×
อธิบายความหมายของคำว่า ตะดับบุรฺ (การใคร่ครวญ) ตามที่ปรากฏในอัลกุรอาน ทั้งความหมายในด้านภาษาและในด้านวิชาการตามทัศนะของอุละมาอ์นักอรรถาธิบายอัลกุรอาน รวมถึงศัพท์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตะดับบุรฺ

    ความหมายของการตะดับบุรฺอัลกุรอาน

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    สัลมาน บิน อุมัร อัส-สุนัยดีย์

    แปลโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือ ตะดับบุร อัลกุรอาน

    2013 - 1434

    معنى تدبر القرآن الكريم

    « باللغة التايلاندية »

    سلمان بن عمر السنيدي

    ترجمة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب تدبر القرآن

    2013 - 1434

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    ความหมายของการ ตะดับบุรฺ อัลกุรอาน

    ตะดับบุรฺ ในรากศัพท์ภาษาอาหรับ

    ความดั้งเดิมของคำว่า ตะดับบุรฺ คือ การพิจารณาและคิดใคร่ครวญถึงผลในบั้นปลายของสิ่งต่างๆ[i] การ ตะดับบุรฺถ้อยคำจึงหมายความว่า การดูตั้งแต่ต้นคำพูดและท้ายคำพูด แล้วดูทวนอีกครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งเห็นได้ชัดว่าคำดังกล่าวนี้มาในรูปของสำนวนกริยา “ตะฟะอฺอุล” เช่นเดียวกับ ตะญัรรุอฺ, ตะฟะฮฺฮุม และ ตะบัยยุน ด้วยเหตุนี้จึงมีทัศนะที่บอกว่า ตะดับบุรฺ มาจากความหมายที่ว่า การพิจารณาดูส่วนหลังของสิ่งต่างๆ นั่นคือจุดสุดท้ายหรือบั้นปลายของมันนั่นเอง ความหมายดังกล่าวรวมถึงการตะดับบุรฺคำพูดหรือถ้อยคำด้วย เช่นที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﴿أَفَلَمۡ يَدَّبَّرُواْ ٱلۡقَوۡلَ﴾ [المؤمنون: ٦٨]

    ความว่า “พวกเขามิได้ ตะดับบุรฺ (พิจารณาใคร่ครวญ) ถ้อยคำกระนั้นหรือ?” (อัล-มุอ์มินูน 68) [ii]

    ความหมายของการตะดับบุรฺอัลกุรอาน

    คือ การพยายามทำความเข้าใจความหมายจากถ้อยคำของอัลกุรอาน และคิดใคร่ครวญในสิ่งที่โองการอัลกุรอานได้สื่อให้เห็นอย่างตรงไปตรงมาและนัยที่ซ่อนเร้นในโองการเหล่านั้นด้วย รวมถึงองค์ประกอบที่เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ความหมายดังกล่าวปรากฏออกมาอย่างสมบูรณ์ ซึ่งบางทีถ้อยคำผิวเผินในโองการนั้นๆ อาจจะไม่ได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่ว่า ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวอาจจะอยู่ในรูปของการบ่งชี้หรือการสะกิดเตือนในรูปแบบต่างๆ การตะดับบุรฺจะรวมถึงการเกิดผลที่ให้คุณประโยชน์ต่อหัวใจ กล่าวคือหัวใจมีสภาพสงบเสงี่ยมต่อคำตักเตือนของอัลกุรอาน ตอบรับอย่างนอบน้อมต่อคำสั่งต่างๆ ในอัลกุรอาน และนำบทเรียนจากอัลกุรอานมาใช้ในชีวิต[iii]

    อัฏ-เฏาะบะรีย์ ได้กล่าวว่า ในพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

    ﴿ كِتَٰبٌ أَنزَلۡنَٰهُ إِلَيۡكَ مُبَٰرَكٞ لِّيَدَّبَّرُوٓاْ ءَايَٰتِهِۦ وَلِيَتَذَكَّرَ أُوْلُواْ ٱلۡأَلۡبَٰبِ ٢٩ ﴾ [ص: ٢٩]

    ความว่า “นั่นคือคัมภีร์(อัลกุรอาน)ที่เราได้ประทานลงมาให้แก่เจ้าซึ่งมีความจำเริญ เพื่อพวกเขาจะได้พินิจพิจารณาโองการต่างๆ ของอัลกุรอานและเพื่อปวงผู้มีสติปัญญาจะได้รับบทเรียน” (ศอด 29)

    หมายถึง “เพื่อให้พวกเขาได้พิจารณาใคร่ครวญเนื้อหาต่างๆ อันเป็นหลักฐานของอัลลอฮฺในอัลกุรอาน รวมถึงบทบัญญัติต่างๆ ของพระองค์ที่มีอยู่ในนั้น เพื่อที่พวกเขาจะได้ใช้มันเป็นบทเรียนและปฏิบัติตามมัน” [iv]

    อบู บักรฺ อิบนุ ฏอฮิรฺ ได้กล่าวว่า “จงพิจารณาใคร่ครวญในความสุขุมนุ่มนวลของสำนวนโวหารมัน จงเรียกร้องตัวเจ้าให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของมัน และเรียกร้องหัวใจของเจ้าให้ทำความเข้าใจความหมายของมัน และให้สัมผัสแห่งความสุขของเจ้าเกิดขึ้นด้วยการมุ่งเข้าหามัน” [v]

    อัล-ฮะเราะวีย์ ได้กล่าวว่า “องค์ประกอบของการ ตะซักกุรฺ (การได้รับบทเรียน) มีอยู่สามประการ คือ การรับประโยชน์จากคำเตือน การมองเห็นด้วยอุทาหรณ์ และการได้รับผลเป็นอานิสงค์จากความคิด” [vi]

    จากคำกล่าวต่างๆ ของบรรดาอุละมาอ์เราสรุปได้ว่า การตะดับบุรฺอัลกุรอานนั้นต้องประกอบด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือ

    - ต้องรู้ความหมายของถ้อยคำ และนัยที่เป็นเป้าประสงค์

    - การพิจารณาสิ่งที่โองการนั้นๆ ต้องการชี้ให้เห็น โดยพิจารณาจากการเรียบเรียงสำนวนและรูปประโยค

    - การใช้ปัญญาตอบสนองต่อหลักฐานต่างๆ ของอัลกุรอาน และให้หัวใจได้เคลื่อนไหวตามเนื้อหาที่สร้างความปิติยินดีและข้อตักเตือนสั่งห้ามต่างๆ ของมัน

    - นอบน้อมยอมรับต่อคำสั่งต่างๆ ของอัลกุรอาน และเชื่อมันต่อเรื่องราวบอกเล่าที่ถูกกล่าวถึงในอัลกุรอาน

    ศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตะดับบุรฺ

    อัล-ฟะฮ์มฺ (ความเข้าใจ) คือ การรู้ถึงความหมายของคำพูด

    อัล-ฟิกฮฺ (ความเข้าใจเชิงลึก) คือ การรู้ถึงข้อบ่งชี้ต่างๆ ของคำพูดด้วยการพิจารณาให้ถี่ถ้วน

    อัล-บะศีเราะฮฺ (การรู้อย่างประจักษ์) หมายถึง การรู้อย่างสมบูรณ์[vii]

    อัล-ฟิกรฺ (การคิด) คือ การนำความรู้สองประการมาให้หัวใจได้ตระหนักคิดเพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่สาม

    ตะฟักกุรฺ (การใช้ความคิด) คือ การใช้ความคิดและให้ความคิดคงอยู่ตลอดเวลา

    ตะซักกุรฺ (การนึกคิด) มาจากคำว่า ซิกรฺ คือ การนึกได้ ซึ่งตรงข้ามกับคำว่าหลงลืม การตะซักกุรฺ จึงหมายถึง การตระหนักเห็นถึงภาพในด้านความรู้อันเป็นนามธรรมของสิ่งที่ต้องการจะจดจำเอาไว้ในใจ เป็นคำที่อยู่ในรูปกริยา “ตะฟะอฺอุล” เพราะแสดงให้เห็นว่าต้องใช้เวลาและความค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือ การดึงความรู้ที่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลังจากที่เคยเคว้งคว้างและห่างหายไปจากตัวเขา ความหมายดังกล่าวนี้มีให้เห็นในพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

    ﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ ٱتَّقَوۡاْ إِذَا مَسَّهُمۡ طَٰٓئِفٞ مِّنَ ٱلشَّيۡطَٰنِ تَذَكَّرُواْ فَإِذَا هُم مُّبۡصِرُونَ ٢٠١ ﴾ [الأعراف: ٢٠١]

    ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้ยำเกรงนั้น เมื่อมีพวกหนึ่งของชัยฏอนมาครอบงำพวกเขา พวกเขาก็จะสำนึกขึ้นมา แล้วพวกเขาก็จะเห็นอย่างประจักษ์ชัด” (อัล-อะอฺรอฟ 201)

    ดังนั้น การ “ตะซักกุรฺ” จึงให้ความหมายว่า การที่หัวใจได้ทบทวนสิ่งที่เคยรู้และทราบมาก่อนแล้ว เพื่อให้ความรู้นั่นติดแน่นและมั่นคง และไม่ให้มันเหือดหายไปจนไม่เหลือร่องรอยในหัวใจ ในขณะที่การ “ตะฟักกุรฺ” นั้น ให้ความหมายว่า การสร้างให้มีความรู้ให้เยอะ และไขว่คว้าค้นหาสิ่งที่ยังไม่มีเพื่อใส่เข้าไปในหัวใจ สรุปได้ว่า ตะฟักกุรฺ คือการหาความรู้ให้หัวใจ ส่วน ตะซักกุรฺ เป็นการดูแลกักเก็บความรู้ที่ได้มาให้อยู่ในหัวใจตลอดไป ทั้งสองอย่างนี้ต่างก็มีหน้าที่ของมันเองและมีประโยชน์ต่างกันไปอีกด้วย

    ตะอัมมุล (การพินิจ) หมายถึง การทวนดูหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งมันชัดเจนและประจักษ์ในหัวใจ การพุ่งจิตเข้าสู่ความหมาย และการรวบรวมความคิดในการตะดับบุรฺและการพยายามให้เกิดปัญญา[viii]

    อิอฺติบารฺ (การได้บทเรียน) คำนี้มาจากคำว่า อุบูรฺ หมายถึงการเดินข้าม เพราะมันเป็นการข้ามจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง ข้ามจากสิ่งที่คิดอยู่ไปสู่องค์ความรู้ที่สาม มันจึงได้ชื่ออีกอย่างว่า “อิบเราะฮฺ” เป็นสำนวนเชิงอธิบายสภาพ เหมือนเป็นการบอกว่าเจ้าของผู้ใคร่ครวญนั้นได้อยู่ในสภาพที่สามารถข้ามไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการได้แล้ว เช่นที่อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ إِنَّ فِي ذَٰلِكَ لَعِبۡرَةٗ لِّمَن يَخۡشَىٰٓ ٢٦ ﴾ [النازعات: ٢٦]

    ความว่า “แท้จริง ในการนั้น ย่อมมีบทเรียนแก่ผู้ที่หวั่นเกรง” (อัน-นาซิอาต 26)

    และพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า

    ﴿إِنَّ فِي ذَٰلِكَ لَعِبۡرَةٗ لِّأُوْلِي ٱلۡأَبۡصَٰرِ ١٣ ﴾ [آل عمران: ١٣]

    ความว่า “แท้จริง ในการนั้น ย่อมมีบทเรียนแก่บรรดาผู้มีสายตา” (อาล อิมรอน 13)

    อิสติบศอรฺ (การค้นหาความรู้แจ้ง) มาจากคำว่า ตะบัศศุรฺ หมายถึง การเห็นแจ้งในเรื่องที่หาและได้เผยตัวตนของมัน และการได้เห็นความรู้แจ้งปรากฏขึ้นมา[ix]

    ที่มา หนังสือ ตะดับบุร อัลกุรอาน โดย สัลมาน อัส-สุนัยดีย์

    เชิงอรรถ

    [i] ลิสานุล อะร็อบ 4/273, กิตาบ อัล-ฟุรูก อัล-ลุเฆาะวียะฮฺ ของ อัล-อัสกะรีย์ หน้า 58, อัต-ตะอฺรีฟาต ของ อัล-ญุรญานีย์ หน้า 76, ตัฟสีรฺ อัล-กุรฏุบีย์ 5/290, ตัฟสีรฺ อัฏ-เฏาะบะรีย์ 1/87, 5/180

    [ii] มิฟตาห์ ดารฺ อัส-สะอาดะฮฺ ของ อิบนุล ก็อยยิม หน้า 216

    [iii] ตัฟสีรฺ อิบนิ กะษีรฺ 1/501, อัต-ติบยาน ฟี อักซาม อัล-กุรอาน ของ อิบนุล ก็อยยิม หน้า 145, ตัฟสีรฺ อัส-สะอฺดีย์ หน้า 15, 733, อัล-เกาะวาอิน อัล-หิสาน ลิ ตัฟสีรฺ อัล-
    กุรอาน ของ อัส-สะอฺดีย์ หน้า 28

    [iv] ตัฟสีรฺ อัฏ-เฏาะบะรีย์ 23/153

    [v] ตัฟสีรฺ อัล-กุรฏุบีย์ 19/38

    [vi] มะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน 1/444-449

    [vii] กิตาบ อัล-ฟุรูก อัล-ลุเฆาะวียะฮฺ หน้า 69, 73

    [viii] มะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน 1/451

    [ix] จากคำว่า อัล-ฟิกรฺ เป็นต้นมา คัดสรุปมาจากการอธิบายของอิบนุล ก็อยยิม ใน มิฟตาห์ ดารฺ อัส-สะอาดะฮฺ หน้า 216