×
จากหนังสือ 40 หะดีษเดือนเราะมะฎอน หะดีษที่ 6 - การถือศีลอดเป็นโล่ป้องกัน พร้อมคำอธิบายโดยสรุป และบทเรียนที่ได้รับจากหะดีษ

การถือศีลอดเป็นโล่ป้องกัน

﴿الصيام جنة﴾

]  ไทย – Thai – تايلاندي [

อาหมัด อัลฟารีตีย์

แปลโดย : ฮาเรส เจ๊ะโด

ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

ที่มา : หนังสือ 40 หะดีษเราะมะฎอน

2010 - 1431

﴿الصيام جنة﴾

« باللغة التايلاندية »

أحمد حسين الفاريتي

ترجمة: حارث جيء دو

مراجعة: صافي عثمان

المصدر: كتاب  40 حديث رمضان

2010 - 1431


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

หะดีษบทที่ 6

การถือศีลอดเป็นโล่ป้องกัน

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ أَنَّ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : «الصِّيَامُ جُنَّةٌ، فَلاَ يَرْفُثْ وَلاَ يَجْهَلْ، وَإِنِ امْرُؤٌ قَاتَلَهُ أَوْ شَاتَمَهُ فَلْيَقُلْ إِنِّي صَائِمٌ ـ مَرَّتَيْنِ». (البخاري رقم1761)

ความว่า จากท่าน อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ เล่าจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า “การถือศีลอดนั้นเป็นโล่ป้องกัน (คือป้องกันไม่ให้ผู้ถือศีลอดประพฤติสิ่งที่ไม่ดี หรือป้องกันเขาจากการต้องเข้านรก) ดังนั้น(เมื่อผู้ใดถือศีลอด)แล้ว เขาอย่าได้พูดจาหยาบโลนและอย่าได้ประพฤติเยี่ยงผู้ที่ไร้จริยธรรม และหากแม้นมีผู้ใดต้องการทะเลาะเบาะแว้งหรือกล่าวด่าว่าร้ายเขา ก็ให้เขากล่าวแก่คนผู้นั้นว่า ‘แท้จริงฉันเป็นผู้ถือศีลอด แท้จริงฉันเป็นผู้ถือศีลอด’ (คือให้กล่าวเพียงเท่านี้ โดยไม่ต้องตอบโต้ด้วยคำพูดอื่นที่อาจจะทำให้การถือศีลอดบกพร่อง) (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ เลขที่ 1761)

 คำอธิบายหะดีษ

คำว่า “جُنَّةٌ” ที่หมายถึง โล่ป้องกัน ได้มีหะดีษหลายบทซึ่งให้ความหมายที่แตกต่างกันไป ดังนี้

1.      จากการเพิ่มเติมในรายงานหะดีษของสะอีด บิน มันซูร ให้ความหมายในแง่ของการระมัดระวังจากไฟนรก

2.      การเพิ่มเติมในรายงานหะดีษของอัน-นะสาอีย์ หมายถึงการถือศีลอดนั้นเป็นเสมือนโล่กำบัง(ที่ถูกเตรียมไว้) โดยคนใดคนหนึ่งจากพวกท่านเพื่อป้องกันตัวในการสงคราม

  

 บรรดาอุละมาอ์ยังได้ให้ทัศนะต่างๆ ดังนี้

1.      อิบนุล อะษีรฺ เจ้าของหนังสือ “อัน-นิฮายะฮฺ” ระบุว่า การถือศีลอดนั้นสามารถปกป้องผู้ที่ถือศีลอดจากการรบกวนของอารมณ์ใฝ่ต่ำได้

2.      อัล-กุรฏุบีย์กล่าวว่า เป็นกำแพงกั้นในแง่ของการกำหนดบัญญัติให้ถือศีลอด ดังนั้นผู้ที่ถือศีลอดจะต้องรักษาสภาพการถือศีลอดของเขาจากทุกสิ่งที่อาจจะทำให้มันเสียหายหรือบกพร่อง หรือเป็นกำแพงกั้นในแง่ของการลดความรู้สึกของอารมณ์ใฝ่ต่ำ และเป็นไปได้ที่จะมีหมายความว่าเป็นกำแพงกั้นในแง่ของการได้รับผลบุญและเพิ่มพูนความดีงามต่างๆ อย่างมากมาย

3.      อัล-กอฎีย์ อิยาฎกล่าวว่า การถือศีลอดสามารถป้องกันจากบาปต่างๆ หรือจากไฟนรก หรือจากทั้งสองอย่างนั้นได้ ทัศนะนี้ได้รับการสนับสนุนจากอิหม่ามอัน-นะวะวีย์

4.      อิบนุล อะเราะบีย์กล่าวว่า สาเหตุที่การถือศีลอดเป็นสิ่งที่สามารถปกป้องจากไฟนรกได้ก็เพราะว่าการถือศีลอดนั้นสามารถปกป้องจากการหลอกลวงของอารมณ์ใฝ่ต่ำ เพราะว่านรกนั้นจะถูกล้อมรอบด้วยอารมณ์ใฝ่ต่ำนั่นเอง

สรุป ในเมื่อการศีลอดสามารถปกป้องจากอารมณ์ใฝ่ต่ำของดุนยาแล้ว แน่นอนที่สุดการถือศีลอดก็สามารถปกป้องผู้ถือศีลอดจากไฟนรกในวันอาคิเราะฮฺได้เช่นกัน

            และในกรณีที่ผู้ถือศีลอดได้รับการดูถูกเหยียดหยามและถูกด่าทอโดยผู้อื่น เขาจงกล่าวไปว่า “ฉันกำลังถือศีลอดอยู่” ไม่ว่าจะโดยทางวาจาหรือกล่าวในใจก็ได้

 บทเรียนจากหะดีษ

1. ให้รักษามารยาทต่างๆ ในการถือศีลอด เพื่อจะได้รับผลของการถือศีลอดอย่างครบถ้วน

2. ระวังการกระทำต่างๆ ที่อาจทำให้ผลบุญของการถือศีลอดลงน้อยลง เช่น การพูดจาในสิ่งที่ไร้สาระ และการกระทำต่างๆ ที่เหมือนคนอวิชา

3. ห้ามผู้ที่ถือศีลอดตอบโต้ต่อคำพูดที่ด่าทอหรือเหยียดหยามตน

4. เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของการถือศีลอด เมื่อมีคำพูดที่เหยียดหยามตัวเขาแล้ว ให้ปฏิบัติตัวอย่างมั่นคงในฐานะเป็นผู้ที่ถือศีลอด

5. การไม่ตอบโต้คำพูดที่เหยียดหยามตน อาจจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อผู้นั้นกำลังถือศีลอดอยู่

6. อิสลามสอนให้มุสลิมมีมารยาทที่ดีงามและมีความรู้ มิใช่มีมารยาทอย่างคนที่โง่เขลา