×
กฎเกณฑ์การพิจารณาสัตว์ที่อนุมัติตามหลักการ สรุปจากหนังสือ “อัลหะยะวานาต” เขียนโดย เชคสุลัยมาน อัล-เคาะรอชีย์ รวมกฎว่าด้วยการจำแนกว่าสัตว์ชนิดใดทีีี่หะลาลและอนุญาตให้มุสลิมทานได้ และสัตว์ประเภทใดที่หะรอม ตามหลักศาสนาอิสลาม

    กฎเกณฑ์การพิจารณาสัตว์ที่อนุมัติตามหลักการ

    ﴿الحيوانات ما يجوز أكله منها وما لا يجوز

    سليمان بن صالح الخراشي

    ترجمة: عصران إبراهيم

    مراجعة: فيصل عبدالهادي

    สุลัยมาน บิน ศอลิหฺ อัล-เคาะรอชีย์

    แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา

    ผู้ตรวจทาน : ฟัยซอล อับดุลฮาดี


    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    กฎเกณฑ์การพิจารณาสัตว์ที่อนุมัติตามหลักการ

    [สรุปจากหนังสือ “อัลหะยะวานาต” เขียนโดย เชคสุลัยมาน อัลเคาะรอชี]

    กฎข้อที่ 1

    การรับประทานอาหารที่ดี (ฏ็อยยิบาต) นั้นจะส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งอาหารที่ดีที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงอนุมัตินั้น ก็คืออาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และสติปัญญา ส่วนอาหารที่ไม่ดี (เคาะบาอิษ) ที่เป็นสิ่งต้องห้ามนั้น ก็คืออาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย และสติปัญญานั่นเองซึ่งการรับประทานอาหารที่ “หะล้าล” และ “ฏ็อบยิบ” นั้นจะทำให้จิตใจบริสุทธิ์ อีกทั้งยังทำให้ดุอาอ์ และอิบาดะฮฺถูกตอบรับ ในขณะที่การรับประทานอาหารที่ไม่หะล้าล ก็จะส่งผลให้ดุอาอ์และอิบาดะฮฺถูกปฏิเสธ ดังที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงกล่าวถึงบรรดายะฮูดว่า

    أوْلَـئِكَ الَّذِينَ لَمْ يرِدِ اللّه أَن يطَهِّرَ قلوبَهمْ لَهمْ فِي الدّنْيَا خِزْيٌ وَلَهمْ فِي الآخِرَةِ عَذَابٌ عَظِيمٌ  سَمَّاعونَ لِلْكَذِبِ أَكَّالونَ لِلسّحْت

    “ชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่อัลลอฮฺมิทรงประสงค์จะให้หัวใจของพวกเขาสะอาด โดยที่พวกเขาจะได้รับความอัปยศในโลกนี้ และจะได้รับการลงโทษอันมหันต์ในอาคิเราะฮฺ พวกเขาชอบฟังคำมุสา ชอบกินสิ่งต้องห้าม” (อัล-มาอิดะฮฺ: 41-42)

    ซึ่งคำว่าต้องห้ามในอายะฮฺข้างต้น ก็คือสิ่งที่เป็นหะรอม ไม่เป็นที่อนุมัติ ซึ่งผู้ที่มีลักษณะเช่นนี้ จะให้อัลลอฮฺตะอาลาทำให้หัวใจเขาสะอาดบริสุทธิ์ และทรงตอบรับคำขอของเขาได้อย่างไรกัน?

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “โอ้มนุษย์ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นดี จะไม่ทรงรับนอกจากสิ่งที่ดีๆ และแท้จริงอัลลอฮฺทรงกำชับใช้บรรดาผู้ศรัทธา เช่นเดียวกับที่ทรงกำชับใช้บรรดาเราะสูล พระองค์ตรัสว่า :

    يَا أَيُّها الرُسُلُ كُلُوا مِنَ الطَيِّباتِ واعْمَلُوا صَالحا

    ‘โอ้บรรดาเราะสูล พวกท่านจงรับประทานแต่สิ่งที่ดี และจงปฏิบัติการงานที่ดี’ (อัล-มุอ์มินูน: 51)

    และทรงกล่าวว่า

    يَا أيّها الذين آمَنُوا كُلُوا مِنْ طَيِّبَاتِ مَا رَزَقْنَاكُمْ

    ‘โอ้บรรดาผู้ศรัทธา พวกเจ้าจงรับประทานแต่สิ่งที่ดีที่เราได้ประทานยังเจ้า’ (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 172)

    หลังจากนั้นท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็กล่าวถึงผู้เดินทางไกล ผมเผ้ายุ่งเหยิง เสื้อผ้าสกปรกมอมแมม ซึ่งยกสองมือของเขาสู่เบื้องบน พร้อมทั้งกล่าวว่า โอ้ พระผู้เป็นเจ้าของฉัน  โอ้ พระผู้เป็นเจ้าของฉัน (กล่าวขอดุอาอ์) ในสภาพที่อาหารการกินของเขาหะรอม เครื่องดื่มของเขาหะรอม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของเขาหะรอม และเขาได้ประทังชีวิตด้วยสิ่งที่หะรอม แล้วจะให้ดุอาอ์ของเขาจะถูกตอบรับได้อย่างไร?” (บันทึกโดย มุสลิม 1015)

    กฎข้อที่ 2

    หุก่มเดิมโดยพื้นฐานของสัตว์ต่างๆที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงสร้างขึ้นมานั้น คือ “เป็นสิ่งที่รับประทานได้” ยกเว้นสัตว์ที่มีหลักฐานระบุแบบเจาะจง หรือโดยรวมว่าเป็นสิ่งต้องห้าม หลักฐานในประเด็นนี้คือดำรัสของอัลลอฮฺตะอาลา :

    هُوَ الّذِيْ خَلَقَ لَكُمْ مَا فِيْ الأَرْضِ جَمِيْعَاً

    “พระองค์คือผู้ทรงสร้างทุกสิ่งในโลกเพื่อพวกเจ้า” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 29)

    ใน อายะฮฺนี้ อัลลอฮฺตะอาลาทรงให้มนุษย์สำนึกในบุญคุณของพระองค์ ที่พระองค์ทรงสร้างทุกสิ่งเพื่อพวกเขา ซึ่งพระองค์จะไม่ทรงใช้ให้พวกเขาสำนึกในสิ่งที่เป็นที่ต้องห้าม.

    หลักฐานอีกข้อหนึ่งก็คือ ดำรัสของอัลลอฮฺตะอาลา :

    وَمَا لَكُمْ أَلاَّ تَأْكُلُواْ مِمَّا ذُكِرَ اسْمُ اللّهِ عَلَيْهِ وَقَدْ فَصَّلَ لَكُم مَّا حَرَّمَ عَلَيْكُمْ إِلاَّ مَا اضْطُرِرْتُمْ إِلَيْهِ

    “และ มีอะไรเกิดขึ้นแก่พวกเจ้ากระนั้นหรือ? ที่พวกเจ้าไม่บริโภคสิ่งที่พระนามของอัลลอฮฺถูกกล่าวบนมัน ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงแจกแจงแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งสิ่งที่พระองค์ได้ทรงห้ามพวกเจ้า นอกจากสิ่งที่พวกเจ้าได้รับความคับขันให้ต้องการมันเท่านั้น” (อัล-อันอาม:119)

    ซึ่งจากอายะฮฺดังกล่าว สามารถเข้าใจได้ว่า :

    1- อัลลอฮฺตะอาลาทรงตำหนิพวกเขา ที่ไม่ยอมรับประทานสิ่งที่ผ่านการกล่าวพระนามของพระองค์แล้ว ซึ่งถ้าหากสัตว์เหล่านั้นมิได้เป็นที่อนุมัติโดยพื้นฐานแล้ว แน่นอนว่าพวกเขาจะไม่ถูกตำหนิติเตียน

    ซึ่งการตำหนิพวกเขาที่ไม่รับประทานสัตว์ที่ผ่านการกล่าวพระนามของพระองค์ เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าหุก่มเดิมโดยพื้นฐานของมันคือ “เป็นที่อนุมัติ” ทั้งนี้เพราะถ้าหากว่าหุก่มเดิมของมันเป็น “หะรอม” ก็เป็นการถูกแล้วที่พวกเขาจะไม่รับประทานมัน และพวกเขาก็ไม่สมควรถูกตำหนิ

    2- อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า “ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงแจกแจงแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งสิ่งที่พระองค์ได้ทรงห้ามพวกเจ้า” นั่นคือ พระองค์ทรงบอกว่า พระองค์ได้ทรงแจกแจงสิ่งที่เป็นที่ต้องห้ามไว้แล้ว ซึ่งนั่นก็หมายความว่า สิ่งที่พระองค์มิได้แจกแจงไว้ว่าเป็นที่ต้องห้าม ก็แสดงว่ามันไม่ใช่สิ่งต้องห้าม และเมื่อมันไม่ใช่สิ่งต้องห้าม ก็แสดงว่ามันเป็นสิ่งที่หะล้าล

    กฎข้อที่ 3

    สัตว์ ที่ดีมีประโยชน์ (ฏ็อยยิบ) นั้นอนุญาตให้รับประทานได้ (หะล้าล) ส่วนสัตว์ที่สกปรกน่ารังเกียจ (เคาะบีษ) นั้นไม่อนุญาตให้รับประทาน (หะรอม) ดังที่อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า :

    وَيحِلّ لَهم الطَّيِّبَاتِ وَيحَرِّم عَلَيْهِم الْخَبَآئِثَ

    “และจะอนุมัติให้แก่พวกเขาซึ่งสิ่งดี ๆ ทั้งหลาย และจะให้เป็นที่ต้องห้ามแก่พวกเขา ซึ่งสิ่งที่เลวทั้งหลาย” (อัล-อะอฺรอฟ:157)

    ซึ่งการจะแยกแยะว่าสัตว์ชนิดใดเป็น “ฏ็อยยิบ” หรือ “เคาะบีษ” นั้น ก็ด้วยลักษณะของมัน และอาหารที่มันกิน

    กฎข้อที่ 4

    ไม่จำเป็นว่าสัตว์ที่ชาวอาหรับรังเกียจนั้น จะถือเป็นที่ต้องห้ามเสมอไป เพราะการที่ชนชาติใดชนชาติหนึ่งคุ้นเคย และชอบรับประทานสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือรังเกียจมันเพราะเป็นสัตว์ที่พวกเขาไม่คุ้นเคยนั้น ไม่ได้เป็นการบ่งบอกว่าอัลลอฮฺตะอาลาทรงอนุมัติ หรือทรงห้ามรับประทานสัตว์ชนิดนั้นๆแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากการที่ชาวอาหรับในสมัยก่อนคุ้นเคยกับการกินเลือดหรือสัตว์ ที่ตายเองซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นที่ต้องห้าม ในขณะเดียวกันพวกเขากลับรังเกียจสัตว์บางชนิดที่เป็นที่อนุมัติ

    นั่น ก็หมายความว่า การที่ชาวอาหรับรังเกียจสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งนั้น ไม่ใช่เกณฑ์ที่จะตัดสินว่าสัตว์ชนิดนั้นไม่เป็นที่อนุมัติ แต่การที่จะระบุว่าสัตว์ชนิดใดเป็นที่อนุมัตินั้น ก็ด้วยการที่มันเป็นสัตว์ที่ดีมีประโยชน์ ส่วนสัตว์ที่ไม่เป็นที่อนุมัตินั้น ก็คือสัตว์ที่สกปรกและเป็นโทษในตัวของมันเอง ไม่ใช่จากความรู้สึกนึกคิดของชนชาติใดชนชาติหนึ่ง

    กฎข้อที่ 5

    สัตว์ล่าเหยื่อที่มีเขี้ยวถือเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่อนุญาตให้รับประทาน โดยมีหลักฐานคือ รายงานจากท่านอบู ษะอฺละบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า :

    أَنّ رَسُولَ الله صلى الله عليه وسلم نَهَى عَنْ أَكْلِ كُلِّ ذِيْ نَابٍ مِنَ السِّبَاعِ

    “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ห้ามให้รับประทานสัตว์ที่มีเขี้ยวทุกชนิดจากบรรดาสัตว์ล่าเหยื่อ” (บันทึกโดย บุคอรี 5530 และมุสลิม 13/81)

    กล่าวคือ เป็นสัตว์ที่ใช้เขี้ยวในการกัดฉีกและล่าเหยื่อ เช่น สิงโต เสือ หมาป่า หรือสุนัข อิหม่ามอะหฺมัด กล่าวว่า “สัตว์ทุกชนิดที่ใช้เขี้ยวในการกัดฉีกเหยื่อ ถือว่าอยู่ในกลุ่มของสัตว์ล่าเหยื่อ” (ชัรหฺ อัซซัรฺกะชีย์ 6/675)

    กฎข้อที่ 6

    นกที่ใช้กรงเล็บล่าเหยื่อเป็นที่ต้องห้าม โดยอ้างอิงหลักฐานหะดีษซึ่งรายงานจากท่าน อิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า :

    نَهَى رسول الله صلى الله عليه وسلم عن كُلِّ ذي نابٍ من السِباعِ ، وكلِّ ذي مِخْلَبٍ من الطَيْرِ

    “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ห้ามให้รับประทานสัตว์ที่มีเขี้ยวทุกชนิดจากบรรดาสัตว์ล่าเหยื่อ และห้ามให้รับประทานนกทุกชนิดที่มีกรงเล็บ” (บันทึกโดย มุสลิม 13/83)

    กล่าวคือ นกทุกชนิดที่ใช้กรงเล็บในการไล่ล่าเหยื่อ เช่น เหยี่ยว นกอินทรี หรือแร้ง ล้วนเป็นสัตว์ที่ห้ามรับประทาน

    กฎข้อที่ 7

    สัตว์ทุกชนิดที่มีหลักฐานระบุว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ใช้ให้ฆ่า ถือเป็นสัตว์ที่หะรอม ตามทัศนะที่ถูกต้อง (นักวิชาการมีทัศนะที่แตกต่างกัน)

    อิหม่ามนะวะวีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “สัตว์ชนิดใดที่มีคำสั่งใช้ให้เราฆ่ามัน นั่นหมายความว่า ไม่อนุญาตให้รับประทานมัน” (อัลมัจญฺมูอฺ 9/22)

    เชคชันกีฏีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า ” ที่ชัดเจนกว่าก็คือ ทุกสิ่งที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อนุญาตให้ฆ่าได้ ถือว่าไม่อนุญาตให้รับประทาน (หะรอม) เพราะถ้าหากว่าอนุญาตให้รับประทานได้ แน่นอนว่าท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะไม่อนุญาตให้ทำให้มันเสียไปเปล่าๆ” (อัฎวาอุลบะยาน 2/273)

    ดังนั้น จึงห้ามให้รับประทานสัตว์ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ใช้ให้ฆ่า เช่น งู, อีกา, หนู และสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่มีหลักฐานระบุไว้

    กฎข้อที่ 8

    สัตว์ ทุกชนิดที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ห้ามให้ฆ่า ถือว่าไม่อนุญาตให้รับประทาน (หะรอม) ตามทัศนะที่ถูกต้อง อินชาอัลลอฮฺ เพราะถ้ามันเป็นที่อนุมัติ แน่นอนว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็คงจะไม่ห้ามให้ฆ่ามัน

    ตัวอย่างสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มนี้ ก็เช่น มด, ผึ้ง, นกกระรางหัวขวาน (الهدهد) และนกอีเสือ (الصرد)

    กฎข้อที่ 9

    ไม่อนุญาตให้รับประทานสัตว์หรือนกทุกชนิด ที่กินซากสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งปฏิกูลเป็นอาหาร แม้ว่ามันจะไม่มีกรงเล็บหรือเขี้ยวก็ตาม เพราะถือว่าเป็นสัตว์ที่หากินกับสิ่งสกปรก และแน่นอนว่าสิ่งสกปรกเหล่านั้นก็จะซึมเข้าสู่เนื้อหนังของมัน ในขณะที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงห้ามให้กินสิ่งสกปรกน่ารังเกียจ หรือสิ่งที่เป็นโทษ โดยพระองค์ตรัสว่า

    وَيحَرِّم عَلَيْهِم الْخَبَآئِثَ

    “..และให้เป็นที่ต้องห้ามแก่พวกเขาซึ่งสิ่งไม่ดีที่น่ารังเกียจทั้งหลาย”  (อัล-อะอฺรอฟ : 157)

    และท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้สั่งให้ฆ่าสัตว์ที่น่ารังเกียจ 5 ชนิด แม้กระทั่งในเขตหะร็อม (เขตต้องห้ามบริเวณรอบๆมักกะฮฺ) 1 ใน 5 ชนิดนั้น ก็คือนกกา ซึ่งเป็นนกที่กินซากสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร จึงอาจนำสัตว์ชนิดอื่นที่มีลักษณะเช่นเดียวกันมากิยาส (เทียบ) ได้เช่นนั้น

    นอกจากนี้ ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ยังห้ามให้กิน “ญัลลาละฮฺ” (ดูหะดีษเศาะหีหฺซึ่งบันทึกโดยอบูดาวุด 3811) นั่นคือสัตว์ที่อาหารส่วนใหญ่ของมันเป็นสิ่งสกปรก หรือสิ่งที่เป็นนะญิส  จนกว่าจะได้รับการกักตัวและให้อาหารที่สะอาดเป็นเวลา 40 วัน เพื่อให้เนื้อของมันสะอาดขึ้น ตามที่อุละมาอ์ได้ระบุไว้ในตำราฟิกฮฺ

    กฎข้อที่ 10

    สัตว์ทะเลทุกชนิดเป็นที่อนุมัติ อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า:

    أُحِلَّ لَكُمْ صَيْدُ الْبَحْرِ وَطَعَامُهُ

    “เป็นที่อนุมัติแก่พวกเจ้า ซึ่งสัตว์ในทะเล และอาหารจากทะเล” (อัล-มาอิดะฮฺ : 96)

    และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวถึงทะเลว่า:

    هُوَ الطَهُورُ ماؤُهُ الحِلُّ مَيْتَتُهُ

    “ทะเลนั้น น้ำของมันสะอาด และสัตว์ทะเลที่ตายเองก็เป็นที่อนุมัติ” (บันทึกโดยอะหฺมัด)

    กฎข้อที่ 11

    อนุญาต ให้รับประทานนกทะเลทุกชนิดได้ ท่านอิบนุกุดามะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “เราไม่ทราบว่าอุละมาอ์จะมีทัศนะที่แตกต่างกันเลยในประเด็นนี้” (ดู อัลมุฆนีย์ 9/329) แต่จำเป็นต้องเชือดมันก่อน

    และตามกฎนี้ อุละมาอ์มิได้ยกเว้นนกทะเลชนิดใด นอกจากนกกระสา (اللقلق) เพราะมันกินสัตว์จำพวกงู กบ และหนูเป็นอาหาร

    กฎข้อที่ 12

    สัตว์ลูกผสม ที่เกิดจากการผสมระหว่างสัตว์ที่กินได้กับสัตว์ที่กินไม่ได้ ถือว่าหะรอมไม่อนุญาตให้รับประทาน โดยยึดหลักการให้น้ำหนักฝั่งที่เป็นสิ่งต้องห้าม (นั่นคือสัตว์ที่กินไม่ได้) เป็นหลัก เหนือฝั่งที่เป็นที่อนุมัติ (สัตว์ที่กินได้) เช่น ล่อ ซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างลากับม้า (ลาหะรอม ส่วนม้ากินได้) ให้ถือว่าหะรอม เพราะหนึ่งในสองผู้ให้กำเนิดมันเป็นสัตว์ที่กินไม่ได้

    กฎข้อที่ 13

    ท่าน ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมิยะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้สรุปว่า สาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์บางชนิดเป็นที่ต้องห้ามนั้น มีอยู่ 3 ประการ คือ:

    1- การที่สัตว์ชนิดนั้นมีลักษณะเป็นสัตว์ล่าเหยื่อที่ดุร้าย ซึ่งการกินเนื้อของมัน อาจทำให้เราได้รับลักษณะดังกล่าวนั้นมาด้วย หรืออาจจะด้วยเหตุผลอื่นๆที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงรู้ดี

    2- การที่มันหากินกับสิ่งสกปรกโสมม เช่น นกหรือสัตว์ที่กินซากสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร

    3- หรือการที่ตัวมันเองนั้นน่ารังเกียจ เช่น แมลงชนิดต่างๆ

    (ดู ฟะตาวาอิบนุตัยมิยะฮฺ เล่ม 21 หน้า 585)

    กฎข้อที่ 14

    อนุญาตให้ทานสัตว์ต้องห้ามตามที่กล่าวมาได้ในภาวะจำเป็น อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า:

    فَمَنِ اضْطُرَّ فِي مَخْمَصَةٍ غَيْرَ مُتَجَانِفٍ لِّإِثْمٍ فَإِنَّ اللّهَ غَفُورٌ رَّحِيمٌ

    ” ผู้ใดได้รับความคับขันในความหิวโหย โดยมิใช่เป็นผู้จงใจกระทำบาปแล้วไซร้ แน่นอนอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัล-มาอิดะฮฺ : 3)

    ซึ่งภาวะคับขัน หรือภาวะจำเป็นในที่นี้ หมายถึง อยู่ในสภาพที่กลัวว่าหากไม่กินแล้วอาจถึงขั้นตายได้ กรณีเช่นนี้ก็อนุญาตให้กินได้เท่าที่พอจะช่วยให้มีชีวิตรอดอยู่ได้ ไม่กินมากไปกว่านั้น

    ส่วนเหตุผลของการอนุญาตให้กินสิ่งต้องห้ามเพื่อ ประทังชีวิตได้นั้น ท่านอิบนุตัยมิยะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “ที่อนุญาตให้กินสิ่งต้องห้ามในกรณีของผู้ที่อยู่ในภาวะคับขันนั้น ก็เพราะว่าผลดีของการคงไว้ซึ่งชีวิตหนึ่งนั้น อยู่เหนือผลดีของการหลีกเลี่ยงผลเสียข้อนี้ (การกินสัตว์ต้องห้าม) (ดู ฟะตาวา เล่ม 20 หน้า 341)