×
รักนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม และเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงความรักดังกล่าว อธิบายเครื่องหมายประการแรก นั่นคือ การปรารถนาที่จะเห็นและอยู่ร่วมกับท่าน ซึ่งการสูญเสียสองสิ่งดังกล่าวนั้นสำคัญยิ่งกว่าการสูญเสียสิ่งอื่นใดบนโลกนี้ พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์จากชีวประวัติของเศาะหาบะฮฺที่แสดงให้เห็นถึงเครื่องหมายข้อนี้ จากงานเขียนของ ดร. ฟัฎลฺ อิลาฮี

    รักนบี g และเครื่องหมาย :

    การปรารถนาที่จะเห็นและอยู่ร่วมกับท่าน

    ﴿ حب النبي g وعلاماته، العلامة الأولى : الحرص على رؤيته وصحبته ويكون فقدهما أشد من فقد أي شيء آخر في الدنيا﴾

    ดร.ฟัฎลฺ อิลาฮีย์

    แปลโดย : อุสมัน สามะ, ไฟซอล ตำภู

    ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือรักนบีและสัญญาณ


    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    การรักนบี g และเครื่องหมายบ่งชี้ถึงความรักดังกล่าว

    ตอนที่สาม 

    เครื่องหมายแห่งการรักนบีผู้มีเกียรติ g

    การรักนบีผู้มีเกียรติ g นั้นมีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายหลายประการด้วยกันซึ่งบรรดานักวิชาการมุสลิมได้ระบุไว้แล้ว ตัวอย่างเช่นที่ อัล-กอฎี อิยาฎฺ ได้กล่าวว่า “หนึ่งในเครื่องหมายแห่งการรักนบี คือ การสนับสนุนแนวทางของท่านพร้อมปกป้องศาสนา(ที่ท่านนบีได้นำมา) และปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกับท่านเพื่อจะได้ทุ่มเททั้งชีพและทรัพย์สินเพื่อท่าน”[1]

    อัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัรได้กล่าวว่า “และหนึ่งในสัญลักษณ์ดังกล่าวก็คือ เมื่อเขาได้รับข้อเสนอ(สมมุติ)ให้เลือกระหว่างที่ต้องสูญเสียของบางสิ่งบางอย่างของตนกับการที่ต้องสูญเสียการได้พบเห็นท่านนบี g เขาจะมีความรู้สึกลำบากใจยิ่งที่จะต้องสูญเสียประการหลัง(การที่ไม่ได้พบท่านนบี)มากกว่าการสูญเสียของบางสิ่งบางอย่างของตนไป จึงนับได้ว่าเป็นผู้มีคุณลักษณะของผู้ที่รักนบีดังที่กล่าวข้างต้นจริง ไม่เช่นนั้นแล้วก็คงไม่อาจนับว่าเป็นผู้หนึ่งที่รักนบีอย่างแท้จริงได้  และสิ่งเหล่านั้นใช่ว่าจะขึ้นอยู่กับการที่มีความรู้สึกดังกล่าวหรือไม่เพียงอย่างเดียว แต่มันต้องมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือแนวทางของท่าน(ยึดปฏิบัติสุนนะฮฺต่างๆ) พร้อมปกป้องศาสนา(ที่ท่านนบีได้นำมา) และต่อสู้พิทักษ์ปกป้องการทำลายของเหล่าศัตรู รวมไปถึงการสั่งใช้ในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และห้ามปรามในสิ่งที่เป็นบาป”[2] 

    และท่านนักปราชญ์ อัล-อัยนียฺ ได้กล่าวว่า “พึงทราบเถิดว่า การรักศาสนทูต g คือ การมุ่งมั่นในการที่จะปฏิบัติตามท่านและละทิ้งการขัดต่อท่าน ซึ่งมันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในอิสลาม”[3]

    เราจึงสามารถสรุปคำพูดของบรรดานักวิชาการที่ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับสัญลักษณ์แห่งการรักนบีผู้มีเกียรติ g ได้ดังนี้

    1. ปรารถนาที่จะพบเห็นท่าน  และร่วมเป็นมิตรสหายกับท่าน ซึ่งมันมีค่ายิ่งกว่าการสูญเสียสิ่งอื่นใดบนโลกนี้

    2. พร้อมที่จะอุทิศชีพและทรัพย์สินเพื่อท่านนบี g

    3. น้อมรับและปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน พร้อมทั้งห่างไกลจากการสั่งห้ามของท่านนบี g  

    4. ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนแนวทาง(สุนนะฮฺ)ของท่าน พร้อมปกป้องบทบัญญัติต่างๆ ของศาสนาอิสลาม

                ใครก็ตามที่มีสัญลักษณ์แห่งการรักนบี g ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็สมควรที่เขาต้องสรรเสริญพระองค์อัลลอฮฺ ที่ทำให้เขาได้มีความรักต่อท่านนบี(ผู้มีเกียรติและผู้เป็นที่รัก g) และขอให้ยืนหยัดอย่างนี้สืบไป

    ส่วนผู้ใดที่ไม่มีเลยหรือพอมีบ้างเพียงบางส่วน  ก็ต้องรีบพิจารณาสอบสวนตัวเอง ก่อนที่จะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺซึ่งทรัพย์สมบัติและลูกหลานจะไม่อำนวยประโยชน์อะไรให้เขาได้เลย เว้นแต่ผู้มาหาอัลลอฮฺด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ผ่องใสเท่านั้น และไม่มีสิ่งเร้นลับใดๆ ที่ปกปิดสำหรับอัลลอฮฺ และอย่าพึงคิดหรือพยายามที่จะหลอกลวงอัลลอฮฺและบรรดาผู้ศรัทธาเป็นอันขาด!? แท้ที่จริงแล้ว ผู้ที่กระทำเช่นนั้น หารู้ไม่ว่าเขากำลังหลอกลวงตัวเองต่างหาก

    ﴿يُخَادِعُونَ اللهَ وَالَّذِينَ آمَنُوا وَمَا يَخْدَعُونَ إِلاَّ أَنفُسَهُمْ وَمَا يَشْعُرُونَ﴾ (البقرة : 9 )

    ٰความว่า “พวกเขา พยายามที่จะหลอกลวงอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ศรัทธา แต่พวกเขาไม่ได้หลอกลวงใคร นอกจากพวกเขาเอง และพวกเขาหาได้ตระหนักไม่“ (อัล-บะเกาะเราะฮฺ  9)

    และด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงสัญลักษณ์ต่างๆ เหล่านั้นโดยอธิบายผ่านตัวอย่างความรักของบรรดาเศาะหาบะฮฺ(สาวก)ของท่านที่มีต่อท่านนบี g พร้อมๆ กับเปรียบเทียบสภาพความเป็นจริงของเราในยุคปัจจุบัน เผื่ออัลลอฮฺจะได้ทรงปรับปรุงและชี้ทางนำแก่พวกเราด้วย ในการนี้ข้าพเจ้าจะแยกกล่าวถึงทุกๆ สัญลักษณ์ไว้เป็นบทๆ เป็นการเฉพาะ อินชาอัลลอฮฺ (ด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮฺ)


    บทที่หนึ่ง

    สัญลักษณ์ประการแรก

    ปรารถนาที่จะพบเห็นท่านนบี g และร่วมเป็นมิตรสหายเคียงข้างท่าน ซึ่งการสูญเสียสองสิ่งดังกล่าวนั้นสำคัญยิ่งกว่าการสูญเสียสิ่งอื่นใดบนโลกนี้

    เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าความปรารถนาอันสูงสุดระหว่างคู่รักกันคือการที่ได้พบเจอกันและได้อยู่ใกล้ชิดกัน เช่นเดียวกับผู้ที่รักท่านนบี g ย่อมมีความรู้สึกปรารถนาที่จะพบเห็นท่าน และร่วมเป็นมิตรสหายกับท่านบนโลกนี้และโลกหน้า รอคอยวันแห่งความสุขนั้นจะมาถึงอย่างใจจดใจจ่อเป็นที่สุด จนไม่อาจแลกด้วยความสุขทั้งหมดที่มีอยู่บนโลกนี้ได้เลย เขาจะรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มองไปยังใบหน้าอันส่องประกายของท่านนบี g ปลื้มใจที่สุดหากได้ร่วมเดินทางเป็นมิตรสหายกับท่าน  และเศร้าโศกเสียใจกลัวว่าจะถูกกีดกั้นจากการได้พบและเคียงข้างท่านจนจำต้องร้องไห้เมื่อเสียท่านไป

    ลำดับต่อไปเป็นการนำเสนอตัวอย่างสำคัญๆ บางส่วนของบรรดาผู้ที่รักท่านนบี g เพื่อเป็นการยืนยันสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

    1. การร้องไห้เพราะความดีใจเป็นที่สุดของท่านอบู บักรฺ อัศ-ศิดดีก  เมื่อทราบว่าได้มีโอกาสเป็นสหายในการร่วมอพยพพร้อมๆ กับท่านนบี g ไปยังมะดีนะฮฺ

    ได้มีรายงานโดยอิมาม อัล-บุคอรียฺ จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ซึ่งเป็นภรรยาท่านนบี g นางได้กล่าวว่า : วันหนึ่งระหว่างที่เรากำลังพักอยู่[4] ที่บ้านของท่านอบู บักรฺในช่วงเวลาเริ่มต้นของเที่ยงวัน จู่ๆ ก็ได้มีเสียงเรียกอบูบักรฺว่า นั่นท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺนี่ ท่านคลุมศรีษะปิดใบหน้ามาหาเรา ในช่วงเวลาผิดปกติ ซึ่งท่านนบี g ไม่เคยมาเยี่ยมในช่วงเวลานี้มาก่อนเลย ท่านอบูบักรฺ เห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า ขออุทิศชีวิตบิดามารดาแก่ท่าน และขอสาบานด้วยอัลลอฮฺว่า ท่านนบีไม่ได้มาหาฉันในช่วงเวลานี้เว้นแต่ท่านย่อมมีเรื่องสำคัญอย่างแน่นอน

    ท่านหญิงอะอิชะฮฺได้กล่าวต่อไปว่า : เมื่อท่านนบี g ได้มาถึงแล้วก็ขออนุญาตเข้าบ้าน ท่านอบูบักรฺจึงได้เชื้อเชิญให้เข้า จากนั้นท่านนบี g ก็ได้สั่งอบูบักรฺว่า “จงให้ผู้ที่นั่งอยู่กับท่านออกไปก่อน” (เพื่อจะได้คุยกันเป็นส่วนตัว)

    ท่านอบูบักรฺก็ได้ตอบท่านไปว่า: ใช่คนอื่นที่ไหนล่ะครับ พวกเขาทั้งหมดล้วนเป็นครอบครัวของท่าน โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ

    ท่านนบี g จึงได้กล่าวว่า: “ฉันได้รับอนุญาตจากอัลลอฮฺให้ออกไปจากมักกะฮฺ(อพยพไปยังมะดีนะฮฺ)แล้ว”

    ท่านอบูบักรฺกล่าวตอบว่า : ให้ฉันได้เป็นมิตรสหายร่วมเดินทางกับท่านเถิด [5] โอ้ ผู้เป็นที่รักยิ่งมากกว่าบิดาของฉัน ?

    ท่านนบี  g จึงกล่าวว่า : “ได้”[6]

    แน่นอนว่า อบูบักรฺคงไม่ลืมว่า การเดินทางครั้งนี้ย่อมเต็มไปด้วยความเสี่ยงและอันตรายมากมาย แต่มันไม่สามารถส่งผลกระทบหรือหยุดยั้งความตั้งใจในการเป็นเพื่อนร่วมเดินทางกับท่านนบี g แม้แต่น้อย! ท่านอบูบักรฺได้ร้องไห้ด้วยความดีใจอย่างมีความสุขที่สุด ทันทีที่ได้รับอนุญาตจากท่านนบี g ให้ร่วมออกเดินทางฮิจญ์เราะฮฺไปมะดีนะฮฺด้วยกัน

    อัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัรฺ กล่าวว่า อิบนุ อิสหากได้ระบุเพิ่มในรายงานของท่านว่า ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้กล่าวว่า ฉันได้เห็นอบูบักรฺร้องไห้ ฉันไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมีคนร้องไห้เนื่องจากความดีใจด้วย[7]

    2. ความปิติยินดีของชาวอันศอรฺเมื่อท่านนบี g ได้อพยพมาหาพวกเขาถึงมะดีนะฮฺ

    ครั้นเมื่อชาวอันศอรฺได้ทราบถึงการอพยบของท่านนบี g มายังเมืองมะดีนะฮฺของพวกเขา ก็รู้สึกปิติยินดียิ่งในการต้อนรับท่าน

    ในตำราที่รายงานวจนะและชีวประวัติของท่านนบี g ได้มีบันทึกและถ่ายทอดความรู้สึกของพวกเขาไว้มากมาย ตัวอย่างเช่น

    มีรายงานโดยท่านอิมามอัล-บุคอรียฺ จากท่านอุรวะฮฺ บิน ซุเบรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เกี่ยวกับการรอคอยของชาวอันศอรฺที่เขต อัล-หัรเราะฮฺ นอกเมืองมะดีนะฮฺ ซึ่งในรายงานของท่านได้ระบุไว้ว่า “และเมื่อบรรดาผู้ศรัทธาที่มะดีนะฮฺได้ทราบถึงการอพยพของท่านนบี g ออกจากเมืองมักกะฮฺ พวกเขาจึงออกไปรอคอยอยู่ที่เขต อัล-หัรเราะฮฺ ตั้งแต่เช้าจนแสงแดดร้อนระอุจึงค่อยแยกย้ายกลับไปยังบ้านเรือนของตน – พวกเขาทำอย่างนี้ทุกๆ วัน – อยู่มาวันหนึ่ง พวกเขาได้รอคอยนานกว่าปกติแล้วจึงแยกย้ายกลับบ้าน จู่ๆ ได้มีชาวยิวคนหนึ่งได้ปีนขึ้นบนที่สูงเพื่อหาดูอะไรบางอย่างที่ตนต้องการ ทันใดนั้นก็ได้มองเห็นท่านนบี g พร้อมสหายของท่านใส้เสื้อผ้าขาวเด่นชัดมาแต่ไกล ท่ามกลางละอองความร้อนของทะเลทราย เขาจึงกลั้นไม่อยู่ที่จะร้องเสียงดังว่า : โอ้ชาวอาหรับ นั่นคือเจ้านายของพวกท่าน ที่พวกท่านรอคอย (เขาได้มาถึงแล้ว) !

    ชาวมุสลิมทั้งหลายก็ตื่นเต้นรีบวิ่งไปหาและต้อนรับท่านนบีถึงท่ามกลางทุ่งหัรเราะฮฺ แล้วท่านนบี g ก็ได้เดินทางเบี่ยงขวาเข้าสู่เมืองมะดีนะฮฺ และหยุดพำนักที่เผ่าของ อัมรฺ บิน เอาฟฺ [8]

                อัลลอฮุอักบัร!  ความปรารถนาของพวกเขาที่จะเจอท่านนบี g นั้นยิ่งใหญ่มาก ถึงขนาดที่ ได้อดทนนั่งรอคอยท่านนบี g อันเป็นที่รักของพวกเขาในทุกๆ เช้าที่ทุ่งหัรเราะฮฺจนแสงแดดร้อนระอุแล้วจึงได้แยกย้ายกลับบ้าน

    ในรายงานของท่านอิบนุ สะอัด ได้กล่าวว่า “เมื่อความร้อนของแสงแดดได้แผดเผา พวกเขาก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน”[9]

    และในรายงานของ อัล-หากิม กล่าวว่า “พวกเขาจะรอคอยท่านนบี g จนพวกเขารู้สึกระคายเคืองจากความร้อนระอุของแสงแดด”[10]

    ท่านอิมาม อัล-บุคอรียฺ -ได้กล่าวเพิ่มเติมอีก- เกี่ยวกับการต้อนรับท่านนบี g ของชาวอันศอรฺที่มะดีนะฮฺ โดยรายงานจากท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า: เมื่อท่านนบีได้มาถึงและหยุดพักที่บริเวณข้างๆ เขต อัล-หัรเราะฮฺ ก็ได้แจ้งข่าวแก่ชาวอันศอรฺ พวกเขาจึงเข้าไปต้อนรับท่านนบี g และอบู บักรฺด้วยการกล่าวสลาม และได้บอกแก่ทั้งสองคนว่า “ท่านทั้งสองเชิญเข้ามาอย่างปลอดภัยและด้วยการรับใช้ของพวกเราแก่ท่านเถิด”  ท่านนบี g และอบูบักรฺได้ขี่พาหนะเข้ามะดีนะฮฺโดยการห้อมล้อมภายใต้การอารักขาของชาวอันศอรฺพร้อมๆ กับเสียงประกาศดังไปทั่วว่า : “ท่านนบีของอัลลอฮฺได้มาถึงแล้ว ท่านนบีของอัลลอฮฺได้มาถึงแล้ว !” ผู้คนก็ได้แห่มาพบท่าน พร้อมกล่าวซ้ำๆ กันว่า“ท่านนบีของอัลลอฮฺได้มาถึงแล้ว” ท่านนบีก็ได้เดินผ่านหมู่บ้านมาเรื่อยๆ จนในที่สุดได้มาหยุดที่บ้านของท่านอบู อัยยูบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ [11]

                ท่านอิมามอะหฺมัดได้รายงานจากท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า  “จำนวนชาวอันศอรฺที่ได้ออกมาประชิดและต้อนรับท่านนบี g กับอบูบักรฺมีจำนวนประมาณห้าร้อยคนด้วยกัน พวกเขาได้กล่าวแสดงความยินดีด้วยคำว่า “ท่านทั้งสองเชิญผ่านเข้ามาอย่างปลอดภัยและด้วยการรับใช้เชื่อฟังของพวกเราเถิด”[12]

                และท่านอิมามอะหฺมัดได้นำเสนอภาพเหตุการณ์ในครั้งนี้โดยผ่านการบอกเล่าของอบูบักรฺ  เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า “เมื่อท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺได้เดินทางออกไปพร้อมๆ กับฉัน จนมาถึงเมืองมะดีนะฮฺแล้วนั้น ผู้คน(ชาวมะดีนะฮฺ)ก็เห่ออกมาดูกันเต็มท้องถนนและบนหลังคาบ้าน ด้วยเสียงร้องอย่างกระหึ่มกึกก้องของเด็กๆ และบรรดาทาสว่า  อัลลอฮุอักบัรฺ! ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ g ได้มาถึงแล้ว  ท่านนบีมุหัมมัด g ได้มาถึงแล้ว ...!! และพวกเขาก็แย่งกันระหว่างพวกเขาว่า จะให้ท่าน นบี g พักอยู่ที่บ้านใคร”[13]

                ท่านอะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เปิดใจเกี่ยวกับวันอันประเสริฐนั้นว่า : ฉันไม่เคยเห็นวันไหนเลยที่มีราศีประกายและประเสริฐยิ่งไปกว่าวันที่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ g และอบูบักรฺได้เดินทางเข้ามายังนครมะดีนะฮฺ[14]

                และท่านอัล-บัรรออ์ บิน อาซิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ก็ได้เล่าบอกถึงความรู้สึกปลื้มใจของชาวมะดีนะฮฺต่อการมาถึงของท่านนบี g ผู้เป็นที่รักของพวกเขาไว้ว่า “และฉันไม่เคยเห็นชาวมะดีนะฮฺดีใจเป็นที่สุดกับสิ่งอื่นใด มากไปกว่าการที่พวกเขาดีใจกับการมาถึงของท่านนบี g”[15]

    3. ชาวอันศอรฺเกรงกลัวว่าจะไม่มีโอกาสได้เคียงข้างกับท่านนบี g ผู้เป็นที่รักของพวกเขา

                เมื่อพระองค์อัลลอฮฺได้มอบเกียรติแด่ชาวอันศอรฺด้วยการให้พวกเขาเป็นมิตรสหายและได้อาศัยอยู่กับท่านนบี g ผู้เป็นที่รักของพวกเขา ซึ่งต่างก็แย่งกันที่จะได้ใกล้ชิดกับท่านนบี g เพราะเกรงกลัวว่าจะสูญเสียความโปรดปรานและเกียรติอันยิ่งใหญ่ดังกล่าวไป

    ดังเช่นมีรายงานในบันทึกของอิมามมุสลิมจากท่านอบี ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า : “เมื่อท่านนบี g ได้เข้าพิชิตมักกะฮฺ(สงครามเปิดมักกะฮฺปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 8)นั้น ท่านได้มอบให้ท่านอัซ-ซุเบรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ให้คุมทัพปีกหนึ่ง และได้มอบให้ท่านคอลิด g ได้คุมอีกปีกหนึ่ง และได้คำสั่งให้อบู อุบัยดะฮฺนำทหารศึก(ที่มีไม่มีโล่ป้องกันตัว)มารวมตัวกันเดินโดยใช้เส้นทางกึ่งกลางหุบเขา ท่านนบี g ได้เหลือบหันมามองเห็นฉัน (อบู ฮุร็อยเราฮฺ) แล้วเรียกขานฉันว่า : อบู ฮุร็อยเราะฮฺ !

    อบู ฮุร็อยเราะฮฺตอบว่า : ครับ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ !!

    ท่านนบี g : “ห้ามให้ใครเข้ามาพบฉันเด็ดขาด เว้นแต่เฉพาะชาวอันศอรฺเท่านั้น”  ท่านกล่าวต่อไปอีกว่า “จนกว่าพวกท่านจะได้มาพบฉันที่ภูเขา อัศ-เศาะฟา”

    อบู ฮุร็อยเราะฮฺ รายงานต่อไปว่า : เราได้เดินไปเรื่อยๆ (ด้วยความฮึกเหิมและเป็นที่เกรงขาม กระทั่งว่า)ใครที่จะสังหารผู้ใดก็สามารถทำได้เลยโดยที่ไม่มีใครกล้าที่จะเผชิญหน้ากับทัพของเราเลยแม้แต่คนเดียว จนกระทั่ง อบู ซุฟยานได้มาถึงแล้วกล่าวร้องเรียนแก่ท่านนบี g ว่า :  “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ! ชาวกุร็อยชฺถูกล้างเผ่าพันธุ์จนสิ้นแล้ว ! หลังจากนี้จะไม่มีคำว่ากุร็อยชฺอีกต่อไปแล้ว !”

    ท่านนบี g จึงก็ได้กล่าวไปว่า : “ใครก็ตามแต่ที่เข้าไปหลบในบ้านของกุร็อยชฺก็จะได้รับความคุ้มครองและความปลอดภัย”

    ได้ยินดังนั้น ชาวอันศอรฺจึงได้กล่าวว่า : ชายผู้นี้(ท่านนบี g ) ได้กลับบ้านเกิดอย่างสมใจแล้ว  และได้เกิดความเอ็นดูแก่ญาติพี่น้องของตนเสียแล้ว

    อบู ฮุร็อยเราฮฺ ได้เล่าว่า : และแล้วก็มีวะหฺยูมายังท่านนบี g  หลังจากนั้น ท่านนบี g ก็ได้เรียกชาวอันศอรฺว่า “ชาวอันศอรฺทั้งหลายเอ๋ย !”

    บรรดาชาวอันศอรฺได้กล่าวว่า : โอ้ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ !! พวกเราพร้อมน้อมรับคำสั่งของท่านเสมอ

    ท่านนบี g :”พวกท่านได้กล่าวว่า ‘ชายผู้นั้น(ท่านนบี g ) ก็ได้กลับบ้านเกิดอย่างสมใจแล้ว’ ใช่หรือไม่ ?”

    ชาวอันศอรฺตอบว่า : ใช่ครับท่าน เป็นไปอย่างนั้นจริง !

    ท่านนบี g  : “ไม่จริงเลย !  แท้จริงฉันเป็นบ่าวและเป็นศาสนทูตของพระองค์อัลลอฮฺ  ฉันได้อพยพไปยังพระองค์อัลลอฮฺและยังพวกท่านแล้ว ชีวิตฉันจะตายหรือจะเป็นก็เคียงข้างพวกท่านเสมอตลอดไป”

    ชาวอันศอรฺจึงได้กรูเข้าหาท่านนบี g ด้วยน้ำตาที่ไหลริน ร้องไห้ด้วยความเสียใจที่สุดพร้อมกับกล่าวว่า “พวกเราไม่ได้พูดอย่างนั้นเว้นแต่เพราะความรักยิ่งในพระองค์อัลลอฮฺและต่อท่านนบีเท่านั้นเอง(คือพวกเขาหวั่นเกรงว่าท่านนบี g จะเปลี่ยนไปรักชาวมักกะฮฺแทนพวกเขา)

    ท่านนบี g : “แท้จริง พระองค์อัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ได้เชื่อในคำพูดของพวกท่าน และยอมรับเหตุผลอันเป็นข้ออ้างของพวกท่านแล้ว”[16]

    ท่านอิมาม อัน-นะวะวียฺ ได้กล่าวอธิบายหะดีษฺบทนี้ว่า “เมื่อชาวอันศอรฺได้สังเกตเห็นความอ่อนโยนเอ็นดูของท่านนบี g ที่มีต่อชาวมักกะฮฺ คือท่านมิได้สังหารพวกเขา(ทั้งๆ ที่อยู่ในสภาวะสงคราม) ชาวอันศอรฺก็เข้าใจว่าท่านบี g คงกลับมาถึงบ้านเกิด(เมืองมักกะฮฺ)ของท่าน และพักพิงที่นั่นเป็นการถาวร คงละทิ้งพวกเขาและเมืองมะดีนะฮฺเสียแล้ว ทำให้ชาวอันศอรฺเกิดลำบากใจอย่างมาก!  พระองค์อัลลอฮฺก็ประทานวะหฺยูลงมายังท่านนบี g เพื่อแจ้งข้อเท็จจริงแก่ชาวอันศอรฺ ท่านนบีg ก็ได้กล่าวว่า แท้จริง ฉันได้อพยพสู่อัลลอฮฺและสู่บ้านเมืองของพวกท่าน เพื่อจะอาศัยอยู่ที่นั่น ดังนั้นฉันจะไม่จากมันไป และฉันจะไม่ยกเลิกการอพยพของฉันที่เกิดขึ้นเพื่ออัลลอฮฺ ทว่าฉันจะอยู่กับพวกท่านตลอดไป อยู่ก็อยู่พร้อมกับพวกท่าน ตายก็ตายพร้อมกับพวกท่าน”

    เมื่อท่านได้พูดดังกล่าว ชาวอันศอรฺต่างก็ร่ำไห้และขอโทษด้วยความเสียใจ และได้กล่าวแก่ท่านว่า ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ พวกเราไม่ได้พูดเช่นนั้นขึ้นมา เว้นแต่เพราะว่าเราปรารถนาแรงกล้าที่จะอยู่กับท่านและใกล้ชิดท่านตลอดไปพร้อมกับพวกเรา เพื่อเราจะได้ประโยชน์จากท่าน และได้รับความสิริมงคลของท่าน และให้ท่านได้ชี้ทางเราสู่ทางที่เที่ยงตรง เช่นที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

    ﴿وَإِنَّكَ لَتَهْدِي إِلَى صِرَاطٍ مُّسْتَقِيمٍ﴾ (الشورى : 52)

    ความว่า “แท้จริง เจ้า(มุหัมมัด)ย่อมชี้ทางสู่เส้นทางอันเที่ยงธรรม” (อัช-ชูรอ 52)

    และนี่ก็คือความหมายของพวกเขาที่ได้พูดไปว่า “เราไม่ได้พูดสิ่งที่กล่าวออกไป เว้นแต่เพราะกลัวว่าท่านจะจากเราไป และจะให้คนอื่นมาแทนที่พวกเรา”

    เหตุที่พวกเขาร้องไห้ก็เพราะว่าดีใจกับสิ่งที่ท่านนบี g ได้พูดกับพวกเขา และละอายในสิ่งที่พวกเขากลัวว่าท่านจะได้รับฟังเรื่องที่น่าอายจากพวกเขา[17]

    4. เศาะหาบะฮฺกลัวว่าจะไม่สามารถพบเห็นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในสวนสวรรค์

                มีเศาะหาบะฮฺท่านอื่นอีกที่รักท่านนบี g อย่างสัจจริงที่ได้นึกถึงการเสียชีวิตของเขาและการเสียชีวิตของท่านนบี g ผู้เป็นที่รักและมีเกียรติของเขา ซึ่งเขากลัวว่าจะไม่สามารถเห็นใบหน้าอันมีเกียรติของท่านนบี g ในสวนสวรรค์ ถึงแม้ว่าเขาจะได้เข้าสวนสวรรค์เหมือนกันก็ตาม อันเนื่องจากความสูงส่งแห่งฐานะของท่านนบี g เพราะท่านนบีย่อมจะอยู่ร่วมกับบรรดานบีทั้งหลาย(ในชั้นอันสูงส่งของสวรรค์)

                อิมาม อัฏ-เฏาะบะรีย์ ได้รายงานเรื่องราวเศาะหาบะฮฺท่านนี้ให้กับเราผ่านคำพูดของอาอิชะฮฺ บินติ อัศ-ศิดดีก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า “มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี g แล้วกล่าวว่า โอ้ ท่านเราะซูลุลลอฮฺ แท้จริงท่านเป็นที่รักยิ่งของฉันยิ่งกว่าชีวิตของฉันและบุตรของฉันเสียอีก แท้จริง ฉันอยู่ที่บ้านนึกถึงท่านจนอดทนไม่ไหว ก็เลยมาหาท่านเพื่อมองหน้าท่าน และเมื่อฉันนึกถึงการเสียชีวิตของฉันและการเสียชีวิตของท่าน ฉันรู้ว่าเมื่อท่านเข้าสวนสวรรค์ท่านจะถูกยกฐานะพร้อมกับบรรดานบี และฉันเมื่อเข้าสวนสววค์ฉันกลัวว่าจะไม่ได้พบเห็นท่านอีก” ท่านนบี g ไม่ตอบใดๆ จนกระทั่งญิบรีล อะลัยฮิสสลาม นำโองการ (วะหฺยู) ลงมาว่า

    ﴿وَمَن يُطِعِ اللّهَ وَالرَّسُولَ فَأُوْلَـئِكَ مَعَ الَّذِينَ أَنْعَمَ اللهُ عَلَيْهِم مِّنَ النَّبِيِّينَ وَالصِّدِّيقِينَ وَالشُّهَدَاء وَالصَّالِحِينَ وَحَسُنَ أُولَـئِكَ رَفِيقاً﴾ (النساء : 69)

    ความว่า “และผู้ใดที่เชื่อฟังอัลลอฮฺและเราะซูลแล้ว ชนเหล่านี้จะอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงกรุณาเมตตาแก่พวกเขา อันได้แก่บรรดานบี บรรดาผู้ที่เชื่อโดยดุษฏี(ศิดดีกีน) บรรดาผู้ที่เสียชีวิตในสงคราม และบรรดาผู้ที่ประพฤติดี และชนเหล่านี้แหละเป็นเพื่อนที่ดียิ่งแล้ว”[18]

    5. เราะบีอะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ขอเพื่อให้ได้เป็นมิตรสหายกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในสวนสวรรค์

                ผู้รักท่านนบี g อย่างสัจจริงอีกท่านได้มีโอกาสให้ขอจากท่านนบี g ท่านผู้นี้คือ เราะบีอะฮฺ บิน กะอับ อัล-อัสละมีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ แล้วอะไรเล่าคือ คำขอของเขา ?

                อิมามมุสลิมมีรายงานเรื่องราวของเขาให้กับเราผ่านคำพูดของเขาเอง เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ครั้งหนึ่งฉันได้ค้างคืนกับท่านนบี g แล้วฉันก็ช่วยท่านเตรียมน้ำเพื่ออาบน้ำละหมาดและสิ่งจำเป็นอื่นๆ แก่ท่าน ท่านนบี g ก็บอกกับฉันว่า “จงขอสิ (เจ้าอยากได้อะไร?) ฉันก็กล่าวว่า ฉันขอจากท่านเพื่อให้ได้เป็นมิตรสหายกับท่านในสวนสวรรค์ ท่านนบี g ถามอีกว่า “มีสิ่งอื่นอีกไหม?” ฉันตอบว่า เท่านั้นแหล่ะคือสิ่งที่ฉันอยากได้ ท่านนบี g ก็กล่าวว่า “ท่านเช่นนั้น เจ้าจงสนับสนุนฉันให้สามารถช่วยเหลือท่านได้ ด้วยการที่ท่านต้องสุญูดต่ออัลลอฮฺให้เยอะ”[19]

                เช่นนี้แหล่ะ คือคนที่รักท่านนบี g อย่างสัจจริง เมื่อมีโอกาสให้ขอก็ไม่ลังเลใจในการเลือกขอที่จะเป็นมิตรสหายกับท่านนบี g ทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ อีกทั้ง ไม่มีสิ่งอื่นในความคิดของเขาที่จะทดแทนการเป็นมิตรสหายกับท่านนบี g ได้อีกด้วย

    6. ชาวอันศอรฺเลือกเอาท่านเราะซูลุลลอฮฺ g แทนแพะ แกะ และอูฐ

                เรื่องนี้มิได้เจาะจงเฉพาะเราะบีอะฮฺ บิน กะอับ อัล-อัสละมีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เพียงคนเดียวเท่านั้นในการเลือกเอาท่านเราะสซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม  แต่มันเป็นเช่นนี้กับบรรดาผู้รักท่านนบี g อย่างสัจจริง ซึ่งในสงครามหุนัยนฺชาวอันศอรฺถูกให้เลือกระหว่างการเป็นมิตรสหายกับท่านนบี g กับการเลือกเอาแพะ แกะและอูฐ พวกเขาก็พอใจยินยอมให้ผู้คนนำเอาทรัพย์สินของโลกดุนยากลับสู่บ้านเรือนของพวกเขา และพวกเขา(ชาวอันศอร)ได้เลือกเอาท่านนบี g กลับสู่ภูมิลำเนาของพวกตน

                มีหนังสือสุนนะฮฺและประวัติศาตร์มากมายที่เล่าเรื่องนี้อย่างละเอียด ดังที่อิมามอัล-บุคอรีย์ ได้รายงานจากอับดุลลอฮฺ บิน ซัยดฺ บิน อาศิม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า เมื่อครั้งที่อัลลอฮฺให้ชัยชนะและทรัพย์สินที่ได้จากการทำสงครามแก่ท่านนบี g ในสงครามหุนัยนฺ ท่านก็แบ่งทรัพย์สินเหล่านั้นให้กับบรรดาผู้ที่เข้ารับอิสลามใหม่ๆ และไม่ได้แบ่งให้กับชาวอันศอรฺแต่อย่างใด ทำให้พวกเขารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่พวกเขาไม่ได้รับในสิ่งที่ผู้คนทั้งหลายต่างได้รับแบ่งกัน แล้วท่านนบี g ก็กล่าวปาฐกถาให้กับพวกเขาโดยกล่าวว่า “โอ้บรรดาชาวอันศอรฺ ฉันเคยเห็นพวกท่านอยู่ในความหลงผิด แล้วอัลลอฮฺก็ได้ทรงให้ทางนำแก่พวกท่านโดยผ่านฉัน มิใช่ดอกหรือ?  พวกท่านเคยแตกแยกกัน แล้วอัลลอฮฺก็ได้ทรงสร้างความเป็นพี่น้องระหว่างพวกท่านโดยผ่านฉัน มิใช่ดอกหรือ? และพวกท่านเคยตกทุกข์ได้ยาก แล้วอัลลอฮฺก็ทรงประทานให้กับพวกท่านซึ่งความมั่งมีสุขสบายอันมากมายโดยผ่านฉัน มิใช่ดอกหรือ?” ซึ่งทุกๆ ครั้งที่ท่านนบี g กล่าวประโยคหนึ่ง พวกเขาจะกล่าวตอบว่า “อัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์เป็นผู้มีเมตตากรุณายิ่งแล้ว”[20] ท่านนบี g กล่าวต่อไปว่า “หากพวกท่านประสงค์แน่นอนพวกท่านอาจจะกล่าวว่า ท่าน(หมายถึงนบี)มายังพวกเราในสภาพอย่างนั้นอย่างนี้”[21]  “พวกท่านยังไม่พอใจอีกหรือ ที่ผู้คนได้เลือกเอาแพะ แกะ และอูฐ หรือทรัพสินอื่นๆ กลับบ้านไป แล้วพวกเจ้าได้เลือกเอานบี g กลับสู่ภูมิลำเนาของพวกท่าน ? หากว่าไม่มีการอพยพเกิดขึ้น แน่นอนฉันจะเป็นคนหนึ่งที่อยู่ร่วมกับชาวอันศอรฺ และหากผู้คนเดินทางไปทางหนึ่ง แน่นอนฉันจะเดินไปตามทางชาวอันศอรฺ ชาวอันศอรฺเปรียบเสมือนเครื่องแต่งกายชั้นในแต่บุคคลอื่นเหมือนเครื่องแต่งกายชั้นนอก (หมายถึง ชาวอันศอรฺมีความใกล้ชิดกับท่านนบี g มากกว่า) และแท้จริง หลังจากฉันเสียชีวิตไปแล้ว พวกเจ้าจะได้พบเจอการเห็นแก่พวกพ้องในสิ่งที่เป็นของสาธารณะ ดังนั้น พวกเจ้าจงอดทนให้ดี จนกว่าพวกเจ้าจะได้พบฉันที่สระน้ำ(ในวันกิยามะฮฺ)[22]

                และในหะดีษฺของอบู สะอีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านนบี g กล่าวเพิ่มอีกว่า “โอ้พระองค์อัลลอฮฺ ทรงได้โปรดประทานความเมตตาแก่ชาวอันศอรฺและลูกหลานของพวกเขาด้วยเถิด”    จากนั้น พวกเขาต่างก็ร้องไห้น้ำตาไหลจนกระทั่งเคราเปียกปอน และกล่าวว่า พวกเราพอใจกับท่านเราะสูลุลลอฮฺ g เป็นส่วนแบ่งของพวกเราแล้ว[23]

                อิมาม อิบนุล ก็อยยิม กล่าวว่า เมื่อครั้งที่เราะสูลุลลอฮฺ g ได้อธิบายถึงเหตุผลที่แฝงอยู่ในการที่ท่านได้ทำกับพวกเขา(ชาวอันศอรฺ)เช่นนั้น พวกเขาก็หันกลับด้วยความยอมจำนน และเห็นว่าทรัพย์สินที่ได้จากการทำสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ การที่ท่านนบี g ได้กลับไปอยู่ร่วมกับพวกเขา ทำให้พวกเขาหลงลืมแพะแกะ อูฐ และเชลยศึกที่เป็นผู้หญิงและเด็ก เนื่องจากพวกเขาได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ และได้อยู่ใกล้ชิดกับท่านนบี g ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่และหลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตไปแล้วด้วย[24]

    7. อุมัรฺ อัล-ฟารูก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ มีความปราถนาให้ฝังศพของท่านใกล้กับท่านนบี g

                เรายังเห็นผู้รักท่านนบี g อย่างสัจจริงอีกท่าน เขาผู้นั้นคือ อุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ ขณะที่ท่านต้องจากโลกดุนยาที่ไม่ยั่งยืนไปสู่โลกอาคิเราะฮฺอันนิรันดร ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับท่านก็คืออยากให้ฝังศพท่านใกล้กับท่านนบีผู้เป็นที่รักอันมีเกียรติ g

                อิมาม อัล-บุคอรียฺ มีรายงานจากอัมรฺ บิน มัยมูน ว่า อุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ ได้กล่าวกับ (บุตรชายของท่าน) ว่า “โอ้ อับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ  เจ้าจงไปหาอาอิชะฮฺ มารดาแห่งผู้ศรัทธา เราะฎิยัลลอฮุอันฮา  แล้วบอกนางว่า อุมัรฺฝากสลามถึงเธอ และอย่าใช้สำนวน อะมีริลมุอ์มินีน เพราะวันนี้ฉันไม่ได้เป็นอะมีริลมุอ์มินีนอีกต่อไป และบอกนางว่า อุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ จะขออนุญาตให้ฝังศพของเขาใกล้กับสหายของเขาทั้งสอง” (หลังจากนั้นอับดุลลอฮฺก็ไปหาท่านหญิงอาอิชะฮฺ) แล้วให้สลามขออนุญาตเข้าบ้านซึ่งเห็นนางกำลังนั่งร้องไห้ แล้วได้กล่าวแก่นางว่า “อุมัรฺฝากสลามถึงท่านหญิงด้วย และเขาขออนุญาตฝังศพของตัวเองใกล้กับสหายทั้งสองของเขา” ท่านหญิงอาอิชะฮฺกล่าวว่า “ตามจริงแล้ว ที่ตรงนั้นฉันเคยหวังที่จะให้เป็นที่ฝังศพของตัวฉันเอง ทว่า วันนี้ฉันขอเสียสละมันให้กับอุมัรฺ” และเมื่ออับดุลลอฮฺกลับมา มีคนกล่าวบอกกับท่านอุมัรฺว่า อับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺได้กลับมาแล้ว อุมัรฺก็กล่าวว่า “ยกฉันหน่อย” แล้วมีชายคนหนึ่งยกท่านขึ้นพิงกับตัวเขา แล้วท่านก็ถาม(อับดุลลอฮฺ)ว่า “เจ้ามีข่าวอะไรบ้าง ?” อับดุลลอฮฺตอบว่า “โอ้ อะมีริลมุอ์มินีน สิ่งที่ท่านปรารถนานั้น ท่านได้รับอนุญาตตามนั้นแล้ว” อุมัรฺจึงกล่าวว่า “อัลหัมดุลิลลอฮฺ ไม่มีสิ่งใดสำหรับฉันที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นอีกแล้ว (คือ จะได้ฝังใกล้กับท่านนบีและอบูบักรฺ) และเมื่อฉันเสียชีวิตพวกท่านก็จงหามฉันไป จากนั้นให้เจ้า(หมายถึงอับดุลลอฮฺบุตรของท่าน) ให้สลามแล้วกล่าวกับอาอิชะฮฺว่า อุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบขออนุญาต (จะฝังศพของเขาใกล้กับสหายทั้งสองของเขา) หากนางอนุญาตพวกท่านก็เอาฉันเข้าไปข้างใน และหากนางปฏิเสธก็จงเอาฉันไปฝังที่สุสานพร้อมๆ กับบรรดามุสลิมอื่น”[25]

    8. อบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ร้องไห้ขณะที่ท่านรู้ว่าใกล้ถึงเวลาที่ท่านนบี g ต้องจากไป

                เราเห็นตัวอย่างของอบูบักรฺ อัศศิดดีก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ  ผู้รักท่านนบี g อย่างสัจจริง ซึ่งได้ฉุกคิดจากคำพูดของท่านนบี g ที่สะท้อนให้เห็นว่ากำหนดเวลาแห่งความตายของท่านนบีนั้นได้ใกล้เข้ามาแล้ว ท่านอบูบักรฺอดกลั้นตัวเองไม่อยู่ จึงร้องไห้หลั่งน้ำตาออกมา อิมามอัล-บุคอรีย์มีรายงานเรื่องราวของท่านจากอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ g ได้กล่าวปาฐกถาต่อหน้าผู้คนโดยกล่าวว่า “แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺได้ทรงให้บ่าวคนหนึ่งเลือกระหว่างโลกดุนยากับสิ่งที่อยู่ ณ พระองค์ แล้วบ่าวคนนั้นก็เลือกสิ่งที่อยู่ ณ พระองค์อัลลอฮฺ” แล้วอบูบักรฺก็ร้องไห้ พวกเราก็รู้สึกแปลกถึงการร้องไห้ของท่านขณะที่ท่านเราะสูลุลอฮฺ g เล่าเรื่องดังกล่าว และบ่าวที่ถูกให้เลือกในที่นี้ก็เป็นท่านเราะสูลุลลอฮฺ g นั่นเอง และอบูบักรฺก็เป็นผู้ที่รู้ได้ดีที่สุดในหมู่พวกเรา”[26]

                และในสายรายงานอื่นจากมุอาวิยะฮฺ บิน อบี สุฟยาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ไม่มีใครที่เข้าใจถึงคำพูดของท่านเราะสูลุลลอฮฺนอกเสียจากอบูบักรฺ แล้วท่านก็ร้องไห้และกล่าวว่า “ขอให้เราได้ซื้อตัวท่านนบี g ด้วยพ่อแม่และลูกหลานของเราเองเถิด”[27]

    9. อบูบักรฺ อัศ-ศิดดีก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ร้องไห้ขณะที่รำลึกถึงท่านนบี g หลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว

                เราเห็นอีกตัวอย่างหนึ่งของอบูบักรฺ อัศ-ศิดดีก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ที่ร้องไห้ขณะรำลึกถึงท่านนบี g ผู้เป็นที่รักหลัง จากที่ท่านได้กลับคืนสู่ความเมตตาของพระองค์อัลลอฮฺ ส่วนหนึ่งของหลักฐานที่บ่งบอกถึงเรื่องดังกล่าวก็คือ หะดีษฺที่อิมามอะหฺมัดได้รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ฉันได้ยินอบูบักรฺ อัศ-ศิดดีก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวบนมินบัรฺนี้ว่า ฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ g ในวันเยี่ยงเดียวกันกับวันนี้ของปีแรก แล้วท่านก็เกิดอาการสะอื้นไห้และหลั่งน้ำตา จากนั้นจึงได้กล่าวต่อไปอีกว่า ฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ g กล่าวว่า “พวกเจ้าจะไม่ได้รับสิ่งใดหลังจากอัล-อิศลาศ (ความบริสุทธิ์ใจ) ที่มีค่ามากไปกว่าการได้รับ อัล-อาฟิยะฮฺ (คือความปลอดภัยทั้งกายและใจ ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม) ดังนั้นก็จงขอมันจากอัลลอฮฺเถิด”[28]

    ในรายงานอื่นระบุว่า ท่านมีอาการจุกและสะอื้นเช่นนั้นสามครั้ง กว่าจะบอกหะดีษฺดังกล่าวได้[29]

    10. อบูบักรฺ อัศ-ศิดดีกมีความตั้งใจที่จะเสียชีวิตและได้พบกับท่านเราะสูลุลลอฮฺ g อย่างเร็วที่สุด

                ส่วนหนึ่งจากหลักฐานที่บ่งบอกถึงเรื่องดังกล่าวคือ หะดีษที่อิมามอะหฺมัดได้รายงานจากอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา นางกล่าวว่า แท้จริง อบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เมื่อครั้งความตายได้มาเยือนท่าน ท่านกล่าวถามว่า “วันนี้เป็นวันอะไร?” ผู้คนรอบข้างตอบท่านว่า “วันนี้เป็นวันจันทร์” ท่านกล่าวต่อไปว่า “หากฉันเสียชีวิตในค่ำคืนนี้ก็จงอย่ารอให้ถึงพรุ่งนี้ (คือให้ฝังศพในค่ำคืนนั้นเลย) ซึ่งแท้จริงแล้ว วันเวลาและค่ำคืนที่เป็นที่รักยิ่งสำหรับฉัน คือวันเวลาและค่ำคืนที่ใกล้กับท่านเราะสูลุลลอฮฺ g มากที่สุด”[30]

                อัลลอฮุอักบัรฺ ! การที่จะรักวันเวลาหรือค่ำคืนนั้น จะให้รู้ว่ารักมากเท่าใดก็ให้ใช้เกณฑ์ว่ามันอยู่ใกล้กับท่านนบี g ผู้เป็นที่รักมากน้อยเพียงใดนั่นเอง

    เช่นนี้แหละ คือสภาพบรรดาผู้สัจจริงในความรักที่มีต่อท่านนบี g คิดถึงและปราถนาที่จะมองดูท่าน ต้องการและพยายามที่จะเป็นมิตรสหายกับท่าน มีความสุขเมื่อได้เห็นท่าน ร่าเริงเมื่อได้อยู่กับท่าน เลือกที่จะเป็นมิตรสหายกับท่านเหนืออื่นสิ่งใด กลัวการสูญเสียและร้องไห้หลั่งน้ำตาเมื่อท่านจากไป แล้วเราเล่าอยู่ ณ ส่วนไหนระหว่างพวกเขาเหล่านี้ ? ในขณะที่พวกเรากลับรักสิ่งอื่นมากกว่าและยอมเอาสิ่งเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนแทนที่ความรักที่มีต่อท่านนบี g มิใช่หรือ ? พวกเราหลายต่อหลายคน (ทั้งๆ ที่อ้างว่ารักท่านนบี g) ได้ทุ่มเทเงินทองและเวลาอันมีค่าเพื่อให้ได้เห็นและได้ยินสิ่งอื่นๆ (ผู้เขียนอาจจะหมายถึงการติดตามรายการต่างๆ ตามสื่อโทรทัศน์เป็นต้น) ในขณะเดียวกันก็กลับละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสิทธิของอัลลอฮฺและสิทธิของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพียงเพื่อให้ได้ติดตามสิ่งที่ตนเองชอบเหล่านั้น ต่างรู้สึกสุขใจเมื่อได้ดูสิ่งเหล่านั้นและรู้สึกโศกเศร้าเสียใจเมื่อต้องพลาดมันไปแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม โดยลืมไปหรือทำเป็นลืมไปว่าส่วนหนึ่งที่พวกเขากำลังหลงใคร่อยู่นั้นจะกลายเป็นสาเหตุแห่งธรณีสูบ และจะทำให้ส่วนหนึ่งของผู้ที่หลงรักมันถูกสาปแช่งให้กลายเป็นฝูงลิงและหมู ดังที่ท่านนบี g ผู้ไม่เคยพูดตามอารมณ์ได้เคยบอกไว้ ในหะดีษฺที่อิมาม อิบนุ มาญะฮฺ รายงานจากอบู มาลิก อัล-อัชอะรีย์ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “แท้จริง มีมนุษย์กลุ่มหนึ่งจากประชาชาติของฉันที่ดื่มเหล้า โดยที่พวกเขาตั้งชื่อเหล้าเหล่านั้นด้วยชื่อที่ไม่ใช่ชื่อของมัน และเล่นดนตรีด้วยเครื่องดนตรีต่างๆ นานาชนิด แล้วอัลลอฮฺก็ทรงให้แผ่นดินสูบพวกเขาและทรงทำให้ส่วนหนึ่งของพวกกลายเป็นฝูงลิงและสุกร”[31]

                เมื่อพวกเราเป็นเช่นนั้นแล้ว คำพูดของเราที่ว่า “แท้จริงท่านนบี g เป็นที่รักของเราเหนือมนุษย์และสิ่งอื่นใดทั้งหมด” จะเป็นจริงได้อย่างไรเล่า ?  การกล่าวอ้างเช่นนั้นจะให้ประโยชน์กับเรา ณ อัลลอฮฺ ตะอาลา ผู้ชึ่งรู้ทั้งสิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผยได้กระนั้นหรือ ?



    [1] บทอธิบายของ อัน-นะวะวีย์ ในเศาะฮีหฺ มุสลิม  1/16

    [2] ฟัตหุลบารี 1/59

    [3] อุมดะตุลกอรี 1/144

    [4] อุมดะตุล กอรี 45/17

    [5] ฟัตหุลบารี 7/235

    [6] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ กิตาบ มะนากิบุล อัน-ศอรฺ หมายเลขหะดีษฺ 3905 เล่มที่ 7 หน้า 231

    [7] ฟัตหุลบารี 7/235 ดูเพิ่มเติม สีเราะฮฺ อิบนิ ฮิชาม 2/93

    [8] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ  กิตาบ มะนากิบุล อันศอรฺ หมายเลขหะดีษฺ 3906 เล่มที่ 7 หน้า 239

    [9] อัฏ-เฏาะบะกอต อัล-กุบรอ 1/233

    [10] อัล-มุสตัดร็อก 3/11

    [11] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ  กิตาบ มะนากิบุล อันศอรฺ บรรพ ว่าด้วยการฮิจญ์เราะฮฺของท่านนบีฯ หมายเลขหะดีษฺ 3911 เล่มที่ 7 หน้า 250

    [12] อัล-ฟัตหฺ อัร-ร็อบบานียฺ ลิ ตัรตีบ มุสนัด อิมาม อะหฺมัด หมายเลข 155 เล่ม 20 หน้า 291, อัล-บุคอรียฺได้บันทึกใน อัต-ตารีคฺ อัศ-เศาะฆีรฺ ดู ฟัตหุล บารี 7/250 เชค อะหฺมัด อัล-บันนา กล่าวว่าสายสืบของอิมามอะหฺมัดเป็นรายงานที่เศาะฮีหฺ ดู บุลูฆฺ อัล-อะมานียฺ 20/292

    [13] อัส-มุสนัด หมายเลข 3 เล่ม 1 หน้า 155 เชค อะหฺมัด ชากิรฺ วินิจฉัยว่าเศาะฮีหฺ ดู เชิงอรรถ อัล-มุสนัด 1/154

    [14] อัล-ฟัตหฺ อัร-ร็อบบานียฺ หมายเลข 152 เล่ม 20 หน้า 290

    [15] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ  กิตาบ มะนากิบุล อันศอรฺ บรรพ ว่าด้วยการมาถึงของท่านนบี g ยังเมืองมะดีนะฮฺ หมายเลขหะดีษฺ 3925 เล่มที่ 7 หน้า 260

    [16]  เศาะฮีหฺ มุสลิม กิตาบ อัล-ญิฮาด วะ อัส-สิยัรฺ บรรพ ฟัตหฺ มักกะฮฺ หมายเลข 1780 เล่ม 3 หน้า 1405

    [17] ชัรหฺ เศาะฮีหฺ มุสลิม ของ อัน-นะวะวีย์ 12/128-129

    [18] คัดจากหนังสือ มัจญ์มะอฺ อัซ-ซะวาอิด วะ มันบะอฺ อัล-ฟะวาอิด กิตาบ อัต-อัฟซีร เล่มที่ 7 หน้า 7 อัล-ฮัยษะมีย์ กล่าวว่า อัฏ-เฏาะบะรอนีย์ ได้รายงานใน อัล-เอาสัฎ สายสืบเป็นสายสืบที่เศาะฮีหฺเว้นแต่ อับดุลลอฮฺ บิน อิมรอน อัล-อาบิดีย์ ซึ่งอยู่ในระดับที่น่าเชื่อถือ (เล่มเดียวกัน เล่มที่ 7 หน้า 7) และมีรายงานเช่นเดียวกันโดย อิบนุ มัรดะวัยฮฺ และ อบู นุอัยมฺ ใน อัล-หิลยะฮฺ และ อัฎ-ฎิยาอ์ อัล-มักดิซียฺ ใน ศิฟะตุล ญันนะฮฺ ซึ่งได้กล่าวว่า ฉันไม่เห็นว่าสายสืบนี้มีปัญหาแต่อย่างใด ดู เชิงอรรถ ซาด อัล-มะสีรฺ 2/126

    [19] เศาะฮีหฺ มุสลิม กิตาบ อัศ-เศาะลาฮฺ บรรพ ว่าด้วยการสุญูด หะดีษเลขที่ 489 เล่ม 1 หน้า 353

    [20]  ตามรายงานของอบู สะอีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ พวกเขากล่าวว่า เราจะตอบเยี่ยงใดแก่ท่านได้เล่า ? อัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์นั้นมีเมตตากรุณาแก่เรายิ่งแล้ว (จากฟัตหุล บารี 8/50)

    [21] ในรายงานของอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ  ที่บันทึกโดยอะหฺมัด มีว่า ท่านนบี g ได้กล่าวว่า “เหตุใดพวกท่านไม่กล่าวว่า ท่านมาหาเราในสภาพที่หวาดกลัว แล้วพวกเราก็ให้ความปลอดภัยแก่ท่าน มาในสภาพผู้ถูกเนรเทศ แล้วพวกเราก็ให้ที่พักพิงแก่ท่าน มาในสภาพผู้ยากไร้ แล้วพวกเราก็ช่วยเหลือท่านทำให้ท่านอุ่นใจ” บรรดาพวกอันศอรฺต่างก็ตอบว่า “เปล่าเลย ทว่าความกรุณาที่มีอยู่เหนือเรานั้น เป็นของอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์” (อ้างจาก ฟัตหุล บารี 8/51

    [22] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ กิตาบ อัล-มะฆอซี บรรพ สงคราฏออิฟ หะดีษเลขที่ 4330 เล่มที่ 8 หน้าที่ 47

    [23] คัดจากหนังสือ ฟัตหุล บารี เล่มที่ 8 หน้า 52

    [24] คัดจากหนังสือ ฟัตหุล บารี เล่มที่ 8 หน้า 49

    [25] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ กิตาบ ฟะฎออิล อัศ-เศาะหาบะฮฺ หะดีษเลขที่ 3700 เล่ม 7 หน้า 60-61

    [26]เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ กิตาบ ฟะฎออิล อัศ-เศาะหาบะฮฺ หะดีษเลขที่ 3654 เล่ม 7 หน้า 12

    [27] ดูในหนังสือ มัจญ์มะอ์ อัซ-ซะวาอิด วะ มันบะอฺ อัล-ฟะวาอิด กิตาบ อัล-มะนากิบ เล่มที่ 9 หน้า 42 อัล-ฮัยษะมีย์ กล่าวว่า สายสืบหะสัน อ้างจากเล่มเดียวกัน หน้า 43

    [28] อัล-มุสนัด หะดีษเลขที่ 10 เล่ม 1 หน้า 158-159 เชคอะหฺมัด ชากิรฺ วินิจฉัยว่าเศาะฮีหฺ เชิงอรรถมุสนัด เล่ม 1 หน้า 158

    [29] อัล-มุสนัด หะดีษเลขที่ 44 เล่ม 1 หน้า 173 เชคอะหฺมัด ชากิรฺ วินิจฉัยว่าเศาะฮีหฺ เชิงอรรถมุสนัด เล่ม 1 หน้า 173

    [30] อัล-มุสนัด หะดีษเลขที่ 45 เล่ม 1 หน้า 173 เชคอะหฺมัด ชากิรฺ วินิจฉัยว่าเศาะฮีหฺ เชิงอรรถมุสนัด เล่ม 1 หน้า 173

    [31]เศาะฮีหฺ สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ กิตาบ อัล-ฟิตัน บรรพ อัล-อุกูบาต หะดีษเลขที่ 3247 เล่ม 2 หน้า 371