×
บทปาฐกถาเกี่ยวกับหลักการศรัทธาขั้นมูลฐานสามประการในอิสลาม ได้แก่การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ การศรัทธาต่อศาสนทูต และการศรัทธาต่อชีวิตใหม่ในโลกหน้า เป็นข้อสรุปที่ง่ายๆ สำหรับทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักศรัทธามูลฐานของศาสนาอิสลาม

    สารแห่งอิสลาม

    ﴿رسالة الإسلام﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    อบุล อะอฺลา อัล-เมาดูดี

    ผู้ตรวจทาน : ทีมงานภาษาไทย

    2009 - 1430

    ﴿رسالة الإسلام﴾

    « باللغة التايلاندية »

    أبو الأعلى المودودي

    مراجعة: فريق اللغة التايلاندية بموقع دار الإسلام

    2009 - 1430

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    สารแห่งอิสลาม

    คำนำ

    ในการจัดงานประจำปีของโรงเรียนศาสนวิทยาทุกปี จะมีหนังสือแจกแก่ผู้มีอุปการะคุณ บางครั้งจะเป็นหนังสือ เกี่ยวกับดุอาอ์ของท่าน รอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือไม่ก็เป็น หนังสือวิชาการ เช่น ตัฟซีรญุซอ์อัมมา เป็นต้น ในปีนี้ก็เช่นกัน ทางผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีศาสนวิทยา ก็ได้จัดพิมพ์หนังสือ อิสลามมีอะไรเสนอท่าน? มาแจกเป็นวิทยาทานอีกทางผู้บริหารโรงเรียนศาสนวิทยา ถือเป็นนโยบายที่จะต้องจัดหาหนังสือมาแจกแก่ผู้มีอุปการะคุณทุกปี อินชาอัลลอฮฺ

    ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนความดีงามแก่ผู้พิมพ์ และขอได้ทรงให้หนังสือเล่มนี้ เป็นประโยชน์แก่พี่น้องมุสลิมทั่วไป

    วัสสะลาม

    (นายอิมรอน มะกูดี) รอฮิมะฮุลลอฮฺ

    อดีตครูใหญ่โรงเรียนศาสนวิทยา

    2มกราคม36

    คำชี้แจง

    ข้าพเจ้าได้เขียนบทปาฐกถานี้ขึ้นตามความประสงค์ของ สภาอิสลามแห่งยุโรป Islamic council of Europe เพื่อนำไปอ่านในที่ประชุมอิสลามระหว่างประเทศ ซึ่งทางสภาฯ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ถึง 10 เมษายน ค.ศ.1976 ในกรุงลอนดอน แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ข้าพเจ้าไม่สามารถเดินทางไปร่วมประชุมในครั้งนี้ได้ เนื่องด้วยเหตุขัดข้องทางด้านสุขภาพ และบทปาฐกถานี้ได้นำมาอ่านในวาระของ การประชุมวันที่4เมษายน ค.ศ. 1976 ณ ห้องประชุมสมาคมเครือจักรพบ Royal Commonwealth Society ในกรุงลอนดอน บทปาฐกถานี้เกี่ยวกับหลักการศรัทธาขั้นมูลฐาน 3 ประการในอิสลาม เพราะเป็นเป้าหมายของการเขียนบทปาฐกถานี้ก็เพื่อแนะนำศาสนาอิสลามให้แก่ผู้ที่มิใช่มุสลิม รายละเอียดของหลักการศรัทธา 3 ประการในอิสลามได้แก่การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ การศรัทธาต่อศาสนทูต และการศรัทธาต่อชีวิตใหม่ในโลกหน้า ผู้ใดที่ศรัทธาต่อหลัก 3 ประการนี้แล้ว เขาย่อมจะต้องศรัทธาต่อหลักการศรัทธาทั้งหมด ในอิสลาม อาทิเช่น การศรัทธาต่อบรรดามะลาอิกะฮฺ การศรัทธาต่อกำหนดสภาวะ (กอฎอ กอดัร) ฯลฯ

    ข้าพเจ้าพยายามจะเสนอให้ชาวตะวันตกได้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอิสลามโดยผ่านหลักการศรัทธาขั้นมูลฐานทั้ง 3 ประการนี้ ในสำนวนที่เรียบง่าย อันจะทำให้ทุกคนที่ปรารถนาจะทำความเข้าใจในอิสลามตามรูปการณ์ที่ถูกต้องสามารถนำเอาสิ่งที่อิสลามนำมาเสนอแก่มนุษย์ชาติ ซึ่งกล่าวถึง พระเจ้า ศาสนทูต โลกนี้ โลกหน้า ไปเปรียบเทียบกับหลักการที่มีอยู่ในศาสนาอื่น จากทฤษฎีที่มนุษย์วางขึ้นเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้

    อบุล อะอฺลา อัล-เมาดูดี

    ลาฮอร์ ปากีสถาน

    9 /5/1976

    1. อิสลามเป็นศาสนาของมนุษย์ชาตินับตั้งแต่ นบีอาดัม

    นับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเริ่มปาฐกถาของเรานี้ที่จะกล่าวว่า ศาสนาอิสลาม ตามหลักการสรัทธาของเรานั้นมิใช่ศาสนาที่ศาสนทูตมุฮัมมัดประดิษฐ์ขึ้น และท่านก็มิใช่ศาสนทูตท่านแรกที่นำเอาศาสนานี้มาเสนอแก่มวลมนุษย์ จนถือได้ว่าท่านเป็นผู้ให้กำเนิดศาสนาอิสลาม ยิ่งไปกว่านั้น คัมภีร์อัลกุรอานยังได้ชี้แจงไว้อย่างชัดเจนว่าอัลลอฮฺมิได้ทรงส่งศาสนาใดมายังมนุษย์ชาติตลอดช่วงของประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานอกจากศาสนาเดียวเท่านั้นคือศาสนาอิสลาม ซึ่งแปลว่า ศาสนาแห่งการยอมจำนนและยอมสวามิภักดิ์ต่อบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ศาสนทูตทุกท่านที่อัลลอฮฺได้ทรงส่งมายังส่วนต่างๆ ของโลกและยังประชาชาติเผ่าต่างๆภายในโลก ท่านเหล่านั้นมิใช่ผู้ให้กำเนิดศาสนาจนทำให้เราเรียกว่า ศาสนานูห์หรือโนอาห์(อ้างถึงนบีนูหฺ) ศาสนาอิบรอฮีมหรืออับราฮัม(อ้างถึงนบีอิบรอฮีม) ศาสนามูซาหรือศาสนายิว(อ้างถึงนบีมูซาหรือโมเสสและอ้างถึงชนชาติยิว) ศาสนาอีซาหรือศาสนาคริสต์(อ้างถึงนบีอีซาหรือเยซู) แต่ทว่าศาสนทูตทุกท่านที่ อัลลอฮฺทรงส่งมาต่างเรียกร้องไปสู่ศาสนาเดียวกันกับศาสนาที่ศาสนทูตก่อนๆได้นำมาเผยแผ่(คือ ศาสนาอิสลาม)

    2. คุณลักษณะของศาสนทูต มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

    คุณลักษณะพิเศษของศษสนทูต มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่เหนือกว่าบรรดาศาสนทูตทั้งหลายคือ

    ก. ศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นศาสนทูตสุดท้ายที่พระองค์ อัลลอฮฺได้ทรงส่งมา(และอัลลอฮฺได้ทรงส่งศาสนทูตมุฮัมมัดมายังมนุษย์ทั้งมวล ไม่จำกัดสำหรับหมู่ชนหนึ่งหมู่ชนใดโดยเฉพาะ ส่วนบรรดาศาสนทูตก่อนหน้าท่านนั้นได้ถูกส่งมายังประชาชาติเฉพาะกลุ่มเท่านั้น)

    ข. พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงให้ท่านศาสนทูตมุฮัมมัดนำศาสนาของพระองค์มาเผยแผ่ครั้งใหม่อันเป็นศาสนาเดียวกันกับศาสนาที่บรรดาศาสนทูตทั้งหลายก่อนหน้าท่านนำมาเผยแผ่

    ค. อัลลอฮฺได้ทรงทำให้ศาสนานี้มีความบริสุทธิ์จากสิ่งที่มนุษย์ในยุคต่างๆ ได้นำมาเจือปนตามอารมณ์ของพวกเขาเองแล้วตั้งชื่อเป็นศาสนาต่างๆ พระองค์ได้ทรงใช้ให้ศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นำเอาศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์ ถูกต้อง แท้จริง มาเสนอแก่มนุษยชาติ

    ง. พระองค์อัลลอฮฺจะไม่ทรงส่งศาสนทูตท่านใดมาอีกครั้งหลังจาก ศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังนั้นพระองค์จึงทรงรักษาคัมภีร์ อัลกุรอาน ไว้โดยให้มีเนื้อหาและถ้อยคำคงอยู่ในสภาพ เดิมตามที่ได้ถูกประทานมา เพื่อมนุษย์ชาติในยุคต่อๆ ไปจะได้รับแสงสว่างทางนำที่ถูกต้องจากคัมภีร์เล่มนี้

    ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คัมภีร์อัลกุรอานฉบับที่เราทั้งหลายถืออยู่ในมือขณะนี้ เป็นฉบับเดียวกันกับที่ได้ถูกประทานมายังท่านศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งมีความครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตัดทอน ต่อเติม และบิดเบือนแต่อย่างใด ดังที่บุคคลบางคนได้โจมตีและใส่ไคล้ ศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ใช้ให้บรรดาสาวกของท่านจดบันทึกอัลกุรอานในทันทีที่ได้ถูกประทานมา สภาพการณ์เป็นเช่นนี้ จนกระทั่งท่านศาสนทูตมุฮัมมัดถึงแก่กรรม เมื่อสมัยคอลีฟะฮฺ อบู บักร คอลีฟะฮฺคนที่ 1 หลังจากท่านศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านได้รวมอัลกุรอานสมัยของท่านศาสนทูตมุฮัมมัดฯ ที่บันทึกไว้ในแผ่นกระดูก แผ่นดินเผา ก้านอินทผลัม ฯลฯ เอาไว้ในเล่มเดียวกัน แล้วให้เก็นรักษาไว้ ณ ที่ทำการของค่อลีฟะฮฺ จนกระทั่งถึงสมัยของค่อลีฟะฮฺคนที่ 3 คือ ท่านอุสมาน อิบนิอัฟฟานได้เกิดความสับสนในการอ่านและท่องจำ อัลกุรอาน ของมุสลิมในแคว้นต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลในอาณาจักรอิสลาม ท่านจึงได้มีคำสั่งให้คัดลอกอัลกุรอานจากฉบับเดิมที่ท่าน อบู บักร รวมเป็นเล่ม แล้วจัดส่งไปยังหัวเมืองต่างๆ ตั้งแต่บัดนั้นจวบจนบัดนี้จึงได้มีการจดบันทึกและจัดพิมพ์ อัลกุรอาน ด้วยความพิถีพิถันมีความรอบคอบ และมีการตรวจทานกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน จึงไม่พบว่ามีความแตกต่างกันระหว่างตัวบทของอัลกุรอานในแต่ละเล่ม นอกจากรูปแบบของตัวอักษรอาหรับที่ใช้บันทึกเท่านั้น นอกจากนั้น ท่าน นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังได้ใช้ให้บรรดามุสลิมทั้งหลายท่องจำ อัลกุรอานให้ได้มากที่สุด และนำมาอ่านในขณะละมาด บรรดาศอฮาบะฮฺของท่าน นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จำนวนมากมายสามารถท่องจำ อัลกุรอานหมดทั้งเล่ม ส่วนศอฮาบะฮฺท่านอื่นๆ ก็สามารถท่องจำ อัลกุรอานได้เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ท่าน นบีมุฮัมมัดยังมีชีวิตอยู่ ในโอกาสต่อมา บรรดามุสลิมส่วนใหญ่ได้ให้ความสนใจในการท่องจำ อัลกุรอานทั้งเล่มหรือท่องจำส่วนใหญ่ของอัลกุรอาน พร้อมกับนำไปอ่านทวนขณะทำการละมาดตะรอเวียหฺในเดือนรอมฎอนทุกปี ไม่มีช่วงใดในประวัติศาสตร์อิสลามนอกจากจะได้พบมุสลิมจำนวนหลายล้านคน ได้ท่องจำอัลกุรอานได้ทั้งเล่มหรือเกือบทั้งเล่ม นอกเหนือไปจากมุสลิมหลายร้อยล้านคน ที่สนใจในการอ่านอัลกุรอาน จะมีคัมภีร์ใดบ้างภายในโลกที่ได้รับการเอาใจใส่ในการบันทึกเป็นรูปเล่ม และมีการท่องจำกันอย่างกว้างขวางดังเช่นอัลกุรอาน ดังนั้น จึงแน่ใจได้ถึงความถูกต้องของคัมภีร์เล่มนี้ นอกเหนือไปจากการพิทักษ์ คุ้มครองของ อัลลอฮฺ ดังอายะฮฺที่มีว่า

    (إِنَّا نَحْنُ نَزَّلْنَا الذِّكْرَ وَإِنَّا لَهُ لَحَافِظُونَ) (الحجر : 9 )

    ความว่า “แน่นอนยิ่งเรา(อัลลอฮฺ) ได้ประทานอัซซิกรฺ (อัลกุรอาน)มาและแน่นอนยิ่งเรา(อัลลอฮฺ)เป็นผู้พิทักษ์อัลกุรอาน” (อัลฮิจรฺ 19)

    จ . นอกจาก อัลกุรอานแล้ว ชีวประวัติของท่าน นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนจริยวัตร(ซุนนะฮฺ)ของท่านก็มีความถูกต้องสมบูรณ์อย่างยิ่ง จึงทำให้อัลกุรอาน และซุนนะฮฺเป็นรากฐานสำคัญของศาสนาอิสลาม นอกเหนือไปจากนี้จริยวัตรของท่าน นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังเป็นแบบอย่างอันดีงามและเป็นบัญญัติศาสนาสำหรับเรา

    ฉ . บรรดาศอฮาบะฮฺของท่าน ศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บรรดานักท่องจำและนักบันทึกวจนะ และบรรดามุสลิมรุ่นต่อๆ มา ได้จดจำชีวประวัติและจริยวัตรของท่าน นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไว้อย่างดียิ่ง ซึ่งไม่เคยปรากฎว่า ได้มีการจดจำชีวประวัติและบันทึกจริยวัตรของท่านนบีและผู้นำคนใดในประวัติศาสตร์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์เช่นนี้มาก่อน

    ผู้ที่รายงานจริยวัตรของศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ระบุสายผู้รายงานติดต่อกันทั้งหมดโดยไม่ขาดตอน พร้อมกับได้ชี้แจงว่า สายผู้รายงานนั้นๆ ได้รับรายงานมาจากศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมโดยติดต่อกันหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น คำพูด การกระทำ หรือการยอมรับของท่านต่อการกระทำหรือคำพูดของบรรดาสาวก นอกจากนี้ ยังได้มีการตรวจสอบผู้รายงานโดยละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อจะให้ได้รับจริยวัตรของท่านศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ถูกต้องแท้จริง และยังได้บอกระดับของจริยวัตรที่ไม่ถูกต้องด้วย นอกจากนั้นก็มีการบันทึกจริยวัตรไว้ในตำราเฉพาะไม่รวมอยู่กับคัมภีร์อัลกุรอาน โดยรายงานสายผู้เล่าจริยวัตรตามลำดับสืบถึงศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พร้อมกันนั้นยังมีตำราบันทึกประวัติของผู้รายงานจริยวัตรทุกคน เพื่อจะได้พิสูจน์ทราบถึงฐานะของพวกเขาในรายงานว่า เขามีความจำดี ยึดมั่นในหลักศาสนามีมารยาทดี หรือมีสติฟั่นเฟือน โกหก บิดพิ้ว หลอกลวงหรือไม่

    ช . ด้วยเหตุนี้ อัลกุรอาน และจริยวัตร(ซูนนะฮฺ) ของศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงมีความถูกต้องสมบูรณ์และเป็นแม่บทแห่งบัญญัติของศาสนาอิสลาม สำหรับผู้ที่ต้องการทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับศาสนาของอัลลอฮฺและแนวทางที่ถูกต้อง

    3 . จำเป็นที่เราจะต้องศรัทธาต่อศาสนทูตทุกท่านที่ถูกส่งมาประกาศเผยแผ่ศาสนาของอัลลอฮฺก่อนหน้าศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงระบุนามของท่านเหล่านั้นไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน หรือมิได้ระบุไว้ก็ตาม (บรรดาศาสนทูตที่อัลลอฮฺได้ระบุไว้ใน อัลกุรอานมี25ท่าน คืออาดัม อิดรีส นัวะหฺ ฮูด ซอและหฺ อิบรอฮีม อิสมาอิล อิสหาก ยะอฺกู๊บ ลู๊ฎ ยูซุฟ อัยยูบ มูซา ฮารูน ซุลกิฟลิ ดาวู้ด สุลัยมาน อิลย้าส อัลยะซะอฺ ยูนุส ซาการียา ยะหฺยา อิซา มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) การศรัทธาต่อศาสนทูตนี้เป็นสิ่งจำเป็นในหลักการศรัทธาของศาสนาอิสลาม การเป็นมุสลิมของเราจะไม่สมบูรณ์ถ้าหากว่า เรามิได้ศรัทธาต่อบรรดาศาสนทูตของอัลลอฮฺทั้งหมด ในขณะเดียวกันเราจะไม่ปฎิบัติตามบัญญัติของศาสนทูตท่านใด นอกจากบัญญัติศาสนาที่ศาสนทูตมุฮัมมัดนำมาเผยแผ่เท่านั้น ในการนี้มิใช่ว่า เราได้ยึดมั่นในตัวบุคคลหรือเผ่าพันธุ์ของผู้ที่เป็นศาสนทูตแต่เหตุผลของเราคือ

    ก . ศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นศาสนทูตท่านสุดท้าย ดังนั้น บัญญัติศาสนาที่พระองค์อัลลฮฺ ได้ทรงประทานมาให้ท่านศาสนทูตนำมาเผยแผ่ ก็ย่อมเป็นบัญญัติศาสนาสุดท้ายด้วยเช่นกัน

    ข . พจนารถของอัลลอฮฺ ซึ่งศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นำมาเผยแผ่แก่เรานั้นเป็นดำรัสของพระเจ้าที่บริสุทธิ์ ไม่มีถ้อยคำใดของมนุษย์ปะปนอยู่กับดำรัสของพระองค์เลย และเป็นบัญญัติที่ถูกรักษาไว้ด้วยภาษาของศาสนทูตอันเป็นภาษาที่ประชาชนในโลกหลายล้านคนใช้พูด ใช้เขียน และใช้สื่อความกันมิใช่ภาษาตาย อีกทั้งกฏเกณฑ์ รูปแบบ ถ้อยคำ ความหมาย สำนวน และอักขระ ของภาษานี้ก็มิได้เปลี่ยนแปลงไปในแบบผกผันแต่ประการใด

    ค . ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ชีวประวัติของศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จรรยามารยาทและวัจนะของท่านได้ถูกบันทึกและจดจำไว้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ในหลายกระแสผู้รายงาน ซึ่งมีมากมาย โดยไม่อาจจะนำมากล่าวโดยละเอียดในที่นี้ได้คุณลักษณะเช่นนี้ไม่มีอยู่ในศาสนทูตท่านก่อนๆ หน้าที่ของเราคือ ศรัทธาว่าท่านเหล่านั้นเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ หากแต่เราไม่ต้องปฎิบัติตามบัญญัติศาสนาที่ท่านเหล่านั้นนำมาเผยแผ่

    4 . บัญญัติศาสนาที่ท่านศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นำมาเผยแผ่ตามนัยแห่งการศรัทธาของเรานั้น ได้ถูกประทานมายังมวลมนุษยชาติ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ในยุคใดสมัยใดหลังจากนี้ก็ตาม ทั้งนี้เพราะ

    ก . คัมภีร์ อัลกุรอาน ได้ยืนยันเช่นกัน

    (قُلْ يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنِّي رَسُولُ اللهِ إِلَيْكُمْ جَمِيعاً) (الأعراف : 158 )

    ความว่า (สูเจ้า(มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่า โอ้ มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงฉันเป็นศาสนทูตที่ถูกส่งมายังพวกท่านทั้งมวล (อัล อะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 158)

    ข . คำกล่าวอ้างที่ชอบด้วยเหตุผลก็คือ ในเมื่อศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นศาสนทูตสุดท้าย ดังนั้นบัญญัติศาสนาที่ท่านนำมาเผยแผ่แก่มวลมนุษย์ ก็จะต้องเป็นบญญัติสุดท้ายเช่นกัน

    ค . บัญญัติอิสลามมีความครบถ้วนสมบูรณ์ในยุคของท่าน เพื่อมนุษย์ทั้งหลายจะได้ดำเนินตามแนวทางที่ถูกต้องเที่ยงตรง และนับว่าเป็นสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผลเช่นเดียวกันที่จะกล่าวว่า บรรดาศาสนทูตที่ถูกส่งมาก่อนหน้าท่านไม่ได้รับบัญญัติศาสนาที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ท่านศาสนทูตเหล่านั้นจึงไม่อาจจะเป็นศาสนทูตสุดท้ายดังนั้น พระองค์อัลลอฮฺจึงได้ทรงจัดส่งศาสนทูตสุดท้ายมาคือ ศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

    (قُلْ يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنِّي رَسُولُ اللهِ إِلَيْكُمْ جَمِيعاً) (الأعراف : 158 )

    ความว่า สูเจ้า(มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่า โอ้ มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงฉันเป็นศาสนทูต ที่ถูกส่งมายังพวกท่านทั้งมวล (อัลกุรอาน อัล อะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 158)

    (الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ الإِسْلاَمَ دِيناً) (المائدة : 3 )

    ความว่า วันนี้ข้า(อัลลอฮฺ) ได้ทำให้ศาสนาของสูเจ้าทั้งหลายครบสมบูรณ์สำหรับพวกสูเจ้าและข้าได้ทำให้ความโปรดปรานของข้าที่มีต่อพวกสูเจ้าครบถ้วน และข้าพอใจให้อิสลามเป็นศาสนาสำหรับสูเจ้าทั้งหลาย (อัลกุรอาน อัล มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 3)

    (مَّا كَانَ مُحَمَّدٌ أَبَا أَحَدٍ مِّن رِّجَالِكُمْ وَلَكِن رَّسُولَ اللهِ وَخَاتَمَ النَّبِيِّينَ) (الأحزاب : 40 )

    มุฮัมมัดมิได้เป็นบิดาของผู้ใดในบรรดาชายจากพวกสูเจ้า แต่เขาเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ และเป็นศาสนทูตท่านสุดท้าย (อัลกุรอาน อัล อะหฺซาบ อายะฮฺที่40)

    ง . ตามความเป็นจริงนั้นไม่ปรากฎว่า มีศาสนทูตท่านใดที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงส่งมาอีกหลังจากศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดระยะเวลา 14 ศตวรรษที่ผ่านมาโดยที่ตัวเขาได้กล่าวอ้างว่าอัลลอฮฺได้ทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นศาสนทูต หรือมีลักษณะที่ดีงามเพรียบพร้อมสมบูรณ์ เช่นเดียวกับ ศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งทางด้านความประฤติคำพูด การประพฤติปฎิบัติ แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม หรือกล่าวอ้างว่า เขาได้รับวะฮียฺแล้วนำเอาพจนารถของอัลลอฮฺมาเสนอ แม้จะเพียงเล็กน้อยจนสามารถกล่าวอ้างว่าเขาคือศาสนทูตผู้เผยแผ่ศาสนาหรือบัญญัติของอัลลอฮฺความรู้ทางศาสนาไม่อาจจะแสวงหาจากที่ใดได้นอกจากโดยทางศาสนทูตจำเป็นที่เราต้องรู้ว่า วิธีการที่จะทำให้ได้รับความรู้มี 2 วิธี แต่ก่อนอื่นเราจะต้องรู้ว่าความรู้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ความรู้ทางโลกและความรู้ทางศาสนบัญญัติความรู้ประเภทหลังนี้ บุคคลไม่สามารถรู้ได้ด้วยตนเอง แต่จำเป็นจะต้องได้รับการแนะนำสั่งสอนจากผู้เป็นศาสนทูตเท่านั้น และจากบรรดาผู้ได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากศาสนทูตจากบรรดาสาวก บรรดาผู้เจริญรอยตามสาวก และบรรดานักวิชาการทางศาสนบัญญัติ

    ในโลกนี้มีสิ่งต่างๆมากมายซึ่งเราสามารถรู้ได้โดยอาศัยประสาทสัมผัสของเรา การค้นคว้า การพิสูจน์ การทดลอง โดนอาศัยอุปกรณ์ทางวิทยาสาสตร์ เป็นเครื่องช่วย เราสามารถได้รับความรู้ใหม่ๆ โดยวิธีสังเกต การรวบรวมข้อมูล การตรวจสอบ การค้นคว้าทดลอง และสรุปผลในขั้นสุดท้าย ความรู้ประเภทนี้ ไม่จำเป็นที่อัลลอฮฺจะต้องบอกให้มนุษย์รู้อย่างละเอียดพิสดาร เพราะอยู่ในวิสัยของมนุษย์ที่จะใช้ความสังเกตค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัยออกมาได้ด้วยตัวของมนุษย์เอง จะอย่างไรก็ตาม พระองค์อัลลอฮฺก็มิได้ทรงปล่อยให้มนุษย์ต้องรับภาระในการใช้สติปัญญาค้นหาแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่พระองค์ยังได้ทรงชี้แนะให้มนุษย์ได้ทราบถึงองค์ประกอบบางอย่างที่เร้นลับ ซึ่งส่วนประกอบของมันไม่อาจจะสัมผัสได้ตามปรกติธรรมดาเพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงสถานะเป็นขั้นเป็นตอนอย่างน่าอัศจรรย์ พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงเปิดประตูแห่งการค้นคว้า การแสวงหาความรู้ การอ่านตำรา และการทำความเข้าใจกับปัญหา พร้อมกันนั้น พระองค์ก็ได้ทรงประทานความรู้ให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์โดยการดลใจให้แก่เขาในข้อเท็จจริงต่างๆ ขณะที่เขาทำการค้นคว้าทดลองหรือพยายามแสวงหากฎธรรมชาติที่พระองค์ได้ทรงวางไว้ความรู้ทางโลกนี้อยู่ในขอบข่ายแห่งสติปัญญาของมนุษย์จะหามาได้ จึงไม่จำเป็นที่อัลลอฮฺจะต้องส่งศาสนทูตให้นำความรู้เช่นนี้มาเผยแผ่ หรือประทานคัมภีร์มาให้เป็นการเฉพาะ

    ความรู้อีกประเภทหนึ่งได้แก่ความรู้ที่สติปัญญาและประสาทสัมผัสของเราไม่อาจหยั่งถึงได้ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ เราไม่สามารถนำเอาวิธีการวัดขนาด ตวงปริมาณ และชั่งน้ำหนัก มาเป็นวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งความรู้ประเภทนี้ แม้บรรดานักปรัชญาและนักวิชาการพากันกล่าวอ้างว่าเขามีความรู้ประเภทนี้ แต่ความรู้ที่พวกเขามีอยู่ก็เป็นเพียงการคาดเดาหรือทำนาย หรือเป็นเพียงการประมาณการณ์ซึ่งมีใช่วิธีการค้นคว้าทางวิชาการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงขั้นสุดท้าย หรือทฤษฎีในการสรุปผลในข้อเท็จจริงต่างๆ ผู้ที่วางทฤษฎีต่างๆ ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า นั่นเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ ทั้งๆ ที่พวกเขามีความรู้อย่างมากมายพวกเขาเองก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่านั่นเป็นข้อเท็จจริง และไม่กล้าที่จะเชิญชวนผู้อื่นให้เชื่อถือด้วย นั่นคือ ความรู้ทางศาสนา

    นี่คือขอบเขตจำกัดเกี่ยวกับการตระหนักถึงข้อเท็จจริงทางการรับรู้ของมนุษย์ซึ่งอัลลอฮฺ ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลจักรวาล ได้ทรงประทานมาให้ ซึ่งพระองค์มิได้ประทานมาในรูปของหนังสือที่ตีพิมพ์เป็นเล่ม แล้วนำมามอบให้แก่มนุษย์แต่ละคนพร้อมกับใช้ให้เขาเหล่านั้นทำการศึกษา เพื่อจะได้ทราบว่า ข้อเท็จจริงของจักรวาลนี้เป็นอย่างไร ข้อเท็จจริงของมนุษย์เป็นอย่างไร ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของเขาในโลกนี้เป็นอย่างไร และในโลกหน้าเป็นอย่างไร มีจริงหรือไม่ ความรู้เหล่านี้ อัลลอฮฺ ได้ทรงวิวรณ์(วะฮียฺ)มายังศาสนทูต และได้ทรงใช้ให้บรรดาศาสนทูตนำเอาความรู้เหล่านี้ไปประกาศเผยแผ่แก่มวลมนุษย์หน้าที่ของศาสนทูต

    6 . ศาสนทูตไม่มีหน้าที่เฉพาะการเผยแผ่ศาสนาอันเป็นความรู้แห่งสัจธรรมเท่านั้น แต่ทว่า ท่านเหล่านั้นยังมีหน้าที่ในการชี้แจงความรู้เหล่านั้นแก่มนุษย์ทั้งหลายตามความเป็นจริง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างวัฒนธรรมและอารยะธรรมของอิสลาม ซึ่งเป็นรากฐานของการก่อกำเนิดวิชาการสาขาต่างๆ อาทิเช่น สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นโยบาย การคลัง รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ กฎการทำศึกและการสงบศึก และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามหลักวัฒนธรรมและอารยธรรมอิสลาม ศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มิได้นำเอาพิธีกรรมหรือศาสนกิจ ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายเข้าใจว่าเป็นศาสนามาเสนอเท่านั้น แต่ทว่า ท่านยังได้นำเอาระบอบการดำเนินชีวิต ซึ่งตามนัยแห่งอิสลามถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของหลักศาสนาอิสลามมาเสนออีกด้วย

    7. ศาสนทูตไม่มีหน้าที่เฉพาะการเผยแผ่ศาสนาเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจให้แก่บรรดามุอ์มินผู้ศรัทธาและมุอ์มินผู้นอบน้อมในรายละเอียดของศาสนา ไม่ว่าจะเป็นหลักการศรัทธา หลักจริยธรรม หลักศาสนกิจ นิติบัญญัติ และระบบการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ พร้อมกันนั้น ท่านศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังจะต้องเป็นแบบอย่างของบรรดามุสลิมเพื่อพวกเขาจะได้ยึดแบบอย่างของท่านเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอันจะทำให้พวกเขาได้รับความนิยมยกย่องทั้งในส่วนบุคคลและส่วนรวม และมุสลิมทั้งหลายจะได้เป็นผู้วางรากฐานที่ดีงามในการเสริมสร้างวัฒนธรรมอิสลามที่สะอาดบริสุทธิ์หลังจากท่าน และเพื่อศาสนทูตมุฮัมมัดจะได้จัดระเบียบความเป็นอยู่ของพวกเขาและทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มชนที่ยืนหยัดในการดำรงศาสนาของอัลลอฮฺไว้เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของพวกเขา เพื่อให้พจนารถของอัลลอฮฺมีความสูงส่งและถ้อยคำของผู้อื่นนั้นต่ำต้อย

    ไม่จำเป็นที่ศาสนทูตทุกคนจะต้องประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่ของเขา เราจะพบว่ามีศาสนทูตมากมายที่ประสบความล้มเหลวในการปฎิบัตหน้าที่ ทั้งนี้มิใช่ด้วยกับความบกพร่องและการไร้ความสามารถของพวกเขา แต่ทว่าความล้มเหลวนั้นเกิดจากการต่อต้านอย่างรุนแรงของผู้ปฎิเสธและสภาวการณ์ไม่อำนวยให้ แต่จะอย่างไรก็ตามหน้าที่ของการเผยแผ่ได้ถูกกำหนดแก่ศาสนทูตทุกคน ส่วนคุณลักษณะพิเศษของศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ไม่มีอยู่ในศาสนทูตท่านอื่น ก็คือท่านได้สถาปนาอาณาจักรแห่งพระเจ้าบนโลกนี้ ดังที่ประวัติศาสตร์ได้ยืนยันไว้

    8 . อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดให้คัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮฺของศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นบัญญัติของพระองค์ ซึ่งบางครั้งก็มีไปยังมวลมนุษย์ทั้งมวล และบางครั้งก็มีไปยังบุคคลเฉพาะกลุ่ม ซึ่งหมายถึงมุสลิมผู้ศรัทธา มีความนอบน้อมและยอมรับคำเรียกร้องไปสู่อิสลาม พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสกับพวกเขาในฐานะผู้ศรัทธา เมื่อท่านเปิดดูคัมภีร์ อัลกุรอาน ตั้งแต่หน้าแรกจรดหน้าสุดท้าย หรือเปิดดูคำปราศรัยของศาสนทูต มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และวจนะของท่าน ท่านจะไม่พบว่า ในคัมภีร์อัลกุรอานหรือในวัจนะของท่านศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่กล่าวถึงอาณาจักรหนึ่งอาณาจักรใดหมู่ชนหนึ่งหมู่ชนใด เชื้อชาติหนึ่งเชื้อชาติใด ชนชั้นหนึ่งชนชั้นใด หรือผู้ที่พูดภาษาหนึ่งภาษาใดโดยเฉพาะ นอกจากจะใช้คำเรียกเขาเหล่านั้นว่า โอ้ ลูกหลานของอาดัม หรือ โอ้ มนุษย์ทั้งหลาย และได้เรียกร้องให้เขาเหล่านั้นเข้ารับอิสลาม แต่ถ้าอัลกุรอานและศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พูดกับบรรดาผู้ศรัทธาโดยเรียกร้องให้พวกเขาเหล่านั้นยึดมั่นและปฎิบัติตามคำสอนของอัลลอฮฺและรอซูล ก็จะกล่าวกับเขาเหล่านั้นว่า โอ้ ศรัทธาชนทั้งหลาย หรือ โอ้ บรรดาผู้ที่ศรัทธาแล้วทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่า คำเรียกร้องของอิสลามเป็นคำเรียกร้องสากล ซึ่งมีไปยังมนุษย์ทั้งมวลไม่จำกัดอยู่ที่กลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใด พูดภาษาหนึ่งภาษาใด มีฐานะในทางสังคมอย่างไร มนุษย์คนใดที่ยอมรับในคำเชิญชวนนี้ เขาก็เป็นศรัทธาชน ซึ่งจะได้รับสิทธิและมีหน้าที่เสมอภาคทัดเทียมกับมุสลิมทุกคน อัลกุรอานกล่าวว่า

    (إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ إِخْوَةٌ) (الحجرات : 10 )

    ความว่า แท้จริง บรรดาศรัทธาชนทั้งหลายเป็นพี่น้องกัน (ซูเราะฮฺ อัล หุจรอต ที่10)

    ศาสนทูตมุฮัมมัด กล่าวไว้โดยรวมความว่า “ผู้ใดที่กล่าวคำปฎิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าใดนอกจาก อัลลอฮฺและเขาผินหน้าไปทางกิบละฮฺของเรา ละหมาดด้วยละหมาดของเรา รับประทานสัตว์เชือดของเราเขาก็เป็นมุสลิม ได้รับสิทธิดังเช่นมุสลิมได้รับ และมีหน้าที่เช่นเดียวกับหน้าที่ที่มุสลิมจะต้องปฎิบัติ” ศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในคำปราศรัยของท่านว่า “โอ้ มนุษย์ทั้งหลาย พึงรู้เถิด แท้จริง พระเจ้าของท่านทั้งหลายมีองค์เดียวบิดาของท่านทั้งหลายมีคนเดียว ชาวอาหรับก็ไม่ประเสริฐไปกว่าผู้ที่มิใช่อาหรับ คนผิวแดงก็มิได้ประเสริฐไปกว่าคนผิวดำ และคนผิวดำก็มิได้ประเสริฐไปกว่าคนผิวแดง นอกจากการยำเกรง (ตั๊กวา)เท่านั้น” (รายงานโดย อิมามอะหฺมัด และอัลบัยฮะกียฺ)

    ท่านอนัส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่าน นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวความว่า “ผู้ใดที่ละหมาดด้วยละหมาดของเรา ผินไปทางกิ๊บละฮฺของเรา รับประทานสัตว์เชือดของเราดังนั้น เขาคือมุสลิม ซึ่งสำหรับเขาอยู่ในพิทักษ์ของอัลลอฮฺและการพิทักษ์ของรอซูลของพระองค์ ดังนั้นท่านทั้งหลายจงอย่าละเมิดอัลลอฮฺในการพิทักษ์ของพระองค์” (บันทึกโดย อัลบุคอรี และ อันนะซาอียฺ)

    หลักการศรัทธาขั้นมูลฐานของศาสนาอิสลาม

    การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ

    9. หลักการศรัทธาที่สำคัญซึ่งเป็นหลักมูลฐานของศาสนาอิสลามคือ การศรัทธาว่าอัลลอฮฺทรงเป็นพระเจ้า ทั้งนี้แต่มิได้หมายความว่า เราจะศรัทธาแต่เพียงว่าอัลลอฮฺทรงเป็นผู้ทรงเอกะเท่านั้น แต่จะต้องศรัทธาว่า อัลลอฮฺคือ ผู้ทรงบังเกิดสากลจักรวาล เป็นผู้ทรงอำนาจสิทธิ์ขาด ทรงปกครอง ทรงบริหาร สากลจักรวาลอยู่ใต้อำนาจของพระองค์และสรรพสิ่งทั้งหลายต่างอยู่ภายใต้การดูแลของพระองค์ พระองค์คือ ผู้ทรงประทานเครื่องยังชีพ อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และปัจจัยในการสร้างที่อยู่อาศัย เพื่อให้มนุษย์ สัตว์ พืชมีชีวิตอยู่ พระองค์ทรงคุณลักษณะที่สมบูรณ์ในการสร้างสรรค์ ในการบริหาร ในการประทานความโปรดปราน ไม่มีผู้ใดมีหุ้นส่วนในการเป็นพระเจ้าร่วมกับพระองค์แม้จะเป็นอำนาจเพียงเท่าผงธุลี พระองค์ทรงคุณลักษณะแห่งการเป็นพระเจ้าที่ได้รับการเคารพภักดีโดยสมบูรณ์ไม่มีผู้ใดครอบครองคุณลักษณ์เช่นนี้ได้นอกจากพระองค์ พระองค์ทรงมองเห็นทุกสิ่งที่อยู่ในท้องฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน พระองค์ทรงรอบรู้ถึงสิ่งที่อยู่ในฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินด้วยพระองค์เอง โดยปราศจากการอาศัยสื่อหรืออุปกรณ์ใดๆ ทั้งที่เป็นไปในอดีด ปัจจุบัน และอนาคต ไม่มีผู้ใดที่มีนัยน์ตามองเห็นทุกสิ่งดังเช่นพระองค์ พระองค์ทรงรอบรู้ถึงสิ่งเร้นรับทุกสิ่ง พระองค์ทรงดำรงอยู่ตั้งแต่บรรพกาล และทรงคงอยู่นิรันดร์กาล ทุกสิ่งนอกจากพระองค์ต้องถึงซึ่งความพินาศ พระองค์คือ ผู้ทรงเอกะ ผู้ทรงชีพ ทุกสิ่งเกิดขึ้นด้วยการอนุมัติของพระองค์ และทุกสิ่งจะคงอยู่ด้วยการอนุมัติของพระองค์ พระองค์ไม่ทรงมีบุตร ไม่ทรงมีบิดามารดา ทุกสิ่งในฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงบังเกิดขึ้น ไม่มีผู้ใดที่จะกล่าวอ้างว่า เขาคือ หุ้นส่วนในการเป็นพระเจ้าร่วมกับพระองค์หรือเป็นบุตรชาย หรือบุตรสาวของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ้อยคำ สำนวน หรือความหมายใดๆ พระองค์คือ พระเจ้า ผู้ทรงได้รับการเคารพภักดีอย่างแท้จริงของมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งปวง การที่มนุษย์เคารพภักดีผู้อื่น นอกจากพระองค์ ถือว่าเขาได้ประกอบอาชญากรรมอันใหญ่หลวงและเป็นการบิดพริ้วที่ใหญ่หลวงของเขา พระองค์คือ ผู้ทรงตอบสนองคำวิงวอนของมนุษย์ซึ่งพระองค์ก็ทรงสิทธิ์ที่จะตอบสนองหรือไม่ตอบสนองคำวิงวอนขอของเขาก็ได้ การที่มนุษย์ไม่วิงวอนขอต่อพระองค์เป็นการแสดงออกซึ่งความยะโสของเขา และการวิงวอนขอต่อผู้อื่นร่วมกับการวิงวอนขอต่อพระองค์เป็นความโง่เขลาและการอธรรมอย่างที่สุด และการวิงวอนขอต่อผู้อื่นคู่เคียงกับพระองค์เป็นการตั้งผู้อื่นเป็นพระเจ้าคู่เคียงพระองค์

    10 . ตามแนวทางแห่งอิสลามนั้น อำนาจการปกครองของพระองค์อัลลอฮฺมิได้จำกัดอยู่แค่สิ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากธรรมชาติเท่านั้น แต่ทว่าอำนาจการปกครองของพระองค์ยังรวมถึงอำนาจทางการเมืองและทางกฏหมายของมนุษย์อีกด้วย ไม่มีผู้ใดมีส่วนร่วมกับพระองค์ในการใช้อำนาจนี้ ในผืนแผ่นดินและต่อบรรดาบ่าวของพระองค์ ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นกษัตริย์หรือราชวงศ์หรือคณะผู้ปกครองหรือประชาธิปไตซึ่งศรัทธาในการปกครองโดยประชาชน คนใดที่ไม่ใช้อำนาจการปกครองตามที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติมาให้ เขาผู้นั้นคือ ทรชน ผู้ที่ยึดมั่นในหลักการปกครองของผู้อื่นและภักดีสวามิภักดิ์ต่อผู้อื่นนั้น เขาก็คือ ทรชน อัลลอฮฺทรงบอกกับเราในอัลกุรอานว่า ผู้ใดที่ไม่ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมา เขาเหล่านั้นคือ ผู้ปฎิเสธ ผู้อธรรม และ คนชั่ว (ดู สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 45-47)

    สถานภาพเช่นนี้ได้ถูกบังคับใช้แก่บุคคลหมู่คณะ องค์กร ซึ่งมีอภิสิทธิ์ในการใช้อำนาจทางการเมืองและกฎหมาย ที่จะต้องนำเอาบัญญัติของอัลลอฮฺมายึดถือปฎิบัติโดยครบถ้วน มิใช่จำกัดอยู่แค่กฎหมายว่าด้วยครอบครัวเท่านั้น เพราะไม่มีผู้ตรากฎหมายคนใดที่จะมีอำนาจสิทธิ์ขาดในแผ่นดินนอกจากอัลลอฮฺองค์เดียว และพระก็ไม่ทรงอนุญาติให้ผู้ใดละเมิดอำนาจสูงสุดของพระองค์โดยการตรากฎหมายมาบังคับใช้แทนกฎหมายของพระองค์ด้วย

    11. และนี่คือ คุณลักษณะของพระองค์อัลลอฮฺที่เราจะต้องศรัทธาเชื่อมั่น

    ก . อัลลอฮฺคือ ผู้ทรงได้รับการเคารพภักดีจากมนุษย์เพียงพระองค์เดียว ไม่มีผู้ใดที่สมควรจะได้รับการเคารพภักดีในฐานะพระเจ้านอกจากพระองค์

    ข . พระองค์คือ ผู้ทรงอำนาจในการบริหารสากลจักรวาล พระองค์ทรงไว้ซึ่งสิทธิในการตอบสนองการวิงวอนขอของมนุษย์ พระองค์จะทรงตอบสนองคำวิงวอนขอหรือไม่ทรงตอบสนองก็เป็นสิทธิของพระองค์ โดยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่บุคคลจะต้องวิงวอนขอต่อพระองค์ด้วยความบริสุทธิ์ใจและไม่วิงวอนขอต่อผู้ใดนอกจากพระองค์ เขาจะต้องไม่คิดว่า มีผู้อื่นที่เหมาะสมในการวิงวอนขอและสามารถตอบสนองคำวิงวอนขอของเขาได้นอกจากพระองค์

    ค. พระองค์คือ ผู้ทรงควบคุมชะตากรรมของมนุษย์ ไม่มีผู้ใดสามารถให้ประโยชน์หรือให้โทษต่อเขาได้นอกจากพระองค์ มนุษย์จะไม่หันไปพึ่งพิงผู้ใดนอกจากพระองค์ไม่ว่าเขาจะตกอยู่ในสภาพที่มีความหวาดกลัวหรือในสภาพที่เขามีความปรารถนาอยากได้ เขาจะไม่ปรารถนาสิ่งใดนอกจากความเมตตาของพระองค์และเขาไม่หวาดกลัวสิ่งใดนอกจากการลงโทษของพระองค์

    ง. อัลลอฮฺคือ ผู้ทรงบังเกิด ผู้ทรงเนรมิต ผู้ทรงอำนาจสิทธิ์ขาดต่อบรรดาสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้และสิ่งที่มีอยู่ในสากลจักรวาล พระองค์ทรงรอบรู้ ทรงรู้ถึงข้อเท็จจริงของมนุษย์และของทุกสิ่งที่มีอยู่ในจักรวาล โดยเป็นความรู้ที่สมบูรณ์ซึ่งไม่ต้องอาศัยสื่อกลางใดๆ พระองค์องค์เดียวเท่านั้นที่สามารถนำมนุษย์สู่หนทางที่เที่ยงตรง โดยออกห่างหนทางที่คดเคี้ยว และทรงมอบระบบที่ถูกต้องในการดำรงชีวิตให้แก่มนุษย์

    จ . ในเมื่ออัลลอฮฺคือ ผู้ทรงเอกะ ผู้ทรงบังเกิดมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลาย ผู้ทรงอำนาจเหนือ พวกเขาและโลกที่พวกเขาอาศัยอยู่ ดังนั้น จึงเท่ากับเป็นการปฎิเสธอย่างเปิดเผยสำหรับผู้ที่เชื่อมั่นว่ามีผู้ทรงอำนาจในการตราบัญญัติในการปกครองอื่นอีกนอกจากพระองค์ หรือมนุษย์มีความสามารถในการวางระบบการปกครองด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยบัญญัติของพระองค์ ด้วยระบบปกครองของมนุษย์ปัจจุบัน จึงทำให้พวกเขาอยู่ในฐานะผู้ตราบัญญัติให้แก่ตัวเอง หรือแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือแก่คณะหนึ่งคณะใด หรือองค์การหนึ่งองค์การใดเพื่อให้ยอมรับว่าเป็นบัญญัติที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา แท้ที่จริงแล้วอัลลอฮฺพระองค์เดียวคือ ผู้ทรงตราบัญญัติสำหรับมนุษย์ และพระองค์คือ ผู้ทรงอำนาจในการปกครองแผ่นดินของพระองค์ ผู้ทรงปกครองปวงบ่าวของพระองค์ และสิทธิในการตราบัญญัติเป็นของพระองค์องค์เดียว

    ฉ . ในเมื่ออัลลอฮฺคือ ผู้ทรงอำนาจสูงสุด ดังนั้น บัญญัติของพระองค์ก็คือบัญญัติสูงสุด มนุษย์ไม่มีสิทธิในการตรากฎหมายนอกจากจะต้องขึ้นกับบัญญัติสูงสุด คือบัญญัติของอัลลอฮฺ และจะต้องประยุกต์มาจากบัญญัตินี้หรือได้รับอนุญาตจากพระองค์อัลลอฮฺในการตรากฎหมาย

    การศรัทธาต่อศาสนทูต

    12 . หลักการศรัทธาขั้นมูลฐานอีกประการหนึ่งในศาสนาอิสลามคือการศรัทธาต่อศาสนทูต ศาสนทูต คือ ผู้ที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานบัญญัติให้แก่เขาเพื่อให้นำไปเผยแผ่แก่มนุษย์ชาติบัญญัติของพระเจ้าที่ศาสนทูตนำมาเผยแผ่มี 2 รูปแบบคือ

    หนึ่ง การวะฮียฺหรือวิวรณ์ของอัลลอฮฺ สุบฮานาฮูวะตะอาลา ซึ่งได้ถูกถ่ายทอดมาเป็นถ้อยคำยังศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั่นคือ คัมภีร์อัลกุรอาน

    สอง คำพูด การปฎิบัติ คำสั่งใช้ คำสั่งห้าม การรับรองของ ศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่มีไปยังสาวกของท่านโดยสอดคล้องกับบัญญัติของอัลลอฮฺ นั่นคือ ซุนนะฮฺหรือจริยวัตรของท่าน การที่บุคคลได้ศรัทธาต่อหลักการสำคัญนี้ จะทำให้การศรัทธาต่ออัลลอฮฺมีความมั่นคงแน่นแฟ้นมิใช่เป็นการศรัทธาแบบผิวเผินปราศจากคุณค่าและเป็นเพียงความรู้สึกนึกคิดที่เลื่อนลอยและเป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น ไม่มีความแน่ใจแต่ประการใด สิ่งที่เป็นปัจจัยทำให้บุคคลมีความศรัทธาต่ออัลลอฮฺซึ่งแฝงอยู่ในอารยธรรม วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตของมนุษย์คือ การชี้แจงแนะนำของศาสนทูต และผู้เป็นศาสนทูตนี่เองที่เป็นสื่อนำบัญญัติของอัลลอฮฺมามอบให้แก่เรา โดยเหตุนี้ บุคคลจะยังมิใช่มุสลิมผู้นอบน้อมอย่างแท้จริงเว้นแต่ว่า เขาจะศรัทธาต่อศาสนทูตมุฮัมมัดภายหลังจากที่เขาศรัทธาต่ออัลลอฮฺ

    13 . ศาสนาอิสลาม ได้ชี้แจงถึงฐานะและความสำคัญของศาสนทูตมุฮัมมัด โดยที่เราสามารถรู้ถึงคุณลักษณะที่แท้จริงของศาสนทูต ศาสนทูตมิได้มีมาเพื่อทำให้มนุษย์ตกเป็นทาสของเขาแต่ใช้ให้มนุษย์ทั้งหลายยอมเป็นบ่าวของอัลลอฮฺองค์เดียว แม้แต่ตัวของเขาเอง เขายังกล่าวว่าเขาคือ บ่าวของอัลลอฮฺ คำสั่งสอนที่ศาสนทูตมุฮัมมัดนำมาชี้แจงแก่บรรดามุสลิมก็คือการกล่าวปฎิญาณในละหมาด 5 เวลา อย่างน้อย 17 ครั้ง เป็นประจำทุกวันว่า “ข้าพเจ้าปฎิญาณว่า มุฮัมมัด เป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์” คัมภีรอัลกุรอานได้ชี้แจงอย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ว่า ศาสนทูตคือมนุษย์ธรรมดาไม่มีส่วนร่วมในการเป็นพระเจ้า แม้จะเป็นเพียงเท่าผงธุลี ท่านมิได้มีบุคลิกเหมือกว่ามนุษย์ทั้งหลายและมิได้ขาดคุณลักษณะของการเป็นมนุษย์ เช่นการมีความหิวโหย ความกระหาย ความเหน็ดเหนื่อย ง่วงนอน มีการแต่งงาน การเจ็บป่วย ได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น ศาสนทูตไม่มีอำนาจครอบครองความรู้ของพระเจ้า เขาไม่มีความรู้ในสิ่งเร้นลับเว้นแต่สิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงเปิดเผยให้รู้เท่านั้น ศาสนทูตไม่มีอำนาจที่จะให้คุณให้โทษต่อตัวเอง และไม่สามารถให้คุณให้โทษต่อผู้อื่นด้วย ท่านไม่มีหน้าที่อื่นใดนอกจากประกาศเผยแผ่ศาสนาของอัลลอฮฺเท่านั้น ท่านไม่มีอำนาจที่จะให้แนวทางที่ถูกต้องแก่ผู้ที่ท่านรักได้ไม่มีสิทธิที่จะอภัยโทษแก่ผู้ที่ปฎิเสธ ไม่สามารถไถ่บาปให้แก่ผู้ใดหรือจะให้ภัยพิบัติเกิดแก่ผู้ใดก็ไม่ได้แม้แต่ตัวของศาสนทูตมุฮัมมัดเอง ถ้าหากว่า ท่านฝ่าผืนคำสั่งของอัลลอฮฺหรือกล่าวเท็จใส่ไคล้อัลลอฮฺ หรืออาจหาญในการเปลี่ยนแปลงดำรัสและคำบัญชาของอัลลอฮฺ แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม ท่านก็ไม่อาจจะรอดพ้นจากการลงโทษของอัลลอฮฺได้ ท่านนบีมุฮัมมัดศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ ซึ่งมีฐานะตำแหน่งเช่นเดียวกับบรรดาศาสนทูตอื่นๆ ของพระองค์ ท่านไม่มีตำแหน่งใดๆ ที่เหนือกว่าของการเป็นศาสนทูต ท่านไม่มีสิทธิที่จะอนุมัติสิ่งใดที่เป็นบัญญัติห้ามของอัลลอฮฺ และไม่มีสิทธิที่จะกำหนดข้อห้ามต่อสิ่งใดที่พระองค์อนุมัติ หรืออีกนัยหนึ่ง ศาสนทูตมุฮัมมัดไม่สามารถบัญญัติสิ่งใดขึ้นมาด้วยกับตัวของท่านเอง นอกจากจะได้รับการอนุญาติและบัญชาใช้จากพระองค์อัลลอฮฺ ท่านจะไม่พูดไม่ออกคำสั่ง และไม่ปฎิบัติสิ่งใด นอกจากจะเป็นไปตามคำบัญชาของพระองค์อัลลอฮฺที่มีมายังท่าน ดังนี้แหละ ที่อิสลามได้ช่วยเหลือมนุษย์ชาติมิให้ปฎิบัติการใดๆ ที่เกินขอบเขตดังที่ผู้เนินตามศาสนทูตท่านก่อนๆ ศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ปฎิบัติ จนกระทั่งได้มีการเทิดทูนศาสนทูตในฐานะพระเจ้า หรือยกย่องท่านเหล่านั้นเป็นหุ้นส่วนในการเป็นพระเจ้าคู่เคียงอัลลอฮฺ หรือนับว่าศาสนทูตเป็นบุตรของพระเจ้าหรือเป็นภาคหนึ่งของพระเจ้า ศาสนาอิสลามได้คัดค้านการกระทำเพื่อเทิดทูนยกย่องหรือมีความเชื่อมั่นศรัทธาที่เกินขอบเขตเหล่านี้อย่างเปิดเผย และได้ชี้แจงถึงฐานะที่แท้จริงในการศรัทธาต่อศาสนทูต

    บุคคลยังไม่เป็นผู้ศรัทธาอย่างแท้จริงตราบใดที่เขายังไม่ศรัทธาต่อศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังนั้น ผู้ใดที่มีความศรัทธาต่อศาสนทูตแท้จริง เขาได้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺอย่างแน่นอนเพราะอัลลอฮฺมิได้ทรงส่งศาสนทูตนอกจากเพื่อให้มนุษย์เชื่อฟังภักดีต่อเขา และไม่มีผู้ใดได้รับแนวทางที่ถูกต้อง เว้นแต่เขาจะเชื่อฟังผู้เป็นศาสนทูต ดังนั้น จึงจำเป็นที่เขาจะต้องยึดถือปฎิบัติในสิ่งที่ศาสนทูตใช้และละเว้นในสิ่งที่ศาสนทูตห้ามอัลลอฮฺตรัสว่า

    (مَّنْ يُطِعِ الرَّسُولَ فَقَدْ أَطَاعَ اللهَ) (النساء : 80 )

    ความว่า ผู้ใดที่ภัคดีต่อรอซูล แท้จริงเขาได้ภัคดีต่ออัลลอฮฺแล้ว (อันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 80)

    ศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยอิวะซัลลัม ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการนี้ไว้ว่า “แท้จริง ฉันเป็นมนุษย์ธรรมดา ดังนั้นถ้าหากว่า สิ่งใดจากศาสนาของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมุ่งมายังฉัน(ซุนนะฮฺของฉัน) และถ้าหากว่าสิ่งใดจากโลกดุนยาของพวกท่านแท้จริงฉันเป็นมนุษย์ธรรมดา (อีกรายงานหนึ่งว่า) ท่านทั้งหลายรู้ดียิ่งเกี่ยวกับโลกดุนยาของพวกท่าน” (บันทึกโดยมุสลิม กิตาบ อัลฟาฎออิล, มุสนัดอิมามอะห์มัด เล่มที่ 1 หน้าที่ 162 และเล่มที่ 3 หน้าที่152)

    จริยวัตรของศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะทำหน้าที่อธิบายเป้าหมายที่มีอยู่ในอัลกุรอาน ผู้ทรงประทานอัลกุรอานคือพระองค์อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงสอนคำอธิบายให้แก่ท่าน ดังนั้น การอธิบายอัลกุรอาน จึงเป็นอำนาจที่พาดพิงถึงอัลลอฮฺ โดยเหตุนี้จึงไม่อนุญาติให้ผู้ใดทำการอธิบายอัลกุรอานด้วยตัวของเขาเอง โดยไม่อาศัยคำอธิบายของท่านศาสนทูต

    พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของท่านศาสนทูต มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นแบบอย่างของบรรดาศรัทธาชน และบุคคลจะยังไม่เป็นผู้ศรัทธาในเมื่อเขายังไม่ยอมรับสิ่งที่ศาสนทูตมุฮัมมัดได้นำมาและได้ทำการตัดสิน พระองค์อัลลอฮฺตรัสว่า

    (وَمَا كَانَ لِمُؤْمِنٍ وَلَا مُؤْمِنَةٍ إِذَا قَضَى اللهُ وَرَسُولُهُ أَمْراً أَن يَكُونَ لَهُمُ الْخِيَرَةُ مِنْ أَمْرِهِمْ) (الأحزاب : 36 )

    ความว่า มิใช่สำหรับผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิง เมื่ออัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ ได้ทรงตัดสินสิ่งใด แล้วพวกเขาจะเลือกเฟ้นเป็นอย่างอื่นจากกิจการงานของพวกเขา (ซูเราะฮฺ อัล อะหฺซาบ อายะฮฺที่ 36)

    และมิใช่ลักษณะของมุสลิมเช่นเดียวกันในเมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาใดๆ ซึ่งพวกเขายังมิได้พิสูจน์ทราบอย่างถ่องแท้ แต่เขาก็ด่วนตัดสินใจลงไป โดยไม่พิจารณาว่า อัลลอฮฺและศาสนทูตมุฮัมมัดได้ตัดสินในกรณีดังกล่าวอย่างไรบ้าง?

    ดังที่ได้กล่าวมาแล้วทำให้ทราบได้ว่า พระองค์อัลลอฮฺมิได้ทรงประทานบัญญัติสูงสุดมาโดยผ่านศาสนทูตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทว่า พระองค์ยังได้ทรงประทานสิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงมาด้วย นั่นคือสิ่งใดที่อัลกุรอานและวจนะของท่านศาสนทูตยืนยันว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้น สิ่งนั้นก็จะเป็นสิ่งที่ดีตลอดไป และสิ่งใดที่อัลกุรอานและวจนะของท่านศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่าเป็นสิ่งที่ชั่วหรือเป็นสิ่งที่ไม่ดี สิ่งนั้นก็จะเป็นสิ่งที่ชั่วหรือสิ่งที่ไม่ดีตลอดไป สิ่งใดที่อัลกุรอานและวจนะของศาสนทูตยืนยันว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติ(หะล้าล) ให้ปฎิบัติหรือบริโภคได้สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่อนุมัติ(หะล้าล)หรือให้บริโภคได้ตลอดไป และสิ่งใดที่อัลลอฮฺและวจนะของศาสนทูตยืนยันว่าเป็นสิ่งต้องห้ามมิให้ปฎิบัติหรือบริโภค สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งต้องห้ามมิให้ปฎิบัติหรือบริโภคตลอดไป ไม่มีผู้ใดที่จะมีสิทธิในการเปลี่ยนแปลงแก้ใขบัญญัติดังกล่าว หรือต่อเติม ตัตทอน หรือยกเลิกสิ่งใดได้ เว้นแต่ว่า บุคคลนั้นหรือกลุ่มชนนั้น หรือชนชาตินั้นได้ตกลงใจผละออกจากศาสนาอิสลาม ดังนั้น ตราบใดที่มุสลิมยังคงเป็นมุสลิมอยู่เขามิอาจจะมีทัศนะว่า สิ่งนี้เมื่อวานนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่วันนี้กลับเป็นสิ่งที่ดี พอวันรุ่งขึ้นกลับมีทัศนะว่า เป็นสิ่งที่ไม่ดีอีก ซึ่งหลักการเปรียบเทียบ การลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์และการใช้สติปัญญาพิจารณาก็ไม่อาจจะนำมาเป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินถึงความถูกต้องในการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้

    การศรัทธาต่อวันสุดท้าย

    14. หลักการศรัทธาขั้นมูลฐานของศาสนาอิสลามประการที่สามคือ การศรัทธาต่อวันสุดท้าย ความสำคัญของการศรัทธาประการนี้ก็คือ ผู้ใดปฎิเสธ เขาจะสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมทันทีเขาจะไม่เป็นผู้ศรัทธาอย่างแน่นอน แม้นว่าเขาจะศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ศรัทธาต่อศาสนทูตมุฮัมมัด ศรัทธาต่อคัมภีร์อัลกุรอานก็ตาม หลักการศรัทธาต่อวันสุดท้ายมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

    ก . มนุษย์มิได้ถูกปล่อยไว้ในโลกนี้โดยปราศจากความรับผิดชอบ และไม่ถูกสอบสวนในสิ่งที่เขาปฎิบัติ แต่ทว่า เขาจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขาปฎิบัติต่อหน้าพระผู้บังเกิดพวกเขาอย่างแท้จริง ชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้เป็นเพียงการทดลองและทดสอบเท่านั้น เมื่อชีวิตในโลกนี้ของเขาสิ้นสุดลงพระองค์อัลลอฮฺก็จะทรงสอบถามเขาในสิ่งที่เขาได้ปฎิบัติไปในโลกนี้ทั้งหมด อัลลอฮฺตรัสว่า

    (إِنَّا جَعَلْنَا مَا عَلَى الْأَرْضِ زِينَةً لَّهَا لِنَبْلُوَهُمْ أَيُّهُمْ أَحْسَنُ عَمَلاً) (الكهف : 7 )

    ความว่า แท้จริง เราได้ทำในสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเครื่องประดับสำหรับมันเพื่อเราจะได้ทดสอบพวกเขาว่า ผู้ใดในพวกเขามีการงานดีที่สุด (อัล กะฮฺฟุ อายะฮฺที่ 7)

    ข . พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดการเกิดวันสุดท้ายไว้อย่างแน่นอนตายตัวเมื่อวาระกำหนดนั้นมาถึง ก็จะเกิดการอวสาน ระบบการดำเนินชีวิตในโลกนี้จะยุติลงระบบการใช้ชีวิตใหม่ในโลกหน้าจะเข้ามาแทนที่ มนุษย์ทุกคนที่ตายไปจะถูกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นอีกครั้งหนึ่งในโลกใหม่นี้ นับตั้งแต่มนุษย์คนแรกที่พระองค์ได้ทรงบังเกิดขึ้นจนกระทั่งถึงคนสุดท้ายโดยเป็นสิ่งเร้นลับ ไม่มีผู้ใดรู้ได้นอกจากพระองค์อัลลอฮฺองค์เดียว

    ค . มนุษย์ทุกคนจะถูกสอบสวนในวาระเดียวกันต่อหน้าศาลแห่งพระเจ้า ทุกคนจะถูกสอบถามเป็นรายตัวถึงสิ่งที่เขาปฎิบัติในโลกดุนยานี้ตามความรับผิดชอบเฉพาะตัวของเขา

    ง . อัลลอฮฺจะทรงตัดสินในวันฟื้นชีพใหม่ตามความรู้ของพระองค์ตามการงานของมนุษย์ แต่ทว่า การสอบสวนของพระองค์นั้นอยู่ในเงื่อนไขแห่งความยุติธรรมโดยสมบูรณ์ บันทึกของมนุษย์ทุกคนจะถูกนำมาเสนอยังศาลแห่งพระเจ้า โดยประมวลถึงการทำงานของเขาทั้งหมดในโลกนี้ ปราศจากการเพิ่มเติมหรือตัดทอน บรรดาพยานทั้งหมดซึ่งไม่อาจจะนับคำนวนได้จะมายืนยันว่า เขาได้ทำอะไรในโลกดุนยานี้ ทั้งในที่ลับและที่เปิดเผยและเขามีเจตนาอย่างไร ในการปฎิบัติ

    จ . ในศาลแห่งพระเจ้าจะไม่รับสินบนใดๆ ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สินเงินทอง การขอไถ่โทษใดๆ ที่ไม่ชอบธรรมก็ไม่ยังประโยชน์ ไม่มีการทดแทน และไม่มีทนายคอยแก้ต่าง ไม่มีผู้แบกภาระ คนใดที่จะแบกภาระของผู้อื่น ในวันนั้น ไม่มีญาติใกล้ชิดคนใด ไม่มีเพื่อนสนิท ไม่มีผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ผู้อาวุโสคนใด หรือพระเจ้าเท็จใดๆ ที่จะให้การช่วยเหลือต่อเขาได้นอกจากจะได้รับการอนุญาตจากอัลลอฮฺ เขาจะต้องยืนอยู่ต่อหน้าอัลลอฮฺอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีผู้ช่วยเหลือที่จะคอยปกป้องการงานที่เขาปฎิบัติ กิจการในวันนั้นเป็นของพระองค์อัลลอฮฺแต่ผู้เดียว

    ฉ . การพิพากษาของอัลลอฮฺที่มีต่อบรรดามนุษย์จะเกี่ยวกับการเคารพภักดีต่อพระองค์อย่างแท้จริง(เชื่อฟังและปฎิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺและศาสนทูตมุฮัมมัด)หลังจากที่พวกเขาได้ศรัทธาต่อศาสนทูตมุฮัมมัด และศรัทธาต่อคัมภีร์อัลกุรอานที่พระองค์ได้ทรงส่งมายังมวลมนุษย์ และศรัทธาต่อความรับผิดชอบของพวกเขาที่จะต้องถูกสอบสวนในวันฟื้นชีพใหม่และพิพากษาพวกเขาที่ไม่เคารพภักดีต่อพระองค์และไม่เชื่อว่าจะมีการสอบสวนการงานของมนุษย์ที่ได้ประกอบไว้ ณ โลกดุนยานี้ในวันฟื้นคืนชีพ

    ถ้าหากว่า มนุษย์เคารพภักดีอัลลอฮฺและเชื่อมั่นศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺ พวกเขาก็จะได้รับการตอบแทนด้วยสวรรค์ และเขาจะพำนักอยู่ด้วยความผาสุก ส่วนผู้ฝ่าฝืนไม่ยอมเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ และไม่เชื่อว่าจะมีการสอบสวนในวันฟื้นชีพใหม่เขาก็จะถูกลงโทษอย่างแสนสาหัสในนรก

    ประเภทของมนุษย์เกี่ยวกันการศรัทธาต่อวันฟื้นชีพใหม่

    15 . เกี่ยวกับการศรัทธาต่อวันฟื้นชีพใหม่ เราสามารถแบ่งมนุษย์ได้เป็น 3 ประเภทคือ

    ก . ผู้ที่ไม่ศรัทธาต่อวันฟื้นชีพใหม่ พวกเขามีความเห็นว่า ไม่มีชีวิตใดอีกนอกจากชีวิตในโลกนี้เท่านั้นและผลงานที่เขาได้รับในโลกนี้จะเป็นเครื่องกำหนดความดีและความชั่ว ถ้าหากว่าการงานที่เขาปฎิบัติก่อให้เกิดผลดีมีประโยชน์นั่นคือความดีในสายตาของเขา และการกระทำอันใดก่อให้เกิดผลเสียหายและเป็นภัยต่อตัวเองและสังคม นั่นคือความชั่วในสายตาของเขา และในบางครั้งสิ่งเดียวกันนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ดีและบางครั้งอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ได้ในเมื่อมันอยู่ในภาวะที่แตกต่างกันและให้ผลที่แตกต่างกัน

    ข . ผู้ที่ศรัทธาว่ามีวันฟื้นชีพใหม่ แต่พวกเขามีความเชื่อมั่นว่ามีผู้ที่ไถ่โทษให้แก่เขาในวันนั้นซึ่งทำให้เขาไม่ต้องถูกลงโทษในความผิดที่เขาได้ปฎิบัติในโลกนี้ หรือมีบุคคลอื่นยอมรับโทษแทนเขาก่อนหน้านี้ในฐานะผู้ไถ่บาปหรือเป็นผู้ที่อัลลอฮฺทรงรัก ดังนั้น พวกเขาจะไม่ถูกลงโทษนอกจากพอเป็นพิธีเท่านั้น แม้ว่าเขาจะทำความผิดขั้นอุกฉกรรจ์หรือทำบาปขั้นมหันต์ก็ตาม การศรัทธาของบุคคลผู้นี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ สำหรับเขาเกี่ยวกับการศรัทธาต่อวันฟื้นชีพใหม่ อีกทั้งยังนับว่า บุคคลประเภทนี้รวมอยู่ในบุคคลประเภทแรกนั่นเอง

    ค . ผู้ที่ศรัทธาต่อวันฟื้นชีพใหม่ โดยที่เขามีความศรัทธาอย่างถูกต้องตามแบบที่อิสลามกำหนดไว้ เขามีความเชื่อมั่นว่าเขาเป็นเพียงบ่าวของอัลลอฮฺเท่านั้น ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอัลลอฮฺเกินเลยไปกว่านี้ เขาไม่มีความสามารถในการไถ่บาป ไม่สามารถขอไถ่โทษในลักษณะที่ไม่ชอบด้วยบัญญัติศาสนา การที่บุคคลมีความศรัทธาเกี่ยวกับวันฟื้นชีพใหม่อย่างถูกต้องเช่นนี้ ได้ก่อให้เกิดผลสะท้อนในทางที่ดีอย่างใหญ่หลวงต่อตัวเขาเองและสังคม ผู้ที่มีความศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นและถูกต้องต่อวันฟื้นขึ้นชีพใหม่อยู่ในหัวใจ สภาพของเขาเสมือนผู้ที่มีผู้อื่นคอยควบคุมพฤติกรรมของเขา เพื่อยับยั้งมิให้สนองตัณหาในการทำความชั่ว และยับยั้งมิให้เขาปฎิบัติตามขั้นตอนในการชักนำไปสู่การกระทำในสิ่งที่ต้องห้ามและการปฎิบัติในสิ่งที่อิสลามคัดค้าน การศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นเป็นเสมือนตำรวจที่คอยจับเขาหรือเป็นพยานที่จะปรักปรำเขา หรือเป็นศาลที่จะพิพากษาลงโทษเขา หรือเป็นมติมหาชนซึ่งตำหนิในสิ่งที่เขาได้ปฎิบัติหรือสิ่งที่เขาละทิ้ง โดยเหตุนี้ ในหัวใจของเขาจึงเป็นเสมือนมีผู้เฝ้าคอยสังเกตการกระทำของเขาถ้าหากว่าภายในหัวใจของบุคคลเป็นเสมือนมีผู้ที่คอยสังเกตการกระทำของเขาอยู่เขาก็ไม่อาจหาญที่จะละทิ้งไม่ปฎิบัติในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงบัญญัติมา ไม่ว่าเขาจะอยู่ตามลำพังหรืออยู่อย่างโดดเดี่ยวภายในป่า หรืออยู่ท่ามกลางความมืดมิด หรืออยู่ท่ามกลางท้องทะเลทรายอันเวิ้งว้าง เขาจะไม่สามารถที่จะปฎิบัติในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม สมมุติว่าถ้าเขาได้กระทำผิด เขาก็จะต้องรู้สึกสำนึกตัวและมีความเสียใจในการกระทำความผิดและจะขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ดังนั้น จึงไม่มีอาวุธหรือเกราะป้องกันใดๆ ที่จะแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าความเกรงกลัวอัลลอฮฺ(ตักวา)ในการยับยั้งการกระทำความผิด ทำให้เขามีสติและสำนึกตัวอยู่เสมอเพื่อหลีกเลี่ยงการทำความชั่ว พร้อมกับเป็นการปลูกฝังบุคคลให้ดำเนินอยู่บนหนทางที่เที่ยงตรง คุณธรรมที่ปรากฎอยู่ในบัญญัติของอิสลามมีความสูงส่งเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งมนุษย์ไม่อาจจะยึดมั่นอยู่อย่างมั่นคงได้ถ้าหากว่าเขาไม่มีความศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นต่อการฟื้นขึ้นชีพใหม่ ด้วยเหตุนี้การศรัทธาต่อวันฟื้นชีพใหม่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในศาสนาอิสลาม เพราะถ้าหากว่าปราศจากหลักการศรัทธาประการนี้แล้ว การศรัทธาต่ออัลลอฮฺและการศรัทธาต่อศาสนทูตมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็หาได้มีคุณค่าอันใดไม่

    คุณธรรมแห่งศาสนาอิสลามในการดำรงชีวิตของมนุษย์

    16 . อิสลาม ดังที่เราได้กล่าวมาแล้วในข้อที่ 6 ของบทปาฐกถานี้หมายถึงแหล่งอารยธรรมที่มีองคNประกอบครบสมบูรณ์ สามารถเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าในทุกด้าน และเป็นระบบที่พร้อมมูลในการยึดถือเป็นแนวทางสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ อิสลามได้เสนอแนวทางในการดำรงชีวิตให้แก่มนุษย์ทุกแง่ทุกมุม ดังนั้น ผู้ที่ยึดมั่นในบัญญัติอิสลามจึงไม่ใช่นักบวชที่ละทิ้งความเป็นอยู่ภายในสังคมของชาวโลก มิใช่นักบุญและนักพรตที่บำเพ็ญตบะอยู่ตามถ้ำและโพงไม้ แต่ผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่ตามแนวจริยธรรมอิสลาม เขาจะใช้ชีวิตอยู่ภายในสังคมมนุษย์ ท่ามกลางสังคมที่มีความสับสนวุ่นวาย มิใช่การเอาตัวรอดโดยการหลีกหนีสังคมไปปลดเปลื้องกิเลสและขัดเกลาจิตใจให้สูงส่งท่ามกลางความวิเวกและความสงบตามสำนักปฎิบัติธรรม โบสถ์ วิหาร อาศรม อิสลามต้องการให้มุสลิมขัดเกลาจิตใจให้มีความสูงส่งและพยายามปลดเปลื้องกิเลสท่ามกลางกระแสคลื่นแห่งการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยแน่แท้ ถ้าหากว่า มนุษย์ดำรงอยู่บนรากฐานแห่งความยำเกรงอัลลอฮฺมีความศรัทธาต่อบัญญัติของอัลลอฮฺ โดยถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดเหนือกฎหมายอื่นใดภายในโลก ดำเนินตามคุณธรรมของอิสลาม มีความตระหนักในความรับผิดชอบที่มีต่อพระองค์อัลลอฮฺ เขาจะไม่เพียงแต่ละทิ้งความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้มีอำนาจ ทรงอิทธิพลและมีความเลอเลิศเหนือผู้อื่นเท่านั้น เขายังจะมีความตระหนักและสำนึกมั่นอยู่เสมอในขณะที่เขาปฎิบัติภารกิจในโลกนี้ในฐานะที่เขาเป็นเพียงบ่าวของอัลลอฮฺ เขาจะมี สัจจะ ซื่อสัตย์ และยึดมั่นในความสุขสงบสันติ

    นี่เป็นการเสนอสิ่งที่อิสลามเรียกร้องพอสังเขป เพราะคำเรียกร้องของอิสลามมิใช่เป็นเช่นเดียวกับการเพ้อฝันของนักปรัชญาเมธี หากแต่เป็นคำเรียกร้องที่เป็นสัจธรรมของศาสนทูต มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และให้มีการนำมายึดถือปฎิบัติอย่างจริงใจในการดำเนินชีวิต แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยไปกว่า 14 ศตวรรษแล้วก็ตาม แต่ผลสะท้อนแห่งคุณธรรมอิสลามยังคงปรากฎอยู่ในสังคมมุสลิมโดยทั่วไปในปัจจุบันที่เป็นสังคมที่อุดมไปด้วยคุณธรรม

    สิ่งสุดท้ายคือ การวิงวอนขอของเราให้เอกองค์อัลลอฮฺได้ทรงโปรดประทานความดีงามให้แก่เรา แท้จริง มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺองค์อภิบาลแห่งสากลโลก

    อบุล อะอฺลา อัล-เมาดูดี

    หมายเหตุบรรณาธิการ เนื่องจากบทความนี้ค้นได้จากอินเตอร์เน็ตซึ่งไม่ระบุผู้แปล จึงไม่สามารถระบุชื่อผู้แปลได้ ณ ที่นี้ และขอดุอาอ์จากอัลลอฮฺให้ทรงประทานผลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้แปลและเผยแพร่บทความนี้ทุกคน อามีน ผู้อ่านสามารถติดตามอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้จาก

    http://www.jannah.org/articles/messageofislam.html

    และ

    http://itesettur.wordpress.com/2006/08/15/the-message-of-islam-shed-abul-ala-maududi/