ فَإِنَّكَ إِذٗا مِّنَ ٱلظَّٰلِمِينَ ١٠٦ ﴾ [يونس : ١٠٥-١٠٦]

    ความว่า “และจงมุ่งหน้าของเจ้าเพื่อศาสนาอย่างบริสุทธิ์ใจ และจงอย่าอยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี และเจ้าอย่าวิงวอนสิ่งอื่นจากอัลลอฮฺ ซึ่งไม่อำนวยประโยชน์แก่เจ้าและไม่ให้โทษแก่เจ้า หากเจ้ากระทำเช่นนั้น แท้จริงเจ้าจะอยู่ในหมู่ผู้อธรรม” (สูเราะฮฺ ยูนุส : 105-106)

    (อายะฮฺข้างต้นนี้ได้แนะนำว่า) เราจะมีท่าทีต่ออัล-เกาะฎออ์ต่ออัลลอฮฺด้วยความเอาจริงเอาจังและมอบหมายต่ออัลลอฮฺอย่างสุดหัวใจได้อย่างไร

    หลังจากนั้นเนื้อหาของอายะฮฺก็ได้แนะนำให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาผู้ศรัทธาได้มอบหมายต่ออัลลอฮฺอย่างสุดหัวใจ รวมถึงการพึ่งต่อพระองค์ และให้อดทนในความเดือนร้อนที่ได้ประสบกับพวกเขาบนเส้นทางในการรับใช้อัลลอฮฺ และให้ยึดมั่นต่อบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ตะอาลา อย่างเคร่งครัด เพราะพระองค์อัลลอฮฺผู้ทรงบริสุทธิ์นั้นทรงปรีชาญาณและทรงยุติธรรมยิ่ง

    ﴿ وَٱتَّبِعۡ مَا يُوحَىٰٓ إِلَيۡكَ وَٱصۡبِرۡ حَتَّىٰ يَحۡكُمَ ٱللَّهُۚ وَهُوَ خَيۡرُ ٱلۡحَٰكِمِينَ ١٠٩ ﴾ [يونس : ١٠٩]

    ความว่า “และเจ้าจงปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกประทานเป็นวิวรณ์แก่เจ้า และจงอดทนจนกว่าอัลลอฮฺจะทรงตัดสิน และพระองค์ทรงเป็นผู้ตัดสินที่ดียิ่ง” (สูเราะฮฺ ยูนุส : 109)

    การตั้งชื่อสูเราะฮฺนี้ว่า “สูเราะฮฺ ยูนุส”

    เนื่องจากมีการกล่าวถึงเรื่องราวของท่านนบียูนุส อะลัยฮิสสลาม ซึ่งมีเนื้อหาที่ครอบคลุมบทเรียนและข้อตักเตือนต่างๆ ด้วยการที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงปลดเปลื้องการลงโทษจากกลุ่มชนของท่าน เมื่อครั้งที่พวกเขาได้ศรัทธาหลังจากที่การลงโทษและภัยพิบัติใกล้ลงมายังพวกเขาแล้ว และนี่คือสิ่งที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ให้แก่กลุ่มชนของท่านนบียูนุสเป็นการเฉพาะ เนื่องด้วยความจริงใจในการสำนึกผิดและการศรัทธาของพวกเขา และอัลลอฮฺนั้นจะไม่ทรงอธรรมต่อมนุษย์อย่างแน่นอนถ้าพระองค์ทรงรู้ว่าบ่าวคนหนึ่งคนใดของพระองค์มีความจริงใจในการศรัทธาต่อพระองค์ โดยที่พระองค์จะให้เขารอดพ้นจากการลงโทษต่างๆ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงปรีชาญาณ ผู้ทรงยุติธรรม

    ชัยคฺมุหัมมัด มุตะวัลลีย์ อัช-ชะอฺรอวีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวกับสูเราะฮฺนี้ ในครั้งที่ท่านถูกถามถึงการมีเรื่องราวของท่านนบีนูหฺ ท่านนบีมูซากับฟิรเอาน์ และท่านนบียูนุส รวมอยู่ในสูเราะฮฺนี้ ท่านได้กล่าวว่า “สิ่งที่ได้รวบรวมเรื่องราวเหล่านี้ไว้ด้วยกันก็คือ น้ำ ซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทำให้กลุ่มชนของท่านนบีนูหฺจมก็ด้วยกับน้ำ และทำให้ฟิรเอาน์จมก็ด้วยกับน้ำ ส่วนท่านนบียูนุสนั้น อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงให้ท่านรอดปลอดภัยจากการที่ต้องอยู่ในท้องปลาวาฬหลังจากที่ถูกโยนลงไปในน้ำ จะเห็นได้ว่าน้ำนั้นบางครั้งก็เป็นจุดเริ่มต้นของความพินาศและบางครั้งก็เป็นจุดเริ่มต้นของความปลอดภัย อัลลอฮฺ ตะอาลา จึงตั้งชื่อสูเราะฮฺนี้ด้วยกับชื่อของผู้ที่พระองค์ทรงทำให้เขารอดปลอดภัยจากน้ำ นั่นคือ ท่านนบียูนุส อะลัยฮิสสลาม”

    والله أعلم بالصواب، وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه وسلم، والحمد لله رب العالمين.