การตอบโต้พฤติกรรมดูหมิ่นอิสลาม
หมวดหมู่
Full Description
การตอบโต้พฤติกรรมดูหมิ่นอิสลาม
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ซามีย์ วะดีอฺ อับดุลฟัตตาห์ อัล-เกาะดูมีย์
แปลโดย: ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : www.saaid.net
2012 - 1433
الرد على المستهزئين بالإسلام
« باللغة التايلاندية »
سامي وديع عبدالفتاح القدومي
ترجمة: صافي عثمان
المصدر: موقع صيد الفوائد www.saaid.net
2012 - 1433
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
การตอบโต้พฤติกรรมดูหมิ่นอิสลาม
ประการที่หนึ่ง : ประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้ดูหมิ่นล้อเลียน
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ لَا تَتَّخِذُواْ ٱلَّذِينَ ٱتَّخَذُواْ دِينَكُمۡ هُزُوٗا وَلَعِبٗا مِّنَ ٱلَّذِينَ أُوتُواْ ٱلۡكِتَٰبَ مِن قَبۡلِكُمۡ وَٱلۡكُفَّارَ أَوۡلِيَآءَۚ وَٱتَّقُواْ ٱللَّهَ إِن كُنتُم مُّؤۡمِنِينَ ٥٧﴾ [المائدة: ٥٧]
ความว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงอย่าได้ยึดเอามาเป็นมิตรผู้ซึ่งถือเอาศรัทธาของพวกเจ้าเป็นการเย้ยหยันและเป็นการล้อเล่นจากบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ก่อนพวกเจ้าและบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย และพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา” (อัล-มาอิดะฮฺ 57)
อายะฮฺนี้มีสาเหตุแห่งการประทานลงมาด้วย ซึ่งอัฏ-เฏาะบะรีย์ได้รายงานจากอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า “ริฟาอะฮฺ บิน ซัยดฺ บิน อัต-ตาบูต และ สุวัยดฺ บิน อัล-หาริษฺ ได้แสดงตนว่าเป็นมุสลิมจากนั้นก็กลับกลอกเป็นมุนาฟิก แล้วปรากฏว่ามีชาวมุสลิมบางคนเสน่หาอยู่กับพวกเขา อัลลอฮฺจึงประทานอายะฮฺเหล่านี้ลงมา (ตั้งแต่อายะฮฺ ที่ 57 ถึงอายะฮฺที่ 61 จากสูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ)”[1]
ความหมายของอายะฮฺนี้ก็คือ ไม่อนุญาตให้เรานำเอาพวกยิว คริสต์ และผู้ตั้งภาคี มาเป็นผู้ใกล้ชิด ผู้ช่วยเหลือ และมิตรรักที่เรามอบกายถวายใจให้ ทว่าเราต้องประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับพวกเขาซึ่งต้องแสดงออกผ่านพฤติกรรมัที่กำเนิดมาจากความเชื่อมั่นในอิสลามของเรา การประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวนี้ก็เนื่องมาจากการที่พวกยิว คริสต์ และมุชริกีนเหล่านี้ได้เอาศาสนาของอัลลอฮฺมาทำเป็นเรื่องเยาะเย้ย ล้อเล่น ดูหมิ่น และเหยียดหยาม[2]
ตัวอย่างของการเป็นมิตรกับผู้ดูหมิ่นก็คือ
1. พอใจกับสภาพการปฏิเสธศรัทธาและการดูหมิ่นของพวกเขา
2. เอาพวกเขามาเป็นพรรคพวก ผู้ช่วยเหลือ และมิตรสนิทที่คอยพึ่งพาอาศัย
3. รักใคร่พวกเขา เชิญชวนเรียกร้องให้สนิทสนมกลมเกลียวกับบรรดาผู้ดูหมิ่นเหล่านั้นด้วยบรรยากาศแห่งความรักและสันติสุข
4. อ่อนข้อและประนีประนอมบนความเสียหายของศาสนา
5. มอบอำนาจให้พวกเขารับผิดชอบกิจการใดๆ ของชาวมุสลิม[3]
ประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ วะลาอ์ และ บะรออ์ (บทบัญญัติว่าด้วยการเป็นมิตรและการเป็นปฏิปักษ์) นั้นมีรายละเอียดอีกมากมาย ซึ่งได้รับการแต่งเรียบเรียงในตำราหลายเล่มแล้ว[4] สิ่งที่เราต้องการสื่อตรงนี้ก็คือ เพื่ออธิบายว่าผู้ศรัทธาจะต้องไม่เอาผู้ปฏิเสธศรัทธาที่ดูถูกดูหมิ่นศาสนามาเป็นมิตรสนิท(วะลีย์ หรือ เอาลิยาอ์) การทำเช่นนั้นจะเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกในแถวของอิสลาม เพราะเป็นการนำเอาองค์ประกอบที่เป็นปฏิปักษ์กับอิสลามเข้ามา ภายใต้การสนับสนุนของมุสลิมที่ผูกมิตรและรับใช้ยิว คริสต์ และมุชริกีน เป็นการก่อเหตุให้เกิดความวุ่นวายภายในสังคมของมุสลิม ด้วยฝีมือของลูกหลานชาวมุสลิมเองไม่ว่าพวกเขาจะรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตาม ผลสุดท้ายก็คือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอิสลามอย่างหนีไม่พ้น เพราะฉะนั้นอิสลามจึงห้ามการ วะลาอ์ ต่อศัตรู แต่อิสลามได้สั่งให้หลีกห่าง ต่อต้าน และสร้างขอบเขตที่ชัดเจนพอแก่การไม่คลุกคลีปฏิสัมพันธ์ที่ส่งผลเสียหายต่อชาวมุสลิม
ประการที่สอง : ตัดขาดจากวงชุมนุมของการดูหมิ่นล้อเลียน
อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿وَقَدۡ نَزَّلَ عَلَيۡكُمۡ فِي ٱلۡكِتَٰبِ أَنۡ إِذَا سَمِعۡتُمۡ ءَايَٰتِ ٱللَّهِ يُكۡفَرُ بِهَا وَيُسۡتَهۡزَأُ بِهَا فَلَا تَقۡعُدُواْ مَعَهُمۡ حَتَّىٰ يَخُوضُواْ فِي حَدِيثٍ غَيۡرِهِۦٓ إِنَّكُمۡ إِذٗا مِّثۡلُهُمۡۗ إِنَّ ٱللَّهَ جَامِعُ ٱلۡمُنَٰفِقِينَ وَٱلۡكَٰفِرِينَ فِي جَهَنَّمَ جَمِيعًا ١٤٠﴾ [النساء: ١٤٠]
ความว่า “และแท้จริง อัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมาแก่พวกเจ้าแล้วในคัมภีร์นั้นว่า เมื่อพวกเจ้าได้ยินบรรดาโองการของอัลลอฮฺถูกปฏิเสธศรัทธาและถูกเย้ยหยัน(โดยคนที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม) ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่านั่งร่วมกับพวกเขา จนกว่าพวกเขาจะพูดคุยกันในเรื่องอื่นจากนั้น แท้จริง ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว พวกเจ้าก็จะเหมือนพวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงรวบรวมบรรดามุนาฟิกและบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาไว้ในนรกญะฮันนัมทั้งหมด” (อัน-นิสาอ์ 140)
อายะฮฺนี้ได้อธิบายว่า การห้ามมิให้นั่งร่วมวงกับบรรดาผู้ที่ดูหมิ่นศาสนานั้นได้ลงมาก่อนอายะฮฺนี้แล้ว ดังนั้น การห้ามที่ว่านี้อยู่ที่ไหนกันเล่า? อัซ-ซะมัคชะรีย์ ได้กล่าวว่า “สิ่งที่ถูกประทานลงในคัมภีร์แก่พวกเขา(ว่าด้วยการห้ามดังกล่าวนั้น) ก็คืออายะฮฺที่ถูกประทานลงมาในสมัยมักกะฮฺที่ว่า
﴿ وَإِذَا رَأَيۡتَ ٱلَّذِينَ يَخُوضُونَ فِيٓ ءَايَٰتِنَا فَأَعۡرِضۡ عَنۡهُمۡ حَتَّىٰ يَخُوضُواْ فِي حَدِيثٍ غَيۡرِهِۦۚ ﴾ [الأنعام: ٦٨]
ความว่า “และเมื่อเจ้าเห็นบรรดาผู้ซึ่งกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในบรรดาโองการของเรา ก็จงออกห่างจากพวกเขาเสีย จนกว่าพวกเขาจะวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องอื่นจากนั้น” (อัล-อันอาม 68)
นั่นเป็นเพราะว่า พวกมุชริกีนได้พูดถึงอัลกุรอานในวงสนทนาของพวกเขา ด้วยการดูหมิ่นเยาะเย้ย จึงมีคำสั่งไม่ให้ชาวมุสลิมนั่งร่วมวงกับพวกเขา ตราบใดที่พวกเขายังคงพูดคุยเช่นนั้นอยู่”[5]
ฉะนั้น อายะฮฺที่ 68 ในสูเราะฮฺอัล-อันอาม ได้ชี้ว่าจำเป็นต้องหลีกห่างจากวงชุมนุมของการดูหมิ่นและผู้ดูหมิ่นล้อเลียนเหล่านั้น แล้วอะไรคือหุก่มหรือข้อตัดสินของผู้ที่นั่งร่วมวงกับพวกเขาด้วยเล่า? หุก่มของมันก็คือหะรอม(ต้องห้าม) มิหนำซ้ำผู้ที่นั่งร่วมวงอยู่กับผู้ที่ดูหมิ่นศาสนานั้นอาจจะถึงขั้นเป็นกาฟิรฺผู้ปฏิเสธศรัทธาเหมือนพวกเขาเลยทีเดียวด้วย ตามที่อัล-วาหิดีย์ ได้กล่าวว่า “ประโยคที่ว่า (แท้จริงพวกเจ้าก็ย่อมเหมือนพวกเขา) หมายถึง แท้จริงพวกเจ้าก็เป็นกาฟิรฺเหมือนพวกเขา เพราะคนที่พอใจกับกุฟรฺเขาก็เป็นกาฟิรฺ นี่ชี้ให้เห็นว่า ใครที่พอใจกับความชั่วที่ตัวเองเห็นและคลุกคลีกับผู้กระทำชั่วนั้น เขาก็ต้องได้รับบาปอยู่ในฐานะประหนึ่งว่าเขาได้ลงมือทำเอง”[6]
หลังจากนั้น ในวันอาคิเราะฮฺ อัลลอฮฺก็จะทรงรวบรวมผู้ที่ดูหมิ่นศาสนาให้อยู่พร้อมหน้ากับพวกที่นั่งร่วมวงเพื่อฟังพวกเขา เพราะพวกเขาต่างก็มีส่วนร่วมในการกระทำที่เป็นกุฟรฺ อัลลอฮฺจึงทรงให้พวกเขาได้ร่วมกันอยู่ในนรกตลอดกาลด้วยเช่นกัน[7]
มีบางความเห็นที่กล่าวว่าอายะฮฺดังกล่าวนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ที่ถูกต้องก็คือมันยังถูกใช้อยู่ อัช-เชากานีย์กล่าวอธิบายว่า “อายะฮฺนี้เป็นอายะฮฺมุห์กะมะฮฺ(ยังถูกใช้อยู่)ในความเห็นของผู้รู้ทั้งหมด ยกเว้นในรายงานที่พาดพิงถึงอัล-กัลบีย์ที่ได้กล่าวว่ามันถูกยกเลิกด้วยอายะฮฺที่ว่า
﴿ وَمَا عَلَى ٱلَّذِينَ يَتَّقُونَ مِنۡ حِسَابِهِم مِّن شَيۡءٖ﴾ [الأنعام: ٦٩]
ความว่า “และไม่เป็นภัยแก่บรรดาผู้ที่ยำเกรงแต่อย่างใดในการชำระสอบสวนพวกเขา” (อัล-อันอาม 69)
ซึ่งความเห็นดังกล่าวนั้นไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะการตักวาที่แท้จริง(ตามที่ปรากฏในอายะฮฺที่ถูกใช้อ้าง)นั้นย่อมต้องหมายรวมถึงการหลีกห่างจากวงชุมนุมของบรรดาผู้ปฏิเสธและดูหมิ่นเยาะเย้ยโองการต่างๆ ของอัลลอฮฺด้วย”[8]
ระดับของนิฟากหรือการกลับกลอกที่ควรเรียกว่าเป็นนิฟากอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ การที่ผู้ศรัทธานั่งอยู่ในวงชุมนุมที่มีการปฏิเสธและดูหมิ่นเยาะเย้ยโองการต่างๆ ของอัลลอฮฺ แล้วเขาก็เงียบเฉยทำเป็นไม่สนใจ โดยอ้างว่านั่นคือความอดกลั้น หรือเป็นการเอาอกเอาใจ เป็นความใจกว้างหรือความคิดที่เปิดกว้าง หรือศรัทธาในเสรีภาพการแสดงความเห็น ! ทั้งๆ ที่โดยความจริงแล้วมันเป็นความพ่ายแพ้จากภายในที่กระจายอยู่ทั่วอวัยวะในร่างกายเขา ..
แท้จริงการปกป้องอัลลอฮฺ ศาสนาของอัลลอฮฺ และโองการต่างๆ ของอัลลอฮฺ คือเครื่องหมายบ่งชี้ศรัทธา ... ใครก็ตามที่ได้ยินการเยาะเย้ยอิสลามในวงสนทนาใดๆ ก็ต้องพูดปกป้อง หรือถ้าทำไม่ได้ก็ต้องลุกออกไปจากวงดังกล่าว แต่ถ้าทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้และเงียบเฉย นั่นแสดงให้เห็นถึงเค้าลางแห่งความพ่ายแพ้ และเป็นทางผ่านระหว่างอีมานกับกุฟรฺบนสะพานแห่งการนิฟาก[9]
เพราะฉะนั้น การตัดขาดจากวงชุมนุมของเหล่าผู้ดูหมิ่นล้อเลียนถือว่าเป็นวาญิบ ซึ่งการละเลยเรื่องดังกล่าวจะทำให้มุสลิมต้องตกไปอยู่ในสภาพกุฟรฺหลังจากที่เคยเป็นผู้ศรัทธามาก่อน นั่นเป็นเพราะเขาปล่อยให้ผู้ดูหมิ่นล้อเลียนทำในเรื่องดังกล่าวโดยไม่ปฏิเสธใดๆ ต่อพฤติกรรมนั้นเลย ทั้งยังนั่งฟังคำพูดของพวกเขาประหนึ่งว่าเป็นบทสนทนาปกติธรรมดาทั่วไปและไม่ใช่เรื่องต้องห้ามที่อาจจะทำให้มุสลิมตกเป็นกาฟิรฺได้ แน่นอนว่า ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺคือปัจจัยสำคัญที่จะคอยห้ามไม่ให้ผู้ศรัทธานั่งร่วมวงกับผู้ดูหมิ่นล้อเลียนพวกนี้ เพราะการนั่งดังกล่าวแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็มีอันตรายที่ใหญ่หลวงยิ่ง
ประการที่สาม : การเยาะเย้ยกลับต่อผู้ที่ดูหมิ่นศาสนา
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَيَصۡنَعُ ٱلۡفُلۡكَ وَكُلَّمَا مَرَّ عَلَيۡهِ مَلَأٞ مِّن قَوۡمِهِۦ سَخِرُواْ مِنۡهُۚ قَالَ إِن تَسۡخَرُواْ مِنَّا فَإِنَّا نَسۡخَرُ مِنكُمۡ كَمَا تَسۡخَرُونَ ٣٨﴾ [هود: ٣٨]
ความว่า “และเขา(นบีนูหฺ)ได้สร้างเรือ และคราใดที่บุคคลชั้นนำจากหมู่ชนของเขาเดินผ่านมา พวกเขาก็จะเยาะเย้ย เขา(นบีนูหฺ)กล่าวว่า หากพวกท่านเยาะเย้ยพวกเรา แท้จริง เราก็จะเยาะเย้ยพวกท่านเช่นเดียวกับที่พวกท่านเยาะเย้ย” (ฮูด 38)[10]
ท่านนบีนูหฺ อะลัยฮิสสลาม ได้กล่าวเยาะเย้ยกลับต่อบรรดาผู้ที่เคยเยาะเย้ยท่านมาก่อน จากตรงนี้จะเห็นว่าการโยนการเยาะเย้ยกลับไปยังบรรดาผู้ที่ดูหมิ่นนั้นเป็นวิธีการของบรรดานบีด้วยเช่นกัน บรรดานบีเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่เราจะต้องเดินตามเส้นทางของพวกเขา และปฏิบัติตามวิธีการของพวกเขาเหล่านั้น
เช่นเดียวกัน เราพบว่าแท้จริงแล้วในอัลกุรอานเองมีอายะฮฺต่างๆ มากมายที่ได้เยาะเย้ยต่อบรรดากาฟิรฺผู้ปฏิเสธศรัทธาและพวกมุนาฟิกผู้กลับกลอก ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่โอกาสที่เราจะมาสาธยายกันในประเด็นนี้[11]
ดังนั้น นักดาอีย์จึงต้องเยาะเย้ยกลับไปยังบรรดาพวกที่ดูหมิ่นเยาะเย้ยศาสนา และอย่าได้คิดว่าการเยาะเย้ยดังกล่าวเป็นเรื่องไร้สาระที่นอกเรื่องออกไปจากความจริงจังในการดะอฺวะฮฺของบรรดานบี เพราะนบีนูหฺ อะลัยฮิสสลาม ได้เยาะเย้ยต่อพวกที่เยาะเย้ยท่าน ซึ่งก็เราจะตามร่องรอยท่านนบีนูหฺในการที่จะเยาะเย้ยกลับไปยังผู้ที่เยาะเย้ยดูหมิ่นศาสนา
ประการที่สี่ : การดะอฺวะฮฺผู้ดูหมิ่นล้อเลียน
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿قَالُواْ يَٰشُعَيۡبُ أَصَلَوٰتُكَ تَأۡمُرُكَ أَن نَّتۡرُكَ مَا يَعۡبُدُ ءَابَآؤُنَآ أَوۡ أَن نَّفۡعَلَ فِيٓ أَمۡوَٰلِنَا مَا نَشَٰٓؤُاْۖ إِنَّكَ لَأَنتَ ٱلۡحَلِيمُ ٱلرَّشِيدُ ٨٧ قَالَ يَٰقَوۡمِ أَرَءَيۡتُمۡ إِن كُنتُ عَلَىٰ بَيِّنَةٖ مِّن رَّبِّي وَرَزَقَنِي مِنۡهُ رِزۡقًا حَسَنٗاۚ وَمَآ أُرِيدُ أَنۡ أُخَالِفَكُمۡ إِلَىٰ مَآ أَنۡهَىٰكُمۡ عَنۡهُۚ إِنۡ أُرِيدُ إِلَّا ٱلۡإِصۡلَٰحَ مَا ٱسۡتَطَعۡتُۚ وَمَا تَوۡفِيقِيٓ إِلَّا بِٱللَّهِۚ عَلَيۡهِ تَوَكَّلۡتُ وَإِلَيۡهِ أُنِيبُ ٨٨ وَيَٰقَوۡمِ لَا يَجۡرِمَنَّكُمۡ شِقَاقِيٓ أَن يُصِيبَكُم مِّثۡلُ مَآ أَصَابَ قَوۡمَ نُوحٍ أَوۡ قَوۡمَ هُودٍ أَوۡ قَوۡمَ صَٰلِحٖۚ وَمَا قَوۡمُ لُوطٖ مِّنكُم بِبَعِيدٖ ٨٩ وَٱسۡتَغۡفِرُواْ رَبَّكُمۡ ثُمَّ تُوبُوٓاْ إِلَيۡهِۚ إِنَّ رَبِّي رَحِيمٞ وَدُودٞ ٩٠ ﴾ [هود: ٨٧-٩٠]
ความว่า “(87) พวกเขากล่าวว่า โอ้ ชุอัยบฺเอ๋ย ! การละหมาดของท่านสั่งสอนท่านว่า ให้พวกเราละทิ้งสิ่งที่บรรพบุรุษของเราเคารพบูชาหรือว่าให้เราละทิ้งการกระทำต่อทรัพย์สินของเราตามที่เราต้องการกระนั้นหรือ? แท้จริงท่านนั้นเป็นผู้อดทนขันติ เป็นผู้มีสติปัญญายิ่งเสียนี่กระไร (88) เขากล่าวว่า โอ้กลุ่มชนชนของฉันเอ๋ย! พวกท่านมิเห็นดอกหรือ หากฉันมีหลักฐานอันชัดแจ้งจากพระเจ้าของฉัน และพระองค์ได้ประทานริซกีแก่ฉัน ซึ่งเป็นริซกีที่ดีจากพระองค์ และฉันมิปรารถนาที่จะขัดคำพูดกับพวกท่านในสิ่งที่ฉันเคยห้ามพวกท่านให้ละเว้น ฉันมิปรารถนาสิ่งใดนอกจากการปฏิรูปให้ดีขึ้นเท่าที่ฉันสามารถ และความสำเร็จของฉันจะไม่เกิดขึ้น เว้นแต่ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ แด่พระองค์ฉันขอมอบหมายและยังพระองค์เท่านั้นฉันกลับไปหา (89) โอ้กลุ่มชนของฉัน อย่าให้การขัดแย้งกับฉันทำให้พวกท่านกระทำผิด ซึ่งมันจะส่งผลให้การลงโทษประสบแก่พวกท่านเช่นที่ได้ประสบแก่กลุ่มชนของนูหฺหรือกลุ่มชนของฮูด หรือกลุ่มชนของศอลิหฺ และกลุ่มชนของลูฏเองก็มิได้อยู่ห่างไกลจากพวกท่านเลย (90) และพวกท่านจงขออภัยโทษต่อพระเจ้าของพวกท่าน แล้วจงกลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์ แท้จริงพระเจ้าของฉันนั้นเป็นผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงรักใคร่” (สูเราะฮฺ ฮูด 87-90)[12]
กลุ่มชนของนบีชุอัยบฺ อะลัยฮิสสลาม ได้เยาะเย้ยดูหมิ่นศาสนทูตของพวกเขา แต่ประเด็นอะไรเล่าที่พวกเขาดูหมิ่นเหยียดหยามท่าน ? เรื่องดังกล่าวก็คือประเด็นสติสัมปชัญญะและการละหมาดของท่านนบีชุอัยบฺ
พวกของนบีชุอัยบฺได้เยาะเย้ยท่านเกี่ยวกับระดับความสามารถทางสติปัญญาด้วยการกล่าวว่า “แท้จริงท่านนั้นเป็นผู้อดทนขันติ เป็นผู้มีสติปัญญายิ่งเสียนี่กระไร” ประโยคนี้ดูผิวเผินเหมือนกับว่าต้องการชมเชย แต่โดยเนื้อแท้แล้วต้องการที่จะดูถูกดูหมิ่นท่าน อัล-อะลูสีย์ได้อธิบายว่า “พวกเขาได้ให้คุณลักษณะแก่นบีชุอัยบฺด้วยสองคุณลักษณะอันยิ่งใหญ่นี้ ด้วยการเยาะเย้ยล้อเลียน ซึ่งจริงๆ แล้วพวกเขาต้องการความหมายตรงข้ามของคุณลักษณะทั้งสอง”[13]
ดังนั้น สิ่งที่กลุ่มชนของชุอัยบฺต้องการจริงๆ ก็คือ การกล่าวหาดูถูกนบีชุอัยบฺว่าเป็นคนโง่ผู้หลงทาง การกล่าวเพื่อต้องการความหมายในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการดูหมิ่นเยาะเย้ย”[14]
นอกจากนี้ คนกลุ่มนี้ยังได้ดูหมิ่นเยาะเย้ยในเรื่องการละหมาดของท่านนบีชุอัยบฺ อะลัยฮิสสลาม อีกด้วย พวกเขากล่าวว่า “การละหมาดของท่านสั่งสอนท่านว่าให้พวกเราละทิ้งสิ่งที่บรรพบุรุษของเราเคารพบูชาหรือว่าให้เราละทิ้งการกระทำต่อทรัพย์สินของเราตามที่เราต้องการกระนั้นหรือ?” การพูดเช่นนี้ถือว่าดูหมิ่นศาสนาของอัลลอฮฺทั้งดุ้น ซึ่งนบีชุอัยบฺ อะลัยฮิสสลาม ก็คือผู้นำศาสนานั้นมาประกาศเชิญชวน ทั้งนี้เพราะการละหมาดเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นชัดเจนที่สุดในศาสนา การที่คนเหล่านั้นพูดว่า “ละหมาดของท่านหรือที่ได้สั่งท่าน...” จึงถือว่าเป็นการดูหมิ่นที่ชัดเจนต่อการละหมาดของศาสนทูตชุอัยบฺ อะลัยฮิสสลาม
ท่านอบู หัยยาน อัล-อันดะลูสีย์ ได้อธิบายว่า “เมื่อชุอัยบฺได้สั่งให้พวกเขาอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา และละทิ้งการเคารพกราบไหว้รูปปั้นของพวกเขา รวมทั้งได้สั่งให้พวกเขาชั่งและตวงให้เต็ม(ในการทำธุรกรรม) พวกเขาก็ตอบกลับด้วยการเยาะเย้ยล้อเลียนว่า ละหมาดของท่านหรือ(ที่ใช้ให้ท่านสั่งเราเช่นนั้น)?”[15]
แม้ว่ากลุ่มชนของท่านจะเยาะเย้ยถึงเพียงนี้ แต่นบีชุอัยบฺ อะลัยฮิสสลาม ก็ไม่ได้แสดงตนปราศจากความอ่อนโยนกับพรรคพวกของท่าน คำแรกที่ท่านตอบโต้พวกเขาก็คือ กล่าวคำว่า “โอ้ หมู่ชนของฉัน” และท่านก็ได้กล่าวทวนคำเรียกนี้ในภายหลังด้วย “ซึ่งเป็นคำพูดที่สื่อถึงความรักและเห็นใจ ในขณะที่พวกของท่านกลับตอบโต้ท่านด้วยความเขลาและความหยาบคายให้”[16]
เป็นที่น่าสังเกตว่า นบีชุอัยบฺ อะลัยฮิสสลาม ได้สะกิดเตือนให้พรรคพวกของท่านได้รู้ตัวว่าท่านมีความสามารถต่างๆ หลายประการ และท่านไม่ใช่ที่ที่พวกเขาจะมาเยาะเย้ยล้อเลียน ซึ่งนี่เป็นแนวทางของบรรดานบีในการตอบโต้กับผู้เยาะเย้ย เป็นวิธีที่เราอาจจะเรียกได้ว่า “แนวทางการสลายคำดูถูกของผู้เยาะเย้ย”
ประหนึ่งว่า ท่านนบีชุอัยบฺได้พูดว่า แท้จริงแล้วพวกท่านเยาะเย้ยฉัน ทั้งๆ ที่ฉันไม่ใช่ที่แห่งการเยาะเย้ยล้อเลียน เพราะอัลลอฮฺได้ประทานหลักฐานอันชัดแจ้งและปัจจัยยังชีพที่ดีแก่ฉัน หลักฐานอันชัดแจ้งนั้นหมายถึง ความรู้ การเป็นนบี และทางนำ[17] ส่วนปัจจัยยังชีพที่ดีก็คือทรัพย์สินที่หะลาล[18]
จะเห็นว่า ท่านนบีชุอัยบฺ อะลัยฮิสสลาม ได้ใช้ความอ่อนโยนในการตอบโต้พรรคพวกของท่านด้วยการเรียกขานว่า “โอ้ หมู่ชนของฉัน” จากนั้นจึงโต้ตอบการดูหมิ่นล้อเลียนด้วยการโต้กลับที่ทรงพลังต่อสติปัญญาและความรู้สึกพร้อมๆ กัน นี่คือวิธีการแก้หรือการสลายคำดูถูก หลังจากนั้น ท่านนบีชุอัยบฺ อะลัยฮิสสลาม ก็ประกาศถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของท่าน ซึ่งท่านเคยประกาศมาแล้วครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้ และท่านได้ประกาศมันอีกครั้งหนึ่งตรงนี้เพราะเห็นความจำเป็นที่จะต้องทวนมันอีกครั้ง ด้วยการที่ท่านได้กล่าวแก่พวกเขาว่า
﴿وَمَآ أُرِيدُ أَنۡ أُخَالِفَكُمۡ إِلَىٰ مَآ أَنۡهَىٰكُمۡ عَنۡهُۚ إِنۡ أُرِيدُ إِلَّا ٱلۡإِصۡلَٰحَ مَا ٱسۡتَطَعۡتُۚ وَمَا تَوۡفِيقِيٓ إِلَّا بِٱللَّهِۚ عَلَيۡهِ تَوَكَّلۡتُ وَإِلَيۡهِ أُنِيبُ ٨٨﴾ [هود : 88]
ความว่า “ฉันมิปรารถนาที่จะขัดคำพูดกับพวกท่านในสิ่งที่ฉันเคยห้ามพวกท่านให้ละเว้น ฉันมิปรารถนาสิ่งใดนอกจากการอิศลาห์ (การแก้ไขปรับปรุงหรือปฏิรูป) ให้ดีขึ้นเท่าที่ฉันสามารถ และความสำเร็จของฉันจะไม่เกิดขึ้น เว้นแต่ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ แด่พระองค์ฉันขอมอบหมายและยังพระองค์เท่านั้นฉันกลับไปหา” (ฮูด 88)
มันคือ อิศลาห์ หรือการปรับปรุงแก้ไขที่แท้จริง ซึ่งนักดาอีย์ผู้เชิญชวนจะต้องเริ่มด้วยตัวเองก่อน นั่นคือเขาจะต้องไม่ทำอะไรที่ขัดกับสิ่งที่ตนเคยตักเตือนคนอื่น เพื่อไม่ให้ดูเป็นการขัดแย้งกันระหว่างคำพูดและการกระทำของเขาเอง ท่านนบีชุอัยบฺ อะลัยฮิสสลาม ไม่ได้ต้องการสิ่งอื่นใดเลยนอกจากเพื่อปรับปรุงแก้ไขด้วยความหวังดี “ปรับปรุงแก้ไขในเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตและสังคม ซึ่งความสงบสุขที่เกิดขึ้นในสังคมนี่เองที่จะนำมาซึ่งความดีงามต่างๆ เป็นผลสะท้อนต่อคนทุกคนและกลุ่มทุกกลุ่มในสังคมนั้น”[19] การประกาศถึงเป้าหมายและเตือนสติเช่นนี้ ก็เพื่อไม่ให้กลุ่มเป้าหมายผู้ถูกเชิญชวนมองด้วยความเข้าใจผิดๆ ไปว่านักดาอีย์มีจุดประสงค์อื่นแฝงอยู่
จากนั้น ชุอัยบฺ อะลัยฮิสสลาม ก็เตือนสำทับหมู่ชนของท่านว่า .
﴿وَيَٰقَوۡمِ لَا يَجۡرِمَنَّكُمۡ شِقَاقِيٓ أَن يُصِيبَكُم مِّثۡلُ مَآ أَصَابَ قَوۡمَ نُوحٍ أَوۡ قَوۡمَ هُودٍ أَوۡ قَوۡمَ صَٰلِحٖۚ وَمَا قَوۡمُ لُوطٖ مِّنكُم بِبَعِيدٖ ٨٩﴾ [هود: 89]
ความว่า “โอ้กลุ่มชนของฉัน อย่าให้การขัดแย้งกับฉันทำให้พวกท่านกระทำผิด ซึ่งมันจะส่งผลให้การลงโทษประสบแก่พวกท่านเช่นที่ได้ประสบแก่กลุ่มชนของนูหฺหรือกลุ่มชนของฮูด หรือกลุ่มชนของศอลิหฺ และกลุ่มชนของลูฏเองก็มิได้อยู่ห่างไกลจากพวกท่านเลย” (ฮูด 89)
ความหมายก็คือ อย่าให้ความขัดแย้งของพวกท่านกับฉัน และความดื้อด้านในการต่อต้านฉัน เป็นเหตุให้พวกท่านถลำลึกเข้าไปในการปฏิเสธและเป็นปรปักษ์ เพราะนั่นอาจจะเป็นปัจจัยทำให้พวกท่านต้องประสบกับการลงโทษเช่นเดียวกับกลุ่มชนก่อนๆ จงดูพวกของลูฏสิ ซึ่งมันไม่ได้อยู่ไกลจากพวกท่านเลย มันอยู่ใกล้กับพวกท่านทั้งในแง่สถานที่ และยังใกล้กับพวกท่านในแง่เวลาและยุคสมัยที่เพิ่งผ่านไปไม่นานอีกด้วย”[20]
เสร็จแล้วท่านนบีชุอัยบฺก็สั่งให้พวกเขาขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ จากบาปที่ได้ทำการเคารพรูปเจว็ด ให้พวกเขากลับเนื้อกลับตัวสู่พระองค์ เพราะแท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงยิ่งใหญ่ด้วยความเมตตาแด่ผู้กลับตนทั้งหลาย “แท้จริง พระผู้อภิบาลของฉัน เป็นผู้ทรงยิ่งด้วยความเมตตาและความรัก”[21]
ท่านนบี ชุอัยบฺ อะลัยฮิสสลาม ไม่ได้ปิดกั้นทางต่อหน้ากลุ่มชนของท่าน แต่ได้เปิดประตูแห่งการเตาบัตและการกลับตัวต่อัลลอฮฺแก่พวกเขา
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าขั้นตอนต่างๆ ที่ท่านนบีชุอัยบฺได้ใช้ดะอฺวะฮฺผู้เยาะเย้ยล้อเลียนมีดังนี้
หนึ่ง ใช้ความนุ่มนวลกับหมู่ชนของท่าน
สอง สลายคำพูดดูถูกของหมู่ชนท่านด้วยหลักฐานที่ชัดเจน
สาม เตือนสติหมู่ชนของท่านให้เห็นถึงความเสมอต้นเสมอปลายของท่าน และให้พวกเขาเห็นว่าท่านไม่ได้ปฏิบัติตัวค้านกับคำพูดที่ใช้เชิญชวนพวกเขา
สี่ สะกิดเตือนพวกเขาถึงเป้าหมายของท่านที่ประสงค์จะปรับปรุงแก้ไข
ห้า สำทับพวกเขาให้สำนึกกลัวต่อบั้นปลายของการดื้อด้านอยู่บนการปฏิเสธศรัทธาและการเยาะเย้ยล้อเลียน และให้พวกเขาตระหนักถึงบทเรียนจากความหายนะล่มสลายของกลุ่มชนต่างๆ ก่อนหน้าพวกเขา
หก เปิดประตูแห่งการเตาบัตกลับตัวสู่อัลลอฮฺ
อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ وَذَرِ ٱلَّذِينَ ٱتَّخَذُواْ دِينَهُمۡ لَعِبٗا وَلَهۡوٗا وَغَرَّتۡهُمُ ٱلۡحَيَوٰةُ ٱلدُّنۡيَاۚ وَذَكِّرۡ بِهِۦٓ أَن تُبۡسَلَ نَفۡسُۢ بِمَا كَسَبَتۡ لَيۡسَ لَهَا مِن دُونِ ٱللَّهِ وَلِيّٞ وَلَا شَفِيعٞ وَإِن تَعۡدِلۡ كُلَّ عَدۡلٖ لَّا يُؤۡخَذۡ مِنۡهَآۗ أُوْلَٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ أُبۡسِلُواْ بِمَا كَسَبُواْۖ لَهُمۡ شَرَابٞ مِّنۡ حَمِيمٖ وَعَذَابٌ أَلِيمُۢ بِمَا كَانُواْ يَكۡفُرُونَ ٧٠ ﴾ [الأنعام: ٧٠]
ความว่า “และเจ้าจงปล่อยบรรดาผู้ที่ยึดเอาศาสนาของพวกเขาเป็นของเล่นและสิ่งไร้สาระ ซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ในโลกนี้ได้หลอกลวงพวกเขา และเจ้าจงเตือนด้วยอัลกุรอาน เพื่อ(มิให้)ชีวิตหนึ่งชีวิตใดจะถูกกักขังอยู่กับสิ่งที่ตนได้ขวนขวายไว้ ซึ่งมันไม่สามารถหาสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺให้มาเป็นผู้ช่วยเหลือและผู้ค้ำประกัน และถ้ามันจะไถ่ถอนด้วยสิ่งไถ่ถอนทุกอย่างก็จะไม่ถูกรับจากมัน ชนเหล่านี้คือบรรดาผู้ที่ได้ถูกกักอยู่กับสิ่งที่พวกเขาได้แสวงหาไว้ ซึ่งพวกเขาจะได้รับเครื่องดื่มจากน้ำที่ร้อนจัด และจะได้รับการลงโทษอันเจ็บแสบ เนื่องจากการที่พวกเขาปฏิเสธศรัทธา” (อัล-อันอาม 70)
ก่อนที่จะให้มีการเตือนสำทับบรรดาผู้ดูหมิ่นเหล่านั้น อัลลอฮฺได้สั่งให้ละทิ้งพวกเขาและละเลยไม่ต้องใส่ใจพฤติกรรมของพวกเขา การละเลยดังกล่าวนี้มีแง่มุมหลายด้าน อาจจะด้วยคำพูดหรือการกระทำก็ได้ เพราะคนที่ไม่ให้เกียรติศาสนาของตนเขาก็ย่อมจะใช้มันเป็นของเล่นและทำให้มันเป็นเรื่องไร้สาระ
อัลลอฮฺได้ใช้คำว่า “ศาสนาของพวกเขา” ทั้งๆ ที่ชาวกาฟิรฺเหล่านั้นไม่ใช่มุสลิม และพวกเขาก็ไม่ได้นับถืออิสลาม นี่เป็นหลักฐานชี้ว่าอิสลามเป็นศาสนาสากลสำหรับมนุษย์ทั้งมวล แม้จะศรัทธาหรือไม่ศรัทธาก็ตาม คนที่ปฏิเสธอิสลามนั้นแท้จริงเขากำลังปฏิเสธศาสนาของตนเอง คนที่ดูหมิ่นอิสลามก็คือคนที่ดูหมิ่นศาสนาของตนเองเช่นกัน ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ใช่มุสลิมก็ตามที[22] ความหมายของสำนวนว่า “ใช้ศาสนาเป็นของเล่นและเรื่องไร้สาระ” หมายถึง เยาะเย้ยและดูหมิ่นศาสนา[23]
อัลลอฮฺได้สั่งให้เตือนผู้ดูหมิ่นเยาะเย้ยพวกนี้ด้วยอัลกุรอานและโองการต่างๆ ในอัลกุรอาน เพราะในโองการเหล่านี้มีทั้งการปลุกเร้าด้วยผลบุญอันยิ่งใหญ่ และการสำทับให้กลัวการลงโทษที่เจ็บปวด การตักเตือนนี้ก็เพระหวังว่าคนที่ดูหมิ่นเยาะเย้ยพวกนี้จะได้สำนึกและไม่ต้องถูกคุมขังอยู่ในนรกญะฮันนัมตลอดไป
อัซ-ซะมัคชะรีย์ อธิบายคำว่า “จงตักเตือนด้วยมัน” หมายถึง ด้วยอัลกุรอาน และคำว่า “กลัวว่าชีวิตจะถูกกักขัง” หมายถึง ถูกส่งมอบให้กับความหายนะและการทรมาน และถูกคุมขังเนื่องจากความประพฤติชั่วของเขา คำว่า อิบสาล ในรากฐานทางภาษานั้นหมายถึง การห้ามหรือกักกัน[24]
ชีวิตที่ต้องถูกคุมขังเนื่องจากความชั่วที่ตนได้ก่อมา ย่อมไม่มีเจ้านายคนใดสามารถให้ความช่วยเหลือด้วยพลังอำนาจที่มีได้ ไม่มีผู้ค้ำประกันที่สามารถปกป้องให้พ้นจากการทรมานด้วยการร้องขอหรือเอาตำแหน่งมาแลก แม้ว่าชีวิตดังกล่าวจะมอบปัจจัยทั้งหมดที่มีเพื่อขอไถ่ตัวเองก็ย่อมจะไม่ถูกรับจากเขา[25]
คนที่ดูถูกดูหมิ่นที่โดนคุมขังในนรกญะฮันนัมเหล่านี้ จะได้รับเครื่องดื่มที่เป็นน้ำร้อน “หะมีม” ซึ่งหมายถึงน้ำที่ร้อนเป็นอย่างยิ่ง[26] และพวกเขายังต้องได้รับการลงโทษที่เจ็บปวด ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะเหตุที่พวกเขาได้ปฏิเสธศรัทธา
การเตือนผู้ดูหมิ่นด้วยโองการอัลกุรอาน ถือว่าเป็น มันฮัจญ์ หรือวิธีการของอัลกุรอานในการกล่าวตักเตือน ซึ่งจำเป็นที่บรรดานักดาอีย์จะต้องนำใช้วิธีการนี้ได้การเชิญชวนเหล่าผู้ดูหมิ่นเยาะเย้ย เพราะอัลกุรอานนั้นสามารถสั่นคลอนหัวใจได้ มันสามารถทำลายกำแพงที่คอยปิดกั้นกมลสันดานอันบริสุทธิ์จากการยอมสยบต่อคำสั่งของหัวใจ
สรุป
อาจจะมีคนถามว่า อะไรคือแนวทางที่ต้องทำในการรับมือกับบรรดาผู้ดูถูกเยาะเย้ย จะให้เราเยาะเย้ยพวกเขากลับหรือว่าให้เราดะอฺวะฮฺเชิญชวนพวกเขาดี ? และถ้าหากว่าไม่ให้เราเยาะเย้ยพวกเขา แต่ให้เราเชิญชวนพวกเขาแทน แล้วเราจะเชิญชวนพวกเขาอย่างไรโดยไม่ต้องร่วมวงสนทนาที่มีการดูหมิ่นล้อเลียนเช่นนั้น ?
คำตอบต่อคำถามนี้ก็คือ เริ่มแรกเราต้องประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับพวกที่ดูหมิ่นเหล่านี้เสียก่อน จากนั้นจึงทำการดะอฺวะฮฺเชิญชวนและตักเตือนพวกเขาด้วยคำสอนในศาสนาของอัลลอฮฺเป็นลำดับต่อไป ถ้าพวกเขายังไม่ยอมกลับตัวสู่ความถูกต้อง พวกเราก็จะเยาะเย้ยพวกเขาเหมือนที่นบีนูหฺ อะลัยฮิสสลาม ได้เยาะเย้ยหมู่ชนของท่านในตอนท้าย หลังจากที่ท่านได้ดะอฺวะฮฺพวกเขาเป็นเวลานานถึง 950 ปี
ส่วนการให้คำตักเตือนพวกเขาในวงสนทนาที่มีการล้อเลียนดูหมิ่นนั้นย่อมทำได้โดยไม่มีบาปใดๆ หลักฐานก็คือ ท่านนบีชุอัยบฺ อะลัยฮิสสลาม ได้ฟังหมู่ชนของท่านเยาะเย้ยการละหมาดของท่าน แต่ท่านก็อยู่กับพวกเขาเพื่อที่จะดะอฺวะฮฺเชิญชวนและอธิบายความจริงแก่พวกเขา การนั่งฟังเฉยๆ โดยไม่มีการกล่าวปฏิเสธนั่นต่างหากที่แฝงไว้ด้วยอันตราย
อัล-กุรฏุบีย์ ได้กล่าวว่า “คนทุกคนที่นั่งอยู่ในวงของการทำบาป และไม่ปฏิเสธพวกทำบาปเหล่านั้น เขาก็จะได้รับบาปเท่าๆ กับพวกเขา สมควรที่ต้องตักเตือนคนเหล่านั้นเมื่อมีการพูดถึงบาปและพวกเขาก็รู้ตัวว่าสิ่งที่พูดนั้นเป็นบาป ถ้าหากไม่มีความสามารถที่จะตักเตือน ก็ควรจะลุกจากพวกเขาไป เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในกลุ่มพวกที่อายะฮฺนี้หมายถึง(หมายถึงอายะฮฺที่ 140 จากสูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์)”[27]
วิธีการตอบโต้ทั้งสี่ประการนี้ เป็นวิธีการส่วนบุคคลสำหรับนักดาอีย์ ไม่ว่าจะเป็นบรรดาศาสนทูตและผู้ติดตามพวกเขา ส่วนวิธีการตอบโต้ที่ต้องทำในระดับญะมาอะฮฺ หมายถึงในระดับรัฐที่ใช้ธรรมนูญของอัลกุรอานนั้น จะต้องปฏิบัติกับผู้ดูหมิ่นเหล่านี้ในฐานะผู้ตกศาสนาถ้าหากว่าคนดูหมิ่นเหล่านี้เป็นมุสลิม ซึ่งอิมามอัน-นะวะวีย์และหลายท่านๆ ได้พูดถึงกรณีประเด็นการดูหมิ่นศาสนานี้ไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตกศาสนา (อัร-ริดดะฮฺ) ท่านยังได้พูดถึงการดูหมิ่นศาสนาในนิยามของการตกศาสนาด้วยซ้ำ ท่านได้กล่าวว่า “อัร-ริดดะฮฺ หรือการตกศาสนา คือการตัดขาดจากอิสลาม ด้วยเจตนา หรือคำพูดในเชิงปฏิเสธศรัทธา หรือการกระทำ ไม่ว่าจะพูดออกมาด้วยความดูหมิ่น หรือด้วยความดื้อด้าน หรือด้วยความยึดถือเชื่อมั่น”[28]
จากการสังเกตวิธีการในอัลกุรอาน จะพบว่า บางครั้งอัลกุรอานจะตามติดประเด็นที่พูดถึงผู้ดูถูกดูหมิ่นด้วยการกล่าวตักเตือนให้ระลึกถึงนิอฺมัตหรือบุญคุณของอัลลอฮฺ และความงดงามในการสร้างสรรค์ของพระองค์ หรือบางครั้งก็ตามติดด้วยการเตือนสำทับให้กลัวต่อการลงโทษของพระองค์ หรือพูดถึงบั้นปลายการล่มสลายของหมู่ชนรุ่นก่อนๆ หรือไม่ก็ตามติดด้วยการพูดถึงนิอฺมัตของอัลลอฮฺและกล่าวถึงการล่มสลายของคนรุ่นก่อนไปพร้อมๆ กันด้วย
และจากอายะฮฺต่างๆ ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า เมื่ออัลกุรอานพูดถึงเรื่องราวของผู้ดูถูกดูหมิ่น ก็จะตามติดมาด้วยการเตือนให้ระลึกถึงนิอฺมัตของอัลลอฮฺ หรือไม่ก็พูดถึงการล่มจมของคนรุ่นก่อน หรือไม่ก็พูดถึงทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน คือพูดถึงการล่มสลายของคนรุ่นก่อนๆ จากนั้นก็กล่าวถึงนิอฺมัตของอัลลอฮฺตามมา
มุมหนึ่งว่าด้วยวิธีการนำเสนอของอัลกุรอาน
ก. จากการสังเกต ข้าพเจ้าพบว่า ประโยค (يستهزئون) และ (تستهزئون) ซึ่งหมายถึง การดูหมิ่นล้อเลียน จะไม่ถูกกล่าวถึงในอัลกุรอานเว้นแต่จะต้องอยู่ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ
1. ก่อนหน้านั้นจะต้องมีการเตือนสำทับของอัลลอฮฺมาก่อนด้วย
2. หรือ หลังจากนั้น อาจจะตามติดมาด้วยการกล่าวถึงนิอฺมัตของอัลลอฮฺ และสาธยายถึงพระเดชานุภาพของพระองค์
3. หรือ อาจจะตามติดมาด้วยการเตือนสำทับจากอัลลอฮฺ และพูดถึงการลงโทษของพระองค์
4. หรือ อาจจะตามติดมาด้วยการกล่าวถึงการลงโทษของอัลลอฮฺ จากนั้นก็พูดถึงนิอฺมัตของพระองค์
สิ่งเหล่านี้ อาจจะสื่อถึงว่า การสำทับผู้ดูหมิ่นล้อเลียน การเตือนพวกเขาให้เกรงกลัว และการให้พวกเขารำลึกถึงการล่มสลายของคนรุ่นก่อนๆ นั้น เป็นวิธีการของอัลกุรอานในการดะอฺวะฮฺเชิญชวนบรรดาผู้ที่ดูหมิ่นอิสลาม
เช่นเดียวกัน การเตือนให้ระลึกถึงนิอฺมัตของอัลลอฮฺ และเตือนให้ผู้ดูหมิ่นได้สำนึกในนิอฺมัตเหล่านั้น รวมถึงให้คิดถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ที่ได้ทรงสร้างสรรค์ทุกสิ่งมาอย่างวิจิตรงดงาม ก็คือวิธีการของอัลกุรอานในการเชิญชวนผู้ดูหมิ่นอิสลามด้วย
นอกจากนี้ การทำให้ผู้ดูหมิ่นได้เกรงกลัวและให้สำนึกถึงการล่มจมของคนรุ่นก่อนๆ และสิ่งที่พวกเขาต้องประสบ แล้วเตือนให้คิดถึงนิอฺมัตของอัลลอฮฺและเดชานุภาพของพระองค์ ก็เป็นวิธีการของอัลกุรอานในการดะอฺวะฮฺเชิญชวนผู้ดูหมิ่นอิสลามอีกเช่นเดียวกัน
ข. จากการสังเกต ข้าพเจ้าพบว่า คำที่ (هزوا) ซึ่งหมายถึงการดูหมิ่นล้อเลียนนั้น จะไม่ถูกกล่าวถึงในอัลกุรอานเว้นแต่ต้องมีสำนวนที่เอามาจากคำว่า (اتخذ) ประกอบอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งเป็นคำที่หมายถึง การนำเอามาใช้[29]
ดังนั้น ความหมายของมันก็คือ การดูหมิ่นอิสลาม จึงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นมาลอยๆ ในทัศนะของผู้ดูหมิ่น แต่เป็นเรื่องที่พวกเขาคิดค้นเอามาใช้โดยเจตนาและคิดประดิษฐ์ขึ้นมาโดยเฉพาะอย่างจงใจเลยทีเดียว
เพราะฉะนั้น เวลาที่นักดาอีย์จะตอบโต้ผู้ดูหมิ่นอิสลามหรือดะอฺวะฮฺพวกเขา ก็จะต้องคำนึงอยู่เสมอว่าคนที่ดูหมิ่นเหล่านั้นล้วนยึดถือยึดมั่นอยู่กับการดูหมิ่นของพวกเขา และมักคุ้นกับสภาพที่จมปลักอยู่กับวิธีการสกปรก จึงไม่เพียงพอที่จะเชิญชวนแค่ครั้งเดียวเพื่อตอบโต้พวกเขา หรือใช้เพียงแค่ถ้อยคำเดียวก็พอที่จะสกัดกั้นพวกเขาแล้ว แต่ว่าจำเป็นจักต้องอดทนและสู้อดทนและยืนหยัดอย่างมั่นคง
ที่มา จากหนังสือ
الآيات القرآنية الواردة في المستهزئين بالإسلام ودعاته – دراسة موضوعية
http://www.saaid.net/book/open.php?cat=101&book=6031
[1] อัฏ-เฏาะบะรีย์, อัล-ญามิอฺ ลิ อะหฺกาล อัล-กุรอาน, 4/630.
[2] ดู อุมัรฺ บิน อาดิล, อัล-ลุบาบ ฟี อุลูม อัล-กิตาบ, 7/400.
[3] ดู อะมีน มุหัมมัด อัล-หาจญ์, อัต-ตะกอรุบ อัด-ดีนีย์ เคาะเฏาะรุฮู มะรอหิลุฮู อาษารุฮู, หน้า 60-65.
[4] ดู อะห์มัด อับดุลเมาลา รุวัยญีย์, อัล-วะลาอ์ วะ อัล-บะรออ์ ฟี อัล-กุรอาน อัล-กะรีม ดิรอสะฮฺ เมาฎูอียะฮฺ, วิทยานิพนธ์ปริญญาโท คณะชะรีอะฮฺ มหาวิทยาลัยจอร์แดน กรุงอัมมาน, 1993.
[5] อัซ-ซะมัคชะรีย์, อัล-กัชชาฟ อัน หะกออิก วะ อุยูน อัล-อะกอวีล ฟี วุญูฮฺ อัต-
ตะอฺวีล, 1/611-612.
[6] หะสัน บิน มุหัมมัด อัล-กุมมีย์, ตัฟสีรฺ เฆาะรออิบ อัล-กุรอาน วะ เราะฏออิบ อัล-
ฟุรกอน, 5/97.
[7] ดู อิบนุ กะษีรฺ, ตัฟสีรฺ อัล-กุรอาน อัล-อะซีม, 1/754.
[8] อัช-เชากานีย์, ฟัตหฺ อัล-เกาะดีรฺ อัล-ญามิอฺ บัยนะ ฟันนัย อัร-ริวาวะฮฺ วะ อัด-ดิรอยะฮฺ มิน อิลมิ อัต-ตัฟสีรฺ, 1/608.
[9] สัยยิด กุฏบ์, ฟี ซิลาล อัล-กุรอาน, 5/780-781.
[10] อายะฮฺนี้ลงที่มักกะฮฺ ดู อัล-กุรฏุบีย์, อัล-ญามิอฺ ลิ อะหฺกาม อัล-กุรอาน, 9/3.
[11] ดู หัฟนีย์, อัต-ตัศวีรฺ อัส-สาคิรฺ ฟี อัล-กุรอาน อัล-กะรีม. และ หัฟนีย์, อุสลูบ อัส-สุคริยะฮฺ ฟี อัล-กุรอาน อัล-กะรีม. ซึ่งผู้เขียนหนังสือทั้งสองเล่มนี้ได้อธิบายอย่างละเอียดถึงหลักฐานต่างๆ ที่ชี้ว่าอัลกุรอานได้เยาะเย้ยบรรดาคนกาฟิรฺด้วยการเยาะเย้ยที่ใหญ่หลวงและจำนวนมากมาย
[12] อายะฮฺเหล่านี้ เป็นอายะฮฺมักกียะฮฺ ดู ตัฟสีรฺ อัล-กุรฏุบีย์ เล่ม 9 หน้า 3
[13] รูหฺ อัล-มะอานีย์ หรือ ตัฟสีรฺ อัล-อะลูสีย์ 7/177
[14] มะดาริก อัต-ตันซีล หรือ ตัฟสีรฺ อัน-นะสะฟีย์ 2/87
[15] อัน-นะฮ์รุ อัล-มาด มิน อัล-บะห์ริ อัล-มุฮีฏ 2/85
[16] เกาะบัส มิน นูรฺ อัล-กุรอาน อัล-กะรีม ของ อัศ-เศาะบูนีย์ 5/74
[17] เรื่องเดียวกัน 3/342
[18] ดู มุหัมมัด บิน อุมัร อัล-ญาวีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.1316/ค.ศ.1898), มะรอหฺ ละบีด ลิ กัชฟิ มะอฺนะ อัล-กุรอาน อัล-อะซีม, 1/515
[19] สัยยิด กุฏุบ, ฟี ซิลาล อัล-กุรอาน, 12/1921.
[20] เรื่องเดียวกัน 12/1921.
[21] ดู อัล-ญาวีย์, มะรอหฺ ละบีด, อ้างแล้ว 1/515.
[22] สัยยิด กุฏุบ, ฟี ซิลาล อัลกุรอาน, 7/1128-1129.
[23] อัล-อิมาดีย์, อิรชาด อัล-อักลิ อัส-สะลีม อิลา มะซายา อัล-กิตาบ อัล-กะรีม, 3/398. หุเสน บิน มุหัมมัด, มุฟเราะดาต อัลฟาซ อัล-กุรอาน, หน้า 402.
[24] อัซ-ซะมัคชะรีย์, อัล-กัชชาฟ อัน หะกออิก วะ อุยูน อัล-อะกอวีล ฟี วุญูฮฺ อัต-ตะอฺวีล, 2/35.
[25] อัน-นะสะฟีย์, มะดาริก อัต-ตันซีล วะ หะกออิก อัต-ตะอ์วีล, 1/513.
[26] หุเสน บิน มุหัมมัด, มุฟเราะดาต อัลฟาซ อัล-กุรอาน, หน้า 254.
[27] อัล-กุรฏุบีย์, อัล-ญามิอฺ ลิ อะหฺกาม อัล-กุรอาน, 5/357.
[28] อัช-ชัรบีนีย์, มุฆนีย์ อัล-มุหฺตาจญ์ อิลา มะอฺริฟะฮฺ อัลฟาซฺ อัล-มินฮาจญ์ อะลา มัตนิ มินฮาจญ์ อัฏ-ฏอลิบีน ลิ อัน-นะวะวีย์, 4/123-124.
[29] หุเสน บิน มุหัมมัด, มุฟเราะดาต อัลฟาซ อัล-กุรอาน, หน้า 67.