×
อธิบายอันตรายของริบาหรือดอกเบี้ย ซึ่งเป็นบาปใหญ่ประการหนึ่งที่อัลลอฮฺห้ามอย่างหนัก มีผลที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ให้ ผู้รับ สักขีพยาน ผู้จดบันทึก รวมถึงฟัตวาบางข้อที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการใช้บัตรเครดิต เป็นบทความจากหนังสืออัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ ของเชคอะมีน อัช-ชะกอวีย์

    คำเตือนเกี่ยวกับดอกเบี้ย

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : อับดุศศอมัด อัดนาน

    ตรวจทานโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต
    อัล-มุลกอฮฺ

    2013 - 1434

    التحذير من الربا

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: عبدالصمد عدنان

    مراجعة: يوسف أبوبكر

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2013 - 1434

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เรื่องที่ 116

    คำเตือนเกี่ยวกับดอกเบี้ย

    การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีอย่างแท้จริงนอกจากอัลลอฮฺเพียงผู้เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์...

    อันบาปใหญ่อีกประการหนึ่งที่อัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์ได้ทรงห้าม และสาปแช่งไว้ คือ ดอกเบี้ย ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

    ﴿ ٱلَّذِينَ يَأۡكُلُونَ ٱلرِّبَوٰاْ لَا يَقُومُونَ إِلَّا كَمَا يَقُومُ ٱلَّذِي يَتَخَبَّطُهُ ٱلشَّيۡطَٰنُ مِنَ ٱلۡمَسِّۚ ذَٰلِكَ بِأَنَّهُمۡ قَالُوٓاْ إِنَّمَا ٱلۡبَيۡعُ مِثۡلُ ٱلرِّبَوٰاْۗ وَأَحَلَّ ٱللَّهُ ٱلۡبَيۡعَ وَحَرَّمَ ٱلرِّبَوٰاْۚ فَمَن جَآءَهُۥ مَوۡعِظَةٞ مِّن رَّبِّهِۦ فَٱنتَهَىٰ فَلَهُۥ مَا سَلَفَ وَأَمۡرُهُۥٓ إِلَى ٱللَّهِۖ وَمَنۡ عَادَ فَأُوْلَٰٓئِكَ أَصۡحَٰبُ ٱلنَّارِۖ هُمۡ فِيهَا خَٰلِدُونَ ٢٧٥﴾ [البقرة : 275]

    ความว่า “บรรดาผู้กินดอกเบี้ย พวกเขาจะไม่ยืนขึ้น (ฟื้นขึ้นจากสุสานในโลกหน้าได้อย่างปกติ) นอกจาก (พวกเขาจะยืนขึ้นมาในท่าที) ประดุจดังผู้ที่มารร้ายสิงอยู่ เนื่องจากความวิกลจริต เป็นเพราะพวกเขากล่าวว่า อันที่จริงการค้าขาย ก็เหมือนกับการเอาดอกเบี้ยนั่นเอง และอัลลอฮฺทรงอนุมัติการค้าขาย แต่ทรงห้ามการเอาดอกเบี้ย ดังนั้น ผู้ใดที่รับคำเตือนจากองค์อภิบาลของเขา แล้วเขาก็ยุติ (การรับดอกเบี้ย) แน่นอนสิ่ง (ดอกเบี้ย) ที่ล่วงเลยไปนั่นก็เป็นของเขา (ไม่ต้องย้อนหลัง) และการงานของเขาก็มอบแด่อัลลอฮฺ (สุดแต่พระองค์จะจัดการ) และผู้ใดย้อนกลับ (ไปสู่ระบบดอกเบี้ยอีก) แน่นอนพวกเขาเป็นชาวนรก พวกเขาต้องเข้าอยู่ในนั้นตลอดกาล” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 275 )

    อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

    ﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَذَرُواْ مَا بَقِيَ مِنَ ٱلرِّبَوٰٓاْ إِن كُنتُم مُّؤۡمِنِينَ ٢٧٨ ﴾ [البقرة : 278]

    ความว่า “บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงเกรงกลัวอัลลอฮฺ และจงละทิ้งดอกเบี้ยในส่วนที่สูเจ้ายังอาจจะได้รับ ถ้าหากสูเจ้าเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 278 )

    ท่านญาบิรฺ - เราะฎิยัลลอฮุอันฮู - เล่าว่า

    لَعَنَ رَسُولُ اللَّهِ -صلى الله عليه وسلم- آكِلَ الرِّبَا وَمُوكِلَهُ وَكَاتِبَهُ وَشَاهِدَيْهِ وَقَالَ : «هُمْ سَوَاءٌ» [رواه مسلم برقم 1598]

    ความว่า “ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้สาปแช่งผู้ที่กินดอกเบี้ย ผู้ที่มอบดอกเบี้ยให้คนอื่น ผู้ที่บันทึก ผู้ที่เป็นพยาน” ท่านกล่าวว่า “พวกเขามีความผิดเหมือนกันทั้งหมด” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข : 1598)

    ท่านสะมุเราะฮฺ บิน ญุนดุบ เล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เล่าถึงเรื่องที่ท่านได้ฝันเห็นว่า

    «أَتَانِي اللَّيْلَةَ آتِيَانِ، وَإِنَّهُمَا ابْتَعَثَانِي، وَإِنَّهُمَا قَالَا لِي : انْطَلِقْ، وَإِنِّي انْطَلَقْتُ مَعَهُمَا ... فَأَتَيْنَا عَلَى نَهَرٍ ـ حَسِبْتُ أَنَّهُ قَالَ : ـ أَحْمَرَ مِثْلِ الدَّمِ، وَإِذَا فِي النَّهَرِ رَجُلٌ سَابِحٌ يَسْبَحُ، وَإِذَا عَلَى شَطِّ النَّهَرِ رَجُلٌ قَدْ جَمَعَ عِنْدَهُ حِجَارَةً كَثِيْرَةً ، وَإِذَا ذَلِكَ السَّابِحُ يَسْبَحُ مَا يَسْبَحُ، ثُمَّ يَأْتِيْ ذَلِكَ الرَّجُلَ الَّذِي قَدْ جَمَعَ عِنْدَهُ الْحِجَارَةَ فَيَفْغَرُ لَهُ فَاهُ، فَيُلْقِمُهُ حَجَرًا، فَيَنْطَلِقُ يَسْبَحُ، ثُمَّ يَرْجِعُ إِلَيْهِ، كُلَّمَا رَجَعَ إِلَيْهِ فَغَرَ لَهُ فَاهُ فَأَلْقَمَهُ حَجَرًا، قَالَ : قُلْتُ لَهُمَا : مَا هَذَان؟ ، قَالَا: أَمَّا الرَّجُلُ الَّذِيْ أَتَيْتَ عَلَيْهِ يَسْبَحُ فِيْ النَّهَرِ وَيَلْقَمُ الْحِجَارَةَ ، فَإِنَّهُ آكِلُ الرَّبَا» [رواه البخاري برقم 7047]

    ความว่า “...ในค่ำคืนหนึ่งมีชายสองคนได้มาหาฉัน แล้วกล่าวว่า ไปกันเถอะ แล้วฉันก็ได้ออกเดินทางไปพร้อมกับทั้งสอง จนกระทั่งถึงมายังแม่น้ำแห่งหนึ่ง (ฉัน-ผู้รายงาน- พอจะจำได้ว่าท่านกล่าวว่า) ที่มีน้ำสีแดงเหมือนเลือด ซึ่งชายคนหนึ่งแหวกว่ายอยู่ในแม่น้ำ และที่ริมตลิ่งมีชายอีกคนหนึ่งได้เก็บก้อนหินมารวมไว้มากมาย ครั้นเมื่อผู้ที่ว่ายน้ำได้มาหาเขา เขาก็ฉีกปากใส่ก้อนหินลงไป แล้วชายผู้นั้นก็ว่ายน้ำจากไป แล้วก็ว่ายกลับมาหาเขาที่ฝั่ง เขาก็ปฏิบัติเช่นเดิมตลอดไป ฉันจึงกล่าวถามชายทั้งสองที่พาฉันมาว่า “ชายสองคนนั้นเป็นอะไรไปล่ะ”? เขาทั้งสองบอกฉันว่า “ชายที่ว่ายน้ำแล้วถูกฉีกปากให้กินก้อนหินนั้น เป็นผู้ที่กินดอกเบี้ย” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข : 7047)

    และท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวไว้ว่า

    «اجْتَنِبُوا السَّبْعَ المُوْبِقَاتِ ـ وَذَكَرَ مِنْهَا ـ الرِّبَا» [رواه البخاري برقم 2766 و مسلم برقم 89]

    ความว่า “ท่านทั้งหลายจงหลีกเลี่ยงความหายนะ 7 ประการ ส่วนหนึ่งคือ ...ดอกเบี้ย ” ( บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข : 2766 และมุสลิม หมายเลข : 89 )

    รูปแบบของดอกเบี้ยที่ปรากฏในยุคปัจจุบันมีมากมาย อาทิ

    รูปแบบที่หนึ่ง .. การซื้อขายหุ้นที่เป็นดอกเบี้ย หรือการฝากทรัพย์สินในธนาคารที่มีระบบดอกเบี้ย และการได้รับเอาผลประโยชน์ของเงินที่เขาเรียกกันว่า “เงินปันผล” หรือการกู้ยืมจากธนาคารซึ่งในเวลาจ่ายคืนต้องจ่ายมากกว่าที่ยืม

    และถือเป็นพฤติกรรมอันเลวร้าย เป็นเรื่องที่อันตรายยิ่งนัก กล่าวคือเป็นเรื่องที่พวกเราได้ยิน ได้เห็นอยู่เป็นประจำในยุคปัจจุบันนี้ ธนาคารแต่ละแห่งต่างยื้อแย่งแข่งขันกันโดยใช้กลยุทธ์รูปแบบต่างๆ ที่จะเชิญชวนผู้คนให้ตกอยู่ในวังวนของดอกเบี้ยอันน่าตำหนิยิ่งนัก ตัวอย่างเช่น การนำเสนอรูปแบบการใช้บัตรเครดิตที่เขาเรียกกันว่า “บัตรวีซ่า Samba” (บัตรวีซ่าของธนาคารแห่งหนึ่งในซาอุดีอาระเบีย) ซึ่งได้มีคำชี้ขาด (ฟัตวา) จากสภาอุละมาอ์ได้ห้ามการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยกับบัตรดังกล่าว เนื่องจากเกี่ยวข้องกับระบบดอกเบี้ยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺและท่านเราะสูลได้ห้ามบรรดามุสลิมมิให้เข้าไปเกี่ยวข้อง

    จากคำฟัตวา หมายเลข 17611 ของสภาอุละมาอ์ว่า “ในปัจจุบันมีผู้คนได้ใช้บัตรวีซ่า SAMBA ซึ่งออกให้โดยธนาคารซาอุดี-อเมริกา ราคาบัตรทองใบละ 485 ริยาล และบัตรเงินใบละ 245 ริยาล โดยที่ผู้ถือบัตรวีซ่าต้องจ่ายค่าบัตรเป็นรายปีและได้รับสิทธิพิเศษดังต่อไปนี้

    1. ผู้ถือบัตรสามารถกู้ยืมเงินด้วยการถอนจากตู้เอทีเอ็มได้ตามต้องการ แต่ต้องใช้คืนเท่าที่ยืมภายในเวลา 54 วัน แต่หากเกินจากวันที่กำหนด ทางธนาคารจะคิดส่วนต่างจากผู้ยืมร้อยละ 1.95 (คือ 1 ริยาล 95 ฮะละละฮฺ)

    2. ผู้ถือบัตรสามารถซื้อสินค้าจากห้างร้านที่ทำรายการร่วมกับธนาคารได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินสด ซึ่งถือว่าเป็นการยืมเงินจากธนาคาร และหากผู้ถือบัตรไม่ได้จ่ายคืนภายในเวลาที่กำหนด คือ 54 วัน ทางธนาคารจะคิดส่วนต่างจากผู้ถือบัตรร้อยละ 1.95 (คือ 1 ริยาล 95 ฮะละละฮฺ)

    คำถาม การใช้บัตรชนิดนี้มีข้อชี้ขาด (หุก่ม) ว่าอย่างไร ? และการจ่ายเงินให้กับธนาคารเป็นรายปีถูกต้องหรือไม่?

    คำตอบ หากว่าการใช้บัตรเครดิตวีซ่า เป็นไปตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ถือว่าไม่ถูกต้อง และเป็นการกินทรัพย์ผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม เป็นระบบดอกเบี้ยที่มีมาตั้งแต่สมัยญาฮิลียะฮฺ (ยุคอนารยชน) ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้ออกบัตรชนิดนี้ และไม่อนุญาตให้นำมาใช้ วัลลอฮุอะลัม.

    รูปแบบที่สอง .. การซื้อขายแบบ “อัล-อีนะฮฺ” คือการที่บุคคลหนึ่งขายสินค้าราคาผ่อนแก่ผู้อื่นด้วยราคา (สมมุติ)1000 บาท โดยผ่อนเป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้น ผู้ขายได้ซื้อสินค้าคืนด้วยเงินสดเพียง 500 บาท โดยที่ผู้ซื้อครั้งแรกยังติดหนี้สินกับผู้ขายอีก 500 บาท ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวห้ามการค้าขายประเภทนี้ว่า

    «إِذَا تَبَايَعْتُمْ بِالْعِينَةِ، وَأَخَذْتُمْ أَذْنَابَ الْبَقَرِ، وَرَضِيتُمْ بِالزَّرْعِ، وَتَرَكْتُمْ الْجِهَادَ، سَلَّطَ اللَّهُ عَلَيْكُمْ ذُلًّا لَا يَنْزِعُهُ حَتَّى تَرْجِعُوا إِلَى دِينِكُمْ» [أبو داود برقم 3462]

    ความว่า “เมื่อท่านทั้งหลายซื้อขายกันแบบอีนะฮฺ และอยู่กับการไถพรวนดินในการเพาะปลูก และมีความพึงพอใจอยู่กับการเพาะปลูก และไม่สนใจการญิฮาด อัลลอฮฺจะทำให้พวกท่านตกต่ำชนิดที่ว่าไม่สามารถผงาดขึ้นมาได้ นอกจากจะต้องหันกลับมาสู่การปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนาของพวกท่าน” ( บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข : 3462)

    คำกล่าวอ้างของผู้ที่จะเอาดอกเบี้ย

    1. คนบางกลุ่มให้เหตุผลว่าตนเองมีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารในระบบดอกเบี้ย เพราะฉันต้องใช้เงิน ฉันจะแต่งงาน ฉันจะสร้างบ้าน เพราะไม่มีใครให้ฉันยืม ซึ่งความจำเป็นต้องได้รับการผ่อนปรนให้กระทำสิ่งที่ต้องห้ามได้ ฯลฯ

    เราขอตอบว่า สำหรับความจำเป็นที่จะได้รับการผ่อนปรนนั้น คือภาวะที่กลัวว่าจะถึงแก่ชีวิต จึงจะผ่อนปรนให้ได้ เช่น บุคคลที่ตกอยู่ในภาวะที่หิวจัด ไม่มีอาหารหะลาลที่จะดื่มหรือรับประทาน ก็อนุญาตให้เขาดื่มหรือรับประทานสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) ได้ เป็นต้น แต่อนุญาติให้เขารับประทานได้เพียงเป็นการประทังชีวิตเท่านั้น ไม่รับประทานจนอิ่มเกิน หรือพกพาติดตัวเพื่อกินในมื้อต่อไป อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ إِنَّمَا حَرَّمَ عَلَيۡكُمُ ٱلۡمَيۡتَةَ وَٱلدَّمَ وَلَحۡمَ ٱلۡخِنزِيرِ وَمَآ أُهِلَّ بِهِۦ لِغَيۡرِ ٱللَّهِۖ فَمَنِ ٱضۡطُرَّ غَيۡرَ بَاغٖ وَلَا عَادٖ فَلَآ إِثۡمَ عَلَيۡهِۚ إِنَّ ٱللَّهَ غَفُورٞ رَّحِيمٌ ١٧٣ ﴾ [البقرة : 173]

    ความว่า “อัลลอฮฺได้ทรงห้ามสูเจ้ามิให้บริโภค สัตว์ที่ตายเอง เลือด เนื้อสุกร สัตว์ที่ถูกกล่าวอุทิศให้นามอื่นนอกไปจากอัลลอฮฺ แต่ถ้าหากผู้ใดตกอยู่ในภาวะคับขันโดยไม่มีเจตนาขัดขืนและไม่ได้ละเมิด มันก็ไม่มีบาปแก่เขาแท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 173)

    นักวิชาการบางท่านให้ทัศนะว่า “อนุญาตให้แก่เขารับประทานได้เพียง 3คำ และเราอาจให้เหตุผลแก่ผู้ที่อ้างเช่นนี้ว่า อัลลอฮฺจะให้ทางออกแก่ผู้ที่ยำเกรงเสมอ ดังที่อัลลอฮฺตรัสยืนยันไว้ในอัลกุรอานว่า

    ﴿ ... وَمَن يَتَّقِ ٱللَّهَ يَجۡعَل لَّهُۥ مَخۡرَجٗا ٢ وَيَرۡزُقۡهُ مِنۡ حَيۡثُ لَا يَحۡتَسِبُۚ وَمَن يَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِ فَهُوَ حَسۡبُهُۥٓۚ إِنَّ ٱللَّهَ بَٰلِغُ أَمۡرِهِۦۚ قَدۡ جَعَلَ ٱللَّهُ لِكُلِّ شَيۡءٖ قَدۡرٗا ٣﴾ [الطلاق : 2-3]

    ความว่า “และผู้ใดยำเกรงต่ออัลลอฮฺ พระองค์ก็จะให้ทางออกแก่เขา และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาโดยที่เขามิได้คาดคิด และผู้ใดที่ได้มอบหมายต่ออัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา แท้จริง อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงบรรลุในกิจการของพระองค์ โดยแน่นอนสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างนั้น อัลลอฮฺทรงกำหนดกฎสภาวะไว้แล้ว” (อัฏ-เฏาะลาก : 2 - 3 )

    2. บางคนอ้างว่าธนาคารเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ ซึ่งต้องจ่ายเงินเดือนแก่พนักงานและเจ้าหน้าที่ ต้องจ่ายค่าเช่าอาคาร และต้องซื้ออุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ซึ่งต้องใช้งบประมาณ ด้วยเหตุนี้จึงต้องเอาดอกเบี้ยจากการให้บริการแก่ผู้ที่กู้ยืม เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

    เราขอค้านเหตุผลข้างต้นว่าเป็นการกล่าวอ้างที่ชักนำผู้คนสู่ความเข้าใจที่คาดเคลื่อน เนื่องจากว่ารูปแบบของดอกเบี้ยที่มีบทบัญญัติห้ามมีปรากฏอย่างชัดเจนเหมือนกับระบบธนาคารเหล่านี้ ถึงแม้นจะเรียกว่าเป็นค่าใช้จ่ายของธนาคาร หรือผลกำไร หรืออื่นๆ เพราะชื่อเหล่านี้ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนข้อเท็จจริงได้แต่ประการใด บรรดาอุละมาอ์แห่งประเทศซาอุดิอาระเบียได้ชี้ขาด (ฟัตวา) ห้ามมิให้มีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารเหล่านี้ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน การทำธุรกิจซื้อขาย การกู้ยืม และเรื่องอื่นๆ

    หากจะถามว่าการที่ธนาคารเอาส่วนต่างคืนมากกว่าที่ให้กู้ยืมถูกต้องหรือไม่ ?

    คำตอบ ส่วนที่ทางธนาคารได้เอาส่วนต่างเพิ่มจากจำนวนที่ผู้กู้ยืมเอาไป หรือส่วนที่ทางธนาคารได้ให้เพิ่มแก่ผู้ฝากนั้น ถือว่าเป็นดอกเบี้ยอย่างชัดเจน ตามที่มีหลักฐานจากอัลกุรอาน จากสุนนะฮฺ และมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ได้กล่าวไว้ (ดูคำฟัตวาของสภาวิจัยฯหมายเลข : 3197)

    หากถามว่าพนักงานบัญชีของธนาคารจะถูกสาปแช่งเช่นเดียวกับผู้ที่กินดอกเบี้ยหรือไม่ ?

    คำตอบ ก็คือ ธนาคารได้ปล่อยเงินกู้ และรับฝากเงินในระบบดอกเบี้ย ดังนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นพนักงานบัญชีก็ไม่อาจหลุดพ้นที่จะผูกพันอยู่กับระบบดอกเบี้ย ซึ่งจะต้องบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย ดังนั้นผู้ที่เป็นบัญชีก็จะเป็นผู้หนึ่งที่จะต้องได้รับการสาปแช่งตามที่มีปรากฏในหะดีษ (ดูคำฟัตวาของสภาวิจัยฯ เล่มที่ : 13 หน้า : 344)

    โอ้อัลลอฮฺ ได้ทรงโปรดประทานความพอเพียงให้แก่พวกเราในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุมัติด้วยเถิด และขอให้พวกเราได้รับความโปรดปรานอย่างเพียงพอจากพระองค์ด้วยเถิด

    والحمد لله رب العالمين ، وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين .