สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรงดเว้นการศีลอดได้ แต่จำเป็นต้องถือชด
บทความนี้ถูกแปลเป็นภาษา
หมวดหมู่
แหล่งอ้างอิง
Full Description
อนุญาตให้สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรงดเว้นการศีลอดได้ แต่จำเป็นต้องถือชด ส่วนการบริจาคอาหารเพียงอย่างเดียวนั้นถือว่าใช้ไม่ได้
الحامل والمرضع تفطران وتقضيان ولا يجزئهما الإطعام
เว็บไซต์ อิสลาม ถาม-ตอบ
แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา
موقع الإسلام سؤال وجواب
ترجمة: عصران إبراهيم
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
อนุญาตให้สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรงดเว้นการศีลอดได้ แต่จำเป็นต้องถือชด ส่วนการบริจาคอาหารเพียงอย่างเดียวนั้นถือว่าใช้ไม่ได้
ถาม : ข้าพเจ้าเคยอ่านมาว่า อนุญาตให้สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรงดเว้นการถือศีลอดได้ และให้บริจาคอาหารโดยไม่ต้องเกาะฎอ (ถือศีลอดชด) โดยยึดรายงานจากท่านอิบนุอุมัรเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นหลักฐาน เช่นนี้ถือว่าถูกต้องหรือไม่? ช่วยกรุณาให้ความกระจ่างแก่ข้าพเจ้าพร้อมหลักฐานด้วย ขออัลลอฮฺประทานความจำเริญแก่ท่าน
ตอบ : นักวิชาการมีทัศนะที่แตกต่างกัน เกี่ยวกับหุก่มของสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร ในกรณีที่นางทั้งสองงดเว้นการถือศีลอด ดังนี้:
ทัศนะแรก : จำเป็นต้องถือศีลอดชดเพียงอย่างเดียว นี่เป็นทัศนะของอิหม่ามอบูหะนีฟะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ และเศาะหาบะฮฺที่มีทัศนะเช่นนี้ก็ได้แก่ท่านอะลี บิน อบีฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ทัศนะที่สอง : ถ้าหากนางทั้งสองงดเว้นการถือศีลอด เพราะเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อตัวเอง ก็จำเป็นต้องถือศีลอดชดเพียงอย่างเดียว แต่ถ้างดเว้นการถือเพราะเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อเด็ก ก็จำเป็นต้องถือศีลอดชดพร้อมบริจาคอาหารให้แก่ผู้ยากไร้ หนึ่งคนต่อหนึ่งวันที่ขาดไป และนี่คือทัศนะของอิหม่ามชาฟิอีย์และอะหมัด และอัลญัศศอศได้ระบุว่าเป็นทัศนะของอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา
ทัศนะที่สาม : จำเป็นต้องบริจาคอาหารเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องถือศีลอดชด ทัศนะนี้มีรายงานจากเศาะหาบะฮฺบางท่านเช่น ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา นอกจากนี้ท่านอิบนุกุดามะฮฺยังได้ระบุไว้ในหนังสืออัลมุฆนีย์ (3/37) ว่ามีรายงานมาจากท่านอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เช่นกัน
# หลักฐานของทัศนะที่สาม
1- มีรายงานซึ่งบันทึกโดยอบูดาวุด (2318) จากท่านอิบนุอับบาสว่า : อายะฮฺที่ว่า
(وَعَلَى الَّذِينَ يُطِيقُونَهُ فِدْيَةٌ طَعَامُ مِسْكِينٍ) (البقرة : 184 )
ความว่า "และบรรดาผู้ที่ถือศีลอดด้วยความลำบากยิ่ง (โดยที่เขาได้งดเว้นการถือ) นั้น เขาต้องชดเชยด้วยการให้อาหารแก่คนยากไร้หนึ่งคน" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 184)
คือข้ออนุโลมสำหรับชายและหญิงชรา ที่ต้องประสบความยากลำบากในการถือศีลอด โดยให้เขาทั้งสองงดเว้นการถือ แล้วบริจาคอาหารแก่คนยากไร้หนึ่งต่อหนึ่งวันที่ขาดไปแทน สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรก็เช่นเดียวกัน หากว่านางทั้งสองกลัว" ท่านอบูดาวุดกล่าวว่า : หมายถึง ถ้านางทั้งสองเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อเด็ก ก็ให้งดเว้นการถือ แล้วบริจาคอาหารชดเชย
ท่านนะวะวีย์ กล่าวว่า : สายรายงานนี้หะสัน
2- และรายงานนี้ยังได้รับการบันทึกโดยอัลบัซซาร โดยเพิ่มในตอนท้ายว่า : "และ ท่านอิบนุอับบาส ได้กล่าวแก่มารดาของลูกท่าน (ภรรยาที่เป็นทาสี) ซึ่งกำลังตั้งครรภ์ว่า : เธอเปรียบได้กับผู้ที่ได้รับความยากลำบากในการถือศีลอด เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่เธอต้องบริจาคอาหาร และไม่ต้องถือศีลอดชด" อัลหาฟิซกล่าวในอัตตัลคีศว่า อัดดาเราะกุฏนีย์ระบุว่าสายรายงานนี้เศาะหีหฺ
อัลญัศศอศ ได้ระบุในหนังสือ "อะหฺกามุลกุรอาน" ว่าเศาะหาบะฮฺมีทัศนะที่แตกต่างกันในประเด็นนี้ : "บรรดาชาวสลัฟ (ชนยุคแรก) ได้มีทัศนะที่แตกต่างกันในประเด็นดังกล่าวเป็นสามทัศนะ : โดยท่านอะลีมีทัศนะว่า จำเป็นที่นางทั้งสองต้องถือศีลอดชด ในกรณีที่นางทั้งสองงดเว้นการถือศีลอด โดยไม่ต้องบริจาคอาหาร ส่วนท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่า จำเป็นที่นางทั้งสองต้องบริจาคอาหารโดยไม่ต้องถือศีลอชด ในขณะที่ท่านอิบนุอุมัรเห็นว่า จำเป็นต้องบริจาคอาหารพร้อมทั้งถือศีลอดชด" สิ้นสุดข้อความจากหนังสือเล่มดังกล่าว
## ส่วนผู้ที่มีทัศนะว่าจำเป็นที่นางทั้งสอง ต้องถือศีลอดชดเพียงอย่างเดียว ได้ยึดหลักฐานดังต่อไปนี้:
1- รายงานซึ่งบันทึกโดยอันนะสาอีย์ (2274) จากท่านอนัส เล่าจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าท่านกล่าวว่า : "แท้จริงอัลลอฮฺได้ยกเว้นแก่ผู้เดินทางซึ่งครึ่งหนึ่งของการละหมาด และได้ยกเว้นการถือศีลอด สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรก็เช่นกัน" เชคอัลบานีย์ระบุในเศาะหีหฺอันนะสาอีย์ ว่าเป็นหะดีษเศาะหีหฺ
ในหะดีษบทนี้ ท่านนบีได้หุก่มสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรนั้น เหมือนกับหุก่มของผู้เดินทาง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้เดินทางนั้น อนุญาตให้ละศีลอดได้ แต่จำเป็นต้องถือชด ดังนั้น สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรก็เช่นเดียวกัน (ดู อะหฺกามุลกุรอาน โดยอัลญัศศอศ)
2- กิยาส (เทียบหุก่ม) กับคนป่วย ในเมื่อผู้ที่เจ็บป่วยนั้น อนุญาตให้เขาละศีลอดโดยจำเป็นต้องถือชด ดังนั้นสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรก็เช่นเดียวกัน (ดู อัลมุฆนีย์ : 3/37 และ อัลมัจญฺมูอฺ : 6/273)
ทัศนะนี้เป็นทัศนะที่อุละมาอ์หลายๆ ท่านให้น้ำหนัก
เชคบินบาซกล่าวว่า : "สตรี มีครรภ์และสตรีให้นมบุตรนั้น หุก่มของทั้งสองคือหุก่มเดียวกับคนป่วย เมื่อการถือศีลอดเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับนางทั้งสอง ก็อนุญาตให้งดเว้นการถือได้ และจำเป็นที่นางทั้งสองต้องถือศีลอดชดหากมีความสามารถที่จะทำได้ เช่นเดียวกับคนป่วย ทั้งนี้ อุละมาอ์บางท่านมีทัศนะว่า เพียงทั้งสองบริจาคอาหารแก่คนยากไร้หนึ่งคนต่อหนึ่งวันที่ขาดไป ก็เป็นการเพียงพอแล้ว ซึ่งทัศนะนี้เป็นทัศนะที่เฎาะอีฟ (อ่อน) และมัรฺญูหฺ (มีน้ำหนักน้อย) ที่ถูกต้องคือ จำเป็นที่นางทั้งสองต้องถือศีลอดชด เช่นเดียวกับผู้เดินทาง และคนป่วย ดังที่อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า
(وَمَن كَانَ مَرِيضاً أَوْ عَلَى سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ) (البقرة : 185 )
ความว่า 'และผู้ใดเจ็บป่วย หรืออยู่ระหว่างการเดินทาง ก็ให้(ละศีลอดได้และ) ถือชดในวันอื่น' (อัลบะเกาะเราะฮฺ 185)
(หนังสือรวมฟัตวา 15/225)
และท่านยังกล่าวว่า: "ที่ถูกต้องในประเด็นนี้คือ จำเป็นที่สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรต้องถือศีลอดชด ส่วนรายงานจากท่านอิบนุอับบาส และท่านอิบนุอุมัร ว่าให้สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรบริจาคอาหารนั้น เป็นทัศนะที่มีน้ำหนักน้อย และขัดกับบรรดาหลักฐานตามบทบัญญัติศาสนา และอัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสว่า
(وَمَن كَانَ مَرِيضاً أَوْ عَلَى سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ) (البقرة : 185 )
ความว่า 'และผู้ใดเจ็บป่วย หรืออยู่ระหว่างการเดินทาง ก็ให้(ละศีลอดได้และ) ถือชดในวันอื่น' (อัลบะเกาะเราะฮฺ 185)
ซึ่งสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรนั้น อยู่ในกลุ่มผู้ที่เจ็บป่วย ไม่ได้อยู่ในข่ายของคนชราที่ไม่มีความสามารถ นางทั้งสองอยู่ในข่ายผู้เจ็บป่วย จึงจำเป็นที่นางทั้งสองต้องถือศีลอดชดถ้าหากว่าทำได้ แม้ว่าการถือชดจะล่าช้าไปบ้างก็ไม่เป็นไร" (หนังสือรวมฟัตวา15/227)
และคณะกรรมการถาวรเพื่อการฟัตวา (ซาอุฯ) ระบุว่า : "สตรีมีครรภ์นั้น หากนางเกรงว่าการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน จะเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือต่อเด็กในท้อง ก็ให้นางละศีลอดได้ และจำเป็นต้องถือศีลอดชดเพียงอย่างเดียว กรณีของนางก็ไม่ต่างอะไรจากคนป่วยซึ่งไม่สามารถถือศีลอดได้ หรือกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อตัวเอง อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า
(وَمَن كَانَ مَرِيضاً أَوْ عَلَى سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ) (البقرة : 185 )
ความว่า 'และผู้ใดเจ็บป่วย หรืออยู่ระหว่างการเดินทาง ก็ให้(ละศีลอดได้และ) ถือชดในวันอื่น' (อัลบะเกาะเราะฮฺ 185)
สตรีให้นมบุตรก็เช่นเดียวกัน หากนางเกรงว่าการให้นมบุตรในเดือนเราะมะฎอนจะเป็นอันตรายต่อตัวเอง หรือเกรงว่าการถือศีลอดแล้วไม่ให้นมบุตรจะเป็นอันตรายต่อบุตรของนาง ก็ให้นางละศีลอด โดยจำเป็นต้องถือชดเพียงอย่างเดียว" (หนังสือรวมฟัตวาคณะกรรมการถาวรเพื่อการฟัตวา 10/220)
และมีระบุในฟัตวาคณะกรรมการถาวรฯ เช่นเดียวกันว่า: "ส่วนสตรีมีครรภ์นั้น จำเป็นที่นางต้องถือศีลอดในขณะที่นางตั้งครรภ์ เว้นแต่ว่านางจะกลัวว่าการถือศีลอดจะทำให้เกิดอันตรายต่อตัวเอง หรือต่อลูกในครรภ์ ก็อนุโลมให้นางละศีลอดได้ โดยจำเป็นที่นางต้องถือศีลอดชดหลังจากที่นางคลอดบุตร และพ้นช่วงนิฟาสแล้ว... ส่วนการบริจาคอาหารแทนการถือศีลอดนั้นถือว่าใช้ไม่ได้ จำเป็นต้องถือศีลอดเท่านั้น" (หนังสือฟัตวาฯ 10/226)
เชคอิบนุ อุษัยมีน กล่าวใน อัชชัรหุลมุมติอฺ (6/220) หลังจากที่ท่านยกทัศนะต่างๆของอุละมาอ์ในประเด็นนี้ และเลือกให้น้ำหนักทัศนะที่เห็นว่าจำเป็นต้องถือศีลอดชดเท่านั้น ว่า: "และสำหรับข้าพเจ้า ทัศนะนี้ คือทัศนะที่มีน้ำหนักมากที่สุดจากทัศนะต่างๆ เพราะสภาพของนางทั้งสองนั้นไม่ต่างอะไรจากคนป่วย หรือผู้เดินทาง จึงจำเป็นที่นางทั้งสองต้องถือศีลอดชดเท่านั้น"
วัลลอฮุอะอฺลัม
เว็บอิสลาม ถาม-ตอบ