×
บทความแนะนำแนวคิดกลุ่มอัล-อิบาฎียะฮฺโดยสรุป อาทิ นิยามกลุ่ม ผู้ก่อตั้งแนวคิด คุณลักษณะเฉพาะ ปราชญ์ในแนวคิดนี้ และบททบทวนบางประการเกี่ยวกับแนวความคิดของกลุ่มนี้

    นิยามและความเชื่อกลุ่มแนวคิด อัล-อิบาฎียะฮฺ

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    สภายุวมุสลิมโลก WAMY

    แปลโดย : อันวา สะอุ

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือ อัล-เมาสูอะฮฺ อัล-มุยัสสะเราะฮฺ ฟี อัล-อัดยาน วะ อัล-มะซาฮิบ วะ อัล-อะห์ซาบ อัล-มุอาศิเราะฮฺ

    2011 - 1432

    ﴿ الإباضية ﴾

    « باللغة التايلاندية »

    الندوة العالمية للشباب الإسلامي

    ترجمة: أنور إسماعيل

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب الموسوعة الميسرة في الأديان والمذاهب والأحزاب المعاصرة

    2011 - 1432

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    อัล-อิบาฎียะฮฺ

    นิยาม

    อัล-อิบาฎียะฮฺ คือ กลุ่มหนึ่งจากพวกอัล-เคาะวาริจญ์ โดยมีผู้ก่อตั้งกลุ่มคือ อับดุลลอฮฺ บิน อิบาฎ อัต-ตะมีมีย์ กลุ่มชนที่นิยมสำนักคิดนี้ปฏิเสธว่าพวกเขามิใช่พวกอัล-เคาะวาริจญ์แต่อย่างใด ในความเป็นจริงแล้วสามารถกล่าวได้ว่า พวกเขาไม่ได้เป็นพวกอัล-เคาะวาริจญ์ที่สุดโต่งเฉกเช่นกลุ่มอัล-อะซาริเกาะฮฺ ทว่าพวกเขามีทัศนะที่พ้องกับแนวคิดอัล-เคาะวาริจญ์อยู่หลายประเด็น เช่น อับดุลลอฮฺ บิน อิบาฎ เชื่อว่าตนเองนั้นสืบสานเจตนารมณ์การต่อสู่ของกลุ่มชนอัล-เคาะวาริจญ์รุ่นแรกที่ปฏิเสธอัต-ตะหฺกีม (การตั้งกรรมการเพื่อตัดสินข้อพิพาทระหว่างเศาะหาบะฮฺ) พวกเขาเห็นพ้องกับอัล-เคาะวาริจญ์ในประเด็นการปฏิเสธบางคุณลักษณะของอัลลอฮฺ เชื่อว่าอัลกุรอานนั้นเป็นมัคลูก(สิ่งที่ถูกสร้าง) และอนุญาตให้แข็งข้อกับผู้นำที่อธรรม

    การก่อตั้งกลุ่มและบุคคลที่โดดเด่น

    ผู้ก่อตั้งคนแรกมีชื่อว่า อับดุลลอฮฺ บิน อิบาฎ จากชนเผ่ามุรเราะฮฺ บิน อุบัยดฺ บิน ตะมีม ส่วนการพ่วงท้ายชื่อด้วยคำว่า อิบาฎ นั้นมาจากชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งในแคว้นอัล-ยะมามะฮฺ อับดุลลอฮฺ บิน อิบาฎ มีชีวิตทันกับยุคสมัยการปกครองของท่านมุอาวิยะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ และท่านเสียชีวิตช่วงปลายสมัยการปกครองของอับดุลมะลิก บิน มัรวาน

    กลุ่มอัล-อิบาฎียะฮฺ ได้กล่าวอ้างว่า ญาบิรฺ บิน ซัยดฺ (ฮ.ศ.22-93) เป็นหนึ่งในจำนวนบุคคลสำคัญที่โดดเด่นในกลุ่มพวกเขา ท่านเป็นคนรุ่นแรกที่รวบรวมหะดีษ ศึกษาหาความรู้จาก ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อับบาส ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ท่านอะนัส บิน มาลิก ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ และเศาะหาบะฮฺอาวุโสคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่ ญาบิรฺ ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้ (ตะฮฺซีบ อัต-ตะฮฺซีบ 2/38 )

    - อบูอุบัยดะฮฺ มัสละมะฮฺ บิน อบีกะรีมะฮฺ เป็นหนึ่งในศิษย์เอกของญาบิรฺ บิน ซัยดฺที่มีชื่อเสียง ท่านนี้กลายเป็นที่อ้างอิงสำหรับผู้นิยมแนวคิดอิบาฎียะฮฺ ได้รับฉายานามว่า อัล-ก็อฟฟาฟ ท่านเสียชีวิตในสมัยการปกครองของอบู ญะอฺฟัรฺ อัล-มันศูรฺ (ฮ.ศ. 158)

    - อัร-เราะบีอฺ บิน หะบีบ อัล-ฟะรอฮีดีย์ มีชีวิตอยู่ในช่วงกลางฮิจญ์เราะฮฺศตวรรษที่ 2 พวกอิบาฎียะฮฺอ้างว่า ท่านผู้นี้มีตำรามุสนัดของท่านโดยเฉพาะชื่อว่า มุสนัด อัร-เราะบีอฺ บิน หะบีบ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีการตีพิมพ์อย่างแพร่หลาย

    - แกนนำอัล-อิบาฎียะฮฺในแถบแอฟริกาตอนเหนือในยุคสมัยการปกครองของราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ คือ อัล-อิมาม อัล-หาริษ บิน ตะลีด ต่อจากนั้น คือ อบู อัล-ค็อฏฏ็อบ อับดุลอะอฺลา บิน อัส-สัมหฺ อัล-มุอาฟิรีย์ ต่อจากนั้นคือ อบู หาติม ยะอฺกูบ บิน หะบีบ ต่อจากนั้นคือ หาติม อัล-มัลซูซีย์

    - แกนนำอัล-อิบาฎียะฮฺ แห่งอาณาจักรรุสตุมในเมืองเทียเรต (Tahert, Tiaret ปัจจุบันอยู่ในประเทศแอจีเรีย) คือ อับดุรเราะหฺมาน , อับดุลวะฮฺฮาบ , อัฟละหฺ , อบู บักรฺ , อบู อัล-ยะเกาะซอน , อบู หาติม

    บรรดานักปราชญ์ของอัล-อิบาฎียะฮฺ มีดังนี้

    - สะละมะฮฺ บิน สะอัด ได้ทำการเผยแพร่แนวคิดนี้อย่างขันแข็งในแถบแอฟริกา ในยุคแรกของฮิจญ์เราะฮฺศตวรรษที่ 2

    - อิบนุ มุกฏีรฺ อัล-ญะนาวะนีย์ ท่านผู้นี้ได้ศึกษาหาความรู้ ณ เมืองบัศเราะฮฺ และเมื่อกลับยังบ้านเกิด ณ ญะบัล นะฟูสะฮฺ ประเทศลิเบีย ก็ได้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่แนวคิดอัล-อิบาฎียะฮฺ

    - อับดุลญับบารฺ บิน ก็อยสฺ อัล-มุรอดีย์ ท่านผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาในยุคของท่านผู้นำอัล-อิบาฎียะฮฺที่ชื่อ อัล-หาริษ บิน ตะลีด

    - อัส-สัมหฺ อบู ฏอลิบ คือปราชญ์ท่านหนึ่งของอัล-อิบาฎียะฮฺ มีชีวิตอยู่ในช่วงครึ่งหลังของฮิจเราะฮฺศตวรรษที่ 2 เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีของท่านผู้นำอับดุลวะฮฺฮาบ บิน รุสตุม ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครอง ญะบัล นะฟูสะฮฺ ประเทศลิเบีย

    - อบูซัรฺ อะบาน บิน วะสีม คือ ปราชญ์ท่านหนึ่งของอัล-อิบาฎียะฮฺ มีชีวิตอยู่ในช่วงครึ่งแรกของฮิจเราะฮฺศตวรรษที่ 3 ท่านเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ปกครองทริโปลี ประเทศลิเบีย ในสมัยการปกครองของท่านผู้นำอัฟละหฺ บิน อับดุลวะฮฺฮาบ

    แนวคิดและหลักการเชื่อมั่นของกลุ่มอัล-อิบาฎียะฮฺ

    จากการศึกษาหนังสือและตำราอ้างอิงของกลุ่มนี้พบว่า มีแนวคิดการปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮฺบางประการ พวกเขามีแนวคิดที่ค่อนข้างห่างไกลกับกลุ่มอัล-มุอฺตะซิละฮฺในการตีความคุณลักษณะของอัลลอฮฺ แต่พวกเขาอ้างว่ารากฐานหลักการความเชื่อของพวกเขามาจากอัล-มุอฺตะซิละฮฺ ซึ่งพวกเขาได้ตีความคุณลักษณะเชิงมะญาซฺ (อุปมา) ให้มีความหมายที่ไม่ทำให้เกิดความคลุมเครือ ในความเป็นจริงแล้วสัจธรรมย่อมอยู่กับชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ ผู้ซึ่งปฏิบัติตามหลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺ ซึ่งพวกเขาได้ยืนยันและศรัทธาในพระนามของอัลลอฮฺและคุณลักษณะของพระองค์ตามที่พระองค์ได้ยืนยันด้วยพระองค์เอง(ในอัลกุรอานหรือสุนนะฮฺ) โดยปราศจากการปฏิเสธ การกำหนดลักษณะ การดัดแปลงความหมาย และการเปรียบเทียบ

    อัล-อิบาฎียะฮฺ ปฏิเสธการมองเห็นพระผู้เป็นเจ้าของผู้ศรัทธาในวันอาคิเราะฮฺ แม้ว่าในอัลกุรอานได้ยืนยันชัดเจนถือประเด็นนี้

    ﴿ وُجُوهٞ يَوۡمَئِذٖ نَّاضِرَةٌ ٢٢ إِلَىٰ رَبِّهَا نَاظِرَةٞ ٢٣ ﴾ [القيامة: ٢٢- ٢٣]

    ความว่า “ในวันนั้นหลาย ๆ ใบหน้าจะเบิกบาน จ้องมองไปยังพระเจ้าของมัน" (สูเราะฮฺ อัล-กิยามะฮฺ : 22-23)

    อัล-อิบาฎียะฮฺ ตีความบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวันอาคิเราะฮฺในเชิงมะญาซฺ เช่น ตราชูชั่งการงาน สะพานอัศ-ศิรอฏ เป็นต้น

    อัล-อิบาฎียะฮฺ เชื่อว่า การกระทำของมนุษย์นั้น คือสิ่งที่อัลลอฮฺสร้างและในขณะเดียวกันก็เป็นความพยายามของมนุษย์ด้วย ในประเด็นนี้พวกเขามีทัศนะกึ่งกลางระหว่างแนวคิดอัล-เกาะดะริยะฮฺ กับ แนวคิดอัล-ญะบะริยะฮฺ

    อัล-อิบาฎียะฮฺ เชื่อว่า คุณลักษณะของอัลลอฮฺ ไม่ใช่ส่วนเพิ่มเติมจากอาตมัน (ซาต) ของพระองค์เอง แต่เป็นอาตมันของพระองค์นั้นเอง

    อัล-อิบาฎียะฮฺ เชื่อว่าอัลกุรอานนั้นเป็นมัคลูก(สิ่งที่ถูกสร้าง) ในประเด็นนี้พวกเขาเห็นพ้องกับกลุ่มอัล-เคาะวาริจญ์ ท่านอิหม่ามอบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์ ได้กล่าวว่า “อัล-เคาะวาริจญ์ทุกกลุ่มจะเชื่อว่าอัลกุรอานนั้นเป็นมัคลูก” (โปรดดู อัล-มะกอลาต อัล-อิสลามิยีน 1/203) พิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 1969

    อัล-อิบาฎียะฮฺ เชื่อว่า ผู้กระทำบาปใหญ่ ถือเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาด้านนิอฺมัต หรือ เป็นผู้กลับกลอก (มุนาฟิก)

    อัล-อิบาฎียะฮฺ มีทัศนะว่ามนุษย์แบ่งออกเป็น 3 จำพวก

    1.ผู้ศรัทธาที่เปี่ยมด้วยอีมาน (มุอ์มิน)

    2.ผู้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺอย่างชัดเจน (มุชริก)

    3.ผู้ประกาศตนว่าศรัทธาต่ออัลลอฮฺองค์เดียวและเป็นมุสลิมแต่ไม่ประพฤติตนอยู่ในครรลองของอิสลามไม่ว่าจะเป็นความประพฤติหรือการประกอบศาสนกิจ พวกเขาไม่ใช่พวกตั้งภาคี เพราะพวกเขายืนยันในเตาฮีด(เอกภาพแห่งอัลลอฮฺ) ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ใช่ผู้ศรัทธา เนื่องจากพวกเขาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการศรัทธา พวกเขาอยู่กับชาวมุสลิมตามกฎเกณฑ์ทางโลกเนื่องจากพวกเขายืนยันในหลักเอกภาพ และพวกเขาอยู่กับกลุ่มผู้ตั้งภาคีตามกฎเกณฑ์ทางอาคิเราะฮฺ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการศรัทธาและประพฤติตนตรงข้ามกับหลักเอกภาพหรือเตาฮีดทั้งในเรื่องการทำอะมัลและการละทิ้งสิ่งต้องห้าม

    ในประเด็นการกำหนดประเภทของรัฐนั้น ตามทัศนะของกลุ่มอัลอิบาฎียะฮฺสมัยใหม่มีความเห็นที่หลากหลาย แต่พวกเขาเห็นพ้องกับคนยุคเก่าของพวกเขาว่า รัฐมุสลิมที่มีความเห็นตรงข้ามกับพวกเขาคือรัฐแห่งเตาฮีด แต่ค่ายทหารของกษัตริย์รัฐนั้นๆ เป็นรัฐของพวกกบฎ

    อัล-อิบาฎียะฮฺ เชื่อว่า มุสลิมผู้ที่มีทัศนะต่างกับพวกเขาถือว่าเป็นกาฟิรฺแต่ไม่ถึงกับว่าเป็นผู้ตั้งภาคี ดังนั้นพวกเขาอนุญาตให้แต่งงานกันได้ สามารถสืบทอดมรดกได้ และทรัพย์สินที่เป็นเชลยสงคราม เช่น อาวุธ และพาหนะ และอื่นๆ ที่เป็นยุทโธปกรณ์ ถือว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติให้ยึดได้ส่วนสิ่งที่นอกเหนือจากนี้ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม

    อัล-อิบาฎียะฮฺ เชื่อว่าผู้กระทำบาปใหญ่ คือผู้ปฏิเสธศรัทธา และเขาไม่มีสิทธิได้เข้าสวนสวรรค์หากยังอยู่กับการฝ่าฝืนอัลลอฮฺโดยไม่มีการเตาบะฮฺ (กลับตัว) เนื่องจากอัลลอฮฺจะไม่อภัยบาปผู้กระทำบาปใหญ่ยกเว้นผู้ที่กลับตัวจากบาปดังกล่าวก่อนสิ้นชีวิต

    อัล-อิบาฎียะฮฺ จะเรียกผู้กระทำบาปใหญ่ "กาฟิรฺ" ซึ่งหมายถึง กาฟิรนิอฺมะฮฺ (ปฏิเสธศรัทธาในความโปรดปรานของอัลลอฮฺ) หรือ กาฟิรฺนิฟาก -ปฏิเสธศรัทธาแบบผู้กลับกลอก) มิได้หมายถึงเป็นกาฟิรฺ ที่สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม

    ส่วนอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ ถือว่าผู้กระทำบาปใหญ่ เป็นผู้ฝ่าฝืน หรือ ฟาสิกฺ (ประพฤติมิชอบ/ขาดจริยธรรม) การตัดสินกำหนดว่าพวกเขาเป็นชาวสวรรค์หนือชาวนรกขึ้นอยู่กับพระประสงค์ของอัลลอฮฺ หากพระองค์ทรงเมตตาพระองค์จะทรงให้อภัย และหากพระองค์ประสงค์จะลงโทษ พระองค์จะลงโทษด้วยความยุติธรรมจนกว่าเขาจะบริสุทธิ์จากมวลบาป และในที่สุดเขาจะถูกส่งไปพำนักยังสวนสวรรค์ ส่วนอัล-อิบาฎียะฮฺ เชื่อว่าผู้กระทำบาปใหญ่จะพำนักอยู่ในขุมนรกตลอดกาล ซึ่งเป็นความเชื่อที่พ้องกับอัล-เคาะวาริจญ์กลุ่มอื่นๆ และอัล-มุอฺตะซิละฮฺ ในการเชื่อว่าผู้ฝ่าฝืนอัลลอฮฺจะอยู่ในนรกตลอดกาล

    อัล-อิบาฎียะฮฺ ปฏิเสธในเรื่องอัช-ชะฟาอะฮฺ (ความช่วยเหลือในการลดหย่อนโทษ) สำหรับมุสลิมผู้ฝ่าฝืน เพราะผู้ฝ่าฝืนตามทัศนะของพวกเขาจะคงอยู่ในนรกตลอดกาล ดังนั้นจึงไม่มีชะฟาอะฮฺเพื่อให้คนเหล่านั้นถูกปลดปล่อยจากการทรมานในนรก

    อัล-อิบาฎียะฮฺ ปฏิเสธการกำหนดเงื่อนไขว่าผู้นำมุสลิมต้องมาจากตระกูลกุร็อยชฺ เท่านั้นเพราะเชื่อว่ามุสลิมทุกคนล้วนมีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งดังกล่าวหากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนด และสำหรับผู้นำที่ประพฤติตนเบี่ยงเบนจากหนทางของศาสนานั้นจำเป็นต้องถอดถอนและแต่งตั้งผู้อื่นให้ดำรงตำแหน่งแทน

    อัล-อิบาฎียะฮฺบางกลุ่มจะกล่าวโจมตีต่อผู้นำของศรัทธาชน เช่นท่านอุษมาน บิน อัฟฟาน ท่านอะลีย์ ท่านมุอาวิยะฮฺ บิน อบีสุฟยาน และท่านอัมรฺ บิน อัล-อาศ

    ตามแนวทางของสำนักคิดอัล-อิบาฎียะฮฺ ถือว่าการดำรงตำแหน่งผู้นำมุสลิม ด้วยการสั่งเสียจากผู้นำคนก่อน(อัล-วะศียะฮฺ) ถือว่า เป็นสิ่งที่โมฆะ และไม่มีวิธีการใดๆ สำหรับการเลือกผู้นำนอกจากต้องให้คำสัตยาบัน(บัยอะฮฺ) นอกจากนี้อัล-อิบาฎียะฮฺยังอนุญาตให้มีผู้นำหลายคนในประเทศหรือเขตปกครองที่ต่างกัน

    อัล-อิบาฎียะฮฺไม่ถือว่าการก่อกบฎต่อผู้นำที่อธรรมนั้นเป็นสิ่งที่วาญิบ แต่ทว่าพวกเขาไม่ได้ห้ามหากผู้ใดจะก่อการกบฎต่อผู้นำอธรรม เมื่อพิจารณาว่าสถานการณ์มีความจำเป็นและเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดผลเสียน้อยกว่า แต่ถ้าเมื่อใดสถานการณ์ไม่เอื้อและอาจส่งผลเสียต่อส่วนรวมมากว่า การกระทำดังกล่าวถือว่าไม่สมควร อย่างไรก็ตามตามทัศนะอัล-อิบาฎียะฮฺแล้วการก่อกบฎต่อผู้นำอธรรมไม่เป็นที่ต้องห้ามไม่ว่ากรณีใดๆ และการปกปิดข่าวคราวเกี่ยวกับการก่อกบฎถือว่าเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมตราบใดที่มีผู้ปกครองอธรรม

    อัล-อิบาฎียะฮฺไม่อนุญาตให้บุคคลหนึ่งกล่าวดุอาอ์ว่าให้ได้รับสวนสวรรค์นอกจากผู้นั้นเป็นผู้ศรัทธาอย่างแท้จริงในศาสนาและมีคุณสมบัติเป็นผู้นำได้เนื่องจากเขาเป็นผู้ภักดีต่ออัลลอฮฺ ส่วนการดุอาอ์ให้เขาได้รับความดีในโลกนี้ หรือดุอาอ์สำหรับผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่แก่ผู้ล่วงลับแล้วย่อมกระทำได้ไม่ว่าจะเป็นอิสลามิกชนที่ดีหรือฝ่าฝืนก็ตาม

    อัล-อิบาฎียะฮฺมีระบบที่เรียกว่า หะละเกาะฮฺ อัล-อะซาบะฮฺ คือ องค์กรหนึ่งที่ประกอบด้วยสมาชิกผู้ทรงเกียรติในประเทศที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบต้องควบคุม ดูแลสังคม ศาสนา การศึกษา และการเมืองการปกครองของกลุ่มอิบาฎียะฮฺ องค์กรนี้ยังทำหน้าที่คล้ายสภาชูรอ ในภาวะการณ์ที่สามารถเปิดเผยตัวได้ (อัซ-ซุฮูรฺ วะ อัด-ดิฟาอฺ) แต่ในยามที่เกิดภาวะปกปิดตัวเอง (อัช-ชิรออ์ วะ อัล-กิตมาน) องค์กรนี้ถือเป็นผู้นำโดยปริยาย

    อัล-อิบาฎียะฮฺยังมีองค์กรหนึ่งที่เรียกว่า อิระวาน เป็นเสมือนสภาที่ปรึกษา ช่วยเหลืออัล-อะซาบะฮฺ นับเป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลในประเทศลำดับที่สอง

    อัล-อิบาฎียะฮฺ ได้จัดตั้งหน่วยงานหนึ่งซึ่งมีหน้าที่รวบรวม จัดเก็บ และแจกจ่ายซะกาตให้แก่ผู้ขัดสนในประเทศ อัล-อิบาฎียะฮฺจะห้ามไม่ให้ขอซะกาต หรือขอความอนุเคราะห์อื่นหรือการกระทำใดๆ ที่ถือว่าเป็นการรอคอยความช่วยเหลือเป็นอันขาด

    นอกจากนี้ยังมีกลุ่มย่อยต่างๆ ที่แตกแยกออกจากกลุ่มอัล-อิบาฎียะฮฺ ซึ่งได้แก่

    กลุ่ม อัล-หัฟศียะฮฺ คือกลุ่มที่ทำตาม หัฟศฺ บิน อบี อัล-มิกดาม

    กลุ่มอัล-หาริษียะฮฺ คือ กลุ่มที่ทำตาม อัล-หาริษ อัล-อิบาฎีย์

    กลุ่มอัล-ยะซีดียะฮฺ คือ กลุ่มที่พาดพิงไปยัง ยะซีด บิน อะนีสะฮฺ ที่มีความเชื่อว่าอัลลอฮฺจะทรงแต่งตั้งเราะสูลจากชนที่ไม่ใช่อาหรับ และจะประทานคัมภีร์ลงมาจากฟากฟ้า และเมื่อถึงเวลานั้นมุสลิมทุกคนต้องละทิ้งแนวทางของท่านนบีมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

    อัล-อิบาฎียะฮฺกลุ่มหลักจะปฏิเสธความสัมพันธ์กับกลุ่มต่างๆ ที่แยกตัวออกมาและถือว่ากลุ่มดังกล่าวนั้นได้ตกศาสนาไปเนื่องจากได้หันเหจากกรอบแนวทางดั้งเดิมของอัล-อิบาฎียะฮฺซึ่งยังปรากฏให้เห็นกระทั่งทุกวันนี้

    รากเหง้าของแนวคิดและหลักการเชื่อมั่นของอัล-อิบาฎียะฮฺ

    อัล-อิบาฎียะฮฺ ยึดมั่นในตำราหะดีษ คือตำรามุสนัด อัร-เราะบีอฺ บิน หะบีบ ซึ่งจากการตรวจสอบของนักวิชาการอะฮฺลุสสุนนะฮฺ พบว่าตำรามุสนัดนี้ไม่ปรากฏอยู่จริงในสารบบ

    อัล-อิบาฎียะฮฺได้รับอิทธิพลจากกลุ่มแนวคิด อัซ-ซอฮิรียะฮฺ (กลุ่มที่ปฏิบัติตามหลักฐานทางศาสนาอย่างผิวเผิน) พวกเขายึดมั่นตามหลักฐานตรงตามตัวอักษรและได้ตีความอย่างผิวเผิน

    อัล-อิบาฎียะฮฺได้รับอิทธิพลทางความคิดจากกลุ่มอัล-มุอฺตะซิละฮฺ ในการกล่าวอ้างว่าคัมภีร์อัลกุรอานคือ มัคลูก (สิ่งที่ถูกสร้าง)

    อัล-อิบาฎียะฮฺถือว่าหนังสือ อัน-นัยลฺ วะ ชิฟาอ์ อัล-อะลีล ที่แต่งโดย ชัยคฺมุหัมหมัด บิน ยูซุฟ อิฏฟัยยิช (เสียชีวิต เมื่อ ฮ.ศ. 1332) เป็นหนังสืออ้างอิงหลักด้านวิชาฟิกฮฺ (ศาสนบัญญัติ) และวิชาหลักศรัทธาของสำนักคิดอัล-อิบาฎีย์

    สถานที่แพร่หลายของแนวคิดอัล-อิบาฎียะฮฺ

    ครั้งหนึ่งแนวคิดอัล-อิบาฎียะฮฺมีอิทธิพลอย่างมากทางตอนใต้ของคาบสมุทรอาหรับจนกระทั่งถึงเมืองมักกะฮฺและมะดีนะฮฺ

    ส่วนในแถบแอฟริกาตอนเหนือนั้นแนวคิดอัล-อิบาฎียะฮฺได้แพร่หลายในหมู่ชนเผ่าบาร์บาเรียน จนกระทั่งพวกเขาได้ก่อตั้งอาณาจักรหนึ่งเรียกว่า อาณาจักรรุสตุม โดยมีเมืองหลวงคือเมืองเทียเร็ต (Tiaret – ปัจจุบันอยู่ในประเทศแอลจีเรีย)

    อัล-อิบาฎียะฮฺได้ปกครองประเทศแอฟริกาตอนเหนือต่อเนื่องเป็นเวลา 130 ปี จนกระทั่งกลุ่มอัล-อุบัยดียะฮฺ (ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งของพวกชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺ) ได้โค่นล้มอาณาจักรนี้

    อัล-อิบาฎียะฮฺได้สถาปนาประเทศของตนอย่างเอกเทศในโอมานและผู้นำอิบาฎียะฮฺได้ปกครองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

    ส่วนหนึ่งจากอารยธรรมของอัล-อิบาฎียะฮฺ คือ เมืองญะบัล นะฟูสะฮฺ ในประเทศลิเบีย ซึ่งนับว่าเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่และบริหารกิจการของแนวคิดอัล-อิบาฎียะฮฺ

    ปัจจุบัน อัล-อิบาฎียะฮฺอาศัยอยู่ในประเทศโอมานเป็นจำนวนมาก และบางส่วนอยู่ในประเทศลิเบีย ตูนิเซีย แอลจีเรีย ซาฮาร่า และแทนซาเนีย

    สรุป

    อัล-อิบาฎียะฮฺ คือกลุ่มหนึ่งจากพวกอัล-เคาะวาริจญ์ ซึ่งพาดพิงไปยังผู้ก่อตั้งสำนักคิดนี้ชื่อว่า อับดุลลอฮฺ บิน อิบาฎ อัต-ตะมีมีย์ กลุ่มชนที่นิยมแนวคิดนี้อ้างว่าพวกตนไม่ใช่พวกอัล-เคาะวาริจญ์ และจะปฏิเสธความเกี่ยวข้องกัลอัล-เคาะวาริจญ์ แต่ข้อเท็จจริงแล้วพวกเขามิได้เป็นอัล-เคาะวาริจญ์แบบสุดโต่งดังเช่นกลุ่ม อัล-อะซาริเกาะฮฺ หากแต่พวกเขามีทัศนะในหลายประเด็นที่สอดคล้องกับแนวคิดของอัล-เคาะวาริจญ์ เช่น อับดุลลอฮฺ บิน อิบาฎ เชื่อว่าตนเองนั้นสืบสานเจตนารมณ์การต่อสู้ของกลุ่มชนอัล-เคาะวาริจญ์รุ่นแรกที่ปฏิเสธอัต-ตะหฺกีม (การตั้งกรรมการเพื่อตัดสินข้อพิพาทระหว่างเศาะหาบะฮฺ) พวกเขาเห็นพ้องกับอัล-เคาะวาริจญ์ในประเด็นการปฏิเสธบางคุณลักษณะของอัลลอฮฺ เชื่อว่าอัลกุรอานนั้นเป็นมัคลูก(สิ่งที่ถูกสร้าง) และอนุญาตให้แข็งข้อหรือกบฎต่อผู้นำที่อธรรม

    จากหนังสือ

    الموسوعة الميسرة في الأديان والمذاهب والأحزاب المعاصرة

    إعداد الندوة العالمية للشباب الإسلامي

    ที่มา http://www.saaid.net/feraq/mthahb/2.htm

    ผู้เรียบเรียง สภายุวมุสลิมโลก WAMY