×
บทความที่ตอบความคลุมเครือบางประเด็น ซึ่งเป็นข้อสงสัยของบางกลุ่มที่โจมตีและทําลายภาพพจน์อันดีงามของอิสลามเกี่ยวกับการอนุญาตให้แต่งงานกับภรรยาหลายคนในอิสลาม คัดมาจากหนังสือ สถานะของสตรีภายใต้ร่มเงาอิสลาม โดย อับดุรเราะห์มาน อัชชีหะฮฺ

 การมีภรรยามากกว่าหนึ่งในอิสลาม

﴿شبهة تعدد الزوجات في الإسلام﴾

عبدالرحمن بن عبدالكريم الشيحة

ترجمة: ابن رملي يونس

مراجعة: صافي عثمان

อับดุรเราะห์มาน อับดุลกะรีม อัช-ชีหะฮฺ

แปลโดย : อิบนุ ร็อมลี ยูนุส

ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

 การมีภรรยามากกว่าหนึ่งในอิสลาม

การมีภรรยามากกว่าหนึ่งนั้นถือเป็นบทบัญญัติที่ได้รับการอนุมัติจากพระเจ้า  สําหรับผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและบรรดาคัมภีร์จากฟากฟ้าไม่อาจจะปฏิเสธหรือคัดค้านเรื่องนี้ได้   และตามความเป็นจริงแล้ว การมีภรรยาเกินกว่าหนึ่งในอิสลามเป็นแนวทางปฏิบัติที่ได้สืบต่อเนื่องกันมาช้านานในศาสนาอื่นๆ ด้วย  ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงเเค่มีอยู่ในศาสนาอิสลามเท่านั้น ทว่ามันคือบัญญัติทางศาสนาที่มีมาช้านานเเละเป็นที่รู้จักในศาสนาอื่นๆโดยเฉพาะในคัมภีร์โตราห์เเละไบเบิล บรรดาท่านศาสนทูตก่อนท่านศาสนทูตมุฮัมมัดต่างมีภรรยาหลายคน  อย่างศาสนทูตอิบรอฮีม (อับราฮัม) มีภรรยาสองคน  ส่วนศาสนทูตยะกู๊บ (จาคอป) มีภรรยาสี่คน  สุไลมาน(โซโลมอน) มีภรรยาหลายคน ...ฯลฯ   ดังนั้น การมีภรรยาหลายคนไม่ใช่เรื่องใหม่เลย  แต่มันเป็นเรื่องที่ผ่านมาช้านานแล้วในอดีต

ในคัมภีร์โตราห์ : คัมภีร์อันบริสุทธิ์ในภาคพันธสัญญาเดิมของยิวกล่าว ความว่า “และสตรีกับพี่น้องหญิงของนางจงอย่าได้เอามาเป็นภรรยาน้อยคู่กับนางเพื่อเปิดเผยสิ่งที่เกลียดชังในชีวิตของนาง”

ดังนั้น บัญญัตินี้ไม่ได้ห้ามการมีภรรยาหลายคน แต่สิ่งที่บัญญัติไว้คือห้ามการรวมสองพี่น้องมาเป็นภรรยาในเวลาเดียวกัน

ในโตราห์บทซามูเอล ( Samuel ) มีกล่าวว่า ท่านศาสดาเดวิด (David) ได้แต่งงานกับหญิงหลายๆ คนนอกเหนือจากสาวรับใช้ของท่าน และในบทพงศ์กษัตริย์ (Kings) กล่าวว่า ท่านศาสดาสุไลมาน (Salomon) มีภรรยาทั้งหมด 700 คน และในจํานวนนั้น มี 300 คนจากสาวรับใช้ของท่าน ครั้นศาสดาโมเสสถูกส่งมา ท่านยอมรับระบบการแต่งงานที่มากกว่าหนึ่งโดยไม่จํากัดจํานวนจนกระทั่งมาในยุคชาวตัลมูด (Talmud) ณ เมืองกุดส์  เว้นแต่นักวิชาการของอิสราเอลต่างมีทัศนะที่หลากหลาย บางคนห้ามการมีภรรยาเกินกว่าหนึ่ง  และอีกบางคนไม่ห้ามถ้าภรรยาป่วยหรือเป็นหมัน

ในไบเบิล : ท่านศาสดาเยซูถูกส่งมาเพื่อนําบทบัญญัติจากพระเจ้าให้สอดคล้องกันกับสิ่งที่ท่านศาสดาโมเสสได้นํามาก่อนหน้านี้  และในหนังสือไบเบิลไม่มีบทบัญญัติใดๆ ที่ห้ามการมีภรรยาเกินกว่าหนึ่ง 

กษัตริย์ดีซาร์มิท แห่งไอร์แลนด์ [1] มีภรรยาสองคน  ส่วนกษัตริย์เฟรเดอริกที่สอง (Frederick II ) มีภรรยาสองคนและได้รับการอนุมัติจากโบสถ์  ดังนั้น การห้ามหรือการอนุมัติในเรื่องนี้ไม่ได้มาจากบทบัญญัติในศาสนาคริสต์ แต่จะมาจากนักวิชาการในโบสถ์มากกว่า

 มาร์ติน ลูเทอร์ (Martin Luther) จากเยอรมัน ผู้ก่อตั้งนิกายโปรเตสแตนต์ ถือว่าระบบการมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนไม่ขัดกับระบบศาสนาคริสต์เลย และ ท่านได้เรียกร้องเพื่อหลักการนี้ในทุกงานพบปะอย่างเป็นทางการอีกด้วย [2]

 ใช่  อัลลอฮฺทรงยินยอมให้บางคนในกลุ่มคนสมัยพันธะสัญญาเดิมในสถานการณ์เฉพาะ แต่ยิวคนไหนถ้าต้องการทําตามแบบอย่างของคนกลุ่มนั้นก็ย่อมทําได้ถ้าเมื่อไหร่เขาแน่ใจว่าสถานการณ์ของเขาเหมือนสถานการณ์ของกลุ่มชนในสมัยนั้น  เพราะการแต่งหลายคนย่อมดีกว่าการหย่าร้างอยู่แล้ว

ที่จริงแล้ว การห้ามการมีภรรยาหลายคนในศาสนาคริสต์เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากบทบัญญัติที่คิดค้นโดยผู้รู้ทางศาสนาในโบสถ์เท่านั้น ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติดั้งเดิมของศาสนาคริสต์เลย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้  คือ โบสถ์ภายใต้การนําของพระสันตะปาปา(Pope)แห่งโรมันห้ามการมีภรรยาหลายคน ดังต่อไปนี้เช่น :

·     นิกายออร์โธด็อกซ์ไม่อนุญาตให้ใครสักคนจากสามีภรรยาแต่งงานใหม่ตราบใดที่การแต่งงานยังคงอยู่

·     นิกายอาร์มันออร์โธด็อกซ์ไม่อนุญาตให้จัดพิธีแต่งงานใหม่นอกจากจะต้องยกเลิกพิธีแต่งงานครั้งที่หนึ่ง

·     นิกายโรมันออร์โธด็อกซ์ถือว่าพีธีแต่งงานอันเดิมคือตัวห้ามการแต่งงานถัดมา

สมัยอาหรับยุคก่อนอิสลาม : การแต่งงานมากกว่าหนึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในหมู่เผ่าอาหรับก่อนเข้ายุคอิสลาม  ซึ่งไม่มีการจํากัดจํานวน  โดยผู้ที่ปรารถนาจะแต่งงานสามารถแต่งงานกับหญิงกี่คนก็ได้ตามความต้องการ  และแท้จริงแล้วการมีภรรยามากกว่าหนึ่งเป็นที่รู้จักเนิ่นนานในหมู่ชนชาวอียิปต์  เปอร์เซีย  แอสซีเรียน (Assyrian ) ญี่ปุ่น และฮินดู  และเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวรัสเซีย  เยอรมัน  และบรรดากษัตริย์ได้ปฏิบัติกันมาตลอด

ดังนั้น จากข้อมูลที่กล่าวมานี้บ่งบอกอย่างชัดแจ้งว่า  การมีภรรยามากกว่าหนึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ที่กุขึ้นมาในอิสลาม  ทว่าเรื่องนี้ถูกกระทํามาเนิ่นนานในหมู่ประชาชาติสมัยก่อนๆ  หลังจากที่อิสลามมาแล้วก็อนุมัติให้กระทําได้  แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ คือ :

·      ต้องไม่เกินจํานวน สี่คน เนื่องด้วยวจนะท่านศาสนทูต- ขอความสันติจงมีแด่ท่าน – ซึ่งท่านกล่าวแก่สาวกท่านหนึ่งนามว่าฆัยลาน ลูกของ สะละมะฮฺ อัส-สะเกาะฟีย์ ครั้งที่เขาต้องการเข้ารับอิสลามในขณะที่เขามีภรรยาสิบคนว่า “เจ้าจงเลือกพวกนางแค่สี่คนจากจํานวนสิบคน” [3]

·      ต้องมีความยุติธรรม และความเท่าเทียม   อัลลอฮฺทรงอนุญาตให้มีภรรยามากกว่าหนึ่งก็จริง แต่ทรงให้เงื่อนไขของมันส่วนหนึ่ง นั่นคือความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน  ไม่อธรรมต่อภรรยาทั้งหลาย  ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ -ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- กล่าวว่า “ถ้าชายคนหนึ่งมีภรรยาสองคนแล้วไม่ยุติธรรมกับทั้งสอง เขาจะมาในวันปรโลกในขณะที่ไหล่ของเขาเอียงลงมาข้างหนึ่ง” [4]

ความยุติธรรมในที่นี้ หมายถึงในเรื่องค่าครองชีพ  การมอบทรัพย์สินให้โดยเสน่หา  การแบ่งเวลาในการหลับนอน  ส่วนเรื่องความรักด้านจิตใจหรือการเอนเอียงไปฝ่ายหนึ่งมากกว่าคนอื่นๆ ถือว่าไม่บาปเพราะมันเป็นเรื่องที่เกินความสามารถของมนุษย์ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ทําให้เกิดความบกพร่องต่อสิทธิความชอบธรรมของคนอื่นๆ   ดังที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ กล่าวว่า : ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ - ขอความสันติจงมีแด่ท่าน- จะแบ่งเวลาระหว่างภรรยาของท่านและท่านก็ยุติธรรมในเรื่องนี้  ซึ่งท่านกล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮฺ นี่คือการแบ่งปันที่ข้าพระองค์มี  ดังนั้นพระองค์โปรดอย่าได้ตําหนิข้าพระองค์ ในสิ่งที่พระองค์มีแต่ข้าพระองค์ไม่มี” [5]

·      ต้องมีความสามารถจัดสรรค่าครองชีพให้กับภรรยาคนที่สองและลูกๆ ได้  ถ้าเขารู้ดีว่าเขาไม่มีความสามารถก็ไม่ควรมีภรรยามากกว่าหนึ่ง

ต่อไปนี้เราจะลองยกสถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมใดสังคมหนึ่งอย่างหนีไม่พ้น แล้วเรามาลองพิจารณาดูว่า การมีภรรยาเกินกว่าหนึ่งนั้นมีผลดีหรือไม่ในสังคมแห่งนี้  แล้วมันเกิดผลดีต่อสตรีหรือไม่อย่างไร ?

·      การที่ภรรยาเป็นหมันไม่สามารถที่จะให้กำเนิดบุตรได้ ในขณะที่สามีต้องการมีบุตร  วิธีการใดที่เหมาะสมและสมควรทําแก่ภรรยามากที่สุด?  ให้สามีแต่งงานคนที่สองแล้วนางอยู่ในฐานะภรรยาของเขาตลอดไป หรือ ให้สามีหย่านางโดยที่นางไม่มีความผิดใดๆ   เพราะการหย่าร้างถือว่าเป็นสิทธิของเขาเสมือนที่เขามีสิทธิในการมีบุตร ตัวเลือกสองอย่างนี้อันไหนที่ดีกว่ากัน?

·      การที่ภรรยาป่วยไม่มีวิธีรักษาได้  และนางไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของภรรยาได้   สถานการณ์แบบนี้สิ่งไหนถือว่าสมควรแก่สตรีที่สุด ? การที่สามีเต่งงานคนที่สองและพิทักษ์ศักดิ์ศรีของภรรยาคนที่หนึ่งด้วย หรือ การที่ให้เขาหย่าร้างกับภรรยาคนที่หนึ่งไปเลย  หรือการที่เขารับใครสักคนมาเป็นชู้?

·      สามีบางคนมีพลังทางเพศสูงเกินความสามารถของสตรีคนเดียวจะรับมันได้ หรือไม่ก็ระยะการมาประจําเดือนและการมีเลือดหลังคลอดของนางยาวเกินกว่าปรกติ  หรือไม่ก็อารมณ์ทางเพศของนางไม่สามารถที่จะตอบสนองอารมณ์ทางเพศของสามีตามความประสงค์ได้ ในลักษณะนี้วิธีใดถือว่าสมควรแก่สตรีมากที่สุด ? การที่สามีแต่งงานกับคนที่สองหรือ การที่เขาใช้มันไปทางที่ไม่อนุมัติ(ด้วยการผิดประเวณี) ?

·      การเกิดสงครามบ่อยครั้งหรือการเกิดปัญหาภายในในสังคมของบางประเทศ  เหล่าผู้ชายจะตกเป็นเหยื่อของความตายเป็นส่วนมาก มากกว่าบรรดาสตรีอย่างไม่ต้องสงสัย  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ คือ ช่วงระยะการเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง  ซึ่งเป็นผลให้ต้องสูญเสียประชากรไปจํานวนทั้งสิ้น 20 ล้านคน  ดังนั้นถ้าผู้ชายแต่งงานกับสตรีได้เพียงคนเดียว  เหล่าสตรีที่เหลือจะอยู่อย่างไร   หรือว่าพวกนางจําเป็นต้องไปหาความสุขด้วยทางที่ไม่อนุมัติ ..!!! หรือว่าจะให้พวกนางได้ลิ้มรสความสุขและสนองตอบความต้องการของนางด้วยวิถีทางที่ศาสนาบัญญัติในการมีภรรยามากกว่าหนึ่งเพื่อเป็นการรักษาเกียรติ  ศักดิ์ศรี และสิทธิความชอบธรรมของนาง   ซึ่งต่อไปพวกนางก็จะได้ให้กำเนิดบุตร ด้วยเหตุที่พวกนางยอมรับการมีภรรยาเกินกว่าหนึ่ง ?   และเป็นเรื่องที่ไม่ต้องสงสัยอีกว่า การที่สตรีมีจํานวนมากโดยปราศจากสามีเป็นการเปิดโอกาสให้เหล่าผู้ชายแสวงหาทางเลือกที่นําไปสู่การกระทําที่ชั่วร้ายได้

·      จํานวนสตรีหม้ายและสตรีที่ถูกหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้น  อีกทั้งจํานวนหญิงโสดที่เพิ่มมากขึ้น  ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ ทางเลือกใดเหมาะสมที่สุดสําหรับสตรี?   การใช้ชีวิตอย่างเดียวดายต่อไป หรือ การใช้ชีวิตภายใต้การดูแลของผู้ชายที่หมั่นรักษาเกียรติของนางพร้อมๆ กับผู้หญิงอีกคนอย่างเท่าเทียมกัน

 การมีภรรยามากกว่าหนึ่ง เป็นที่รู้จักในสังคมสมัยใหม่หรือไม่

แท้จริงการมีภรรยาเกินกว่าหนึ่งนั้นเราสามารถเห็นได้ในสังคมปัจจุบัน  แต่ในสังคมที่ไม่ใช่อิสลามแล้วเรื่องนี้ถูกใช้ในนามของ เพื่อนรัก เพื่อนชู้ แทนที่การเป็นในลักษณะสามีภรรยา  และการมีภรรยาในลักษณะนี้เป็นการเกินเลยขอบเขตเหลือเกิน(มากกว่าสี่คนด้วยซ้ำ)  และเป็นไปโดยไม่มีกระบวนการทางกฎหมายมาควบคุม อีกทั้งฝ่ายชายยังไม่ต้องรับผิดชอบด้านการเงินต่อสตรีอีกด้วย  ซึ่งจะดํารงชีวิตกับเธอเพียงเพื่อตอบสนองตัณหาของเขาเท่านั้น  เขาจะทําเกียรติยศของทุกคนที่ติดต่อกับเขาให้สกปรก  แล้วท้ายที่สุดก็ทิ้งเธอไปโดยที่เธอต้องทนกับความเจ็บปวดเมื่อเธอตั้งครรภ์หรือต้องเผชิญกับเรื่องอื่นๆที่ตามมา และสำหรับผู้ชายแล้วไม่จําเป็นต้องยอมรับบุตรที่คลอดออกมาเพราะความสัมพันธ์ดังกล่าว

ส่วนเรื่องการมีภรรยาเกินกว่าหนึ่งในสังคมอิสลาม  ถูกจํากัดคือห้ามเกินกว่าสี่  และต้องเป็นไปด้วยพิธีทางศาสนาที่ถูกต้อง และบังคับให้ฝ่ายชายจ่ายมะฮัรฺ(สินสอด)ด้วย และบุตรที่เกิดจากภรรยาเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองหลังพิธีถือว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายชายที่ต้องยอมรับในฐานะที่เป็นบุตรของเขาอย่างถูกต้องตามหลักการ  และเขาจําเป็นต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงชีพภรรยาและบุตร

อาจมีบางคนถามว่า ถ้าเราอนุมัติให้ผู้ชายมีภรรยามากกว่าหนึ่ง  เหตุใดไม่อนุมัติให้สตรีบ้าง ?

คําตอบคือ การขอความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงในเรื่องนี้ ถือว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ด้วยเหตุผลทางธรรมชาติของผู้ชายและสถานภาพของสตรี ดังนี้ :

ตามธรรมชาติของผู้ชาย : ส่วนมากแล้วผู้ชายในสังคมทั่วไปในโลกนี้มีภาระหน้าที่ในการเป็นหัวหน้าครอบครัวเนื่องจากเขาคือผู้ที่เข้มแข็งที่สุด - และเราอย่าไปคิดถึงบางสถานการณ์ที่ไม่ตรงกับกฎที่ว่านี้ เพราะสตรีที่เข้มแข็งกว่าผู้ชายนั้นคือส่วนน้อยมาก – ถ้าสตรีมีสามีสองคนหรือมากกว่า ใครเล่าจะเป็นหัวหน้าครอบครัวในบ้านหลังเดียวกัน? แล้วตัวนางเอง จะนอบน้อมและเคารพเชื่อฟังต่อใครในสิ่งที่นางปรารถนา ? กับสามีทุกคนกระนั้นหรือ?   มันเป็นไปไม่ได้เด็ดขาดเพราะความปรารถนาที่แตกต่างกันระหว่างพวกเขาทั้งสอง แต่ละคนต่างมีความปรารถนาของตัวเอง  การอยู่กันแบบนี้ จะสร้างความกริ้วโกรธแก่พวกเขาแน่นอน !

ตามสถานภาพของสตรี : โดยธรรมชาติแล้ว สตรีจะตั้งครรภ์จากชายคนเดียวมากกว่าหนึ่งครั้งในรอบปีไม่ได้  ต่างกับผู้ชายซึ่งเขาสามารถมีลูกหลายๆ คนได้จากผู้หญิงหลายๆ คนในเวลาเดียวกัน   ถ้าเราอนุมัติให้สตรีมีสามีมากกว่าหนึ่งคนได้ ลูกที่ออกมาจะเป็นของสามีคนใด ?

 การเรียกร้องของบางนักวิชาการตะวันตกเพื่อสิทธิด้านการมีภรรยามากกว่าหนึ่ง

ในโอกาสนี้เราขออ้างถึงส่วนหนึ่งของคําพูดนักวิชาการชาวตะวันตกบางท่าน ซึ่งพวกเขาต่างเรียกร้องเพื่อให้ได้ซึ่งสิทธิด้านการมีภรรยามากกว่าหนึ่ง  พวกเขาเห็นว่า ทางนี้ทางเดียวเท่านั้นที่จะเป็นทางแก้สําหรับหลายๆ ปัญหาในสังคมของพวกเขา

D. G Lebon  กล่าวในหนังสือ (วัฒนธรรมอาหรับ) ว่า “แท้จริงแล้วการมีภรรยามากกว่าหนึ่งช่วยสังคมให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายของการชู้สาว  และผู้คนจะได้หลีกเลี่ยงจากการได้บุตรหลานที่ไม่มีพ่อ  คือ เด็กข้างถนนที่ถูกทอดทิ้งนั่นเอง”

Mrs. Annie Besant กล่าวในหนังสือของเธอที่ชื่อ อัลอัดยาน อัลมุนตะศิเราะฮฺ ฟิลฮินดฺ[6] “ฉันได้อ่านในคัมภีร์โตราห์ในช่วงพันธะสัญญาเดิม  พบว่าสหายที่รักของอัลลอฮฺผู้ซึ่งหัวใจของเขามีความคิดที่คล้อยตามความต้องการของอัลลอฮฺได้ เป็นคนที่มีภรรยาเกินกว่าหนึ่ง   นอกเหนือจากนั้นจะเห็นได้ว่า ในหนังสือไบเบิลยุคพันธะสัญญาใหม่ไม่ได้ห้ามการมีภรรยาหลายคนแต่อย่างใด ยกเว้นคนที่เป็นบาทหลวงหรือผู้รักษาโบสถ์เพราะทั้งสองถูกบังคับให้มีภรรยาแค่หนึ่งคนเท่านั้น   และฉันยังค้นพบว่า ในหนังสืออินเดียเก่ามีการกล่าวถึงการมีภรรยาเกินกว่าสี่เหมือนกัน  ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาโจมตีอิสลามเพราะถือว่าเป็นการง่ายสําหรับมนุษย์ที่จะสืบหาข้อตําหนิด้านความเชื่อของผู้อื่นแล้วค่อยๆ กระจายข่าวออกไป  ในทางกลับกันทําไมชาวตะวันตกที่ยกขบวนการเพื่อโจมตีการมีภรรยาเกินกว่าสี่เฉพาะกับชาวตะวันออกเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในประเทศของพวกเขาเต็มไปด้วยการผิดประเวณี ? ถ้าเราใช้สติปัญญาในการครุ่นคิดสักนิด เราจะไม่พบหญิงผู้เป็นภรรยาที่บริสุทธิ์และได้รับการให้เกียรติแม้แต่คนเดียว ยกเว้นภรรยาที่อยู่ภายใต้ผู้ชายที่บริสุทธิ์เท่านั้น   ดังนั้น เราไม่อาจกล่าวว่าพวกเขาคือประชาชาติผู้อยู่เคียงคู่ภรรยาเพียงคนเดียวได้ เพราะในสังคมของพวกเขายังนิยมการมีคู่รักสาวหลังม่านนอกเหนือจากภรรยาที่ถูกต้อง ดังนั้น ถ้าเราจะวัดเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยความยุติธรรมที่เที่ยงตรงแล้ว จะพบว่า การมีภรรยามากกว่าหนึ่งในระบบอิสลามที่พิทักษ์รักษาและปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของสตรี ตลอดจนการดูแลเธออย่างถูกต้องย่อมประสบความสําเร็จมากกว่าระบบการผิดประเวณีแบบตะวันตก  ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชายครอบบครองสตรีเพียงเพื่อสนองตอบอารมณ์ความใคร่ของเขาเท่านั้น  หลังจากที่เขาอิ่มเอิบในความใคร่แล้ว  เขาจะทิ้งขว้างเธอทันที ...”



[1] ตะรีคุซซะวาจญ์ Wester  mark  / แปลโดย อับดุลฮะมีด ยูนุส

[2]  ดูหนังสือ อัลมัรอะฮฺ ฟิลกุรอานิลการีม / อับบาส มะฮฺมูด อัลอักกอด 

[3] เศาะฮีฮฺ อิบนิ หิบบาน 9/463 ลําดับที่ 4156

[4]  อัลมุสตัดร็อก อะลัศ เศาะฮีหัยน์ 2/203 ลําดับที่ 2759

[5] อัลมุสตัดร็อก อะลัศ เศาะฮีหัยน์ 2/204 ลําดับที่ 2761

[6] ดูวารสารอัลอัซฮัร ฉบับที่ 291