×
อธิบายประเภทตำหนิของคู่บ่าวสาวในการแต่งงาน ซึ่งมีสองประเภทคือ 1. ตำหนิที่เป็นเหตุกีดขวางการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา 2. ตำหนิที่ไม่เป็นเหตุกีดขวางการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา แต่ตำหนินั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความรังเกียจหรืออาจจะติดต่อกันระหว่างสามีภรรยาได้ จากหนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    ตำหนิของคู่บ่าวสาวในการแต่งงาน

    العيوب في النكاح

    มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์

    แปลโดย : ริซัลย์ สะอะ

    ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

    แหล่งอ้างอิง : หนังสือมุคตะศ็อร อัล-ฟิกฮิล อิสลามีย์

    محمد بن إبراهيم التويجري

    ترجمة: ريزال أحمد

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي


    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    ตำหนิของคู่บ่าวสาวในการแต่งงาน

    ตำหนิของคู่บ่าวสาวในการแต่งงานมีอยู่สองประเภท

    1. ตำหนิที่เป็นเหตุกีดขวางการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา เช่น ผู้ชายที่มีองคชาติสั้นมาก หรือไม่มีอัณฑะ หรือสมรรถภาพทางเพศเสื่อม หรือผู้หญิงที่ไม่มีช่องคลอด หรือช่องคลอดปิดสนิท

    2. ตำหนิที่ไม่เป็นเหตุกีดขวางการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา แต่ตำหนินั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความรังเกียจหรืออาจจะติดต่อกันระหว่างสามีภรรยาได้ เช่น โรคผิวเผือก โรคบ้า โรคเรื้อน ริดสีดวงทวาร ช่องคลอดเปิดกว้าง และอื่นๆ ที่คล้ายกัน

    ผู้หญิงคนใดที่พบว่าสามีมีองคชาติที่สั้น หรืออยู่กับฝ่ายชายโดยที่ฝ่ายชายไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับนาง นางก็ย่อมมีสิทธิที่จะยกเลิกการแต่งงาน แต่หากนางรู้แล้วก่อนหน้าและได้พร้อมใจยอมรับเขาแล้วก่อนที่จะมีการกล่าวพิธีแต่งงาน หรือได้ยินยอมหลังจากการมีเพศสัมพันธ์กันแล้วนางก็ไม่มีสิทธิที่จะยกเลิกการแต่งงานนั้นได้อีก

    ตำหนิทุกอย่างที่มีอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโรคผิวเผือก เป็นใบ้ มีตำหนิที่อวัยวะเพศ ท่อปัสสาวะฉีกขาด โรคบ้า โรคเรื้อน ปัสสาวะเรี่ยราด เป็นหมัน โรคปอด โรคกลิ่นตัวเหม็น และอื่นๆ ทั้งสามีและภรรยามีสิทธิที่จะยกเลิกการแต่งงานนั้นได้ถ้าต้องการ และในกรณีที่ยอมรับตำหนิได้และเข้าสู่พิธีการแต่งงานแล้วก็ไม่สามารถจะบอกเลิกการแต่งงานได้อีก แต่หากตำหนิเหล่านั้นเกิดขึ้นกับฝ่ายใดหลังจากที่ได้ทำพิธีแต่งงานไปแล้ว อีกฝ่ายก็มีสิทธิที่จะเลือกได้ว่าจะยกเลิกการแต่งงานนั้นหรือไม่

    ถ้ายกเลิกการแต่งงานเพราะมีตำหนิข้อใดข้อหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้ว  และยกเลิกก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์กัน ฝ่ายหญิงนั้นจะไม่ได้รับค่าสินสอด แต่ถ้าหากได้มีเพศสัมพันธ์กันแล้ว นางก็จะได้รับค่าสินสอดที่ระบุในพิธีการแต่งงาน  สำหรับฝ่ายชายนั้นจะได้รับค่าสินสอดคืนก็ต่อเมื่อรู้ว่าเป็นการหลอกลวงเขา และการแต่งงานจะไม่เกิดผลกับผู้ที่มีเพศสองเพศอยู่ในตัวก่อนที่จะรู้แน่ว่าเป็นเพศใดอย่างชัดเจน

    ถ้าปรากฏว่าฝ่ายชายนั้นเป็นหมัน ฝ่ายหญิงก็มีสิทธิที่เลือกว่าจะเลิกกับเขาได้ เพราะฝ่ายหญิงมีสิทธิในเรื่องลูก

    อัล-อินนีน คือผู้ที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ คือไม่มีความสามารถในการสอดใส่อวัยวะเพศ และหญิงใดพบว่าสามีของตนนั้นสมรรถภาพทางเพศเสื่อม หลังจากตรวจพบแล้วต้องรอให้ถึงหนึ่งปีก่อนเพื่อความแน่ใจ ในช่วงนี้ถ้าฝ่ายชายมีความสามารถที่จะมีเพศสัมพันธ์กับนางก็ไม่มีปัญหา หากไม่แล้วฝ่ายหญิงก็มีสิทธิที่จะยกเลิกการแต่งงานได้  แต่ถ้าฝ่ายหญิงยินยอมกับสภาพดังกล่าวก่อนหรือหลังจากได้มีการสัมพันธ์ทางเพศแล้ว นางก็ไม่มีสิทธิที่จะยกเลิกการแต่งงานอีก