×
วิเคราะห์หลักฐานจากอัลกุรอาน อัลหะดีษ และคำกล่าวอ้างอิงของเหล่าสะลัฟศอลิหฺว่าด้วยเงื่อนไขสองประการในการตอบรับอะมัลและอิบาดะฮฺ นั่นคือ ความอิคลาศ(ความบริสุทธิ์ใจ)และความถูกต้องตามบทบัญญัติของอัลลอฮฺและศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เรียบเรียงโดย เชาวน์ฤทธิ์ เรืองปราชญ์ (ดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่ไฟล์แนบ)

    بسم الله الرحمن الرحيم

    เงื่อนไขของการตอบรับอิบาดะฮฺ

    เรียบเรียงโดย เชาวน์ฤทธิ์ เรืองปราชญ์

    1428 / 2007

    วิเคราะห์หลักฐานจากอัลกุรอาน อัลหะดีษ และคำกล่าวอ้างอิงของเหล่าสะลัฟศอลิหฺว่าด้วยเงื่อนไขสองประการในการตอบรับอะมัลและอิบาดะฮฺ นั่นคือ ความอิคลาศ(ความบริสุทธิ์ใจ)และความถูกต้องตามบทบัญญัติของอัลลอฮฺและศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม

    ส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เรื่อง “ความเชื่อและประเพณีในการทำบุญของชาวมุสลิมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา” โดย เชาวน์ฤทธิ์ เรืองปราชญ์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาอิสลามศึกษา (อุศูลุดดีน) วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

    บทคัดย่อ

    บทความเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงเงื่อนไขของการปฏิบัติอามัลอิบาดะฮฺที่จะทำให้พระองค์อัลลอฮฺ ทรงตอบรับ โดยศึกษาจากอัลกุรอาน อัสสุนนะฮฺของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และจากบรรดาทัศนะของอุละมาอฺสลัฟ

    จากการศึกษาพบว่าเงื่อนไขที่จะทำให้พระองค์อัลลอฮฺ ทรงตอบรับการประกอบอามัลอิบาดะฮฺของผู้ศรัทธานั้นมีอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ 1.มีความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติ และ 2.สอดคล้องและถูกต้องตามบทบัญญัติที่พระองค์อัลลอฮฺทรงบัญญัติไว้ ซึ่งหากการปฏิบัติใดก็ตามขาดประการหนึ่งประการใดจากทั้งสองสิ่งนี้ กิจการต่างๆ ที่เขาได้ปฏิบัติมาก็จะสูญเปล่า และจะไม่ถูกตอบรับจากอัลลอฮฺ

    บทนำ

    อัลลอฮฺ มิทรงสร้างมนุษยชาติขึ้นมาโดยไร้จุดหมาย หากแต่พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาด้วยจุดประสงค์เพียงประการเดียว นั่นคือ เพื่อการภักดีต่อพระองค์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น จะนำสิ่งอื่นมาสักการะภักดีเทียบเคียงกับพระองค์มิได้ เพราะการปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างอิสลามถือว่าเป็นอิบาดะฮฺ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติศาสนกิจ การประกอบอาชีพ และการมีสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ล้วนเป็นการภักดีต่ออัลลอฮฺทั้งสิ้น

    การปฏิบัติตนที่จะทำให้บ่าวคนหนึ่งมีความใกล้ชิดกับพระผู้อภิบาลนั้น จำเป็นต้องปฏิบัติในสิ่งที่เป็นภาคฟัรดูให้ครบถ้วนและหมั่นปฏิบัติในสิ่งที่เป็นภาคสุนัต การทำบุญก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติในภาคสุนัตและเป็นอิบาดะฮฺอีกประเภทหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ชอบปฏิบัติกัน ซึ่งผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติในสิ่งดังกล่าวมากเท่าใด ก็จะทำให้เขามีความผูกพันและใกล้ชิดกับพระผู้อภิบาลมากขึ้นเท่านั้น แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าวิธีการทำบุญต่างๆที่ปฏิบัติกันอยู่ในสังคมปัจจุบันจะถูกต้องทั้งหมด มีการทำบุญบางประเภทที่สามารถปฏิบัติได้เพราะสอดคล้องกับหลักการศาสนา และมีการทำบุญบางประเภทที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะไม่สอดคล้องและขัดแย้งกับหลักการศาสนา ดังนั้น เราจะทราบได้อย่างไรว่าการทำบุญแบบไหนที่สามารถปฏิบัติได้และสอดคล้องกับหลักการศาสนา และการทำบุญแบบไหนที่ไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะขัดแย้งกับหลักการศาสนา? คำตอบคือ การปฏิบัติทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ดังจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป

    เงื่อนไขในการตอบรับอิบาดะฮฺ

    ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การทำบุญเป็นอิบาดะฮฺประเภทหนึ่งที่มนุษย์กระทำขึ้นเพื่อเป็นการภักดี และสร้างความใกล้ชิดต่อพระผู้อภิบาล แต่มิใช่ว่าการทำบุญทุกอย่างจะถือเป็นอิบาดะฮฺ หากปราศจากเงื่อนไขการปฏิบัติที่ทำให้เป็นที่ตอบรับจากพระผู้อภิบาล ซึ่งเงื่อนไขของการทำอิบาดะฮฺที่พระองค์อัลลอฮฺจะทรงตอบรับมี 2 ประการ คือ (al-Ghamidi, 1994 : 1/34)

    ประการที่ 1. ต้องมีความบริสุทธิ์ใจ (อัลอิคลาศ)

    ประการที่ 2. ต้องถูกต้องตามบทบัญญัติ (อัลอิตติบาอ์)

    เงื่อนไขประการที่หนึ่ง : มีความบริสุทธิ์ใจ

    เงื่อนไขประการแรกที่อัลลอฮฺ จะทรงรับการปฏิบัติอิบาดะฮฺ คือจะต้องมีความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งประการดังกล่าวมีความเกี่ยวพันธ์กับการตั้งเจตนา และความต้องการต่าง ๆ จุดประสงค์ของเงื่อนใขข้อนี้ คือการตั้งเจตนาอย่างแน่วแน่ว่าจะภักดีต่ออัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น (Ibn al-Qayyim, 1392 : 2/91) จะนำสิ่งอื่นใดมาเป็นภาคีกับพระองค์มิได้ และจำเป็นจะต้องมีความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์

    เพื่อให้กระจ่างชัด ผู้วิจัยจะอธิบายโดยการนำหลักฐานต่างๆ จากอัลกุรอาน อัลหะดีษ และทัศนะของบรรดาสลัฟศอและฮฺตามลำดับดังนี้

    หลักฐานจากอายะฮฺอัลกุรอาน

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    «إِنَّا أَنْزَلْنَا إِلَيْكَ الْكِتَابَ بِالْحَقِّ فَاعْبُدِ اللَّهَ مُخْلِصًا لَهُ الدِّينَ، أَلا لِلَّهِ الدِّينُ الْخَالِصُ»

    ความว่า “แท้จริงเราได้ประทานคัมภีร์มายังเจ้าด้วยสัจธรรม ดังนั้นเจ้าจงเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺโดยเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ใจในศาสนาต่อพระองค์ (2) พึงทราบเถิด การอิบาดะฮฺโดยบริสุทธิ์ใจนั้นเป็นของอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว...” (สูเราะฮฺอัซซุมัร อายะฮฺที่ 2-3)

    อิบนุกะษีร[i] ได้อรรถาธิบายอายะฮฺนี้ว่า “อัลลอฮฺจะไม่ทรงรับกิจการใดๆ เว้นแต่เสียว่าผู้ที่ปฏิบัตินั้นจะต้องมีความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีสิ่งใดเป็นภาคีสำหรับพระองค์” (Ibn Kathir, 1983 : 6/78)

    อัลลอฮฺตรัสอีกว่า

    «قُلْ إِنِّي أُمِرْتُ أَنْ أَعْبُدَ اللَّهَ مُخْلِصًا لَهُ الدِّينَ، وَأُمِرْتُ لأنْ أَكُونَ أَوَّلَ الْمُسْلِمِينَ، قُلْ إِنِّي أَخَافُ إِنْ عَصَيْتُ رَبِّي عَذَابَ يَوْمٍ عَظِيمٍ، قُلِ اللَّهَ أَعْبُدُ مُخْلِصًا لَهُ دِينِي»

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มูฮัมหมัด) แท้จริงฉันได้ถูกบัญชาให้เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ โดยเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ใจในศาสนาต่อพระองค์ (11) และฉันได้ถูกบัญชาให้ฉันเป็นคนแรกของปวงชนผู้นอบน้อม (12) จงกล่าวเถิด (มูฮัมหมัด) แท้จริงฉันกลัวการลงโทษแห่งวันอันยิ่งใหญ่ หากฉันฝ่าฝืนพระเจ้าของฉัน (13) จงกล่าวเถิด เฉพาะอัลลอฮฺเท่านั้นที่ฉันเคารพภักดีโดยเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ใจในศาสนาของฉันต่อพระองค์” (สูเราะฮฺอัซซุมัร อายะฮฺที่ 11-14)

    อิบนุกะษีร ได้อรรถาธิบายว่า “อัลลอฮฺทรงใช้ให้พวกท่านยืนหยัดในการทำอิบาดะฮฺในลักษณะดังกล่าว คือปฏิบัติตามบรรดาเราะสูลด้วยการยึดมั่นในสิ่งที่พวกเขานำมาจากอัลลอฮฺ และสิ่งที่มีในบทบัญญัติด้วยความบริสุทธิ์ใจในการทำอิบาดะฮฺ เพราะอัลลอฮฺจะไม่รับกิจการงานใดๆ เว้นแต่จะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขสองประการ คือ หนึ่ง จะต้องถูกต้องและสอดคล้องกับบทบัญญัติ และสองจะต้องมีความบริสุทธิ์ใจโดยปราศจากการตั้งภาคี” (Ibn Kathir, 1983 : 3/158)

    และอัลลอฮฺตรัสว่า

    «قُلْ أَمَرَ رَبِّي بِالْقِسْطِ وَأَقِيمُوا وُجُوهَكُمْ عِنْدَ كُلِّ مَسْجِدٍ وَادْعُوهُ مُخْلِصِينَ لَهُ الدِّينَ كَمَا بَدَأَكُمْ تَعُودُونَ»

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มูฮัมหมัด) ว่า พระเจ้าของฉันได้ทรงสั่งให้มีความยุติธรรม และพวกเจ้าจงผินให้ตรงซึ่งใบหน้าของพวกเจ้า ณ ทุกๆ มัสยิดและจงวิงวอนต่อพระองค์ในฐานะผู้มอบการอิบาดะฮฺทั้งหลายแด่พระองค์โดยบริสุทธิ์ใจ เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงบังเกิดพวกเจ้าแต่แรกนั้น พวกเจ้าจะได้กลับไป” (สูเราะฮฺอัลอะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 29)

    และอัลลอฮฺตรัสว่า

    «فَادْعُوا اللَّهَ مُخْلِصِينَ لَهُ الدِّينَ وَلَوْ كَرِهَ الْكَافِرُونَ»

    ความว่า “ดังนั้น พวกเจ้าจงวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ ด้วยความบริสุทธิ์ใจในศาสนาต่อพระองค์ แม้ว่าพวกปฏิเสธศรัทธาจะเกลียดชังก็ตาม” (สูเราะฮฺฆอฟิร อายะฮฺที่ 14)

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    «هُوَ الْحَيُّ لا إِلَهَ إِلا هُوَ فَادْعُوهُ مُخْلِصِينَ لَهُ الدِّينَ الْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ»

    ความว่า “พระองค์คือผู้ทรงมีชีวิต ไม่มีพระเจ้าอื่นใด (ที่ถูกกราบไหว้โดยเที่ยงแท้) นอกจากพระองค์ ดังนั้นจงวิงวอนขอต่อพระองค์ ด้วยความบริสุทธิ์ใจในศาสนาต่อพระองค์ บรรดาการสรรเสริญนั้นเป็นของอัลลอฮฺ พระเจ้าแห่งสากลโลก” (สูเราะฮฺฆอฟิร อายะฮฺที่ 65)

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    «قُلْ إِنَّ صَلاتِي وَنُسُكِي وَمَحْيَايَ وَمَمَاتِي لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ»

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มูฮัมหมัด) ว่า แท้จริงการละหมาดของฉัน และการอิบาดะฮฺของฉัน และการมีชีวิตของฉัน และการตายของฉันนั้นเพื่ออัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลกเท่านั้น” (สูเราะฮฺอัลอันอาม อายะฮฺที่ 162)

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    «وَمَنْ أَحْسَنُ دِينًا مِمَّنْ أَسْلَمَ وَجْهَهُ لِلَّهِ وَهُوَ مُحْسِنٌ»

    ความว่า “และผู้ใดเล่าจะมีศาสนาดียิ่งไปกว่าผู้ที่มอบใบหน้าของเขาให้แก่อัลลอฮฺ และขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้กระทำดี...”(ส่วนหนึ่งจากอายะฮฺที่ 125 สูเราะฮฺอันนิซาอฺ)

    อิบนุ อัลกอยยิม อรรถาธิบายว่า “ดังนั้น อิสลามคือ การมีเจตนาที่บริสุทธิ์และปฏิบัติกิจการต่างๆเพื่ออัลลออฺเพียงพระองค์เดียว” (Ibn al-Qayyim, 1392 : 2/90)

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    «قُلْ إِنَّمَا أَنَا بَشَرٌ مِثْلُكُمْ يُوحَى إِلَيَّ أَنَّمَا إِلَهُكُمْ إِلَهٌ وَاحِدٌ فَمَنْ كَانَ يَرْجُو لِقَاءَ رَبِّهِ فَلْيَعْمَلْ عَمَلا صَالِحًا وَلا يُشْرِكْ بِعِبَادَةِ رَبِّهِ أَحَداً»

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มูฮัมหมัด) แท้จริง ฉันเป็นเพียงสามัญชนคนหนึ่งเยี่ยงพวกท่าน มีวะฮียฺแก่ฉันว่า แท้จริง พระเจ้าของพวกท่านนั้นคือพระเจ้าองค์เดียว ดังนั้น ผู้ใดหวังที่จะพบพระผู้เป็นเจ้าของเขา ก็ให้เขาประกอบการงานที่ดีและอย่าตั้งผู้ใดเป็นภาคีในการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขาเลย” (สูเราะฮฺอัลกะฮฺฟิ อายะฮฺที่ 110)

    อิบนุ กะษีร (Ibn Kathir, 1983 : 4/432) ได้อรรถาธิบายว่า “และสองประการนี้คือเงื่อนไขในการตอบรับกิจการต่างๆ คือ หนึ่งจำเป็นต้องมีความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ และสองจะต้องถูกต้องตามบทบัญญัติของท่านเราะสูล”

    บรรดาอายะฮฺต่างๆ ที่ได้นำเสนอมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับการมีความบริสุทธิ์ใจเท่านั้น การที่อัลลอฮฺทรงกล่าวเน้นย้ำในเรื่องดังกล่าวหลายครั้งในอัลกุรอาน แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก และจะสังเกตได้ว่าเมื่อใดที่พระองค์ทรงพูดถึงเรื่องนี้ พระองค์จะกล่าวเกี่ยวกับการมิให้นำสิ่งใดมาเป็นภาคีกับพระองค์ด้วยเสมอ

    หลักฐานจากอัลหะดีษ

    ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวไว้เกี่ยวกับการตั้งเจตนาว่า

    «إِنَّمَا الأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ، وَإِنَّمَا لِكُلِّ امْرِئٍ مَا نَوَى، فَمَنْ كَانَتْ هِجْرَتُهُ إِلَى اللهِ وَرَسُوْلِهِ فَهِجْرَتُهُ إِلَى اللهِ وَرَسُوْلِهِ، وَمَنْ كَانَتْ هِجْرَتُهُ لِدُنْيَا يُصِيبُهَا أَوِ امْرَأَةٍ يَنْكِحُهَا فَهِجْرَتُهُ إِلَى مَا هَاجَرَ إِلَيْهِ»[ii]

    ความว่า “แท้จริง ทุกๆ กิจการงานขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนา และแท้จริง สำหรับทุกคนนั้นคือสิ่งที่เขาได้มีเจตนาไว้ ดังนั้น ผู้ใดที่การอพยพของเขามีเจตนาเพื่อสู่อัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์ ดังนั้น การอพยพของเขานั้นไปสู่อัลลอฮฺ และ เราะสูลของพระองค์ และผู้ใดซึ่งการอพยพของเขาเพื่อโลกดุนยา หรือเพื่อผู้หญิงที่เขาจะแต่งงานด้วย ดังนั้นการอพยพของเขานั้นไปสู่สิ่งที่เขาตั้งเป้าหมายไว้”

    ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวในหะดีษอีกบทหนึ่งว่า

    «ثَلاَثٌ لاَ يُغِلُّ عَلَيْهِنَّ قَلْبُ مُسْلِمٍ: إِخْلاَصُ الْعَمَلِ لِلَّهِ، وَمُنَاصَحَةُ أَئِمَّةِ الْمُسْلِمِينَ، وَلُزُومُ جَمَاعَتِهِمْ» [iii]

    ความว่า “สามประการนี้จะไม่ทำให้หัวใจของมุสลิมหวั่นไหว คือมีความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติกิจการต่างๆ เพื่ออัลลอฮฺ ตักเตือนผู้นำ และการอยู่ร่วมกับญะมาอะฮฺมุสลิม...”

    อัลลอฮฺทรงตรัสในหะดีษกุดซีย์[iv] ว่า

    «أَنَا أَغْنَى الشُّرَكَاءِ عَنْ الشِّرْكِ، فَمَنْ عَمِلَ لِي عَمَلاً أَشْرَكَ فِيهِ غَيْرِي فَأَنَا مِنْهُ بَرِيءٌ وَهُوَ لِلَّذِي أَشْرَكَ»[v]

    ความว่า “ฉันเป็นผู้ที่เหนือกว่าในบรรดาผู้ที่พวกเขาตั้งภาคีทั้งหลาย บุคคลใดก็ตามที่ปฏิบัติกิจการต่างๆ โดยตั้งภาคีพร้อมกับฉัน ดังนั้น ฉันห่างไกลจากสิ่งที่พวกเขาตั้งภาคี และสิ่งดังกล่าวก็เพื่อสิ่งที่เขาตั้งภาคี”

    ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถูกถามเกี่ยวกับผลตอบแทนของผู้ที่ออกรบโดยมีเจตนาเพื่อหวังผลตอบแทนและให้ผู้คนกล่าวสรรเสริญเขาว่า

    جَاءَ رَجُلٌ إِلَى النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ: أَرَأَيْتَ رَجُلاً غَزَا يَلْتَمِسُ الأَجْرَ وَالذِّكْرَ مَالَهُ؟ فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: «لاَ شَيْءَ لَهُ» فَأَعَادَهَا ثَلاَثَ مَرَّاتٍ، ثُمَّ قَالَ: «إِنَّ اللَّهَ لاَ يَقْبَلُ مِنْ الْعَمَلِ إِلاَّ مَا كَانَ لَهُ خَالِصًا وَابْتُغِيَ بِهِ وَجْهُهُ»[vi]

    ความว่า “มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยเขากล่าวว่า ท่านมีความเห็นอย่างไรหากชายคนหนึ่งออกรบเพื่อหวังผลตอบแทนและให้บุคคลอื่นกล่าวถึงเขา ? ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็กล่าวตอบเขาว่า “ไม่มีอะไรเลย” ท่านทวนมันถึงสามครั้ง หลังจากนั้นท่านก็กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงรับกิจการใดๆ เว้นแต่เสียว่ากิจการนั้นจะต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และทำเพื่อได้รับผลตอบแทนจากพระองค์”

    และหะดีษอีกบทหนึ่งที่กล่าวไว้เกี่ยวกับการกระทำของบุคคลที่ทำงานต่างๆ เพื่อให้ผู้คนสรรเสริญดังที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «إِنَّ أَوَّلَ النَّاسِ يُقْضَى يَوْمَ الْقِيَامَةِ عَلَيْهِ رَجُلٌ اسْتُشْهِدَ فَأُتِيَ بِهِ فَعَرَّفَهُ نِعَمَهُ فَعَرَفَهَا، قَالَ: فَمَا عَمِلْتَ فِيهَا؟ قَالَ: قَاتَلْتُ فِيكَ حَتَّى اسْتُشْهِدْتُ. قَالَ: كَذَبْتَ وَلَكِنَّكَ قَاتَلْتَ لأَنْ يُقَالَ جَرِيءٌ فَقَدْ قِيلَ، ثُمَّ أُمِرَ بِهِ فَسُحِبَ عَلَى وَجْهِهِ حَتَّى أُلْقِيَ فِي النَّارِ. وَرَجُلٌ تَعَلَّمَ الْعِلْمَ وَعَلَّمَهُ وَقَرَأَ الْقُرْآنَ فَأُتِيَ بِهِ فَعَرَّفَهُ نِعَمَهُ فَعَرَفَهَا، قَالَ: فَمَا عَمِلْتَ فِيهَا؟ قَالَ: تَعَلَّمْتُ الْعِلْمَ وَعَلَّمْتُهُ وَقَرَأْتُ فِيكَ الْقُرْآنَ. قَالَ: كَذَبْتَ وَلَكِنَّكَ تَعَلَّمْتَ الْعِلْمَ لِيُقَالَ عَالِمٌ، وَقَرَأْتَ الْقُرْآنَ لِيُقَالَ هُوَ قَارِئٌ فَقَدْ قِيلَ، ثُمَّ أُمِرَ بِهِ فَسُحِبَ عَلَى وَجْهِهِ حَتَّى أُلْقِيَ فِي النَّارِ. وَرَجُلٌ وَسَّعَ اللَّهُ عَلَيْهِ وَأَعْطَاهُ مِنْ أَصْنَافِ الْمَالِ كُلِّهِ فَأُتِيَ بِهِ فَعَرَّفَهُ نِعَمَهُ فَعَرَفَهَا، قَالَ: فَمَا عَمِلْتَ فِيهَا؟ قَالَ: مَا تَرَكْتُ مِنْ سَبِيلٍ تُحِبُّ أَنْ يُنْفَقَ فِيهَا إِلَّا أَنْفَقْتُ فِيهَا لَكَ. قَالَ: كَذَبْتَ وَلَكِنَّكَ فَعَلْتَ لِيُقَالَ هُوَ جَوَادٌ فَقَدْ قِيلَ، ثُمَّ أُمِرَ بِهِ فَسُحِبَ عَلَى وَجْهِهِ، ثُمَّ أُلْقِيَ فِي النَّارِ»[vii]

    ความว่า “ในวันกิยามะฮฺ บุคคลกลุ่มแรกที่จะถูกพิพากษาคือ ผู้ที่ตายชะฮีด (ตายในสนามรบเพื่อศาสนาของอัลลอฮฺ) คนหนึ่ง พระองค์อัลลอฮฺทรงถามว่า “เราไม่ได้โปรดประทานความโปรดปรานต่างๆ เหล่านี้แก่เจ้าหรอกหรือ? เขาก็ยอมรับทุกอย่าง แล้วพระองค์ก็ทรงซักถามต่อไปอีกว่า “แล้วเจ้าได้รำลึกถึงพระคุณในความโปรดปรานต่างๆของเราอย่างไร?” เขาตอบว่า “ฉันได้ทำสงครามเพื่อศาสนาของพระองค์ จนฉันก็ได้สิ้นชีวิตเป็นชะฮีด(ในสงครามนั้น) พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า “เจ้าโกหก เจ้าออกทำสงครามนั้นก็ด้วยความตั้งใจเพื่อให้ผู้คนกล่าวขานว่าเจ้าเป็นนักรบ (ที่กล้าหาญ) แล้วเขาก็ถูกจับขว้างลงไปในนรกญะฮันนัม ต่อมาก็มีการสอบถามบุคคลผู้มีวิชาความรู้ เหมือนดังที่ถามบุคคลก่อนนั้นเช่นกัน แล้วเขาก็ยอมรับทุกอย่างแล้วถูกซักถามอีกว่า แล้วเจ้ารำลึกถึงพระคุณของเราอย่างไร ? เขาตอบว่า “ฉันได้ศึกษาเล่าเรียนในวิชาศาสนาอิสลามแล้วฉันก็ได้ทำการสั่งสอนมนุษย์เพื่อพระองค์เท่านั้น” พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า “เจ้าโกหกเจ้าศึกษาวิชาศาสนาเพื่อให้เขาเรียกเจ้าว่าเป็นอุลามาอ์(ผู้มีวิชาความรู้) และเจ้าก็อ่านอัลกุรอานเพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นกอรีย์” แล้วผู้นั้นก็ถูกจับโยนลงสู่ขุมมนรก ต่อมาบุคคลผู้ร่ำรวยคนหนึ่งก็ถูกเรียกไปสอบสวน การซักถามก็เหมือนกับคนก่อน (และในคำถามสุดท้ายเขาตอบว่า) “ฉันได้ใช้จ่ายบริจาคทรัพย์สมบัติของฉันเพื่อพระองค์อยู่เป็นเนืองนิตย์” พระองค์อัลลอฮฺทรงดำรัสว่า “เจ้าโกหกเจ้าใช้จ่ายทรัพย์สมบัติของเจ้าเพื่อจะให้ได้ชื่อว่าเป็นคนใจบุญ” แล้วเขาก็ถูกขว้างลงสู่นรกญะฮันนัมเช่นกัน”

    หลักฐานจากบรรดาสะลัฟศอลิหฺ

    ส่วนทัศนะของบรรดาสะลัฟศอลิหฺในเรื่องของการมีความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติอะมัลนั้นมีมากมาย แต่ผู้วิจัยขอหยิบยกที่สำคัญๆดังนี้

    อะลี อิบนฺ อบีฏอลิบ และอับดุลลอฮฺ อิบนฺ มัสอูด กล่าวว่า “คำพูดจะไร้ประโยชน์หากไม่มีการปฏิบัติ การปฏิบัติจะไร้ประโยชน์หากมิได้พูด ทั้งคำพูดและการปฏิบัติจะไร้ประโยชน์หากมิได้มีการตั้งเจตนา และการตั้งเจตนาจะไร้ประโยชน์หากมิได้สอดคล้องกับสุนนะฮฺ” (Muhammad Ibn al- Husain, 1403 :131)

    อุบาดะฮฺ อิบนฺ อัศ-ศอมิต[viii] กล่าวว่า “โลกดุนยาจะมาในวันกิยามะฮฺโดยจะกล่าวว่า “จงแยกแยะสิ่งใดที่ทำเพื่ออัลลอฮฺ และจงโยนทิ้งสิ่งอื่น (ที่ไม่ใช่เพื่ออัลลอฮฺ) ทั้งหมดในกองไฟ” (Hinad bin al-Sirri, 1406 : 2/436)

    ยะหฺยา อิบนฺ อะบีกะษีร[ix] กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงเรียนรู้ในเรื่องของการตั้งเจตนา เพราะแท้จริงการตั้งเจตนานั้นเป็นสิ่งที่จะทำให้บรรลุผลจากการปฏิบัติ” (al-Asbahani, 1400 : 3/70)

    ฟุฎ็อยลฺ อิบนฺ อิยาฎฺ[x] ได้อ่านอายะฮฺอัลกุรอานที่ว่า (บางส่วนจากอายะฮฺที่ 7 สูเราะฮฺฮูด และสูเราะฮฺอัลมุลกฺ อายะฮฺที่ 2) แล้วเขากล่าวว่า “มีความบริสุทธิ์ใจ และถูกต้อง” พวกเขากล่าวว่า “โอ้อบูอาลี อะไรคือมีความบริสุทธิ์ใจและถูกต้อง? ท่านฟุฎ็อยลฺ อิบนฺ อิยาฎ กล่าวว่า “เมื่อปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยกับความบริสุทธิ์ใจแต่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง การปฏิบัตินั้นก็จะไม่ถูกตอบรับ และหากปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ถูกต้องแต่ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ การปฏิบัตินั้นก็จะไม่ถูกตอบรับ จนกว่าจะมีทั้งความบริสุทธิ์ใจและความถูกต้อง ความบริสุทธิ์ใจคือ เมื่อปฏิบัติสิ่งใดก็เพื่ออัลลอฮฺ และความถูกต้องคือ เมื่อปฏิบัติสิ่งใดก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของสุนนะฮฺ”

    ซุบัยรฺ อัลยามีย์[xi] กล่าวว่า “แท้จริงจะเป็นที่รักยิ่งสำหรับฉันก็คือ การตั้งเจตนาในทุกๆ เรื่อง ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่เรื่องของอาหารก็ตาม...”

    หากเราพิจารณาจากอายะฮฺอัลกุรอาน อัสสุนนะฮฺของท่านเราะสูล และคำกล่าวของบรรดาสะลัฟศอลิหฺ เราจะพบว่าการตั้งเจตนาถือเป็นหัวใจของทุกกิจการ หากเริ่มต้นด้วยการตั้งเจตนาดี การงานทุกอย่างก็จะเป็นผลดีไปด้วย

    เงื่อนไขประการที่สอง : ต้องถูกต้องตามบทบัญญัติ

    เงื่อนไขประการที่สองจะเกี่ยวข้องกับหลักการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติของจิตใจที่เรียกว่าการยึดมั่น หรือการปฏิบัติของอวัยวะภายนอกที่แสดงออกด้วยการกระทำ ซึ่งทั้งสองนี้จะรวมอยู่ในกระบวนการอิบาดะฮฺ กล่าวคือ อีมานคือการยอมรับด้วยจิตใจ การกล่าวด้วยวาจา และการแสดงออกด้วยการกระทำ ดังนั้น ทุกส่วนของอิบาดะฮฺจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามสิ่งที่มีระบุอยู่ในบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ที่ทรงให้ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมเป็นผู้นำมาเผยแผ่ให้กับมวลมนุษยชาติ

    ต่อไปนี้ ผู้วิจัยจะขอนำเสนอหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติ ทั้งจากอัลกุรอาน อัลหะดีษ และคำกล่าวของบรรดาสะลัฟ ซึ่งทั้งหมดนั้นมีเป็นจำนวนมาก แต่ผู้วิจัยจะขอนำเสนอเฉพาะหลักฐานที่สำคัญ ดังนี้

    หลักฐานจากอัลกุรอาน

    หลักฐานจากอัลกุรอานที่ยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของอัลลอฮฺ มีจำนวนมาก ที่สำคัญมีดังนี้

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    «وَأَنَّ هَذَا صِرَاطِي مُسْتَقِيمًا فَاتَّبِعُوهُ وَلا تَتَّبِعُوا السُّبُلَ فَتَفَرَّقَ بِكُمْ عَنْ سَبِيلِهِ ذَلِكُمْ وَصَّاكُمْ بِهِ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ»

    ความว่า “และแท้จริง นี่คือเส้นทางของข้าอันเที่ยงตรง ดังนั้นพวกเจ้าจงปฏิบัติตามมันเถิด และจงอย่าปฏิบัติตามเส้นทางอื่นๆ เพราะมันจะทำให้พวกเจ้าแยกออกจากทางของพระองค์ นั้นแหละที่พระองค์ได้สั่งเสียมันไว้แก่พวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะยำเกรง” (สูเราะฮฺอัลอันอาม อายะฮฺที่ 153)

    อัลลอฮฺได้ตรัสอีกว่า

    «الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ الإسْلامَ دِينًا»

    ความว่า “วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้วซึ่งศาสนาของพวกเจ้า และข้าได้ให้ความครบถ้วนแก่พวกเจ้าซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาของพวกเจ้าแล้ว...” (ส่วนหนึ่งจากอายะฮฺที่ 3 สูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ)

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    «قُلْ إِِنْ كُنْتُمْ تُحِبُّونَ اللَّهَ فَاتَّبِعُونِي يُحْبِبْكُمُ اللَّهُ»

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มูฮัมหมัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮฺ ก็จงปฏิบัติตามฉัน แล้วอัลลอฮฺจะทรงรักพวกท่าน...” (ส่วนหนึ่งจากอายะฮฺที่ 31 ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน)

    และอัลลอฮฺตรัสว่า

    «وَمَنْ أَحْسَنُ دِينًا مِمَّنْ أَسْلَمَ وَجْهَهُ لِلَّهِ وَهُوَ مُحْسِنٌ وَاتَّبَعَ مِلَّةَ إِبْرَاهِيمَ حَنِيفًا»

    ความว่า “และผู้ใดเล่าจะมีศาสนาดียิ่งไปกว่าผู้ที่มอบใบหน้าของเขาให้แก่อัลลอฮฺ และขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้กระทำดี และปฏิบัติตามแนวทางของอิบรอฮีมอย่างบริสุทธิ์” (ส่วนหนึ่งจากอายะฮฺที่ 125 สูเราะฮฺอันนิซาอฺ)

    และอัลลอฮฺตรัสว่า

    «فَإِمَّا يَأْتِيَنَّكُمْ مِنِّي هُدًى فَمَنِ اتَّبَعَ هُدَايَ فَلا يَضِلُّ وَلا يَشْقَى، وَمَنْ أَعْرَضَ عَنْ ذِكْرِي فَإِنَّ لَهُ مَعِيشَةً ضَنْكًا وَنَحْشُرُهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ أَعْمَى»

    ความว่า “บางทีเมื่อมีคำแนะนำ (ฮิดายะฮฺ) จากข้ามายังพวกเจ้าแล้วผู้ใดปฏิบัติตามคำแนะนำ (ฮิดายะฮฺ) ของข้า เขาก็จะไม่หลงผิด และจะไม่ได้รับความลำบาก และผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงข้า แท้จริงสำหรับเขาคือการมีชีวิตอยู่อย่างคับแค้น และเราจะให้เขาฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮฺในสภาพของคนตาบอด” (ส่วนหนึ่งจากอายะฮฺที่ 123-124 สูเราะฮฺฏอฮา)

    และอัลลอฮฺตรัสว่า

    «قُلْ إِنَّمَا أَتَّبِعُ مَا يُوحَى إِلَيَّ مِنْ رَبِّي»

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มูฮัมหมัด) ว่า แท้จริงฉันจะปฏิบัติตามเฉพาะสิ่งที่ถูกให้เป็นโองการแก่ฉันจากพระผู้เป็นเจ้าของฉัน...” (ส่วนหนึ่งจากอายะฮฺที่ 203 สูเราะฮฺ อัลอะอฺรอฟ)

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    «اتَّبِعْ مَا أُوحِيَ إِلَيْكَ مِنْ رَبِّكَ لا إِلَهَ إِلا هُوَ وَأَعْرِضْ عَنِ الْمُشْرِكِينَ»

    ความว่า “จงปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้าจากพระเจ้าของเจ้าเถิด ไม่มีผู้ใดที่ควรได้รับการเคารพสักการะใดๆ นอกจากพระองค์เท่านั้น และเจ้าจงผินหลังให้แก่บรรดาผู้ตั้งภาคีเถิด” (สูเราะฮฺอัลอันอาม อายะฮฺที่ 106)

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    «المص، كِتَابٌ أُنْزِلَ إِلَيْكَ فَلا يَكُنْ فِي صَدْرِكَ حَرَجٌ مِنْهُ لِتُنْذِرَ بِهِ وَذِكْرَى لِلْمُؤْمِنِينَ، اتَّبِعُوا مَا أُنْزِلَ إِلَيْكُمْ مِنْ رَبِّكُمْ وَلا تَتَّبِعُوا مِنْ دُونِهِ أَوْلِيَاءَ قَلِيلا مَا تَذَكَّرُونَ»

    ความว่า “อะลิฟ ลาม มีม ศอด, คัมภีร์ฉบับหนึ่งซึ่งถูกประทานลงมาแก่เจ้า ดังนั้นจงอย่าให้ความอึดอัดเนื่องจากคัมภีร์นั้นมีอยู่ในหัวอกของเจ้า ทั้งนี้เพื่อเจ้าจะได้ใช้คัมภีร์นั้นตักเตือน (ผู้คน) และเพื่อเป็นข้อเตือนใจแก่ผู้ศรัทธาทั้งหลาย, พวกเจ้าจงปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่พวกเจ้าจากพระเจ้าของพวกเจ้าเถิด และอย่าปฏิบัติตามบรรดาผู้คุ้มครองใดๆ อื่นจากพระองค์ ส่วนน้อยจากพวกเจ้าเท่านั้นที่จะรำลึก” (สูเราะฮฺอัลอะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 1-3)

    หลักฐานจากอัลหะดีษ

    ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

    «تَرَكْتُ فِيكُمْ أَمْرَيْنِ لَنْ تَضِلُّوا مَا تَمَسَّكْتُمْ بِهِمَا كِتَابَ اللَّهِ وَسُنَّةَ نَبِيِّهِ»[xii]

    ความว่า “ฉันได้ทิ้งไว้สำหรับพวกท่านสองประการ ซึ่งถ้าพวกท่านยึดมันไว้ให้มั่น (ในบางสำนวนใช้คำว่า กัดมันด้วยฟันกราม) แล้วจะไม่หลงทาง คือ กิตาบุลลอฮฺ(อัลกุรอาน) และแบบฉบับนบีของพระองค์”

    ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวคุตบะฮฺในวันอีด ซึ่งตอนหนึ่งท่านได้กล่าวว่า

    «أَمَّا بَعْدُ فَإِنَّ خَيْرَ الْحَدِيثِ كِتَابُ اللَّهِ، وَخَيْرَ الْهُدَى هُدَى مُحَمَّدٍ، وَشَرَّ الأُمُورِ مُحْدَثَاتُهَا، وَكُلَّ بِدْعَةٍ ضَلاَلَةٌ» وفي رواية النسائي : «وَكُلَّ ضَلاَلَةٍ فِي النَّارِ»[xiii]

    ความว่า “อนึ่ง ดังนั้น แท้จริงคำกล่าวที่ประเสริฐที่สุดก็คือ อัลกุรอาน และทางนำที่ดีที่สุดคือทางนำของมูฮัมหมัด และการงานต่าง ๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่นั้นเป็นสิ่งที่ชั่วช้า และทุก ๆ อุตรินั้นเป็นการหลงผิด” และในสำนวนของนะสาอีย์เพิ่มคำว่า “และทุกๆ การหลงผิดนั้นคือการลงนรก”

    ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวเกี่ยวกับผู้ที่อุตริสิ่งใดขึ้นในศาสนาว่า

    «مَنْ أَحْدَثَ فِي أَمْرِنَا هَذَا مَا لَيْسَ مِنْهُ فَهُوَ رَدٌّ»[xiv]

    ความว่า “ผู้ใดประดิษฐ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งในกิจการศาสนาของพวกเรา ซึ่งเราไม่ได้สั่ง ดังนั้น สิ่งนั้นจะถูกผลักไส”

    «مَنْ عَمِلَ عَمَلاً لَيْسَ عَلَيْهِ أَمْرُنَا فَهُوَ رَدٌّ»[xv]

    ความว่า “ผู้ใดกระทำกิจการใดกิจการหนึ่ง ซึ่งไม่มีระบุในคำสั่งของเรา ดังนั้นกิจการนั้นจะถูกผลักไส”

    ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวเกี่ยวกับผู้ที่แสวงหาแนวทางใหม่จากอิสลามว่า

    «مَنْ رَغِبَ عَنْ سُنَّتِي فَلَيْسَ مِنِّي»[xvi]

    ความว่า “ผู้ใดรังเกียจแนวทางของฉัน ดังนั้นเขาไม่ใช่พวกของฉัน”

    ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำชับอุมมะฮฺ (ประชาชาติ) ของท่านไม่ให้มีการเพิ่มกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาหลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยท่านกล่าวว่า

    «لَقَدْ تَرَكْتُكُمْ عَلَى مِثْلِ الْبَيْضَاءِ، لَيْلُهَا كَنَهَارِهَا لاَ يَزِيْغُ بَعْدِي عَنْهَا إِلاَّ هَالِكٌ»[xvii]

    ความว่า “แท้จริงฉันได้ทิ้ง (คำสอนของฉัน) ไว้กับพวกท่านเสมือนแสงสว่าง ซึ่งกลางคืนของมัน (จะสว่างไสวและชัดเจน) เหมือนกับกลางวัน จะไม่ผู้ใดที่เบี่ยงเบนออกจากมันหลังจากที่ฉันเสียชีวิตไปแล้ว เว้นแต่เขาเป็นผู้ที่พินาศ”

    จากบรรดาหะดีษต่างๆ ข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ให้ความสำคัญกับบทบัญญัติของอัลลอฮฺที่ท่านได้นำมาเผยแผ่ให้กับมวลมนุษย์ ซึ่งเป็นแบบฉบับอันสมบูรณ์และสูงส่งยิ่งสำหรับมุสลิมใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต โดยท่านได้กำชับให้มุสลิมยึดมั่นกับสองสิ่ง นั่นคือ อัลกุรอานและอัสสุนนะฮฺหรือแบบฉบับของท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในบางสำนวนของหะดีษจะใช้คำว่า “กัดมันด้วยฟันกราม” เพื่อเป็นการสั่งกำชับว่า ต้องยึดมั่นกับทั้งสองสิ่งอย่างเหนียวแน่นและจริงจังที่สุด

    ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังชี้ให้เห็นว่า ไม่มีคำพูดใดจะสัจจริงและดียิ่งกว่าคำตรัสของอัลลอฮฺ นั้นก็คือ อัลกุรอาน และไม่มีทางนำใดจะเที่ยงตรง และถูกต้องเท่ากับทางนำของท่านมูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งเป็นเราะสูลของอัลลอฮฺ ดังนั้นจำเป็นที่มุสลิมทุกคนจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จะแสวงหาทางนำอื่นจากนี้มิได้ และห้ามมิให้ผู้ใดอุตริสิ่งใดขึ้นในศาสนาหลังจากที่ท่านศาสนทูตเสียชีวิตไปแล้ว เพราะโดยหลักการแล้ว ถือว่าการอุตรินั้นเป็นสิ่งที่ชั่วช้า ซึ่งสิ่งที่ชั่วช้านั้นจะนำมาซึ่งความหลงผิด และความหลงผิดนี้เองที่จะนำพาไปสู่หนทางที่จะทำให้ตกอยู่ในนรก

    หลักฐานจากบรรดาสะลัฟ

    ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าคำ กล่าวของบรรดาสะลัฟนั้นมีมากมาย ซึ่งผู้วิจัยขอหยิบยกมาเพียงที่สำคัญดังนี้

    อบูบักร์ อัศศิดดีก[xviii] ได้กล่าวบนมินบัร หลังจากที่บรรดามุสลิมีนได้มาให้สัตยาบันกับท่านว่า “อนึ่ง อัลลอฮฺทรงเลือกสำหรับเราะสูลของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สิ่งนั้นคือกิตาบุลลอฮฺ (อัลกุรอาน) ที่อัลลอฮฺทรงให้มันเป็นทางนำสำหรับเราะสูลของพวกท่าน ดังนั้นจงยึดมั่นกับมันแล้วท่านจะได้รับทางนำ เพราะแท้จริงอัลลอฮฺทรงให้ทางนำด้วยอัลกุรอานแก่เราะสูลของพระองค์แล้ว”[xix]

    อับดุลลอฮฺ อิบนฺ มัสอูด[xx] กล่าวว่า “แท้จริงเราเป็นผู้ปฏิบัติตาม มิใช่เป็นผู้ริเริ่ม และเราเป็นผู้ตามเราจะไม่อุตริ และเราจะไม่เป็นผู้ที่หลงทางจากสิ่งที่เรายึดมั่นด้วยกับคำสั่งนี้” (al-Lalaka’iy, n.d. :1/86)

    อบู อัลอาลียะฮฺ[xxi] กล่าวว่า “พวกท่านจงเรียนรู้เกี่ยวกับอิสลาม เมื่อพวกท่านเรียนรู้มันก็จงอย่าแสวงหาแนวทางอื่นจากมัน และสำหรับพวกท่านคือแนวทางอันเที่ยงตรง ดังนั้นแท้จริงมันคืออิสลาม พวกท่านอย่าได้หันเหออกจากอิสลามคือไปทางซ้ายทีขวาที และสำหรับพวกท่านคือแนวทางของนบีของพวกท่านและเศาะหาบะฮฺของท่าน และท่านจงเกรงกลัวการปฏิบัติตามอารมณ์ ซึ่งมันจะทำให้มนุษย์ต้องเผชิญกับการเป็นศัตรูและความเกลียดชัง...” (al-Lalaka’iy, n.d. : 1/56 ; Ibn Waddah, 1402 : 32)

    อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อับบาส กล่าวว่า “ผู้ใดศึกษาอัลกุรอาน และปฏิบัติตามในสิ่งที่มีอยู่ในมัน อัลลอฮฺจะทรงชี้ทางนำสำหรับเขาจากการหลงผิดในโลกดุนยา และปกป้องเขาให้พ้นจากการลงโทษในวันกิยามะฮฺ” (al-Albani,1399 : 1/67)

    มูฮัมหมัด อิบนฺ สีรีน[xxii] กล่าวว่า “พวกเขามีความเห็นว่าได้เดินอยู่ในหนทางซึ่งเหมือนกับได้ดำเนินอยู่ในแนวทางของสุนนะฮฺ” (al-Lalaka’iy, nd. : 1/67)

    อุมัร อิบนฺ อัลดุลอะซีซ[xxiii] กล่าวว่า “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งหลังจากที่ท่านนบีเสียชีวิต (เคาะลีฟะฮฺ) ได้วางแนวทางไว้หลายแนวทาง การยึดปฏิบัติตามอัลกุรอานของอัลลอฮฺ การภักดีต่อพระองค์ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ การเข้มแข็งในศาสนาของพระองค์ ไม่อนุญาตให้ผู้ใดจากสิ่งถูกสร้างทำการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขมัน และห้ามมิให้มองสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ขัดแย้งกับมัน ผู้ใดที่ได้รับทางนำจากมัน เขาคือผู้ได้รับทางนำ ผู้ใดได้รับการช่วยเหลือจากมันเขาก็เป็นผู้ได้รับการช่วยเหลือ และผู้ใดละทิ้งมันโดยปฏิบัติตามแนวทางอื่นจากแนวทางของบรรดาผู้ศรัทธา อัลลอฮฺจะทรงห่างไกลจากพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาห่างไกล และอัลลอฮฺจะทรงโยนพวกเขาในนรกญะฮันนัมซึ่งเป็นที่อาศัยที่ชั่วร้ายที่สุด” (Muhammad Ibn al-Husain, 1403 : 65 ; al-Lalaka’iy, n.d. : 1/94)

    จากคำกล่าวของบรรดาสะลัฟที่กล่าวถึงเงื่อนไขของการรับการงานต่างๆ ในเรื่องของการปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาชี้ให้เห็นว่า ทุกๆกิจการจำเป็นต้องมาจากอัลกุรอานและอัสสุนนะฮฺของท่านศาสนทูต ซึ่งเป็นทางนำและแนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จทั้งโลกนี้และโลกหน้า

    จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นเกี่ยวกับเงื่อนไขที่จะทำให้อัลลอฮฺทรงรับการปฏิบัติอามัลต่างๆ ทำให้เราทราบได้ว่าศาสนาอิสลามนั้นวางอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญสองประการคือ

    ประการที่หนึ่งคือ ต้องปฏิบัติภักดีต่ออัลลอฮฺ เพียงพระองค์เดียวโดยที่ไม่นำสิ่งใดมาเป็นภาคีกับพระองค์

    ประการที่สองคือ การปฏิบัติภักดีต่ออัลลอฮฺ จะต้องเป็นสิ่งที่ศาสนาบัญญัติได้ไว้เท่านั้น (Ibn Taymiah, n.d. : 1/189)

    สิ่งสำคัญทั้งสองประการนี้มีความเกี่ยวพันกับการศรัทธาซึ่งเป็นรุก่นหรือเงื่อนไขประการแรกของศาสนา ดังที่ ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺได้กล่าวว่า “ศาสนาอิสลามนั้นตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานสองประการที่จะยืนยันถึงการปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺและมูฮัมหมัดเป็นเราะสูลของพระองค์ ประการแรกคือ ห้ามมิให้นำสิ่งอื่นมาเป็นพระเจ้าพร้อมกับอัลลอฮฺ... และประการที่สองคือการภักดีต่อพระองค์ด้วยบทบัญญัติที่มาจากท่านเราะสูลของพระองค์..." (Ibn Taymiah, n.d. : 1/311, 1/333, 1/154, 3/124, 10/173, 10/213-217, 274, 11/617, 26/151-153)

    สรุป

    จากการนำเสนอข้อมูลเรื่อง จะทำอย่างไรให้อิบาดะฮฺถูกตอบรับ สามารถสรุปได้ว่าอิบาดะฮฺที่อัลลอฮฺจะทรงตอบรับจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขสองประการ คือ ประการที่หนึ่ง จะต้องมีความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติ และประการที่สองจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติ (ตรงตามอัลกุรอานและสุนนะฮฺ) และจากสองประการดังกล่าวสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้

    เงื่อนไขของความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ

    อัลลอฮฺทรงใช้ให้บ่าวของพระองค์ปฏิบัติอิบาดะฮฺต่อพระองค์ด้วยความบริสุทธิ์ใจในทุกสิ่ง เพราะการมีเจตนาอันบริสุทธิ์เป็นหัวหน้าของกิจการงานต่างๆ หากจะถามว่าเหตุใดอัลลอฮฺ ถึงได้วางกฎเกณฑ์นี้ให้เป็นเงื่อนไขแรกในการตอบรับอิบาดะฮฺของมนุษย์ คำตอบคือ เมื่อมนุษย์ปฏิบัติกิจการใดๆโดยไม่ได้หวังว่าจะได้รับการตอบแทนจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียวแล้ว มนุษย์ก็จะปฏิบัติไปเพื่อให้มนุษย์ด้วยกันมองเห็น และเพื่อที่จะได้รับการสรรเสริญเยินยอจากคนรอบข้าง ด้วยเหตุนี้เขาก็จะรู้สึกว่าตนเองนั้นเป็นผู้ที่สูงศักดิ์ ควรค่าแก่การสรรเสริญ ทั้งๆที่ผู้ที่ควรค่าแก่การสรรเสริญที่สุดคืออัลลอฮฺ และหากเป็นเช่นนั้นแล้วเขาก็จะคิดว่าตนเองนั้นเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ ความหยิ่งยโส ความทะนงตนก็จะมาอยู่ในตัวเขา หลังจากนั้นเขาก็จะเป็นผู้ที่ตั้งตนเองเป็นพระเจ้าโดยที่เขานั้นไม่รู้ตัว

    เงื่อนไขในการปฏิบัติตามบทบัญญัติ

    การปฏิบัติตามที่มีระบุในบทบัญญัติ ทั้งจากอัลกุรอาน และอัสสุนนะฮฺ เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่อัลลอฮฺจะพิจารณาตอบรับการปฏิบัติอิบาดะฮฺของบ่าวของพระองค์ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็คือ เหตุผลที่อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ได้ตั้งกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติ ก็เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างประชาชาติของท่านกับบุคคลที่ยึดมั่นกับแนวทางอื่นๆที่มิใช่อิสลาม และหากไม่มีกฎเกณฑ์ดังกล่าว มนุษย์ก็จะประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่ตนเองคิดว่าดีมาปฏิบัติ ทั้งๆ ที่เขาไม่รู้ว่าสิ่งนั้นอาจทำลายตัวเขา และกลุ่มชนของเขาก็เป็นได้ ฉะนั้น การปฏิบัติตามบทบัญญัติจึงเป็นเงื่อนไขประการสำคัญสำหรับการตอบรับอิบาดะฮฺ

    ดังนั้น เมื่อใดที่อิบาดะฮฺหรือการปฏิบัติใดก็ตามที่เป็นการภักดีต่ออัลลอฮฺสอดคล้องกับเงื่อนไขสองประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว การกระทำนั้นจะเป็นที่ตอบรับของอัลลอฮฺ อินชาอัลลอฮฺ และเมื่อการงานของเขาถูกตอบรับจากอัลลอฮฺ เขาก็จะเป็นผู้ที่ได้รับความโปรดปรานจากพระองค์ทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ และการตอบแทนสำหรับเขาตามที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงสัญญาไว้ก็คือ สวนสวรรค์สถานที่พำนักที่ถาวรอันบรมสุข

    เอกสารอ้างอิง

    พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

    นักเรียนเก่าอาหรับ, สมาคม. 1419. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานพร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย. มะดีนะฮฺ : ศูนย์กษัตริย์ฟะฮัด เพื่อการพิมพ์อัลกุรอาน.

    Ibn Majah, Muhammad bin Yazid al-Qazwiniy. Sunan Ibn Majah. Bairut : al-Maktaabah al-‘Ilmiah.

    Abu Dawud, Sulaiman bin al-Asy‘ath al-Sijistani. 1986. Sunan abi Dawud Hims : Dar al-Hadith.

    al-Albani, Muhammad Nasir Addin Al-albani. 1992. Ahkam al-Yanaizz Wa Bid’uha. Al-riyad : Maktab al-Maarif.

    --------------. 1399. Mishkah al-Masabih li Katib al-Tibrizi. Bairut : al-maktab al-Islami.

    al-Asbihani, Abi Na’iem al-Asbihani. 1400. Hulliah al-Aoliya’a Wa Tabaqat al-Asfiya’a. 3 th ed. Bairut : Dar al-Kutub al-‘Arabi.

    al-‘Asqallani, Ibn Hajar Al-‘asqallani. n.d. al-Isabah Fi Tamjiz al-Sahabah. Bairut : Dar al-Kitab al-‘Arabi.

    --------------. 1325. Tahdhib al-Tahdhib.

    al-Bukhariy. Ahmad bin Ismail bin al-Mughyrah. al-Jami‘ al-Sahih. Al-Qahirah: Dar ‘Ihya’ al-Kutub al-‘Arabiah.

    al-Dhahabi. 1402. Siru al-A‘alam al-Nibla. Bairut : Muassasah al-Risalah.

    --------------. 1405. al-‘Ibru fi Kabar Min Khabar. Dar al-Kutub al-‘Ilmiah.

    al-Ghomidi, Said Ibn Nasir al-Ghomidi. 1994. Hakikoh al-Bidah Wa Ahkamuha. al-Riyad : Maktabah al-Rushd.

    al-Hanbali , Ibn al-‘Imad al-Hanbali. n.d. Shadharat al-Dhahabi. Bairut : Dar al-afaq al-Jadidah.

    al-Lalaka’iy, ٍAbi al-Kasim Al-Lalaka’iy. n.d. Shar Usul al- I’tikad Wa Ahl al-sunnah Wa al-Jama‘ah. Al-riyad : Dar Taiyibah.

    al-Nasa‘iy, Abu Abd al-Rahman bin Syu‘ayb. 1964. Sunan al-Nasa‘iy. Mesr : Syarikah Maktabah Wa al-Mayba‘ah Mustafa.

    al-Qurtubi, Shamsuddin Abi Abd-allah Muhammad Ibn Ahmad Ibn Abibak Farh al-qurtubi. 1999. al-Tazkirah Ahwak al-Maota Wa Umur al- Akirah. Bairut : Dar Ibn Kathir.

    al-Zirigli, 1980. Al-a’alam. n.d. : Dar al-Ilm Li al-Malayin.

    Hinad bin al-Sari. 1406. Al-Zuhd. s.l. : Dar al-Kulafa‘a li al-Kitab al-Islamiy.

    Ibn Kalkan, Ibn Kalkan abu al-‘Abbas Shamsuddin Ahmad. n.d. Wifayat al-A‘ayan Wa Abna‘a al-Zaman. Bairut : Dar Sadir.

    Ibn Kathir, 1983. Tafsir al-Qur’an al ‘Athim. Bairut : Dar al-Andalus.

    -----------------, 1966. al-Bidayah Wa al-Nihayah. Bairut : Maktabah al-Ma’arif.

    Ibn Manie‘a, Ibn Sa‘ad Muhammad bin Sa‘ad Ibn Manie‘a. n.d. Tabaqat al-Kubra. Bairut : Dar Sadirah li Nashr.

    Ibn Qayyim, Ibn Qayyim Al-Yaozi, 1392. Madarij al-Salikin Byn Manazil Iyaka na’budu Wa Iyaka nasta-een. Bairut : Dar Al-Kutub Al-Arabi.

    Ibn Taamiah, Ahmad Ibn Taymiah. 1404. Majmu’a Fatawa. Khahirah : Dar al-Masahah al-‘Askariah.

    Ibn Waddah. 1402. al-bid‘a Wa al-Nahy ‘Anha. Bairut : Dar al-Raid al-Arabi.

    Muhammad Ibn al- Husain. 1403. Shari‘ah li al-‘Ajizi. Bairut : Dar al-Kutub al-‘Ilmiah.

    Muslim, Muslim bin al-Hajjaj al-Qusyaayriy. 1410-1981. Sahih Muslim. Al-Qahirah : Dar al-Maktabah.

    เชิงอรรถ

    [i] อิบนุกะษีร คือ อิสมาอีล อิบนฺ อุมัร อิบนฺ กะษีร อิบนฺ ดัรอฺ อัลกุรชีย์ อัดดิมัชกีย์ อะบุลฟิดาอ์ เขาเป็นนักท่องจำอัลกุรอาน นักประวัติศาสตร์ นักนิติศาสตร์ นักอรรถาธิบายอัลกุรอาน เกิดในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 701 เป็นผู้ที่มีความใฝ่รู้ตั้งแต่ยังเยาว์วัย และได้แต่งตำราไว้มากมาย ประชาชนได้คัดลอกตำราของเขาในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ เสียชีวิตที่ดามัสกัสในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 774 (Ibn al-‘Imad al-Hanbali, n.d. : 6/231 ; Ibn Kathir, 1966 : 14/31,46 ; al-Zirigli, n.d. : 1/320)

    [ii] หะดีษบันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 1, 52, 6439, 4682 มุสลิม หมายเลข 3530 และอบูดาวูด หมายเลข 1882

    [iii] เป็นส่วนหนึ่งของหะดีษที่บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ หมายเลข 226 , 3047 อัดดาริมีย์ หมายเลข 229, 230, 231, 232 และอะห์มัด หมายเลข 16138, 16153, 20608

    [iv] หะดีษกุดซีย์ คือหะดีษที่ท่านนบีพาดพิงถึงอัลลอฮฺโดยระบุว่า อัลลอฮฺทรงเป็นผู้ดำรัส (ดูอัฏเฏาะฮาน ตัยสีรอัลมุศเฏาะละฮฺ หน้า 20)

    [v] หะดีษบันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 5300

    [vi] หะดีษบันทึกโดยอันนะสาอีย์ หมายเลข 3089 อัลอัลบานีย์กล่าวว่า หะดีษเศาะฮีหฺ (เศาะฮีหฺ สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ 2/138)

    [vii] หะดีษรายงานโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ1905 อัตติรมีซีย์ หมายเลข 2948 อันนะสาอีย์ หมายเลข 3138 และอะห์มัด หมายเลข 8078

    [viii] คือ อุบาดะฮฺ อิบนฺ อัศศอมิต อิบนฺ กอยสฺ อิบนฺ อัษรอม อัลคอซรอญีย์ อัลอันศอรีย์ เป็นบุคคลต้น ๆ ในการรวบรวมอัลกุรอานในสมัยของท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านอุมัรได้ส่งเขาไปยังปาเลสไตน์เพื่อทำการสอนอัลกุรอาน และอาศัยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสียชีวิตที่อัรรอมละอฺในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่34 (al-‘Asqallani, n.d. : 2/260-261 ; al-‘Asqallani, 1325 : 5/111-112 ; al-Dhahabi, 1402 : 2/5-11)

    [ix] คือ ยะห์ยา อิบนฺ ศอและฮฺ อัฏฏออีย์ อัลยะมานีย์ อะบูนัศรฺ อิบนฺ อะบีกะษีร เป็นนักปราชญ์ชาวยะมามะฮฺ เป็นตาบีอีน เป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ (ثقة) ในด้านการรายงานหะดีษ เสียชีวิตในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 129 (Ibn Manie‘a, n.d. : 5/555 ; al-‘Asqallani, 1325 : 11/268)

    [x] คือ อบูอาลีย์ อัลฟะฎีล อิบนฺ อิยาฎ อิบนฺ มัสอูด อัฏฏอลิกอนีย์ เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่น เป็นนักอิบาดะฮฺ มีความน่าเชื่อถือได้ และเป็นอิมามผู้มีชื่อเสียง เสียชีวิตในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 187 (al-Asbihani, 1400 : 8/84 ; al-Dhahabi, 1402 : 8/421; al-‘Asqallani, 1325 : 8/294 ; Ibn Kalkan, n.d. : 4/47)

    [xi] คือ อัซซุบัยรฺ อิบนฺ อัลหาริษ อิบนฺ อัลดุลการีม อิบนฺ อัมรฺ อิบนฺ กะอบฺ อัลยามีย์ เขาเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้ เป็นตาบีอีน เสียชีวิตในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 123 (al-‘Asqallani, 1325 : 3/310-311 ; Ibn Hajar, 1395 : 1/257 , al-Dhahabi, 1405 : 1/119)

    [xii] หะดีษบันทึกโดยมาลิก ในอัลมุวัฏเฏาะ หมายเลข 1395 ดู อัลมิชกาฮฺ อัลมะศอบีฮฺ ของ อัลอัลบานีย์ หมายเลข 1/66

    [xiii] หะดีษบันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1435 อบูดาวูด หมายเลข 3991 อัตติรมีซีย์ หมายเลข 5/44 อิบนุมาญะฮฺ หมายเลข 44, 45 อัดดารีมีย์ หมายเลข 208 และอะห์มัด 13815, 13909, 14455 และในสำนวนของอันนะสาอีย์ หมายเลข 1560 และอัลอัลบานีย์ กล่าวในหนังสือมิชกาฮฺ อัลมะศอบีฮฺว่า : การเพิ่มของอันนะสาอีย์นั้น ศอเหี้ยะห์

    [xiv] หะดีษบันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 2499 มุสลิม หมายเลข 3242 อบูดาวูด หมายเลข 3990 อะห์มัด หมายเลข 24840, 25124

    [xv] หะดีษบันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 3243

    [xvi] หะดีษบันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 4675 มุสลิม หมายเลข 2487 อันนะสาอีย์ 3165 อัดดาริมีย์ หมายเลข 2075 และอะห์มัด หมายเลข 6188, 13045, 13230, 13534, 22376.

    [xvii] หะดีษบันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ หมายเลข 5 อัลหากิม หมายเลข 1/96 ท่านอัลหากิม กล่าวว่า หะดีษเศาะฮีหฺ และท่านซะฮะบีย์ เห็นด้วย และบันทึกโดยอะห์มัด หมายเลข 16519

    [xviii] คือ อบูบักร์ เป็นผู้ปกครองหรือเคาลีฟะฮฺในรัฐอิสลามคนแรกหลังจากที่ท่านศาสนทูตเสียชีวิต เสียชีวิตในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 13 ศพของท่านฝังอยู่เคียงข้างท่านเราะสูล

    [xix] รายงานโดยบุคอรีย์ ในกิตาบอัลอิอฺติศอม หมายเลข 6727

    [xx] คือ อับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอูด เป็นเศาะหาบะฮฺ ใช้ชีวิตร่วมกันท่านศาสนทูตและร่วมทำสงครามต่าง ๆ พร้อมกับท่าน

    [xxi] คือ รอฟิอฺ อิบนฺ มะฮฺรอน อะบู อัลอาลียะฮฺ อัรริยาฮีย์ อยู่ทันในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เข้ารับอิสลามในวัยหนุ่ม ในช่วงการปกครองของ เคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ มีหลายทัศนะขัดแย้งกันในเรื่องปีตายของเขา แต่ทัศนะส่วนมากมีความเห็นว่าเขาเสียชีวิตในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 90 (al-‘Asqallani, 1325 : 4/284-286 ; al-Dhahabi, 1402 : 4/207-213)

    [xxii] คือ ชัยคฺ อัลอิสลาม อบูบักรฺ อัลอันศอรีย์ ทาสของอนัส อิบนฺ มาลิก เกิดในช่วงที่ท่านอุมัร อิบนฺ คอฏฏอบ เป็นเคาะลีฟะฮฺ เป็นผู้ที่ท่านอนัส อิบนฺ มาลิก สั่งเสียให้เขาทำหน้าที่อาบน้ำศพและละหมาดให้กับเขาภายหลังจากที่เขาเสียชีวิต เสียชีวิตในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 110 ที่บัศเราะฮฺ (al-Dhahabi, 1402 : 4/606 ; al-‘Asqallani, 1325 : 9/214 ; Ibn Kalkan, n.d. : 4/181)

    [xxiii] คือ อัลอิมาม อัลลามะฮฺ ผู้ปกครองบรรดามุสลิมีนในยุคสมัยของราชวงศ์อับบาสียะฮฺ ซึ่งเขาเป็นทั้งผู้นำในด้านการญิฮาดและการวินิจฉัยข้อชี้ขาด และถือเป็นเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรม เสียชีวิตในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 101 (al-Dhahabi, 1402 : 5/114 ; al-‘Asqallani, 1325 : 3/88 ; al-Asbihani, 1400 : 5/253 ; Ibn Manie‘a, n.d. : 5/330 ; al-Hanbali, n.d. : 1/119)