เราะมะฎอนกับการพัฒนาบุคลิกภาพ
หมวดหมู่
แหล่งอ้างอิง
Full Description
เราะมะฎอนกับการพัฒนาบุคลิกภาพ
[ ไทย ]
رمضان ... فرصة لتغيير النفس
[ باللغة التايلاندية ]
มัสลัน มาหะมะ
مزلن محمد
ตรวจทาน: ซุฟอัม อุษมาน
مراجعة: صافي عثمان
สำนักงานความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด
المكتب التعاوني للدعوة وتوعية الجاليات بالربوة بمدينة الرياض
1429 – 2008
เราะมะฎอนกับการพัฒนาบุคลิกภาพ
โดย อ.มัสลัน มาหะมะ
มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
إِنَّ الحَمْدَ للهِ نَحْمَدُهُ وَنَسْتَعِيْنُهُ وَنَسْتَغْفِرُهُ وَنَتُوْبُ إِلَيْهِ، وَنَعُوْذُ بِاللهِ مِنْ شُرُوْرِ أَنْفُسِنَا وَمِنْ سَيِّئاَتِ أَعْمَالِنَا ، مَنْ يَهْدِهِ اللهُ فَلا مُضِلَّ لَهُ ، وَمَنْ يُضْلِلْ فَلا هَادِيَ لَهُ ، وَأَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلٰهَ إِلاَّ اللهُ وَحْدَهُ لاَ شَرِيْكَ لَهُ ، وَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ ، اَللّٰهُمَّ صَلِّ وَسَلِّمْ وَبَارِكْ عَلٰى نَبِيِّنَا مُحَمَّدٍ وَعَلٰى آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ . أَمَّا بَعْدُ، فَيَا عِبَادَ الله أُوْصِيْكُمْ وَإِيَّايَ بِتَقْوَى الله فَقَدْ فَازَ الْمُتَّقُوْنَ .
พี่น้องผู้ยำเกรงอัลลอฮฺ ตะอาลา ทุกท่าน
เราะมะฎอนมาเยือนเราอีกแล้ว พร้อมๆ กับความประเสริฐและบะเราะกะฮฺอันยิ่งใหญ่ เราะมะฎอนถือเป็นแขกพิเศษที่มุสลิมทุกคนต้องให้ความสำคัญ เป็นแขกกิตติมศักดิ์ผู้มีแต่ให้ มอบความดีงามและผลบุญอันมากมาย ลบล้างมลทินทั้งหลาย ชำระคดีบาปทั้งปวง นับเป็นช่วงโอกาสทองที่มีการลด แลก แจก แถม ที่ไม่มีใครปฏิเสธและไม่ได้รับความดีจากมัน เว้นแต่ผู้ที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กำหนดว่าเป็นผู้ที่ชั่วช้าขนานแท้ พึงทราบว่า ผู้ใดที่ไม่สามารถตักตวงและเก็บเกี่ยวความประเสริฐที่ปรากฏในเราะมะฎอน ผู้นั้นย่อมไม่สามารถค้นหาความประเสริฐใดๆ อีกแล้วในชีวิตนี้
ดังนั้น มุสลิมทุกคนต้องหวนกลับไปคิดและไตร่ตรองอย่างจริงจังว่า เราสามารถตักตวงและฉกฉวยความประเสริฐในเดือนเราะมะฎอนในครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน เราะมะฎอนทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดบ้าง หรือเราะมะฎอนเป็นเพียงแค่ธรรมเนียมปฎิบัติที่ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษเท่านั้น หาเป็นอิบาดะฮฺที่มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตแต่อย่างใดไม่ หากเป็นเช่นนี้ เราช่างเป็นผู้ที่เสียโอกาสและขาดทุนที่สุด
พี่น้องผู้ถือศีลอดทุกท่าน
เราไม่อาจปฎิเสธได้เลยว่า การถือศีลอดมีประโยชน์และคุณค่ามากมายมหาศาล ทั้งด้านสุขภาพอนามัย สังคม เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ แต่ผลประโยชน์เหล่านี้ถือเป็นผลพลอยได้เท่านั้น เพราะเป้าประสงค์อันแท้จริงของเราะมะฎอนคือ เพื่อยกระดับอีมานและตักวา ซึ่งวัตถุประสงค์อันยิ่งใหญ่นี้ได้ถูกกำหนดไว้ในอัลกุรอานว่า " "لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ อันหมายถึง “เผื่อว่าพวกเจ้าจะได้มีความยำเกรง” ดังนั้น ความยำเกรงถือเป็นเป้าหมายอันสูงสุดของศิยาม(การถือศีลอด) และศิยามที่มีประสิทธิภาพคือศิยามที่สามารถสร้าง “ความยำเกรง” ในจิตใจของแต่ละคนเท่านั้น
ประเด็นที่เราต้องให้ความสำคัญ ณ ที่นี้ก็คือ อะไรคือตักวาและตักวามีบทบาทต่อการพัฒนาบุคลิกของมุสลิมมากน้อยเพียงใด ?
ตักวาคือความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา นอบน้อมและสวามิภักดิ์ต่อคำสอนของอัลลอฮฺ ตะอาลา ทุกย่างก้าวในชีวิตประจำวันของมุสลิมผู้ตักวา จะต้องระมัดระวังและมีความรอบคอบมิให้ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ สุบหานาฮูวะตะอาลา ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ คำพูด การดื่มกิน การคบค้าสมาคม แม้กระทั่งเสี้ยววินาทีของการนึกคิดและจินตนาการภายในหัวใจ ทุกอิริยบถของมุสลิมผู้ตักวาทุกคน จะต้องดำเนินไปภายใต้กรอบที่กำหนดโดยอัลลอฮฺ ตะอาลา และรอซูลของพระองค์เท่านั้น
ในโอกาสอันบะเราะกะฮฺนี้ ผมใคร่ยกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเราว่า เราะมะฎอนมีส่วนช่วยให้มุสลิมพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นมากน้อยเพียงใด ?
เป็นที่ทราบกันดีว่าอิสลามให้ความสำคัญกับหลักโภชนาการเป็นอย่างมาก อัลลอฮ สุบหานาฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า
«يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ كُلُواْ مِن طَيِّبَاتِ مَا رَزَقْنَاكُمْ وَاشْكُرُواْ لِلّهِ إِن كُنتُمْ إِيَّاهُ تَعْبُدُونَ» (البقرة : 172)
ความว่า บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงบริโภคสิ่งที่เราได้ประทานเป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า จากสิ่งดีๆ ทั้งหลาย และจงขอบคุณอัลลอฮฺเถิด หากเฉพาะพระองค์เท่านั้น ที่พวกเจ้าจักเป็นผู้เคารพภักดี
มีอายะฮฺมากมายและหะดีษหลายบทหลายตอน ที่พยายามสั่งสอนให้มนุษย์ใช้หลักโภชนาการที่ดีด้วยการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าตามหลักอนามัย โดยที่อิสลามถือว่าอาหารทุกประเภทที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตถือเป็นสิ่งต้องห้ามทั้งสิ้น
พี่น้องที่เคารพทุกท่าน
ประเด็นที่ใคร่ย้ำเตือน ณ ที่นี่คือ วัฒนธรรมการสูบบุหรี่ในสังคมมุสลิม ซึ่งถือเป็นภาพชินตาในสังคมเราที่มีผู้คนสูบบุหรี่อย่างแพร่หลาย แม้กระทั่งในบรรดานักวิชาการ นักการศาสนา หรือผู้ที่สังคมยกย่องว่าเป็นผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาก็ตาม
ถามว่าทำไมปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในสังคมมุสลิม ทั้ง ๆ ที่ทุกคนต่างก็ทราบดีว่าบุหรี่มีสารพิษที่อันตรายแค่ไหน แม้กระทั่งบนซองบุหรี่ทุกซอง ยังแจกแจงรายการโรคร้ายสารพัดที่เกิดขึ้นจากการเป็นสิงห์อมควัน จนกระทั่งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ปกครองโดยชาวพุทธ คริสเตียน ฮินดู หรือประเทศคอมมิวนิสต์ก็ตาม ต่างก็ประกาศว่าบุหรี่คือสิ่งเสพติดที่มีสารอันตรายปนเปื้อนอยู่ มีการออกกฏหมายกำหนดค่าปรับสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน และมีการรณรงค์ให้เลิกบุหรี่ จนกระทั่งองค์การอนามัยโลกได้กำหนดวันเลิกบุหรี่ประจำปีเลยทีเดียว
เราไม่จำเป็นดูตัวเลขงบประมาณจำนวนมหาศาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ผลาญไปเพื่อการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ และเราไม่จำเป็นต้องจดจำตัวเลขความสูญเสียของแต่ละประเทศที่เกิดจากการรักษาผู้ป่วยอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ แต่เป็นการเพียงพอ ที่เราจะรับรู้จากผลการวิจัยของสถาบันรามจิตติ์ซึ่งพบว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี เมื่อทดลองสูบบุหรี่มวนเดียว โอกาสที่เด็กคนนี้จะติดบุหรี่มีถึง 100% แต่หากทดลองดื่มเหล้าแก้วเดียว โอกาสที่เด็กคนนี้จะติดเหล้าเพียง 30% เท่านั้น ผลการวิจัยยังพบว่า หากเด็กในช่วงอายุดังกล่าวติดบุหรี่แล้ว โอกาสที่เขาจะติดกัญชามีสูงถึง 200 % เลยทีเดียว
ผลการวิจัยดังกล่าวข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าฤทธิ์ของการเสพติดในบุหรี่มีพลานุภาพมากกว่าเหล้าเพียงใด และบุหรี่เป็นสาเหตุของการติดสิ่งเสพติดชนิดอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน
เราจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมขณะนี้สิ่งเสพติดชนิดต่างๆ ได้กลายเป็นสินค้า OTOP ประจำสังคมมุสลิมไปแล้ว หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งใบกระท่อม หนึ่งกัญชา หนึ่งยาบ้า จนมีคนพูดว่า ที่ไหนมีมัสยิด ที่นั่นมีสิ่งเสพติด สาเหตุหลักก็เพราะว่าสังคมมุสลิมโดยส่วนใหญ่แล้ว ละเลยและเมินเฉยกับการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ คุณพ่อไม่ค่อยให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของลูกๆ ผู้ใหญ่ไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนในเรื่องการละ เลิกบุหรี่อย่างจริงจังนั่นเอง
อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีสารอาหารชนิดใดในโลกนี้ ที่ชาวโลกพากันรับทราบถึงพิษภัยของมัน และมีการรณรงค์ถึงผลกระทบอันร้ายแรง ตลอดจนมีการวินิจฉัยเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสารอันตรายต่อชีวิต เหมือนกับบุหรี่อีกแล้ว คำถามที่ทุกคนต้องครุ่นคิดและหาคำตอบให้ได้ คือ ทำไมบุหรี่จึงสามารถเข้าไปแพร่หลายในสังคมมุสลิมได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยไม่จำกัดเพศ วัย และฐานะทางสังคม แม้กระทั่งในมัสยิด หรือช่วงการละศีลอดซึ่งถือเป็นโอกาสที่เต็มไปด้วยมะลาอิกะฮฺผู้ทรงเกียรติ ก็ยังมีการสูบบุรี่อย่างเชิดหน้าชูตา
ศิยามมีผลทำให้สังคมมุสลิมปลอดภัยจากควันพิษเหล่านี้ได้หรือไม่ ? น่าจะเป็นการบ้านสำหรับผู้ที่ศิยามทั้งหลายว่า ความจริงแล้ว การถือศีลอดมีบทบาทต่อการขัดเกลาจิตใจมากน้อยแค่ไหน ศิยามมีหน้าที่ยับยั้งมุสลิมมิให้ดื่มกินในช่วงเวลากลางวันเท่านั้นหรือ เราสามารถทำให้กระเพาะว่างเปล่าจากอาหาร แต่เราไม่เคยทำให้จิตใจว่างเปล่าที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เรายังคงติดยึดและฝังลึกกับค่านิยมที่เพี้ยนๆ และทัศนคติที่ผิดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้ออ้างและเหตุผลลอยๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมกับสิ่งเสพติดที่มีชื่อว่าบุหรี่ อันเป็นต้นเหตุของความสูญเสียและเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ขยายของสิ่งเสพติดชนิดอื่นๆ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนต้องรีบพัฒนาประสิทธิภาพของศิยามให้สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมมุสลิมกล้าประกาศว่าเราะมะฎอนปีนี้ เป็นเราะมะฎอนที่ปลอดจากควันบุหรี่ โดยให้มัสยิดแต่ละแห่งเป็นสถานที่นำร่อง เราจะมีมาตรการอย่างไรที่จะทำให้บุหรี่ไม่มีโอกาสเล็ดรอดเข้ามา ณ สถานที่อันทรงเกียรตินี้ตลอดทั้งปี เหมือนกับที่เราสามารถทำได้ในขณะนี้และวันนี้
ขอให้เราะมะฎอนในปีนี้ เป็นเราะมะฎอนที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมมุสลิม โดยเฉพาะพฤติกรรมการสูบบุหรี่ที่มีการรณรงค์ ละ เลิก บุหรี่อย่างจริงจัง ซึ่งก็ต้องฝากถามแต่ละคนว่า เราะมะฎอนในปีนี้เราสามารถบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งตักวาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน
พึงทราบว่า เมนูต่างๆ ที่เตรียมเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนอาทิ ศิยาม กิยาม การบริจาคทาน การอ่านอัลกุรอาน อิอฺติกาฟในช่วงสิบคืนสุดท้ายและความดีอื่นๆ ล้วนเป็นเมนูเด็ดที่สามารถเสริมสร้างตักวาที่แท้จริง ซึ่งมุสลิมทุกคนใฝ่หาและรอคอย สมกับความหวังของทุกท่านที่มีความมุ่งมั่นทำให้เราะมะฎอนสามารถสร้างราตรีกาลให้มีชีวิต เสริมจิตให้เข้มแข็ง เพื่อพิชิตลัยละตุลก็อดรฺอันประเสริฐ
اللَّهُمَّ اجْعَلْنَا مِمَّنْ صَامَ وَقَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَاباً وَاجْعَلْنَا مِمَّنْ غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ
โอ้อัลลอฮฺ ได้โปรดให้เรา เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ศิยามและกิยามด้วยอีมานและความหวังในผลตอบแทนของพระองค์ และได้โปรดให้เรา เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ได้รับการอภัยโทษจากความผิดพลาดครั้งที่ผ่านมาด้วยเถิด
بَارَكَ اللهُ لِى وَلَكُمْ فِى الْقُرْآنِ الْعَظِيْمِ وَنَفَعَنِى وَإِيَّاكُمْ بِمَا فِيْهِ مِنَ الآيَاتِ وَالذِّكْرِ الْحَكِيْمِ وََتقَبَّلَ مِنِّى وَمِنْكُمْ تِلاَوَتَهُ إِنَّهُ هُوَ السَّمِيْعُ الْعَلِيْمُ. وَأَسْتَغْفِرُ اللهَ لِى وَلَكُمْ وَلِسَائِرِ الْمُسْلِمِيْنَ وَالْمُسْلِمَاتِ وَالْمُؤْمِنِيْنَ وَالْمُؤمِنَات مِنْ كُلِّ ذَنْبٍ فاسْتَغْفِرُوه إِنَّهُ هُوَ الْغَفُوْرُ الرَّحِيْمُ