×
ระบุตัวอย่างการเจริญรอยตามคำสั่งสอนและยึดรูปแบบการดำเนินชีวิตของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นแบบอย่างในทุกแง่มุม ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ทรัพย์สิน เวลา หรือแม้แต่ชีวิตของตนเองเพื่อดำเนินตามในสิ่งที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยทุ่มเท ซึ่งเราจะได้นำเสนอจุดยืนของพวกเขาดังในบทความนี้

    การส่งเสริมซุนนะฮฺท่านรอซูลและปกปักรักษาชะรีอะฮฺอิสลาม

    ﴿من علامات حب النبي g : نصر سنته والذب عن الشريعة﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ฟัฎล์ อิลาฮีย์

    แปลโดย : ซุฟยาน ยูซุฟ

    ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือรักนบีและสัญญาณ

    2010 - 1431

    ﴿من علامات حب النبي g : نصر سنته والذب عن الشريعة﴾

    « باللغة التايلاندية »

    فضل إلهي

    ترجمة: سفيان يوسف

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب حب النبي g وعلاماته

    2010 - 1431

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    การส่งเสริมซุนนะฮฺท่านรอซูลและปกปักรักษาชะรีอะฮฺอิสลาม

    ย่อมเป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อเราชอบพอใครซักคนเราย่อมที่จะพยายามลงแรง เวลา และทุนทรัพย์เพื่อส่งเสริมการงานของคนที่เรารัก ดังเช่นที่ท่านรอซูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ลงแรงทั้งหมดทั้งสิ้นที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงประทานทั้งแรงกาย ความสามารถ ทรัพย์สิน และชีวิต เพื่อนำพามนุษย์ชาติออกจากความมืดมิดสู่แสงสว่างแห่งอิสลาม จากการกราบไหว้บูชามนุษย์ด้วยกันสู่การบูชาพระเจ้าผู้เป็นนายของบ่าวทั้งปวง ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยังได้ต่อสู้อย่างแท้จริง เพื่อให้ถ้อยคำแห่งพระเจ้าสูงส่ง และให้คำเรียกร้องของเหล่าผู้ปฏิเสธศรัทธามลายหายไป ท่านได้ต่อสู้เพื่อขจัดความชั่วร้ายวุ่นวายให้หมดสิ้น เพื่อให้ศาสนาที่แท้จริงนั้นได้ดำรงอยู่ภายใต้สิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ

    เช่นนี้แล้วผู้ที่รักใคร่ท่านรอซูลุลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ย่อมที่จะพยายามเจริญรอยตามคำสั่งสอนและยึดรูปแบบการดำเนินชีวิตของท่าน (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นแบบอย่างในทุกแง่มุม ซึ่งก็ปรากฏว่ามีกลุ่มคนที่ได้ปฏิบัติและยังคงดำเนิน (ด้วยความโปรดปรานและความช่วยเหลือจากพระองค์อัลลอฮฺ) ตามแนวทางท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) พวกเขาเหล่านั้นได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ทรัพย์สิน เวลา หรือแม้แต่ชีวิตของตนเองเพื่อดำเนินตามในสิ่งที่ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เคยทุ่มเท ซึ่งเราจะได้นำเสนอจุดยืนของพวกเขาดังต่อไปนี้

    1. อะนัส บิน นัฎรฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ) เรียกร้องการสละชีพในแนวทางของพระองค์อัลลอฮฺและปกปักรักษาศาสนาของพระองค์

    เมื่อข่าวโคมลอยการเสียชีวิตของท่านรอซูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในสงครามอุหุดได้แพร่กระจาย ความโกลาหล (ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว) จึงบังเกิดในหมู่นักรบมุสลิม เศาะหาบะฮฺบางคนถึงกับนั่งหมดอาลัยตายอยากและวางอาวุธ เมื่ออะนัส บิน นัฎรฺ มาเห็นจึงถามเศาะหาบะฮฺเหล่านั้นว่า “เหตุใดพวกท่านจึงมานั่งกันตรงนี้” เศาะหาบะฮฺเหล่านั้นตอบไปว่า “ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ชีวิตเสียแล้ว” ทันใดนั้นอะนัสก็แย้งขึ้นว่า “แล้วพวกท่านจะทำอย่างไรกับชีวิตหลังจากนี้ต่อไป? จงลุกขึ้นและออกไปสู้สละชีพเพื่อเจริญรอยตามในสิ่งที่ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้สละชีพสิ”[1]

    เศาะหาบะฮฺท่านนี้ยังยอมแม้กระทั่งสละชีวิตตนเองเพื่อยืนหยัดปกป้องและเชิดชูศาสนาแห่งพระองค์อัลลอฮฺด้วยพละกำลังท่านเองด้วย ดังที่อิมาม อัล-บุคอรีย์ ได้รายงานจากอะนัส บิน มาลิก (เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ) โดยกล่าวว่า “ครั้นในวันสงครามอุหุดและปรากฏว่ากองทัพมุสลิมได้แตกพ่าย[2] อะนัส บิน นัฎรฺ (เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ) กล่าวขึ้นว่า “โอ้พระองค์ข้าพระองค์ขออภัยโทษจากสิ่งที่พวกเขาได้กระทำ” –หมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺ- “และข้าพระองค์ขอความหลีกห่างจากการกระทำของพวกเขา” –หมายถึงเหล่ามุชรีกีน-

    จากนั้นเขากระโจนเข้าสู่สนามรบและพบกับสะอัด บิน มุอาซ (เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ) ท่านจึงกล่าวว่า “โอ้ สะอัด บิน มุอาซ ! ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าของนัฎรฺ(ชื่อบิดาของอะนัส) ข้าได้กลิ่นของสวรรค์อยู่ใต้ภูเขาอุหุดนี้แล้ว”

    สะอัด (เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ) กล่าวว่า “ฉันเองไม่มีความสามารถที่จะทำเช่นที่เขาทำหรอก โอ้ ท่านรอซูลุลลอฮฺ”

    หลังจากเสร็จศึกสงคราม อะนัส บิน มาลิก (เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ) รายงานว่า หลังจากนั้นเราก็พบศพของอะนัส บิน นัฎรฺ ถูกคมหอก ดาบ และธนูมากกว่า ๘๐ แห่ง สภาพศพของเขา ส่วนหัวถูกตัดข้าง[3] (จากจมูกจนถึงใบหู) ซึ่งไม่มีใครทราบว่านั่นคือศพของเขาจนเมื่อน้องสาวของเขามาระบุว่านี่คือศพพี่ชายของนางโดยดูจากส่วนข้างของใบหน้า อะนัสยังกล่าวอีกว่า

    ﴿مِنَ الْمُؤْمِنِينَ رِجَالٌ صَدَقُوا مَا عَاهَدُوا اللهَ عَلَيْهِ فَمِنْهُم مَّن قَضَى نَحْبَهُ وَمِنْهُم مَّن يَنتَظِرُ وَمَا بَدَّلُوا تَبْدِيلاً﴾ (الأحزاب : 23 )

    ความว่า “ในหมู่ผู้ศรัทธามีบุรุษผู้มีสัจจะต่อสิ่งที่พวกเขาได้สัญญาต่ออัลลอฮฺเอาไว้ ดังนั้นในหมู่พวกเขามีผู้ปฏิบัติตามสัญญาของเขา และในหมู่พวกเขามีผู้ที่ยังคอย (การตายชะฮีด) และพวกเขามิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด” (อัล-อะห์ซาบ 23)

    เราเห็นหรือคาดว่าอายะฮฺนี้ถูกประทานในกรณีของ อะนัส บิน นัฎรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ และกรณีอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน[4]

    2. ความปิติยินดีของ หะรอม บิน มิลหาน (เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ) ในการพลีชีพเพื่อเผยแพร่สารแห่งอิสลาม

    นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งจากบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ถูกสังหารขณะกำลังเผยแพร่สารจากท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ถึงกระนั้น ก่อนที่เขาจะจากไปสู่โลกอาคิเราะฮฺ เขาก็ได้ฉวยโอกาสสุดท้ายเพื่อบอกให้โลกรับรู้ว่าเขาปลาบปลื้มและปิติเพียงใดกับการเสียสละครั้งนี้ เรามาลองดูกันว่าอะไรคือความปลื้มปิติของเขา? ดังที่ อัล-บุคอรีย์ได้รายงานจาก อะนัส (เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ) ว่า “ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ส่งลุงของท่าน ซึ่งเป็นพี่น้องชายของอุมมุ สุลัยม์ ร่วมไปกับกองพลม้าทั้งหมด ๗๐ คน เพื่อไปเชิญชวนชนเผ่าหนึ่งให้รับอิสลาม (ซึ่งหะรอมผู้นี้นั้นเป็นคนขาพิการเดินกะโผลกกะเผลก)[5] หะรอมได้ออกเดินทางพร้อมด้วยชายอีกคนจากอีกเผ่าหนึ่ง

    หะรอมกล่าวขึ้นว่า “เราต้องอยู่ใกล้ๆ กัน หากว่าพวกเขาวางใจในสิ่งที่ฉันบอกพวกเขา ท่านก็ไม่มีปัญหาอะไร[6] แต่หากพวกเขาฆ่าฉัน ท่านก็จงกลับไปยังพรรคพวกของท่านทันที”

    หะรอมจึงเริ่มเชิญชวนโดยกล่าวว่า “พวกท่านจะเชื่อฉันไหมหากฉันนำสารแห่งท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มาบอก?”

    เมื่อหะรอมเริ่มพูดคุย[7]กับคนเหล่านั้น พวกเขาก็ทำสัญญาณให้ชายคนหนึ่งเดินมาจากข้างหลังและแทงหะรอมจนทะลุหลัง

    เมื่อถูกแทง หะรอมจึงร้องขึ้นว่า “อัลลอฮฺฮุ อักบัรฺ ขอสาบานด้วยพระผู้เป็นแห่งกะอฺบะฮฺ ฉันได้รับชัยชนะแล้ว”[8]

    นี่คือผู้ที่รักท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และศรัทธาในอิสลามอย่างแท้จริง ผู้ซึ่งมีความรักที่ทำให้เขาเห็นว่าชัยชนะนั้นเกิดขึ้นด้วยการสละชีวิตของตนเองเพื่อเผยแพร่สารแห่งอิสลามของท่านรอซูลอันเป็นที่รักของเขา

    ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺผู้ทรงครองกะอฺบะฮฺ นี่คือชัยชนะอย่างแท้จริง โอ้พระองค์อัลลอฮฺ ขอจงประทานสิ่งนั้นแก่พวกเราด้วยเถิด อามีน ยาร็อบบัลอาละมีน

    3. อบู บักรฺ ส่งกองทหารของอุสามะฮฺออกรบ แม้ว่าสถาณการณ์กำลังตึงเครียดหลังการเสียชีวิตของท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

    การเสียชีวิตของท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ถือเป็นบททดสอบอันหนักหน่วงต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺ เพราะหลังการเสียชีวิตของท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ชนเผ่าอาหรับต่างๆ ได้เริ่มกระด้างกระเดื่องและปฏิเสธอิสลาม มิหนำซ้ำยังวางแผนจะโจมตีฐานที่มั่นของมุสลิม ณ นครมะดีนะฮฺอีกด้วย ดังที่อัมมารฺ บิน ยาสิรฺ ได้บรรยายสภาพของหมู่มุสลิมในขณะนั้นว่า เป็นเช่นสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีเจ้าของ และมะดีนะฮฺในขณะนั้น –ตามคำอธิบายของอัมมารฺ- ก็คับแคบในความรู้สึกของประชาชนมากกว่ารูแหวนเสียอีก[9]

    แต่ถึงสถานการณ์จะเลวร้ายและบีบอัดขนาดนั้น อบู บักรฺก็ยังยืนยันที่จะส่งกองทหารของอุสามะฮฺออกสู่แนวหน้า เพราะนั่นคือสิ่งที่ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เตรียมการก่อนหน้าที่ท่านจะเสียชีวิต ท่านได้สั่งและตระเตรียมกำลังพลเพื่อส่งไปรบกับเหล่าอริราชศัตรูซึ่งอยู่ห่างออกไปจากเมืองมะดีนะฮฺ แต่การส่งกองกำลังในครั้งนั้นได้หยุดชะงักไว้เพราะอาการเจ็บป่วยของท่าน (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และทรุดหนักจนเสียชีวิตในที่สุด

    ทว่า จุดยืนของ อบู บักรฺ สหายผู้เป็นที่รักยิ่งผู้นี้จะเป็นอย่างไรบ้างกับคำสั่งของท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)? รายงานโดยอิมาม อัฏ-เฏาะบะรีย์จาก อาศิม บิน อะดีย์ ว่าหนึ่งวันถัดจากวันที่รอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เสียชีวิต อบู บักรฺ ได้สั่งให้คนป่าวประกาศว่า “กองทหารของอุสามะฮฺให้เดินทัพต่อไป ต้องไม่มีทหารของอุสามะฮฺแม้แต่คนเดียวที่ยังคงอยู่ในเมืองมะดีนะฮฺ ทุกคนจะต้องออกไปยังค่ายที่ อัล-ญุรฟฺ[10][11]

    ครั้นเมื่ออุสามะฮฺเห็นว่าสถานการณ์ในเมืองขณะนั้นยังคงวุ่นวายอลหม่าน จึงขออนุญาตจาก อบู บักรฺเพื่ออยู่ประจำการรักษาเมืองมาดีนะฮฺต่อ อบู บักรฺ เขียนตอบกลับไปว่า “ฉันไม่คิดว่าการงานใดจะสมควรปฏิบัติก่อนการงานที่ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ดำเนินไว้ และถ้าให้หมู่นกมาจิกกัดฉันยังจะดีเสียกว่าให้ฉันละทิ้งกิจการของท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)[12]

    มีเศาะหาบะฮฺบางคนที่ไม่เห็นด้วยและคัดค้านเพราะเกรงว่าชนเผ่าอาหรับจะคิดโจมตีเมืองมะดีนะฮฺหลังรู้ข่าวการเสียชีวิตของท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อบู บักรฺก็ตอบกลับไปว่า “ถ้าฉันรั้งกองทหารที่รอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กำลังจะส่งไปรบ เช่นนั้นแล้วฉันคงกระทำการผิดพลาดอย่างมหันต์ ขอสาบาน ด้วยอัลลอฮฺ ผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ ให้ชนเผ่าอาหรับโจมตียังดีเสียกว่าให้ฉันรั้งกองทหารของท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)[13]

    และในอีกสายรายงานจาก อัฏ-เฏาะบะรีย์ กล่าวว่า “ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ผู้ที่ชีวิตของอบูบักรฺอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ หากแม้นฉันรู้ว่าอย่างแน่ใจจะมีเพียงเสือสิงห์คอยขย้ำฉัน ฉันก็จะยังคงส่งกองกำลังของอุสามะฮฺออกไปรบ ดังที่ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เตรียมการ และหากว่าในหมู่บ้านจะเหลือฉันเพียงคนเดียว ฉันก็จะยังคงพยายามทำมันให้สำเร็จ”[14]

    ขอสาบานด้วยพระองค์อัลลอฮฺ ผู้ซึ่งไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ นี่คือผู้ที่รักใคร่ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อย่างบริสุทธิ์ใจ และอบู บักรฺผู้นี้ยังทำตัวเป็นแบบอย่างด้วยการออกไปส่งกองทหารด้วยการเดินเท้า ขณะที่อุสามะฮฺนั้นขี่พาหนะ และมีอับดุรเราะหฺมาน บิน เอาฟฺ (เราะฎิยัลลอฮฺฮุอันฮุม) เป็นผู้จูง อุสามะฮฺเอ่ยขึ้นว่า โอ้ คอลีฟะฮฺแห่งท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ด้วยพระนามแห่งองค์อัลลอฮฺ หากท่านไม่ขึ้นมานั่งบนนี้ข้าจะลงไปเดินพร้อมท่าน อบู บักรฺ ตอบกลับไปว่า ด้วยพระนามแห่งองค์อัลลอฮฺจงอย่าได้ลงมา และฉันก็จะไม่ขึ้นไป จะเป็นไรไปหากฉันจะให้เท้าของฉันเปื้อนฝุ่นในแนวทางขององค์อัลลอฮฺบ้างสักชั่วครู่หนึ่ง”[15]

    ในการนี้ อบู บักรฺ ได้ให้โอวาทแก่อุสามะฮฺว่า “ท่านจงปฏิบัติดังที่ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กำชับ และจงเริ่มจากดินแดน กุฎออะฮฺ ถัดไปก็เป็น อีต-อาบิล และจงปฏิบัติตามคำสั่งของท่านรอซูลอย่างเคร่งครัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มิให้ขาดตกเป็นอันขาด”[16] จากอีกสายรายงานหนึ่งกล่าวว่า “อุสามะฮฺ ท่านจงมุ่งหน้าสู่ดินแดนที่ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กำหนด และจงสู้รบดังที่ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เคยสั่งการ”[17]

    ขอสาบานด้วยองค์อัลลอฮฺ นี่คือความรักที่แท้จริงที่มีต่อท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ด้วยการสู้รบในแนวทางอิสลามเพื่อปกปักและเชิดชูความถูกต้องตามเจตนารมณ์ของท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

    4. อบู บักรฺ สู้รบกับผู้ที่ปฏิเสธการจ่ายซะกาตและผู้ที่หันเหออกจากอิสลามแม้ว่าสถานการณ์ภายในจะตึงเครียดก็ตาม

    เมื่อกล่าวถึงการสู้รบกับผู้ที่ปฏิเสธการจ่ายซะกาต เราจะประจักษ์ในความมุ่งมั่น เจตนารมณ์ และความหนักแน่นของอบู บักรฺดังที่ได้ปรากฏในคำพูดของท่านอันโด่งดังว่า “ด้วยพระนามแห่งองค์อัลลอฮฺ หากแม้พวกเขาปฏิเสธที่จะจ่ายแม้เพียงแค่เชือกผูกอูฐที่เคยส่งให้ท่านรอซูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ข้าก็จะสู้เพราะการที่พวกเขาปฏิเสธจะจ่ายมัน[18][19] ดังนั้น เมื่อท่านทราบข่าวว่ามีชนเผ่าอาหรับเริ่มปฏิเสธอิสลามและพยายามโจมตีเมืองมะดีนะฮฺ ท่านได้ออกไปประจัญบานชูดาบด้วยตัวเอง เช่นที่รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (เราะฏิยัลลอฮุอันฮา) ว่า “พ่อของฉันขึ้นพาหนะและชูดาบมุ่งหน้าไปยังเมือง ซีย์ อัล-กิศเศาะฮฺ[20][21] และเมื่อมีการขอร้องให้ท่านประจำอยู่ในเมืองและส่งตัวแทนออกไป ท่านตอบว่า “ไม่ และด้วยพระนามแห่งผู้อภิบาล ฉันจะไม่ทำเช่นนั้น ฉันจะทวงสิทธิให้กับพวกท่านด้วยตัวของฉันเอง”[22]

    แล้วจะให้ท่านนั่งอยู่เฉยๆ ได้อย่างไร ในเมื่อศาสนาของผู้ที่ท่านรักกำลังร้องเรียกท่านอยู่ แล้วจะไม่ให้ท่านออกไปรบได้อย่างไร ในเมื่อท่านรับรู้ถึงการร้องเรียกขอความช่วยเหลือจากศาสนาที่ถูกประทานลงมา กลับมาย้อนดูตัวเราเองบ้าง พวกเรายืนอยู่ตรงไหนหากเทียบกับจุดยืนของอบู บักรฺ ? เราเห็นอยู่ตำตาว่าศาสนาของเรากำลังร้องเรียกขอความช่วยเหลือจากทั่วทุกสารทิศ เสียงโหยหวนของชะรีอะฮฺอิสลามียะฮฺดังอยู่ในเกือบทุกที่ในโลก แล้วมีใครตอบรับเสียงนั้นบ้าง?

    หรือไม่เรากลัวบ้างว่า -แม้ว่าเราจะอ้างว่ารักนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เหลือเกินก็ตาม- เราจะเป็นดังพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

    ﴿لَهُمْ قُلُوبٌ لاَّ يَفْقَهُونَ بِهَا وَلَهُمْ أَعْيُنٌ لاَّ يُبْصِرُونَ بِهَا وَلَهُمْ آذَانٌ لاَّ يَسْمَعُونَ بِهَا أُوْلَـئِكَ كَالأَنْعَامِ بَلْ هُمْ أَضَلُّ أُوْلَـئِكَ هُمُ الْغَافِلُونَ﴾ (الأعراف : 179 )

    ความว่า “โดยที่พวกเขามีหัวใจซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันทำความเข้าใจ และพวกเขามีตาซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันมอง และพวกเขามีหูซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันฟัง ชนเหล่านี้ประหนึ่งปศุสัตว์ ใช่แต่เท่านั้นพวกเขาเป็นผู้หลงผิดยิ่งกว่า ชนเหล่านี้พวกเขาคือผู้ที่เผลอเรอ”

    5. อัล-บัรรออ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ขอให้โยนตัวเขาเข้าไปในสวนอันเป็นที่ตั้งของฝ่ายศัตรูเพื่อจะได้เปิดประตูสวนจากข้างใน

    ในศึกสงคราม อัล-ยามามะฮฺ บรรดาทหารของ มุสัยละมะฮฺ อัล-กัซซาบ ได้พากันเข้าไปหลบอยู่ในสวนแห่งหนึ่งและปิดประตูสวน เมื่อทหารอิสลามตามมาถึง หนึ่งในเศาะหาบะฮฺ ได้เรียกร้องให้มิตรสหายของเขาโยนตัวเขาขึ้นไปบนขอบรั้วเพื่อที่จะเข้าโจมตีศัตรูและเปิดประตูสวนให้แก่มุสลิม

    อิมาม อัฏ-เฏาะบะรีย์ได้รายงานเรื่องนี้ไว้ว่า “ครั้นกองทัพมุสลิมได้ขับไล่ทหารเหล่านั้น (ทหารของมุสัยละมะฮฺ) จนเข้าไปหลบอยู่ในสวน (สวนแห่งความตาย) ซึ่งผู้ที่หลบอยู่ในสวนขณะนั้นคือ มารศาสนา มุสัยละมะฮฺ อัล กัซซาบ ทันใดนั้น อัล-บัรรออ์ บิน มาลิก ร้องขึ้นว่า “โอ้บรรดาชนมุสลิม จงโยนฉันเข้าไปในสวนนั่น” และอีกสายรายงานระบุว่า “โอ้บรรดามุสลิมจงขว้างฉันเข้าไปในสวนนั่น”[23] สหายบางคนจึงพูดขึ้นว่า “อย่าทำเช่นนั้นเลย บัรรออ์” เขากลับตอบว่า “ด้วยพระนามแห่งองค์ผู้อภิบาล พวกท่านต้องโยนฉันขึ้นไปเดี๋ยวนี้” ดังนั้นอัล-บัรรออ์จึงขึ้นขี่หลังมุสลิมคนหนึ่งจนสามารถเข้าไปในสวนทางด้านกำแพง และได้ปะทะกับทหารมุสัยละมะฮฺที่ประตูสวนนั่นเอง จนสามารถเปิดประตูสวนให้ทหารมุสลิมสามารถเข้าไปสังหารมุสัยละมะฮฺในที่สุด”[24]

    อัลลอฮุอักบัรฺ ! เห็นไหมว่า อัล-บัรรออ์ มองตัวเองว่าชีวิตตนนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยและยอมเสียสละตนเองเพื่ออิสลามได้ขนาดไหน ทั้งๆ ที่ชีวิตของเขานั้นมีค่าสูงส่ง และสูงกว่าชีวิตของเราเป็นพันๆ คนเสียด้วยซ้ำ

    6. มุสลิม ๔๐๐ คนให้สัตยาบันจะสละชีพในสงครามอัล-ยัรมูก

    ในสงครามอัล-ยัรมูก เราได้เห็นชนมุสลิม ๔๐๐ คนพร้อมใจกันให้สัตยาบันจะสละชีพและปกปักรักษาศาสนาของพระองค์อัลลอฮฺ และจะกำจัดความฉ้อฉลรวมไปถึงความเลวร้ายให้หมดสิ้น อัล-หาฟิซ อิบนุ กะษีร ได้รายงานถึงการครั้งนั้นว่า จากอบี อุษมาน อัล-ฆ็อสสานีย์ จาก บิดาของท่าน กล่าวว่า อิกริมะฮฺ บิน อบี ญะฮัล(เราะฎิยัลลอฮฺฮุอันฮุ) ได้กล่าวต่อหน้าข้าศึกในวันนั้นว่า “ข้าเคยเป็นศัตรูและต่อสู้กับรอซูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในหลายๆ สถานการณ์ แล้ววันนี้เจ้าคิดว่าข้าจะหนีจากพวกเจ้าอย่างนั้นหรือ !” จากนั้นอิกริมะฮฺจึงตะโกนขึ้นว่า “ใครจะให้สัตสาบานที่จะต่อสู้จนตัวตายบ้าง?” อาของเขา อัล-หาริษ บิน ฮิชาม จึงให้สัตยาบันเป็นคนแรก ตามด้วย ฎิรอรฺ บิน อัล-อะซูรฺ และทหารหาญอิสลามอีก ๔๐๐ คน ทั้งกองทหารเดินเท้าและทหารม้า พวกเขาร่วมกันต่อสู้อยู่แถวหน้าในกองทัพของคอลิด บิน อัล-วะลีด จนได้รับบาดเจ็บกันถ้วนหน้า ซึ่งบางคนก็เสียชีวิตในสนามรบ เช่น ฎิรอรฺ บิน อัล-อะซูรฺ (เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุม)[25]

    7. อัซ-ซุเบรฺ (เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ) ปีนขึ้นเหนือกำแพงเมืองเพื่อเข้าไปเปิดประตูเมืองให้ทหารอิสลาม

    ณ ดินแดนอียิปต์เราได้รู้จักผู้ที่รักใคร่ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อย่างแท้จริงอีกท่านหนึ่ง คนผู้นี้ได้มอบร่างกายและชีวิตเพื่ออิสลาม เขาได้กระทำการเฉกเช่น อัล-บัรรออ์ บิน มาลิก ในศึกสงคราม อัล-ยามามะฮฺ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด นั่นก็เพราะพวกเขาสำเร็จหลักสูตรมาจากโรงเรียนเดียวกัน และคนที่พวกเขารักก็คือๆ คนเดียวกัน พวกเขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งศาสนทูต และผู้ที่พวกเขารักยิ่งชีวิตก็คือท่านนบีมูฮัมหมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั่นเอง อิมาม อิบนุ อับดิลหะกัม ได้เล่าถึงเรื่องราวของเขาและเศาะหาบะฮฺท่านอื่นๆ ดังนี้ “เมื่อการเปิดประตูเมืองศัตรูบังเกิดความล่าช้าแก่ อัมรฺ บิน อัล-อาศ (เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ) อัซ-ซุเบรฺในขณะนั้นจึงรับอาสาเปิดประตูเมือง โดยกล่าวว่า ฉันจะมอบชีวิตนี้แด่องค์อัลลอฮฺ และฉันหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเปิดประตูเมืองแก่ทหารอิสลาม”

    เขาจึงเอาบันไดพาดตรงกำแพงเมืองและปีนขึ้นไปตรงฝั่งตลาด อัล-หัมมาม และกำชับทหารอิสลามให้กล่าวตักบีรตอบหากเขาตักบีร ไม่ทันที่ทหารอิสลามจะได้เตรียมตัว ซุเบรฺ ก็ปีนถึงยอดกำแพงเมืองพร้อมชูดาบและตะโกน อัลลอฮฺฮุ อักบัรฺ ทหารคนอื่นจึงพยายามปีนขึ้นไปด้วยจน อัมรฺ ต้องห้ามเอาไว้เพราะกลัวบันไดจะหักเสียก่อน

    เมื่อซุเบรฺและผู้ที่ติดตามเข้าเมืองได้สำเร็จพร้อมๆ กับการตักบีร มุสลิมที่รออยู่นอกกำแพงเมืองก็กล่าวตักบีรตอบด้วยเสียงอันเซ็งแซ่ ชาวเมืองจึงแน่ใจว่าชนอาหรับกลุ่มนั้นคงพังประตูเมืองเข้ามาได้แล้วจึงพากันหลบหนีไปหมด ขณะนั้น ซุเบรฺมุ่งหน้าไปยังประตูเมืองและเปิดให้ทหารอิสลามเข้าเมืองได้สำเร็จ”[26] (เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุม)

    ความรักและการทุ่มเทเพื่อศาสนาของพวกเขาช่างสัจจริงมากมายยิ่ง !

    8. อัน-นุอฺมาน บิน มุกริน (เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ) วิงวอนต่อพรองค์อัลลอฮฺให้ทรงประทานชะฮาดะฮฺ (การตายในแนวทางอิสลาม) เพื่อชัยชนะของอิสลาม

    ในสงครามนะฮาวันด์ ยังมีผู้กล้าและรักใคร่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อีกคนหนึ่ง เขาผู้นั้นได้วิงวอนต่อเอกองค์อัลลอฮฺให้ประทานชะฮาดะฮฺแก่เขาเพื่อชัยชนะจะได้เป็นของอิสลาม ดังรายงานโดย อัซ-ซะฮะบีย์ว่า เมื่อการปะทะระหว่างสองฝ่ายเริ่มต้น (ในสงครามนะฮาวันด์) นุอฺมานได้กล่าวว่า “หากฉันถูกสังหารในสงครามอย่าได้มีใครคนใดเข้ามาช่วยฉัน เพราะฉันได้วิงวอนต่อเอกองค์อัลลอฮฺไว้ จงช่วยกันขอให้พระองค์ทรงประทานชะฮาดะฮฺแก่ฉันเถิด” จากนั้นเขาจึงกล่าวคำวิงวอนว่า “โอ้พระองค์อัลลอฮฺขอทรงประทานชะฮาดะฮฺแก่ข้าพระองค์เพื่อชัยชนะแห่งอิสลาม” ทหารคนอื่นๆ จึงกล่าวอามีน ซึ่งนุอฺมานก็เป็นคนแรกที่ตายในสนามรบนั้น[27] (เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ)

    ในอีกสายรายงานหนึ่งระบุว่า นุอฺมานได้กล่าวคำวิงวอนดังนี้ “โอ้พระองค์อัลลอฮฺ ขอจงช่วยค้ำจุนศาสนาแห่งพระองค์ และขอจงประทานความช่วยเหลือแก่บ่าวของพระองค์ และขอให้นุอฺมานผู้นี้เป็นคนแรกที่ตายในหนทางของพระองค์ เพื่อเชิดชูศาสนาและช่วยเหลือบ่าวของพระองค์”[28]

    ช่างเป็นคำวิงวอนที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน ซึ่งผู้ที่จะได้รับก็มีเพียงผู้ที่ได้ผ่านการอดทนมาเท่านั้น และเป็นผู้ที่จะได้รับส่วนแบ่งอันยิ่งใหญ่จากอัลลอฮฺ

    9. ชนมุสลิมต่างใฝ่หาการสละชีพในหนทางแห่งพระองค์อัลลอฮฺ

    ข้าพเจ้าจะขอปิดท้ายในบทนี้ด้วยคำกล่าวของ อุบาดะฮฺ บิน อัศ-ศอมิต (เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ) ที่ได้บรรยายถึงความมุ่งมั่นของบรรดามิตรสหายของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่รักใคร่ท่านอย่างแท้จริงและพร้อมที่จะสละชีพในหนทางแห่งอิสลามเพื่อกำจัดซึ่งความฉ้อฉลและดำรงไว้ซึ่งศาสนาอิสลามบนหน้าแผ่นดิน ท่านได้กล่าวไว้ว่า “พวกเราทุกคนต่างวิงวอนต่อพระองค์อัลลอฮฺเช้าและเย็น เพื่อพระองค์จะได้ทรงประทานชะฮาดะฮฺแก่พวกเรา เมื่อพวกเราออกรบ เราก็วิงวอนให้ตายในสนามรบ ขอให้อย่าได้กลับมายังดินแดนนี้อีก ขออย่าให้ได้กลับมาเจอครอบครัว และลูกๆ ขอเราอีก เราได้ฝากฝั่งครอบครัวและลูกๆ ของเราไว้ในความคุ้มครองของพระองค์ ความทะเยอทะยานของเราคือการมุ่งไปข้างหน้าโดยไม่กลับมามองข้างหลัง”[29]

    แล้วเราๆ ท่านๆ เป็นเช่นดังคำกล่าวของ อุบาดะฮฺ หรือไม่ ?

    ขอพระองค์ทรงประทานแก่เราดั่งที่ได้ทรงประทานให้แก่พวกเขาด้วยเถิด อามีน

    สรุปปิดท้าย

    มวลการสรรเสริญย่อมเป็นสิทธิแห่งพระองค์ ผู้ซึ่งคอยค้ำจุนให้บ่าวผู้อ่อนแอผู้นี้สามารถเขียนงานวิจัยนี้ได้สำเร็จ บ่าวขอวิงวอนต่อพระองค์ขอจงทรงรับกิจการนี้ไว้เป็นบุญกุศลของบ่าวด้วยเถิด

    สรุปใจความสำคัญของงานเขียนนี้ดังต่อไปนี้

    1. เราต้องรักท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยิ่งกว่าชีวิตเรา พ่อแม่ของเรา ลูกๆ และครอบครัวของเรา ทรัพย์สินของเรา และรักยิ่งกว่าผู้ใดในโลกนี้

    2. การรักใคร่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะยังผลให้เราได้สัมผัสถึงความหอมหวานแห่งการศรัทธาในโลกนี้ และได้อยู่เคียงข้างท่านในโลกหน้า

    3. ต่อไปนี้เป็นสัญญานที่บ่งบอกถึงความรักของเราที่มีต่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

    ก. มุ่งหวังที่จะได้เห็นท่านและอยู่เคียงข้างท่าน เราจะถือว่าการขาดสิ่งนี้เลวร้ายกว่าการขาดสิ่งใดๆ ในโลก

    ข. มีความพร้อมเต็มที่ๆ จะสละชีพ, ทรัพย์สิน, เพื่อปกป้องท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

    ค. ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และห่างไกลจากคำห้ามปรามของท่าน

    ง. เชิดชูซุนนะฮฺของท่านและปกปักรักษาชารีอะฮฺอิสลามด้วยชีวิต

    4. แท้จริงแล้วบรรดาเศาะหาบะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม) ล้วนเป็นผู้สัจจริงในการรักท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) การได้มองท่านและอยู่ร่วมกับท่านเป็นสิ่งที่พวกเขารักยิ่งกว่าสิ่งใดในโลกนี้ พวกเขามองว่าการเสียสละตนและทรัพย์สินของพวกเขาเพื่อปกป้องท่านรอซูลนั้นเป็นความสุขที่สุด เช่นเดียวกับที่พวกเขาจะรีบเร่งเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน และละทิ้งสิ่งที่ท่านห้าม แท้จริง พวกเขาได้ทำให้ชีวิตอันมีค่าเป็นเรื่องเล็กน้อยในการที่จะช่วยเหลือและปกป้องแนวทางของท่านรอซูลและพิทักษ์บทบัญญัติที่อัลลอฮฺประทานลงมาแก่ท่าน

    ข้าพเจ้าขอสั่งเสียตัวเองและพี่น้องมุสลิมให้เอาเยี่ยงอย่างของบรรดาเศาะหาบะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม) เหล่านี้ ในการมอบความรักต่อท่านรอซูลผู้เป็นที่รัก เพราะการอ้างอย่างเดียวไม่ได้มีประโยชน์อันใดเลย และไม่ส่งผลใดๆ ต่อผู้อ้างเว้นแต่จะสร้างความเสียหายเท่านั้น

    وصلى الله تعالى على نبينا وعلى آله وأصحابه وأتباعه وبارك وسلم، وآخر دعوانا أن الحمد لله رب العالمين.

    [1] ดู สีเราะฮฺ อิบนี ฮิชาม ๓/๓๐, และ อัส-สีเราะฮฺ อัน-นะบะวียะฮฺ ลี อิบนี หิบบาน อัล-บุสตี หน้า ๒๒๕, และหนังสือ ญะวามิอฺ อัส-สีเราะฮฺ หน้า ๑๖๒

    [2] انكشف المسلمون กองทัพมุสลิมได้แตกพ่าย, ในอีกสายรายงานหนึ่งระบุว่า انهزم الناس และผู้คนได้พ่ายแพ้, ดู ฟัตหุลบารีย์ เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๒๒

    [3] (وقد مثل به): هو من المثلة بضم الميم وسكون المثلة นั่นคือการตัดอวัยวะจากจมูกจนถึงหูหรือส่วนอื่นที่คล้ายคลึงกัน ดูอ้างอิงที่แล้ว เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๒๓

    [4] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ ภาค อัล-ญิฮาด บรรพว่าด้วย قول الله عزوجل: من المؤمنين رجال صدقوا ما عاهدوا الله عليه فمنهم من فضى نحبه ومنهم من ينتظر وما بدلوا تبديلا ส่วนหนึ่งจากหะดีษหมายเลข ๒๘๐๕ เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๒๑

    [5] (หะรอม พี่น้องชายอุมมุ สุลัยม์ และเป็นชายที่เดินกะโผลกกะเผลกจึงออกเดินทาง) อัล-หาฟิซ บิน หะญัรฺ กล่าวว่า อักขระ วาว (و) ซึ่งมีความหมายว่า “และ” ในท่อนที่ว่า ผู้เขียนน่าจะบันทึกโดยความสะเพร่า อันที่จริง ประโยคที่ถูกต้องควรจะเป็นดังนี้ “หะรอมและชายคนหนึ่งที่เดินกะโผลกกะเผลกจึงออกเดินทาง” จากฟัตหุล บารี 7/387

    [6] (หากพวกเขาวางใจในสิ่งที่ฉันบอก ท่านก็...) ในอีกสายรายงานระบุว่า “หากพวกเขาวางใจในสิ่งที่ฉันบอกพวกท่านก็จงอยู่ใกล้ๆ ฉัน” ดูอ้างอิงที่แล้ว เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๓๘๘

    [7] (หะรอมเริ่มพูดคุยกับคนกลุ่มนั้น) จากรายงานของ อัฏ-เฏาะบะรีย์ ปรากฏดังนี้ “เมื่อหะรอมได้ปรากฏกายและพูดขึ้นว่า “โอ้ชาวเมือง บิอ์รุ มะอูนะฮฺ ฉันคือตัวแทนของศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ จงศรัทธาในพระองค์อัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์เถิด” ทันใดนั้นก็มีชายคนหนึ่งออกมาจากบ้านพร้อมด้วยหอก และแทงหะรอมจากด้านข้างจนทะลุออกอีกด้านหนึง” ดูอ้างอิงที่แล้ว เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๓๘๘

    [8] ดูเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ เรื่อง อัล-มะฆอซีย์ หัวข้อ สงคราม อัน-เราะญีอฺ, ริอฺล์ และซิกวาน, บิอ์รุ มะอูนะฮฺ เป็นส่วนหนึ่งจากหะดีษหมายเลข ๔๐๙๑ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๓๘๕ ถึง ๓๘๖

    [9] ดู อัส-สีเราะฮฺ อัน-นะบะวียะฮฺ ของ อิบนี หิบบาน อัล-บุสตีย์ หน้าที่ ๔๒๘

    [10] อัล–ญุรฟฺ เป็นสถานที่อยู่ห่างจากเมืองมะดีนะฮฺ ๓ ไมล์ ทิศทางมุ่งสูชาม (มุอฺญัม อัล-บุลดาน หมายเลข ๓๐๕๓ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๔๙)

    [11] ตารีค อัฏ-เฏาะบารีย์ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๒๒๓

    [12] ตารีค คอลีฟะฮฺ บิน ค็อยยาต หน้าที่ ๑๐๐

    [13] ตารีค อัล-อิสลาม ของ อัซ-ซะฮะบีย์ (ยุคสมัยของคุละฟาอ์ อัร-รอชิดีน) หน้าที่ ๒๐ ถึง ๒๑

    [14] ดู ตารีค อัฏ-เฏาะบะรีย์ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๒๒๕

    [15] ตาริค อัฏ-เฏาะบะรีย์ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๒๒๖

    [16] อ้างอิงที่แล้ว เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๒๒๗

    [17] ตาริค อัล-อิสลาม ลิซ ซะฮะบีย์ หน้าที่ ๒๐ ถึง ๒๑

    [18] เชือกที่ใช้ล่ามอูฐที่จะใช้ในการจ่ายซะการ เพราะเจ้าของอูฐจะต้องเป็นผู้มอบ (ดู อันนิฮายะฮฺ ฟี เฆาะรีบ อัลหะดีษ วา อัลอะษัร ภายใต้อักขระ (عقل) เล่มที่ ๓๐ หน้าที่ ๕๒

    [19] เศาะฮีหฺ มุสลิม ภาค อัลอีมาน, قتال الناس حتى يقولوا: لا إله إلا الله, ส่วนหนึ่งจากหะดีษหมายเลข ๓๒ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๕๒

    [20] ซีย์ อัล-กิศเศาะฮฺ ตัวบทระบุว่า เป็นสถานที่ซึ่งตั้งห่างจากเมืองมาดีนะฮฺ ๒๔ ไมล์ อยู่บนเส้นทาง อัล-ร็อบซะฮฺ (ดู มุอฺญัม อัลบุลดาน หมายเลข ๙๗๒๐ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๔๑๖

    [21]อัล-บิดายะฮฺ วะ อัน-นิฮายะฮฺ เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๓๕๕

    [22] ตาริค อัฏ-เฏาะบะรีย์เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๒๔๗ และดู อัล-กามิล ฟี อัต-ตารีค ของ อิบนุ อัล-อะษีร เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๒๓๓ และดู อัล-บิยะฮฺ วะ อัน-นิฮายะฮฺ เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๓๕๕

    [23] ดู อัส-สีเราะฮฺ อัน-นะบะวียะฮฺ และ อัคบาร อัล-คุลาฟาอ์ ของ อัล-บุสตีย์ หน้าที่ ๔๓๘

    [24] ตาริค อัฏ-เฏาะบะรีย์ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๒๙๐ และดู อัล-กามิล ฟี อัต-ตารีค เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๒๔๖

    [25] อัล-บิดายะฮฺ วะ อัน-นิฮายะฮฺ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๑๑ ถึง ๑๒ และดู ตารีค อัฏ-เฏาะบะรีย์ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๔๐๑ และดู อัล-กามิล ฟี อัต-ตารีค เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๒๘๓

    [26] ฟุตูหาต มิศรฺ วะ อัคบารุฮา หน้าที่ ๕๒

    [27] ตารีค อัล-อิสลาม หน้าที่ ๒๒๕

    [28] ดู อัล-กามิล ฟี อัต-ตารีค เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๕

    [29] ฟุตูหาต มิศรฺ วะ อัคบารุฮา หน้าที่ ๕๔