×
รวมหลักฐานต่างๆ จากอัลกุรอานและหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่กล่าวถึงความประเสริฐของสิบวันแรกเดือนซุลหิจญะฮฺ และพูดถึงการปฏิบัติความดีต่างๆ ที่มุสลิมควรให้ความสำคัญและมุ่งมั่นประกอบความดีในช่วงเวลานี้ เป็นบทความจากหนังสืออัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ ของเชคอะมีน อัช-ชะกอวีย์

    ความประเสริฐของสิบวันแรกซุลหิจญะฮฺ

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ

    ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-
    มุลกอฮฺ

    2012 - 1433

    فضل أيام عشر ذي الحجة

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: حسنى فوانجسيري

    مراجعة: عصران نيومديشا

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2012 - 1433

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เรื่องที่ 144

    ความประเสริฐของสิบวันแรกแห่งเดือนซุลหิจญะฮฺ

    มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่าน ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่า มุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

    แท้จริงอัลลอฮฺทรงให้สิ่งหนึ่งจากบรรดาสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างมีความประเสริฐเหนืออีกสิ่งหนึ่ง และทรงเลือกเฟ้นจากสิ่งนั้นๆตามแต่พระองค์ทรงประสงค์ ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า

    ﴿ وَرَبُّكَ يَخۡلُقُ مَا يَشَآءُ وَيَخۡتَارُۗ مَا كَانَ لَهُمُ ٱلۡخِيَرَةُۚ سُبۡحَٰنَ ٱللَّهِ وَتَعَٰلَىٰ عَمَّا يُشۡرِكُونَ ٦٨ ﴾ [القصص: ٦٨]

    ความว่า “และพระเจ้าของเจ้าทรงสร้างสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์และทรงเลือก สำหรับพวกเขาไม่มีสิทธิ์ในการเลือก มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่อัลลอฮฺ และพระองค์ทรงสูงส่งจากสิ่งที่พวกเขาตั้งภาคี” (อัล-เกาะศ็อศ: 68)

    และหนึ่งในช่วงเวลาที่อัลลอฮฺทรงให้มีความประเสริฐเหนือช่วงเวลาใดๆ ก็คือช่วงสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺพระองค์ตรัสว่า

    ﴿ وَٱلۡفَجۡرِ ١ وَلَيَالٍ عَشۡرٖ ٢ ﴾ [الفجر: ٢]

    ความว่า “ขอสาบานด้วยยามรุ่งอรุณและด้วยค่ำคืนทั้งสิบ” (อัล-ฟัจร: 1-2)

    ซึ่งการที่พระองค์ทรงสาบานด้วยสิ่งใด ก็เป็นการบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญของสิ่งนั้นๆ

    ท่านอิบนุอับบาส ท่านซุบัยรฺ ท่านมุญาฮิด และบรรดาสลัฟท่านอื่นๆกล่าวว่า “ช่วงเวลาที่ถูกกล่าวถึงในอายะฮฺ คือช่วงสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ” ท่านอิบนุกะษีร กล่าวว่า “และนี่คือทัศนะที่ถูกต้อง" (ตัฟสีรฺอิบนุกะษีรฺ เล่ม 4 หน้า 505)

    อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสอีกว่า

    ﴿ لِّيَشۡهَدُواْ مَنَٰفِعَ لَهُمۡ وَيَذۡكُرُواْ ٱسۡمَ ٱللَّهِ فِيٓ أَيَّامٖ مَّعۡلُومَٰتٍ عَلَىٰ مَا رَزَقَهُم مِّنۢ بَهِيمَةِ ٱلۡأَنۡعَٰمِۖ فَكُلُواْ مِنۡهَا وَأَطۡعِمُواْ ٱلۡبَآئِسَ ٱلۡفَقِيرَ ٢٨ ﴾ [الحج : ٢٨]

    ความว่า “เพื่อพวกเขาจะได้มาร่วมเป็นพยานในผลประโยชน์ของพวกเขา และกล่าวพระนามอัลลอฮฺในวันที่รู้กันอยู่แล้ว (คือวันเชือด) ตามที่พระองค์ทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเขาจากสัตว์สี่เท้า ดังนั้นพวกเจ้าจงกินเนื้อมัน และจงให้อาหารแก่ผู้ยากจนขัดสน” (อัล-หัจญ : 28)

    ท่านอิบนุอับบาส กล่าวว่า “วันที่รู้กันอยู่แล้ว คือสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ” (อัล-บุคอรียฺ หน้า 193)

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า ช่วงเวลาดังกล่าวคือช่วงเวลาที่ประเสริฐที่สุด และการปฏิบัติคุณงามความดีใดๆในช่วงเวลานี้ จะได้รับผลบุญที่ยิ่งใหญ่กว่าช่วงเวลาอื่นๆ มีรายงานซึ่งบันทึกโดยอิมามอัล-บุคอรียฺ และอัตติรมิซียฺ จากท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «مَا مِنْ أَيَّامٍ العَمَلُ الصَالِحُ فِيْهِنَّ أَحَبُّ إِلَى اللهِ مِنْ هَذِهِ الأَيامِ العَشْرِ ، فقالوا : ياَ رَسُوْلَ اللهِ ولا الجِهَادُ فِيْ سَبِيْلِ اللهِ؟ فَقَالَ رَسُوْلُ اللهِ : وَلَا الجِهَادُ فِيْ سَبِيْلِ اللهِ إِلَّا رَجُلٌ خَرَجَ بِنَفْسِهِ وَمَالِهِ فَلَمْ يَرْجِعْ مِنْ ذَلِكَ بِشَيْءٍ » [البخاري برقم 969، والترمذي برقم 757]

    ความว่า “ไม่มีวันใดๆ ที่การทำคุณงามความดีนั้นจะเป็นที่โปรดปรานของอัลลอฮฺ มากกว่าการปฏิบัติในสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ” บรรดาเศาะหาบะฮฺจึงถามว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ แม้กระทั่งการทำญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺกระนั้นหรือ?” ท่านนบีตอบว่า “แม้กระทั่งการทำญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ เว้นแต่ผู้ที่ออกจากบ้านของเขาพร้อมด้วยชีวิตและทรัพย์สินของเขา โดยที่เขาไม่ได้สิ่งใดกลับมาเลย” (หมายถึงเสียชีวิตในหนทางของอัลลอฮฺ) (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 969 และอัตติรมิซียฺ หะดีษเลขที่ 757)

    ท่านอิบนุอุมัร เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «مَا مِنْ أَيامٍ أَعْظَمُ عِنْدَ اللهِ، وَلَا أَحَبّ إِلَيْهِ مِنَ اْلعَمَلِ فِيْهِن، مِنْ هَذِهِ اْلأَيامِ العَشْرِ، فَأَكْثِرُوا فِيْهِنَّ التَهْلِيْلَ والتَكْبِيْرَ وَالتَحْمِيْدَ» [أحمد برقم 5446]

    ความว่า “ ไม่มีช่วงเวลาใดที่การทำความดีจะยิ่งใหญ่และเป็นที่รักยิ่ง ณ ที่อัลลอฮฺ มากไปกว่าสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ ดังนั้นพวกท่านจงกล่าวตะฮฺลี้ล (ลาอิลาฮะอิลลัลอฮฺ) ตักบีรฺ (อัลลอฮุอักบัร) และตะหฺมีด (อัลหัมดุลิลลาฮฺ) ให้มากๆในวันเหล่านี้” (อะหฺมัด หะดีษเลขที่ 5446)

    ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนี้ได้รวมเอาวันสำคัญต่างๆไว้ ได้แก่ วันอะเราะฟะฮฺ วันเชือด และวันที่สิบเอ็ดของซุลหิจญะฮฺ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดช่วงเวลาหนึ่ง ณ ที่อัลลอฮฺ ท่านอับดุลลอฮฺ บิน กุรฏฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «إِنّ أَعْظَمَ اْلأَيامِ عِنْدَ اللهِ تَعَالَى يَوْمُ النحْرِ ثم يَوْمُ القرِّ» [أبو داود برقم 1765]

    ความว่า “แท้จริงช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ณ ที่อัลลอฮฺ ตะอาลา คือวันเชือด และวันที่สิบเอ็ดของเดือนซุลหิจญะฮฺ” (อบูดาวุด หะดีษเลขที่ 1765)

    ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «مَا مِنْ يَوْمٍ أَكْثَر مِنْ أَنْ يُعْتِقَ اللهُ فِيْهِ عَبْدًا مِنَ النارِ مِنْ يَوْمِ عَرَفَةَ، وَإِنهُ لَيَدْنُوْ ثُم يُبَاهِي بِهِم المَلَائِكَةَ فَيَقُوْلُ: مَا أَرَادَ هَؤُلَاءِ؟» [مسلم برقم 1848]

    ความว่า “ไม่มีวันใดที่อัลลอฮฺจะทรงปลดปล่อยบ่าวของพระองค์จากไฟนรกมากไปกว่าวันอะเราะฟะฮฺ และแท้จริงพระองค์จะทรงเข้าใกล้และทรงกล่าวชื่นชมพวกเขาต่อหน้ามลาอิกะฮฺ โดยพระองค์จะตรัสว่า คนเหล่านี้ประสงค์อะไรหรือ?" (มุสลิม หะดีษเลขที่ 1848)

    วันดังกล่าวคือวันแห่งการอภัยโทษและการปลดปล่อยจากไฟนรก ผู้ที่ถือศีลอดในวันนั้นจะได้รับการลบล้างความผิดถึงสองปี ท่านอบูเกาะตาดะฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «صِيَامُ يَوْمِ عَرَفَةَ إِنِي أَحْتَسِبُ عَلَى اللهِ أَنْ يُكَفِّرَ السَّنَةَ الِّتيْ بَعْدَهُ وَالسَّنَةَ الِّتي قَبْلَهُ» [مسلم برقم 1126، والترمذي برقم 749]

    ความว่า “การถือศีลอดวันอะเราะฟะฮฺนั้น ฉันคาดหวังว่าอัลลอฮฺจะทรงลบล้างความผิดบาปต่างๆ สำหรับหนึ่งปีหลังจากนี้ และหนึ่งปีที่ผ่านมา” (มุสลิม หะดีษเลขที่ 1126 และอัตติรมิซียฺ หะดีษเลขที่ 749)

    อิบนุหะญัร กล่าวว่า “เหตุผลสำคัญที่ทำให้สิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺเต็มไปด้วยความประเสริฐนั้น ก็เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่อิบาดะฮฺหลักต่างๆมาบรรจบอยู่ด้วยกัน ซึ่งก็คือการละหมาด การถือศีลอด การบริจาคทาน และการทำหัจญ์ ซึ่งสิ่งนี้ไม่มีในวันอื่นนอกจากสิบวันแรกของซุลหิจญะฮฺ” (ฟัตหุลบารี 2/460)

    อิบนุเราะญับ กล่าวว่า “อัลลอฮฺทรงทำให้จิตใจของบรรดามุอ์มินผู้ศรัทธาถวิลหาการเยือนบัยตุลลอฮฺ แต่มิใช่ทุกคนมีความสามารถที่จะไปได้ในทุกๆปี และการประกอบพิธีหัจญ์เป็นฟัรฎฺ (สิ่งที่จำเป็นต้องทำ) สำหรับมุสลิมที่มีความสามารถเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้นในชีวิตของเขา เพราะฉะนั้นช่วงเวลาดังกล่าว (หมายถึงสิบวันแรกของซุลหิจญะฮฺ) พระองค์จึงทรงทำให้ผู้ที่สามารถเดินทางไปประกอบพิธีหัจญ์ และผู้ที่ไม่มีความสามารถ ได้มีโอกาสปฏิบัติคุณงามความดีร่วมกัน ถึงแม้ว่าบุคคลๆนั้นจะปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่บ้านของเขาก็ได้รับผลบุญที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าการออกไปญิฮาด” (ละฏออิฟุลมะอาริฟ หน้า 310)

    เป็นที่เห็นพ้องตรงกันว่าช่วงเวลากลางวันในสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺนั้นเป็นช่วงเวลากลางวันที่มีความประเสริฐที่สุด เพราะมีหลักฐานระบุชัดเจน จะมีความเห็นแตกต่างกันบ้างก็ในส่วนของช่วงเวลากลางคืน โดยบางทัศนะเห็นว่าค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนนั้นประเสริฐที่สุดเหนือค่ำคืนอื่นๆ หนึ่งในผู้ที่ยึดทัศนะดังกล่าวคือท่านอิบนุกอยยิม ท่านกล่าวว่า “การจำแนกเช่นนี้เป็นการคลายข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าว สิ่งที่เป็นข้อบ่งชี้ในเรื่องนี้ก็คือ ช่วงเวลากลางคืนของสิบวันสุดท้ายในเดือนเราะมะฎอนนั้นมีความประเสริฐก็เพราะมีคืนอัล-ก็อดรฺซึ่งเป็นช่วงกลางคืน ส่วนที่สิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺมีความประเสริฐก็เพราะเป็นช่วงเวลากลางวันที่มีวันสำคัญต่างๆ นั่นก็คือวันเชือด วันอะเราะฟะฮฺ และวันตัรวิยะฮฺ” (ซาดุลมะอาด เล่ม 1 หน้า 57)

    สมควรเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อัลลอฮฺทรงให้โอกาสเขาได้รับรู้ถึงความประเสริฐของวันเหล่านี้ และทรงให้เขามีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวจะต้องขะมักเขม้นในการประกอบอิบาดะฮฺและคุณงามความดีต่างๆ เพราะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆเพียงไม่กี่วันก็จากไป บรรดาชาวสลัฟต่างก็ขวนขวายทำความดีกันในช่วงเวลานี้ และหนึ่งในนั้นก็คือท่านสะอีด บิน มุสัยยิบ ซึ่งเป็นผู้ที่ขะมักเขม้นในการปฏิบัติความดีอย่างมากมาย ชนิดที่แทบจะไม่มีผู้ใดทำได้เช่นเขา

    การงานที่ดีที่ซึ่งสมควรกระทำอย่างยิ่งในช่วงสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺก็เช่น

    การประกอบพิธีหัจญ์ ณ บัยตุลลอฮฺ ซึ่งถือว่าเป็นการงานที่ประเสริฐที่สุด อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ وَلِلَّهِ عَلَى ٱلنَّاسِ حِجُّ ٱلۡبَيۡتِ مَنِ ٱسۡتَطَاعَ إِلَيۡهِ سَبِيلٗاۚ وَمَن كَفَرَ فَإِنَّ ٱللَّهَ غَنِيٌّ عَنِ ٱلۡعَٰلَمِينَ ٩٧ ﴾ [آل عمران: ٩٧]

    ความว่า “และสิทธิของอัลลอฮฺที่มีเหนือมนุษย์นั้น คือการมุ่งสู่บ้านหลังนั้น อันได้แก่ผู้ที่สามารถหาทางไปยังบ้านหลังนั้นได้และหากผู้ใดปฏิเสธ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นไม่ทรงพึ่งประชาชาติทั้งหลาย” (อาล อิมรอน: 97)

    ท่านอิบนุอุมัร เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «بُنِيَ اْلِإسْلاَمُ عَلَى خَمْسٍ : شَهَادَة أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا الله وَأَن مُحَمَّدًا رسول الله وَإِقَام الصَّلَاة وَإِيْتَاء الزَكَاةِ والحَجّ وَصَوْم رَمَضَانَ» [البخاري برقم 8، ومسلم برقم 16]

    ความว่า “ศาสนาอิสลามวางอยู่บนรากฐานห้าประการ: การกล่าวปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ การดำรงการละหมาด การจ่ายซะกาต การประกอบพิธีหัจญ์ และการถือศีลอด” (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 8 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 16)

    ท่านอบูสะอีด อัลคุดรีย์ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «إنَّ اللهَ تَعَالَى يَقُوْلُ: إِنَّ عَبْدًا أَصْحَحْتُ لَهُ جِسْمَهُ وَوَسَّعْتُ عَلَيْهِ فِيْ مَعِيْشَتِهِ تَمْضِيْ عَلَيْهِ خَمْسَة أَعْوَامٍ لَا يفدُ إليَّ لَمَحْرُومٌ» [ابن حبان برقم 3703]

    ความว่า "อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า: บ่าวของข้าผู้ซึ่งข้าได้ให้ร่างกายของเขามีสุขภาพที่ดี และให้ชีวิตของเขามีความสุขความจำเริญ แต่เขากลับปล่อยให้เวลาผ่านไปถึงห้าปี โดยที่เขาไม่เดินทางมาหาข้า ผู้ที่เป็นเช่นนี้คือผู้ที่อับจนอย่างแน่แท้" (อิบนุหิบบาน หะดีษเลขที่ 3703)

    การถือศีลอด อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ وَأَن تَصُومُواْ خَيۡرٞ لَّكُمۡ إِن كُنتُمۡ تَعۡلَمُونَ ١٨٤ ﴾ [البقرة: ١٨٤]

    ความว่า “และการที่พวกเจ้าจะถือศีลอดนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งกว่าพวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้” (อัล บะเกาะเราะฮฺ: 184)

    และพระองค์ได้ตรัสหลังจากที่ทรงกล่าวถึงบรรดาผู้ที่เร่งรีบสู่การกระทำความดีไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือสตรีว่า

    ﴿ وَٱلصَّٰٓئِمِينَ وَٱلصَّٰٓئِمَٰتِ وَٱلۡحَٰفِظِينَ فُرُوجَهُمۡ وَٱلۡحَٰفِظَٰتِ وَٱلذَّٰكِرِينَ ٱللَّهَ كَثِيرٗا وَٱلذَّٰكِرَٰتِ أَعَدَّ ٱللَّهُ لَهُم مَّغۡفِرَةٗ وَأَجۡرًا عَظِيمٗا ٣٥ ﴾ [الأحزاب : ٣٥]

    ความว่า “บรรดาผู้ถือศีลอดชายและหญิง บรรดาผู้รักษาอวัยวะเพศของพวกเขาที่เป็นชายและหญิง บรรดาผู้รำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากที่เป็นชายและหญิงนั้น อัลลอฮฺทรงเตรียมไว้แก่พวกเขาซึ่งการอภัยโทษและผลบุญอันใหญ่หลวง” (อัล อะหฺซาบ : 35)

    ท่านอบูสะอีด อัลคุดรียฺ เล่าว่า ฉันได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «مَنْ صَامَ يَوْمًا فِيْ سَبِيْلِ اللهِ بَعَّدَ اللهُ وَجْهَهُ مِنَ النَّارِ سَبْعِيْنَ خَرِيْفًا» [البخاري برقم 1896، ومسلم برقم 1153]

    ความว่า “ผู้ใดถือศีลอดวันหนึ่งในหนทางของอัลลอฮฺ พระองค์จะทรงทำให้ใบหน้าของเขาห่างไกลจากไฟนรกถึงเจ็ดสิบปี” (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 1896 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1153)

    ท่านสะฮฺล์ บิน สะอัด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «إِنَّ فِي الجَنَّةِ بَابًا يُقَالُ لَهُ الرَيَّان يَدْخُلُ مِنْهُ الصَّائِمُوْنَ يَوْم القِيَامَةِ لاَ يَدْخُلُ مِنْهُ أَحَدٌ غَيرهُم يُقَالُ: أَيْنَ الصَّائِمُوْنَ؟ فَيَقُوْمُوْنَ لَا يَدْخُلُ مِنْهُ أحدٌ غيرهم فَإِذَا دَخَلُوْا أُغلِقَ فَلَمْ يَدْخُل مِنْهُ أحد» [البخاري برقم 1896، ومسلم برقم 1152]

    ความว่า “แท้จริงในสวรรค์นั้นมีประตูอยู่บานหนึ่งชื่ออัรร็อยยาน บรรดาผู้ถือศีลอดจะเข้าทางประตูนี้ในวันกิยามะฮฺ ไม่มีผู้ใดเข้าทางประตูนี้นอกจากพวกเขา และจะมีเสียงป่าวประกาศขึ้นว่า บรรดาผู้ถือศีลอดอยู่ไหน? แล้วพวกเขาก็จะลุกขึ้น โดยไม่มีใครอื่นใดสามารถเข้าประตูนี้ได้ เมื่อพวกเขาเข้าไปแล้วประตูนั้นก็จะถูกปิด และไม่มีคนใดเข้าทางประตูนี้ได้อีก” (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 1896 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1152)

    การบริจาคทาน อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    ﴿ ٱلَّذِينَ يُنفِقُونَ أَمۡوَٰلَهُم بِٱلَّيۡلِ وَٱلنَّهَارِ سِرّٗا وَعَلَانِيَةٗ فَلَهُمۡ أَجۡرُهُمۡ عِندَ رَبِّهِمۡ وَلَا خَوۡفٌ عَلَيۡهِمۡ وَلَا هُمۡ يَحۡزَنُونَ ٢٧٤ ﴾ [البقرة: ٢٧٤]

    ความว่า “บรรดาผู้ที่บริจาคทรัพย์ของพวกเขาทั้งในเวลากลางคืนและกลางวัน ทั้งโดยปกปิดและเปิดเผยนั้น พวกเขาจะได้รับรางวัลของพวกเขา ณ พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา และไม่มีความกลัวอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นแก่พวกเขา และทั้งพวกเขาก็จะไม่เสียใจ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 274)

    ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «َا نَقَصَتْ صَدَقَة مِنْ مَالٍ» [مسلم برقم 2588]

    ความว่า “การบริจาคทานจะไม่ทำให้ทรัพย์สินของผู้ที่บริจาคลดน้อยลงเลย” (มุสลิม หะดีษเลขที่ 2588)

    ท่านมุอาซ บิน ญะบัล เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    «وَالصَّدَقَةُ تطفئ الخَطِيْئَة كَمَا يطفئ المَاءُ النَّارَ» [الترمذي برقم 2616]

    ความว่า “การบริจาคทานนั้นจะช่วยลบล้างความผิด เสมือนดังน้ำที่ช่วยดับเปลวไฟ” (อัตติรมิซียฺ หะดีษเลขที่ 2616)

    ซิกรุลลอฮฺ (การรำลึกถึงอัลลอฮฺ) พระองค์ตรัสว่า

    ﴿ ٱلَّذِينَ يَذۡكُرُونَ ٱللَّهَ قِيَٰمٗا وَقُعُودٗا وَعَلَىٰ جُنُوبِهِمۡ وَيَتَفَكَّرُونَ فِي خَلۡقِ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِ رَبَّنَا مَا خَلَقۡتَ هَٰذَا بَٰطِلٗا سُبۡحَٰنَكَ فَقِنَا عَذَابَ ٱلنَّارِ ١٩١﴾ [آل عمران: ١٩١]

    ความว่า “คือบรรดาผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮฺ ทั้งในสภาพยืนและนั่ง และในสภาพที่นอนตะแคง และพวกเขาพินิจพิจารณาการสร้างบรรดาชั้นฟ้า และแผ่นดิน โดยกล่าวว่า: โอ้พระเจ้าของพวกเข้าพระองค์ พระองค์มิได้ทรงสร้างสิ่งนี้มาโดยไร้สาระ มหาบริสุทธิ์พระองค์ท่าน โปรดทรงคุ้มครองพวกข้าพระองค์ให้พ้นจากการลงโทษแห่งไฟนรกด้วยเถิด” (อาล อิมรอน : 191)

    และพระองค์ตรัสว่า

    ﴿ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَتَطۡمَئِنُّ قُلُوبُهُم بِذِكۡرِ ٱللَّهِۗ أَلَا بِذِكۡرِ ٱللَّهِ تَطۡمَئِنُّ ٱلۡقُلُوبُ ٢٨﴾ [الرعد: ٢٨]

    ความว่า “บรรดาผู้ศรัทธา และจิตใจของพวกเขาสงบด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ พึงทราบเถิด! ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮเท่านั้นทำให้จิตใจสงบ” (อัร เราะอฺด์: 28)

    ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

    «أَنَا عِنْدَ ظَنّ عَبْدِيْ بِيْ، وأَنَا مَعَهُ حِيْنَ يَذْكُرُنِيْ، فَإِنْ ذَكَرَنِيْ فِيْ نَفْسِهِ ذَكَرْتهُ فِيْ نَفْسِيْ، وَإِنْ ذَكَرَنِيْ فِيْ مَلَأ ذَكَرْتُهُ فِيْ مَلَأ هُمْ خَيْرٌ مِنْهُمْ» [البخاري برقم 7405، ومسلم برقم 2675]

    ความว่า "ข้าจะเป็นอย่างที่บ่าวของข้าคาดหวังต่อตัวข้า และข้าจะอยู่กับเขาเมื่อเขารำลึกถึงข้า เมื่อใดที่เขารำลึกถึงข้าเพียงลำพัง ข้าก็จะนึกถึงเขาเพียงลำพัง และเมื่อใดที่เขากล่าวรำลึกถึงข้าต่อหน้าธารกำนัล ข้าก็จะกล่าวถึงเขาต่อหน้าบรรดาผู้ที่มีความประเสริฐยิ่งกว่าคนเหล่านั้น" (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 7405 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2675)

    ท่านอิบนุลกอยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า "หากแม้นว่าการรำลึกถึงอัลลอฮฺนั้นไม่มีความประเสริฐอื่นใดนอกจากความประเสริฐข้อนี้ ก็เป็นการเพียงพอและเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่แล้ว" (หนังสืออัลวาบิล อัศศ็อยยิบ หน้า 71)

    ซึ่งการซิกรุลลอฮฺรำลึกถึงอัลลอฮฺและการกล่าวตักบีรฺก็เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งเสริมให้กระทำในวันเหล่านี้ อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ وَيَذۡكُرُواْ ٱسۡمَ ٱللَّهِ فِيٓ أَيَّامٖ مَّعۡلُومَٰتٍ ٢٨ ﴾ [الحج : ٢٨]

    ความว่า “และกล่าวพระนามอัลลอฮฺในวันที่รู้กันอยู่แล้ว คือวันเชือด” (อัล-หัจญ : 28)

    และในหะดีษที่กล่าวมาแล้วข้างต้นระบุว่า

    «فَأَكْثِرُوْا فِيْهِنَّ التَهْلِيْلَ وَالتَكْبِيْرَ والتَحْمِيْدَ» [البخاري برقم 193]

    ความว่า “พวกเจ้าจงกล่าวตะฮฺลี้ล (ลาอิลาฮะอิลลัลอฮฺ) ตักบีรฺ (อัลลอฮุอักบัร) และตะหฺมีด (อัลหัมดุลิลลาฮฺ) ให้มากๆในวันเหล่านี้” (อัล-บุคอรียฺ หน้า 193)

    ในสมัยของท่านอิบนุอุมัร และอบูฮุร็อยเราะฮฺ ท่านทั้งสองก็ได้ออกไปตลาด(ที่ชุมชน) ในช่วงสิบวันนี้ แล้วกล่าวตักบีร และผู้คนที่นั่นก็กล่าวตักบีรไปกับพวกท่าน (อัล-บุคอรียฺ หน้า 193)

    บรรดาชาวสลัฟ(ชนยุคแรก) ต่างให้ความสำคัญกับการแสดงออกถึงความยิ่งใหญ่ของช่วงเวลาดังกล่าว โดยคำกล่าวตักบีรคือ "อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร ลาอิลาฮะอิลลัลอฮฺ อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร วะลิลลาฮิลหัมดฺ"

    และการงานอื่นๆที่เป็นคุณงามความดีที่อัลลอฮฺทรงโปรดปราน

    والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وأصحابه أجمعين.