×
หนึ่งในจำนวนหลักฐานที่บ่งบอกถึงความเป็นจริงของศาสนาอิสลาม ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ที่มีปรากฏในมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เช่น อัลกุรอานกับการพัฒนาตัวอ่อนของมนุษย์ อัลกุรอานที่ว่าด้วยเทือกเขา การกำเนิดจักรวาล สมองของมนุษย์ การเกิดเมฆฝน ทะเลและแม่น้ำ เป็นต้น

    ความมหัศจรรย์ในทางวิทยาศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน

    ]ภาษาไทย[

    الإعجاز العلمي في القرآن الكريم

    [اللغة التايلاندية ]

    www.islam-guide.com

    موقع إسلام كايد

    ตรวจทาน: อัสรัน นิยมเดชา, ซุฟอัม อุษมาน

    مراجعة: عصران إبراهيم، صافي عثمان

    สำนักงานความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด

    المكتب التعاوني للدعوة وتوعية الجاليات بالربوة بمدينة الرياض

    1430 – 2009

    บทที่ 1 หลักฐานบางประการที่บอกถึงความเป็นจริงของศาสนาอิสลาม

    พระผู้เป็นเจ้าทรงสงเคราะห์ศาสนทูตมุหัมมัด ซึ่งเป็นศาสนทูตองค์สุดท้ายของพระองค์ด้วยปาฏิหาริย์นานัปการและพยานหลักฐานอีกมากมายซึ่งสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าพระองค์คือศาสนทูตที่แท้จริง ซึ่งประทานมาโดยพระผู้เป็นเจ้า เฉกเช่นเดียวกับที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสงเคราะห์พระคัมภีร์ที่ทรงอนุญาตให้เปิดเผยได้ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายของพระองค์ นั่นคือ พระคัมภีร์กุรอาน ด้วยปาฏิหาริย์นานัปการที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า พระคัมภีร์กุรอานเล่มนี้คือพระดำรัสจากพระผู้เป็นเจ้าโดยแท้ ซึ่งนำมาเปิดเผยโดยศาสนทูตมุหัมมัด และไม่ได้มาจากการประพันธ์ของมนุษย์คนใด ในบทนี้จะกล่าวถึงพยานหลักฐานบางประการถึงความจริงนี้

    (1) ความมหัศจรรย์ในทางวิทยาศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์กุรอาน

    พระคัมภีร์กุรอานคือพระดำรัสจากพระผู้เป็นเจ้าโดยแท้ ซึ่งพระองค์ทรงเปิดเผยต่อศาสนทูตมุหัมมัด โดยผ่านทางมลาอิกะฮฺ(เทวทูต)ญิบรีล (Gabriel) โดยที่มุหัมมัด ได้ท่องจำพระดำรัสของพระองค์ ผู้ซึ่งต่อมาได้ทรงบอกต่อให้กับบรรดาสาวกหรือสหายของท่าน บรรดาสหายเหล่านั้นได้ทำการท่องจำ และจดบันทึกไว้ และได้ทำการศึกษากับศาสนทูตมุหัมมัด อีกครั้งหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ศาสนทูตมุหัมมัด ยังทรงทำการศึกษาพระคัมภีร์อัลกุรอานกับมลาอิกะฮฺญิบรีลอีกปีละครั้ง และสองครั้งในปีสุดท้ายก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต นับแต่เวลาเมื่อมีการเปิดเผยพระคัมภีร์กุรอานมาจนกระทั่งทุกวันนี้ มีประชากรชาวมุสลิมจำนวนมากมายมหาศาลสามารถท่องจำคำสอนทั้งหมดที่มีอยู่ในพระคัมภีร์กุรอานได้ทุกตัวอักษร บางคนในจำนวนเหล่านั้นสามารถท่องจำคำสอนทั้งหมดที่มีอยู่ในพระคัมภีร์อัลกุรอานได้ก่อนอายุสิบขวบเลยทีเดียว ไม่มีตัวอักษรสักตัวในพระคัมภีร์กุรอานได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลายศตวรรษที่ ผ่านมาแล้ว

    พระคัมภีร์กุรอานที่นำมาเปิดเผยเมื่อสิบสี่ ศตวรรษที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ซึ่งถูกค้นพบหรือได้รับการพิสูจน์จากนักวิทยาศาสตร์เมื่อเร็วๆ นี้ การพิสูจน์ในครั้งนี้แสดงให้เห็นโดยปราศจากข้อสงสัยว่า พระคัมภีร์กุรอานนั้นจะต้องมาจากพระดำรัสพระผู้เป็นเจ้าโดยแท้ ซึ่งนำมาเปิดเผยโดยศาสนทูตมุหัมมัด และพระคัมภีร์กุรอานเล่มนี้ไม่ได้ถูกประพันธ์มาจากมุหัมมัด หรือมนุษย์คนใด และนี่ก็เป็นการพิสูจน์ให้เห็นอีกเช่นกันว่า มุหัมมัด คือ ศาสนทูตที่แท้จริงซึ่งประทานมาโดยพระผู้เป็นเจ้า มันเป็นเรื่องที่อยู่เหนือเหตุผลที่ว่า น่าจะมีใครบางคนเมื่อหนึ่งพันสี่ร้อยปีที่ผ่านมาทราบความจริงที่ได้ถูกค้นพบหรือถูกพิสูจน์เมื่อไม่นานมานี้ ด้วยเครื่องมือที่ล้ำสมัยและด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ล้ำลึก ดังตัวอย่างต่อไปนี้

    ก) พระคัมภีร์กุรอานกับการพัฒนาของตัวอ่อนมนุษย์:

    ในพระคัมภีร์กุรอาน พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสไว้เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ในการพัฒนาของตัวอ่อนมนุษย์ :

    ความว่า "และขอสาบานว่า แน่นอนเราได้สร้างมนุษย์มาจากธาตุแท้ของดิน แล้วเราทำให้เขาเป็นเชื้ออสุจิ อยู่ในที่พักอันมั่นคง (คือมดลูก) แล้วเราได้ทำให้เชื้ออสุจิกลายเป็นก้อนเลือดแล้วเราได้ทำให้ก้อนเลือดกลายเป็นก้อนเนื้อแล้วเราได้ทำให้ก้อนเนื้อกลายเป็นกระดูก แล้วเราหุ้มกระดูกนั้นด้วยเนื้อ แล้วเราได้เป่าวิญญาณให้เขากลายเป็นอีกรูปร่างหนึ่ง ดังนั้นอัลลอฮ์ทรงจำเริญยิ่ง ผู้ทรงเลิศแห่งปวงผู้สร้าง" (คัมภีร์กุรอาน, 23:12-14)

    ซึ่งเมื่อพิจารณาตามตัวอักษรแล้ว ในภาษาอารบิก คำว่า alaqah นั้น มีอยู่ 3 ความหมาย ได้แก่ (1) ปลิง (2) สิ่งแขวนลอย และ (3) ลิ่มเลือด

    ในการเปรียบเทียบปลิงกับตัวอ่อนในระยะที่เป็น alaqah นั้น เราได้พบความคล้ายกันระหว่างสองสิ่งนี้ (ดู The Developing Human ของ Moore และ Persaud ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 8) ซึ่ง เราสามารถดูได้จากรูปที่ 1 นอกจากนี้ ตัวอ่อนที่อยู่ในระยะดังกล่าวจะได้รับการหล่อเลี้ยงจากเลือดของมารดา ซึ่งคล้ายกับปลิงซึ่งได้รับอาหารจากเลือดที่มาจากผู้อื่น (ดู Human Development as Described in the Quran and Sunnah ของ Moore และคณะ หน้า 36)

    รูปที่ 1: ภาพวาดดังกล่าวอธิบายให้เห็นความคล้ายกันของรูปร่างระหว่างปลิงกับตัวอ่อนมนุษย์ในระยะที่เป็น alaqah (รูปวาดปลิงมาจากหนังสือเรื่อง Human Development as Described in the Quran and Sunnah ของ Moore และคณะ หน้า 37 ดัดแปลงมาจาก Integrated Principles of Zoology ของ Hickman และคณะ ภาพตัวอ่อนวาดมาจากหนังสือเรื่อง The Developing Human ของ Moore และ Persaud ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 73)

    ความหมายที่สองของคำว่า alaqah คือ “สิ่งแขวนลอย" ซึ่งเราสามารถดูได้จากรูปที่ 2 และ 3 สิ่งแขวนลอยของตัวอ่อน ในช่วงระยะ alaqah ในมดลูกของมารดา

    รูปที่ 2 : ในภาพนี้ เราจะเห็นภาพของตัวอ่อน ซึ่งเป็นสิ่งแขวนลอยในช่วงระยะที่เป็น alaqah อยู่ในมดลูก (ครรภ์) ของมารดา (มาจากเรื่องThe Developing Human ของ Moore และ Persaud ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 66)

    ความหมายที่สามของคำว่า alaqah คือ “ลิ่มเลือด" เราพบว่าลักษณะภายนอกของตัวอ่อนและส่วนที่เป็นถุงในช่วงระยะ alaqah นั้น จะดูคล้ายกับลิ่มเลือด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า มีเลือดอยู่ในตัวอ่อนค่อนข้างมากในช่วงระยะดังกล่าว (Human Development as Described in the Quran and Sunnah ของมัวร์และคณะ หน้า 37-38) (ดูรูปที่ 4) อีกทั้งในช่วงระยะดังกล่าว เลือดที่มีอยู่ในตัวอ่อนจะไม่หมุนเวียนจนกว่าจะถึงปลายสัปดาห์ที่สาม (The Developing Human ของ Moore และ Persaud ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 65) ดังนั้น ตัวอ่อนในระยะนี้จึงดูเหมือนลิ่มเลือดนั่นเอง.

    รูปที่ 4: เป็นแผนภูมิระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดหัวใจพอสังเขปในตัวอ่อนในช่วง ระยะ alaqah ซึ่งลักษณะภายนอกของตัวอ่อนและส่วนที่เป็นถุงของตัวอ่อนจะดูคล้ายกับลิ่มเลือด เนื่องจากมีเลือดอยู่ค่อนข้างมากในตัวอ่อน (The Developing Human ของ Moore ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 65)

    ดังนั้น ทั้งสามความหมายของคำว่า alaqah นั้น ตรงกับลักษณะของตัวอ่อนในระยะ alaqah เป็นอย่างยิ่ง

    ในระยะต่อมาที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ ก็คือ ระยะ mudghah ในภาษาอารบิกคำว่า mudghah หมายความว่า “สสารที่ถูกขบเคี้ยว" ถ้าคนใดได้หมากฝรั่งมาชิ้นหนึ่ง และใส่ปากเคี้ยว จากนั้นลองเปรียบเทียบหมากฝรั่งกับตัวอ่อนที่อยู่ในช่วงระยะ mudghah เราจึงสรุปได้ว่าตัวอ่อนในช่วงระยะ mudghah จะมีลักษณะเหมือนสสารที่ถูกขบเคี้ยว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ไขสันหลังที่อยู่ด้านหลังของตัวอ่อนมีลักษณะ “ค่อนข้างคล้ายกับร่องรอยของฟันบนสสารที่ถูกขบเคี้ยว “ (ดูรูปที่ 5 และ 6) (The Developing Human ของ Moore และ Persaud ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 8)

    รูป ที่ 5: ภาพถ่ายของตัวอ่อนในช่วงระยะ mudghah (อายุ 28 วัน) ตัวอ่อนในระยะนี้จะมีลักษณะเหมือนสสารที่ถูกขบเคี้ยว เนื่องจากไขสันหลังที่อยู่ด้านหลังของตัวอ่อนมีลักษณะค่อนข้างคล้ายกับร่อง รอยของฟันบนสสารที่ถูกขบเคี้ยว ขนาดที่แท้จริงของตัวอ่อนจะมีขนาด 4 มิลลิเมตร (จากเรื่อง The Developing Human ของ Moore และ Persaud ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 82 ของศาสตราจารย์ Hideo Nishimura มหาวิทยาลัยเกียวโต ในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น)

    รูป ที่ 6: เมื่อเปรียบเทียบลักษณะของตัวอ่อนในช่วงระยะ mudghah กับหมากฝรั่งที่เคี้ยวแล้ว เราจะพบกับความคล้ายคลึงระหว่างทั้งสองสิ่งนี้ A) รูปวาดของตัวอ่อนในช่วงระยะ mudhah เราจะเห็นไขสันหลังที่ด้านหลังของตัวอ่อน ซึ่งดูเหมือนลักษณะร่องรอยของฟัน (จากเรื่อง(The Developing Human ของ Moore และ Persaud ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 79) B) รูปถ่ายหมากฝรั่งที่เคี้ยวแล้ว

    มุหัมมัด ทราบได้อย่างไรถึงเรื่องราวทั้งหมดนี้เมื่อ 1400 ปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะค้นพบเรื่องนี้เมื่อไม่นานมานี้เอง โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัยและกล้องจุลทรรศน์ความละเอียดสูง ซึ่งยังไม่มีใช้ในสมัยก่อน Hamm และ Leeuwenhoek คือนักวิทยาศาสตร์สองคนแรกที่สังเกตเซลล์อสุจิของมนุษย์ (สเปอร์มมาโตซัว) ด้วยการใช้กล้องจุลทรรศน์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2220 (หลังมุหัมมัด กว่า 1000 ปี) พวกเขาเข้าใจผิดคิดว่าเซลล์อสุจิเหล่านั้นประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งจะก่อตัวเป็นมนุษย์ โดยจะเจริญเติบโตเมื่อฝังตัวลงในอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง (The Developing Human ของ Moore และ Persaud ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 9)

    ศาสตาจารย์กิตติมศักดิ์ Emeritus Keith L. Moore หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขากายวิภาควิทยาและวิชาว่าด้วยการศึกษาตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิต อีกทั้งยังเป็นผู้แต่งหนังสือที่ชื่อว่า Developing Human ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้นำไปแปลถึงแปดภาษา หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ใช้สำหรับอ้างอิงงานทางวิทยาศาสตร์ และยังได้รับเลือกจากคณะกรรมการพิเศษของสหรัฐอเมริกาให้เป็นหนังสือที่ดีที่สุดที่แต่งขึ้นโดยบุคคลเพียงคนเดียว Dr. Keith Moore เป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์แห่งภาควิชากายวิภาควิทยาและเซลล์ชีววิทยา ที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ณ ที่แห่งนั้น เขาดำรงตำแหน่งรองคณบดีสาขาวิทยาศาสตร์มูลฐานของคณะแพทย์ศาสตร์ และดำรงตำแหน่งประธานแผนกกายวิภาควิทยาเป็นเวลา 8 ปี ในปีพ.ศ. 2527 เขาได้รับรางวัลที่น่าชื่นชมที่สุดในสาขากายวิภาคของประเทศแคนาดา นั่นคือรางวัล J.C.B Grant Award จากสมาคมนักกายวิภาควิทยาแคนาดา (Canadian Association of Anatomists) เขาได้กำกับดูแลสมาคมนานาชาติต่างๆ มากมาย เช่น สมาคมนักกายวิภาควิทยาแคนนาดาและอเมริกา (Canadian and American Association of Anatomists) และ สภาสหภาพวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Council of the Union of Biological Sciences) เป็นต้น.

    ใน ปีพ.ศ 2524 ระหว่างการประชุมด้านการแพทย์ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองดัมมาม ประเทศซาอุดิอาระเบีย ศาสตราจารย์ Moore ได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้ที่ได้ช่วยให้เรื่องราวต่างๆ ที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์กุรอานเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ให้มีความชัดเจน อีกทั้งยังทำให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจอย่างกระจ่างชัดว่าคำกล่าวเหล่านี้ต้องมาจากพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าโดยผ่านทางมุหัมมัด เพราะว่าความรู้เกือบทั้งหมดนี้ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อนจนกระทั่งอีกหลายศตวรรษต่อมา สิ่งนี้พิสูจน์ให้ข้าพเจ้าเห็นว่ามุหัมมัดจะต้องเป็นผู้ถือสารจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างแน่นอน" (การอ้างอิงคำกล่าวนี้ This is the Truth (วีดีโอเทป) ที่ : http://www.islam-guide.com/th/video/moore-1.ram)

    ต่อมา ศาสตราจารย์ Moore ได้ถูกตั้งคำถามดังต่อไปนี้ หมายความว่า ท่านมีความเชื่อว่าพระคัมภีร์กุรอานนั้นเป็นพระดำรัสจากพระผู้เป็นเจ้าจริงหรือไม่ เขาตอบว่า “ข้าพเจ้ายอมรับสิ่งดังกล่าวนี้ได้อย่างสนิทใจ" (อ้างจาก : This is the Truth (วีดีโอเทป) เพิ่งอ้าง)

    ใน ระหว่างการประชุมครั้งหนึ่ง ศาสตราจารย์ Moore ได้กล่าวว่า “…..เพราะว่าในช่วงระยะตัวอ่อนของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในระหว่างการพัฒนาของตัวอ่อน มีการเสนอว่าควรมีการพัฒนาระบบการแบ่งประเภทตัวอ่อนใหม่โดยใช้คำศัพท์ที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์กุรอานและซุนนะฮฺ (Sunnah คือ สิ่งที่ศาสนทูตมุหัมมัด ได้พูด กระทำ หรือยอมรับ) ระบบที่เสนอนี้ดูเรียบง่าย ครอบคลุมทุกด้านและสอดคล้องกับความรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนาของตัวอ่อนในปัจจุบัน แม้ว่า อริสโตเติล (Aristotle) ผู้ก่อตั้งวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิต ยังเชื่อว่าการพัฒนาตัวอ่อนของลูกไก่นั้นแบ่งออกเป็นหลายระยะ จากการศึกษาไข่ไก่เมื่อศตวรรษที่สี่หลังคริสตศักราช ซึ่งเขาไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับระยะต่างๆ เหล่านั้นเลย เท่าที่ทราบมาจากประวัติการศึกษาเกี่ยวกับตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิต มีเรื่องระยะและการแยกประเภทของตัวอ่อนมนุษย์อยู่น้อยมาก จนกระทั่งมาถึงศตวรรษที่ยี่สิบนี้"

    ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในศตวรรษที่เจ็ด คำอรรถาธิบายเกี่ยวกับตัวอ่อนมนุษย์ในพระคัมภีร์กุรอานนั้น ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ได้ มีเพียงบทสรุปที่พอจะมีเหตุผลเดียวก็คือ คำอรรถาธิบายเหล่านี้ ได้ถูกเปิดเผยโดยพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งทรงประทานแก่มุหัมมัด ท่านไม่ทราบรายละเอียดต่างๆ เพราะว่าเป็นคนที่ไม่รู้หนังสือ อีกทั้งไม่เคยฝึกฝนด้านวิทยาศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น (This is the Truth , อ้างแล้ว)

    ข) พระคัมภีร์กุรอานที่ว่าด้วยเทือกเขา

    หนังสือที่ชื่อว่า Earth เป็นตำราที่ใช้อ้างอิงเป็นหลักในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลก หนังสือเล่มนี้มีผู้แต่งสองท่าน หนึ่งในนั้นได้แก่ ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ Frank Press เขาเป็นที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ให้กับอดีตประธานาธิบดี Jimmy Carter และเป็นประธานสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Academy of Science) ในกรุงวอชิงตัน ดีซี เป็นเวลา 12 ปี หนังสือของเขากล่าวว่า เทือกเขาจะมีรากฝังอยู่ใต้พื้นดิน (ดู Earth ของ Press และ Siever, หน้า 435 และดูที่ Earth Science ของ Tarbuck และ Lutgens, หน้า 157) รากเหล่านี้ฝังลึกอยู่ใต้พื้นดิน ดังนั้น เทือกเขาจึงมีรูปทรงเหมือนกับสลัก (ดูรูปที่ 7,8 และ 9)

    รูปที่ 7: เทือกเขาจะมีรากฝังลึกอยู่ใต้พื้นดิน (Earth, Press และ Siever หน้า 413)

    รูปที่ 8: ส่วนที่เป็นแผนผัง เทือกเขาที่มีรูปร่างเหมือนสลัก จะมีรากลึกฝังแน่นอยู่ใต้พื้นดิน (Anatomy of the Earth ของ Cailleux หน้า 220)

    รูปที่ 9:อีกภาพหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นว่าเทือกเขาเหล่านั้นมีรูปทรงเหมือนสลักได้อย่างไร เนื่องจากเทือกเขาเหล่านี้มีรากฝังลึก (Earth Science ของ Tarbuck และ Lutgens, หน้า 158)

    นี่คือการอรรถาธิบายถึงเทือกเขาต่างๆ ว่ามีรูปทรงอย่างไรในพระคัมภีร์กุรอาน พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสไว้ในพระคัมภีร์กุรอานดังนี้:

    ความว่า "เรามิได้ทำให้แผ่นดินเป็นพื้นราบดอกหรือ ? และมิได้ให้เทือกเขาเป็นหลักตรึงไว้ดอกหรือ" (พระคัมภีร์กุรอาน, 78:6-7)

    วิทยาศาสตร์ว่าด้วยพื้นโลกในยุคใหม่นี้ ได้ทำการพิสูจน์แล้วว่า เทือกเขาต่างๆ จะมีรากฝังลึกอยู่ใต้พื้นผิวของพื้นดิน (ดูรูปที่ 9) และรากเหล่านั้นสามารถเลื่อนระดับขึ้นมาอยู่เหนือพื้นดินได้หลายครั้ง (The Geological Concept of Mountains in the Quran ของ El-Naggar หน้า 5) ดังนั้น คำที่เหมาะสมที่สุดที่ใช้อธิบายเทือกเขาเหล่านี้โดยอาศัยพื้นฐานข้อมูลเหล่า นี้ก็คือ คำว่า 'สลัก' เนื่องจากรากส่วนใหญ่จะถูกซ่อนอยู่ใต้พื้นดิน ประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ได้บอกกับเราว่า ทฤษฏีว่าด้วยเทือกเขาที่มีรากฝังลึกนั้น เพิ่งเป็นที่รู้จักเมื่อครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเก้านี่เอง (The Geological Concept of Mountains in the Quran หน้า 5)

    เทือกเขายังมีบทบาทที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งด้วย นั่นคือให้ความมั่นคงแข็งแรงกับเปลือกโลก (The Geological Concept of Mountains in the Quran หน้า 44-45) โดยช่วยยับยั้งการสั่นสะเทือนของโลกได้ พระผู้เป็นเจ้าตรัสไว้ในพระคัมภีร์กุรอานดังนี้:

    ความว่า "และพระองค์ทรงให้มีเทือกเขามั่นคงในแผ่นดิน เพื่อมิให้มันสั่นสะเทือนแก่พวกเจ้า.." (พระคัมภีร์กุรอาน, 16:15)

    นอกจากนั้น ทฤษฏีสมัยใหม่ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนตัวของแผ่นโลกนั้นเชื่อว่า เทือกเขาต่างๆ ทำงานเสมือนกับเครื่องมือสำหรับสร้างความแข็งแกร่งให้กับโลก ความรู้เกี่ยวกับบทบาทของเทือกเขาที่ทำหน้าที่เสมือนเครื่องมือที่ช่วยสร้าง ความแข็งแกร่งให้กับโลกนั้นเพิ่งเป็นที่เข้าใจกันเนื่องจากมีทฤษฎีการ เคลื่อนตัวของแผ่นโลกเมื่อทศวรรษ 2503 (The Geological Concept of Mountains in the Quran หน้า 5)

    มีใครบ้างไหมในช่วงเวลาของศาสนทูตมุหัมมัด ที่ทราบเกี่ยวกับรูปทรงที่แท้จริงของเทือกเขา มีใครบ้างไหมที่สามารถจินตนาการได้ว่า ภูเขาที่ดูแข็งแกร่งมหึมาที่เขาเห็นอยู่ตรงหน้านั้น แท้จริงแล้วฝังลึกลงไปใต้พื้นโลก และยังมีรากด้วย อย่างที่นักวิทยาศาสตร์ได้กล่าวอ้างไว้ หนังสือเกี่ยวกับธรณีวิทยาจำนวนมาก เมื่อมีการกล่าวถึงเทือกเขา ก็จะอธิบายแต่ส่วนที่อยู่เหนือพื้นผิวโลกเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหนังสือเหล่านี้ไม่ได้เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านธรณีวิทยา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ธรณีวิทยาสมัยใหม่ได้ช่วยยืนยันความเป็นจริงของโคลงบทต่างๆ ที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์กุรอานแล้ว

    ค) พระคัมภีร์กุรอานว่าด้วยจุดกำเนิดของจักรวาล

    วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่ว่าด้วยจักรวาลวิทยา ซึ่งมาจากการสังเกตและจากทฤษฏี ชี้ให้เห็นได้อย่างแน่ชัดว่า ครั้งหนึ่งทั้งจักรวาลนั้นว่างเปล่า จะมีก็แต่ก้อน 'กลุ่มควัน' (เช่น กลุ่มควันซึ่งประกอบด้วยก๊าซร้อนมืดครึ้มที่ปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น) (The First Three Minutes, a Modern View of the Origin of the Universe ของ Weinberg หน้า 94-105) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการที่ไม่สามารถโต้แย้งได้เกี่ยวกับวิชาจักรวาลวิทยา สมัยใหม่ที่มีมาตรฐาน ในปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์สามารถเฝ้าสังเกตเห็นดวงดาวใหม่ๆ ที่กำลังก่อตัวขึ้นจากเศษ 'กลุ่มควัน' ที่หลงเหลืออยู่ (ดูรูปที่ 10 และ 11)

    รูปที่ 10:ดาวดวงใหม่ที่กำลังก่อตัวจากกลุ่มก๊าซและฝุ่นละออง (เนบิวลา) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 'กลุ่มควัน' ที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งถือว่าเป็นจุดกำเนิดของทั้งจักรวาล (The Space Atlas ของ Heather และ Henbest หน้า 50)

    รูปที่ 11: ลากูนเนบิวลา คือ กลุ่มของก๊าซและละอองฝุ่น ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 ปีแสง ซึ่งเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยรังสีอุลตร้าไวโอเล็ตของดาวที่มีแต่ความร้อน ซึ่งเพิ่งก่อตัวขึ้นภายในใจกลางเนบิวลา (Horizons, Exploring the Universe โดย Seeds จาก Association of Universities for Research in Astronomy, Inc.X)

    บรรดาดวงดาวที่ทอแสงระยิบระยับให้เราเห็นในเวลาค่ำคืนนั้น เป็นเพียงกลุ่มควันกลุ่มหนึ่งในจักรวาลเท่านั้น พระผู้เป็นเจ้าตรัสไว้ในพระคัมภีร์กุรอานดังนี้:

    ความว่า "แล้วพระองค์ทรงมุ่งสู่ฟากฟ้าขณะที่มันเป็นไอหมอก... " (พระคัมภีร์กุรอาน , 41:11)

    เนื่องจากพื้นโลกและท้องฟ้าเบื้องบน (ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ดาวพระเคราะห์ กาแล็กซี่ และอื่นๆ) ทั้งหมดได้ก่อตัวมาจาก 'กลุ่มควัน' กลุ่มเดียวกัน เราจึงพอสรุปได้ว่า พื้นโลกและท้องฟ้านั้นเชื่อมต่อกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว จากนั้นจึงโคจรออกมาจาก 'กลุ่มควัน' กลุ่มเดียวกัน แล้วจึงก่อตัวและแยกตัวออกจากกัน พระผู้เป็นเจ้าตรัสไว้ในพระคัมภีร์กุรอานดังนี้:

    ความว่า "และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้นไม่เห็นดอกหรือว่า แท้จริงชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนั้นแต่ก่อนนี้รวมติดเป็นอันเดียวกัน แล้วเราได้แยกมันทั้งสองออกจากกัน?..." (Quran, 21:30)

    Dr. Alfred Kroner หนึ่งในนักธรณีวิทยาที่มีชื่อเสียงก้องโลก ท่านเป็นศาสตราจารย์ในสาขาธรณีวิทยาและประธานแผนกธรณีวิทยาของสถาบันวิทยา ศาสตร์ธรณี มหาวิทยาลัยโจฮันเนส กุตเทนเบอร์ก (Johannes Gutenberg University) ในเมืองไมนซ์ ประเทศเยอรมันนี เขากล่าวว่า “คิดดูซิว่า มุหัมมัดมาจากที่ใด...ข้าพเจ้าคิดว่าแทบเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะล่วงรู้ในสิ่งต่างๆ เช่น การเกิดของจักรวาล เพราะว่านักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเพิ่งจะค้นพบเรื่องนี้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง โดยใช้วิธีการทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยและซับซ้อน นั่นก็คือเหตุผลสนับสนุนดังกล่าว" (อ้างอิงคำกล่าวนี้จาก This is the Truth (วีดีโอเทป) อ้างแล้ว)

    เขายังกล่าวอีกด้วยว่า “ข้าพเจ้าคิดว่า คนที่ไม่เคยรู้เกี่ยวกับวิชาฟิสิกส์ซึ่งว่าด้วยเรื่องของนิวเคลียร์เมื่อ หนึ่งพันสี่ร้อยปีที่ผ่านมาก็จะไม่สามารถรู้ด้วยความนึกคิดของเขาเองได้ว่า พื้นโลกและชั้นฟ้านั้นต่างก่อกำเนิดมาจากที่เดียวกัน" (This is the Truth (วีดีโอเทป) อ้างแล้ว)

    ง) พระคัมภีร์กุรอานว่าด้วยสมองส่วนหน้าของมนุษย์

    พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสไว้ในพระคัมภีร์กุรอานถึงคนผู้หนึ่งในกลุ่มของผู้ไร้ความศรัทธาในศาสนาโดยสิ้นเชิง เข้ามาขัดขวางมุหัมมัด ไม่ให้ทำละหมาดในวิหารกะอฺบะฮฺ (Kaaba):

    ความว่า "มิใช่เช่นนั้น ถ้าเขายังไม่หยุดยั้ง เราจะจิกเขาที่ขม่อมอย่างแน่นอน ขม่อมที่โกหกที่ประพฤติชั่ว!" (พระคัมภีร์กุลอาน, 96:15-16)

    ทำไมพระคัมภีร์กุรอานจึงได้อธิบายบริเวณศรีษะส่วนหน้าว่าเปรียบเสมือนส่วนที่เต็มไปด้วยบาปและความตลบตะแลง ทำไมพระคัมภีร์กุรอานจึงไม่กล่าวว่าบุคคลนั้นเต็มไปด้วยบาปและความตลบตะแลง มีความสัมพันธ์กันอย่างไรระหว่างบริเวณศรีษะส่วนหน้ากับบาปกรรมและความตลบตะแลง?

    ถ้าเรามองเข้าไปในกระโหลกศีรษะส่วนหน้า เราจะพบบริเวณสมองส่วนหน้า (ดูรูปที่ 12) วิชาว่าด้วยสรีระวิทยาบอกกับเราว่าบริเวณนี้มีหน้าที่อะไรบ้าง ในหนังสือที่ชื่อว่า Essentials of Anatomy & Physiology ได้กล่าวถึงบริเวณนี้ไว้ว่า “แรงบันดาลใจและการคาดการณ์ล่วงหน้าในการวางแผนและการสั่งให้ร่างกายเคลื่อนไหวนั้น เกิดจากกลีบสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ด้านหน้าสุด และเป็นบริเวณศูนย์รวมของเยื่อหุ้มสมอง..." (Essentials of Anatomy & Physiology ของ Seeley และคณะ หน้า 211 และดูที่ The Human Nervous System ของ Noback และคณะ หน้า 410-411)

    ในตำราเล่มนั้นยังกล่าวอีกว่า “เนื่องจากว่าบริเวณที่อยู่ด้านหน้าสุดนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างแรงบันดาลใจ จึงมีการคิดกันว่าบริเวณส่วนนี้เป็นศูนย์กลางที่ก่อให้เกิดความรุนแรง...." (Essentials of Anatomy & Physiology ของ Seeley และคณะ หน้า 211)

    รูปที่ 12:บริเวณสั่งการของเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าซีกซ้าย บริเวณด้านหน้าจะอยู่ตรงด้านหน้าเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้า (Essentials of Anatomy & Physiology ของ Seeley และคณะ หน้า 210)

    ดังนั้นบริเวณของสมองส่วนหน้านี้จึงมี หน้าที่วางแผน สร้างแรงจูงใจ และริเริ่มให้เกิดการกระทำดีหรือชั่ว อีกทั้งยังทำหน้าที่ในการโป้ปดมดเท็จและบอกเล่าความจริง ดังนั้น จึงจะเหมาะสมกว่าหากอธิบายว่าบริเวณศรีษะส่วนหน้านั้นเปรียบเสมือนส่วนที่เต็มไปด้วยบาปและความตลบตะแลง เมื่อมีผู้ใดโกหกหรือกระทำสิ่งที่เป็นบาป อย่างที่พระคัมภีร์กุรอานได้กล่าวไว้ว่า “naseyah (บริเวณส่วนหน้าของศีรษะ) ที่เต็มไปด้วยความตลบตะแลงและบาปกรรม!"

    นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะค้นพบการทำหน้าที่ต่างๆ ของบริเวณสมองส่วนหน้าเมื่อหกสิบปีที่ผ่านมานี่เอง โดยศาสตราจารย์ Keith L. Moore (Al-Ejaz al-Elmy fee al-Naseyah ของ Moore และคณะ หน้า 41)

    จ) พระคัมภีร์กุรอานว่าด้วยทะเลและแม่น้ำ

    วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้ค้นพบว่า ในสถานที่ซึ่งทะเลสองสายมาบรรจบกัน จะเกิดสิ่งขวางกั้นทะเลทั้งสองไว้ โดยที่สิ่งขวางกั้นดังกล่าวนี้จะแบ่งทะเลทั้งสองออกจากกัน เพื่อที่ว่าทะเลแต่ละสายจะได้มีอุณหภูมิ ความเข้มและความหนาแน่นเป็นของตนเอง (Principles of Oceanography ของ Davis หน้า 92-93) ตัวอย่างเช่น น้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจะอุ่น เค็ม และมีความหนาแน่นน้อยเมื่อเทียบกับน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหนุนเข้าไปในมหาสมุทรแอตแลนติค โดยผ่านทางสันดอนยิบรอลตาร์ (Gibraltar) มันจะไหลไปเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรหนุนเข้าไปในมหาสมุทรแอตแลนติกที่ ความลึกประมาณ 1000 เมตร โดยพาความอุ่น ความเค็ม และความหนาแน่นที่น้อยกว่าของมันเองไปด้วย น้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจะคงที่อยู่ที่ความลึกดังกล่าวนี้ (Principles of Oceanography ของ Davis หน้า 93) (ดูรูปที่ 13)



    รูปที่ 13:น้ำ จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนขณะที่หนุนเข้าไปในมหาสมุทรแอตแลนติกโดยผ่านทาง สันดอนยิบรอลตาร์ ซึ่งจะพาความอุ่น ความเค็มและความหนาแน่นที่น้อยกว่าเข้าไปด้วยเนื่องมาจากแนวสันดอนที่กั้นอยู่แบ่งแยกความแตกต่างระหว่างทะเลทั้งสอง อุณหภูมิจะนับเป็นองศาเซลเซียส (Marine Geology ของ Kuenen หน้า 43 ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติมเล็กน้อย)

    แม้ว่าจะมีคลื่นลูกใหญ่ กระแสน้ำที่เชี่ยวกราก และระดับน้ำขึ้นลงสูงเพียงใดในทะเลดังกล่าว ทะเลทั้งสองก็จะไม่มีโอกาสที่จะรวมกันหรือรุกล้ำสิ่งขวางกั้นนี้ไปได้

    พระคัมภีร์กุรอานได้กล่าวไว้ว่า มีสิ่งขวางกั้นระหว่างทะเลทั้งสองที่มาบรรจบกัน และทะเลทั้งสองจะไม่สามารถรุกล้ำผ่านไปได้ พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า:

    ความว่า "พระองค์ทรงทำให้น่านน้ำทั้งสองไหลมาบรรจบกันระหว่างมันทั้งสองมีที่กั้นกีดขวาง มันจะไม่ล้ำเขตต่อกัน" (พระคัมภีร์กุรอาน, 55:19-20)

    แต่เมื่อพระคัมภีร์กุรอานกล่าวถึงเรื่องราว ระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม พระคัมภีร์มักจะกล่าวว่าจะมี “เขตหวงห้าม" โดยมีสิ่งขวางกั้นไม่ให้น้ำทั้งสองรวมกันได้ พระผู้เป็นเจ้าตรัสไว้ในพระคัมภีร์กุรอานดังนี้:

    ความว่า "และพระองค์คือผู้ทรงทำให้ทะเลทั้งสองบรรจบติดกัน อันนี้จืดสนิทและอันนี้เค็มจัดและทรงทำที่คั่นระหว่างมันทั้งสอง และที่กั้นขวางอันแน่นหนา" (พระคัมภีร์อัลกุรอาน, 25:53)

    อาจมีใครบางคนถามว่า ทำไมพระคัมภีร์อัลกุรอานจึงกล่าวถึงการแบ่งเขต เมื่อพูดถึงเรื่องสิ่งที่แบ่งแยกระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม แต่ไม่กล่าวถึงการแบ่งเขตดังกล่าวเมื่อพูดถึงสิ่งที่แบ่งแยกระหว่างทะเลสองสาย?

    วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้ค้นพบว่าในบริเวณปากแม่น้ำ ที่ซึ่งน้ำจืดและน้ำเค็มมาบรรจบกันนั้น สถานภาพจะค่อนข้างแตกต่างจากสิ่งที่ได้พบในสถานที่ซึ่งทะเลสองสายมาบรรจบกัน โดยพบว่าสิ่งที่แยกน้ำจืดออกจากน้ำเค็มในบริเวณปากแม่น้ำนั้นคือ “เขตที่น้ำเปลี่ยนแปลงความหนาแน่น โดยที่ความหนาแน่นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนจะเป็นสิ่งที่แยกน้ำสองสายนี้ออกเป็นสองชั้น" (Oceanography ของ Gross หน้า 242 และดูที่ Introductory Oceanography ของ Thurman หน้า 300-301)

    การแบ่งเขตดังกล่าวนี้ (เขตการแบ่งแยก) จะมีความแตกต่างในเรื่องของความเค็มระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็ม (Oceanography ของ Gross หน้า 244 และ Introductory Oceanography ของ Thurman หน้า 300-301) (ดูรูปที่ 14)

    รูปท 14:ส่วนที่เป็นเส้นตั้งตรง แสดงให้เห็นถึงความเค็ม (ส่วน ต่อ หนึ่งพันเปอร์เซ็นต์) ในบริเวณปากแม่น้ำ เราจะเห็นการแบ่งเขต (เขตการแบ่งแยก) ที่กั้นระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม (Introductory Oceanography ของ Thurman หน้า 301 ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติมเล็กน้อย)

    ข้อมูลดังกล่าวได้ถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ โดยการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการวัดอุณหภูมิ ความเค็ม ความหนาแน่น ออกซิเจนที่ไม่ละลายน้ำ และอื่นๆ ด้วยสายตาของมนุษย์จะไม่สามารถมองเห็นความแตกต่างระหว่างการมาบรรจบกันของทะเลทั้งสองสายได้ ซึ่งทะเลทั้งสองที่ปรากฏต่อหน้าเรานั้นดูเหมือนเป็นทะเลพื้นเดียวกัน เช่นเดียวกันที่สายตาของมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นการแยกกันของน้ำในบริเวณปากแม่น้ำที่ผสมผสานกันของน้ำ 3 ชนิด ได้แก่ น้ำจืด น้ำเค็ม และการแบ่งเขต (เขตการแบ่งแยก)

    ฉ) พระคัมภีร์กุรอานว่าด้วยทะเลลึกและคลื่นใต้น้ำ:

    พระผู้เป็นเจ้าตรัสไว้ในพระคัมภีร์กุรอานดังนี้:

    ความว่า "หรือ เปรียบเสมือนความมืดมนทั้งหลายในท้องทะเลลึก มีคลื่นซ้อนคลื่นท่วมมิดตัวเขา และเบื้องบนของมันก็มีเมฆหนาทึบซ้อนกันชั้นแล้วชั้นเล่า เมื่อเขาเอามือของเขาออกมา เขาแทบจะมองไม่เห็นมัน..." (พระคัมภีร์กุรอาน, 24:40)

    โองการบทนี้กล่าวถึงความมืดทึบที่พบในมหาสมุทร และทะเลลึก สถานที่ซึ่งถ้ามนุษย์ยื่นมือออกไปจนสุดเอื้อม เขาจะไม่สามารถมองเห็นมือของตนเองได้ ความมืดทึบของมหาสมุทรและทะเลลึกนั้นค้นพบว่าอยู่ลึกลงไปประมาณ 200 เมตรและลึกลงไปกว่านั้น ณ ที่ความลึกดังกล่าว เกือบจะไม่มีแสงสว่างส่องผ่านลงไปได้เลย (ดูรูปที่ 15) ระดับความลึกที่ต่ำกว่า 1000 เมตร จะไม่มีแสงใด ๆ ทั้งสิ้น (Oceans ของ Elder และ Pernetta หน้า 27) มนุษย์จะไม่สามารถดำลึกลงไปได้มากกว่าสี่สิบเมตร โดยไม่ใช้เรือดำน้ำหรืออุปกรณ์พิเศษช่วยเหลือ มนุษย์จะไม่สามารถรอดชีวิตกลับขึ้นมาได้ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือเมื่ออยู่ในส่วนที่มืดลึกของมหาสมุทร เช่น ในความลึกที่ 200 เมตร เป็นต้น

    รูปที่ 15:ประมาณ 3 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของแสงอาทิตย์จะสะท้อนบนผิวหน้าของท้องทะเล จากนั้น เกือบทั้งหมดของแสงทั้งเจ็ดสีจะถูกดูดซับหายไปที่ละสีๆ ในระยะ 200 เมตรแรก ยกเว้นไว้แต่แสงสีน้ำเงิน (Oceans ของ Elder และ Pernetta หน้า 27)

    นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบความมืดทึบดังกล่าว เมื่อไม่นานมานี้ โดยใช้เครื่องมือพิเศษและเรือดำน้ำ ซึ่งสามารถนำพวกเขาดำลงสู่ก้นลึกของมหาสมุทรได้

    อีกทั้งเรายังสามารถเข้าใจได้จากประโยคต่าง ๆ ต่อไปนี้ที่มีอยู่ในโคลงที่กล่าวมาแล้ว “…ภายใต้ท้องทะเลลึก ปกคลุมไปด้วยเกลียวคลื่น เหนือขึ้นไปก็เป็นเกลียวคลื่น เหนือขึ้นไปก็เป็นกลุ่มเมฆ....." สายน้ำของมหาสมุทรและท้องทะเลลึกจะปกคลุมไปด้วยเกลียวคลื่น และที่อยู่เหนือเกลียวคลื่นเหล่านั้นก็คือเกลียวคลื่นลูกอื่นๆ จึงทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ชั้นที่สองที่เต็มไปด้วยเกลียวคลื่นจำนวนมากมายนั้นแท้จริงก็คือพื้นผิวของ คลื่นต่างๆ ที่เราเห็น เนื่องจากโองการบทดังกล่าวได้กล่าวว่าเหนือขึ้นไปจากคลื่นชั้นที่สองจะมีกลุ่มเมฆ แต่คลื่นชั้นแรกล่ะเป็นอย่างไร นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ว่า ยังมีคลื่นใต้น้ำซึ่ง “เกิดขึ้นเนื่องจากมีชั้นน้ำที่มีความหนาแน่นต่างกันมาประสานกัน" (Oceanography ของ Gross หน้า 205) (ดูรูปที่ 16)

    รูปท 16: คลื่นใต้น้ำบริเวณที่มีชั้นน้ำสองชั้นซึ่งมีความหนาแน่นต่างกันมาประสานกัน สายหนึ่งจะมีความหนาแน่นมากกว่า (สายที่อยู่ต่ำกว่า) ส่วนอีกสายหนึ่งจะมีความหนาแน่นที่น้อยกว่า (สายที่อยู่ด้านบน) (Oceanography ของ Gross หน้า 204)

    บรรดาคลื่นใต้น้ำจะปกคลุมสายน้ำใต้มหาสมุทร และท้องทะเลลึก เพราะว่าสายน้ำระดับลึกจะมีความหนาแน่นที่สูงกว่าสายน้ำที่อยู่เหนือกว่า คลื่นใต้น้ำนั้นกระทำหน้าที่เสมือนคลื่นที่อยู่บนผิวน้ำ คลื่นเหล่านั้นสามารถแตกสลายได้เช่นเดียวกับคลื่นที่อยู่บนผิวน้ำ คลื่นใต้น้ำจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่คลื่นเหล่านั้น สามารถตรวจจับได้ด้วยการตรวจหาอุณหภูมิหรือความเปลี่ยนแปลงของความเค็ม ณ สถานที่ที่กำหนด (Oceanography ของ Gross หน้า 205)

    ช) พระคัมภีร์กุรอานว่าด้วยกลุ่มเมฆ:

    นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาถึงรูปแบบต่างๆ ของกลุ่มเมฆ และทราบว่า เมฆฝนจะก่อตัวและมีรูปทรงไปตามระบบที่แน่นอนและตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเภทของลมและกลุ่มเมฆด้วย

    เมฆฝนชนิดหนึ่งก็คือ เมฆฝนฟ้าคะนอง นักอุตุนิยมวิทยาได้ศึกษาถึงวิธีการก่อตัวของเมฆฝนฟ้าคะนอง และวิธีการที่เมฆฝนประเภทนี้ก่อให้เกิดฝน ลูกเห็บ และฟ้าแลบ

    นักวิทยาศาสตร์พบว่า เมฆฝนฟ้าคะนองจะไปตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ เพื่อทำให้เกิดฝนตก:

    1) กลุ่มเมฆจะถูกผลักดันโดยกระแสลม เมฆฝนฟ้าคะนองจะเริ่มก่อตัวเมื่อกระแสลมผลักดันเมฆก้อนเล็กๆ (เมฆฝนฟ้าคะนอง) ไปยังบริเวณที่กลุ่มเมฆดังกล่าวนี้มาบรรจบกัน (ดูรูปที่ 17และ18)

    รูปที่ 17: จากภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า กลุ่มเมฆต่างๆ กำลังเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเพื่อไปบรรจบกันตรงบริเวณอักษร B, C และ D เครื่องหมายลูกศรจะบอกให้ทราบถึงทิศทางของกระแสลม (The Use of Satellite Pictures in Weather Analysis and Forecasting ของ Anderson และคณะ หน้า 188)

    รูปที่ 18:ชิ้น ส่วนขนาดเล็กของก้อนเมฆ (เมฆฝนฟ้าคะนอง) กำลังเคลื่อนตัวไปยังบริเวณที่จะมาบรรจบกันใกล้ ๆ กับเส้นขอบฟ้า ที่ซึ่งเราสามารถมองเห็นเมฆฝนฟ้าคะนองขนาดใหญ่ (Clouds and Storms ของ Ludlam ภาพที่ 7.4)

    2) การรวมกัน จากนั้นบรรดาเมฆก้อนเล็กๆ ก็จะมารวมกันเพื่อก่อตัวให้เป็นกลุ่มเมฆขนาดใหญ่ขึ้น (ดูที่ The Atmosphere ของ Anthes และคณะ หน้า 268-269 และElements of Meteorology ของ Miller และ Thompson หน้า 141) (ดูรูปที่ 18 และ 19)

    รูปที่ 19:(A) เมฆก้อนเล็กๆ ที่กระจัดกระจายกันอยู่ (เมฆฝนฟ้าคะนอง) (B) เมื่อเมฆก้อนเล็กๆ มารวมกัน กระแสอากาศไหลขึ้นในก้อนเมฆก็จะรุนแรงตามขึ้นไปด้วย จนกระทั่งก้อนเมฆมีขนาดใหญ่โตมาก จากนั้นก็กลั่นกลายกลับมาเป็นหยดน้ำ (The Atmosphere ของ Anthes และคณะ หน้า 269)

    3) การทับซ้อนกันเพิ่มมากขึ้น เมื่อก้อนเมฆขนาดเล็กรวมตัวเข้าด้วยกัน จากนั้นจะเคลื่อนตัวลอยขึ้นอากาศไหลขึ้นในก้อนเมฆก็จะรุนแรงตามขึ้นไปด้วย กระแสอากาศไหลขึ้นที่อยู่ใกล้กับบริเวณศูนย์กลางของก้อนเมฆนั้นจะมีความรุนแรงมากกว่ากระแสอากาศไหลขึ้นที่อยู่ใกล้กับบริเวณริมขอบของก้อนเมฆ (กระแสอากาศไหล ขึ้นที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางจะรุนแรงกว่า เนื่องจากบริเวณรอบนอกก้อนเมฆจะปกป้องกระแสลมเหล่านี้ไม่ให้ได้รับอิทธิพลของความเย็น) กระแสอากาศไหลขึ้นเหล่านี้ทำให้ส่วนกลางของก้อนเมฆขยายตัวขึ้นในแนวดิ่ง เพื่อที่ว่าก้อนเมฆจะได้ทับซ้อนกันมากขึ้นเรื่อยๆ (ดูรูปที่ 19 (B) 20 และ 21) การขยายตัวขึ้นในแนวดิ่งนี้เป็นเหตุให้ก้อนเมฆขยายตัวล้ำเข้าไปในบริเวณที่มีบรรยากาศเย็นกว่า จึงทำให้บริเวณนี้เป็นที่ก่อตัวของหยดน้ำและลูกเห็บ และเริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อหยดน้ำและลูกเห็บเหล่านี้มีน้ำหนักมากจนเกินกว่าที่กระแสอากาศไหลขึ้น จะสามารถอุ้มไว้ได้ มันจึงเริ่มกลั่นตัวออกมาจากก้อนเมฆแล้วตกลงมาเป็นฝน ลูกเห็บ และอื่นๆ (ดูที่ The Atmosphere ของ Anthes และคณะ หน้า 269 และElements of Meteorology ของ Miller และ Thompson หน้า 141-142)

    รูปที่ 20:เมฆฝนฟ้าคะนอง หลังจากที่ก้อนเมฆขยายตัวใหญ่ขึ้น น้ำฝนจึงกลั่นมาจากก้อนเมฆดังกล่าว (Weather and Climate ของ Bodin หน้า 123)

    รูปที่ 21: เมฆฝนฟ้าคะนอง (A Colour Guide to Clouds ของ Scorer และ Wexler หน้า 23)

    พระผู้เป็นเจ้าตรัสไว้ในพระคัมภีร์กุรอานดังนี้ :

    ความว่า "เจ้ามิได้เห็นดอกหรือว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงให้เมฆลอย แล้วทรงทำให้ประสานตัวกัน แล้วทรงทำให้รวมกันเป็นกลุ่มก้อน แล้วเจ้าก็จะเห็นฝนโปรยลงมาจากกลุ่มเมฆนั้น" (พระคัมภีร์กุรอาน, 24:43)

    โองการบทที่ได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ หลังจากที่ได้กล่าวถึงกลุ่มเมฆและฝน ได้พูดถึงลูกเห็บและฟ้าแลบดังนี้:

    ความว่า "และพระองค์ทรงให้มันตกลงมาจากฟากฟ้ามีขนาดเท่าภูเขา ในนั้นมีลูกเห็บ แล้วพระองค์จะทรงให้มันหล่นลงมาโดนผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์จะทรงให้มันผ่านพ้นไปจากผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ แสงประกายของสายฟ้าแลบเกือบจะเฉี่ยวสายตาผู้มอง" (พระคัมภีร์กุรอาน, 24:43)

    นักอุตุนิยมวิทยาได้พบว่า กลุ่มเมฆฝนฟ้าคะนองเหล่านี้ ซึ่งทำให้เกิดลูกเห็บโปรยปรายตกลงมานั้น จะอยู่ที่ระดับความสูง 25,000 ถึง 30,000 ฟุต (4.7 ถึง 5.7 ไมล์) (Elements of Meteorology ของ Miller และ Thompson หน้า 141) อย่างเช่น เทือกเขาต่าง ๆ ดังที่พระคัมภีร์กุรอานได้กล่าวไว้ “…และพระองค์ทรงให้มันตกลงมาจากฟากฟ้ามีขนาดเท่าภูเขา..." (ดูรูปที่ 21ข้างต้น )

    โองการบทนี้อาจก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมจึงกล่าวว่า “แสงประกายของสายฟ้า" เป็นการอ้างถึงลูกเห็บ เช่นนี้หมายความว่าลูกเห็บเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการก่อให้เกิดแสงฟ้าแลบ หรือ ขอให้เราดูหนังสือที่มีชื่อว่า Meteorology Today ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ หนังสือเล่มนี้กล่าวว่า ก้อนเมฆจะเกิดประจุไฟฟ้าขึ้น ขณะที่ลูกเห็บตกผ่านลงมายังบริเวณก้อนเมฆที่มีหยดน้ำเย็นจัดและก้อนผลึกน้ำแข็ง เมื่อหยดน้ำเกิดการกระทบกับลูกเห็บ หยดน้ำก็จะแข็งตัวในทันทีที่สัมผัสกับลูกเห็บ และปล่อยความร้อนแฝงออกมา สิ่งนี้ทำให้พื้นผิวของลูกเห็บอุ่นกว่าผลึกน้ำแข็งที่อยู่รายรอบ เมื่อลูกเห็บสัมผัสกับผลึกน้ำแข็ง ก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งขึ้น นั่นคือ กระแสไฟฟ้าจะไหลจากวัตถุที่เย็นกว่าไปยังวัตถุที่อุ่นกว่า ดังนี้ ลูกเห็บจึงกลายเป็นประจุไฟฟ้าลบ ปฏิกิริยาเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นเมื่อหยดน้ำเย็นจัดสัมผัสกับลูกเห็บและสะเก็ดขนาดเล็กที่แตกออกมาจากผลึกนำแข็งซึ่งมีประจุบวก อนุภาคของประจุไฟฟ้าบวกที่มีน้ำหนักเบาเหล่านี้ ในเวลาต่อมาจะถูกกระแสอากาศไหลขึ้นพัดพาขึ้นไปยังส่วนบนของก้อนเมฆ ลูกเห็บซึ่งมีประจุลบจะตกลงสู่บริเวณด้านล่างของก้อนเมฆ ดังนี้ ส่วนล่างของก้อนเมฆจะเปลี่ยนเป็นประจุไฟฟ้าลบ หลังจากนั้นประจุไฟฟ้าลบนี้จะถูกปล่อยออกมาเป็นแสงฟ้าแลบ (Meteorology Today ของ Ahrens หน้า 437) เราจึงพอสรุปปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ว่า ลูกเห็บนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดฟ้าแลบ

    ข้อมูลที่เกี่ยวกับแสงฟ้าแลบเหล่านี้ ได้ถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ อยู่มาจนถึงปี พ.ศ. 2143 ความคิดของอริสโตเติลที่เกี่ยวกับเรื่องอุตุนิยมวิทยาจึงมีความเด่นชัดขึ้น ตัวอย่างเช่น เขาเคยกล่าวไว้ว่า ในบรรยากาศนั้นประกอบไปด้วยไอระเหยของอนุภาคสองชนิด นั่นคือ ความแห้งและความชื้น เขายังได้กล่าวอีกด้วยว่า ฟ้าร้อง คือเสียงการประทะกันของไอระเหยความแห้งกับกลุ่มเมฆที่อยู่ใกล้ ๆ กัน และฟ้าแลบนั้น คือ การเกิดประกายไฟและการเผาไหม้ของไอระเหยความแห้งที่มีไฟที่บางเบาและเจือจางhttp://www.islam-guide.com/ch1-1-g.htm - footnote7#footnote7 (The Works of Aristotle Translated into English: Meteorologica เล่ม 3, ของ Ross และคณะหน้า 369a-369b) เหล่านี้ก็คือ แนวความคิดบางประการในเรื่องของอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีความชัดเจนยิ่งขึ้นในเวลาที่มีการเปิดเผยพระคัมภีร์กุรอาน เมื่อสิบสี่ศตวรรษที่ผ่านมา

    ซ) ความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ในเรื่องปาฏิหาริย์ทางวิทยาศาสตร์ในพระคัมภีร์กุรอาน

    หมายเหตุ: อาชีพของนักวิทยาศาสตร์ทุกท่านที่กล่าวไว้ในเว็บไซต์นี้ได้รับการอัพเดทครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2540

    ต่อไปนี้คือความคิดเห็นบางประการของนักวิทยาศาสตร1ที่เกี่ยวกับปาฏิหาริย์ทางวิทยาศาสตร์ในพระคัมภีร์กุรอาน ความเห็นทั้งหมดเหล่านี้ได้นำมาจากวีดีโอเทปในหัวข้อเรื่อง This is the Truth ในวีดีโอเทปชุดนี้ ท่านจะได้ชมและได้ฟังนักวิทยาศาสตร์ท่านต่างๆ กล่าวข้อคิดเห็นดังต่อไปนี้

    1) Dr. T. V. N. Persaud ศาสตราจารย์สาขากายวิภาควิทยา ศาสตราจารย์สาขากุมารเวชศาสตร์และสุขภาพเด็ก และศาสตราจารย์สาขาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา และวิทยาศาตร์เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ของมหาวิทยาลัยมานิโบตา (University of Manitoba) ,วินนิเพค , มานิโบตา ประเทศแคนาดา ณ ที่แห่งนั้น เขาได้ดำรงตำแหน่งประธานแผนกกายวิภาควิทยาถึง 16 ปี เขามีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในสาขาวิชานี้ เขาเป็นนักเขียนหรือบรรณาธิการให้กับตำราเรียนถึง 22 เล่ม อีกทั้งยังจัดพิมพ์เอกสารทางวิทยาศาสตร์ถึง 181 ชิ้น ในปี พ.ศ. 2534 เขาได้รับรางวัลบุคคลที่น่าชื่นชมที่สุดในสาขากายวิภาคของประเทศแคนาดา นั่นคือรางวัล J.C.B Grant Award จากสมาคมนักกายวิภาควิทยาแคนาดา (Canadian Association of Anatomists) เมื่อเขาถูกถามเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ทางวิทยาศาสตร์ในพระคัมภีร์กุรอาน ซึ่งเขาได้ทำการวิจัยมาแล้ว เขากล่าวดังต่อไปนี้ :

    “ที่ข้าพเจ้าเข้าใจก็คือว่า มุหัมมัดเป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนธรรมดาเท่านั้นเอง ท่านอ่านหนังสือไม่ออกเขียนหนังสือไม่ได้ แท้ที่จริงแล้ว พระองค์เป็นคนไม่รู้หนังสือ และเรากำลังจะพูดถึงเรื่องราวเมื่อหนึ่งพันสองร้อยปี (จริงๆ แล้วต้องหนึ่งพันสี่ร้อยปี) มาแล้ว ท่านเคยพบกับผู้ใดที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่แถลงและกล่าวถ้อยคำได้อย่างน่าทึ่ง อีกทั้งยังตรงกับลักษณะทางวิทยาศาสตร์อย่างน่าฉงนอีกด้วย และโดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าไม่อาจมองเรื่องนี้ว่าเป็นเพียงเรื่องบังเอิญได้ เนื่องจากมีความถูกต้องแม่นยำสูง และอย่างที่ Dr. Moore ได้กล่าวไว้ ข้าพเจ้าเชื่อได้อย่างสนิทใจว่าเรื่องนี้เป็นการดลใจหรือเป็นการเปิดเผยจาก พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งทำให้พระองค์ทรงทราบถึงถ้อยแถลงเหล่านี้" (http://www.islam-guide.com/th/video/persaud-1.ram)

    ศาสตราจารย์ Persaud ได้นำโองการบางบทที่อยู่ในพระคัมภีร์กุรอานและพระดำรัสของศาสนทูตมุหัมมัด มารวมไว้ในหนังสือบางเล่มของเขาด้วย อีกทั้งยังนำเสนอโองการและคำพูดของศาสนทูตมุหัมมัด ในที่ประชุมอีกหลายแห่งด้วย

    2) Dr. Joe Leigh Simpson ผู้ซึ่งเป็นประธานแผนกสูติวิทยาและนรีเวชวิทยา ศาสตราจารย์ในสาขาสูติวิทยาและนรีเวชวิทยา อีกทั้งยังเป็นศาตราจารย์ในสาขาวิชาโมเลกุลและพันธุศาสตร์ของมนุษย์ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ (Baylor College of Medicine), ฮุสตัน, เท็กซัส สหรัฐอเมริกา อดีตเคยเป็นศาสตราจารย์ในสาขาสูติ-นรีเวชวิทยาและประธานแผนกสูติ-นรีเวช วิทยาที่มหาวิทยาลัยเทนเนสซี่ (University of Tennessee), เม็มพิส, เทนเนสซี่, สหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังเคยเป็นประธานสมาคมการเจริญพันธุ์ของ แห่งอเมริกา (American Fertility Society) อีกด้วย เขาได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย รวมทั้งรางวัลบุคคลดีเด่นจากสมาคมศาสตราจารย์ด้านสูติวิทยาและนรีเวชวิทยา (Association of Professors of Obstetrics and Gynaecology) ในปี พ.ศ. 2535 ศาตราจารย์ Simpson ได้ทำการศึกษาพระดำรัสของศาสนทูตมุหัมมัด สองประโยคดังนี้:

    "พวกเจ้าทุกคน ส่วนประกอบทั้งหมดที่ก่อกำเนิดขึ้นเป็นตัวพวกเจ้านั้นมาจากการหล่อหลอมเข้าด้วยกันในมดลูกของมารดาโดยใช้เวลาสี่สิบวัน..." (Saheeh Muslim เลขที่ 2643 และ Saheeh Al-Bukari เลขที่ 3208)

    "เมื่อตัวอ่อนผ่านพ้นไปเป็นเวลา สี่สิบสองคืนแล้ว พระผู้เป็นเจ้าจะทรงส่งมลาอิกะฮฺไปที่ตัวอ่อนดังกล่าว เพื่อตบแต่งรูปทรงและสร้างสรรหู ตา ผิวหนัง เนื้อ และกระดูก" (Saheeh Muslim เลขที่ 2645)

    เขาได้ทำการศึกษาคำพูดทั้งสองของศาสนทูตมุหัมมัด อย่างละเอียด ได้ความว่า ในสี่สิบวันแรกของการก่อตัว เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นช่วงกำเนิดตัวอ่อน เขารู้สึกประทับใจเป็นอย่างมากในความถูกต้องและแม่นยำของคำพูดของท่านศาสนทูตมุหัมมัด หลังจากนั้น ในระหว่างการประชุมที่แห่งหนึ่ง เขาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวดังต่อไปนี้:

    “ดังนั้นคำพูดทั้งสองที่กล่าวถึงนี้ ได้ทำให้เราทราบถึงตารางเวลาที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในเรื่องพัฒนาการที่สำคัญของตัวอ่อนก่อนระยะเวลาสี่สิบวัน และอีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าคิดว่ามีวิทยากรท่านอื่นๆ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ซ้ำไปแล้วเมื่อเช้านี้ว่า คำพูดเหล่านี้ไม่อาจได้มาโดยอาศัยความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีอยู่ในยุคสมัยที่เขียนถ้อยคำเหล่านี้ขึ้นมา.. เขาพูดต่อว่า.. ข้าพเจ้าคิดว่า นอกจากจะไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างเรี่องราวเกี่ยวกับพันธุศาสตร์และศาสนา แล้ว ศาสนายังสามารถชี้ทางให้กับเรื่องทางวิทยาศาสตร์ได้ด้วยการเปิดเผยสิ่งที่เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์บางเรื่องในสมัยโบราณได้อีกด้วย อย่างเช่นข้อความที่จารึกไว้ในพระคัมภีร์กุรอาน ซึ่งได้แสดงให้เห็นในอีกหลายศตวรรษต่อมาว่าเป็นความจริง ซึ่งเป็นการสนับสนุนว่าองค์ความรู้ที่อยู่ในพระคัมภีร์อัลกุรอานนั้น ได้รับการถ่ายทอดมาจากพระผู้เป็นเจ้า" (http://www.islam-guide.com/th/video/simpson-1.ram)

    3) Dr. E. Marshall Johnson ศาตราจารย์กิตติมศักดิ์ในสาขากายวิภาควิทยาและการพัฒนาทางด้านชีววิทยา ณ มหาวิทยาลัยธอมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson University), ฟิลาเดลฟีย, เพนน์ซิลเวอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่แห่งนั้น เขาเป็นศาสตราจารย์ในสาขากายวิภาควิทยาเป็นเวลา 22 ปี เป็นประธานแผนกกายวิภาควิทยาและผู้อำนวยการของสถาบันแดเนียล โบห์ (Daniel Baugh Institute) อีกทั้งเขายังเป็นประธานของสมาคมวิทยาเทราโต (Teratology 0f the Society) เขามีงานเขียนมากกว่า 200 ชิ้น ในปี พ.ศ. 2524 ในระหว่างการประชุมทางการแพทย์ในกรุงดัมมาม ประเทศซาอุดิอาระเบีย ศาสตราจารย์ Johnson ได้กล่าวถึงการนำเสนอที่เกี่ยวกับงานค้นคว้าของเขาว่า:

    “พอสรุปได้ว่า พระคัมภีร์กุรอานไม่ได้อธิบายไว้แต่เพียงการพัฒนารูปร่างภายนอกเท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำถึงช่วงระยะการพัฒนาอวัยวะภายใน ระยะต่างๆ ภายในตัวอ่อน ทั้งการสร้างและการพัฒนาของตัวอ่อน โดยเน้นย้ำถึงขั้นตอนสำคัญๆ ซึ่งได้รับการยอมรับจากวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยอีกด้วย" (http://www.islam-guide.com/video/johnson-1.ram)

    เขายังได้กล่าวอีกด้วยว่า

    “ในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ข้าพเจ้าจึงสามารถดำเนินงานกับสิ่งที่ข้าพเจ้ามองเห็นได้เท่านั้น ข้าพเจ้าเข้าใจชีววิทยาของตัวอ่อนและการพัฒนาการได้ ข้าพเจ้าเข้าใจพระดำรัสที่แปลมาจากพระคัมภีร์กุรอานได้ อย่างที่ข้าพเจ้าได้เคยยกตัวอย่างไปก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าข้าพเจ้าจำต้องสับเปลี่ยนตัวของข้าพเจ้าเองกลับไปยังยุคสมัยก่อนนั้น โดยที่มีความรู้ดังเช่นในปัจจุบันนี้ และเมื่อให้ข้าพเจ้าอธิบายสิ่งต่างๆ ข้าพเจ้าก็ไม่อาจอธิบายสิ่งต่างๆ ที่ได้อธิบายไปแล้วได้อีก ข้าพเจ้ายังไม่เห็นพยานหลักฐานใดที่จะใช้หักล้างแนวความคิดที่ว่า ปัจเจกชนอย่างเช่น มุหัมมัด ต้องได้รับการพัฒนาข้อมูลเหล่านี้มาจากสถานที่แห่งหนึ่งแห่งใด ดังนั้น ข้าพเจ้ายังไม่เห็นมีอะไรในที่นี้ที่จะขัดแย้งกับแนวความคิดที่ว่า ในงานเขียนของมุหัมมัดต้องมีพระผู้เป็นเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเป็นแน่แท้" (ศาสนทูตมุหัมมัด ไม่รู้หนังสือ พระองค์ไม่สามารถอ่านหรือเขียนหนังสือได้ แต่ได้พูดถึงเรื่องราวในพระคัมภีร์กุรอานให้กับบรรดาสหายของท่านฟังได้ อีกทั้งยังทรงบัญชาให้สหายบางคนเขียนสิ่งที่พูดเหล่านั้นไว้ด้วย) (http://www.islam-guide.com/th/video/johnson-2.ram)

    4) Dr. William W. Hey เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านทะเลที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เขาเป็นศาสตราจารย์ในสาขาวิทยาศาสตร์ทางธรณีวิทยาของมหาวิทยาลัยโคโลราโด (University of Colorado), โบลเดอร์, โคโลราโด สหรัฐอเมริกา อดีตเคยดำรงตำแหน่งคณบดีของคณะวิทยาศาสตร์ทางทะเลและสภาพบรรยากาศ ณ มหาวิทยาลัยไมอามี่ (University of Miami), ไมอามี่, ฟลอริด้า, สหรัฐอเมริกา หลังจากที่ได้หารือกับศาสตราจารย์ Hey เกี่ยวกับข้อความในพระคัมภีร์กุรอานซึ่งกล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทะเล ที่มีการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ เขากล่าวว่า:

    “ข้าพเจ้าพบว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากจริงๆ ที่ว่าข้อมูลชนิดดังกล่าวพบอยู่ในคัมภีร์ที่เก่าแก่อย่างพระคัมภีร์กุรอาน และข้าพเจ้าไม่มีทางที่จะทราบว่าข้อมูลเหล่านั้นมาจากที่ใด แต่ข้าพเจ้าคิดว่า มันน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่มีข้อมูลดังกล่าวนี้อยู่ในคัมภีร์นั้น และงานนี้ยังคงเดินหน้าค้นหาความหมายที่อยู่ในบางตอนของคัมภีร์ต่อไป" และเมื่อเขาถูกถามเกี่ยวกับแหล่งที่มาของพระคัมภีร์กุรอาน เขาตอบว่า “เอ่อ ข้าพเจ้าคิดว่าคัมภีร์นั้นคงจะต้องเป็นโองการแห่งพระเจ้าอย่างแน่นอน" (http://www.islam-guide.com/th/video/hay-1.ram)

    5) Dr. Gerald C. Goeringer ผู้อำนวยการหลักสูตรและรองศาสตราจารย์ในสาขาตัวอ่อนวิทยาทางการแพทย์ประจำ แผนกชีววิทยาด้านเซลล์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University), วอชิงตัน, โคลัมเบีย, สหรัฐอเมริกา ในระหว่างการประชุมทางการแพทย์แห่งซาอุดิอารเบีย ครั้งที่แปด ในกรุงริยาดห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ศาสตราจารย์ Goeringer ได้กล่าวดังต่อไปนี้ในการนำเสนอผลงานทางด้านวิจัยของเขา:

    “มีอายะห์ (aayahs) (โองการในพระคัมภีร์กุรอาน) อยู่เพียงไม่กี่บทเท่านั้นที่มีคำอธิบายที่ค่อนข้างครอบคลุมทุกด้านของการพัฒนาของมนุษย์ตั้งแต่ระยะที่มีการปฏิสนธิไปจนถึงระยะการพัฒนาอวัยวะ ไม่เคยมีการบันทึกที่เกี่ยวกับการพัฒนาการของมนุษย์ที่มีความชัดเจนและ สมบูรณ์แบบมาก่อน อย่างเช่น การแบ่งประเภท คำศัพท์เฉพาะทาง และคำอรรถาธิบาย ตัวอย่างส่วนใหญ่ แต่ไม่ทั้งหมด คือการอรรถาธิบายนั้นเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าไว้หลายศตวรรษ ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกที่เกี่ยวกับระยะต่างๆ ของตัวอ่อนมนุษย์และการพัฒนาการของทารกในครรภ์ซึ่งได้บันทึกไว้ในวรรณกรรม ทางด้านวิทยาศาสตร์สมัยโบราณ" (http://www.islam-guide.com/th/video/goeringer-1.ram)

    6) Dr. Yoshihide Kozai ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยโตเกียว (Tokyo University), ฮองโก, โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และเป็นผู้อำนวยการหอดาราศาสตร์แห่งชาติ (National Astronomical Observatory), มิตากะ, โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เขาได้กล่าวว่า:

    “ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้พบกับข้อเท็จจริงด้านดาราศาสตร์ที่มีอยู่ในพระคัมภีร์กุรอาน และสำหรับพวกเราบรรดานักดาราศาสตร์สมัยใหม่ได้ศึกษาค้นคว้าเพียงแค่เสี้ยว เล็กๆ ของจักรวาลเท่านั้น เราได้มุ่งมั่นเพียรพยายามเพื่อทำความเข้าใจเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น เนื่องจากการใช้กล้องโทรทรรศน์ ทำให้เราสามารถมองเห็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของท้องฟ้า โดยไม่ได้คำนึงถึงทั้งจักรวาลเลย ดังนั้น เมื่ออ่านพระคำภีร์กุรอาน และเมื่อได้ตอบคำถามต่างๆ ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ข้าพเจ้าค้นพบวิถีทางที่จะเสาะแสวงหาเรื่องราวของจักรวาลในอนาคตได้แล้ว" (http://www.islam-guide.com/th/video/kozai-1.ram)

    (หมายเหตุบรรณาธิการ : อนึ่ง ในระหว่างการประชุมทางการแพทย์แห่งซาอุดิอารเบีย ครั้งที่แปด ในกรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ศาสตราจารย์ เตชะทัต เตชะเสน (Tejatat Tejasen) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงความเห็นของท่านไว้ด้วย ติดตามได้จากวิดีโอตามลิงก์นี้ http://www.islam-guide.com/th/video/tejasen-1.ram)

    หลังจากที่เราได้เห็นตัวอย่างเกี่ยวกับ ปาฏิหาริย์ทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในพระคัมภีร์กุรอานและข้อคิดเห็นของบรรดา นักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ขอให้พวกเราลองถามคำถามเหล่านี้กับตัวเราเอง:

    - เป็นเรื่องบังเอิญได้หรือไม่ว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในหลากหลายด้านที่ถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ ได้กล่าวไว้ในพระคัมภีร์กุรอานซึ่งถูกเปิดเผยเมื่อสิบสี่ศตวรรษที่ผ่านมา?

    - มุหัมมัด หรือมนุษย์คนอื่นๆ อาจเป็นผู้ประพันธ์พระคัมภีร์กุรอานนี้ได้หรือไม่?

    คำตอบที่เป็นไปได้มีเพียงคำตอบเดียวว่า พระคัมภีร์กุรอานฉบับนี้นั้นจะต้องเป็นพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าโดยแท้ ซึ่งเปิดเผยโดยพระองค์เอง