ซะกาตฟิฏรฺ
บทความนี้ถูกแปลเป็นภาษา
หมวดหมู่
Full Description
ซะกาตฟิฏรฺ
﴿زكاة الفطر﴾
] ไทย – Thai – تايلاندي [
มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์
แปลโดย : อิสมาน จารง
ผู้ตรวจทาน : ฟัยซอล อับดุลฮาดี
ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์
2009 - 1430
﴿زكاة الفطر﴾
« باللغة التايلاندية »
محمد بن إبراهيم التويجري
ترجمة: عثمان جارونج
مراجعة: فيصل عبدالهادي
مصدر : كتاب مختصر الفقه الإسلامي
2009 - 1430
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
ซะกาตฟิฏรฺ
วิทยปัญญาในการบัญญัติซะกาตฟิฏรฺ
อัลลอฮฺได้ทรงบัญญัติซะกาตฟิฏรฺเพื่อเป็นการชำระล้างแก่ผู้ถือศีลอดจากคำพูดที่ไม่ดีและหยาบคาย และเพื่อเป็นอาหารแก่คนยากจนเพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องไปขอทานในวันอีด และเพื่อให้พวกเขามีส่วนร่วมในความสุขรื่นรมณ์พร้อมๆกับคนร่ำรวย
عن ابن عباس رضي الله عنهما قال: فَرَضَ رَسُولُ الله صلى الله عليه وسلم زَكَاةَ الفِطْرِ طُهْرَةً لِلصَّائِمِ مِنَ اللَّغْوِ وَالرَّفَثِ، وَطُعْمَةً لِلْـمَسَاكِينِ، مَنْ أَدَّاهَا قَبْلَ الصَّلاةِ فَهِيَ زَكَاةٌ مَقْبُولَةٌ، وَمَنْ أَدَّاهَا بَـعْدَ الصَّلاةِ فَهِيَ صَدَقَةٌ مِنَ الصَّدَقَاتِ.
รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุมา กล่าวว่า: “ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำหนด (วาญิบ) ซะกาตฟิฏรฺเพื่อเป็นการชำระล้างแก่ผู้ถือศีลอดจากคำพูดที่ไม่ดีและหยาบคาย และเพื่อเป็นอาหารแก่คนยากจน ดังนั้นใครที่ได้จ่ายมันก่อนละหมาด(อีด)ถือว่ามันเป็นซะกาตที่ใช้ได้และใครที่จ่ายหลักจากละหมาด(อีด)ถือว่าเป็นทานบริจาคหนึ่งจากบรรดาทานบริจาคทั่วไป”
[หะดีษหะซัน รายงานโดยอบูดาวุด หมายเลข1609คำรายงานนี้เป็นของท่าน และอิบนุมาญะห์ หมายเลข 1827]
หุก่มซะกาตฟิฏรฺ
ซะกาตฟิฏรฺเป็นวาญิบเหนือมุสลิมทุกคนไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง จะเป็นไทหรือทาส จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ที่ครอบครองอาหารหนึ่งศออฺ (ประมาณ 1.8 กิโลกรัม –ผู้แปล) ที่เกินจากอาหารที่ตนและบุคคลที่อยู่ใต้การอุปการะใช้รัปประทาน และสุนัตให้จ่ายแทนให้ทารกในครรภ์ด้วยเช่นกัน
เวลาที่วาญิบซะกาตฟิฏรฺ
วาญิบต้องจ่ายซะกาตฟิฏรฺหลังหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฏอนเหนือมุสลิมทุกคนด้วยตัวเขาเอง และหากผู้เป็นพ่อจ่ายซะกาตแทนคนในครอบครัวของเขาหรือคนอื่น โดยการอนุญาตและพึงพอใจของคนเหล่านั้นถือว่าใช้ได้และเขาก็จะได้ผลบุญ
เวลาที่จะจ่ายซะกาตฟิฏรฺ
เวลาในการจ่ายซะกาตฟิฏรฺเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าคืนวันอีดจนถึงก่อนละหมาดอีด แต่ที่ดีที่สุดคือจ่ายในวันอีดในช่วงก่อนละหมาดอีด และอนุญาตให้จ่ายก่อนวันอีดหนึ่งหรือสองวันได้
และใครที่จ่ายหลังละหมาดอีดถือว่าเป็นทานบริจาคหนึ่งจากบรรดาทานบริจาคต่างๆ และเป็นบาปยกเว้นหากมีเหตุจำเป็น ฉะนั้นหากเขาล่าช้าจนเลยอีดโดยไม่มีเหตุจำเป็นถือว่าเป็นบาป และหากเขามีความจำเป็นให้เขาชดเชยมันโดยที่ไม่มีบาปใดๆแก่เขา
จำนวนซะกาตฟิฏรฺ
อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏรฺด้วยทุกสิ่งที่เป็นอาหารหลักของชาวเมืองเช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่ย์ อินทผาลัมแห้ง องุ่นแห้ง นมแข็ง ข้าวสาร ข้าวโพดและอื่นๆ และสิ่งที่ดีที่สุดคือสิ่งให้ประโยชน์แก่คนยากจนมากที่สุด
จำนวนซะกาตนี้คือหนึ่งศออฺต่อหนึ่งคน หรือเท่ากับ 2.40 กิโลกรัม โดยมอบให้แก่คนยากจนของเมืองที่คนที่วาญิบต้องจ่ายอยู่ขณะที่วาญิบ และไม่อนุญาตให้จ่ายเป็นเงินแทนอาหาร และให้ถือว่าคนจนและคนอนาถามีสิทธิ์ในซะกาตนี้มากกว่าบุคคลอื่น
عن ابن عمر رضي الله عنهما قال: فَرَضَ رَسُولُ الله صلى الله عليه وسلم زَكَاةَ الفِطْرِ صَاعاً مِنْ تَـمْرٍ، أَوْ صَاعاً مِنْ شَعِيرٍ، عَلَى العَبْدِ وَالحُرِّ، وَالذَّكَرِ وَالأُنْثَى، وَالصَّغِيرِ وَالكَبِيرِ مِنَ المُسْلِـمِينَ، وَأَمَـرَ بِـهَا أَنْ تُؤَدَّى قَبْلَ خُرُوجِ النَّاسِ إلَى الصَّلاةِ.
ความว่า: จากท่านอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุมา กล่าวว่า “ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำหนด (วาญิบ) ซะกาตฟิฏรฺหนึ่งศออฺจากอินทผลัมแห้ง หรือหนึ่งศออฺจากข้าวบาร์เล่ย์ เหนือคนที่เป็นทาสและไท ชายและหญิง เด็กและผู้ใหญ่จากบรรดามุสลิม และได้สั่งให้จ่ายซะกาตนี้ก่อนที่ผู้คนจะออกไปละหมาด
[บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1503 คำรายงานนี้เป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลข 984 และ 986]