×
บทความที่กล่าวถึงวิธีการเตรียมพร้อมเพื่อต้อนรับเดือนเราะมะฎอนอันประเสริฐ เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของเดือนแห่งการถือศีลอด การกิยาม และการทำอะมัลอิบาดะฮฺต่างๆ ซึ่งถือเป็นเทศกาลที่สำคัญสำหรับมุสลิมทุกคนในการที่จะทำความดีและเพิ่มพูนความศรัทธาของตน

    วิธีต้อนรับเดือนเราะมะฎอน

    ﴿كيف نستقبل رمضان؟﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    อะหมัด ยูนุส สมะดี

    ผู้ตรวจทาน : ฟัยซอล อับดุลฮาดี

    ที่มา : หนังสือการถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม

    2010 - 1431

    ﴿كيف نستقبل رمضان؟﴾

    « باللغة التايلاندية »

    أحمد يونس صمدي

    مراجعة: فيصل عبدالهادي

    المصدر: كتاب الصيام في الشريعة الإسلامية

    2010 - 1431


    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    วิธีต้อนรับเดือนเราะมะฎอน

    วิธีที่ 1 แสดงความปลื้มใจเนื่องในโอกาสต้อนรับเดือนเราะมะฎอน

    إظهار السُّرُوْرُ

    ต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วยการแสดงความยินดี ความปลื้มใจ เช่นที่ท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวเมื่อใกล้เดือนเราะมะฎอนว่า

    «جَاءَكُمْ شَهْرُ رَمَضَانَ , شَهْرُ رَمَضَانَ شَهْرٌ مُبَارَكٌ كَتَبَ اللهُ عَلَيْكُمْ صِيَامَهُ فِيْهِ تُفْتَحُ أَبْوَابُ الجِنَانِ وَتُغْلَقُ فِيْهِ أَبْوَابُ الجَحِيْمِ»

    ความว่า : เดือนเราะมะฎอนมายังพวกท่านแล้ว เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนอันมีความจำเริญยิ่ง อัลลอฮฺทรงบัญญัติให้พวกท่านถือศีลอดในเดือนนี้ ประตูต่างๆของสวรรค์จะถูกเปิด และประตูต่างๆของนรกจะถูกปิด (บันทึกโดยอิมามอะหมัด)

    บรรดาอัสสะละฟุศศอและฮฺจะแสดงความดีใจ และเอาใจใส่ในการต้อนรับเดือนเราะมะฎอน เพราะเป็นสัญลักษณ์ของผู้ศรัทธา ที่จะปิติยินดีเมื่อมีโอกาสกระทำความดี อันเป็นหนทางสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺ ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

    ﴿قُلْ بِفَضْلِ اللهِ وَبِرَحْمَتِهِ فَبِذَلِكَ فَلْيَفْرَحُواْ هُوَ خَيْرٌ مِّمَّا يَجْمَعُونَ﴾

    ความว่า : จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ด้วยความโปรดปรานของอัลลอฮฺ และด้วยความเมตตาของพระองค์ดังกล่าวนั้น พวกเจ้าจงดีใจเถิด ซึ่งมันดียิ่งกว่าสิ่งที่พวกเขาสะสมไว้ (ยูนุส 58)

    แต่สำหรับผู้ที่มีอีมานอ่อนแอ รักใคร่ความชั่ว ย่อมจะเสียใจเมื่อเข้าสู่เดือนเราะมะฎอน เพราะเป็นเวลาที่พวกเขาจะรังเกียจ เนื่องจากเป็นอุปสรรคมิให้พวกเขากระทำความชั่ว อาทิเช่น ผู้ที่ติดอบายมุขและไม่สามารถเลิกได้ ก็จะเห็นเดือนเราะมะฎอนเป็นเวลาแห่งความทรมาน หรือเป็นสิ่งที่ขัดขวางทำลายความสุขของเขา เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องปรับจิตใจ ขัดเกลาอารมณ์ใฝ่ต่ำของพวกเขา และตระหนักในโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงประทานมาในเดือนเราะมะฎอน เพื่อแสวงหาความอภัยโทษ และฉวยโอกาสนี้ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาให้อยู่ภายใต้ร่มเงาของอิสลาม

    วิธีที่ 2 การขอบคุณและตั้งใจทำความดีในเดือนเราะมะฎอน

    الشُّكْرُ وَالعَزِيْمَةُ عَلَى الطَّاعَة فِيْ رَمَضَان

    ต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์อัลลอฮฺ ทรงโปรดประทานชีวิตและสุขภาพที่ดีจนมีโอกาสเข้าสู่เดือนเราะมะฎอนและทำอิบาดะฮฺอีกปีหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเกียรติอันล้ำค่าที่บ่าวของพระองค์ได้รับโอกาส ถวายความดีในเดือนอันประเสริฐนี้

    อิมามนะวะวียฺกล่าวว่า พึงทราบเถิดว่า เป็นสิ่งที่ชอบให้กระทำสำหรับทุกคน เมื่อได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ให้สุญูดเพื่อขอบคุณพระองค์หรือสรรเสริญต่อพระองค์ การที่เราได้รับโอกาสถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนอีกครั้งหนึ่ง ถือเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ที่ควรขอบคุณอัลลอฮฺ ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมกับเนียะมะฮฺนี้ สำรวมตนทั้งคำพูดและการกระทำ ดังมีรายงานจากอบีฮุรอยเราะฮฺ แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า

    «مَنْ لَمْ يَدَعْ قَوْلَ الزُّوْرِ وَالعَمَلَ بِهِ فَلَيْسَ للهِ حَاجَةٌ في أَنْ يَدَعَ طَعَامَهُ وَشَرَابَهُ»

    ความว่า : “ผู้ใดไม่ละเว้นการพูดเท็จและการกระทำที่เป็นเท็จ อัลลอฮฺก็ไม่ทรงประสงค์การอดอาหารและเครื่องดื่มของเขา" (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ)

    «لَيْسَ الصِّيَامُ مِنَ الأَكْلِ وَالشَّرَابِ ، إِنَّمَا الصَّيَامُ مِنَ اللَّغْوِ وَالرَّفَثِ ، فَإِنْ سَابَّكَ أَحَدٌ أَوْ جَهِلَ عَلَيْكَ فَقُلْ إِنِّي صَائِمٌ إِنِّي صَائِمٌ»

    ความว่า : “การถือศีลอดมิใช่(การละเว้น)จากการกินการดื่มเท่านั้น แต่การถือศีลอด(จะต้องละเว้น)จากการพูดจาหรือการกระทำที่ไร้สาระ และการพูดจาหยาบคายด้วย หากมีผู้ใดมาสบประมาทหรือเยาะเย้ยท่าน ก็จงกล่าวแก่เขาว่า ฉันเป็นผู้ถือศีลอด ฉันเป็นผู้ถือศีลอด" (บันทึกโดยอิบนฺคุซัยมะฮฺและอัลฮากิม ว่าสายสืบหะซัน)

    «رُبَّ صَائِمٍ لَيْسَ لَهُ مِنْ صِيَامِهِ إِلا الجُوْعُ وَالعَطَشُ»

    ความว่า : บางทีผู้ถือศีลอดนั้น ส่วนได้ของเขาจากการถือศีลอดของเขาก็คือ ความหิวและความกระหายเท่านั้น (บันทึกโดยอิบนฺมาญะฮฺและอะหมัด)

    มุสลิมบางคนก็ยังไม่เข้าใจเป้าหมายแห่งการถือศีลอด หรือเป้าหมายของศาสนบัญญัติที่กำหนดให้ในหนึ่งปีมีเดือนหนึ่งอันเป็นเทศกาล แห่งคุณธรรมและจริยธรรม เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นสำหรับเขาที่จะต้องพยายามทำความเข้าใจเดือนเราะมะฎอนให้ มากที่สุด เพื่อที่จะปรับปรุงอุปนิสัยและมารยาทของตน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของเดือนอันประเสริฐนี้

    ในสังคมมุสลิมของเรามักจะมีบุคคลที่กมลสันดานของเขาชั่วช้าอย่างยิ่ง กระทำความผิดโดยไม่มีขอบเขต ละเมิดหลักการอย่างไม่จำกัด ท้าทายความดีแบบไม่มีความละอาย และอาจจะมีส่วนหนึ่งจากบุคคลจำพวกนี้ ที่ยังไม่รู้สึกตัวว่ามีความเลวขนาดนี้ บุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องรับสารภาพกับตัวเองเสียก่อน ที่จะแสวงหาประโยชน์จากเดือนเราะมะฎอน เพราะการถือศีลอดหรือการทำบุญย่อมจะไม่มีผลในชีวิตของเขา ดังที่มันปรากฏกับพวกเขาตลอดชีวิต แม้จะถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนมาเป็นสิบๆปี และยังมีการบริจาค ทำอุมเราะฮฺ ทำฮัจย์ แต่หาได้ยังผลต่อมารยาทจริยธรรมของเขาไม่ บุคคลเหล่านี้แหละที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า จะไม่ได้อะไรนอกจากความหิวความกระหายเท่านั้น นอกเสียจากว่าพวกเขาจำเป็นต้องมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ เพื่อ ที่จะประสบความสำเร็จกับเดือนเราะมะฎอน ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงประทานความเตาฟีกฮิดายะฮฺ และความสำเร็จแก่พี่น้องทุกท่านด้วยเทอญ

    การตั้งใจกระทำความดีในเดือนเราะมะฎอน หาใช่เพียงการคิดฝันหรือความหวังอย่างเดียวไม่ แต่จะต้องมีการวางแผนอย่างละเอียด และเตรียมมานะ(อะซีมัต)ให้เข้มข้น เพื่อจะได้มีความพร้อมสำหรับเดือนเราะมะฎอน เพราะชาวอาคิเราะฮฺจะวางแผนเพื่อโลกหน้า ดังเช่นชาวดุนยาที่มักจะวางแผนเพื่อโลกนี้ ตัวอย่างในการวางแผนในเดือนเราะมะฎอนคือ การจัดตารางทำอิบาดะฮฺ ทำความดี จะทำกี่ชนิดกี่อย่าง และจัดการบริหารเวลาในเดือนนี้อย่างมีระบบ

    ผู้ศรัทธาควรต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วยการทำสัญญากับอัลลอฮฺ ให้พระองค์ทรงโปรดเอื้ออำนวยให้เราสามารถปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างจริงใจ และปฏิบัติตามคำมั่นสัญญานี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะพระองค์ทรงสัญญาไว้ว่า

    ﴿فَلَوْ صَدَقُوْا اللهَ لَكَانَ خَيْرَاً لَهُمْ﴾

    ความว่า : ดังนั้นหากพวกเขาจริงใจต่ออัลลอฮฺแล้ว ก็จะเป็นการดีแก่พวกเขา (มุหัมมัด 21)

    และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยพูดกับสาวกท่านหนึ่งว่า

    «إِنْ تَصْدُقِ اللهَ يَصْدُقْكَ»

    ความว่า : ถ้าหากท่านจริงใจต่ออัลลอฮฺ อัลลอฮฺจึงจะจริงจังต่อท่าน

    วิธีที่ 3 การวิงวอน(ดุอาอ์)

    الدُّعَاءُ

    การวิงวอน(ดุอาอ์)ต่ออัลลอฮฺ ให้เรามีชีวิตอยู่เพื่อปฏิบัติอิบาดะฮฺในเดือนเราะมะฎอนอีกครั้ง หนึ่ง ด้วยสุขภาพพลานามัยอันสมบูรณ์.

    ท่านอนัส อิบนุ มาลิก กล่าวว่า:

    كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى الله عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا دَخَلَ رَجَب قَالَ : اللهم بَارِكْ لَنَا في رَجَبَ وَشَعْبَانَ وَبَلِّغْنَا رَمَضَانَ

    ความว่า : ท่านอนัสอิบนุมาลิก ได้รายงานไว้ว่า เมื่อถึงเดือนเราะญับแล้ว ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะกล่าวว่า (อัลลอฮุมมะ บาริก ฟี เราะญะบะ วะ ชะอฺบาน วะ บัลลิฆนา เราะมะฎอน) โอ้อัลลอฮฺ ขอให้เรามีความจำเริญในเดือนรอยับและเดือนชะอฺบาน และขอให้เราบรรลุสู่เดือนเราะมะฎอน (บันทึกโดยอะหมัดและอัฏ-เฏาะบะรอนียฺ เชค อัล-อัลบานียฺว่าเฎาะอีฟ)

    บรรดาสะละฟุศศอและฮฺมักจะวิงวอนเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อจะได้บรรลุถึงเดือนเราะมะฎอน และวิงวอนเพื่อให้อัลลอฮฺ ตอบรับความดีงามที่ได้กระทำไว้ในเดือนเราะมะฎอน และเมื่อมุสลิมเห็นจันทร์เสี้ยวของเดือนเราะมะฎอน เป็นซุนนะฮฺให้กล่าวดุอาอ์เห็นจันทร์เสี้ยวของต้นเดือนว่า

    اللهُ أَكْبَرُ . اللَّهُمَّ أَهِلَّهُ عَلَيْنَا بِالأَمْنِ وَالإِيْمَانِ وَالسَّلامَةِ وَالإِسْلامِ وَالتَّوْفِيْقِ لِمَا تُحِبُّ وَتَرْضَى رَبِّيْ وَرَبُّكَ اللهُ

    คำอ่าน : อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุมมะ อะฮิลละฮู อะลัยนา บิลอัมนิ วัลอีมานิ วัสสะลามะติ วัลอิสลามิ วัตเตาฟีกิ ลิมา ตุฮิบบุ วะตัรฎอ ร็อบบี วะร็อบบุกัลลอฮุ

    ความว่า : อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร โอ้อัลลอฮฺ ขอให้(จันทร์เสี้ยวนี้)ปรากฏต่อเราด้วยความสวัสดิภาพ ความศรัทธา ความปลอดภัย อิสลาม และทางนำในสิ่งที่พระองค์ทรงโปรดและพอพระทัย พระผู้อภิบาลของฉันและท่านคืออัลลอฮฺ (บันทึกโดยอัตติรมิซียฺและอัดดาริมียฺ อิบนุ หิบบานกล่าวว่าเศาะฮีหฺ)

    วิธีที่ 4 การกลับเนื้อกลับตัว

    التَّوْبَة

    การต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วยความตั้งใจที่จะออก ห่างและละทิ้งความผิดทุกชนิด พร้อมทั้งกลับเนื้อกลับตัวอย่างบริสุทธิ์ใจ เพราะบรรดาผู้ศรัทธามีหน้าที่ต้องเตาบัต(กลับเนื้อกลับตัว)ในทุกเวลาอยู่ แล้ว เมื่อถึงเดือนเราะมะฎอนก็เป็นโอกาสทองที่เราต้องเตาบัตตัว เพราะถ้าหากไม่สามารถกลับเนื้อกลับตัวในเดือนนี้ แล้วเมื่อไหร่เล่าจะกลับเนื้อกลับตัว อัลลอฮฺ ตรัสไว้ว่า

    ﴿وَتُوبُوا إِلَى اللهِ جَمِيعاً أَيُّهَا الْمُؤْمِنُونَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ﴾

    ความว่า : และพวกเจ้าทั้งหลายจงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺเถิด โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เพื่อพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ (อันนูร 31)

    เดือนเราะมะฎอนเป็นโอกาสดีที่จะเริ่มชีวิตใหม่อันขาวบริสุทธิ์และปราศจากมลทิน โดยตั้งใจคืนดีกับ

    • อัลลอฮฺ โดยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นบ่าวของพระองค์
    • ร่อซูลของอัลลอฮฺ โดยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นผู้ยืนหยัดในแนวทางของท่าน
    • ครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อม คือชีวิตทั้งปวงให้ขึ้นอยู่กับพระบัญชาของอัลลอฮฺ

    ชีวิตเช่นนี้ย่อมเป็นชีวิตที่สดใส มีความสุข และประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

    มุสลิมทุกคนต้องทบทวนว่าเขาจะสามารถปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาได้เท่าไรใน เดือนเราะมะฎอน มนุษย์ที่ยังบูชาอารมณ์ใฝ่ต่ำ สักการะต่อกิเลสที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเขา มนุษย์ที่ยังมีอุปนิสัยปะปนไปด้วยนิสัยของผู้ปฏิเสธศรัทธา(กาฟิร) ไม่ตระหนัก ในพระบัญชาของอัลลอฮฺ แต่คำนึงถึงอิทธิพลของสังคม กระแสสังคม และอำนาจแห่งสิ่งแวดล้อม จนทำให้ละเลยซึ่งความเป็นมุสลิม และความเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์ที่ยังข้องเกี่ยวกับอบายมุข อาทิเช่น การผิดประเวณี(ซินา) การดื่มสุรา การกินดอกเบี้ย(ริบา) การเล่นพนัน ความลามก การสูบบุหรี่ ยาเสพติด และอื่นๆ บุคคลเหล่านี้มีความจริงใจหรือไม่ ที่จะกลับเนื้อกลับตัวและปรับปรุงชีวิตให้สอดคล้องกับความสดใสของเดือนเราะมะฎอน? จริงจังหรือไม่ที่จะวางตนเองในกรอบของหลักการอิสลามอย่างเคร่งครัด? บริสุทธิ์ใจหรือไม่ที่จะประกาศความเลื่อมใสต่ออิสลามและ คำสั่งสอนของอัลอิสลาม?

    ไม่เป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความเป็นไปได้ว่า บุคคลที่เคยใช้ชีวิตของเขาตลอดมาอย่างไร้ศาสนา และจริยธรรม ที่จะกลับเนื้อกลับตัวอย่างรวดเร็วในเดือนเราะมะฎอน แต่หาเป็นเรื่องง่ายไม่ เพราะสภาพของเขาเสมือนคนป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าจำ เป็นต้องผ่าตัดเอาส่วนอันตรายออกจากร่างกาย เพื่อจะได้รับความปลอดภัยจากเชื้อโรคอันชั่วร้าย จึงจำเป็นต้องได้รับความเจ็บปวด และการที่จะเปลี่ยนชีวิตจากสภาพบุคคลที่ไม่คำนึงถึงหลักการ มุ่งมั่นในผลประโยชน์และความสุขส่วนตัว ทั้งยังสร้างความปั่นป่วนและความระส่ำระสายในสังคม เมื่อใครได้ยินชื่อจะหาความดีในประวัติไม่เจอ ให้กลายเป็นบุคคลที่มีอีมานมีคุณธรรม สร้างสรรค์ความดีให้แก่สังคม เมื่อใครได้ยินชื่อจะหาความชั่วในประวัติของเขาไม่พบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็น ต้องใช้ความมานะพยายาม และต้องขอความช่วย เหลือจากอัลลอฮฺอย่างต่อเนื่อง

    วิธีที่ 5 การศึกษาวิธีถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม

    مُدَارَسَةُ أَحْكَامِ الصِّيَام

    ต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วยการศึกษาแสวงหาความรู้ เกี่ยวกับการถือศีลอด และปัญหาที่เกี่ยวข้องที่อาจเกิดขึ้นในเดือนเราะมะฎอน เพื่อเป็นการเตรียมตัวปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างถูกต้อง เพราะเราถูกใช้ให้ถามผู้รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราทุกๆคนที่ต้องเอาใจใส่ความรู้ในเรื่องนี้ อย่าถือว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะผลกระทบจากการที่ไม่รู้หลักการของการถือศีลอดนั้น อาจทำให้สูญเสียซึ่งผลบุญที่เรามุ่งมั่นแสวงหาอย่างขะมักเขม้น จึงทำให้พวกเราขาดทุนโดยไม่รู้สึกตัว

    การศึกษาบทบัญญัติการถือศีลอด จำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าก่อนที่จะเข้าสู่วาระแห่งการปฏิบัติอิบาดะฮฺในเดือน เราะมะฎอน เพราะมุอฺมินต้องเตรียมความรู้ให้พร้อมก่อนการปฏิบัติ ดังที่พระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า

    ﴿فَاعْلَمْ أَنَّهُ لا إِلَهَ إِلا اللهُ وَاسْتَغْفِرْ لِذَنبِكَ﴾

    ความว่า : "พึงรู้เถิดว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และจงขอความอภัยโทษต่อความผิดเพื่อตัวเจ้า" (มุฮัมมัด 19)

    ในอายะฮฺนี้มีคำสั่งใช้ให้รู้และตระหนักในคำว่า ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ จึง จะมีการปฏิบัติภายหลังความรู้อย่างถูกต้อง ดังนั้น อิมามบุคอรียฺ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ จึงนำอายะฮฺนี้มาเป็นหัวข้อ(บาบ)ในหนังสืออัศศ่อฮี้ฮฺของท่านคือ บาบุน อัลอิลมุ ก๊อบละ อัลเกาลิ วัลอะมะลิ หมายถึง ความรู้ย่อมต้องมีก่อนการพูดหรือการกระทำ

    เป็นที่ปรากฏในสังคมอย่างมากมาย คือบุคคลที่กระทำความผิดโดยไม่รู้หรือรู้แต่ไม่รอบคอบ จึงทำให้มีข้อบกพร่องมากมายในการปฏิบัติศาสนกิจ อาทิเช่น สตรีที่ถือศีลอดแต่ไม่คลุมหิญาบ หรือครอบครัวที่ถือศีลอดแต่ชมหนังชมละครทั้งกลางวันกลางคืน โดยไม่รู้สึกว่าเป็นพฤติกรรมที่กำลังทำลายการถือศีลอด หรือบุคคลที่ร่วมประเวณีกับภรรยาตอนกลางวันของเดือนเราะมะฎอนโดยไม่รู้ว่าเป็น ความผิดอย่างมหันต์(กะบีเราะฮฺหรือบาปใหญ่) จนต้องมีกัฟฟาเราะฮฺ(ไถ่โทษ)ประเภทหนึ่งที่ต้องปฏิบัติ หรือบุคคลที่ถือศีลอดแต่กลับเริ่มละศีลอดด้วยการสูบบุหรี่ อันเป็นความผิดที่ท้าทายพระบัญญัติของอัลลอฮฺ

    ตัวอย่างที่ระบุข้างต้นบ่งชี้ถึงผลกระทบแห่ง ความไม่รู้ จึงใคร่ขอให้พี่น้องมุสลิมีนและมุสลิมาตศึกษาหลักการศาสนาอิสลามโดยเฉพาะ หลักการแห่งการถือศีลอดอย่างละเอียด ซึ่งในโอกาสนี้ขอแนะนำหนังสือการถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม เรียบเรียงโดยอาจารย์อะหมัด สมะดี (ฮะฟิเซาะฮุลลอฮฺ).

    วิธีที่ 6 เผยแผ่ความดีงามและคุณธรรมแห่งเดือนเราะมะฎอน

    الدَّعْوَةُ إِلَى الخَيْرِ فِيْ رَمَضَان

    ในการรายงานของท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

    «إِذَا كَانَ أَوَّلُ لَيْلَةٍ مِنْ شَهْرِ رَمَضَانَ صُفِّدَتِ الشِّيَاطِيْنُ وَمَرَدَةُ الجِنِّ وَغُلِّقَتْ أَبْوَابُ النَّارِ فَلَمْ يُفْتَحْ مِنْهَا بَابٌ ، وَفُتِّحَتْ أَبْوَابُ الجَنَّةِ فَلَمْ يُغْلَقْ مِنْهَا بَابٌ ، وَنَادَى مُنَادٍ : يَا بَاغِيَ الخَيْرِ أَقْبِلْ وَيَا بَاغِيَ الشَّرِّ أَقْصِرْ وَللهِ عُتَقَاءُ مِنَ النَّارِ وَذَلِكَ في كُلِّ لَيْلَةٍ»

    ความว่า : "เมื่อถึงคืนแรกของเดือน เราะมะฎอน บรรดาชยาฏีนและผู้นำของมันจะถูกล่ามโซ่ และบรรดาประตูแห่งนรกจะถูกปิด โดยไม่มีประตูใดๆของมันจะถูกเปิด และบรรดาประตูแห่งสวรรค์จะถูกเปิด โดยไม่มีประตูใดๆของมันจะถูกปิด และผู้เรียกร้องจะกล่าวว่า โอ้ผู้ปรารถนาความดี จงมาเถิด โอ้ผู้ปรารถนาความชั่ว จงยุติเถิด และในทุกคืนอัลลอฮฺทรงปล่อยผู้คนจากนรก" (บันทึกโดยอิบนุ คุซัยมะฮฺ)

    ผู้ศรัทธาจึงต้องต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วย การเตรียมตัวเผยแผ่ความดีงามและคุณธรรมแห่งเดือนเราะมะฎอน ให้คนใกล้เคียงมีส่วนร่วมในการทำความดี เช่น

    • เชิญชวนละหมาดมัสยิดทุกเวลา
    • ละหมาดตะรอเวียะฮฺทุกคืน
    • บริจาคทานทุกวัน
    • อ่านอัลกุรอานให้มากๆ
    • ระงับอารมณ์ให้หนักแน่น
    • จัดบรรยายหรือนะศีหะฮฺ แบบสั้นๆเล็กๆน้อยๆ สำหรับครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อนฝูง ซึ่งจะสร้างบรรยากาศอันสวยงามในสังคมของเรา

    วิธีที่ 7 ปลุกจิตสำนึกต่อความทุกข์ของประชาชาติอิสลาม

    مُشَارَكَةُ المُسْلِمِيْنَ في آلامِهِم

    ผู้ศรัทธาควรต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วยจิตสำนึก ที่เลื่อมใสต่อประชาชาติอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นพี่น้องมุสลิมที่กำลังประสบความทุกข์ ให้เราร่วมความรู้สึกกับเขาในสิ่งที่เขากำลังประสบอยู่ เฉกเช่นพี่น้องมุสลิมที่อัฟฆอนิสตาน ฟิลิสฏีน อิรัก และอื่นๆ เพราะเดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งการต่อสู้นัฟซู ต่อสู้ชัยฏอน รวมทั้งต่อสู้ศัตรูด้วย

    นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องปลุกจิตสำนึกของเรา ให้มีความห่วงใยต่ออนาคตของประชาชาติอิสลามทั้งมวล เพราะวันนี้สังคมมุสลิมทุกท้องที่อยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงมาก ทั้งในด้านศาสนา การปกครอง สังคม มารยาทจริยธรรม ครอบครัว และอื่นๆ มุสลิมทุกคนต้องรู้สึกรับผิดชอบระดับหนึ่งต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในการ แก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคมของเรา อย่ามองว่าหน้าที่ของเราในเดือนเราะมะฎอนคือการถือศีลอด แล้วความรับผิดชอบจะสิ้นสุดแค่นี้ เราต้องตระหนักว่าเดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งความห่วงใยต่อพี่น้องมุสลิมทั้ง ปวง ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สอนไว้ว่า มุสลิมกับมุสลิมเปรียบเสมือนเรือนร่างเดียวกันหรืออาคารเดียวกัน ฉะนั้นในเดือนเราะมะฎอน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงได้ประสบชัยชนะในสงครามบัดรฺ ซึ่งเป็นสงครามยิ่งใหญ่ที่พระองค์อัลลอฮฺ ทรงจำแนกระหว่างสัจธรรมและความเท็จ ท่านนบีกับศ่อฮาบะฮฺได้ต่อสู้ศัตรูอิสลามอย่างเต็มที่ เพื่อให้พระดำรัสของอัลลอฮฺนั้นประจักษ์แจ้งและสูงส่ง และให้ความยุติธรรมปรากฏในสังคมอย่างบริบูรณ์ จึงเป็นบทเรียนที่ยอดเยี่ยมสำหรับเดือนเราะมะฎอน ที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่กว่าเพียงงดอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่ต้องฟื้นฟูขึ้นในจิตใจพี่น้องมุสลิมของเรา อันเป็นวิถีทางในการเสริมสร้างบุคลิกภาพให้เข้ม แข็งเพื่อที่จะสามารถเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ

    เดือนเราะมะฎอนนี้เป็นโอกาสดีสำหรับผู้นำ นักการเมือง นักธุรกิจ ผู้รู้ในทุกๆด้าน ที่จะระดมพลังรวมความสามารถ เพื่อที่จะทำให้สังคมมุสลิมเป็นปึกแผ่นเดียว เดือนเราะมะฎอนควรจะเป็นเดือนแห่งความสามัคคี บนบรรทัดฐานแห่งอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง และจรรยาบรรณอันเข้มแข็งที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชาติอัลอิสลาม โดยปราศจากเป้าหมายส่วนตัวที่แฝงอยู่ในพฤติกรรมต่างๆ

    บุคคลที่สามารถงดอาหาร เครื่องดื่ม และความใคร่ในเดือนเราะมะฎอน ย่อมมีศักยภาพที่จะระงับกิเลส(ความต้องการและความอยาก)ของตน โดยมุ่งมั่นให้จิตใจของตนมีความโปร่งใสและความบริสุทธิ์ และเมื่อมีจิตใจเช่นนี้ปรากฏในเดือนเราะมะฎอนแล้ว ก็แสดงว่าผู้ถือศีลอดนั้นได้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติอิบาดะฮฺ จึงไม่มีสิ่งใดๆที่จะห้ามเขารับรางวัลอันใหญ่หลวงคือการอภัยโทษอันกว้างขวาง จากพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา