ความดีเจ็ดประการที่สานต่อผลบุญหลังตาย
บทความนี้ถูกแปลเป็นภาษา
หมวดหมู่
แหล่งอ้างอิง
Full Description
ความดีเจ็ดประการที่สานต่อผลบุญหลังตาย
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ดร.อับดุรเราะซาก บิน อับดุลมุหฺสิน อัล-บัดรฺ
แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : เว็บไซต์ www.al-badr.net
2013 - 1434
سبع يجري للعبد أجرهن وهو في قبره بعد موته
« باللغة التايلاندية »
د. عبد الرزاق بن عبد المحسن البدر
ترجمة: عصران نيومديشا
مراجعة: صافي عثمان
المصدر: www.al-badr.net
2013 - 1434
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
ความดีเจ็ดประการที่สานต่อผลบุญหลังตาย
ถือเป็นนิอฺมัตความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ ที่อัลลอฮฺทรงเตรียมช่องทางประกอบความดีไว้มากมายและหลากหลาย เพื่อให้บ่าวของพระองค์ผู้ได้รับทางนำสามารถปฏิบัติในขณะที่มีชีวิต แล้วยังได้รับผลบุญต่อเนื่องกระทั่งภายหลังความตาย ทั้งนี้ บรรดาผู้ที่อยู่ในหลุมศพนั้น โดยสภาพแล้วพวกเขาได้กลายเป็นผู้ที่ถูกจองจำและถูกตัดขาดจากการงานต่างๆ อีกทั้งยังถูกสอบสวนลงโทษและตอบแทนในสิ่งที่ได้กระทำไว้ในโลกดุนยา
ในขณะที่บ่าวผู้ได้รับทางนำนั้น แม้ว่าเขาจะถูกฝังอยู่ในหลุมศพ แต่ผลบุญและความประเสริฐนานัปการกลับไหลรินสู่เขาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เขาได้ทิ้งโลกแห่งการเก็บเกี่ยวปฏิบัติมาแล้ว แต่คุณงามความดีต่างๆ กลับไม่เคยขาดหายไปด้วย ตรงกันข้ามผลบุญและความดีของเขากลับเพิ่มขึ้นทวีคูณหลายเท่า ช่างเป็นสถานะและผลตอบแทนที่ประเสริฐและงดงามเสียเหลือเกิน
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวถึงการงานและความดีเจ็ดประการ ที่ส่งผลบุญต่อเนื่องแม้จะสิ้นลมหายใจไปแล้ว โดยท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«سَبْعٌ يَجْرِيْ لِلْعَبْدِ أَجْرُهُنَّ وَهُوَ فِيْ قَبْرِهِ بَعْدَ مَوْتِهِ : مَنْ عَلَّمَ عِلْماً ، أَوْ أَجْرَى نَهْراً ، أَوْ حَفَرَ بِئْراً ، أَوْ غَرَسَ نَخْلاً أَوْ بَنَى مَسْجِداً ، أَوْ وَرَّثَ مُصْحَفاً ، أَوْ تَرَكَ وَلَداً يَسْتَغْفِرُ لَهُ بَعْدَ مَوْتِهِ» [رواه البزار كما في كشف الأستار برقم 149، وحسنه الألباني]
ความว่า "มีความดีเจ็ดประการที่ผลบุญของมันจะยังคงต่อเนื่องไม่ขาดสาย แม้ผู้เป็นบ่าวจะสิ้นลมหายใจอยู่ในหลุมศพไปแล้ว คือ: การที่คนคนหนึ่งได้สั่งสอนเผยแผ่ความรู้ หรือขุดแม่น้ำลำธาร ขุดบ่อน้ำ ปลูกต้นอินทผลัม สร้างมัสยิด แจกจ่ายมุศหัฟ หรือมีลูกที่คอยวิงวอนขออภัยโทษให้แก่เขาหลังจากที่เขาตายไป" (บันทึกโดยอัล-บัซซารฺ ในกัชฟุลอัสตารฺ หะดีษเลขที่ 149 โดยเชคอัล-อัลบานีย์ระบุว่าเป็นหะดีษที่อยู่ในระดับหะสัน)
พี่น้องที่รักของฉัน ลองพิจารณาการงานเหล่านี้ให้ดีเถิด แล้วจงตั้งจิตมั่นที่จะมีส่วนร่วมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตราบที่ท่านยังคงมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งการประวิงเวลานี้ จงรีบเร่งขวนขวายความดีงามและผลบุญอันมหาศาลนี้ไว้ ก่อนที่ชีวิตจะจบลงเมื่อสิ้นอายุขัย เราลองมาดูความหมาย และคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการงานเหล่านี้กัน
ประการแรก : การเผยแผ่ความรู้ ซึ่งในที่นี้หมายถึง ความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และช่วยส่องนำทางมนุษย์ไปสู่หนทางที่เที่ยงตรง ให้รู้จักศาสนา รู้จักพระผู้เป็นเจ้าที่พวกเขาจำเป็นต้องเคารพสักการะ เป็นความรู้ที่ทำให้สามารถแยกแยะได้ระหว่างทางนำกับทางที่หลงผิด สัจธรรมกับความเท็จ และระหว่างสิ่งที่เป็นที่อนุมัติกับสิ่งต้องห้าม
สิ่งนี้แสดงให้เห็นบทบาทและคุณูปการอันใหญ่หลวงของบรรดาผู้รู้และผู้เผยแผ่ศาสนาซึ่งทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ พวกท่านเหล่านั้นเปรียบดังโคมไฟส่องสว่างนำทางประชาชาติ การมีชีวิตอยู่ของพวกท่านถือเป็นสิ่งมีค่ามหาศาล ในขณะที่ความตายของพวกท่านก็ถือเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ พวกท่านเหล่านั้นได้อบรมสั่งสอนผู้ที่ไม่รู้ ตักเตือนผู้ที่หลงลืม และชี้แนะผู้ที่หลงผิด พวกท่านไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้แก่ใคร เมื่อผู้รู้ท่านหนึ่งท่านใดเสียชีวิต ความรู้ของท่านก็ยังคงได้รับการถ่ายทอดต่อไปผ่านตำรับตำราที่ท่านได้เขียนไว้ คำพูดของท่านก็ยังคงถูกกล่าวถึง และยังมีผู้คนมากมายได้รับประโยชน์จากผลงานของท่าน ส่วนตัวท่านนั้นก็คอยรับผลบุญที่พรั่งพรูไปถึงอย่างมิขาดสาย
ในอดีตกล่าวกันว่า "แม้ผู้รู้จะจากไปแต่ความรู้ของท่านก็ยังคงอยู่ในตำรับตำราที่ท่านเขียนไว้" แต่ในปัจจุบันนี้แม้แต่เสียงของผู้รู้ ก็ยังได้รับการบันทึกไว้ในเทปซีดีต่างๆ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยไฟล์เสียงการบรรยายวิชาการศาสนาและคุฏบะฮฺที่มีคุณค่า ทำให้คนรุ่นหลังซึ่งเกิดไม่ทันหรือไม่มีโอกาสได้พบเจอท่านได้รับประโยชน์ด้วย นอกเหนือไปจากนี้ผู้ที่มีส่วนในการจัดพิมพ์และเผยแพร่หนังสือหรือเทปซีดีความรู้ศาสนา ก็มีส่วนได้รับผลบุญข้อนี้ด้วยเช่นกัน อินชาอัลลอฮฺ
ประการที่สอง : การขุดแม่น้ำ หมายถึง การขุดแม่น้ำลำธารและคูคลองต่างๆ เพื่อสร้างแหล่งน้ำให้ผู้คนได้ใช้ดื่มกิน หุงหาอาหาร ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร หรือเลี้ยงปศุสัตว์ เป็นการสร้างความสะดวกสบายแก่ผู้คน ในการเข้าถึงแหล่งน้ำซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งสำหรับการดำรงชีวิต สิ่งนี้ยังหมายรวมถึงการส่งน้ำผ่านระบบท่อ หรือการติดตั้งตู้บริการน้ำเย็นตามถนนหนทางและสถานที่ต่างๆ ด้วยเช่นกัน
ประการที่สาม : การขุดบ่อน้ำ ซึ่งก็คล้ายกับข้อก่อนหน้านี้ มีบันทึกรายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«بَيْنَا رَجُلٌ بِطَرِيقٍ اشْتَدَّ عَلَيْهِ الْعَطَشُ، فَوَجَدَ بِئْرًا فَنَزَلَ فِيهَا فَشَرِبَ ثُمَّ خَرَجَ، فَإِذَا كَلْبٌ يَلْهَثُ يَأْكُلُ الثَّرَى مِنْ الْعَطَشِ، فَقَالَ الرَّجُلُ: لَقَدْ بَلَغَ هَذَا الْكَلْبَ مِنْ الْعَطَشِ مِثْلُ الَّذِي كَانَ بَلَغَ مِنِّي، فَنَزَلَ الْبِئْرَ فَمَلَا خُفَّهُ مَاءً فَسَقَى الْكَلْبَ، فَشَكَرَ اللَّهُ لَهُ فَغَفَرَ لَهُ، قَالُوا: يَا رَسُولَ اللَّه وَإِنَّ لَنَا فِي الْبَهَائِمِ لَأَجْرًا ؟ فَقَالَ: فِي كُلِّ ذَاتِ كَبِدٍ رَطْبَةٍ أَجْرٌ» [البخاري برقم 2466، ومسلم برقم 2244]
ความว่า: "ขณะที่ชายคนหนึ่งเดินอยู่ในสภาพที่กระหายน้ำเป็นอย่างยิ่ง พลันก็เห็นบ่อน้ำบ่อหนึ่ง เขาจึงลงไปดื่มน้ำในบ่อนั้น เมื่อขึ้นมาจากบ่อก็พบว่ามีสุนัขตัวหนึ่งกำลังเลียดินกินในสภาพที่หอบกระหายหิวโซ ชายคนดังกล่าวจึงรำพันกับตัวเองว่า: 'สุนัขตัวนี้กำลังอยู่ในสภาพหิวกระหายไม่ต่างจากสภาพของเราเมื่อสักครู่นี้' ว่าแล้วเขาก็กลับลงไปในบ่อนั้นอีกครั้ง แล้วตักน้ำใส่รองเท้าของเขาจนเต็มเพื่อให้สุนัขตัวนั้นได้ดื่มกิน ซึ่งอัลลอฮฺก็ทรงชื่นชมเขา และทรงอภัยให้แก่เขา" บรรดาเศาะหาบะฮฺก็กล่าวถามว่า: โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ เราจะได้รับผลบุญจากการทำดีต่อสัตว์ด้วยหรือครับ? ท่านตอบว่า "การช่วยเหลือและทำดีต่อสัตว์มีชีวิตทุกชนิด ถือเป็นความดีที่จะได้รับผลบุญตอบแทน" (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 2466 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2244)
ถ้าหากว่าชายผู้นี้ได้รับการตอบแทนถึงขนาดนี้ แน่นอนว่าผู้ที่ทำการขุดบ่อน้ำ หรือมีส่วนร่วมในการทำให้มีบ่อน้ำขึ้นมา ให้ผู้คนจำนวนมากได้ดับกระหายและใช้ประโยชน์ ย่อมได้รับผลบุญและการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่ต้องสงสัย
ประการที่สี่ : การปลูกต้นอินทผลัม เป็นที่ทราบกันดีว่าต้นอินทผลัมนั้น ถือเป็นพืชที่มีความโดดเด่นและมีคุณประโยชน์เหนือต้นไม้ชนิดอื่นๆ ดังนั้น ผู้ใดปลูกต้นอินทผลัมแล้วมอบผลผลิตของมันเพื่อเป็นกุศลทานอันถาวร (วะกัฟ) เพื่อพี่น้องมุสลิม เขาก็จะได้รับผลบุญอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่มีผู้กินผลของมัน หรือได้รับประโยชน์จากต้นของมัน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ การปลูกพืชชนิดอื่นๆที่มีประโยชน์ก็เช่นเดียวกัน แต่ที่เจาะจงกล่าวถึงต้นอินทผลัมในที่นี้ก็เพราะคุณประโยชน์และความโดดเด่นของมันนั่นเอง
ประการที่ห้า : การสร้างมัสยิด อันเป็นสถานที่ซึ่งอัลลอฮฺทรงโปรดปรานที่สุดบนผืนแผ่นดินนี้ และเป็นสถานที่ซึ่งพระองค์ทรงอนุญาตให้สร้างขึ้นเพื่อการรำลึกถึงพระองค์ เมื่อมีการสร้างมัสยิด แน่นอนว่าจะต้องมีการละหมาด มีการอ่านอัลกุรอาน รำลึกถึงอัลลอฮฺ เผยแผ่ความรู้ และพบปะระหว่างพี่น้องมุสลิม ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆที่เป็นประโยชน์ ซึ่งผู้บริจาคสร้างมัสยิดจะได้รับผลบุญของกิจกรรมต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมด ท่านอุษมาน บิน อัฟฟาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า: ฉันได้ยินท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«مَنْ بَنَى مَسْجِدًا يَبْتَغِي بِهِ وَجْهَ اللَّهِ، بَنَى اللَّهُ لَهُ مِثْلَهُ فِي الْجَنَّةِ» [البخاري برقم 450، ومسلم برقم 533]
ความว่า "ผู้ใดสร้างมัสยิดโดยหวังในความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ อัลลอฮฺจะทรงสร้างสิ่งเดียวกันนั้นเตรียมไว้สำหรับเขาในสรวงสวรรค์" (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 450 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 533)
ประการที่หก : การแจกจ่ายมุศหัฟ (อัลกุรอาน) เป็นทาน ด้วยการจัดพิมพ์หรือซื้อหามุศหัฟ แล้วนำไปบริจาคเป็นกุศลทานถาวร (วะกัฟ) แก่มัสยิดหรือสถาบันสอนศาสนา เพื่อที่พี่น้องมุสลิมจะได้ใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ผู้ที่ทำการวะกัฟมุศหัฟจะได้รับผลบุญอันมหาศาลทุกครั้งที่มีผู้นำมุศหัฟเหล่านั้นไปอ่าน ใคร่ครวญไตร่ตรอง หรือปฏิบัติตามคำสอนคำสั่งใช้ที่ปรากฏในอัลกุรอาน
ประการสุดท้าย : การอบรมเลี้ยงดูลูก ให้เติบโตเป็นผู้ที่มีความตักวายำเกรง และมีคุณธรรม เพื่อให้พวกเขาเป็นลูกที่มีความกตัญญูรู้คุณ เป็นผู้ที่ดำรงตนอยู่ในความดีงาม แล้วพวกเขาก็จะวิงวอนขอดุอาอ์ ให้พระองค์อัลลอฮฺทรงเมตตาและอภัยให้แก่บุพการีของพวกเขา และนี่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ตายจะได้รับประโยชน์แม้ว่าเขาจะนอนอยู่ในหลุมศพแล้วก็ตาม
มีหะดีษบทอื่นที่ระบุถึงเนื้อหาในทำนองเดียวกับหะดีษที่เรากำลังพูดถึงนี้ นั่นคือหะดีษซึ่งรายงานโดยท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«إِنَّ مِمَّا يَلْحَقُ الْمُؤْمِنَ مِنْ عَمَلِهِ وَحَسَنَاتِهِ بَعْدَ مَوْتِهِ : عِلْمًا عَلَّمَهُ وَنَشَرَهُ، وَوَلَدًا صَالِحًا تَرَكَهُ، وَمُصْحَفًا وَرَّثَهُ، أَوْ مَسْجِدًا بَنَاهُ، أَوْ بَيْتًا لِابْنِ السَّبِيلِ بَنَاهُ، أَوْ نَهْرًا أَجْرَاهُ، أَوْ صَدَقَةً أَخْرَجَهَا مِنْ مَالِهِ فِي صِحَّتِهِ وَحَيَاتِهِ يَلْحَقُهُ مِنْ بَعْدِ مَوْتِهِ» [ابن ماجه برقم 242، وحسنه الألباني]
ความว่า: "ส่วนหนึ่งจากการงานและคุณความดี ที่จะติดตามบ่าวผู้ศรัทธาไปหลังจากที่เขาสิ้นลมก็คือ: ความรู้ที่เขาได้สั่งสอนและเผยแผ่ ลูกศอลิหฺที่เขาได้ทิ้งไว้ มุศหัฟที่เขาได้บริจาคแจกจ่าย มัสยิดที่เขาได้สร้าง ที่พำนักสำหรับผู้เดินทางซึ่งเขาได้เคยสร้างไว้ แม่น้ำลำธารที่เขาเคยขุด หรือทานที่เขาเคยบริจาคด้วยทรัพย์สินของเขาในขณะที่เขายังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและยังมีชีวิตอยู่ แล้วผลบุญของการบริจาคทานนั้นตามติดเขาไปหลังตาย" (บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่ 242 โดยเชคอัล-อัลบานีย์ระบุว่าเป็นหะดีษที่อยู่ในระดับหะสัน)
และมีรายงานจากท่านอบูอุมามะฮฺ อัล-บาฮิลียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า: ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«أَرْبَعَةٌ تَجْرِي عَلَيْهِمْ أُجُورُهُمْ بَعْدَ الْمَوْتِ : مَنْ مَاتَ مُرَابِطًا فِي سَبِيلِ اللَّهِ، وَمَنْ عَلَّمَ عِلْمًا أُجْرِيَ لَهُ أَجْرُهُ مَا عُمِلَ بِهِ، وَمَنْ تَصَدَّقَ بِصَدَقَةٍ فَأَجْرُهَا يَجْرِي لَهُ مَا جَرَتْ، وَرَجُلٌ تَرَكَ وَلَدًا صَالِحًا فَهُوَ يَدْعُو لَهُ» [أحمد 5/260-261، والطبراني برقم 7831، وحسنه الألباني]
ความว่า: "มีบุคคลสี่จำพวก ที่ผลบุญของพวกเขาจะยังคงต่อเนื่องกระทั่งหลังความตาย: ผู้ที่ตายขณะทำหน้าที่ป้องกันข้าศึกในหนทางของอัลลอฮฺ ผู้ที่สอนสั่งความรู้เขาก็จะได้รับผลบุญอย่างต่อเนื่องตราบใดที่มีผู้ปฏิบัติตามสิ่งที่เขาสอน ผู้ที่บริจาคทานเขาก็จะได้รับผลบุญแห่งทานนั้นตราบใดที่มันยังเป็นประโยชน์ และผู้ที่จากไปโดยมีลูกศอลิหฺคอยวิงวอนขอดุอาอ์ให้แก่เขา" (บันทึกโดยอะหฺมัด 5/260-261 และอัฏ-เฏาะบะรอนียฺ หะดีษเลขที่ 7831 โดยเชคอัล-อัลบานีย์ระบุว่าเป็นหะดีษที่อยู่ในระดับหะสัน)
และท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«إِذَا مَاتَ الْإِنْسَانُ انْقَطَعَ عَنْهُ عَمَلُهُ إِلَّا مِنْ ثَلَاثَةٍ : إِلَّا مِنْ صَدَقَةٍ جَارِيَةٍ، أَوْ عِلْمٍ يُنْتَفَعُ بِهِ، أَوْ وَلَدٍ صَالِحٍ يَدْعُو لَهُ» [مسلم برقم 1631]
ความว่า: "เมื่อมนุษย์ตายไป การงานต่างๆก็จะถูกตัดขาดจากเขา ยกเว้นการงานสามประการคือ: การบริจาคทานที่มีผลประโยชน์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (เศาะดะเกาะฮฺ ญาริยะฮฺ) ความรู้ที่มีผู้ได้รับประโยชน์จากมัน หรือลูกศอลิหฺที่คอยวิงวอนขอดุอาอ์ให้แก่เขา" (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 1631)
ซึ่งนักวิชาการส่วนหนึ่งได้ให้คำอธิบาย "เศาดะเกาะฮฺ ญาริยะฮฺ" ว่าคือการวะกัฟ ซึ่งก็คือการที่ผู้บริจาคได้กำหนดให้ตัวทรัพย์สินที่บริจาคคงอยู่ แล้วให้ผลประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์สินนั้นเป็นกุศลทานแก่ผู้ที่เขากำหนด ซึ่งความดีต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ส่วนใหญ่ก็จัดอยู่ในกลุ่มของเศาะดะเกาะฮฺ ญาริยะฮฺนี้นั่นเอง
คำกล่าวของท่านนบี ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในหะดีษข้างต้นความว่า "..หรือที่พำนักสำหรับผู้เดินทางซึ่งเขาได้เคยสร้างไว้" นั้น แสดงให้เห็นถึงความประเสริฐและผลบุญของการสร้างที่พักอาศัยแล้วบริจาคเป็นวะกัฟเพื่อที่พี่น้องมุสลิมไม่ว่าจะเป็นผู้เดินทางที่ขัดสนทุนทรัพย์ นักเรียนนักศึกษาผู้แสวงหาความรู้ เด็กกำพร้า หญิงหม้าย หรือผู้ยากจนขัดสน ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นการทำความดีที่ยิ่งใหญ่
ขออัลลอฮฺตะอาลาทรงประทานเตาฟีก สนับสนุนให้เราได้ใฝ่หาสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ขอพระองค์ทรงประทานความช่วยเหลือ ให้เราได้ยึดถือปฏิบัติการงานที่ดีทั้งหลาย และขอพระองค์ทรงชี้นำเราสู่หนทางที่เที่ยงตรงด้วยเถิด