×
จากหนังสือ 40 หะดีษเดือนเราะมะฎอน หะดีษที่ 1 - การถือศีลอดเราะมะฎอนเป็นศาสนกิจภาคบังคับ พร้อมคำอธิบายโดยสรุป และบทเรียนที่ได้รับจากหะดีษ

    การถือศีลอดเราะมะฎอนเป็นศาสนกิจภาคบังคับ

    ﴿وجوب صوم رمضان﴾

    ]  ไทย – Thai – تايلاندي [

    อาหมัด อัลฟารีตีย์

    แปลโดย : ฮาเรส เจ๊ะโด

    ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือ 40 หะดีษเราะมะฎอน

    2010 - 1431

    ﴿وجوب صوم رمضان﴾

    « باللغة التايلاندية »

    أحمد حسين الفاريتي

    ترجمة: حارث جيء دو

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب  40 حديث رمضان

    2010 - 1431


    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    หะดีษบทที่ 1

    การถือศีลอดเราะมะฎอนเป็นศาสนกิจภาคบังคับ

    عَنْ عَائِشَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهَا قَالَتْ : كَانَ يَوْمُ عَاشُورَاءَ تَصُومُهُ قُرَيْشٌ فِي الْجَاهِلِيَّةِ، وَكَانَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَصُومُهُ، فَلَمَّا قَدِمَ الْمَدِينَةَ صَامَهُ وَأَمَرَ بِصِيَامِهِ، فَلَمَّا فُرِضَ رَمَضَانُ تَرَكَ يَوْمَ عَاشُورَاءَ، فَمَنْ شَاءَ صَامَهُ وَمَنْ شَاءَ تَرَكَهُ. (البخاري رقم1863، مسلم رقم 1897)

    ความว่า จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮา กล่าวว่า “วันอาชูรออ์(วันที่สิบของเดือนมุหัรฺร็อม) เป็นวันที่พวกกุร็อยช์ถือศีลอดกันในยุคญาฮิลียะฮฺ(ยุคก่อนอิสลาม) ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เองก็ได้ถือศีลอดในวันนั้นเช่นกันก่อนที่ท่านจะเป็นรอซูล ครั้นเมื่อท่านอพยพไปมะดีนะฮฺท่านก็ยังได้ถือศีลอดในวันนั้นอีกและได้สั่งให้คนอื่นๆ ถือศีลอดในวันนั้นอีกด้วย จนกระทั่งเมื่อการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนได้ถูกบัญญัติขึ้น ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้เลิกถือศีลอดวันอาชูรออ์(หมายถึงไม่ได้เป็นศาสนกิจบังคับอีกต่อไป) ผู้ใดก็ตามที่ต้องการปฏิบัติเขาก็ถือศีลอด(ในวันอาชูรออ์)นั้น หรือผู้ใดไม่ต้องการปฏิบัติเขาก็ละทิ้งมัน(ไม่ถือศีลอดในวันอาชูรออ์)   (รายงานโดยอัล-บุคอรีย์ 1863 และมุสลิม 1897)

    คำอธิบายหะดีษ   

                บรรดาอุละมาอ์มีทัศนะที่สอดคล้องกันว่าการถือศีลอดในวันอาชูรออ์นั้น (คือวันที่ 10 ของเดือนมุหัรร็อม) ปัจจุบันถือว่าเป็นสุนัตมิใช่วาญิบ แต่พวกเขามีทัศนะที่ขัดแย้งกันถึงหุก่มในสมัยต้นๆ ของอิสลาม ก่อนที่จะมีบัญญัติการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน

    มัซฮับของ อบู หะนีฟะฮฺ มีความเห็นว่าหุก่มของการถือศีลอดอาชูรออ์นั้นเป็นวาญิบดังมีหลักฐานระบุว่าท่านรอซูลได้สั่งบรรดาเศาะหาบะฮฺให้ถือศีลอด ดังนั้นเมื่อเป็นคำสั่งแล้วหุก่มจึงเป็นวาญิบ

    ในมัซฮับชาฟีอีย์เห็นว่าการถือศีลอดดังกล่าวเป็นสุนัต ดังมีหลักฐานอยู่ว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า “วันนี้เป็น วันอาชูรออ์ อัลลอฮฺ ไม่ได้ทรงบัญญัติให้สูเจ้าถือศีลอด”  ที่จริงแล้วบรรดาอุละมาอ์มีทัศนะที่เป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับการถือศีลอดในวันอาชูรออ์ว่าไม่เป็นวาญิบแต่เป็นสุนัตเท่านั้น (ชัรหฺ เศาะฮีหฺ มุสลิม โดย อัน-นะวะวีย์ 8/4-5)

    บทเรียนจากหะดีษ

    1.      การถือศีลอดในวันอาชูรออ์เป็นข้อปฏิบัติของชาวกุร็อยชฺในสมัยญาฮิลียะฮฺ

    2.         อาชูรออ์คือ วันที่ 10 ของเดือนมุหัรร็อม

    3.      การถือศีลอดในวันอาชูรออ์นั้น ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยปฏิบัติมาก่อนหน้าที่การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนจะถูกบัญญัติขึ้นมา

    4.      ในช่วงต้นๆ ของการอพยพสู่มะดีนะฮฺ (ฮิจญ์เราะฮฺ) ท่านรอซูลยังถือศีลอดอาชูรออ์และยังสั่งให้บรรดาเศาะหาบะฮฺถือศีลอดอีกด้วย

    5.      แต่ในปีที่ 2 ของปีฮิจญ์เราะฮฺ โองการเกี่ยวกับการถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนก็ถูกประทานลงมา ดังนั้น การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนจึงถือเป็นฟัรฎูสำหรับผู้ที่มีเงื่อนไขครบถ้วนตามที่บัญญัติแล้วจะต้องถือปฏิบัติ และการถือศีลอดอาชูรออ์จึงกลายเป็นสุนัตที่สามารถเลือกกระทำหรือเลือกไม่กระทำก็ได้