×
บทความที่สาธยายถึงความหมายของการตะวักกุล หรือการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ ความสำคัญของมัน และหลักฐานต่างๆ ที่เน้นย้ำให้บรรดาผู้ศรัทธามอบหมายตนต่ออัลลอฮฺ พร้อมทั้งผลอันยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับคนที่ได้มอบหมายต่ออัลลอฮฺ และกล่าวถึงข้อสังเกตบางประการที่ต้องรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของการมอบหมายกับการยึดมูลเหตุเป็นที่ตั้ง

    อัต-ตะวักกุล การมอบหมายต่ออัลลอฮฺ

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : อิสมาน จารง

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ

    2011 - 1432

    ﴿التوكل

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: عثمان جارونج

    مراجعة:صافي عثمان

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2011 - 1432

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เรื่องที่ 52

    อัต-ตะวักกุล การมอบหมายต่ออัลลอฮฺ

    มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺ ขอการประทานพรและความสันติมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ข้าขอปฏิญานว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมหมัดนั้นเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

    ส่วนหนึ่งของอิบาดะฮฺที่ยิ่งใหญ่นั้นคือการมอบหมายต่ออัลลอฮฺผู้สูงส่งในทุกการงาน นักปราชญ์บางท่านได้กล่าวว่า “ตะวักกัลนั้นคือจิตใจที่ยึดมั่นอย่างแท้จริงกับอัลลอฮฺว่าทรงเป็นผู้นำประโยชน์และปกป้องจากภัยอันตรายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเกี่ยวกับโลกนี้หรือโลกหน้า ตะวักกุล คือการที่บ่าวทำการมอบหมายการงานทุกอย่างให้กับอัลลอฮฺสุบหานะฮู วะตะอาลา แสดงออกถึงการศรัทธามั่นและชัดเจนว่าไม่มีผู้ใดที่สามารถยังประโยชน์หรือให้โทษ นอกจากอัลลอฮฺสุบหานะฮู วะตะอาลา เท่านั้น (ญามิอฺ อัล-อุลูม วา อัล-หิกัม 2/497)

    อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﴿ وَإِن يَمۡسَسۡكَ ٱللَّهُ بِضُرّٖ فَلَا كَاشِفَ لَهُۥٓ إِلَّا هُوَۖ وَإِن يَمۡسَسۡكَ بِخَيۡرٖ فَهُوَ عَلَىٰ كُلِّ شَيۡءٖ قَدِيرٞ ١٧ ﴾ [الأنعام: ١٧]

    ความว่า “และหากว่าอัลลอฮฺทรงให้ความเดือดร้อนอย่างหนึ่งอย่างใดประสบแก่เจ้าแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดจะเปลื้องมันได้ นอกจากพระองค์เท่านั้น และหากพระองค์ทรงให้ความดีอย่างหนึ่งอย่างใดประสบแก่เจ้า แท้จริง พระองค์นั้นทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง” (อัล-อันอาม 17)

    แท้จริงแล้วอัลลอฮฺได้สั่งใช้ปวงบ่าวของพระองค์ให้ทำการมอบหมายแด่พระองค์ในหลายๆ แห่งในคัมภีร์อัลกุรอาน โดยมีมากกว่า 50 อายะฮฺ พระองค์ตรัสว่า

    ﴿ وَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱلۡحَيِّ ٱلَّذِي لَا يَمُوتُ وَسَبِّحۡ بِحَمۡدِهِۦۚ وَكَفَىٰ بِهِۦ بِذُنُوبِ عِبَادِهِۦ خَبِيرًا ٥٨ ﴾ [الفرقان: ٥٧]

    ความว่า “และสูเจ้าจงมอบหมายต่อพระผู้ทรงชีวินผู้ทรงไม่ตาย และจงแซ่ซ้องสดุดีด้วยการสรรเสริญพระองค์ และพอเพียงแล้วด้วยพระองค์ ผู้ทรงรอบรู้ในความผิดทั้งหลายของปวงบ่าวของพระองค์” (อัล-ฟุรกอน 58)

    และพระองค์ได้ตรัสว่า

    ﴿ قُل لَّن يُصِيبَنَآ إِلَّا مَا كَتَبَ ٱللَّهُ لَنَا هُوَ مَوۡلَىٰنَاۚ وَعَلَى ٱللَّهِ فَلۡيَتَوَكَّلِ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ ٥١ ﴾ [التوبة: ٥١]

    ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า จะไม่ประสบแก่เราเป็นอันขาด นอกจากสิ่งที่อัลลอฮฺได้กำหนดไว้แก่เราเท่านั้น ซึ่งพระองค์เป็นผู้คุ้มครองเรา และแด่อัลลอฮฺนั้น มุอ์มินผู้ศรัทธาทั้งหลายจงมอบหมายเถิด” (อัต-เตาบะฮฺ 51)

    และพระองค์ได้ตรัสเช่นกันว่า

    ﴿ وَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱلۡعَزِيزِ ٱلرَّحِيمِ ٢١٧ ٱلَّذِي يَرَىٰكَ حِينَ تَقُومُ ٢١٨ وَتَقَلُّبَكَ فِي ٱلسَّٰجِدِينَ ٢١٩ ﴾ [الشعراء: ٢١٧، ٢١٩]

    ความว่า “และจงมอบหมายต่อผู้ทรงเดชานุภาพผู้ทรงเมตตาเสมอ ผู้ทรงเห็นเจ้าขณะที่เจ้ายืนอยู่ และการเคลื่อนไหวของเจ้าในหมู่ผู้สุญูด” (อัช-ชุอะรออ์ 217-219 )

    รายงานจากท่าน อุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าแท้จริงท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «لَوْ أَنَّكُمْ تَتَوَكَّلُونَ عَلَى اللَّهِ حَقَّ تَوَكُّلِهِ، لَرَزَقَكُمْ كَمَا يَرْزُقُ الطَّيْرَ، تَغْدُو خِمَاصًا وَتَرُوحُ بِطَانًا» [مسند الإمام أحمد 1/30]

    ความว่า “หากพวกท่านมอบหมายตนต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริงแล้ว แน่นอน พระองค์จะประทานริซกี(ปัจจัยยังชีพ)ให้พวกท่าน เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงประทานริซกีให้กับนก โดยที่มันบินออกไปในตอนเช้าในสภาพที่ท้องว่างและกลับมาในตอนเย็นในสภาพที่ท้องอิ่ม” (มุสนัดอิมาม อะหฺมัด 1/30)

    ท่านหาฟิซ อิบนุ เราะญับ ได้กล่าวว่า “ หะดีษนี้ถือเป็นหลักในเรื่องการมอบหมายต่ออัลลอฮฺและแสดงว่าการมอบหมาย(ตะวักกุล)เป็นสาเหตุที่สำคัญที่จะชักนำมาซึ่งริสกี อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﴿وَمَن يَتَّقِ ٱللَّهَ يَجۡعَل لَّهُۥ مَخۡرَجٗا ٢ وَيَرۡزُقۡهُ مِنۡ حَيۡثُ لَا يَحۡتَسِبُۚ وَمَن يَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِ فَهُوَ حَسۡبُهُۥٓۚ ﴾ [الطلاق: ٢، ٣]

    ความว่า “และผู้ใดยำเกรงอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงหาทางออกให้แก่เขา และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากที่ที่เขามิได้คาดคิด และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขาแล้ว” (อัฏ-เฏาะลาก 2-3)

    “หะดีษของท่านอุมัรฺ แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ได้ปัจจัยมาโดยที่เขาขาดการตั้งมั่นอยู่กับการมอบหมายต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริง และมีจิตที่ยึดมั่นอยู่กับมูลเหตุภายนอกและไว้วางใจมัน พวกเขาจึงเหน็ดเหนื่อยไปกับมูลเหตุและใช้ความพยายามกับมันอย่างยิ่ง แต่เขากลับไม่ได้สิ่งที่เขาพยายามยกเว้นเท่าที่ถูกกำหนดมาให้กับเขาตั้งแต่แรกเท่านั้น หากพวกเขายึดมั่นในการมอบหมายต่ออัลลอฮฺด้วยหัวใจของเขาอย่างแท้จริงแล้วแน่นอนอัลลอฮฺจะชักนำริสกีมายังเขาด้วยมูลเหตุใดๆ แม้ว่ามันจะเล็กน้อยยิ่งก็ตามที เฉกเช่นเดียวกับที่พระองค์ให้รีสกีแก่เหล่านกกาด้วยเพียงการบินออกไปในยามเช้าแล้วบินกลับมาในยามเย็น ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามอย่างหนึ่งแต่เป็นความพยายามที่น้อยนิดมาก” (ญามิอฺ อัล-อุลูม วะ อัล-หิกัม 2/502)

    ชาวสะลัฟบางท่านได้กล่าวว่า “การมอบหมายต่ออัลลอฮฺนั้นจะนำมายังท่านซึ่งริสกี โดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยและยากลำบาก” (ญามิอฺ อัล-อุลูม วะ อัล-หิกัม 2/502)

    ท่านสะอีด บิน ญุบัยรฺ ได้กล่าวว่า “การตะวักกุลนั้นเป็นองค์รวมของอีมาน” (ญามิอฺ อัล-อุลูม วะ อัล-หิกัม 2/497)

    ท่านอิบนุ อัล-ก็อยยิมได้กล่าวว่า “ตะวักกุลถือเป็นมูลเหตุที่สำคัญยิ่งที่บ่าวจะใช้ในการปกป้องตัวเองจากการละเมิด ความอยุติธรรม และการรุกรานของผู้อื่น”

    และท่านอิบนุ อัล-ก็อยยิมได้กล่าวอีกว่า “ตะวักกุลถือเป็นกึ่งหนึ่งของการศรัทธา และกึ่งที่สองนั้นคือการกลับตัวสยบต่ออัลลอฮฺ เพราะศาสนานั้นประกอบด้วยการขอความช่วยเหลือและการสักการะอิบาดะฮฺต่อพระองค์ การตะวักกุลถือว่าเป็นการขอความช่วยเหลือ ส่วนการกลับตัวสยบต่อพระองค์ก็คือการทำอิบาดะฮฺ” (อัต-ตัฟซีร อัล-ก็อยยิม 587, มะดาริจญ์ อัซ-ซาลิกีน 2/118)

    รายงานจากท่าน อะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า แท้จริงท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «إِذَا خَرَجَ الرَّجُلُ مِنْ بَيْتِهِ فَقَالَ: بِسْمِ اللَّهِ تَوَكَّلْتُ عَلَى اللَّهِ، لَا حَوْلَ وَلَا قُوَّةَ إِلَّا بِاللَّهِ، قَالَ : يُقَالُ حِينَئِذٍ هُدِيتَ وَكُفِيتَ وَوُقِيتَ، فَتَتَنَحَّى لَهُ الشَّيَاطِينُ، فَيَقُولُ لَهُ شَيْطَانٌ آخَرُ كَيْفَ لَكَ بِرَجُلٍ قَدْ هُدِيَ وَكُفِيَ وَوُقِيَ» [سنن أبي داود (4/325) برقم 5095]

    ความว่า “หากชายคนหนึ่งออกจากบ้านของเขาโดยกล่าวว่า ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ฉันขอมอบหมายต่ออัลลอฮฺ และไม่มีพลังและอำนาจใด ๆ นอกจากด้วยอัลลอฮฺ ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า จะมีเสียงกล่าวแก่เขาว่า ท่านได้รับการนำทางแล้ว และท่านได้รับการปกป้องแล้ว และได้รับความพอเพียงแล้ว และบรรดาชัยฏอนจะออกห่างไปจากเขา ชัยฏอนอีกตนหนึ่งจะกล่าวว่า เจ้าจะทำอะไรได้เล่า กับคนที่เขาได้รับทางนำ ได้รับการปกป้อง และได้รับการประกันความพอเพียงแล้ว” (อบู ดาวูด หมายเลข 5095)

    และมีรายงานจากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านกล่าวว่า “คำกล่าว حَسْبُنَا اللَّـهُ وَنِعْمَ الْوَكِيلُ (หัสบุนัลลอฮุ วะ นิอฺมัล วะกีล - อัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ที่พอเพียงแก่เราแล้ว และเป็นผู้รับมอบหมายที่ดีเยี่ยม)นั้น ท่านนบีอิบรอฮีมได้กล่าวมันในช่วงที่ถูกโยนลงไฟในกองไฟ ท่านนบีมุหัมมัด ก็ได้กล่าวเช่นกัน ในตอนที่มีผู้คนกล่าวกับท่านว่า แท้จริงมีผู้คนได้ชุมนุมเพื่อโจมตีพวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงกลัวพวกเขาเถิด แต่ทว่ามันกลับเพิ่มความศรัทธาแก่พวกเขา(บรรดาผู้ศรัทธา) และพวกเขากล่าวว่าอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ที่พอเพียงแก่เราแล้ว และทรงเป็นผู้รับการมอบหมายที่ดียิ่ง” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 3/211 หมายเลข 4563)

    นบีอิบรอฮีมเมื่อท่านกล่าวว่า หัสบุนัลลอฮุ วะ นิอฺมัล วะกีล ผลที่เกิดขึ้นคือ ตามที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﴿ قُلۡنَا يَٰنَارُ كُونِي بَرۡدٗا وَسَلَٰمًا عَلَىٰٓ إِبۡرَٰهِيمَ ٦٩ ﴾ [الانبياء: ٦٩]

    ความว่า “เรา(อัลลอฮฺ)กล่าวว่า ไฟเอ๋ย ! จงเย็นลง และให้ความปลอดภัยแก่อิบรอฮีมเถิด” (อัล-อันบิยาอ์ 69)

    และท่านนบีมุหัมมัดเมื่อท่านกล่าวคำนี้ ผลก็คือตามที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﴿ فَٱنقَلَبُواْ بِنِعۡمَةٖ مِّنَ ٱللَّهِ وَفَضۡلٖ لَّمۡ يَمۡسَسۡهُمۡ سُوٓءٞ وَٱتَّبَعُواْ رِضۡوَٰنَ ٱللَّهِۗ وَٱللَّهُ ذُو فَضۡلٍ عَظِيمٍ ١٧٤ ﴾ [آل عمران: ١٧٤]

    ความว่า “แล้วพวกเขาได้กลับมาพร้อมด้วยความกรุณาจากอัลลอฮฺ และความโปรดปราน(จากพระองค์) โดยมิได้มีอันตรายใดๆ ประสบแก่พวกเขา และพวกเขาได้ปฏิบัติตามความพอพระทัยของอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺคือผู้ทรงเปี่ยมด้วยความกรุณาโปรดปรานอันยิ่งใหญ่” (อาล อิมรอน 174)

    ผู้ศรัทธาคนหนึ่งในหมู่วงค์วานฟิรเอานฺได้กล่าวเมื่อเผ่าของพวกเขาใช้กลอุบายกับเขาว่า

    ﴿وَأُفَوِّضُ أَمۡرِيٓ إِلَى ٱللَّهِۚ إِنَّ ٱللَّهَ بَصِيرُۢ بِٱلۡعِبَادِ ٤٤ ﴾ [غافر: ٤٤]

    ความว่า “และฉันขอมอบภารกิจของฉันแด่อัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺทรงเป็นผู้เฝ้าดูปวงบ่าว” (ฆอฟิรฺ 44)

    อัลลอฮฺก็ได้กล่าวถึงเขาว่า

    ﴿فَوَقَىٰهُ ٱللَّهُ سَيِّ‍َٔاتِ مَا مَكَرُواْۖ وَحَاقَ بِ‍َٔالِ فِرۡعَوۡنَ سُوٓءُ ٱلۡعَذَابِ ٤٥ ﴾ [غافر: ٤٥]

    ความว่า “อัลลอฮฺได้ทรงคุ้มครองเขาให้พ้นจากความชั่วทั้งหลายที่พวกเขาวางแผนไว้ และการลงโทษที่ชั่วช้าก็จะห้อมล้อมบริวารของฟิรเอานฺ” (ฆอฟิรฺ 44-45)

    ตรงจุดนี้มีประเด็นที่สำคัญยิ่งที่มุสลิมต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องคือการผสานระหว่างการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ(ตะวักกุล)และการยึดถือมูลเหตุ(อัสบาบ) ดังนี้

    อันที่หนึ่ง การตะวักกุลนั้นเป็นเรื่องของจิตใจที่ยึดมั่นในอัลลอฮฺว่าเป็นผู้ที่สามารถให้ความดีและปกป้องความชั่วร้ายทั้งในเรื่องทางโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ ส่วนมูลเหตุนั้นเป็นเรื่องของการปฏิบัติด้วยอวัยวะภายนอกที่เป็นการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ

    อันที่สอง มีผู้คนบางส่วนที่ละทิ้งมูลเหตุโดยสิ้นเชิงและอ้างว่าตนเป็นคนที่ตะวักกุล และอีกกลุ่มหนึ่งยึดมั่นกับมูลเหตุอย่างเดียวและเชื่อว่างานจะไม่บรรลุเป้าหมายหากไม่มีปัจจัยเป็นมูลเหตุ ทั้งสองกลุ่มนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องก็คือผู้ที่ตะวักกุลที่แท้จริงนั้นคือผู้ที่มอบหมายการงานของเขาแก่อัลลอฮฺ แล้วเขาจะพิจารณาดู หากว่าการงานนั้นมีปัจจัยหรือเหตุที่ศาสนาอนุญาตเขาก็จะปฏิบัติมันโดยสยบต่อหลักศาสนาไม่ใช่ยินยอมหรือสยบต่อปัจจัยหรือมูลเหตุ แต่หากมูลเหตุหรือปัจจัยนั้นเป็นสิ่งที่ศาสนาไม่อนุญาตเขาก็จะละทิ้งโดยยึดการมอบหมายต่ออัลลอฮฺเพียงอย่างเดียว หลักฐานสำหรับสิ่งนี้คือหะดีษของท่านอะนัสที่กล่าวมาแล้วที่ว่ามีชายคนหนึ่งกล่าวกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โอ้ศาสนทูตของอัลลอฮฺฉันควรที่จะผูกมัน(อูฐ)แล้วทำการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ หรือว่าฉันควรที่จะปล่อยมันไว้(โดยไม่ผูก)แล้วทำการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ ท่านนบีตอบว่า “ท่านจงผูกมันแล้วทำการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ” (สุนัน อัต-ติรมิซีย์ 5/668 หมายเลข 2517)

    ส่วนกลุ่มที่จิตใจยึดมั่นอยู่กับมูลเหตุเพียงอย่างเดียวนั้น การเชื่อมั่นของเขาต่อการที่ว่าอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ที่พอเพียงสำหรับผู้ที่มอบหมายต่อพระองค์นั้นย่อมจะอ่อนแอ เราจะเห็นว่าพวกเขาพยายามปฏิบัติตามมูลเหตุ แม้มันจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องตามหลักศาสนาและสติปัญญา แท้จริงพวกเขาคิดผิดที่คิดว่างานจะไม่สำเร็จนอกจากด้วยการทำตามมูลเหตุเพียงวิธีเดียว แท้จริง อัลลอฮฺเท่านั้นคือผู้ให้และยับยั้ง จะด้วยมูลเหตุหรือไม่ก็ได้ และแท้จริง อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ในหลายอายะฮฺว่าการมอบหมายต่อพระองค์นั้นจะเป็นสิ่งพอเพียงสำหรับบ่าวของพระองค์

    พระองค์ได้ตรัสว่า

    ﴿ أَلَيۡسَ ٱللَّهُ بِكَافٍ عَبۡدَهُۥۖ ﴾ [الزمر: ٣٦]

    ความว่า “อัลลอฮฺมิทรงเป็นผู้พอเพียงแก่บ่าวของพระองค์ดอกหรือ” (อัซ-ซุมัรฺ 36)

    และพระองค์ได้ตรัสว่า

    ﴿وَمَن يَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِ فَهُوَ حَسۡبُهُۥٓۚ﴾ [الطلاق: ٣]

    ความว่า “และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา” (อัฏ-เฏาะลาก 3)

    และพระองค์ได้กล่าวอีกเช่นกันว่า

    ﴿ وَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِۚ وَكَفَىٰ بِٱللَّهِ وَكِيلٗا ٣ ﴾ [الأحزاب: ٣]

    ความว่า “และจงมอบความไว้วางใจแด่อัลลอฮฺและพอเพียงแล้วที่อัลลอฮฺเป็นผู้คุ้มครอง” (อัล-อะหฺซาบ 3 )

    บ่าวของอัลลอฮฺทุกคนพึงสังวรเถิดว่า การตะวักกุลนั้นเป็นฐานันดรที่ยิ่งใหญ่ น้อยคนที่จะได้รับตะวักกุลขั้นสมบูรณ์ และผู้ที่ตะวักุกุลนั้นเป็นผู้ที่อัลลอฮฺรักและเป็นวะลีย์(ผู้ใกล้ชิด)ของพระองค์ อัลลอฮฺตรัสในอัลกุรอานว่า

    ﴿إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلۡمُتَوَكِّلِينَ ١٥٩ ﴾ [آل عمران: ١٥٩]

    ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักใคร่ผู้มอบหมายทั้งหลาย” (อาล อิมรอน 159)

    หากมนุษย์มอบหมายต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริง เขาจะไม่มีความต้องการผู้ใดอีกแล้ว แต่เนื่องจากมนุษย์มีความอ่อนแออัลลอฮฺจึงกำหนดมูลเหตุขึ้นมาช่วยให้การมอบหมายของเขานั้นสมบูรณ์ขึ้น และนั้นเป็นความเมตตาและอ่อนโยนของพระองค์ต่อมนุษย์

    ดังนั้น มุสลิมทุกคนต้องตระหนักในเรื่องนี้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะพี่น้องที่ขวนขวายหาปัจจัยยังชีพด้วยวิธีการที่ต้องห้ามและคลุมเครือ เช่นผู้ที่ทำงานในธนาคารที่มีระบบดอกเบี้ย หรือทำการค้าในสิ่งที่อัลลอฮฺห้าม เช่นเครื่องเล่นดนตรี ยาเสพติด เหล้า และบุหรี่ หรือทำธุรกรรมต่างๆ ด้วยวิธีการโกหก หลอกลวง ผิดสัญญา และฉ้อโกง เพื่อให้ได้ทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม เป็นการพอเพียงแล้วที่เราจะนำเสนอแก่คนเหล่านี้ซึ่งหะดีษบทหนึ่งของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ท่านญิบรีลได้ส่งวะห์ยู(วิวรณ์)มายังท่าน จงสดับฟังและพินิจพิเคราะห์ให้ดี เพราะมันสำคัญยิ่ง เนื่องจากประกอบด้วยบทบัญญัติที่ยิ่งใหญ่

    นั่นก็คือ หะดีษที่รายงานโดยท่าน อะบู อุมามะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าแท้จริงท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «إِنَّ رُوْحَ القُدُسِ نَفَثَ فِيْ رَوْعِيْ أَنَّ نَفْسًا لَنْ تَمُوْتَ حَتَّىٰ تَسْتَكْمِلَ أَجَلَهَا وَتَسْتَوْعِبَ رِزْقَهَا، فَاتَّقُوْا اللهَ وَأَجْمِلُوْا فِيْ الطَّلَبِ، وَلَا يَحْمِلَنَّ أَحَدَكُمْ اسْتِبْطَاءُ الرِّزْقِ أَنْ يَطْلُبَهُ بِمَعْصِيَةِ اللهِ، فَإِنَّ اللهَ تَعَالىٰ لَا يُنَالُ مَا عِنْدَهُ إِلَّا بِطَاعَتِهِ» [حلية الأولياء 10/27، وصححه الألباني في صحيح الجامع الصغير 1/420 برقم 2085]

    ความว่า “แท้จริงญิบรีลได้ส่งวะห์ยูมายังฉันว่า ชีวิตหนึ่งจะไม่ตายลง ยกเว้นเมื่อเขาได้อยู่จนครบอายุขัยของเขา และใช้ริสกีของเขาจนหมดแล้ว ดังนั้น พวกท่านจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺและขวนขวายแสวงหามันมาด้วยวิธีการที่ดี และจงอย่าทำให้ความรู้สึกว่าการได้ริสกีนั้นล่าช้าจนทำให้ท่านขวนขวายหามันด้วยสิ่งที่ต้องห้าม เพราะแท้จริง สำหรับอัลลอฮฺนั้น จะไม่มีผู้ใดที่สามารถขวนขวายได้รับสิ่งที่อยู่ ณ พระองค์มา นอกจากด้วยการเชื่อฟังพระองค์เท่านั้น” (หิลยะตุล เอาลิยาอ์ 10/27 ท่านอัล-อัลบานีย์วิเคราะห์ว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ในเศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ อัศ-เศาะฆีรฺ 1/420 หมายเลข 2085)

    والحمد لله رب العالمين ، وصلّى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.