×
รวมหลักฐานจากหะดีษต่างๆ ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่กล่าวถึงคุณค่าและความสำคัญของการไปละหมาดญะมาอะฮฺแต่เนิ่นๆ เช่น การได้รับดุอาอ์ที่มะลาอิกะฮฺช่วยขอให้ การได้ตักบีรฺครั้งแรกพร้อมอิมาม การมีสมาธิในการเดินไปละหมาด การได้มีโอกาสรำลึกถึงอัลลอฮฺและละหมาดสุนัต เป็นต้น เป็นบทความจากหนังสืออัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ ของเชคอะมีน อัช-ชะกอวีย์

    ความประเสริฐของการไปละหมาดแต่เนิ่นๆ

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ

    2012 - 1433

    ﴿فضل التبكير إلى الصلاة﴾

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: يوسف أبوبكر

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2012 - 1433

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เรื่องที 79

    ความประเสริฐของการไปละหมาดแต่เนิ่นๆ

    การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม รวมถึงบรรดาวงศาคณาญาติและบรรดาอัครสาวกของท่าน ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์...

    ความโปรดปรานและความเอ็นดูเมตตาของอัลลอฮฺที่มีต่อปวงบ่าวของพระองค์อีกประการหนึ่งคือ การที่พระองค์ได้ให้พวกเขามีความสะดวกง่ายดายในการเชื่อฟังปฏิบัติตามและการเคารพภักดี เพื่อที่จะได้ใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา และส่วนหนึ่งจากการเคารพภักดี การใกล้ชิดต่อพระองค์คือ การไปร่วมละหมาดห้าเวลาตั้งแต่เนิ่นๆ โดยที่พระองค์ได้ให้การปฏิบัติละหมาดเพียงห้าเวลา แต่จะได้รับภาคผลบุญมากเท่ากับละหมาดห้าสิบเวลา

    การไปร่วมละหมาดห้าเวลาตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นภารกิจที่สำคัญซึ่งบรรดาผู้ละหมาดส่วนใหญ่ในยุคสมัยปัจจุบันหลงลืม ไม่ค่อยมารอละหมาด ส่วนมากแล้วจะมาในช่วงอิกอมะฮฺ หรือหลังจากที่การละหมาดได้เริ่มไปแล้ว

    บรรดาบรรพชนผู้เคร่งครัดในครรลองแห่งอิสลาม (สะละฟุศศอลิห์) เป็นกลุ่มบุคคลต้นแบบ และพวกเขาได้ตระหนักถึงการไปร่วมละหมาดตั้งแต่ช่วงเวลาเนิ่นๆ เป็นตัวอย่างให้ชนรุ่นหลังอย่างพวกเราได้เป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งจากพวกเขา อาทิ

    อะดียฺ บิน หาติม เราะฎิยัลลอฮุอันฮู กล่าวว่า “ไม่มีเวลาละหมาดใดได้เข้ามานอกจากฉันจะคิดถึงคำนึงหามัน และนับตั้งแต่ฉันเข้ารับนับถืออิสลามไม่มีการอิกอมะฮฺเพื่อละหมาดใดนอกจากฉันจะอยู่ในสภาพที่มีน้ำละหมาด”

    สะอีด บิน อัล-มุสัยยิบ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาสามสิบปี มุอัซซิน (ผู้ทำหน้าที่อะซาน) ไม่เคยอะซานนอกจากฉันจะอยู่ในมัสยิด ฉันไม่เคยทิ้งละหมาดญะมาอะฮฺตลอดช่วงระยะเวลาสี่สิบปี และฉันไม่เคยมองไปยังต้นคอของคนใดในขณะที่ละหมาด”

    อิหม่าม อัซ-ซะฮะบีย์ กล่าวว่า “ลักษณะเช่นนี้แหละที่บรรพชนแห่งคุณธรรม(ชาวสะลัฟ)มุ่งมั่นเอาใจใส่ในการแสวงหาคุณงามความดี”

    ส่วนหนึ่งจากความประเสริฐของการไปละหมาดแต่เนิ่นๆ

    ประการที่หนึ่ง..มลาอิกะฮฺจะขออภัยโทษ(อิสติฆฟาร)ให้แก่ผู้ที่รอละหมาด และการที่เขาอยู่ในสภาพเดียวกับผู้ที่ละหมาด ดังที่มีหะดีษรายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮู ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «إِنَّ الْمَلائِكَةَ تُصَلِّي عَلَى أَحَدِكُمْ مَا دَامَ فِي مُصَلَّاهُ ، مَا لَمْ يُحْدِثِ : اللَّهُمَّ اغْفِرْ لَهُ ، اللَّهُمَّ ارْحَمْهُ ، لا يَزَالُ أَحَدُكُمْ فِي صَلاةٍ ، مَا دَامَتِ الصَّلاةُ تَحْبِسُهُ ، لا يَمْنَعُهُ أَنْ يَنْقَلِبَ إِلَى أَهْلِهِ إِلا الصَّلاةُ» [رواه البخاري برقم 659، ومسلم برقم 649]

    ความหมาย “แท้จริงบรรดามะลาอิกะฮฺจะกล่าวคำพร(ขออภัยโทษให้แก่เขา)ตราบใดที่เขาอยู่ในที่ละหมาดและมีน้ำละหมาด โดยกล่าวว่า โอ้อัลลอฮฺจงอภัยโทษให้แก่เขา โอ้อัลลอฮฺจงเมตตาต่อเขา บุคคลหนึ่งจากพวกท่านยังคงอยู่ในการละหมาดตราบใดที่การละหมาดยังผูกมัดเขาไว้ ไม่มีอะไรมาหักห้ามเขาในการที่จะกลับไปหาสมาชิกในครอบครัวนอกจากการละหมาด” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 1/219 หมายเลข 659 และเศาะฮีหฺมุสลิม 1/459 หมายเลข 649)

    ประการที่สอง..จะได้เข้าร่วมละหมาดแถวแรก ซึ่งมีความดีงามอย่างยิ่งใหญ่และมีมรรคผลอย่างมหาศาล ดังมีหะดีษรายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮู ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «لَوْ يَعْلَمُ النَّاسُ مَا فِي النِّدَاءِ وَالصَّفِّ الْأَوَّلِ، ثُمَّ لَمْ يَجِدُوا إِلَّا أَنْ يَسْتَهِمُوا عَلَيْهِ لَاسْتَهَمُوا، وَلَوْ يَعْلَمُونَ مَا فِي التَّهْجِيرِ لَاسْتَبَقُوا إِلَيْهِ، وَلَوْ يَعْلَمُونَ مَا فِي الْعَتَمَةِ وَالصُّبْحِ لَأَتَوْهُمَا وَلَوْ حَبْوًا» [البخاري برقم 615، ومسلم برقم 437]

    ความหมาย “หากมนุษย์ได้รู้ถึงความดีงามที่มีอยู่ในการอะซานและแถวแรก แต่พวกเขาไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้นอกจากด้วยวิธีการจับฉลาก แน่นอนว่าพวกเขาจะต้องจับฉลากกัน และหากพวกเขารู้ถึงสิ่งที่อยู่ในละหมาดซุฮฺรี(เวลาร้อนจัด)แน่นอนพวกเขาก็จะแข่งขันกัน และหากพวกเขารู้ถึงสิ่งที่อยู่ในละหมาดอิชาอ์และละหมาดศุบหฺแล้วไซร้ แน่นอนพวกเขาจะมาละหมาดถึงแม้ว่าจะต้องคลานมาก็ตาม” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 1/208 หมายเลข 615 และเศาะฮีหฺ มุสลิม 1/325 หมายเลข 437)

    ประการที่สาม..ทันเวลาที่จะกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺรอม ซึ่งเป็นตักบีรฺที่มีความประเสริฐมากที่สุด เป็นเสมือนกุญแจของการละหมาด ดังมีหะดีษรายงานจากอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮู ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «مَنْ صَلَّى لِلَّهِ أَرْبَعِينَ يَوْمًا فِي جَمَاعَةٍ، يُدْرِكُ التَّكْبِيرَةَ الْأُولَى، كُتِبَتْ لَهُ بَرَاءَتَانِ، بَرَاءَةٌ مِنْ النَّارِ، وَبَرَاءَةٌ مِنْ النِّفَاقِ» [الترمذي برقم 241]

    ความหมาย “ผู้ใดที่ละหมาดเพื่ออัลลอฮฺจำนวนสี่สิบวันร่วมกับญะมาอะฮฺ โดยทันการตักบีรฺครั้งแรก(ตักบีเราะตุลอิหฺรอม) เขาจะถูกบันทึกให้ปลอดภัยจากสองประการ ปลอดภัยจากไฟนรก และปลอดภัยจากนิฟาก(ลักษณะหน้าไว้หลังหลอก) (บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ หน้าที่ 60 หมายเลข 241)

    ประการที่สี่..การขอดุอาอ์ระหว่างอะซานกับอิกอมะฮฺเป็นช่วงเวลาที่ถูกตอบรับ ดังมีหะดีษรายงานจากอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮู ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «الدُّعَاءَ لَا يُرَدُّ بَيْنَ الْأَذَانِ وَالْإِقَامَةِ» [أبو داود برقم 521]

    ความหมาย “การขอดุอาอ์ระหว่างอะซานกับอิกอมะฮฺจะไม่ถูกปฏิเสธ” (บันทึกโดยอบู ดาวูด หน้าที่ 81 หมายเลข 521)

    ประการที่ห้า..จะได้อยู่ใกล้ชิดกับอิหม่ามนำละหมาด ซึ่งถือว่ามีความประเสริฐอย่างมหาศาล ดังที่มีหะดีษรายงานจากสะมุเราะฮฺ บิน ญุนดุบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮู ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «احْضُرُوا الذِّكْرَ ، وَادْنُوا مِنَ الْإِمَامِ ، فَإِنَّ الرَّجُلَ لَا يَزَالُ يَتَبَاعَدُ حَتَّى يُؤَخَّرَ فِي الْجَنَّةِ وَإِنْ دَخَلَهَا» [رواه أبوداود برقم 1108]

    ความหมาย “พวกท่านทั้งหลายจงไปสู่การรำลึก(ละหมาด) และจงเข้าใกล้อิหม่าม แท้จริงบุคคลใดที่เขายังคงอยู่ห่างไกลจากอิหม่าม จนกระทั่งอัลลอฮฺได้ทำให้เขาเข้าสวนสวรรค์อย่างล่าช้า ถึงแม้ว่าเขาจะได้เข้าสวรรค์ก็ตาม” (บันทึกโดยอบู ดาวูด หน้าที่ 136 หมายเลข 1108)

    ประการที่หก..ทันเวลาที่จะละหมาดสุนนะฮฺก่อนละหมาดฟัรฎู อาทิ สุนนะฮฺก่อนศุบหฺ ดังมีหะดีษรายงานจากอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    « رَكْعَتَا الْفَجْرِ خَيْرٌ مِنَ الدُّنْيَا وَمَا فِيهَا » [رواه مسلم برقم 725]

    ความหมาย “สองร็อกอัตก่อนละหมาดศุบหฺประเสริฐกว่าโลกดุนยาและสิ่งที่อยู่ในโลกดุนยา” (บันทึกโดยมุสลิม หน้าที่ 286 หมายเลข 725)

    และมีปรากฏว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ละหมาดก่อนซุฮฺรีสี่ร็อกอัตและหลังซุฮฺรีสองร็อกอัต” (บันทึกโดยมุสลิม หน้าที่ 90 หมายเลข 424)

    ยังมีหะดีษรายงานจากอุมมุ หะบีบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «مَنْ حَافَظَ عَلَى أَرْبَعِ رَكَعَاتٍ قَبْلَ الظُّهْرِ وَأَرْبَعٍ بَعْدَهَا حَرَّمَهُ اللَّهُ عَلَى النَّارِ» [أبو داود برقم 1269]

    ความหมาย “ผู้ใดที่พยายามรักษาละหมาดสี่ร็อกอัตก่อนซุฮฺรีและสี่ร็อกอัตหลังจากนั้น อัลลอฮฺจะให้เขารอดพ้นจากไฟนรก” (บันทึกโดยอบู ดาวูด หน้าที่ 154 หมายเลข 1269)

    และมีรายงานจากอะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮู ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «رَحِمَ اللَّهُ امْرَأً صَلَّى قَبْلَ الْعَصْرِ أَرْبَعًا» [رواه الترمذي برقم 430]

    ความหมาย “อัลลอฮฺจะทรงเมตตาบุคคลหนึ่ง ซึ่งเขาได้ละหมาดก่อนอัศรีสี่ร็อกอัต” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ หน้าที่ 92 หมายเลข 430)

    ประการที่เจ็ด..สามารถเดินไปมัสยิดด้วยความสงบนิ่งและนอบน้อม ซึ่งบุคคลส่วนใหญ่เมื่อรีบเร่งเพื่อที่จะให้ทันละหมาด(เมื่อเวลาจวนเจียน)จะเสียโอกาสในเรื่องของความสงบนิ่งและมีสมาธิ ดังที่มีหะดีษรายงานจากอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮู ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «إِذَا سَمِعْتُمْ الْإِقَامَةَ فَامْشُوا، وَعَلَيْكُمْ السَّكِينَةِ وَالْوَقَارِ، وَلَا تُسْرِعُوا، فَمَا أَدْرَكْتُمْ فَصَلُّوا، وَمَا فَاتَكُمْ فَأَتِمُّوا» [البخاري برقم 636، ومسلم برقم 6020]

    ความหมาย “เมื่อพวกท่านได้ยินการอิกอมะฮฺ จงเดินไป(ละหมาด) และจำเป็นแก่พวกท่านต้องมีความสงบนิ่งและมีสมาธิอย่างนอบน้อม อย่าได้รีบเร่ง ส่วนใดที่พวกท่านตามทันก็จงละหมาด และส่วนใดที่ตามไม่ทันก็จงทำต่อให้ครบสมบูรณ์” (เศาะฮีหฺอัล-บุคอรีย์ หน้าที่ 137-138 หมายเลข 636 และเศาะฮีหฺมุสลิม หน้าที่ 239 หมายเลข 602)

    ประการที่แปด..มีเวลาได้อ่านอัซการ ขออภัยโทษ(อิสติฆฟาร) และได้รำลึกถึงอัลลอฮฺในระหว่างอะซานกับอิกอมะฮฺ ดังนั้นหากว่าผู้ละหมาดมาถึงมัสยิดแต่เนิ่นๆ อย่างน้อยเขาก็สามารถที่จะอ่านอัลกุรอานได้ประมาณ 20 อายะฮฺ เมื่อรวมแล้วในหนึ่งวันอ่านได้ 100 อายะฮฺ หนึ่งสัปดาห์ 700 อายะฮฺ และภายในหนึ่งเดือนสามารถอ่านได้ถึง 3,000 อายะฮฺ อัลลอฮฺจะเพิ่มภาคผลบุญอย่างทวีคูณแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงยิ่งในความโปรดปรานความเมตตา

    ดังนั้น นับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งแก่บรรดาผู้ศรัทธาที่ต้องฝึกฝนตัวเองให้คุ้นชินในการรีบมาละหมาดที่มัสยิดแต่เนิ่นๆ จนกระทั่งเป็นเรื่องปกติง่ายดายในที่สุด แล้วเขาจะพบว่าเป็นการผ่อนคลาย และจะมีความเปี่ยมสุขด้วยกับการกระทำดังกล่าว ดังมีหะดีษรายงานจากอบู สะอีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮู ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «لاَ يَزَالُ قَوْمٌ يَتَأَخَّرُونَ حَتَّى يُؤَخِّرَهُمُ اللَّهُ» [رواه مسلم برقم 438]

    ความหมาย “กลุ่มชนหนึ่งจะยังคงล่าช้า(จากแถวแรก)อยู่เรื่อยเป็นนิสัย จนกระทั่งอัลลอฮฺได้ทำให้พวกเขาล่าช้า(ในการได้รับผลตอบแทน ความโปรดปราน สถานะอันยิ่งใหญ่จากพระองค์ ฯลฯ) (เศาะฮีหฺมุสลิม หน้าที่ 186 หมายเลข 438)

    والحمد لله رب العالمين ، وصلى الله وسلم على نبينا محمد

    وعلى آله وصحبه أجمعين .