×
โรคคร้านอิบาดะฮฺ อธิบายอาการและสาเหตุที่ทำให้เกิดความขี้เกียจและไม่กระตือรือร้นในการทำความดีต่างๆ รวมถึงระบุผลเสียที่เิกิดจากโรคดังกล่าว พร้อมทั้งแนะนำวิธีการแก้ไขเพื่อไม่ให้ปัญหานี้ลุกลามและทำลายบุคลิกภาพการเป็นมุสลิมที่ดี

    โรคคร้านอิบาดะฮฺ

    ﴿التفريط في عمل اليوم والليلة﴾

    ]  ไทย – Thai – تايلاندي [

    มัสลัน มาหะมะ

    ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

    2010 - 1431

    ﴿التفريط في عمل اليوم والليلة﴾

    « باللغة التايلاندية »

    مزلان محمد

    مراجعة: صافي عثمان

    2010 - 1431


    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    โรคคร้านอิบาดะฮฺประจำวัน

    อาการ

                เป็นโรคชนิดหนึ่งที่กำลังแพร่ระบาดในกลุ่มมุสลิม ครอบคลุมทุกเพศทุกวัย ทุกสาขาอาชีพแม้กระทั่งผู้ที่ทำงานในองค์กรอิสลาม ในระยะแรกผู้ป่วยมักมีอาการเบื่อหน่ายที่จะทำอิบาดะฮฺประจำวัน และรู้สึกว่าเป็นภาระที่หนักอึ้ง จนกระทั่งอาการนี้บานปลายถึงขั้นละเลยหรือละทิ้งการทำอิบาดะฮฺที่เป็นหน้าที่ของมุสลิมต้องปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวันจนกระทั่งเวลาและโอกาสนั้นหลุดลอยไปโดยสูญเปล่า เช่น การนอนหลับจนกระทั่งเลยเวลาละหมาด ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับละหมาดสุนัต ละเลยต่อการละหมาดหลังเที่ยงคืน(กิยามุลลัยล์)หรือละหมาดวิติรฺ  และละหมาดฎุฮา ไม่อ่านอัลกุรอานอย่างสม่ำเสมอ ละทิ้งการซิกิรฺ การดุอาอ์ ไม่ค่อยวิพากษ์ตัวเอง (แต่ไปวิพากษ์คนอื่นแทน) ไม่เตาบัต(ขอลุแก่โทษ) ขาดละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิดโดยปราศจากเหตุผลที่อนุมัติโดยชะรีอะฮฺ ไม่ค่อยถือศีลอดสุนัต ไม่สนใจเพิ่มเติมความรู้ด้านศาสนา ไม่ค่อยรวมกลุ่มเพื่อศึกษาประเด็นศาสนาหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต ละเลยปฏิบัติหน้าที่งานสังคมต่างๆ เช่น ไม่ค่อยเยี่ยมคนป่วย ไม่สนใจตอบรับคำเชิญชวน ไม่ให้ความสำคัญกับการเดินตามศพจนถึงกุโบร์ ไม่กระตือรือร้นช่วยเหลือความเดือดร้อนและความทุกข์ยากของพี่น้องและเพื่อนบ้าน และไม่ให้ความสำคัญกับการทำอิบาดะฮฺชนิดอื่นๆ

    สาเหตุ

                โรคระบาดชนิดนี้น่าจะมาจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน ส่วนหนึ่งได้แก่

    1. จมปลักในทะเลอบายมุข

    ไม่ค่อยระมัดระวังจากการกระทำบาป โดยเฉพาะบาปเล็กที่เกือบทุกคนทำเป็นเรื่องเล็กๆ น้อย ๆ

    มีชายคนหนึ่งถามหะสัน อัลบัศรีย์ว่า “ฉันนอนในเวลากลางคืนทั้งๆ ที่มีสุขภาพแข็งแรง และฉันก็ตั้งใจจะตื่นกียามุลลัยล์ ฉันได้เตรียมน้ำสำหรับอาบน้ำละหมาดแล้ว แต่ทำไมฉันจึงไม่ตื่น?  หะสันกล่าวว่า บาปของท่านต่างหากที่ฉุดรั้งมิให้กระทำตามความตั้งใจของท่าน”

    ท่านสุฟยาน อัษ-เษารีย์ได้กล่าวว่า “ฉันพลาดจากการตื่นละหมาดหลังเที่ยงคืนเป็นเวลานานถึง 5 เดือน เนื่องจากบาปที่ฉันได้กระทำไว้ มีคนถามว่า ท่านได้ทำบาปอะไร อัษ-เษารีย์ตอบว่าฉันเห็นชายคนหนึ่งร้องไห้ ฉันจึงทึกทักเองว่า ชายคนนี้น่าจะเสแสร้งดัดจริตมากกว่า !

    อบู สุลัยมาน อัดดารอนีย์ กล่าวว่า “ไม่มีผู้ใดที่ละทิ้งการละหมาดญะมาอะฮฺเพียงหนึ่งครั้ง ยกเว้นเนื่องจากการกระทำบาปของเขาเท่านั้น”

    มีผู้รู้กล่าวว่า “การรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง สามารถสกัดกั้นมิให้ตื่นกียามุลลัยล์ การมองสิ่งหะรอมเพียงหนึ่งครั้ง อาจทำให้พลาดอ่านอัลกุรอ่านหนึ่งซูเราะฮฺ บางครั้งคนคนหนึ่งอาจทานอาหารประเภทหนึ่ง หรือกระทำการใดๆ ที่เป็นตัวสกัดมิให้ตื่นกียามุลลัยล์เป็นเวลาหนึ่งปีเลยทีเดียว การละหมาดสามารถยับยั้งสิ่งชั่วร้ายและอบายมุขฉันใด สิ่งชั่วร้ายและอบายมุขก็สามารถยับยั้งการละหมาดได้ฉันนั้น”

    อิบนุลก็อยยิม กล่าวว่า “อบายมุขเป็นตัวถ่วงสำคัญที่มิให้เกิดการฎออัต(การเคารพเชื่อฟัง) การกระทำอบายมุขเพียงครั้งเดียวอาจทำให้พลาดโอกาสทำอิบาดะฮฺหลายประการ ซึ่งอิบาดะฮฺบางอย่างมีความประเสริฐยิ่งกว่าโลกนี้ทั้งใบ เสมือนกับคนๆ หนึ่งที่กินของแสลงเพียงคำเดียว แต่เขาอาจเจ็บป่วยอย่างยาวนานและเป็นเหตุให้เขาต้องอดกินอาหารดีๆ และมีประโยชน์อีกมากมาย !”

    2. หลงระเริงกับสิ่งหะลาล

    เป็นคนสุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มีรสนิยมสูง แต่รายได้ต่ำ ให้ความสำคัญกับการกิน ดื่ม การแต่งกาย พาหนะยานยนต์ สิ่งอำนวยความสะดวกหรือที่อยู่อาศัยที่เกินความจำเป็นและเกินความสามารถของตนเอง

    อีมาม อัล-เฆาะซาลีย์ กล่าวว่า “ โอ้ ศิษย์รัก เจ้าอย่าได้ทานอาหารมากเกินไป เพราะทำให้ท่านดื่มน้ำมากและนอนมาก ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านจะโศกเศร้ามากมายขณะใกล้สิ้นชีวิตเช่นเดียวกัน

    สำหรับมุอ์มิน สถานที่ที่เขาเข้าออกเป็นประจำคือมัสยิด แต่สำหรับนักบริโภคนิยมแล้ว สถานที่ที่เขาเข้าออกอยู่เป็นนิจคือส้วม”

    ปัจจุบันกระแสบริโภคนิยมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของสังคมเราแล้ว แม้แต่ลูกเล็กเด็กแดงยังร้องไห้ชวนพ่อแม่พาไปทานไอศกรีมที่บิ๊กซี โลตัสเลย พ่อแม่เพลิดเพลินกับการรูดปึ้ด รูดปื้ด จนกลายเป็นรสนิยมของครอบครัวรุ่นใหม่กันแล้ว

    3. ไม่รู้คุณค่าของนิอฺมัตและวิธีรักษานิอฺมัตให้คงอยู่อย่างถาวร

    นิอฺมัตของอัลลอฮฺที่มีต่อมนุษย์มีมากมายเหลือคณานับ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม อัลลอฮฺตรัสไว้

    ﴿وَإِن تَعُدُّواْ نِعْمَةَ اللهِ لاَ تُحْصُوهَا إِنَّ اللهَ لَغَفُورٌ رَّحِيمٌ﴾ (النحل : 18 )

    ความว่า “หากพวกเจ้าจะนับความโปรดปรานของอัลลอฮฺแล้ว พวกเจ้าก็ไม่อาจจะคำนวณได้ แท้จริงอัลลอฮฺทรงให้อภัยและปรานีเสมอ” (อันนะหฺลุ:18)

    มนุษย์ควรทราบว่า วิธีการหนึ่งที่จะรักษานิอฺมัต(ความโปรดปราน) อันมากมายเหล่านี้ให้คงอยู่ถาวรนั้นคือการชุโกรฺ(การขอบคุณอัลลอฮฺ) ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า

    ﴿وَإِذْ تَأَذَّنَ رَبُّكُمْ لَئِن شَكَرْتُمْ لأَزِيدَنَّكُمْ وَلَئِن كَفَرْتُمْ إِنَّ عَذَابِي لَشَدِيدٌ﴾ (إبراهيم : 7 )

     ความว่า “และจงรำลึกขณะที่พระเจ้าของพวกเจ้าได้ประกาศว่า หากพวกเจ้าชุโกรฺ(ขอบคุณ) ข้าก็จะเพิ่มพูนให้แก่พวกเจ้าอย่างแน่นอน และหากพวกเจ้าเนรคุณ แท้จริงการโทษของข้านั้นสาหัสยิ่ง” (อิบรอฮีม :7)

    ส่วนหนึ่งของการชุโกรฺต่ออัลลอฮฺ  คือ การรักษาและหมั่นทำอิบาดะฮฺในชีวิตประจำวันโดยไม่ขาดตกบกพร่อง

    4. ไม่เห็นความจำเป็นต่อการทำอิบาดะฮฺประจำวัน

    เขาลืมไปว่าการที่เขาสามารถกระทำอิบาดะฮฺได้นั้น หาใช่เป็นเพราะความพยายามและความต้องการของเขา แต่เป็นความประสงค์ของอัลลอฮฺต่างหาก เขาจึงไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺให้พระองค์ทรงให้เขายืนหยัดในการทำอิบาดะฮฺ ทั้งๆ ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอนดุอาให้เรากล่าวว่า

    اللهُمَّ أَعِنَّا عَلَى ذِكْرِكَ وَشُكْرِكَ وَحُسْنِ عِبادَتِكَ

    ความว่า โอ้อัลลอฮฺ ได้โปรดช่วยเหลือฉันให้สามารถรำลึกและขอบคุณพระองค์ตลอดจนกระทำอิบาดะฮฺอย่างดีต่อพระองค์ด้วย

    5. ไม่ทราบถึงผลบุญที่อัลลอฮฺเตรียมไว้สำหรับผู้กระทำอิบาดะฮฺเป็นกิจวัตร

    เขาจึงให้ความสำคัญกับการนอนหรือใช้เวลาโดยเปล่าประโยชน์มากกว่าการตั้งใจทำอิบาดะฮฺ อิบนุล เญาซีย์กล่าวว่า : “ผู้ใดที่รับแสงอรุณแห่งผลตอบแทน ความมืดมิดแห่งภาระก็จะสูญสิ้นไป”

    ตัวอย่างเช่น รายงานจากท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวความว่า “ผู้ใดกล่าว สุบหานัลลอฮิ วะ บิหัมดิฮฺ หนึ่งครั้ง อัลลอฮฺจะปลูกต้นอินทผาลัมหนึ่งต้นสำหรับเขาในสวนสวรรค์” (รายงานโดยติรมิซีย์)

    และ “ผู้ที่อ่านซิกิรฺนี้จำนวน 100 ครั้งในหนึ่งวัน อัลลอฮฺจะยกโทษเขา แม้ว่าเขาจะมีบาปอันมากมายเหมือนฟองน้ำทะเล” (รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม) 

    เช่นเดียวกับหะดีษรายงานโดยมุสลิม ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ระบุว่าผลบุญของการละหมาดสุนัตสองร็อกอัตก่อนศุบห์ยังประเสริฐกว่าโลกนี้ทั้งใบ เป็นต้น

    ซึ่งผู้ที่ทราบผลบุญเช่นนี้ เขาจะรีบกอบโกยความดีงามเหล่านี้แน่นอน ยกเว้นสำหรับผู้ที่อัลลอฮฺได้กำหนดไม่ให้รับการตอบแทนอันใหญ่หลวงเหล่านี้เท่านั้น – ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครอง

    6. ลืมความตายและความโกลาหลวุ่นวายหลังความตาย

    ทั้งๆ ที่เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกสิ่งที่มีชีวิต จะต้องลิ้มรสความตาย และความตายได้เข้าประชิดตัวเขายิ่งกว่าเชือกผูกรองเท้าของเขาด้วยซ้ำ และหลังจากตายไป เขาจะต้องประสบพบเจอกับความหวาดกลัวที่ทำให้ทารกน้อยยังกลายเป็นเฒ่าทารก(หัวหงอก) หัวใจทุกดวงสั่นสะท้าน และไม่มีใครปลอดภัยเว้นแต่ผู้ที่หมั่นรักษาการทำอิบาดะฮฺอย่างต่อเนื่องเท่านั้น

    7. คิดว่าตัวเองสมบูรณ์ดีแล้ว

    ทั้งที่หากเขาอุทิศตนทั้งชีวิตเพื่อทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ เขาก็ยังไม่สามารถบรรลุถึงการเป็นบ่าวที่ชุโกรฺอย่างสมบูรณ์ได้ มีคำพูดจากชาวสะลัฟท่านหนึ่งกล่าวว่า บุคคลหนึ่งจะไม่สามารถยกระดับเป็นผู้ตักวาได้ เว้นแต่เขาจะหมั่นตรวจสอบตนเอง เสมือนเขาตรวจสอบผู้ร่วมหุ้นของเขาว่า เขาคนนั้นเอาอาหารและเสื้อผ้ามาจากไหน

    8. การงานที่บีบรัดและภาระที่มากมาย

    เขาอาจอ้างว่าไม่มีเวลา เหนื่อยล้าจากการทำงาน ต้องการเวลาที่เป็นส่วนตัว จนกระทั่งเขาละเลยการสะสมแต้มแห่งความดีที่จะทำอิบาดะฮฺประจำวันไป ทั้งที่เขามักจะให้คำมั่นว่าชีวิตนี้จะอุทิศเพื่ออัลลอฮฺ แต่เมื่อเวลาผ่านไป วงล้อแห่งชีวิตได้พัดเหวี่ยงอย่างรวดเร็ว ให้หมุนไปตามกระแสบูชาความสำเร็จอันจอมปลอม จนกระทั่งเขาลืมสะสมเสบียงสำหรับตนเองเพื่อการเดินทางที่ยาวไกลในวันข้างหน้า

    9. ชอบผัดวันประกันพรุ่ง

    ทั้งที่เขารู้ว่าหากเขาฝากชีวิตไว้กับวันพรุ่งนี้ เขาก็คงไม่มีผลงานในวันนี้ที่ควรแก่กล่าวถึง ท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ กล่าวว่า “ผู้เข้มแข็งคือผู้ที่ทำงานโดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง”

    ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สั่งเสียให้เราทราบว่า “จงรีบฉกฉวยโอกาสห้าประการ ก่อนที่ห้าประการจะมาเยือน วัยหนุ่มก่อนชรา สุขภาพดีก่อนเจ็บไข้ได้ป่วย ความรวยก่อนขัดสน เวลาว่างก่อนมีภาระอันมากมาย  และการมีชีวิตก่อนที่จะตาย” (รายงานโดยอัล-หากิม เป็นหะดีษ เศาะฮีหฺ)

    10. ได้รับอิทธิพลจากตัวอย่างที่ไม่ดี 

    บางคนอาจได้รับอิทธิพลจากคนใกล้ชิดหรือเพื่อนสนิทที่กำลังหมดไฟ ทั้งเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมห้อง หรือเพื่อนบ้าน เขาอาจเลียนแบบคนนั้น และคิดว่า ระดับหัวหน้ายังไม่เอาถ่านเลย แล้วฉันจะติดไฟได้อย่างไร ทั้งที่การเลียนแบบนั้นควรต้องเอาอย่างในเรื่องของกิจการที่ดีงามเท่านั้น

    โรคแทรกซ้อน

    1.เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หงุดหงิด โมโหง่าย ซึ่งคนที่มักตกเป็นเหยื่ออารมณ์นี้ก็คงไม่พ้นบุคคลใกล้ชิดที่เราไม่เคยเกรงใจเลย (โดยเฉพาะลูกและภรรยา บางทีอาจพาลไปถึงเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องที่สำนักงานก็เป็นได้)

    2. บกพร่องต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เกิดอาการหมดไฟ ไม่มีความมุ่งมั่นใฝ่สัมฤทธิ์ และขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน

    3. เกิดอาการภูมิคุ้มกันทางจิตใจบกพร่อง หาญกล้าทำอบายมุข ทั้งนี้เนื่องจากการทำอิบาดะฮฺเปรียบเสมือนยามที่ช่วยสอดส่องความปลอดภัยให้แก่เจ้าของบ้าน ชีวิตที่ขาดอิบาดะฮฺประจำวันเปรียบเสมือนบ้านไม่มียาม ซึ่งเป็นที่หมายปองของเหล่ามิจฉาชนทั้งหลายอย่างแน่นอน

    วิธีรักษาเยียวยา

    1. ผูกพันกับอัลกุรอานและปฏิบัติตามสุนนะฮฺนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

    2. ประกาศตัวเป็นอิสระจากอบายมุขทั้งปวง หรืออย่างน้อยประกาศให้ตนเองเป็นเขตปกครองพิเศษว่าเป็นเขตปลอดชัยฏอนและนัฟซู ซึ่งในช่วงนี้ กระแสเขตปกครองพิเศษค่อนข้างมาแรง แต่ผู้คนไม่ค่อยจัดสัมมนาเรื่อง “เขตปกครองพิเศษตนเอง เพื่อปลอดจากการครอบงำของชัยฏอนและอารมณ์ใฝ่ต่ำ”  เลย ขนาดคู่ต่อสู้โดนมัดมือมัดเท้า เรายังไม่กล้าต่อกร แถมยังแพ้แบบหมดรูปด้วย เฉพาะในเดือนรอมฎอน ไม่รู้เป็นนักมวยประเภทไหน ชอบเตะก้านคอตัวเอง

    3. ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่เกินเลย และไม่ฟุ่มเฟือย ดำเนินชีวิตประจำวันโดยยึดหลัก 3ป. คือ ประหยัด ประโยชน์ และประสิทธิภาพ

    4. รู้คุณค่าของการทำอิบาดะฮฺประจำวัน และตระหนักถึงผลบุญอันมากมายที่อัลลอฮฺเตรียมไว้สำหรับผู้ยำเกรง

    5. รำลึกถึงนิอฺมัตอันมากมายของอัลลอฮฺที่เราได้รับ และนิอฺมัตเหล่านี้จะคงอยู่อย่างถาวร ตราบใดที่เรารู้จักชุโกรฺต่ออัลลอฮฺเท่านั้น

    6. รู้จักแบ่งเวลาที่เหมาะสมระหว่างหน้าที่ประจำวันกับการทำอิบาดะฮฺประจำวัน

    7. โบกมืออำลากับนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่ง เอาชนะตัวเองให้ได้ พร้อมตระหนักเสมอว่าตนเองมีข้อบกพร่องมากมายที่ต้องรีบแก้ไข ไม่ใช่สักแต่บ่นคำว่าเสียดาย เสียดายอย่างเดียว

    8. รับรู้ผลเสียจากการละเลยการทำอิบาดะฮฺประจำวัน ตระหนักอยู่เสมอว่าโลกนี้คือแหล่งเพาะปลูก เพื่อจะได้ไปเก็บเกี่ยวในวันอาคิเราะฮฺ ถ้าไม่เริ่มปลูกตอนนี้ เราจะไปเก็บเกี่ยวอะไรในวันหน้า โดยเฉพาะเทศกาลแห่งการเพาะปลูกในช่วงรอมฎอน หากเราไม่เพาะปลูกในเดือนรอมฎอนนี้แล้ว เป็นการยากมากที่จะเพาะปลูกในเดือนอื่นๆ อุตส่าห์ซักซ้อมมาเป็นแรมปี แต่พอถึงมหกรรมการแข่งขัน กลับสนุกสนานกับครอบครัวช้อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า ถ้าเป็นนักฟุตบอลก็คงไม่มีสโมสรไหนซื้อตัวแน่นอน ขนาดให้ยืมตัวฟรีก็ยังถูกปฏิเสธเลย

    9. ฝังตัวเองอยู่ในญะมาอะฮฺ ห้อมล้อมตัวตนให้อยู่ในแวดวงชาวศอลิฮีน(ผู้ทรงธรรม) ผู้ที่ประเสริฐสุดคือผู้ที่เราพบเจอเขา ทำให้เรานึกถึงอัลลอฮฺ ดังนั้นจงรีบเข้าใกล้คนประเภทนี้ให้มากที่สุด (มีบางคนพอเห็นหน้าเขา ทำให้เรานึกถึงรถหรู เสื้อผ้าแบรนด์เนม ร้านอาหารที่อร่อยที่สุดหรือแม้กระทั่งนึกถึงนกหัวจุก ดังนั้นจงระวังคนประเภทนี้ให้มากที่สุด)

    10. ขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺให้มากที่สุด ดังดุอาที่ได้กล่าวข้างต้น

    11. ศึกษาชีวประวัติชาวสะลัฟและบรรดาศอลิฮีน พยายามเลียนแบบพฤติกรรมของพวกเขาหรืออย่างน้อยมาเล่าสู่กันฟังเพื่อจุดประกายให้เรามีกำลังใจกระทำอิบาดะฮฺ

    12. ตระหนักอยู่เสมอว่าความตายไม่มีใบแจ้งเตือนล่วงหน้า ไม่มีใบเหลือง ไม่มีนับหนึ่งถึงแปด แต่มันมาโดยฉับพลัน ทุกคนใฝ่ฝันที่จะสิ้นชีวิตในสภาพที่ดี (حسن الخاتمة) และเข้าเส้นชัยในฐานะผู้ชนะ เขาควรทราบว่าผู้ที่สามารถเข้าเส้นชัยในมหกรรมกีฬาวิบากนั้น คือผู้ที่มุ่งมั่นขยันซ้อมและมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์เท่านั้น

    เส้นชัยของชีวิต คือคำว่า لا إله إلا الله  เป็นคำสั้นๆ ที่คล้ายกับแผ่นป้ายประกาศจุดสิ้นสุดของการแข่งขัน ทุกคนใฝ่ฝันที่จะไปให้ถึงแต่ขอถามว่าคุณเตรียมตัวสภาพจิตใจดีแค่ไหน ตารางการฝึกซ้อมในแต่ละวันเป็นเช่นไรบ้าง บำรุงจิตใจด้วยอาหารประจำวันประเภทใด ใครคือผู้ฝึกสอนและผู้จัดการส่วนตัว สังกัดชมรมกีฬาประเภทไหน(เดี๋ยวเข้าแข่งขันผิดประเภท) หรือเป็นเพียงลงทะเบียนเป็นผู้เข้าร่วมแข่งขัน สุดท้ายต้องออกจากการแข่งขัน โดยไม่ทันมองเห็นจุดหมายปลายทางด้วยซ้ำ นับประสาอะไรที่จะไปแตะเส้นชัย – ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครอง และโปรดประทานการชี้นำด้วย

    والله الموفق والهادي إلى سواء السبيل

    والسلام عليكم ورحمة الله

    11 ชะอฺบาน 1431

    23  กรกฎาคม  2553

    หมายเหตุ

    เรียบเรียงและแปลสรุปจากหนังสือ آفات على الطريق  โดย ดร.สัยยิด มุหัมมัด นูหฺ ในหัวข้อ  التفريط في عمل اليوم والليلة